Search
Close this search box.

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

HIGHLIGHT

  • คำถามใหญ่ที่ใน EP คือ “ตำแหน่งงาน ความต้องการแรงงาน และทักษะการทำงาน ที่จำเป็นในโลกใบใหม่หลังโควิด” จะมีรูปร่างหน้าตา เปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงาน และทำงานด้านทรัพยากรบุคคล จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร มองหาคนรูปแบบไหน 
  • แนวโน้มและความน่าจะเป็นของโลกใหม่หลัง COVID-19 ขอบเขตของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจะมีทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ Digital Economy (เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล) Care Economy (เศรษฐกิจและสังคมการใส่ใจ) และ Green Economy (เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว) 
  • มีทักษะที่หลากหลายเพื่อรองรับอนาคต เช่น Complex Problem Solving Skills หรือ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน Self Management การจัดการตนเอง Collaboration การทำงานเป็นทีม และ Technology Application การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน
  • ในส่วนของ HR ก็เช่นเดียวกัน ทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น HR ในโลกอนาคตก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีเป็นอาวุธติดตัวไว้ เพื่อให้การทำงานบริหารบุคลากรในอนาคตสอดประสานและเข้ากันได้กับทุกตำแหน่งงานเช่นกัน 
  • เพราะ HR จะต้องเป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้สมัครที่ Qualified ในตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าหากสกิลที่ HR มองหานั้น ตัว HR เองไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ การที่จะไปคัดเลือกผู้สมัครนั้นก็อาจจะฟังดูประหลาดและดูเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะจิ้มคนมาสัมภาษณ์ผิด ๆ สร้างความเสียหายให้กับองค์กร และตัวเองก็อาจจะตุ้บได้เช่นกัน

เมื่อยานขนส่งอวกาศที่สองพ่อลูกโดยสารนั้นเกิดตุ้บ ตกลงสู่พื้นโลกที่ถูกทิ้งร้างมาตั้งแต่เมื่อหนึ่งพันปีที่แล้ว 

เมื่อโลกไม่เป็นมิตรกับมนุษย์อีกต่อไป และปรากฏการณ์ธรรมชาติอันน่าสะพรึงกลัวที่ทำให้มนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่บนโลกได้ ไม่ว่าจะทั้งแผ่นดินไหว แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัว ภูเขาไฟ ระเบิด น้ำสะอาดขัดสน และจู่ ๆ บรรยากาศก็กลายสภาวะเป็นพิษต่อมนุษย์ขึ้นมายังงั้น ทำให้รัฐบาลโลกบัญชาการสร้างยานโดยสารเพื่อให้มนุษย์อพยพย้ายถิ่นฐานไปยังดาวดวงอื่น 

เมื่อยานขนส่งอวกาศของเจ้าเจเดน สมิธและพ่อวิลล์ สมิธ ตกลงบนโลกที่เวลาล่วงไปกว่าหนึ่งพันปี โลกจึงกลายเป็นดินแดนรกร้าง เหลือแต่ก็แต่สัตว์ประหลาดกลายพันธุ์แสนอันตรายที่จ้องทำร้ายสิ่งมีชีวิตหน้าไหนก็ตามที่มาเยือน ยังไม่รวมทั้งเอเลี่ยนที่หลบหนีไปได้ระหว่างที่ยานตก ทั้งสองพ่อลูกจึงต้องเอาชีวิตให้รอด

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

เนื้อเรื่องของ After Earth (2013) นี้ฟังดูก็เป็นหนังไซไฟโลกอนาคตที่ฟังดูน่าสนุก และอาจจะเป็นไปได้หรือเป็นไปไม่ได้ก็ไม่มีใครทราบ แต่ถ้าถามว่า After Earth ของจริงที่เรา ๆ ท่าน ๆ เจอกันอยู่ทุกวันนี้นั้นก็คือ After Earth แบบที่เรียกว่า COVID-19 Aftermath เนี่ยแหละ คือสิ่งที่มวลมนุษยชาติจะต้องพบเจอแน่ ๆ และเราก็ก้าวเข้าสู่ After Earth ในรูปแบบของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ผสมที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และเอาชีวิตคนไปแล้วหลายล้านคน เทียบเท่ากับจำนวนประชากรทั้งประเทศของบางประเทศได้ และยังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายล้านล้านดอลลาร์ และยังคงนับต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีวันจบ

อ่อ ลืมบอกว่า After Earth อาจจะหมายถึง การไม่มีอยู่ของอารยธรรมและมนุษย์โลก แต่ COVID Aftermath นั้นจะบอกว่า โควิดไม่ได้บ๊ายบายไปไหนนะ มันยังคงแหวกว่ายอยู่ทั่วทุกหัวระแหง กลายเป็นเชื้อไวรัสประจำเมือง ให้ทุกท่านนั้นต้องคอยรับวัคซีนประจำปี (หรือครึ่งปี) เฉกเช่นเดียวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่นั่นแหละ

คำถามต่อมาก็คือหลังจากที่มหันตภัยโควิดที่พัดวูบเดียว ล้มระเนระนาดกันทั้งโลกเนี่ย หลังจากที่มันสงบ เรารู้จักมัน ตั้งรับมัน เรียนรู้ที่จะอยู่กับมันแล้ว แน่นอน มันยังได้ทิ้งร่องรอยรักร้าวไว้ให้โลกนี้ให้เปลี่ยนไป แบบที่เรียกได้ว่า เราต้องเกร็งรอการมาของอะไรสักอย่างในทำนองเดียวกันแบบนี้ในอนาคตอีกแน่นอน

คำถามหัวใหญ่ ๆ ที่ใน EP นี้จะเอ่ยถึงก็คือ “ตำแหน่งงาน ความต้องการแรงงาน และทักษะการทำงาน ที่จำเป็นในโลกใบใหม่หลังโควิด” จะมีรูปร่างหน้าตา เปลี่ยนไปอย่างไร แล้วเราในฐานะเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในตลาดแรงงาน และทำงานด้านทรัพยากรบุคคล จะต้องปรับเปลี่ยนอย่างไร มองหาคนรูปแบบไหน 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

จากงานวิจัยของ Thailand Development Research Institute หรือ TDRI ในงาน Annual Public Virtual Conference 2021 ได้มีการกล่าวถึง งานและทักษะสำคัญในการอยู่รอดในโลกใหม่หลังโควิด 

  • “ในอีก 10 ปี ข้างหน้า งานที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ จะยังมีอยู่ให้เราทำหรือไม่”
  • “สกิลที่เราถือครองตอนนี้ที่ใช้ทำมาหากิน สร้างรายได้ สร้างความสามารถในการแข่งขัน จะใช้ได้อยู่อีกไหม”

ผมขอตัดคำพูดหนึ่งที่เราเคยได้ยินกันมาก่อนหน้านี้แล้วคือคำว่า The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ ในอเมริกา ที่แรงงานนั้นลาออกจากงานที่ทำอยู่ถึง 40% เป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งจริงๆมันไม่ใช่การลาออกครั้งใหญ่ซะทีเดียว เพราะว่าแรงงานที่ลาออกนั้นส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในระบบ โดย Satya Nadella, CEO ของ Microsoft และ Jeff Weiner, Executive Chairman ของ LinkedIn ก็ได้เคยเอ่ยคำที่คล้าย ๆ กันออกมาว่า มันคือ “The Great Reshuffle” จริง ๆ พวกนางไม่ได้ลาออกแบบบ๊ายบายจากวงการไปพร้อมกัน 40% แต่พวกนางแค่เปลี่ยนสายงาน เพื่อต้องการจะเปลี่ยนวิถีการทำงานต่างหาก ความต้องการในการเปลี่ยนวิถีการทำงาน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิด The Great Resignation ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการหมุนครั้งใหญ่นี้ ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดโลกใหม่และเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งเดี๋ยวจะมีบอกในส่วนต่อไป 

เรามาดูแนวโน้มและความน่าจะเป็นของโลกใหม่หลัง COVID-19 กันว่า ขอบเขตของเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตจะมีทั้งหมด 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ด้วยกัน ฉะนั้นผู้ประกอบการ องค์กร ต้องเกร็งรอให้ดี ถ้าปรับตัวทัน เปลี่ยนก่อน รุ่งแน่ ๆ ถ้าชักช้าก็เตรียมกุสะลาธัมมาได้เลย

1. Digital Economy (เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล)

แหงอยู่แล้ว ตอนนี้อะไร ๆ ก็ผ่านแอพ เอะอะก็ทำบนมือถือ คอมพิวเตอร์ แทบเล็ต ไม่ว่าจะติดต่อสื่อสาร ทำธุรกรรมทางการเงิน จ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการ จองสิ่งต่าง ๆ ช้อปปิ้ง เอาง่าย ๆ นะ ครั้งสุดท้ายที่จับเงินสดจ่ายเนี่ยเมื่อไหร่ จำได้มั๊ย? ล่าสุดป้าเป้าขายข้าวแกงปากซอยก็ติดคิวอาร์โค้ดพร้อมเพย์ไว้หน้าร้าน รับเงินโอนไปเรียบร้อย แถมที่เป็นข่าวกันครึกโครมตื่นเต้นกันช่วงก่อนหน้านี้ก็คือ “Metaverse” หรือที่ราขบัณฑิตยสถานให้ความหมายภาษาไทยว่า “จักรวาลนฤมิตร” ก็คือการสร้างโลกเสมือนจริงให้มนุษย์นั้นสามารถใช้ชีวิตได้ในโลกเสมือนนั้น และมีกิจกรรมเหมือนกับโลกจริง 

ดังนั้นสิ่งนี้เรียกได้ว่านอนมาแน่ ๆ กับ เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ทุกคนมีกิจกรรมผ่านระบบดิจิทัลกันหมด ก็ย่อมทำให้เกิดสังคม เศรษฐกิจ และการจ้างงาน เกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งตำแหน่งงานและทักษะในกลุ่มเศรษฐกิจนี้ก็เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งไทยและทั่วโลกเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะในการทำงานด้านนี้ จนหลายองค์กรต้องนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นพวก 

  • กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent Specialist)
  • นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)
  • วิศวกรระบบข้อมูล (Data Engineer)
  • ผู้พัฒนาข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Developer)
  • กลุ่มงานด้าน Cyber Security หรือความปลอดภัยไซเบอร์ 
  • นักพัฒนา วิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลทางธุรกิจ
  • และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 

โดยแน่นอนว่ากลุ่มงานเหล่านี้ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ Hard Skills เฉพาะทางมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจในระบบไอที การเขียน Code ด้วยภาษาต่าง ๆ ทักษะทางคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เชิงลึก และรวมไปถึงทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลด้วย

2. Care Economy (เศรษฐกิจและสังคมการใส่ใจ)

ชื่อดูน่ารัก กุ๊กกิ๊ก ไม่ดูขึงขังเหมาะจะเป็นระบบเศรษฐกิจเลยใช่มั้ย แต่ว่าระบบเศรษฐกิจนี่แหละที่เกิดขึ้นจาก The Great Resignation หรือการลาออกครั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เพราะว่าแรงงานหลังจากที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมา Work From Home ส่วนใหญ่ก็เรียกได้ว่ามีอาการ Burnout ในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของร่างกาย มาละ คอ บ่า ไหล่ ไหนวอชเชอร์ Health Land หาเจอแต่ก็นวดไม่ได้อีก ร้านนวดปิดอีก อยู่บ้านทำงานหน้าคอม กินข้าวก็สั่งเอาไม่ได้เจอผู้คน เกิดภาวะหดหู่จากการขาดปฎิสัมพันธ์ทางสังคม (อย่าลืมว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม ถึงแม้ว่าเราจะชอบการมีพื้นที่ส่วนตัว แต่อยู่คนเดียวไปเลย 24 ชม. ติด ๆ กันหลายเดือนเข้า พวกกลุ่ม Extrovert แห้งเหี่ยวร่วงเป็นใบไม้กันเป็นทิวแถว) นั่นก็ส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตอีก โดยการลาออกครั้งใหญ่นี้เพราะ แรงงานเขาต้องการหาสมดุลใหม่ให้กัชีวิตทั้งเรื่องสุขภาพทางร่างกาย และสุขภาวะทางจิต คนหันมาสนใจเรื่อง Health / Wellbeing ทั้งทางร่างกายและจิตใจกันมากขึ้น ซึ่งนั่นก็ก่อให้เกิดงานใหม่ๆ หรืองานที่เคยมีอยู่ก่อนแต่ว่าต้องพัฒนาทักษะให้ตอบรับความต้องการของ กระแสสังคมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • นักสุขภาพจิตบำบัด (Behavioral Health Specialist)
  • นักกายภาพบำบัดเฉพาะทาง (Physical Therapist Aids)
  • นักรังสีวิทยา (Radiation Therapist)
  • นักสรีระวิทยาและการออกกำลังกาย (Exercise Therapist) อันนี้คือการต่อยอดของอาชีพ Personal Trainer ที่เรารู้จักกัน
  • ผู้จัดการสันทนาการและกิจกรรม (Recreation Manager)
  • ผู้ดูแลส่วนบุคคล (Personal Care Aids) อาชีพนี้เกิดขึ้นเพราะสังคมผู้สูงอายุที่ใกล้จะเข้ามาถึงทั่วทั้งโลก 
  • นักโภชนาการเฉพาะทาง

แรงงานกลุ่มนี้ก็ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังเป็น Hard Skills เฉพาะทางโดยที่บางตำแหน่งนั้นอาจจะต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพด้วย เพราะว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางการแพทย์และสาธารณสุข ซึ่งย้อนกลับไปดูหลักสูตรที่เรามีในประเทศสิ ยังไม่มีเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อตอบรับสังคมและเศรษฐกิจกลุ่มนี้ สุดปังมั๊ยหล่ะ!

แต่เราก็ยังสามารถศึกษาและหาเรียนรู้เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง โดยทักษะสำคัญที่ต้องมีก็จำพวกความเข้าในทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุข กายวิภาค การดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง การใช้ยารักษาโรค และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

3. Green Economy (เศรษฐกิจและสังคมสีเขียว)

เศรษฐกิจกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากโมเมนตัมของ Care Economy โดยตรงเลยเพราะคนเข้าใจดีว่า สภาพสิ่งแวดล้อมนั้นส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพกายและจิตใจของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม คนจึงเริ่มมาใส่ใจและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

สมัยก่อนเราจะได้ยินคำเก๋ ๆ ที่ชอบพูดกันว่า Digital Transformation ซึ่ง ณ เวลานี้นั้น องค์กรส่วนใหญ่ก็คงแปลงร่างเข้าสู่ยุคดิจิทัลกันเกือบจะเต็มรูปแบบแล้ว (ไม่นับระบบราชการ อันนั้นอยู่เหนือทุกจินตนาการและสัจธรรมไปแล้ว) ซึ่งตอนนี้ทั้งโลกกำลังเข้าสู่ยุคของ “Sustainable Transformation หรือการเปลี่ยนแปลงสู่ความยั่งยืน” 

ถ้าเราสังเกตหน้าข่าวต่างประเทศดี ๆ เราจะเห็นว่าทั่วโลกนั้นให้ความสำคัญ และจัดการประชุมใหญ่ในหัวข้อสิ่งแวดล้อมกันทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐภาคกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP 26) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ความตกลงปารีส และอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดประเทศไทยนั้นเข้าร่วมและลงนามในสนธิสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการลดการผลิตคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ (Net Zero Carbon) การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการไม่ใช่ถ่านหินในการผลิต (แต่ว่าก็ยังคงมีการอนุมัติการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแบบรัว ๆ) ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวย้ำว่าเศรษฐกิจสีเขียวกำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งในเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคต โดยสายงานที่เป็นที่ต้องการในเศรษฐกิจกลุ่มนี้ก็คือ

  • ผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อเพลิงชีวภาพ
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานหมุนเวียน
  • ผู้เชียวชาญด้านพลังงานทดแทน
  • นักการตลาดสีเขียว (Green Marketer) โดยเป็นการทำการตลาดเพื่อตอบสนองความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำโฆษณา CSR กิจกรรมเพื่อชุมชนและสังคม 
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำ อันนี้ประเทศไทยจำเป็นมากจริง ๆ ส่วนตัวสงสัยมากว่าทำไมหน้าฝนน้ำท่วม และหน้าร้อนน้ำแล้ง และมันไม่เคยดีขึ้นเลยเป็นมากี่สิบปีแล้วก็ไม่รู้ 
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืน
  • นักวางแผนการจัดการขยะ (Waste Management)

สายงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสายงานเฉพาะทางอีกแล้ว โดย Hard Skills ที่ต้องมีก็เป็นพวก ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ความรู้เรื่องเครื่องมือ วัสดุ และอาคาร รวมไปถึงกฎหมายสิ่งแวดล้อมด้วย 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

จากการประเมินของงานวิจัยของ TDRI ที่ผมได้เล่ามาข้างบน มันมีบางอย่างที่ทุก ๆงาน ทุกสายอาชีพในทุก ๆ เศรษฐกิจนั้นต้องมี เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับสายงานใหม่ โอกาสใหม่ในการเข้าถึงสายงานที่เป็นที่ต้องการ และยังเป็นสิ่งที่นายจ้างในอนาคตมองหาในตัว Candidate ในอนาคตอีกด้วย โดยอ้างอิงจาก World Economic Forum : Jobs of Tomorrow 2020, Linkedin และ Burning Glass Technology ผมได้ขมวดรวบตึงได้ว่า

ทักษะที่หลากหลายเพื่อรองรับอนาคต

ในสมัยก่อนผู้ที่จะประสบความสำเร็จนั้นคือผู้ที่รู้ลึก รู้จริงในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็น Expert ไปเลย ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ (เรียกทักษะแบบนี้ว่า I Shape) แต่อาจจะใช้ไม่ได้อีกแล้วในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะว่าแรงงานที่จะไปรอดในโลกอนาคตนั้นต้องเป็นผู้ที่รู้ลึกในสายงานเฉพาะของตนเอง และรู้กว้างในเรื่องของทักษะที่เกี่ยวข้องกับสายงานของตัวเอง (T Shape) ยังไม่พอ! รู้ลึก รู้กว้างแล้ว ยังต้องสามารถที่จะนำมาบูรณาการกันได้ด้วย (π Shape) นอกจากนั้น เมื่อบูรณาการได้แล้ว ยังต้องมีความสามารถในการสังเคราะห์ได้ (Y Shape) ยังไม่จบจ้า สังเคราะห์แล้ว ต้องคิดวิเคราะห์และวิพากษ์ได้ (X Shape) ฟังแล้วก็เหนื่อยแล้วใช่ไหม #ฮา 

โดยทักษะที่หลากหลายเนี่ย มีความจำเป็นแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดย 50% ของพนักงานทั้งหมดต้องได้รับการ Reskills ภายในปี 2025 ไม่งั้น ไม่ทันแน่นอน ตกขบวนแน่ ๆ 

โดย Soft Skills ที่ทุกสายงานในอนาคตไม่ว่าจะทำงานอยู่ตรงไหน งานอะไร จำเป็นต้องมีสิ่งเหล่านี้ 

Complex Problem Solving Skills หรือ ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน

  • การคิดวิเคราะห์ และการผลิตหรือนำนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ปัญหา
  • การคิดเชิงวิพากษ์ Critical Thinking
  • ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา Creative Solution
  • การให้เหตุผลหลายรูปแบบ Complex Rationality

Self Management การจัดการตนเอง

  • การเรียนรู้ด้วยตัวเอง Self Learning
  • พลาดแล้วแก้ไขได้รวดเร็ว Self- Recovery
  • การรับมือกับภาวะกดดัน Agility
  • ความยืนหยุ่น Flexibility 

Collaboration การทำงานเป็นทีม

  • ภาวะผู้นำ Leadership
  • ความสามารถในการมีอิทธิพลต่อกลุ่มหรือสังคม Influencing 

Technology Application การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการทำงาน

  • การใช้และติดตามเทคโนโลยี
  • การออกแบบเบื้องต้น
  • Programing หรือ Coding เบื้องต้น
  • ความเข้าใจหลักการการเขียนโค้ดดิ้ง Logic 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

แล้วทางฝั่งนายจ้างหรือผู้ประกอบการล่ะ เขาเน้นย้ำและมองหาอะไรในตัวผู้สมัครงาน โดย TDRI ได้ไปทำ Research แยกมา จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ และการวิเคราะห์ Online Job Post ในประเทศไทยกว่า 500,000 ตำแหน่ง โดยเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังบโควิด พบว่าสิ่งนายจ้างมองหาในตัวผู้สมัคร 3 ลำดับแรกก็คือ

  1. English Comprehension ความเข้าใจและการใช้ภาษาอังกฤษ
  2. Digital Skills 
  3. Critical Thinking การคิดเชิงวิพากษ์

นอกจากนี้ยังมีทักษะ Soft Skills อื่น ๆ ที่นายจ้างยังคงมองหาเพิ่มเติมอีกก็คือ

  • Communication ทักษะในการสื่อสาร ประมาณว่าพูดรู้เรื่อง ฟังจำจับใจความได้ บรีฟตรงประเด็น ไม่น้ำท่วมทุ่ง ประชุมชั่วโมงหนึ่งสุดท้ายไม่เก็ตว่าจะเอาอะไร
  • Team Collaboration ทักษะในการทำงานเป็นทีม เพราะงานมีความซับซ้อน ต้องอาศัยหลายฝ่าย และยังต้อง Distance Working อีก ประชุมทีก็เห็นแค่จอ ทักษะนี้เลยสำคัญมาก
  • Creativity ความคิดสร้างสรรค์ หมายถึงการนำความคิดสร้างสรรค์ไปปรับใช้ในการทำงาน ให้งานดีขึ้น ลดปัญหา เพิ่มประสิทธิภาพ ลดเวลาการทำงาน 
  • Professionalism ความเป็นมืออาชีพ มันคงไม่ดีแน่ ถ้าหากหัวหน้ายังคงต้องมานั่งมอนิเตอร์ว่า คนนี้เริ่มทำงานตอนกี่โมงตอน Work From Home 
  • Adaptability ความสามารถในการปรับตัว สามารถปรับตัวในภาวะการทำงานต่าง ๆ รูปแบบงานที่มีข้อจำกัด ต่างบริบท ต่างแวดล้อม 

COVID Aftermath EP.3: After Earth เมื่อโลกการทำงานที่คุ้นเคย ไม่เป็นมิตรกับ HR อีกต่อไป

ในส่วนของ HR ก็เช่นเดียวกัน ทักษะต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น HR ในโลกอนาคตก็มีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีเป็นอาวุธติดตัวไว้ เพื่อให้การทำงานบริหารบุคลากรในอนาคตสอดประสานและเข้ากันได้กับทุกตำแหน่งงาน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งงานที่มีอยู่มาก่อน หรือเป็นสายงานใหม่หรือเศรษฐกิจใหม่ โดย HR ก็จะต้องเป็นด่านแรกในการคัดกรองผู้สมัครที่ Qualified ในตำแหน่งต่าง ๆ ถ้าหากสกิลที่ HR มองหานั้น ตัว HR เองไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจ การที่จะไปคัดเลือกผู้สมัครนั้นก็อาจจะฟังดูประหลาดและดูเป็นไปไม่ได้ หรืออาจจะจิ้มคนมาสัมภาษณ์ผิด ๆ สร้างความเสียหายให้กับองค์กร และตัวเองก็อาจจะตุ้บได้เช่นกัน 

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: โครงสร้าง ทักษะของ HR ในยุคหลัง COVID-19 เป็นอย่างไร

มองในภาพกว้างอย่างที่สุด เรื่องนี้จะกระทบพกเราอย่างไรบ้าง

A: ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บทบาท HR ในการขับเคลื่อนองค์กรให้ตอบโจทย์กลยุทธ์นับว่าเต็มไปด้วยความคาดหวังหลายด้าน

ไม่ว่าจะเป็น การยกระดับความผูกพันของพนักงาน การควบคุมและบริหารค่าใช้จ่าย การเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ แต่ HR ก็ยังเผชิญกับความท้าทายในบทบาทของ HR แต่ละส่วน เช่น,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

 

บางคนเริ่มบ่นแล้วว่า โห! ต้องปรับครั้งใหญ่ ทักษะอะไรก็ไม่รู้เนี่ย ทำยาก เข้าใจยาก โลกมันอยู่ยากขนาดนั้นเลยเหรอ ผมขอตอบเลยว่า “ครับ” โลกอนาคตมันเป็นแบบนั้นแหละ และถ้าหากคุณยังไม่มีทักษะอะไรในหัวข้อไหน ๆ ที่กล่าวมาข้างบนแบบเป็นชิ้นเป็นอันเลย แล้วจะทำยังไงดี 

ผมจะบอกว่า ทักษะที่อยู่ยอดปิรามิดของทักษะทั้งหมด เป็น Soft Skills และ Mindset ชิ้นแรกและชิ้นเดียวที่จะทำให้คุณเป็นเจ้าของทักษะใหม่ๆที่โลกอนาคตกำลังมองหาและเป็นที่ต้องการ นั่นก็คือ “Learn to Learn” หรือ “Ability to Learn” หากคุณเริ่มเปิดประตูการเรียนรู้ ไม่ว่าทักษะไหน ๆ คุณก็เก่ง และเป็นเจ้าของมันได้ และยังสามารถอยู่รอด ไม่ว่าจะเกิด After Earth อีกกี่ครั้ง คุณก็ยังคงเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่า ที่ทุกองค์กรต่างก็มองหา เรามาเริ่มเปิดประตูการเรียนรู้ กับทักษะที่คุณสนใจกันวันนี้เลยดีมั้ยครับ เริ่มก่อน ไปไกลกว่านะครับ 

แล้วพบกันใหม่ EP หน้านะครับ สวัสดีครับ

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง