HUMAN RESULT ค่าของงาน อยู่ที่ผลของคน EP.1 : Vince McMahon และการบริหารคนของสมาคมมวยปล้ำ WWE

HIGHLIGHT

  • วินซ์ แมคแมน (Vince McMahon) คือผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ WWE สมาคมมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลก แม้เขาจะมีเรื่องอื้อฉาวมากมาย แต่ผลงานของเขาก็ถูกยอมรับว่าทำให้มวยปล้ำได้รับความนิยมขึ้น และช่วยวางรากฐานที่แข็งแรงให้กับนักมวยปล้ำตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน
  • นักแสดงชื่อดังอย่าง The Rock, Dave Bautista หรือแม้แต่ John Cena ต่างก็เป็นนักมวยปล้ำในสังกัด WWE ทั้งสิ้น โดยเดอะ ร็อคบอกว่าการขึ้นโชว์ต่อหน้าผู้ชมมากกว่า 300 วันต่อปี คือสาเหตุที่ทำให้เขาเป็นนักแสดงที่ดีขึ้น
  • วินซ์ แมคแมน มองว่าธุรกิจมวยปล้ำในยุค ‘80 กำลังมาถึงจุดอิ่มตัว จึงทำลายขนบธรรมเนียมเดิมเพื่อก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ที่ผสานกีฬากับความบันเทิงอย่างลงตัว
  • วินซ์ แมคแมน ขึ้นชื่อเรื่อง Lead by Example แม้จะเป็นเรื่องที่อันตรายหรือน่าอายแค่ไหนก็ตาม จึงมีคนที่รับฟังและเชื่อถือเป็นจำนวนมาก
  • WWE คือสมาคมที่พร้อมปรับตัวเพื่ออนาคตเสมอ ทั้งการเลือกคน, เลือกเทคโนโลยี, เลือกผู้สนับสนุน องค์กรนี้จึงสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

ยินดีต้อนรับผู้อ่านทุกท่านเข้าสู่คอลัมน์ใหม่จาก HREX.asia ที่มีเป้าหมายเพื่อนำเรื่องราวของการบริหารคนมาถ่ายทอดในแง่มุมที่สบายและเปิดกว้างยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราได้รับมุมมองใหม่ ๆ แล้วยังทำให้เราตระหนักว่าการบริหารคนนั้นแฝงตัวอยู่ในทุกเรื่อง ไล่มาตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ ซึ่งการบริหารคนที่ดีก็ถูกยอมรับว่าเป็นกลไกที่สามารถช่วยให้งานที่ทำอยู่ประสบความสำเร็จได้จริง

เหตุนี้เราจึงตั้งชื่อคอลัมน์ใหม่ว่า Human Result และพลิกคำที่คนไทยคุ้นเคยอย่าง “ค่าของคน อยู่ที่ผลของงาน” ไปเป็น “ค่าของงาน อยู่ที่ผลของคน” เพราะในยุคที่สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดแบบนี้ หากเรามีบุคลากรที่หละหลวม ไม่มีศักยภาพและทักษถมากพอ เราก็จะกลายเป็นเหยื่อของความเปลี่ยนแปลงทันที การมีองค์ความรู้ที่หลากหลายจากธุรกิจแต่ละประเภท จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย ที่เราเชื่อว่าจะสร้างประโยชน์ให้กับผู้อ่านได้มากกว่าเดิม

สำหรับคอลัมน์ตอนแรกนี้ เราขอพาทุกคนไปบนสังเวียนผ้าใบ เพื่อก้าวเข้าสู่โลกของ “มวยปล้ำ” โดยอ้างอิงจากเรื่องราวของ Vince McMahon ประธานของสมาคมผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานหลายทศวรรษ มีทั้งข่าวคราวในด้านบวก และเรื่องอื้อฉาวในด้านลบให้เราได้พูดถึง ซึ่งบทความนี้จะมุ่งไปแค่ประเด็นที่เหมาะกับการเรียนรู้ของ HR เท่านั้น

เพื่อไม่ให้เสียเวลา เราไปลุยกันเลย !

Vince McMahon คือผู้ที่เปลี่ยนโลกมวยปล้ำอาชีพไปตลอดกาล

ด้วยความยาวที่จำกัด บทความของเราคงไม่ได้มานั่งอธิบายว่าวินซ์ แม็คแมน (Vince McMahon) เป็นใครอย่างละเอียด แต่อธิบายได้ง่าย ๆ ว่าเขาคือผู้ที่ทำให้วงการมวยปล้ำเปลี่ยนจากธุรกิจแบบกระจายอำนาจ (Territories System) มาเป็นธุรกิจแบบรวมศูนย์ (Centralized) และต่อยอดจนกลายเป็น Pop Culture ระดับโลกในเวลาต่อมา

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณพ่อของเขาอย่าง Vincent J. McMahon เป็นเจ้าของสมาคมมวยปล้ำชื่อ World Wide Wrestling Federation (WWWF) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในหลากหลายสมาคมที่กระจายตัวอยู่ตามรัฐต่าง ๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งสมาคมเหล่านี้มีกฎอย่างไม่เป็นทางการว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม ไม่ก้าวก่ายกันเด็ดขาด และจะมีหน่วยงานชื่อว่า NWA (National Wrestling Alliance) ทำหน้าที่บริหารจัดการในส่วนกลาง เพื่อคอยดูแลเรื่องเข็มขัดแชมป์ หรือการจัดงานที่จำเป็นต้องใช้องค์ความรู้ขนาดใหญ่เป็นพิเศษ ซึ่งทุกคนก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติ ไม่มีอุปสรรคที่ชัดเจนแต่อย่างใด

คุณพ่อของเขามีความเชื่ออย่างแรงกล้า ว่าคนที่เป็นผู้จัดจะต้องไม่เข้าไปออกหน้ากล้อง หรือยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของนักมวยปล้ำเด็ดขาด เพราะถือเป็นงานคนละส่วนกัน ซึ่งแนวคิดนี้ขัดแย้งกับมุมมองของวินซ์อยู่ลึก ๆ เพราะเขาเห็นว่าวงการมวยปล้ำยังมีจุดให้พัฒนาได้ และการเข้าไปมีบทบาทกับนักกีฬาโดยตรงจะเพิ่มโอกาสให้องค์กรเติบโตได้อีกมาก ดังนั้นในปีค.ศ. 1982 เขาจึงตัดสินใจซื้อกิจการของพ่อตัวเอง โดยหวังว่าภาพที่อยู่ในหัวของเขา จะถูกนำมาสร้างให้เกิดขึ้นจริง

แม้จะทำให้โลกมวยปล้ำไม่เหมือนเดิมอีกเลยก็ตาม

Vince McMahon คือคนที่ทำให้วงการมวยปล้ำพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

เมื่อได้มีโอกาสควบคุมอนาคตของสมาคมมวยปล้ำชั้นนำ เขาตัดสินใจทันที ว่าจะมองไปที่เป้าหมายข้างหน้าเท่านั้น เพราะเขาเข้ามาทำธุรกิจโดยเล็งเห็นว่ามันสามารถต่อยอดได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะเดียวกันหากเขาทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ ก็น่าจะทำให้เหล่านักมวยปล้ำมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย

ประเด็นนี้หากมองในภาพรวม ก็เหมือนจะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย แต่หากมองในเชิงรายละเอียด ก็แปลว่าต้องมีผู้เล่นบางส่วนที่ล้มหายไปจากโลกธุรกิจ เพราะสิ่งที่เขาทำคือการลาออกจาก NWA ซึ่งเป็นสมาพันธ์มวยปล้ำแห่งชาติ และเริ่มรวมศูนย์อำนาจ (Centralized) ก้าวข้ามกฎที่บอกว่าห้ามก้าวก่ายธุรกิจระหว่างภูมิภาค และทุ่มเงินดึงซุปเปอร์สตาร์จากแต่ละสมาคมเข้ามาอยู่กับเขาเพียงคนเดียว(Exclusive Contract) เท่านั้น

ในที่นี้สื่งที่ทำให้เหล่าซุปเปอร์สตาร์ทยอยตัดสินใจเข้าร่วมกับ WWF (เปลี่ยนชื่อในปี 1979) ไม่ได้เกิดจากเม็ดเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะวินซ์ใช้วิธีนำเสนอวิสัยทัศน์ เพื่อทำให้นักมวยปล้ำชั้นนำเห็นว่าศักยภาพที่พวกเขามี จะถูกทำให้เด่นชัดขึ้น แล้วไปสู่คนในวงกว้างขึ้นเดิมได้อย่างไร

แน่นอนว่ามีทั้งคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อมั่นในวิถีของมวยปล้ำแบบเดิมที่อ้างอิงกับความเป็นกีฬา แต่ก็มีคนที่เห็นด้วย เพราะมองว่ามวยปล้ำอาชีพไม่ควรจำกัดอยู่แค่ในกลุ่มของแฟนกีฬาเท่านั้น แต่สามารถกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน, เป็นแรงบันดาลใจ, เป็นความบันเทิง หรือแม้แต่เป็นฮีโร่ของเด็ก ๆ ไม่ต่างจากภาพยนตร์หรือการ์ตูน ซึ่งไม่ว่าจะด้วยวิธีการแบบใด สุดท้าย WWF ก็รวมศูนย์อำนาจได้สำเร็จ เและเริ่มแผนต่อไปทันที

หากเรามองในแง่ของ S – Curve ทางธุรกิจ เราจะเห็นว่าตัวของวินซ์เองมีการคิดเรื่องนี้มาตั้งนานแล้ว (Ferment Period) เริ่มมาตั้งแต่รุ่นพ่อ และเขาก็ลงมือทำทันทีเมื่อมีโอกาส

จากนั้นเมื่อแผนงานดังกล่าวประสบความสำเร็จตามเป้า สิ่งที่เขาทำก็ไม่ใช่แค่การจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น แต่เป็นการสร้างแผนธุรกิจใหม่ (New S – Curve) ขึ้นมา ซึ่งในขณะนั้นคือการเปลี่ยนภาพจำของมวยปล้ำ จากความเป็นกีฬาที่แนบเนียน ไปเป็นกีฬาเพื่อความบันเทิง หรือ Sports Entertainment ซึ่งนอกจากจะช่วยให้องค์กรสามารถสร้างคอนเทนท์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้ชมได้มากขึ้นแล้ว ยังส่งผลในแง่ของการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการบริหารจัดการด้านภาษีอีกด้วย

แผนธุรกิจใหม่ของเขาคืออะไร ? คำตอบก็คือเขาาต้องการทำให้โลกเห็นว่านี่คือสมาคมมวยปล้ำที่ทุกคนต้องหันมาดู เพราะไม่ใช่การแค่เป็นศูนย์รวมของนักกีฬาชั้นยอดเท่านั้น แต่ยังเป็นศูนย์รวมของศิลปินดาราที่ผู้ชมคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นนักแสดง, นักร้อง หรืออินฟลูเอนเซอร์ด้านต่าง ๆ ซึ่งบุคคลเหล่านี้ แม้จะออกงานในแวดวงอื่นเป็นระยะ หรือมีความถี่มากพออยู่แล้ว แต่การปรากฏตัวบนสังเวียนมวยปล้ำ ก็ถือเป็นเรื่องใหม่ แบบที่ไม่เคยมีใครเคยเห็นมาก่อน

ด้วยความต่างและข้อมูลที่มีในหัว เขาจึงเชื่อว่าโมเดลธุรกิจนี้จะทำให้คนหันมาสนใจผลิตภัณฑ์ที่ทำอยู่มากกว่าเดิม และทำให้ทุกคนที่มีส่วนร่วม มีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ตัวอย่างของการใช้สื่อที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง ก็คือการจัดโชว์มวยปล้ำชื่อว่า Wrestlemania ครั้งที่ 1 ที่ Madison Square Garden กลางมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น Super Show ให้คนเปิดมาดูรายการเพียงไม่กี่ชั่วโมง แต่สามารถรับความบันเทิงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแอ็คชั่น, ดราม่า, ตลกขบขัน ฯลฯ 

เขาคิดว่าในการลงทุน (input) อย่างหนึ่ง จะต้องได้ผลตอบแทน (output) มากกว่าเดิมเสมอ ดังนั้นโชว์ดังกล่าวจึงเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ เพราะหากการทุ่มทุนดึงศิลปินระดับโลกจากหลายแขนงเข้ามา แต่กลับขาดทุนหรือล้มเหลว โมเดลธุรกิจอื่น ๆ ที่วางไว้ก็คงต้องพับเก็บตามไปด้วย

และถือเป็นโชคดีที่เขาทำสำเร็จ มีผู้ชมในสนาม 19,121 คน ถ่ายทอดสดไปกว่า 1 ล้านครัวเลือน สร้างรายได้รวมกันกว่า 12 ล้านดอลลาร์ กลายเป็นศึกมวยปล้ำที่สร้างรายได้สูงที่สุดในสหรัฐอเมริกาขณะนั้นทันที

ย้อนกลับไปพูดถึงการเปลี่ยนมวยปล้ำให้กลายเป็นความบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบกันอีกครั้ง ต้องอธิบายก่อนว่าวงการมวยปล้ำมีคำที่เรียกว่า Kayfabe หมายถึงการปลอมแปลงบางอย่างที่นักมวยปล้ำต้องทำตามเสมอ เช่นหากเราเป็นนักมวยปล้ำที่รับบทเป็นตัวร้าย เราก็ต้องแสดงออกเหมือนคนไม่ดีตลอดเวลา แต่หากเรารับบทเป็นคนดี เราก็ต้องระมัดระวังคำพูดคำจา ไม่เผลอแสดงออกในแง่ลบต่อหน้าผู้ชมเด็ดขาด

กรณีนี้หมายรวมถึงนักมวยปล้ำบางคนที่ใส่หน้ากาก ซึ่งสมาคมก็จำเป็นต้องออกแบบหน้ากากรุ่นพิเศษ เพื่อเอาไว้ใส่ขณะออกมาพบปะกับแฟน ๆ หรือขณะลงจากรถบัสของสมาคม เพื่อไม่ให้ใครจับสังเกตได้ว่าชายร่างใหญ่คนนี้ อาจเป็นนักมวยปล้ำที่สวมหน้ากากในสังเวียน เรียกว่าวงการมวยปล้ำมีหน้าที่รักษาจินตนาการของผู้ชมอย่างเต็มเปี่ยมมาโดยตลอด

นอกจากนี้ นักมวยปล้ำในยุคก่อน ๆ ยังมีภาษาพูดแบบเฉพาะเจาะจงเพื่อเอาไว้พูดคุยกันบนสังเวียน เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นรู้ว่าพวกเขากำลังพูดถึงเรื่องอะไร นี่คือความคลาสสิค และทำให้มวยปล้ำอยู่ตรงกลางระหว่างโลกแฟนตาซีกับความเป็นจริงได้อย่างสง่างาม

ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป เขามองว่าการอยู่ในคาแรกเตอร์ตลอดเวลานั้นมีข้อดีมากก็จริง แต่หากเราทำแบบนั้น 100% เราก็จะปิดกั้นโอกาสในการเติบโต หรือเข้าถึงคนบางกลุ่ม เช่นโครงการด้าน CSR ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความโอบอ้อมอารี ลองคิดตามดูว่าหากองค์กรต้องทำภารกิจนั้น แต่นักมวยปล้ำที่ดังที่สุดของสมาคมดันเป็นนักมวยปล้ำฝ่ายร้าย ก็แปลว่าองค์กรจะสูญเสียโอกาสในการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีไปทันที

เหตุนี้เขาจึงมองว่าวงการมวยปล้ำจำเป็นต้องมีการผ่อนปรน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน เขาเริ่มมีข้อกำหนดให้นักมวยปล้ำแต่งตัวสุภาพ มีการใส่สูทผูกไทด์ มีการลงทุนเพื่อปรับภาพลักษณ์ของนักมวยปล้ำ มีการจ้าง Art Director เข้ามาเพื่อดูว่านักมวยปล้ำคนนี้ควรแต่งตัวอย่างไรในสังเวียน และเมื่อออกไปข้างนอกควรแต่งตัวให้สุภาพอย่างไรโดยไม่สูญเสียคาแรกเตอร์ เป็นต้น

ทัศนคติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในวงการมวยปล้ำแบบตั้งเดิม จึงทำให้ WWF เป็นมิตรกับสื่อมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็พัฒนาไปสู่การเป็น Pop Culture ได้ง่ายกว่าสมาคมอื่นที่ยังยึดถือปฏิบัติแบบเดิม

เรื่องที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือวินซ์เป็นคนที่ชอบสังเกตข่าวสารรอบตัว และรู้ว่าจะดึงสิ่งรอบข้างเข้ามาเป็นประโยชน์กับการทำงานได้อย่างไร

ต้องอธิบายก่อนว่างานมวยปล้ำเป็นงานที่หนักมาก ในปีหนึ่งที่มี 365 วัน นักมวยปล้ำจะต้องขึ้นโชว์อย่างน้อย 300 ครั้งต่อปี ผู้จัดคนอื่นจึงอาจยุ่งจนลืมเอาเวลาไปสังเกตว่าโลกกำลังหมุนไปถึงไหนแล้ว ซึ่งประเด็นนี้ก็คงไม่เกิดผลเสียนัก หากเรามีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างสมาคม “กีฬามวยปล้ำ” ที่แข็งแกร่งที่สุด แต่สำหรับวินซ์ แนวคิดดังกล่าวดูเป็นเรื่องล้าสมัยทันที เพราะสิ่งที่เขาคิดไม่ได้หยุดอยู่แค่การสร้างนักกีฬาที่แข็งแกร่งและมีชื่อเสียง แต่เขาต้องตอบให้ได้เสมอว่า “ทำไมคนดูต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อบัตรเข้ามาชมนักกีฬาเหล่านี้” แนวคิดแบบ Start with Why ? ช่วยให้เขาตั้งโจทย์ได้ดีขึ้น และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่เขาให้ความสำคัญกับคาแรกเตอร์และเนื้อเรื่อง (Storyline) มากกว่าเดิม

Vince McMahon คือผู้ที่ย้ำว่าโลกมวยปล้ำคือละคร ทุกคนต้องแสดง

ผมขอยกตัวอย่างการสร้างคาแรกเตอร์มวยปล้ำว่าคล้ายกับการเล่นเกมต่อสู้อย่าง Street Fighter ที่เรามีหน้าที่เลือกนักสู้แต่ละแบบ แต่ละสไตล์เข้ามาเผชิญหน้ากัน ซึ่งความตื่นเต้นก็คือการเห็นคนที่มีภาพลักษณ์ (Branding) แต่ละแบบมาสู้กัน เช่นนักมวยปล้ำหน้ากากมาสู้กับนักเลงข้างถนน หรือเห็นอดีตนักมวยไทย มาสู้กับนักเรียนสาวสวย เป็นต้น

แต่เมื่อเวลาผ่านไปแม้การสร้างคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนดังกล่าวจะประสบความสำเร็จ แต่ในระยะยาว ผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ก็จะมีความซ้ำเดิมมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่มีเหตุผลให้คนอยากติดตามต่อ ดังนั้น การเอาเรื่องราวมารองรับจะช่วยให้ตัวละครมีชีวิตขึ้น และยังช่วยกระตุ้นให้คนอยากรู้มากกว่าเดิมว่าเส้นทางของตัวละครที่พวกเขารักหรือเกลียด จะก้าวไปในทิศทางใด นี่คือกลไกพื้นฐานที่วินซ์นำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภายหลัง

ในส่วนของมวยปล้ำนั้น วินซ์นำทักษะของการละครเข้ามาสอดแทรกทันที เริ่มจากการสังเกตุว่ามวยปล้ำจำเป็นต้องทิ้งท้ายแต่ละโชว์ด้วยคำถามปลายเปิด เพื่อให้คนอยากรู้ว่าทิศทางในตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร และหากเป็นไปได้ ก็ควรทิ้งปมสอดแทรกไว้เป็นระยะ เพื่อให้คนนำไปตีความ เกิดเป็นข้อถกเถียง โดยมีปลายทางคือการทำให้เกิดเป็นชุมชน (Community) ซึ่งชุมชนนี้ จะกลายเป็นกลุ่มก้อนที่เขาติดต่อเพื่อขายบัตร (Selling) หรือแม้แต่ดึงเข้ามาเป็นทีมงานในภายหลัง (Recruiting) โดยชุมชนของพวกเขาในปัจจุบันใช้ชื่อว่า WWE Universe ภายใต้แนวคิดว่าเมื่อมีชื่อร่วมกัน ทุกคนก็จะรู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียว (Unity) มากขึ้น

กลยุทธ์ที่เขาเลือกใช้ และได้ผลที่สุดก็คือเล่นกับเรื่องของชาตินิยม (Nationalism) ด้วยวิธีสร้างตัวละครที่เรียกว่าเหนือมนุษย์ (Larger than Life) และใช้เนื้อเรื่องเป็นการต่อสู้ระหว่างชาวอเมริกันกับผู้รุกรานจากต่างชาติ 

ผมอยากให้คิดถึงเรื่องนี้ เหมือนการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ หรือ โอลิมปิก ที่ไม่ว่าคนไทยจะมีปัญหาทางการเมืองหนักหน่วงแค่ไหน แต่พอมีการแข่งขันระดับประเทศ คนไทยกลับลืมปัญหาเหล่านั้นไปชั่วขณะ และหันมาเชียร์คนไทยไปพร้อม ๆ กัน

ประเด็นนี้ก็เหมือนกัน เพราะพอเรานำเรื่องชาตินิยมมาใช้แล้ว ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนคลับหรือไม่ แต่พอมีข่าวออกไปว่านักมวยปล้ำอเมริกันจะต้องสู้กับผู้รุกรานจากอิหร่าน, จากอิรัก, จากรัสเซีย (ในช่วงที่สงครามเย็นยังคงเข้มข้น) สมาคมก็สามารถดึงสื่อและฐานผู้ชมเข้ามาได้มากเป็นประวัติการณ์ โดยเฉพาะหากเทียบกับองค์กรที่ยังมุ่งเน้นกับความเป็น “มวยปล้ำและกีฬา” อย่างแน่วแน่

ปัญหานี้ไม่ต่างจากตอนที่บริษัทชื่อดังอย่าง Kodak หรือ Nokia ถูกธุรกิจใหม่กลืนกิน จนแทบไม่มีบทบาทในโลกยุคปัจจุบันอย่างที่เคยทำได้ในอดีต

หัวข้อนี้คือตัวอย่างเบื้องต้นว่าแทนที่เราจะเน้นบอกกับผู้บริโภคว่าธุรกิจของเราคืออะไร กำลังทำอะไร หรือมุ่งไปสู่การเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ที่ยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่สิ่งที่เราจะลืมไม่ได้เด็ดขาดก็คือการตอบคำถามให้ชัดเจนว่า “ผลิตภัณฑ์ที่เราสร้างออกมานั้น จะดีต่อชีวิตของผู้บริโภคอย่างไร หรือจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคมได้ด้วยรูปแบบไหน”

หากเราตอบคำถามนี้ได้ชัดเจน คนก็จะกล้าจ่ายเงินเพื่อซื้อของ ทางพนักงานก็จะรู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่มีคุณค่า (Value) นำไปสู่การมีส่วนร่วม และเกิดความเป็นเจ้าของที่อยากจะพัฒนาธุรกิจให้แข็งแรงกว่าเดิมอย่างเป็นรูปธรรม

Vince McMahon คือผู้ที่เป็นแบบอย่าง และมักถ่ายทอดแนวคิดดี ๆ ให้ผู้อื่นเสมอ

ไม่ว่าคุณจะเป็นแฟนมวยปล้ำหรือไม่ เราเชื่อว่าคุณคงเคยได้ยินชื่อของ Dwayne ‘The Rock’ Johnson, Dave Bautista หรือแม้แต่ John Cena ซึ่งกลายเป็นนักแสดงชื่อดังระดับโลก ซึ่งหากเรามองลึกลงไปถึงรากฐานของความสำเร็จเหล่านี้

ผมขอยกตัวอย่างคำพูดของ ‘เดอะ ร็อค’ ที่บอกว่าเหตุผลที่ทำให้เขาปรับตัวเข้ากับวงการฮอลลีวูดได้อย่างดี และมีทักษะการแสดงจนสามารถยกระดับตัวเองขึ้นไปเป็นดาราที่มีค่าตัวสูงที่สุดได้นาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแข่งขันมวยปล้ำ เนื่องจากรูปแบบของกีฬาชนิดนี้ที่อยู่คาบเกี่ยวระหว่างเรื่องจริงและความแฟนตาซี ทำให้เขาต้องออกไปแสดงต่อหน้าผู้ชมเป็นประจำทุกสัปดาห์ ต้องรู้จัก Improvise ต้องรู้จักสังเกตผู้ชม และพิจารณาว่าพฤติกรรมแบบไหนที่จะเรียกเสียงเชียร์ได้ พฤติกรรมแบบไหนที่จะเรียกเสียงโห่ได้ หรือจะพูดแบบไหนเพื่อนโน้มน้าวใจคน เป็นต้น

ซึ่งหากมองในรายละเอียดแล้ว จะเห็นว่าศาสตร์ที่กล่าวมาทั้งหมด คือศาสตร์เดียวกับที่ใช้ในการแสดงละครเวทีทั้งสิ้น หมายความว่าแนวคิดที่วินซ์ต้องการผนวกศาสตร์การละครเข้ากับกีฬามวยปล้ำ ได้ออกดอกออกผลไปสู่คนรุ่นใหม่อย่างชัดเจน สามารถนำไปต่อยอดเลี้ยงชีวิตได้จนปัจจุบัน นี่คือตัวอย่างของการมีวิสัยทัศน์และมองความน่าจะเป็นได้ในระยะยาว

Chris Jericho นักมวยปล้ำระดับตำนาน และนักร้องนำวง Fozzy บอกว่า วินซ์ไม่ได้สอนให้เขาเป็นนักมวยปล้ำที่ดีเท่านั้น แต่ย้ำเสมอว่าเราต้องเป็นมนุษย์ที่ดีควบคู่กันไปด้วย ผมฟังเรื่องนี้แล้ว ก็นึกถึงคำพูดอันโด่งดังของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่บอกว่า “จงเรียนรู้ความเป็นมนุษย์ก่อน แล้วจึงเรียนศิลปะ” เพราะภาคแสดงของเราคงไม่มีความหมายอะไรเลย หากตัวตนของเรา ไม่ได้ถูกรังสรรค์ออกมาอย่างมีคุณค่าควบคู่กันไป

ผมย้ำอีกครั้งว่าวินซ์ แมคแมนเอง ก็มีเรื่องอื้อฉาวที่จำเป็นต้องถูกต่อว่า และได้รับการลงโทษทางกฏหมายเช่นกัน แต่ในแง่มุมที่เป็นประโยชน์นั้น เราก็ได้ยินจากปากของนักมวยปล้ำที่ออกมาพูดกันเป็นระยะ โดยหนึ่งในเรื่องที่คนพูดถึงกันมากที่สุด ก็คือเรื่องของการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (Lead by Example) เขาไม่ลังเลหากจะต้องเล่นฉากอันตราย เราจึงได้เห็นเขาถูกนักมวยปล้ำเล่นงานอย่างหนักหน่วงเป็นประจำ จนกลายเป็นภาพสุดฮาที่คนยังพูดถึงกันจวบจนปัจจุบัน

นอกจากนี้เขายังมุ่งทำวิถีชีวิตของตนให้นักมวยปล้ำดูเป็นตัวอย่าง เพราะเขาจะไม่ยอมเป็นผู้บริหารสมาคมมวยปล้ำที่ร่างกายอ่อนแอ หรือแสดงความเหยาะแหยะต่อหน้าลูกจ้างที่เขามุ่งหวังให้ทำงานมากกว่า 300 วันต่อปี เขาอยากให้คนเห็นว่าหากเขาทำได้ คนอื่นก็ต้องทำได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องของการกดดัน เพราะสมาคมก็มีสวัสดิการชั้นยอดมาแลกเปลี่ยน ไล่ตั้งแต่ตั๋วเครื่องบิน First Class, ค่าตอบแทนที่เหมาะสม หรือแม้แต่เครื่องบินส่วนตัว ซึ่งสวัสดิการเหล่านี้จะประยุกค์ใช้แบบส่วนตัว (Personalized) ตามลำดับขั้นของนักมวยปล้ำ

แต่แน่นอนว่าเมื่อมวยปล้ำอาชีพเป็นกีฬาที่ขับเคลื่อนด้วยสภาพร่างกายของคนโดยตรง จึงมีหลายครั้งที่การดูแลของสมาคมถูกมองว่าหลวม และไม่คุ้มค่ามากพอให้คนต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อธุรกิจนี้

บทสรุป

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าแพลตฟอร์มของเราไม่ได้นำเสนอแค่เรื่องการบริหารงานบุคคลในออฟฟิศแบบทั่วไปเท่านั้น แต่เราต้องการทำให้เห็นว่าศาสตร์แบบเดียวกันนี้ ได้แฝงตัวอยู่ในธุรกิจทุกประเภท ไม่ว่ามันจะถูกเรียกด้วยคำว่าอะไรก็ตาม

ในอนาคตอันใกล้ คอลัมน์นี้จะพาคุณไปรู้จักเรื่องราวของการบริหารงานบุคคลในแวดวงอื่น ๆ อีกมากมาย เช่นการจัดคอนเสิร์ต, การบริหารทีมกีฬา, การบริหารคนในโลกภาพยนตร์, วงการไอดอล หรือแม้แต่การพาคุณท่องประวัติศาสตร์ไปดูเรื่องราวของนักบริหารในตำนานอียิปต์โบราณ เป็นต้น

หากคุณชื่นชอบวิธีการนำเสนอเรื่อง HR ในมุมมองที่แปลกใหม่แบบนี้ อย่าลืมติดตามแพลตฟอร์มของเราในทุกช่องทางไม่ว่าจะเป็น HR Community, HR Products & Services รับรองว่าโลกการทำงานของคุณจะเปลี่ยนไปจากเดิมแน่นอน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง