ยุคทองของ HR กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

HIGHLIGHT

  • ยุคทองของ HR จะเกิดขึ้นเมื่อความเข้าใจผิดหมดไป
  • ยุคทองของ HR จะเกิดขึ้นเพราะมีความสำคัญต่อธุรกิจมากขึ้น
  • ยุคทองของ HR จะเกิดขึ้นเมื่อสร้างสมดุลระหว่างนายจ้างและลูกจ้างได้
  • ยุคทองของ HR จะเกิดขึ้นถ้ารับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานในอนาคตได้
  • ยุคทองของ HR จะเกิดขึ้นจริงไหม​ HR เท่านั้นที่จะตอบได้

ย้อนกลับไปปี 1997 บริษัทที่ปรึกษาเบอร์หนึ่งของโลกอย่าง McKinsey ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับโลกทำงานอนาคตผ่านบริษัทจำนวน 77 แห่ง โดยมีพนักงานระดับผู้จัดการขึ้นไปกว่า 6,000 คนเข้าร่วม

งานวิจัยนี้ได้ข้อสรุปว่า อีก 20 ปีข้างหน้า ทรัพยากรที่มีค่าที่สุดขององค์กรคือคน Talent หรือ บุคลากรผู้มีศักยภาพ

เพียงแต่ว่าจำนวน Talent ที่อยู่ในตลาดแรงงานนั้นมีอยู่อย่างจำกัด สิ่งนี้แหละที่ McKinsey คาดการณ์ไว้ว่า อนาคตจะเกิด War of Talents หรือ สงครามการแย่งชิงทรัพยากรมนุษย์

เร่งเวลามายังปี 2023, สงครามดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว

ยุคทองของ HR กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว

HREX.asia ในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับ HR ที่เชื่อในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลเพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กร เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี

โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทุกองค์กรเผชิญหน้ากับวิกฤตเดียวกัน ทำให้ทุกคนถูกบังคับให้ปรับตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กระทั่งเกิดการลาออกครั้งใหญ่ตามมา หลายองค์กรจึงหันมาทบทวนโครงสร้างบริษัทของตัวเองว่า ฉันจะทำอย่างไรในวิกฤตครั้งนี้ ? 

และแล้ว หนึ่งในหน่วยงานที่กลายมาเป็นเสาหลักแห่งใหม่ขององค์กรก็คือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เพราะเป็นฝ่ายเดียวที่ดูแลบริการจัดการคนโดยตรง นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ HR ได้ฉายแววความสำคัญ สอดคล้องกับบทสัมภาษณ์ของ ดร. เอกพล ณ สงขลา Chief People Officer จาก ไทยเบฟ ที่มองว่า ยุคนี้เป็นยุคทองของ HR โดยมีบทบาทสำคัญในการสร้างมูลค่าและสร้างคุณค่าสูงสุดผ่าน ‘คน’ นั่นเอง

วันนี้เราจะเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมยุคนี้ถึงเป็นยุคทองของ HR และมันเป็นยุคทองของ HR จริง ๆ ไหม ไปอ่านกัน

1) ยุคทองของ HR เมื่อความเข้าใจผิดหมดไป

สมัยก่อนเวลาเราพูดถึง HR หลายคนมักเข้าใจผิดว่า HR ทำงานแค่เรื่องขาด ลา มาสาย สัมภาษณ์งาน สวัสดิการ ติดต่อประกันสังคม ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วประเภทการทำงานของ HR มีความรับผิดชอบมากกว่านั้น โดยเราสามารถคร่าว ๆ ได้ 3 ประเภทคือ

  • HRM – Human Resource Management เป็น HR ที่ทำหน้าที่ ‘บริหารจัดการ’ ทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กรทุก ๆ ด้าน เพื่อให้พนักงานเกิดการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และองค์กรมีศักยภาพ ส่วนมากจะรู้จักในนาม HR Admin ผู้ทำงานเอกสารเรื่องขาดลามาสายตามที่เรา ๆ เข้าใจนั่นแหละ
  • HRD – Human Resource Development เป็น HR ที่ทำหน้าที่ ‘พัฒนา’ ทรัพยากรมนุษย์ภายในองค์กร ตลอดจนส่งเสริมให้บุคลากรในองค์กรมีความรู้ความสามารถไปจนถึงมีทักษะในการปฏิบัติงานได้ดียิ่งขึ้น เช่น การฝึกอบรม, การศึกษาผ่านการเรียนการสอนที่จริงจัง, การออกไปดูงานนอกองค์กร, ไปจนถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ระหว่างกัน
  • HRBP – HR Business Partner เป็น HR ที่จะต้อง ‘บริหารคนให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจขององค์กร’ ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนอัตรากำลังคน การสรรหา การพัฒนา รวมไปถึงการรักษาขวัญกำลังใจพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว โดยตำแหน่งนี้จะทำงานเคียงคู่ใกล้ชิดกับผู้บริหารโดยตรง ซึ่งบางองค์กรอาจให้นั่งเป็นคณะกรรมการบริหารหรือทำงานร่วมกับผู้บริหาร C-Level ทีเดียว

ฉะนั้นหากยุคทองของ HR เกิดขึ้นจริง คนทั่วไปต้องลบภาพเดิม ๆ ของ HR แบบครูปกครองหรือนักจับผิดให้หมดไป และกลายเป็นเพื่อนคู่คิดกับพนักงานอย่างแท้จริง นี่คือเหตุผลที่เราพยายามสื่อสารบ่อย ๆ ให้ทุกคนเข้าใจว่า HR ไม่ได้มีหน้าที่แค่นั้น

และเมื่อทุกคนเข้าใจบทบาทความสำคัญของ HR มากขึ้น ความเข้าใจผิดเหล่านี้ก็จะหายไป 

2️) ยุคทองของ HR เพราะสำคัญต่อธุรกิจมากขึ้น

บ่อยครั้งที่ฝ่าย HR มักถูกมองข้ามจากผู้บริหารไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่จริง ๆ แล้ว HR ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่และมีสำคัญมากต่อองค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ไม่ว่า HR คนนั้นจะตำแหน่ง Director หรือตำแหน่ง Manager หรือแม้กระทั่งพนักงานทั่วไประดับ Officer ก็ตาม

เพราะ HR ไม่ได้ทำงานหลังบ้านอย่างเดียว แต่ต้องมีกลยุทธ์กระบวนการทำงานทั้งหมดให้สอดคล้องกับธุรกิจและนโยบายบริษัท ยกตัวอย่าง การสรรหาพนักงานใหม่ (Recruiting) ที่แต่ก่อน HR อาจจะสรรหามาเติมในตำแหน่งที่ขาดเท่านั้น แต่ปัจจุบัน HR ต้องมองระยะยาวถึงผลประโยชน์ทางธุรกิจด้วย HR ต้องตอบให้ได้ว่าทำไมต้องรับพนักงานใหม่? ลงทุนจ้างคนเพิ่มแล้วคุ้มค่าอย่างไร? หรือพนักงานคนนี้จะผลักดันองค์กรไปสู่จุดหมายได้อย่างไร?

หรืออีกหนึ่งตัวอย่างจากการสัมภาษณ์คุณ สุภาพร บัญชาจารุรัตน์ ผู้อำนวยการสายทรัพยากรบุคคล เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ที่บอกว่า HR Payroll จะต้องไม่ทำตามหน้าที่อย่างเดียวก็จบ แต่ต้องสามารถวิเคราะห์การบริหารทางการเงินเพื่อการดำรงชีพของพนักงานได้ 

ฉะนั้น HR ควรได้รับการ Empower และถูกมองในฐานะ ‘นักธุรกิจ’ คนหนึ่ง มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลในสอดคล้องกับเป้าหมายบริษัท ต้องเข้าใจธุรกิจ เข้าใจเป้าหมายองค์กร เข้าใจระบบการทำงานภายใน เข้าใจคู่แข่ง เข้าใจอุตสาหกรรม ไปจนถึงเข้าใจเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้ทำให้ HR ช่วยสนับสนุนการเติบโตขององค์กรต่อไป

3️) ยุคทองของ HR ในการสร้างสมดุลระหว่างนายจ้าง (Employer) และลูกจ้าง (Employee)

เราคงเคยได้ยินคำถามคลาสสิกว่า “HR ต้องดูแลผลประโยชน์ของใครระหว่างองค์กรและพนักงาน ?”

ถ้าตอบเชิงหลักการคงจะเป็นการดูแลผลประโยชน์ขององค์กรก่อน เพียงแต่ว่าหนึ่งในผลประโยชน์ขององค์กรนั้นก็คือการดูแลรักษาพนักงานให้มีสวัสดิการที่ดี มีความสุขในการทำงาน เพราะหากพนักงานไม่อยากทำงานให้องค์กรของเราเมื่อไหร่ ก็ถือว่าองค์กรนั้นตกอยู่ในสภาวะล้มเหลวแล้ว

เมื่อองค์กรต้องการการเติบโตทางธุรกิจ HR ต้องเข้าใจก่อนว่า เป้าหมาย (Purpose) ทางธุรกิจที่เราทำอยู่คืออะไร แล้วกำหนดกลยุทธ์กระบวนการทำงานของ HR ให้สอดคล้องกับเป้าหมายนั้น ๆ ส่วนลูกจ้างต้องการความสุขในการทำงาน สิ่งที่ HR ทำได้คือการสร้างคุณค่า (Value) ให้กับงาน และสร้างวัฒนธรรมที่ดี เพื่อที่ว่าพวกเขาทำงานแล้วรู้สึกปลอดภัย

นี่จึงเป็นความท้าทายของ HR ในยุคทอง ที่จะต้องสร้างและเข้าใจสมดุลของสองสิ่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4️) ยุคทอง HR ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกทำงานอนาคต

เราขอทิ้งท้ายด้วยข้อสังเกตไปยังโลกการทำงานที่จะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกาภิวัตน์ (Globalization), เทคโนโลยี (Technology), อุปสรรคต่าง (Crisis), นวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (Rapid Innovation) หรือกระทั่งช่วงวัยของคนทำงาน (Generation)

ยกตัวอย่าง HR ต้องเข้าใจแรงงานรุ่นใหม่ที่กลายเป็น Generation Z (คนที่เกิดในช่วงปี 1995 – 2009) ที่เริ่มเข้ามาเป็นแรงงานในฐานะ First Jobber กันแล้ว นั่นทำให้คนทำงานมีลักษณะนิสัย ทัศนคติในการทำงาน รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างไปจากคนทำงานรุ่นก่อนเป็นอย่างมาก 

หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังมาแรงแบบฉุดไม่อยู่ ซึ่ง HR สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารคนได้อย่างเต็มที่และต่อยอดธุรกิจให้เติบโตขึ้นได้ หน้าที่ของ HR จึงต้องรู้จักเลือกเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์อย่างตรงประเด็น อย่ากลัวว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่ (Replace) แต่ให้มองเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นนั่นเอง

ฉะนั้นเมื่อโลกการทำงานกำลังจะเปลี่ยนไป และไม่มีอะไรแน่นอน สิ่งสำคัญของ HR คือการปรับตัวให้สอดรับกับอนาคตที่กำลังมาถึง

บทสรุป

HREX.asia ในฐานะแพลตฟอร์มสำหรับ HR ที่อยู่คู่วงการทรัพยากรบุคคลไทยมานานกว่า 5 ปีจึงเชื่อว่า ยุคทองของ HR กำลังเริ่มต้นขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม อยู่ที่ว่า HR จะปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันท่วงทีหรือไม่

แต่จะว่าไปแล้ว ยุคทองของ HR จะเกิดขึ้นจริง ๆ ไหม ?

HR เท่านั้นที่จะตอบได้

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง