คุยกับ Conicle ทำไมการ Reskill ถึงมีความจำเป็นกับคนวัยทำงาน?

ในปัจจุบันวงการธุรกิจได้ให้ความสำคัญกับการเรียนของพนักงานเพิ่มมากขึ้น หลาย ๆ คนอาจคิดว่า “แค่เรียนจากการทำงานก็เพียงพอแล้วไม่ใช่หรือ?” แต่สำหรับยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบันนี้ ความสำคัญของการเรียนรู้ก็มีเพิ่มมากขึ้น องค์กรหลาย ๆ แห่งเอง ก็ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ของพนักงาน โดยเฉพาะ E-learning

ครั้งนี้เราได้ร่วมพูดคุยกับ คุณปูน นกรณ์ (ผู้ก่อตั้งและให้บริการ Conicle LMS Platform Learning) ถึงเหตุผลว่าทำไมองค์กรต่าง ๆ ถึงให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และพัฒนาทักษะของพนักงาน ค่านิยมในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เป็นอย่างไร และข้อดีของ E-learning คืออะไร เรามาหาคำตอบไปด้วยกันเลยครับ

เหตุผลที่องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ในองค์กร

“Reskill” สิ่งสำคัญในยุคนี้

ผมคิดว่า เราคงมีโอกาสได้พบเจอคำว่า “VR (Virtual Reality)” “AI (Artificial Intelligence)” หรือ “Self-Driving Car” ในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ คำถามคือ เราต้องทำตัวอย่างไร ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเหมือนยุคปัจจุบันนี้

ผมขอยกตัวอย่าง เช่นในกรณีของพนักงานธนาคารนะครับ ตอนนี้ธนาคารหลายที่เริ่มปิดสาขา และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งาน เปลี่ยนไปเป็น Digital Banking กันมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้พนักงานเหล่านี้ยังสามารถทำงานในสายงานที่เกี่ยวข้องได้อยู่ สิ่งที่เป็นกุญแจสำคัญเลยก็คือ การ Reskill การ Relearn ให้พวกเขาครับ

ต่อให้เราเรียนจบออกมาแล้ว คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกที่จะเรียนต่อไป โดยอาจเรียนผ่านการทำงาน เรียนเป็น Lifelong learning ทำให้เข้าใจได้ว่า การเรียนในสมัยนี้มีความสำคัญมากแค่ไหนครับ

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วยตัวเองเลย เพราะว่าองค์กรที่เราเข้าไปพัฒนาและดูแลระบบให้ ต่างก็ตระหนักกันถึงเรื่องนี้ และพยายามผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องสำคัญมากขึ้นครับ

อัพเดตสกิลในการทำงานของคุณด้วย “Reskill” “Relearn”

ตอนนี้ไม่ว่าองค์กรไหนก็ได้รับผลกระทบจาก Digital Disruption กันทั้งนั้นครับ

Digital Disruption คือ การปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและโมเดลธุรกิจแบบใหม่ซึ่งส่งผลกระทบต่อ Value Proposition ของผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในอุตสาหกรรม

อ้างอิง:https://searchcio.techtarget.com/definition/digital-disruption 

เหมือนที่ผมได้ยกตัวอย่างไปเมื่อกี้ เกี่ยวกับวงการธุรกิจการเงิน จริง ๆ แล้ว วงการธุรกิจอื่น ๆ เอง ก็ได้รับผลกระทบนะครับ เช่น วงการธุรกิจประกัน ตอนนี้เราสามารถซื้อประกันสุขภาพผ่านทางแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ได้แล้ว กลับไปที่วงการการเงินเอง สมัยนี้ก็สามารถทำธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นของแต่ละธนาคารได้แล้วง่าย ๆ ไม่ต้องไปที่ธนาคารให้ยุ่งยาก ดังนั้นแล้ว ถ้าหากไม่มีการ Reskill หรือ Relearn ใหม่ ๆ การที่เรายังเป็นแค่พนักงานธนาคารอย่างเดียวต่อไป ในอนาคตโอกาสที่จะถูกเลิกจ้างก็จะมีสูงครับ

แต่ถ้าพนักงานธนาคารสามารถ Reskill ตัวเอง แล้วผันมาเป็น Financial Advisor ได้ ต่อให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ จะทำผ่านดิจิทัลเป็นออนไลน์ทั้งหมด พวกเขาก็ยังสามารถทำงานในสายงานเดิม สามารถป้องกันความเสี่ยงจากการตกงานได้ องค์กรก็ไม่จำเป็นที่จะต้อง Lay Off พนักงานกลุ่มนี้ออกไป

ในยุคที่ Digital Disruption ส่งผลกระทบไปทั่ว การ “Reskill” จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นครับ

ความแตกต่างในการมองคุณค่าของ “ธุรกิจ x การเรียนรู้” ระหว่างคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่

ในยุคก่อน ยุคอุตสาหกรรมแบบ 2.0 หรือ 1.0 เนี่ย ถ้าเราเรียนจบมา สมมติว่าเราจบ Industry Engineer เราสามารถเข้าไปทำงานในสายที่เราจบมา แล้วก็ทำเป็นแบบ Lifelong คือ ทำตั้งแต่ Hiring to Retire ได้เลย ดังนั้นผมคิดว่า พอคนรุ่นก่อน ๆ เรียนจบ เข้าทำงาน เขาก็เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่ได้มาจากการทำงาน เรียนจากการลงมือทำ เพราะฉะนั้น เขาก็แค่เรียนจากการทำงานก็พอ การเรียนรู้นอกเหนือจากเรื่องของงาน อาจไม่เป็นที่แพร่หลายมากนักครับ

แต่ว่าในยุคปัจจุบันนี้เริ่มเปลี่ยนไป

เพราะมีเรื่องของ Digital Disruption เกิดขึ้น ทุกคนมีความกระตือรือร้นมากขึ้น นอกจากนั้นแล้วก็มีเรื่องของลูปในการเปลี่ยนแปลง เมื่อก่อนจะมีระยะเวลาประมาณ 100 ปี ต่อหนึ่งลูปการเปลี่ยนแปลง แต่ในปัจจุบันนี้อาจไม่ถึง 10 ปีแล้ว พูดง่าย ๆ ว่ามันน้อยลงเรื่อย ๆ ครับ

ก็เลยมีการคิดกันว่าเด็กจบใหม่ในทุกวันนี้ น่าจะประกอบอาชีพมากกว่าสองขึ้นไป แต่ว่าก็เป็นอาชีพที่สายงานใกล้เคียงกัน และด้วยธรรมชาติของคนรุ่นใหม่ค่อนข้างที่จะมี Life time สั้นกว่าคนรุ่นก่อน อาจเป็นความอดทน หรืออย่างอื่นที่มีน้อยกว่า ประกอบกับปัจจัยภายนอกที่ทำให้คนรุ่นใหม่ ๆ อาจเปลี่ยนงานได้ง่ายมากขึ้น ทุก ๆ 3-5 ปี ก็เปลี่ยนที เพราะเขาไม่คิดจะอยู่ที่เดียวไปจนเกษียณ และเขาอาจไม่ทำแค่อาชีพเดียวไปจนเกษียณ แต่เขามองว่าเขา สามารถที่จะเปลี่ยนไปได้เรื่อย ๆ ครับ

และเพราะแบบนั้น ในความคิดของผม คนไทยที่อยู่ในเมือง เขาค่อนข้างมีการเรียนเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะคนยุคใหม่ ๆ อาจเป็นเพราะเทรน, Society Movement หรืออะไรที่มีในยุคนี้ ทำให้พวกเขาเริ่มกระตือรือร้นที่จะเรียนมากขึ้น จากเท่าที่ผมเห็นนะครับ

แต่ต้องบอกก่อนว่าการเรียนตรงนี้ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องได้ Master Degree นะครับ ต้องบอกว่า Master Degree ในตอนนี้โดนลดบทบาทลง แต่จะกลายเป็นการเรียนแบบ Informal Learning เป็น Casual Learning มากกว่าครับ

Informal Learning :การเรียนที่ เหมือนเรียนไปเรื่อย ๆ หาความรู้ผ่านอินเตอร์เน็ต ผ่านการอ่านหนังสือ ด้วยตัวเอง
https://en.wikipedia.org/wiki/Informal_learning

อย่างเช่น การเรียนผ่าน Online Learning หรือ YouTube ที่เลือกเรียนเรื่องเฉพาะทางที่ตัวเองสนใจ เป็นต้นครับ

แต่ถ้าสมมติว่าอยากทำงานที่กระทรวงอะไรสักอย่าง ดีกรี หรือ Profile  สำคัญแน่นอน ดังนั้นสำหรับคนที่อยากทำงานในหน่วยงานของราชการ ที่เกี่ยวข้องกับ Government การไปเรียนต่อ ก็อาจยังเป็นสิ่งสำคัญในการโปรโมทเพื่อไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้น แต่ถ้าทำงานในโลกธุรกิจอื่น ๆ ประสบการณ์ หรือความรู้จริงค่อนข้างสำคัญกว่า

โดยเฉพาะบริษัท Startup จะไม่ค่อยสนใจเรื่อง Master Degree เท่าไหร่ แต่ว่าต้องทำงานได้จริง เน้นประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านมามากกว่าครับ

Skill ที่จำเป็นสำหรับคนไทยในการไปแข่งขันกับต่างประเทศ

ปรับปรุงการทำงานให้มีความเป็นสากลมากขึ้น สกิลที่กำลังเป็นที่ต้องการ “Future Skill” คือ

ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญ ต้องบอกว่าสกิลที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่ต้องมีเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างชาติได้ คือ “Future Skill” ซึ่งสกิลตัวนี้มีตั้งแต่เรื่อง Product Design เรื่อง User Experience, User Interface Design เรื่อง Programming เรื่อง Data อย่าง Data Analytics, Data Visualization เป็นต้นครับ

ผมขอยกตัวอย่างเช่น เมื่อก่อนเราบอกว่าการค้าขาย มันมีลักษณะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Walmart, Tesco Lotus แต่ทุกวันนี้ไม่ใช่แล้ว มันกลายเป็น Amazon, Shopee, Lazada, Alibaba ฯลฯ

ซึ่งสกิลของคนที่ทำอยู่ Walmart ไม่สามารถย้ายมาทำงานที่ Amazon ได้ เพราะว่าคนละสกิลกัน ถ้าเป็นสกิลของ Walmart จะดูเรื่องของ สต๊อกที่อยู่ในแต่ละสาขาครับ

ถ้าประเทศไทยคิดจะออกไปบุกตลาดต่างประเทศ ผมว่า Future Skill, Technology Base Skill จะเป็นสิ่งจำเป็น

ในประเทศเราตอนนี้ต้องบอกว่า เราขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้มาก ๆ เมื่อเทียบกับเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย บุคลากรทางด้านเทคโนโลยีของเราน้อยมากครับ Startup แบบผมเนี่ย หา Workforce ยากมากเลย อย่างที่จีนเนี่ย มีบุคลากรทางด้าน Engineer ด้าน IT จบมาปีละล้านคน แต่ของไทยมีแค่หลักหมื่น เลยทำให้ทั้งบริษัท Startup ธนาคาร Startup ต่างประเทศ ที่มาเปิดสาขาในไทยต่างต้องการตัว จนทำให้ขาดแคลนบุคลากรในที่สุด

ถามว่าเรามีบุคลากรที่จบมาทางด้านนี้เยอะไหม คำตอบคือจบเยอะครับ แต่ก็ยังเยอะไม่พอ ต้องจบเยอะกว่านี้เพื่อรองรับให้เป็น Thailand 4.0

Key Activity ที่จะส่งไทยออกไปสู่สากลโลก คือ

อีกอย่าง ผมคิดว่าประเทศไทยมีจุดแข็งอีกอย่างหนึ่งคือ Key Activity

เราจะมีอะไรบางอย่างที่มัน Unique กว่าประเทศอื่น เช่น วัฒนธรรมที่โดดเด่น มีความเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งตรงนี้ถ้าเราต่อยอดดี ๆ ผมคิดว่าเราจะเป็นเหมือนจีน และญี่ปุ่นได้เลยครับ

เพราะว่าทั้งไทย จีน และญี่ปุ่น มีสิ่งที่เหมือนกันอยู่นั่นก็คือ มีวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน ถ้าบอกว่าญี่ปุ่นมีซามูไร ไทยก็มีมวยไทย

แต่ว่าจีนหรือญี่ปุ่นเนี่ย เขาต่อยอดขึ้นมา ทำเป็นมังงะ เป็นอนิเมะ เป็นสินค้าได้มากมาย ในทางกลับกันของไทยเนี่ย สิ่งที่เป็นของเก่าหรือของโบราณ ก็ปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ไม่ได้ต่อยอดอะไรเพิ่มมา

ถ้าเรานำวัฒนธรรมนั้น มารวมกับ Future Skill และ Key Activity ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นมา และทำให้เราสามารถออกไปแข่งขันกับต่างประเทศได้ครับ

E-learning เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ไปอย่างมาก

E-learning ทลายข้อจำกัดของการเรียนรู้

ถ้าเป็นการเรียนแบบสมัยก่อน จะมีข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ และเรื่องของเวลา ข้อดีของ E-learning คือ การทลายข้อจำกัด เรื่องของเวลา เรื่องของสถานที่

ยิ่งยุคนี้เป็นยุค mobile ทำให้เราสามารถที่จะเข้าถึงการเรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา รวมไปถึง ข้อมูลทุกอย่างเช่น ประวัติผู้เรียน ประวัติการเรียน การจัดคลาส สร้างนัดหมาย เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้จะอยู่บน Cloud ทำให้การจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ถ้าเป็นสมัยก่อนข้อมูลทุกอย่างจะถูกจัดเก็บในเวอร์ชั่นแบบ Paper-Based เป็น Manual เพราะฉะนั้นข้อมูลที่เก็บอยู่บนนั้นจะวิเคราะห์อะไรไม่ค่อยได้เท่าไหร่

พอทุกอย่างถูกเก็บอยู่บน Cloud การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก หรือการจัดการคลาสเรียน คอร์สเรียน ให้เหมาะสมกับผู้เรียน ก็สามารถทำได้ง่ายมากขึ้น

ผมยกตัวอย่าง ตอนนี้ Conicle กำลังทำโปรเจค R&D อยู่ เป็นการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งแพลตฟอร์มออนไลน์ที่อยู่บน Mobile มันจะมีการแจ้งเตือน ที่ช่วย Engage ผู้เรียนได้ แล้วก็มีเรื่องของ Gamification เช่น ถ้าผู้เรียนทำมิชชั่นสำเร็จ ผู้เรียนก็จะได้พอยท์ เพื่ออัพเกรดไปสู่อีกระดับหนึ่ง

พอเราสามารถนำการเรียนรู้ไปอยู่บนดิจิทัลได้ และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมอีก มันเอื้อให้ผู้เรียนเขาสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็วและง่ายขึ้น เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้นครับ

สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดตั้งแต่แผนการเรียนจนถึงการประเมินผล

สำหรับผมรูปแบบการเรียนรู้แบบต่าง ๆ มีข้อดีแตกต่างกันไปครับ E-learning มีข้อดีหลายอย่าง แต่ก็ใช่ว่าการเรียนรูปแบบอื่นจะไม่ดี อย่างเช่น การเรียนแบบ Classroom ที่ให้อาจารย์พบกับผู้เรียนแบบ Face to Face หรือการเรียนออนไลน์ ผ่าน Video ก็มีข้อดีของมัน แค่จะเป็นฟอร์มที่แตกต่างกับ E-learning เท่านั้นเอง ขึ้นอยู่กับผู้สอนหรือตัวเนื้อหาว่าจะเหมาะกับฟอร์มไหนครับ

สิ่งที่ Conicle ทำคือ เราไปทำให้ตัว Process นั้นดีขึ้น เพิ่มดิจิทัลเข้าไปช่วยในจุดต่าง ๆ ให้มันดีขึ้น

จริง ๆ สิ่งที่เราทำ ผมไม่อยากใช้ คำว่า E-learning สักเท่าไหร่ครับ เพราะว่าสิ่งที่เราทำ เรียกว่าเป็น Platform Learning ซึ่งมันจะไปช่วยวางแผน Process ต่าง ๆ ตั้งแต่ Online หรือ Video หรือจะเรียนเป็น Class Offline หรือว่าจะผสมกันแบบ Blended Learning ก็ได้ ซึ่งเราจะไปช่วยตั้งแต่ Plan (วางแผน) จน Develop (พัฒนา)

แล้วเราก็ประเมินผลจากสิ่งที่เขาได้เรียนไป ดูว่าสิ่งนั้นไปช่วยเสริมเขาได้มากน้อยแค่ไหน แล้วก็กลับมาวางแผนใหม่ว่าสิ่งที่เขายังขาดอยู่มีอะไรบ้าง สิ่งที่เราทำคือ สิ่งที่ช่วยทั้ง Process ของการเรียนรู้ เราช่วยตั้งแต่คุณยังไม่รู้จะเรียนอะไรครับ

HR เข้าใจทักษะและการเรียนของพนักงานมากขึ้น

Platform ของ Conicle จะแบ่งเป็นสองแบบ โดยแบบแรกคือ องค์กรมี Instructor (ผู้ให้องค์ความรู้) อยู่แล้ว เขาก็จะให้ Instructor เป็นคนคอยดูแล จัดการข้อมูลในการเรียน แล้วส่งข้อมูลนั้นผ่าน Cloud Base ส่งต่อไปที่ Mobile Application ของผู้เรียน สมมติถ้ามีการอัพเดตจาก Instructor ก็สามารถ Sync ข้อมูลได้แบบ Real Time และส่งข้อมูลไปที่ผู้เรียน ถ้าการเรียนของผู้เรียนมีความคืบหน้า ก็จะส่งผลการเรียนนั้นกลับไปที่ Instructor ด้วย

ส่วนแบบที่สองคือ ถ้าในองค์กรก็มี HR คอยจัดการข้อมูล ในเรื่องของประวัติผู้เรียน เรื่องตารางคลาสเรียน หรือเรื่อง ข้อมูลสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น

นอกจากการจัดการข้อมูลแล้ว Conicle เรายังทำงานกันแบบเข้าไปดูภายในองค์กรของลูกค้า แล้วหาว่าอะไรคือปัญหาของเขา แล้วเราก็เอาปัญหาที่เจอ กลับมาออกแบบพัฒนา Platform ให้ดียิ่งขึ้นครับ

จุดเด่นของ Conicle คือ ใช้งานง่าย (User Friendly) และ ผู้ใช้ได้ประสบการณ์ (Experience)

จุดเด่นข้อแรกของ Conicle คือ มี User Friendly ..ตั้งแต่เริ่มทำ Conicle แรก ๆ เราก็ได้ตั้งเป้าไว้เลยว่า เราจะต้องเป็น Platform ที่ User Friendly เพราะว่า ปัญหาที่ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนเจอ คือ Platform E-learning ในยุคก่อนมันมีความซับซ้อน ใช้งานยาก ไม่มี User Friendly

Conicle อยากให้การเรียนรู้ (Learning) เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งหนึ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และจาก Feedback ที่เราได้รับจากทุกองค์กรที่เป็นลูกค้าของ Conicle พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า Platform ของเรามีความ User Friendly ใช้งานง่าย ซึ่งนี่เป็นจุดเด่นข้อแรกครับ

จุดเด่นข้อที่สองคือ เรามองการเรียนรู้ (Learning) เป็น Process เป็นประสบการณ์ (Experience) ดังนั้นเราไม่ได้มองว่า เราออกแบบ Platform ให้ลูกค้า แล้วเขาจะมีแค่เครื่องมืออย่างเดียว เราเป็นเหมือนพาร์ทเนอร์กัน เรามีคอนเทนท์ใส่บน Platform ไปด้วย

ดังนั้นหากลูกค้าของเรา องค์กรไหนที่ไม่เคยมี Platform มาก่อนเลย จะได้ทั้ง Platform และคอนเทนท์ เป็นโซลูชั่นแบบองค์รวม เป็นแพคเกจแบบองค์รวมมากขึ้นครับ

จริง ๆ เรื่องนี้ ก็ยังถือว่าเป็นความท้าทายสำหรับเรานะครับ เพราะมีการแข่งขันที่สูง แต่เราก็มีแนวทางของเรา มีความชัดเจนที่จะทำ เพราะ Conicle มองว่า ทั้ง Platform และคอนเทนท์ เป็นส่วนหนึ่งของ Process การเรียนรู้เหมือนกัน

จุดเด่นอีกอย่างของเรา คือ สร้าง Platform ขึ้นมา เพื่อที่จะให้บริการลูกค้าที่เป็นองค์กรของไทยเอง เพราะมันจะมีความแตกต่างระหว่างบริษัทของไทยกับบริษัทจากต่างประเทศ

ยกตัวอย่างเช่น ที่ไทยจะมีกฎระเบียบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือกฎระเบียบจากทางราชการ ที่บางทีจำเป็นต้องมีข้อมูลเป็นรูปแบบเอกสารเพื่อนำส่งเป็นรายงาน ซึ่ง Platform จากต่างประเทศจะไม่มีในส่วนนี้

Conicle เล็งเห็นตรงนี้ ว่าเราสามารถที่จะสร้าง Platform สร้างมาตรฐานขึ้นมา และให้บริการแก่ลูกค้า พูดได้ว่า นี่เป็นไม้ตายของเราที่แตกต่างจาก Platform ของต่างประเทศครับ

Conicle ต่อจากนี้ “เปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้”

การเรียนแบบที่อาจารณ์สอนนักเรียน หรือการเรียนแบบบรรยาย เป็นรูปแบบการเรียนตั้งแต่เมื่อ 200 – 300 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม จนทุกวันนี้เราก็ยังมีการเรียนในรูปแบบนี้อยู่

ดังนั้น วิชั่นของ Conicle ก็คือ เราจะทำการเรียนให้เป็นรูปแบบใหม่ ไม่ใช่แบบ 200 – 300 ปีที่แล้ว

การเรียนในห้องเรียนแบบอาจารย์เจอนักเรียนก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่ว่า เราจะเอาดิจิทัลเข้ามาช่วยให้การเรียนการสอนดียิ่งขึ้นครับ

อีกปัจจัยหนึ่งคือ ในหนังสือ “Thank You for Being Late” จะมีกราฟที่บอกว่า Human Adaptability กับ Technology มันตัดกันแล้ว

อ้างอิงจาก I Swear to God This Is a Real Graph From Thomas Friedman’s Latest Book 

ต่อจากนี้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกลกว่าความสามารถของมนุษย์แน่นอน และจากในหนังสือเล่มนี้การที่มนุษย์จะตามให้ทันเทคโนโลยีได้นั้น เราต้อง “Learn Faster and Govern Smarter” ครับ

เหมือนที่เราได้ยกตัวอย่างก่อนหน้านี้ เรื่องพนักงานธนาคาร ถ้าวันนี้พวกเขาบอกว่า เขาจะยังเป็นพนักงานเหมือนเดิมต่อไป ไม่มีการ Reskill ใหม่ ๆ ในอนาคตพวกเขาอาจแพ้ ATM หรือแอพพลิเคชั่นได้ เพราะ ATM หรือแอพพลิเคชั่นทำงานได้ดีกว่า และยังมี AI เข้ามาช่วยอีก ความผิดพลาดก็ยิ่งลดลงครับ

และวิสัยทัศน์อีกอย่างของ Conicle ก็คือ เราจะไปช่วยให้จุดของ “We are here” เกิดขึ้นจริง

เราอยากทำให้การเรียนรู้มีความทันสมัยขึ้น เหมาะสมกับปัจจุบันมากขึ้น ทำให้เกิดการเรียนรู้ การ Reskill ขึ้นกับทางองค์กรเอง และกับทางพนักงานแต่ละคนเองครับ

ในตอนนี้ Conicle ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ องค์กร สังคม ประเทศ เปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่อนาคตที่เท่าทันเทคโนโลยีมากขึ้นครับ

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง