รู้ลึกหรือรู้กว้างดีกว่ากัน ไปหาคำตอบได้ในบทความนี้

.
คนที่มีความสามารถหลายๆ อย่าง (หรือที่เราเรียกว่าเป็ด ซึ่งภาษาอังกฤษใช้คำว่า Polymath) มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่เชี่ยวชาญเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งจริงหรือ ????
.
เคยรู้สึกกันไหมครับว่าตัวเราเองนี่ทำนู่นก็เป็น ทำนี่ก็เป็น ให้ทำอะไรนี่ทำได้หมดเลยนะ พอย้อนกลับมาดูลักกษณะนิสัยหรือความสนใจส่วนตัวก็พบว่ามีมากมายก่ายกองเลยทีเดียว
.
ถ้าอ่านแล้วรู้สึกว่านี่พูดถึงตัวเราเองอยู่ชัดๆ เราขอบอกว่าจริงๆ แล้วคุณเป็นส่วนหนึ่งในประชากรที่โชคดีมากๆ สำหรับโลกยุคนี้มากเลยทีเดียว
.
ทำไมการที่มีความสนใจหลากหลายถึงเป็นแต้มต่อในโลกทุกวันนี้ ทำไมการเป็นเป็ดที่สำนวนฝรั่งเรียกว่า ‘Jack of All Trades Master of None’ หรือถ้าแปลเป็นอารมณ์ไทยๆ จะได้ว่า “ทำได้ไปซะทุกอย่าง แต่ไม่เก่งซักอย่าง”
.
ถึงกลายเป็น ‘ข้อดี’
.
หลังจากอ่านโพสนี้จบลงคุณอาจเปลี่ยนความคิดไป…ลองมาดูเหตุผลทั้ง 3 ข้อนี้กัน
.
1. มีโอกาสหลอมรวมทักษะที่ดูอยู่คนละฟากโลกให้เข้ากันกลายเป็นทักษะใหม่ถอดด้ามระดับหาตัวจับได้ยาก

Photo by Phi Hùng Nguyễn on Unsplash
.
คุณคิดว่าการที่จะทำอะไรซักอย่างให้เก่งระดับ Top 1% ในสายอาชีพของคุณมันยากแค่ไหนกันครับ
.
ลองนึกภาพนักกีฬาว่ายน้ำเหรียญทองโอลิมปิกอย่าง Michael Phelps เจ้าของเหรียญโอลิมปิกมากที่สุดตลอดกาลจำนวน 28 เหรียญ (มากกว่าเหรียญของนักกีฬาบางประเทศรวมกันทั้งประเทศเสียอีก) คนเหล่านี้ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักดนตรี นักวิทยาศาสตร์ ที่เก่งด้านใดด้านหนึ่งมากๆ ระดับที่เรียกได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญล้วนใช้เวลาบ่มเพาะทักษะนับเป็นสิบๆ ปี ในบางวงการอย่างนักดนตรีถึงกับบอกว่าถ้ามาเริ่มตอนอายุสิบกว่าขวบก็สายไปเสียแล้ว
.
ถ้าการเป็นสุดยอดตัวท๊อปที่จะประสบความสำเร็จมากๆ มันใช้เวลาและความพยายามมากขนาดนั้น แล้วคนธรรมดาๆ อย่างเรา อย่างท่านจะมีโอกาสเอื้อมไปถึงได้หรือไม่ ?
.
ขอเล่าตัวอย่างซักเรื่องหนึ่งที่ผมอยากเล่าให้ฟัง
.
มีนักวาดการ์ตูนแนวเสียดสีเชิงธุรกิจคนหนึ่งนาม Scott Adams ซึ่งเขาเป็นเจ้าของคอลัมน์การ์ตูนชื่อ ‘Dilbert’ (เป็นชื่อที่ใครๆ ก็รู้จักในโลกตะวันตก)
.
คุณ Scott เล่าว่าอันที่จริงแล้วตัวเขาเองไม่ได้ว่าวาดการ์ตูนเก่งเลย เพราะเอาเข้าจริงเขาแค่ ‘พอวาดได้ดีกว่าคนส่วนใหญ่เท่านั้น’
.
พอมาถึงสกิลขำขันเชิงเสียดสี เขาก็บอกว่าอย่าให้ไปเทียบขั้นกับพวกนักเดี่ยวไมโครโฟน เขาก็ไม่ถึงขั้นนั้น แต่เขามั่นใจว่าโดยค่าเฉลี่ย เขาก็ ‘พอมี’ ความฮากว่าคนส่วนใหญ่แน่นอน
.
พอมาพูดถึงแง่มุมธุรกิจ ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาพอจะมีพื้นฐานความรู้ทางธุรกิจอยู่บ้างตอนสมัยยังเรียนอยู่ แต่ถ้าให้ไปเทียบชั้นกับนักธุรกิจตัวจริงก็ถือว่ายังห่างไกล
.
.
สุดท้ายเขาเลยเฉลยความลับในความสำเร็จของเขาไว้อย่างน่าคิดว่าจริงๆ แล้วคนเรามีกลยุทธ์สองแบบในการที่จะประสบความสำเร็จ
.
1. ทำตัวเองให้เก่งสุดๆ ในบางเรื่อง (แคบๆ)
2. พัฒนาตัวเองให้ “พอทำได้ดี” ในระดับ Top 25% ในสองหรือสามเรื่อง (แล้วเอามาหลอมรวมกัน)
.
ซึ่งข้อแรกนี่ค่อนข้างยากทีเดียวเพราะต้องอาศัยประสบการณ์ฝึกฝนที่ยาวนาน ต้องอาศัยบริบทรอบข้างที่สนับสนุน เช่น งานที่เข้ากับจุดแข็ง ลักษณะนิสัย
.
ในขณะที่กลยุทธ์ข้อที่สองเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่ามาก เพราะถ้าเราดูให้ดีจะพบว่าเราไม่จำเป็นต้องเก่งมากๆ ในทางใดทางหนึ่งแต่อาศัยการควบรวมของทักษะที่แตกต่างเพื่อ ‘สร้างสิ่งใหม่’ ขึ้นมา
.
สำหรับคุณ Scott แล้ว…การที่เขาสามารถหลอมรวมทักษะที่ ‘พอทำได้ดี’ ทั้งการวาดรูป การสร้างมุขตลก และเรื่องราวทางโลกธุรกิจ ทำให้ตัวเขาเองกลายเป็น “ส่วนผสม” ที่หาตัวจับได้ยาก และทำให้คนที่ใช้กลยุทธ์แบบนี้มีโอกาสประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
2. เทคโนโลยีในโลกยุคปัจจุบันเป็นเหมือน ‘สนามเด็กเล่น’ ของคนที่มีความสนใจหลากหลาย

Photo by Matthieu Comoy on Unsplash
.
ข้อนี้คงมีความชัดเจนในตัวอยู่แล้ว เพราะว่าความรู้มันอยู่รอบตัวทุกหนแห่ง ทุกวันนี้มีคลาสเรียนออนไลน์ฟรีๆ อยู่มากมาย หรือต่อให้เป็นความรู้ที่มีลักษณะไม่เป็นทางการอย่างการร้องเพลง การฝึกสอนสุนัข เทคนิคการเล่านิทานให้ลูกฟัง เทคนิคการเย็บผ้าแบบแปลกๆ
.
พูดง่ายๆ ว่านี้มันสวรรค์ของคนที่ใฝ่รู้ชัดๆ ที่สำคัญคือมันฟรี ทำให้ต้นทุนในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มีเพียงแค่เวลาที่ใช้เรียนประกอบกับวินัยและความสม่ำเสมอ
.
หนึ่งในคุณสมบัติพิเศษของมนุษย์คือการคิดค้นและส่งต่อความรู้จากรุ่นสู่รุ่น เราไม่จำเป็นต้องค้นพบสิ่งใหม่ถอดด้ามด้วยตัวเอง ที่เราต้องทำคือเรียนรู้และพยายามต่อยอดให้ความรู้ขยายออกไปเพื่อสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่ผู้คนให้คุณค่าและสามารถสร้างผลทางบวกกับชีวิตคนรอบข้างได้
.
ครั้งหนึ่งนิวตันเคยกล่าวไว้ว่า
“If I have seen further it is by standing on the shoulders of giants.”“ที่ผมมองเห็นได้ไกล คิดได้กว้างกว่าคนอื่นๆ ก็เพราะว่าผมยืนยู่บนไหล่ของยักษ์”
.
ซึ่งยักษ์ที่ว่าก็คือคำเปรียบเปรยของความรู้ที่บรรพบุรุษของพวกเราเผ่าพันธุ์มนุษย์เคยสร้างเอาไว้ และในโลกทุกวันนี้ก็มีไหล่ยักษ์มากมายให้เราเลือกขึ้นไปยืนเพื่อเห็นสิ่งใหม่ๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน…จะเป็นไหล่ของยักษ์ตนไหนก็แล้วแต่ความชอบ ความถนัด และความสนใจของแต่ละคนเลย
3. Polymath ไม่ตกงาน เย่ !!!
Photo by Austin Distel on Unsplash
.
.
ชาลส์ ดาร์วินเจ้าของทฤษฎีวิวัฒนาการเคยกล่าวไว้ว่า
.
“It is not the strongest or the most intelligent who will survive but those who can best manage change.”“ไม่ใช่สายพันธุ์ที่แข็งแรงหรือฉลาดที่สุดหรอกที่จะอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ได้ แต่เป็นพวกที่สามารถรู้จักปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งหาก”
.
ในโลกของการทำงานคงไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการตื่นมาแล้วพบว่าความรู้และทักษะที่ตัวเองมีอยู่กลายเป็นของไร้ค่า กลายเป็นสิ่งไม่มีประโยชน์ต่อองค์กรอีกต่อไป ถ้าลองคิดให้ดีจะพบว่าภาวะแบบนี้เลวร้ายกว่าการตกงานเสียอีกด้วยซ้ำเพราะตกงานก็ยังหางานที่ใหม่ได้ แต่ถ้า “ทักษะตกยุค” คงจะทำอะไรไม่ได้นอกจากยอมรับความจริงว่าเราไม่ยอมพัฒนาตนเองให้ตามทันโลก จนมารู้ตัวอีกทีก็สายเกินไป
.
YouTuberผู้จัดการนวัตกรรมช่างกล้องโดรนมืออาชีพวิศวกรรถยนต์ไร้คนขับแม่ค้าขายของออนไลน์นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล.
ในอดีตเมื่อซัก 15 ปีที่แล้วไม่มีใครรู้หรอกว่าอาชีพเหล่านี้จะมีอยู่จริง และในบางสาขาที่กล่าวไปก็มีค่าตัวที่สูงสุดๆ ใครที่พัฒนาทักษะเหล่านี้เอาไว้แต่เนิ่นๆ หรือเริ่มทำก่อนคนอื่นๆ ก็จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากกว่า
.
แต่ใครเล่าจะไปทายอนาคตได้แม่นยำขนาดนั้นว่าทักษะอะไรจะกลายเป็น ‘ทักษะแห่งอนาคต’ ที่จะให้ผลตอบแทนอย่างงาม มีความคุ้มค่าต่อการลงทุนศึกษา คำตอบก็คือ ไม่มีใครตอบได้อย่างแน่นอน อย่างมากผู้เชี่ยวชาญก็ทำได้แค่ทำนายและคาดการณ์ไปตามหลักการและข้อมูลที่มีอยู่ในมือเท่านั้น
.
ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนที่มีทักษะที่หลากหลาย มีความสนใจกว้างขวางจะมีข้อได้เปรียบตรงนี้ เพราะคนเหล่านี้จะมีความสามารถในการเอา ‘คลัง’ ความรู้และทักษะที่มีในอดีตมา ‘ประกอบร่างใหม่’ ให้เข้ากับบริบทและสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปได้เป็นอย่างดี
.
เทียบแล้วก็ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิตที่มีความสามารถปรับตัวเมื่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป จึงมีโอกาศที่จะอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ได้มากกว่า
เป็ดครองโลก
ในหนังสือ ’21 Lessons for the 21st Century’ ที่เขียนโดยนักประวัติศาสตร์ชื่อดังระดับโลกนาม Yuval Noah Harari (ผู้เขียนเดียวกันกับหนังสือเซเปียนส์ ประวัติย่อมนุษยชาติ ฉบับแปลไทยที่หลายๆ คนรู้จักกัน) ได้ทำนายไว้ว่าในอนาคตอันใกล้คนรุ่นเราจะต้องเปลี่ยนอาชีพกันตลอดเวลในเวลาไม่กี่ปี เพราะความรู้และทักษะที่เรามีจะ ‘หมดอายุ’ ได้ไวมากกว่าเดิมอันเป็นผลมาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี
.
และเป็นพวกเราชาว Polymath นี้เองที่มีโอกาสฉกฉวยโอกาสตรงนี้ไว้ได้ถ้าเราเตรียมพร้อมในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ตลอดเวลา

.
จากนี้ไปลองดูสิครับ ลองแบ่งเวลา หาที่สงบ เพื่อนั่งตกตะกอนทางความคิด ทบทวนความรัก ความชอบ ความสนใจ และจุดแข็งของตัวเองว่าตัวเราเองพอจะมีของอะไรอยู่บ้าง
.
ลองถามตัวเองว่าท่ามกลางทักษะอันหลากหลายเหล่านั้นมีข้อไหนบ้างที่เราพอมีศักยภาพจะพัฒนามันให้เก่งขึ้น ตอนนี้มันอาจจะยังไม่ได้ดีที่สุด แต่ขอเรามั่นใจว่ามันคือสิ่งที่เราพอจะทำได้ดีกว่าคนส่วนใหญ่ ลองหยิบมันขึ้นมาซักสองสามอัน ลับมันให้แหลมคมมากขึ้นอีกซักนิด ลองหยิบมันมาผสมผสานกันเพื่อหาจุดกลมกล่อมของคุณค่าใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เราเองก็สามารถเป็นเป็ดที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
.
.
.
—
HR NOTE คือมีเดียสำหรับ HR ที่เชื่อในการพัฒนาตัวเองเพื่อพัฒนาโลก เรานำเสนอ Content คุณภาพที่เกี่ยวกับเทรนด์การบริหารงานบุคคล เทคโนโลยีในแวดวง HR และกรณีศึกษาเจ๋งๆ จากองค์กรที่น่าสนใจ และในปี 2020 เรายังเพิ่มในส่วนมุมมองจาก HR People ระดับโลกทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยให้ HR มืออาชีพนำไปต่อยอดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาประสบการณ์สำหรับพนักงานในองค์กรก่อกำเนิดเป็นการงานที่มีคุณค่า มีความหมาย และงดงาม
คุณมีปัญหาหรือคำถามที่ต้องการหาคำตอบใช่หรือเปล่า?
หากคุณรู้สึกว่าได้รับเทคนิคดี ๆ จากบทความนี้และอยากได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก
สามารถตั้งคำถามได้ในชุมชนของเรา ! แล้วคุณจะได้รับคำตอบมืออาชีพจากผู้เชี่ยวชาญ