การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainable Organization)

HIGHLIGHT
  • องค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable Organization) นั้นควรจะมีการสร้างวิสัยทัศน์ (Vision) ระยะยาว ตลอดจนมีพันธกิจ (Mission) ที่ชัดเจนในการยึดถึงปฎิบัติ
  • องค์กรที่ยั่งยืน (Sustainable Organization) จะต้องสร้างความสมดุลย์ของทั้งสามองค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Sociality) และ สิ่งแวดล้อม (Environmental) ให้ได้
  • องค์กรจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้นั้นต้องได้รับการสนับสนุนและขับเคลื่อนจากบุคลากรที่มีประสิทธิภาพด้วย

การพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainable Organization)

ความยั่งยืนนั้นหมายถึงการยืนหยัดอย่างต่อเนื่องไปในระยะยาว ฉะนั้นองค์กรที่มีเป้าหมายในการพัฒนาองค์กรให้ยั่งยืน (Sustainable Organization) จะต้องมีวิสัยทัศน์ที่มองการไกล คิดทำสิ่งไหนไม่ใช่การหวังผลแค่ระยะสั้น แต่เป็นการวางรากฐานเพื่อให้องค์กรเติบโตได้ในระยะยาว การเติบโตในระยะยาวที่ดีนั้นก็ย่อมต้องมีรากฐานที่แข็งแกร่ง มีการวางแผนที่มองกาลไกล ตลอดจนคนในองค์กรให้ความร่วมมือในการขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางที่วางไว้อย่างดีเยี่ยม รวมไปถึงสังคมยังส่งเสริมสนับสนุนให้องค์กรนั้นเจริญเติบโตและก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งอีกด้วย

ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้องค์กรยั่งยืน

การวางแผนองค์กรให้เติบโตในระยะยาวนั้นควรคำนึงถึงปัจจัยสำคัญหลากหลายด้าน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลในรายละเอียดมิติต่างๆ ของการบริการองค์กรด้วยนั่นเอง หากองค์กรที่ต้องการยั่งยืนระยะยาวยังไม่คำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ก็อาจจะยังไม่เห็นภาพขององค์กรในระยะยาวที่ชัดเจน และอาจทำให้การทำธุรกิจนั้นไม่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน ปัจจัยต่างๆ นั้นมีรายละเอียดดังนี้

  • อุดมการณ์องค์กร (Ideology) : องค์กรที่ขาดอุดมการณ์ชัดเจนมักไม่มีแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนด้วยเช่นกัน รวมถึงไม่มีแก่นยึดในการที่จะมุ่งดำเนินไปข้างหน้า องค์กรที่เริ่มต้นด้วยอุดมการณ์ที่ชัดเจนจะทำให้องค์กรรู้ภาระกิจสำคัญของตน และรู้ว่าสิ่งที่ควรทำนั้นคืออะไร สิ่งที่ไม่ควรทำนั้นคืออะไร ซึ่งจะส่งต่อให้องค์กรมีรายละเอียดในด้านอื่นๆ ที่ชัดเจนตามมาด้วย อีกอย่าง อุดมการณ์จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกความมุ่งมั่นขององค์กรได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่งด้วย
  • คุณค่าของธุรกิจและองค์กร (Value) : คุณค่าของธุรกิจและองค์กรในที่นี้ไม่ใช่อยู่ที่ตัวเงิน แต่อยู่ที่การตีคุณค่าของแต่ละองค์กรเอง หากองค์กรตีค่าของธุรกิจของตนให้มีคุณค่าก็จะถือว่าองค์กรให้ความสำคัญและภาคภูมิใจในธุรกิจนั้น ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินกิจการในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้นด้วย แต่หากเราไม่เห็นคุณค่าของธุรกิจของตนเอง เราอาจไม่เห็นโอกาสในการเติบโต ไม่เห็นโอกาสทางการค้า รวมถึงไม่เห็นคุณค่าขององค์กรในธุรกิจนั้นได้ หาเรารู้จักสร้างคุณค่าให้กับธุรกิจและองค์กรเราอาจกลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จได้ และเมื่อเราเห็นค่าเราก็จะผลักดันให้เดินต่อไปในระยะยาวได้เช่นกัน
  • วิสัยทัศน์ (Vision) : วิสัยทัศน์ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะพาองค์กรไปได้ไกลเพียงไร หากเรามองเห็นโอกาส ตลอดจนมีวิสัยทัศน์ในการนำพาองค์กรไปในทิศทางที่ยอดเยี่ยม ย่อมมีส่วนทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ วิสัยทัศน์ที่ยิ่งก้าวไกลยิ่งมีส่วนให้องค์กรมีความยั่งยืนเพิ่มมากขึ้นตาม การวางวิสัยทัศน์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะบอกได้ว่าองค์กรนั้นจะก้าวไกลเพียงไร
  • พันธกิจ (Mission) : เมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ดีแล้วย่อมนำไปสู่การวางพันธกิจขององค์กรนั่นเอง องค์กรที่พร้อมจะยั่งยืนระยะยาวจะมีการสร้างแนวทางในการประกอบธุรกิจของตนให้เป็นหลักการในการปฎิบัติตาม เพื่อที่จะขับเคลื่อนองค์กรด้วยวิถีของตนได้อย่างชัดเจน การขับเคลื่อนวิถีของตนนั้นบ่งบอกได้ถึงการวางแผน การปฎิบัติที่ชัดเจน ตลอดจนเป้าหมายที่เห็นได้ชัด และการมุ่งสู่เป้าหมายที่ไม่ลังเล แนวทางในการประกอบธุรกิจนี้จะนำมาซึ่งการปฎิบัติงานขององค์กรที่มีรูปธรรมและมีประสิทธิภาพด้วย
  • นโยบาย (Policy) : เมื่อมีวิสัยทัศน์ที่ดีแล้วมักจะนำไปสู่นโยบายบริษัทที่ดี ซึ่งนี่คือสิ่งที่จะเป็นแนวทางในการปฎิบัติงานขององค์กรได้จริง การมีนโยบายที่ชัดเจนจะทำให้หน่วยงานต่างๆ ในองค์กรสามารถปฎิบัติได้อย่างเข้าใจและถูกต้อง และจะส่งผลให้การปฎิบัติงานประสบความสำเร็จในที่สุด หากนโยบายไม่ชัดเจน ก็ย่อมทำให้การประกอบการไม่มีทิศทางที่ชัดเจน และนั่นก็อาจทำให้องค์กรไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างสะดวกเช่นกัน
  • แผนปฎิบัติการ (Action Plan) : แผนปฎิบัติการอาจจะเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สุดสำหรับการประกอบกิจการใดๆ หากบริษัทมีแผนปฎิบัติการที่ชัดเจนก็มักจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย บริษัทที่มีการวางแผนปฎิบัติการในระยะยาวได้ดีนั้นก็ย่อมทำให้องค์กรมีเป้าหมายในการยืนระยะยาวด้วย และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรยั่งยืนด้วยนั่นเอง

ตัวอย่างของการวางวิสัยทัศน์ (Vision) และ พันธกิจ (Mission) ขององค์กร

สองสิ่งที่องค์กรส่วนใหญ่มักตั้งไว้เพื่อการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนก็คือ วิสัยทัศน์ (Vision) และ พันธกิจ (Mission) นั่นเอง (หมายเหตุ : บางองค์กรอาจมีการใช้คำอื่นๆ บ้าง แต่ก็มีความหมายไปในทิศทางเดียวกัน) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มักสอดคล้องกันเพื่อให้เห็นทิศทางของการดำเนินงานอย่างชัดเจน เราลองมาดูตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในเมืองไทยกันดีกว่าว่าองค์กรเหล่านี้มีการวางวิสัยทัศน์ และตั้งพันธกิจอย่างไรบ้าง

SCG

Vision : SCG will become a REGIONAL BUSINESS LEADER with emphasis on INNOVATION and SUSTAINABILITY

อ้างอิง : https://www.scg.com/th/01corporate_profile/02_scg_vision.html

ธนาคารกสิกรไทย (Kbank)

วิสัยทัศน์ : ธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นเป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ที่ริเริ่มในสิ่งใหม่ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง และกระทำทุกวิถีทางเพื่อเป็นกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่สร้างความยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

ภารกิจ : ธนาคารกสิกรไทย มุ่งมั่นที่จะผสมผสานการใช้เทคโนโลยีและทรัพยากรมนุษย์ในการสร้างอย่างยั่งยืน บริการทางการเงินที่มีคุณภาพมาตรฐานสากล ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุผลที่ดีและเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

อ้างอิง : https://kasikornbank.com/th/about/Information/Pages/vision-mission.aspx

สยามพิวรรธน์ (Siam Piwat)

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

The ICON of Innovative Lifestyle

สัญลักษณ์แห่งการนำเสนอความแปลกใหม่ให้ชีวิต

สยามพิวรรธน์ คือผู้นำความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมอันล้ำสมัย และความเป็นเลิศในการบริหารจัดการในวงการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกและโครงการที่เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลก ซึ่งล้วนแล้วแต่บุกเบิกการนำเสนอรูปแบบและคอนเซ็ปต์แปลกใหม่ ที่ส่งมอบสุดยอดประสบการณ์และความสุขให้กับผู้มาเยือนโครงการ

กลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ ยึดมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Value) ตั้งแต่ พันธมิตรทางธุรกิจที่ร่วมรังสรรค์ (Co-creation) คู่ค้า ชุมชน สังคม เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และร่วมกันนำชื่อเสียงเกียรติภูมิมาสู่ประเทศไทย

อ้างอิง : https://www.siampiwat.com/th/group/about-siam-piwat/vision-and-mission

AIS

วิสัยทัศน์ : เป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการยอมรับสูงสุดในประเทศไทย

พันธกิจ :

  • เสริมสร้างการดำเนินชีวิตด้วยบริการเทคโนโลยีดิจิทัล
  • ส่งมอบบริการที่เหนือกว่า เพื่อส่งเสริมการดำเนินชีวิต รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถและ ประสิทธิภาพในการประกอบธุรกิจของผู้ใช้บริการ
  • ใส่ใจบริการลูกค้า เพื่อสร้างความผูกพันกับผู้ใช้บริการ
  • เสริมสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่กระฉับกระเฉง ให้บุคลากรมีความเป็นมืออาชีพ มี ความคิดเชิงบวก และมีแนวคิดในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพื่อการเติบโตขององค์กร
  • สร้างการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืนกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย

อ้างอิง : http://investor-th.ais.co.th/vision.html

ไทยเบฟเวอเรจ (Thai Bev)

วิสัยทัศน์และพันธกิจ

การเป็นกลุ่มบริษัทไทยผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มครบวงจรในระดับโลก โดยมุ่งเน้นที่ความเป็นเลิศเชิงพาณิชย์ ความต่อเนื่องในการพัฒนาคุณภาพสินค้าให้อยู่ในระดับพรีเมี่ยม และความเป็นมืออาชีพ พันธกิจของเราคือ การประสาน “สัมพันธภาพ” กับผู้มีส่วนได้เสียที่มีความสำคัญกับบริษัทในทุกๆ ด้าน โดยมอบคุณค่าที่สำคัญ 6 ประการ

  • มอบผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงสุดให้ลูกค้าทุกกลุ่ม
  • ตอบสนองความต้องการของผู้แทนจำหน่ายโดยให้บริการอย่างมืออาชีพ
  • ให้ความสำคัญเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุนให้แก่ผู้ถือหุ้น ด้วยการเติบโตของรายได้และผลกำไรที่มั่นคงและต่อเนื่อง
  • เป็นแบบอย่างในด้านความเป็นมืออาชีพ ความโปร่งใส และการดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาล
  • มอบความไว้วางใจ อำนาจ และรางวัลแก่พนักงาน เพื่อสร้างความร่วมรับผิดชอบ และ
  • สร้างประโยชน์ให้แก่สังคม

อ้างอิง : http://www.thaibev.com/th08/aboutus.aspx?sublv1gID=17

PAPER & PAGE (Thailand)

PAPER & PAGE เป็นเอเจนซี่ด้านการตลาดดิจิทัลเชิงสร้างสรรค์ที่ได้รับรางวัล ณ ใจกลางกรุงเทพฯ โดยมีวิสัยทัศน์ความยั่งยืน คือ ผลงานที่ดีที่สุดของคุณจะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อคุณรักในสิ่งที่คุณทำ ซึ่ง PAPER & PAGE ตั้งใจสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อสนับสนุนการออกแบบและการวางกลยุทธ์ ทางการสื่อสารโฆษณา โดยการร่วมมือกับลูกค้าที่มีมุมมองด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในทิศทางเดียวกับเรา เพื่อยกระดับมาตราฐาน ด้านความรับผิดชอบขององกรค์ต่อสังคม นั่นจึงทำให้ PAPER & PAGE ได้เป็นดิจิทัลเอเจนซี่ที่มีวิสัยทัศน์แบบยั่งยืน

อ้างอิง : https://www.paperandpage.com/

 

3 องค์ประกอบสำคัญของความยั่งยืนที่ควรคำนึงถึง

การทำธุรกิจที่มีเป้าหมายอยู่ที่ความยั่งยืนนั้นเรามักต้องคำนึงถึงองค์ประกอบ 3 ด้านดังต่อไปนี้ ซึ่งทุกด้านนั้นล้วนแล้วแต่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน และควรสร้างสมดุลย์ขององค์ประกอบทั้ง 3 ด้านให้ดีด้วย ซึ่งทุกองค์กรควรใส่ใจและคำนึงในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

เศรษฐกิจ (Economy)

เรื่องเศรษฐกิจนั้นถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการประกอบธุรกิจโดยตรง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับชาติ ไปจนถึงระดับโลก เราควรใส่ใจในเรื่องนี้ให้ดี เพราะมันมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราประกอบธุรกิจได้ประสบความสำเร็จหรือไม่ แน่นอนว่าเศรษฐกิจดีย่อมทำให้การประกอบการมีโอกาสประสบความสำเร็จสูง ในขณะที่เศรษฐกิจแย่ก็มีผลที่ทำให้ผลประกอบการย่ำแย่ด้วยเช่นกัน และนั่นก็ส่งผลต่อความยั่งยืนขององค์กรได้มากทีเดียว ในขณะเดียวกันการประกอบการขององค์กรก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรช่วยเหลือเกื้อกูลกันเพื่อการยืนในระยะยาว

สังคม (Society)

สังคมนั้นสั่งผลต่อความยั่งยืนโดยตรง องค์กรควรอยู่ร่วมกับสัมคมได้อย่างไม่มีปัญหา ไม่เบียดเบียนหรือเอาเปรียบสังคม ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้สังคมเอาเปรียบองค์กรจนประสบปัญหาได้ การที่องค์กรใส่ใจสังคมนั้นนอกจากจะสร้างความประทับใจแก่กันแล้ว สังคมเองก็คือหน่วยของผู้บริโภคที่เกื้อหนุนองค์กรด้วย ในขณะที่การผลิตต่างๆ ต่างก็ใช้วัตถุดิบของโลกใบนี้ และหากสังคมไม่ยินยอมก็ย่อมทำให้ธุรกิจสะดุดได้เช่นกัน สังคมมีผลต่อความยั่งยืนในหลากหลายมิติ ตั้งแต่ทางตรงไปจนถึงทางอ้อม ธุรกิจกับสังคมนั้นก็ควรเกื้อหนุนกันในหลากหลายมิติเช่นกัน

สิ่งแวดล้อม (Environmental)

สิ่งแวดล้อมนั้นเป็นสิ่งที่เกื้อกูลชีวิตมนุษย์ และยังเป็นแหล่งวัตถุดิบสำคัญในแต่ละธุรกิจอีกด้วย การใส่ใจสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันจึงถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะมันไม่ใช่แห่ล่งวัตถุดิบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่สิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลายจะทำให้เกิดมหันตภัยตามมาอีกมากมายเช่นกัน นอกจากจะคุกคามชีวิตมนุษย์ คุกคามสังคมแล้ว มันยังมีส่วนทำให้ธุรกิจประสบปัญหา ไปจนถึงขาดวัตถุดิบในการผลิตได้ และเมื่อสิ่งแวดล้อมมีปัญหา มนุษย์ประสบปัญหา ก็อาจทำให้ไม่เกิดการบริโภคได้ นั่นอาจเป็นสาเหตุให้องค์กรตลอดจนธุรกิจปิดตัวในที่สุด

สามสิ่งนี้ตั้งแต่ เศรษฐกิจ (Economy) สังคม (Society) และ สิ่งแวดล้อม (Environmental) เป็นสิ่งที่เกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลา และองค์กรควรสร้างสมดุลย์ระหว่างสามสิ่งนี้ให้ได้มากที่สุด และให้อยู่ร่วมกันได้ดีที่สุด เพราะนี่คือองค์ประกอบสำคัญของการประกอบธุรกิจที่ยั่งยืนและถาวร หากองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเกิดปัญหาขึ้น แน่นอนว่ามันย่อมสร้างผลกระทบต่อกัน และอาจส่งผลให้องค์กรเกิดความเสียหายได้ แต่หากทั้งสามอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุลย์ การพัฒนาองค์กรให้เกิดความยั่งยืนนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากเลย

บทสรุป

ในโลกที่ทุกคนกำลังสนใจเรื่องวิถีชีวิตยั่งยืนนั้นองค์กรต่างก็หันมาใส่ใจการสร้างองค์กรให้เกิดความยั่งยืน (Sustainable Organization) เช่นกัน การยั่งยืนนั้นไม่ใช่เพียงแค่ยืนอยู่ในระยะยาวเท่านั้น แต่เป็นการยืนหยัดด้วยการวางรากฐานที่แข็งแกร่ง และพร้อมจะเติบโตไปกับสังคมอย่างเกื้อกูลกัน รวมถึงอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างลงตัว ความยั่งยืนนั้นไม่สามารถสร้างได้คนเดียว แต่จะต้องเกิดจากการร่วมมือกันของทุกฝ่ายทั้งในและนอกองค์กรที่มีส่วนช่วยพัฒนาให้องค์กรเจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ และเอื้อประโยชน์ให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมสังคมเดียวกันอย่างมีความสุข

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง