กลยุทธ์สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับออฟฟิศคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล (Healthy & Wellness Strategy for Digital Age Office)

HIGHLIGHT
  • การสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับบุคลากรเป็นการสร้างวิถี Work-Life Balance ได้ดีอีกทางหนึ่ง เพื่อให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่งเสริมให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย
  • กลยุทธ์ในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงานนี้ยังสามารถดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานกับองค์กรได้มากขึ้นด้วย ทำให้องค์กรมีตัวเลือกในการคัดสรรบุคลากรคุณภาพที่เยอะขึ้น และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้เช่นกัน
  • เมื่อพนักงานมีความสุขในการทำงน มีความสุขในการดำรงชีวิต มีสุขภาพกายที่แข็งแรง มีสุขภาพจิตใจที่ดี ย่อมส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น เสริมสร้างให้องค์กรมีศักยภาพขึ้นได้
  • ทิศทางขององค์กรยุคใหม่ในยุคดิจิทัลนั้นก็คือการผสานสุขภาวะที่ดี การสันทนาการ ตลอดจนกิจกรรมผ่อนคลายต่างๆ ให้ผสมกลมกลืนกันกับวิถีชีวิตการทำงาน เพื่อให้การการใช้ชีวิตอย่างลงตัว สามารถผ่อนคลายไปพร้อมกับการทำงานได้ และไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือจะโดนลงโทษเหมือนเมื่อก่อนหากทำกิจกรรมเหล่านี้ในขณะเวลาทำงาน

ยุคดิจิทัล (Digital Age) อะไรหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปมากมาย ตั้งแต่ระบบการทำงาน, ลักษณะของผู้คน, วิชาชีพที่เพิ่มขึ้นมาหลากหลายรูปแบบ, การนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในการทำงาน, พฤติกรรมการทำงาน, ไปจนถึงรูปแบบการสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไร้ขีดจำกัดในการสร้างสรรค์

กลยุทธ์สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับออฟฟิศคนรุ่นใหม่ในยุคดิจิทัล (Healthy & Wellness Strategy for Digital Age Office)

อย่างไรก็ดีการปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานของคนยุคใหม่ด้วยการตกแต่งและจัดรูปแบบออฟฟิศให้น่าอยู่น่าทำงานนี้ต่างก็ช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพใจ แต่บางครั้งก็มีข้อเสียแทรกตัวอยู่บ้างอย่างเช่นการมีสถานที่ที่ดีทำให้คนทำงานยุคใหม่อาจเสพติดการทำงานมากจนเกินไป นั่งแช่กับเก้าอี้ทำงานนานๆ โดยไม่ลุกไปไหน หรือแม้กระทั่งทำงานอย่างไม่ลืมหูลืมตาลืมพักผ่อนกันเลยทีเดียว ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากละเลยในระยะยาวอาจเป็นผลเสียเกิดขึ้นกับสุขภาพของพนักงานได้ ดังนั้นออฟฟิศยุคใหม่จึงควรหันมาร่วมกันใส่ใจดูแลเรื่องสุขภาวะของตนเอง ตลอดจนระดับองค์กรยุคดิจิทัลก็อาจนำเอากลยุทธ์สร้างสุขภาวะที่ดีนี้มาใช้เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการสร้างสรรค์การทำงานยุคใหม่ด้วยเช่นกัน

กลยุทธ์สร้างสุขภาวะที่ดีให้กับองค์กรยุคใหม่

นอกจากกลยุทธ์ในการทำธุรกิจแล้ว กลยุทธ์ในการดูแลบุคลากรในด้านต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน องค์กรอาจใช้กลยุทธ์นี้ขับเคลื่อนธุรกิจร่วมกับกลยุทธ์อื่นๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิผลที่ดีที่สุดต่อองค์กรได้ ลองมาดูกันดีกว่าว่าจะมีกลยุทธ์อะไรน่าสนใจกันบ้าง

การสร้างออฟฟิศแบบเปิด (Open Space Office)

เราจะเห็นองค์กรยุคใหม่ส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์การออกแบบออฟฟิศให้เป็นแบบเปิด หรือแม้แต่องค์กรยุคเก่าที่ลุกขึ้นมาปฎิวัติตนเองหันมาสร้างออฟฟิศแบบเปิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อดีของการทำออฟฟิศแบบเปิดโดยไร้แผงกั้น (หรือใช้แผงกั้นแบบต่ำเพื่อให้พนักงานเห็นหน้ากันและเห็นทั่วออฟฟิศ) นี้ก็เพื่อให้ทุกคนในออฟฟิศสามารถเชื่อมต่อกันได้ ไม่รู้สึกอึดอัด ไม่เก็บตัว และไม่เครียดกับการทำงาน ออฟฟิศแบบเปิดยังเปิดวิสัยทัศน์ ให้มองไปไกลๆ ได้ สามารถพักผ่อนสายตาได้ในระหว่างทำงาน และส่งเสริมให้คนมีปฎิสัมพันธ์ในออฟฟิศมากขึ้นได้ด้วย องค์กรยุคใหม่ที่ทำออฟฟิศแบบเปิดก็มักจะตกแต่งออฟฟิศอย่างสวยงามไปในตัว ซึ่งยุคปัจจุบันนี้ไม่มีรูปแบบตายตัวในการตกแต่งแต่อย่างใด บางออฟฟิศนั้นตกแต่งไม่ต่างจากการตกแต่งบ้านที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย บางออฟฟิศตกแต่งเท่ทันสมัยที่ทำให้รู้สึกสนุกกับการทำงานได้เพิ่มขึ้น ส่งเหล่านี้สามารถสร้างความสุขในการทำงานได้ดี สร้างสีสันชีวิตชีวาในการทำงานได้เช่นกัน ตลอดจนสร้างสุขภาวะให้กับพนักงานได้อีกด้วย

การเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ดีต่อสุขภาพ (Health & Wellness Office Furniture)

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับออฟฟิศที่ต้องใส่ใจมากก็คือการเลือกเฟอร์นิเจอร์ที่ดีต่อสุขภาพพนักงานด้วย เมื่อก่อนบริษัทส่วนใหญ่อาจจะละเลยส่วนนี้ไป แต่การทำงานยุคใหม่ ประกอบกับโรคออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เริ่มกลายเป็นปัญหาใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับพนักงานออฟฟิศทั้งหลาย นั่นทำให้องค์กรต่างๆ หันมาใส่ใจในการเลือกเก้าอี้นั่นในการทำงานไปจนถึงโต๊ะทำงานที่เหมาะสมแก่การทำงานมากขึ้น

คนวัยทำงานส่วนใหญ่นั้นมีชีวิตอยู่ในออฟฟิศมากที่สุด การนั่งทำงานอย่างสบายและมีสุขภาพวะที่ดีจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนี่คืออุปกรณ์ที่พวกเขาต้องใช้มากที่สุด การเลือกเก้าอี้ในการทำงานนั้นควรเป็นก้าวอี้ที่นั่งสบาย และดีต่อสุขภาพ คือมีการออกแบบรองรับสรีระในการนั่งทำงานอย่างเหมาะสม เพื่อลดอาการปวดหลัง เอว ก้นกบ หรือทำให้กระดูกสันหลังคด โต๊ะทำงานก็มีความสำคัญเช่นกัน ระดับความสูงควรเหมาะสม การออกแบบต้องคำนึงถึงการยกแขนในระดับที่ไม่ทำให้เมื่อยล้าจนเกินไป ตลอดจนรายละเอียดอื่นๆ อีกมากมาย

อย่างไรก็ดียังมีออฟฟิศสมัยใหม่ที่ใส่ใจภาพลักษณ์ออฟฟิศที่ดีและเก๋ ตกแต่งออฟฟิศให้เท่โดยมองจากภาพาลักษณ์เป็นหลักมากกว่ามองคุณภาพของเฟอร์นิเจอร์ที่เหมาะกับการทำงาน นั่นอาจสร้างภาพของออฟฟิศที่ดูดี ดูเท่ ดูชิค น่าทำงาน แต่ระยะยาวอาจสร้างสุขภาวะที่แย่ให้กับพนักงานได้เช่นกัน แต่ในขณะเดียวกันการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ออฟฟิศในยุคนี้ก็พัฒนาไปไกล หลายบริษัทที่ทำธุรกิจด้านนี้ก็มีการออกแบบเก้าอี้สำนักงานที่เก๋ ทันสมัย แถมยังดีต่อสุขภาพ และเสริมสุขภาวะการทำงานอีกด้วย ในส่วนนี้คงเป็นเรื่องรับผิดชอบขององค์กรที่ต้องคัดสรรเฟอร์นิเจอร์ให้ดีและเหมาะสมกับการทำงานและสุขภาพของพนักงานนั่นเอง

Fitness Office Furniture

นอกจากโต๊ะและเก้าอีสำหรับการทำงานแล้ว ปัจจุบันยังมีการประยุกต์และออกแบบอุปกรณ์สำนักงานเหล่านี้ไปในรูปแบบต่างๆ อีกมากมายโดยยึดหลักเพื่อสุขภาพที่ดีของคนทำงาน และส่งเสริมการแก้ไขปัญหา Office Syndrome ได้ดีขึ้น ที่โดดเด่นที่สุดและนิยมใช้กันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือโต๊ะทำงานที่สามารถปรับระดับได้เพื่อให้นั่งไปจนถึงยืนทำงานได้ ทั้งนี้เพื่อการปรับเปลี่ยนอิริยาบทในการทำงาน ไม่ทำให้นั่งนานจนสุขภาพย่ำแย่

พัฒนาการต่อมาก็คือการนำเอาอุปกรณ์ฟิตเนสมาผสมผสานเข้ากับอุปกรณ์สำนักงาน เช่น โต๊ะทำงานแบบยืนที่ผสมกับลู่วิ่ง ให้พนักงานได้ขยับร่างกายไปพร้อมกับการทำงานด้วย เป็นการออกกำลังกายไปในตัว หรือโต๊ะทำงานที่ผสมผสานเข้ากับเครื่องปั่นจักรยาน โดยมีวัตถุประสงค์เดียวกันคือให้พนักงานได้ขยับเขยื้อนร่างกายและออกกำลังกายไปในตัว เป็นต้น

ทำงานนอกสถานที่ (Remote Working)

บริษัทยุคใหม่มักไม่ซีเรียสเรื่องเวลาหรือสถานที่ทำงาน มักให้อิสระกับพนักงานในการทำงาน โดยคำนึงถึงผลลัพธ์เป็นหลักมากการระบบ หลายองค์กรนำเอากลยุทธ์ Remote Working มาใช้ ทั้งแบบไม่มีข้อกำหนดใดๆ ไปจนถึงการการผสมผสานกับระบบทำงานปกติ อย่างเช่น 1 วันต่อสัปดาห์สามารถไปทำงานที่ไหนก็ได้โดยไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เป็นต้น

กลยุทธ์นี้ก็เพื่อให้พนักงานมีอิสระในการทำงานโดยที่ไม่ต้องอยู่กับสภาพแวดล้อมเดิมๆ ทุกวัน สามารถเปลี่ยนบรรยากาศการทำงานได้หลากหลายตามความต้องการของตนเอง ใครที่เบื่อบรรยากาศออกฟฟิศก็สามารถเลือกไปนั่งในที่ที่ชอบ ที่ที่ส่งเสริมการทำงานได้ อย่างเช่น ร้านกาแฟ, ห้องสมุด หรือแม้แต่ Co-Working Space ก็ตาม หรือแม้แต่บางคนก็อาจมีมุมส่วนตัวสำหรับนั่งทำงานที่บ้านที่ชอบก็ได้ นั่นส่งผลให้สุขภาพจิตดีขึ้น กระตุ้นการทำงานได้ดีขึ้นเช่นกัน การเปลี่ยนบรรยากาศยังช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย ลดความเบื่อหน่ายทำให้เราสนุกกับการทำงานได้มากขึ้นได้ หรือบางคนอาจเลือกใช้สิทธิ์ไปเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ แต่เอางานไปทำด้วย ได้วันพักผ่อนเพิ่ม และได้เปลี่ยนบรรยากาศการทำงานไปพร้อมการพักผ่อน เป็นการรีเฟรชชีวิตตลอดจนวิถีการทำงานที่ยอดเยี่ยมทีเดียว

จัดสรรโซนบันเทิงเพื่อการสันทนาการ (Entertainment Zone)

บริษัทยุคก่อนแยกความบันเทิงออกจากออฟฟิศโดยสิ้นเชิง การเล่นเกมออนไลน์หรือแม้กระทั่งการเล่นกีฬาในออฟฟิศถือเป็นเรื่องผิดกฎและอาจโดนลงโทษเลยก็ว่าได้ แต่นั่นไม่ใช่สำหรับออฟฟิศยุคดิจิทัลที่เริ่มผสานไลฟ์สไตล์ที่สร้างสุขภาพจิตที่ดีมาเข้ากับออฟฟิศให้เป็นเรื่องเดียวกัน และให้พนักงานบริหารเวลาของตนเองได้ตามสะดวก

การคร่ำเคร่งกับการทำงานอย่างเอาเป็นเอาตายในยุคก่อนอาจสร้างผลเสียให้กับคุณภาพชีวิตในระยะยาว ยุคนี้องค์กรส่วนใหญ่จึงหันมาส่งเสริมให้พนักงานพักผ่อนและผ่อนคลายในการทำงานไปด้วย องค์กรยุคใหม่หรือหลายองค์กรใหญ่ๆ เริ่มผสานกิจกรรมสันทนาการเข้ามาเป็นสวัสดิการหนึ่งในออฟฟิศ อย่างเช่น ห้องดูหนัง, ห้องเล่นเกม, ห้องกีฬา, ห้องอ่านการ์ตูน, หรือแม้แต่ห้องเล่นดนตรี ให้พนักงานได้เบรกไปพักผ่อน คลายเครียด ผ่อนคลายจากการทำงานได้ เมื่อพนักงานได้รีเฟรชตัวเองก็จะกลับไปทำงานได้ดียิ่งขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เก็บกด หรือส่งผลเสียต่อการทำงาน กลยุทธ์นี้คนรุ่นใหม่มักจะชอบ และเป็นหนึ่งในสวัสดิการที่พนักงานทั้งหลายอยากให้มีในออฟฟิศของตนมากที่สุดด้วย

การประชุมที่ไม่น่าเบื่อ (Energetic Meeting)

ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการประชุมเป็นหนึ่งในระบบการทำงานสำคัญของบริษัทในทุกรูปแบบ องค์กรในยุคดิจิทัลนี้ก็เลยมักมีการสร้างสรรค์การประชุมไปในหลากหลายรูปแบบเพื่อลดความน่าเบื่อของกิจวัตรที่หลายๆ คนไม่ชอบ ตลอดจนสร้างเสริมความกระปรี้กระเปร่าในการประชุมให้บุคลากรมีประสิทธิภาพในการเข้าร่วมมากขึ้น

หนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญในยุคนี้ก็คือการสร้างสรรค์ห้องประชุมให้ครีเอทีฟ สนุกสนาน ทันสมัย แตกต่างไปจากห้องประชุมยุคก่อนๆ การออกแบบห้องประชุมมีการคิดอย่างละเอียดรอบคอบตั้งแต่การเลือกสีที่ช่วยกระตุ้นการตื่นตัว, การเลือกเก้าอี้ประชุมที่นั่งสบายๆ, ไปจนถึงการตกแต่งในรูปแบบต่างๆ ที่หลุดกรอบห้องประชุมเดิมๆ อย่างเช่นการสร้างธีมห้องประชุมแปลกๆ อาทิ ห้องประชุมธีมอวกาศ, ห้องประชุมธีมป่าไม้และธรรมชาติเขียวขจี, ห้องประชุมที่เหมือนห้องรับแขกในบ้าน, ห้องประชุมที่ไม่มีโต๊ะ สามารถนอน นั่ง หรือเอกเขนกได้ตามสะดวก เป็นต้น เพื่อสร้างความผ่อนคลาย ตลอดจนกระตุ้นพลังให้เกิดการอยากสนทนา และไม่เบื่อในการเข้าประชุม

บางบริษัทมีบรรยากาศการประชุมให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ห้องประชุมที่ปิดมิดชิด, ห้องประชุมแบบเปิด พื้นที่โล่ง นั่งชิลล์ หรือแม้แต่โต๊ะประชุมในสวนท่ามกลางธรรมชาติ เป็นต้น เพื่อให้บรรยากาศการประชุมไม่อึดอัด เครียด สร้างความผ่อนคลาย ตลอดจนสร้างบรรยากาศให้เหมือนกับการนั่งพูดคุยกับเพื่อน หรือมานั่งพักเบรกระหว่างการทำงาน นั่นก็อาจช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้

Offsite Meeting

อย่างไรก็ดี อีกเทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ก็คือการจัดการประชุมนอกสถานที่ เพื่อลดความซ้ำซาก เบื่อหน่าย จำเจในออฟฟิศแบบเดิมๆ โดยอาจเลือกนัดประชุมตามร้านกาแฟ, หรือร้านกาแฟใหญ่ๆ บางร้านจะมีโซนห้องประชุมไว้บริการด้วย ก็สามารถจองห้องประชุมได้ นอกจากนี้ก็ยังมี Co-Working Space ที่มีให้บริการเช่าห้องประชุม หรือแม้แต่ Creative Library &  Business Space ก็มีบริหารห้องประชุมไว้ให้ใช้เช่นกัน หรือแม้กระทั่งการจองห้องอาหาร ตลอดจนห้องประชุมตามโรงแรมต่างๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน ได้ทั้งสเกลเล็กๆ ไปจนถึงสเกลใหญ่ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมาก

การออกกำลังกายเพื่อผ่อนคลายในรูปแบบต่างๆ (Variety of Exercises)

การส่งเสริมให้พนักงานออกกำลังกายเป็นกลยุทธิ์หนึ่งที่ดีต่อองค์กรเป็นอย่างมาก นอกจากจะส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีแล้วก็ยังทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้นด้วย รวมถึงเป็นสวัสดิการที่ดีที่ช่วยดึงดูดให้คนอยากเข้ามาร่วมงานกับบริษัทได้อีกด้วย

กลยุทธ์ด้านการออกกำลังกายก็มีตั้งแต่การสร้างพื้นที่ออกกำลังกายไว้ให้ออฟฟิศ, การจัดคลาสออกกำลังกายให้พนักงานออฟฟิศ, หรือหากงบประมาณจำกัด ตลอดจนพื้นที่จำกัด ก็อาจให้เป็นสวัสดิการด้านสมาชิกฟิตเนสที่ไปใช้บริการตามฟิตเนสอื่นๆ ได้ เป็นต้น เพื่อให้พนักงานผ่อนคลายจากการทำงาน คลายจากความเครียด และเสริมสร้างสุขภาพที่ดีไปในตัว

Do At Your Desk

ยังมีการออกกำลังกายแบบง่ายๆ อีกอย่างที่น่าสนใจและเหมาะกับออฟฟิศ ซึ่งหลายออฟฟิศมองข้ามเรื่องง่ายๆ นี้ไป แต่ในขณะเดียวกันหลายออฟฟิศก็ใส่ใจเรื่องนี้กับพนักงานเช่นกัน การออกกำลังกายง่ายๆ ที่โต๊ะทำงานของทุกคนนั้นเพื่อช่วยปรับเปลี่ยนอิริยาบทในการนั่งทำงานนานๆ รวมถึงลดการเกิดภาวะออฟฟิศซินโดรมที่ร้ายแรงได้ด้วย โดยกิจกรรมนี้สามารถใช้เวลาเพียงน้อยนิด ขยับร่างกายที่โต๊ะทำงานของแต่ละคน เพื่อให้เกิดความผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายจิตใจ ลดอาการเจ็บปวดจากพฤติกรรมการทำงาน ในปัจจุบันมีการคิดค้นการออกกำลังกายง่ายๆ ที่โต๊ะทำงานมากมาย องค์กรสามารถนำความรู้ตลอดจนวิธีการเหล่านี้มาแชร์ให้กับพนักงานของตนได้ เพื่อช่วยป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรมที่จะเป็นผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของแต่ละคน

การแก้ไขปัญหาตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หลีกไกลจากออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ยังมีอีกหลากหลายวิธี ติดตามเรื่องราวของออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) เพิ่มเติมได้ที่บทความด้านล่างนี้

ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ห่างไกลจาก Office Syndrome

พื้นที่สีเขียว (Green Space)

ธรรมชาตินั้นสามารถบำบัดเยียวยามนุษย์ได้อย่างน่ามหัศจรรย์ แค่เราหันไปมองสีเขียวของต้นไม้ หรือสูดอากาศบริสุทธิ์จากแมกไม้ ไปจนถึงออกไปเดินในสวนที่จะช่วยสร้างความกระปรีกระเปร่าให้กับชีวิตได้ องค์กรขนาดใหญ่ที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพและวิถีชีวิตที่มีคุณภาพของบุคลากรนั้นอาจมีสวนสาธารณะอยู่ในองค์กรเพื่อให้ได้พักผ่อนกัน หรือเนรมิตรโซนสีเขียวในองค์กร นำเอาพืชพรรณต่างๆ มาปลูกและประดับตกแต่ง เพื่อสร้างสีเขียวให้เกิดขึ้น มอบสุขภาพที่ดีให้กับพนักงาน

หลายองค์กรที่อาจไม่มีพื้นที่พอในส่วนนี้ก็อาจมีการส่งเสริมหรืออนุญาติให้พนักงานนำต้นไม้เล็กๆ มาประดับตกแต่งโต๊ะทำงานของตนได้ ธรรมชาติเพียงเล็กๆ น้อยๆ นี้อย่ามองข้ามทีเดียว เพราะมันสามารถช่วยให้เราเยียวยาจากวิถีชีวิตออฟฟิศได้อย่างดีทีเดียวล่ะ

พื้นที่แห่งความเงียบสงบและห้องปฎิบัติสมาธิ (Silent Space & Meditation Room)

เรื่องนี้หลายออฟฟิศอาจมองข้ามหรือนึกไม่ถึง แต่หลายออฟฟิศที่เข้าใจตรงจุดนี้มักจะจัดพื้นที่ให้พนักงานได้สงบจิตสงบใจด้วยเช่นกัน ซึ่งการทำสมาธิกำลังเป็นเทรนด์นิยมในโลกตะวันตกมากขึ้นเรื่อยๆ มันเป็นการพักผ่อนร่างกาย พักเบรกในชีวิต ที่สามารถสร้างพลังให้กับร่างกายและจิตใจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากทีเดียว

องค์กรอาจจัดโซนที่เป็นห้องเงียบๆ ตลอดจนห้องในการปฎิบัติสมาธิ ให้พนักงานได้อยู่กับตัวเอง พักผ่อนทางใจและกาย ซึ่งบางเวลาพนักงานอาจต้องการพักผ่อนโดยการอยากอยู่เงียบๆ อยู่นิ่งๆ ที่ไม่มีอะไรรบกวน เพราะวิถีชีวิตของคนเราทุกวันนี้ต่างมีสิ่งที่รบกวนชีวิตตลอดเวลามากมาย การปลีกเวลาไปอยู่กับตัวเอง ไปอยู่นิ่งๆ เงียบสงบ ไม่มีอะไรรบกวน บางครั้งก็ช่วยเพิ่มพลังให้กับชีวิตได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว

อาหารเพื่อสุขภาพ (Health Food)

ยุคนี้อาหารรอบตัวต่างก็เป็นพิษต่อร่างกายได้เช่นกัน พนักงานออฟฟิศมีความเสี่ยงในการกินอาหารที่ไม่ดีและไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพสูง ทั้งเพื่อความสะดวกสบายที่อาจซื้ออาหารแช่ในร้านสะดวกซื้อกินเป็นประจำ, หรือจากร้านอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ, ตลอดจนร้านอาหารที่ไม่คำนึงถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพดี เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สร้างสุขภาพวะที่ยำแย่ให้กับร่างกายและจิตใจได้โดยไม่รู้ตัวเลยทีเดียว

ออฟฟิศยุคใหม่หลายออฟฟิศที่ใส่ใจในเรื่องนี้อาจนำเอากลยุทธ์อาหารกลางวันมาเป็นสวัสดิการให้พนักงาน คัดเลือกอาหารที่ดีมีคุณภาพ มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมาบริหารให้พนักงาน หรือองค์กรขนาดเล็กอาจมีบริการสั่งอาหารสุขภาพไว้รองรับพนักงานก็ได้ โดยขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนเช่นกัน ซึ่งการที่ได้กินอาหารที่ดีและมีประโยชน์จะช่วยส่งเสริมสุขภาพร่างกายที่ดี ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้าม การไม่ใส่ใจในการกิน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ หากร่างกายย่ำแย่ ประสิทธิภาพในการทำงานย่อมลดลงแน่นอน

วันหยุดพักผ่อนและการท่องเที่ยวขององค์กร (Vacation & Outing)

การรีเฟรชร่างกายที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งก็คือการไปเที่ยว ซึ่งช่วยฟื้นฟูได้ตั้งแต่สภาพร่างกายไปจนนถึงสภาพจิตใจ การไปเที่ยวในที่นี้จะพูดถึงระดับนโยบายขององค์กร ไม่ได้โฟกัสไปที่การท่องเที่ยวรายบุคคล องค์กรยุคดิจิทัลหลายองค์กรใช้กลยุทธ์นี้มาดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้อยากมาร่วมทำงานด้วย โดยมกัจะมีการจัดทริปท่องเที่ยวของออฟฟิศเสมอๆ ทั้งแบบกึ่งทางการที่ไปร่วมกันแต่ออกค่าใช้จ่ายกันเอง ไปจนถึงทริป Outing อย่างเป็นทางการของบริษัทที่ทุกคนไปร่วมกันแต่บริษัทออกค่าใช้จ่ายให้หมดทุกอย่าง นอกจากจะช่วยให้พนักงานได้ผ่อนคลาย พักผ่อน เปลี่ยนบรรยากาศแล้ว ก็ยังช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ของบุคลากรในบริษัทได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

Vacation Policy

นโยบายด้านการพักผ่อนในระยะยาวนั้นถือเป็นสวัสดิการรูปแบบหนึ่งที่องค์กรให้สิทธิ์กับพนักงาน โดยเฉพาะองค์กรในระดับสากลหรือทางวัฒนธรรมตะวันตกที่ให้สิทธิ์นี้อย่างจริงจัง คุ้มค่า และเป็นระบบกับพนักงานทุกคน การพักผ่อนในระยะยาวนั้นจะช่วยให้เรารีเฟรชร่างกายและจิตใจได้อย่างดีเยี่ยม พนักงานส่วนใหญ่จะใช้เวลานี้ออกไปท่องเที่ยว เดินทางไกล ไปในที่ที่ตนไม่รู้จักคุ้นเคย เรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ เป็นการสร้างสุขภาวะที่ดีในทางอ้อมได้อีกด้วย

นโยบายการหยุดยาวนี้มีตั้งแต่ Vacation ที่มีระยะเวลา 1-3 เดือน หรืออาจเป็นปี แล้วแต่ข้อกำหนดของบริษัท หรือแม้กระทั่งระบบ Leave without pay ที่พนักงานอาจขอลาหยุดระยะยาวมากกว่าโควต้าวันลาของตนที่มี โดยยื่นข้อแลกเปลี่ยนไม่รับเงินเดือนของบริษัทแทน แต่ยังคงสถานะการเป็นพนักงานบริษัทอยู่ และเมื่อครบกำหนดก็กลับมาทำงานปกติ เข้าระบบงานดังเดิม บางบริษัทก็มีนโยบายนี้ให้กับพนักงาน แต่บางบริษัทก็ไม่มีนโยบายนี้ให้ แต่นี่ก็เป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงานได้เช่นกัน

นโยบายวิถีชีวิตเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Policy)

วิถีชีวิตที่ยั่งยืนกำลังเป็นเทรนด์สำคัญของโลกที่กระตุ้นให้ทุกคนหันมาใส่ใจความยั่งยืนของมนุษย์และสภาพแวดล้อมให้มากขึ้น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ไม่ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ไม่สร้างความเสื่อมเสียให้กับธรรมชาติและโลกใบนี้ ใช้ทรัพยากรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงงานสะอาด ลดการใช้พลังงานจากฟอซซิล สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ แต่ทุกคนต้องร่วมมือช่วยกันดูแลรักษาโลกใบนี้ของเรา เพื่อให้ใช้ชีวิตและมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น

องค์กรระดับใหญ่หลายองค์กรของโลก โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นผู้นำทั้งหลายต่างก็เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง ซึ่งองค์กรเหล่านี้มักใส่ใจตั้งแต่พฤติกรรมไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อสร้างยวิถีที่ยั่งยืน ซึ่งหากทำกันจริงจังและครบวงจรแล้วนั้นต้องใช้เงินมหาศาล แต่ก็สามารถสร้างคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานตลอดจนประชากรโลกได้ สิ่งที่ได้รับผลตามมาคือองค์กรได้รับความน่าเชื่อถือ องค์กรมีคนอยากมาร่วมทำงานด้วย มีโอกาสได้คนดีๆ เก่งๆ เข้ามาทำงานด้วย และสินค้าตลอดจนผลิตภัณฑ์อาจขายดีขึ้นจากภาพลักษณ์องค์กรที่ดี

Sustainable Organization

องค์กรที่โดดเด่นในเรื่องนี้เป็นอย่างมากก็คือ Apple Inc. นั่นเอง ที่ใส่ใจตั้งแต่การสร้างอาคารอนุรักษ์พลังงาน ใช้พลังานจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารของตน ตลอดจนส่งเสริมให้โรงงานผลิตสินค้าของ Apple ทั่วโลกหันมาใช้พลังงงานสะอาดทั้งหมดอีกด้วย สร้างสวนเพื่อสร้างระบบนิเวศตลอดจนสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงาน ไปจนถึงปรับพฤติกรรมพนักงานให้เข้าสู่วิถีที่ยั่งยืน เช่น ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ทำลายสิ่งแวดล้อม, ลดการใช้ที่ทำให้เกิดขยะ เป็นต้น

องค์กรในเมืองไทยที่เป็นผู้นำในด้านวิถีชีวิตยั่งยืนและใส่ใจอย่างจริงจังก็คือ SCG นั่นเอง ที่องค์กรเริ่มปรับโฉมใหม่ตั้งแต่การออกแบบสำนักงานใหญ่ให้เป็นอาคารอนุรักษ์พลังงาน มีการออกแบบอาคารที่ให้อากาศไหลเวียนได้ดี รับแสงได้อย่างพอเหมาะ และลดการใช้แอร์ได้ ตลอดจนมีการติดตั้งแผงพลังานแสดงอาทิตย์ไว้บนหลังคาอาคารเพื่อใช้พลังงงานสะอาด นั่นยังไม่รวมถึงนโยบายและการปฎิบัติอื่นๆ ในวิถียั่งยืนอีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ส่งเสริมให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโลกในองค์รวมมีวิถีที่ดีขึ้น ตลอดจนมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ขึ้นด้วยนั่นเอง เป็นระบบสภาพแวดล้อมที่ดีในองค์รวม

บทสรุป Healthy & Wellness Strategy for Digital Age Office

เพราะทรัพยากรมนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญที่สุดสำหรับองค์กร การใส่ใจเรื่องสุขภาวะของพนักงานที่ดีนั้นคือมิติหนึ่งในการสร้าง Work-Life Balance ที่ดีได้ด้วยเช่นกัน การใส่ใจดูแลบุคลากรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีจะทำให้มีประสิทธิภาพในการทำงานและการดำเนินชีวิตที่ดีขึ้นได้ด้วย เพิ่มศักยภาพในการทำงานได้มากขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลย และส่งผลดีต่อความสำเร็จขององค์กรได้เป็นอย่างดีทีเดียว

อย่างไรก็ตามนอกจากที่นำเสนอไปแล้ว ก็ยังมีกลยุทธ์ต่างๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย รวมถึงเกิดการสร้างสรรค์กลยุทธ์ไปจนถึงนโยบายองค์กรใหม่ๆ ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของการทำงานและคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรให้เพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีที่ได้รับผลประโยชน์กันทุกฝ่าย ทั้งนี้องค์กรสามารถใส่ใจสุขภาวะที่ดีของพนักงานได้ตั้งแต่ระดับปฎิบัติการ สวัสดิการ กลยุทธ์ ไปจนถึงนโยบายองค์กร นอกจากมันจะสะท้อนความใส่ใจของอค์กรที่มีต่อบุคลากรได้แล้ว มันยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบทางสังคมได้ในคราวเดียวกันด้วย แล้วยังช่วยสร้างคุณค่าตลอดจนภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้งหมดแล้วไม่เพียงแต่พนักงานทุกคนจะได้รับผลประโยชน์เท่านั้น แต่มันเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพที่ส่งผลให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ในที่สุดเช่นกัน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง