Burnout Syndrome ชาร์ตพลังให้พนักงานที่หมดไฟ ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

HIGHLIGHT
  • Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ สภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ จิตใจและร่างกายที่เกิดจากความเครียดที่มากเกินไปและสะสมอยู่เป็นเวลานาน อารมณ์ของผู้ที่มีภาวะนี้จะรู้สึกจมดิ่ง ไม่มีความต้องการที่จะทำอะไรเลย
  • สาเหตุของ Burnout Syndrome นั้นมีมาจากหลายปัจจัย โดยสามารถแบ่งได้จาก ปัจจัยเกี่ยวกับการทำงาน, ปัจจัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิต, ปัจจัยเกี่ยวกับบุคลิกส่วนบุคคล
  • วิธีฟื้นฟูตนเองจาก Burnout Syndrome คือ เข้าใจตนเองก่อนว่าคุณกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันจนทำให้อยู่ในภาวะ Burnout สิ่งที่สองคือ เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อให้คุณสามารถปรับสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้

Burnout Syndrome ชาร์ตพลังให้พนักงานที่หมดไฟ ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณยังจำความรู้สึกในวันแรกที่คุณเริ่มทำงานหรือเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ได้หรือไม่ ว่าความรู้สึกนั้นแปลกใหม่และน่าตื่นเต้นแค่ไหนสำหรับคุณ

ที่ทำงานใหม่ โต๊ะทำงานตัวใหม่ เพื่อนร่วมงานคนใหม่ งานท้าทายใหม่ๆ

คุณทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานของคุณเห็นว่า คุณทำงานที่ได้รับมอบหมายได้และเหมาะสมกับตำแหน่งนี้จริงๆ คุณไม่สนใจว่าคุณจะต้องทำงานหนักแค่ไหน หรือบางวันต้องอยู่ออฟฟิศจนดึกแค่ไหน เพราะคุณรู้สึกสนุกไปกับมัน

แต่แล้ววันหนึ่ง คุณตื่นขึ้นมาแล้วรู้สึกว่า คุณเหนื่อยและเบื่อที่จะลุกไปทำงาน คุณกดปิดนาฬิกาปลุก และนั่งมองมันอยู่แบบนั้นไม่ยอมลุกไปเตรียมตัวเพื่อไปทำงานในวันใหม่ คุณนั่งคิดถึงเรื่องร้อยแปดอย่างที่ต้องทำในวันนั้น แล้วรู้สึกไม่มีแรงกายและแรงจูงใจที่จะทำมัน

นั่นคือสัญญาณว่า คุณกำลังทรมานกับสภาวะ Burnout

แล้ว Burnout Syndrome คืออะไรกันล่ะ?

Burnout Syndrome คืออะไร

Burnout Syndrome ชาร์ตพลังให้พนักงานที่หมดไฟ ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ก่อนจะทำความรู้จักกับ Burnout Syndrome เรามาทำความรู้จักกับความเครียดกันก่อนครับ

เรามักคิดว่า ความเครียดคืออะไรบางอย่างที่เราสามารถมองเห็นและรู้สึกได้ เช่น อาการเหงื่อออกทั้งๆ ที่อากาศเย็น หัวใจเต้นเร็ว กัดฟันจนสันกรามขึ้น หรือปวดท้องโดยไม่มีสาเหตุ

แต่ความจริงแล้วความเครียดเป็นอะไรที่น่ากลัวและมองเห็นได้อยากกว่าที่เราคิด กล่าวคือ คุณสามารถเครียดได้โดยไม่รู้ตัวแม้แต่น้อย

ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องทำงานหลายๆ ชิ้นภายในเวลาอันจำกัด รู้สึกว่ามีเดดไลน์กำลังรออยู่ คุณพยายามหาเวลาเพื่อทำทุกสิ่งที่คุณได้วางแผนไว้ หรือบางครั้งคุณรู้สึกว่าไม่สามารถโฟกัสกับงานได้ สิ่งเหล่านี้คงบอกได้ว่าคุณกำลังมีความเครียดและกำลังทุกข์ใจอยู่กับมัน

เมื่อคุณรู้สึกเครียดมากๆ มันจะกลายเป็นความเครียดเรื้อรัง และนำไปสู่สภาวะ Burnout กับงานที่ทำได้

ดังนั้นกล่าวได้ว่า Burnout Syndrome หรือ ภาวะหมดไฟในการทำงาน คือ สภาวะเหนื่อยล้าทางอารมณ์ จิตใจและร่างกายที่เกิดจากความเครียดที่มากเกินไปและสะสมอยู่เป็นเวลานาน อารมณ์ของผู้ที่มีภาวะนี้จะรู้สึกจมดิ่ง ไม่มีความต้องการที่จะทำอะไรเลย

ถ้ายังเครียดต่อไปเรื่อยๆ แบบนี้ จะทำให้คุณเริ่มหมดความสนใจหรือแรงจูงใจ ในการทำงาน ผิดจากช่วงแรก

สาเหตุของ Burnout Syndrome

สาเหตุของ Burnout Syndrome นั้นมีมาจากหลายปัจจัย โดยสามารถแบ่งได้ ดังนี้

1. ปัจจัยเกี่ยวกับการทำงาน

  • มีความรับผิดชอบในงานสูงมากเกินไป ทำให้เกิดความเครียดวิตกกังวลว่างานจะไม่ประสบความสำเร็จ
  • อยู่ในการทำงานที่มีแต่ความกดดันและความเครียดตลอดเวลา
  • ต้องทำงานที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่อยากทำ ไม่มีความรักในงานนั้นๆ
  • มีความเบื่อหน่ายในงานที่ทำ อาจด้วยเพราะตัวงานหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ไม่ได้รับการยอมรับจากหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน
  • ได้ค่าตอบแทนน้อยเกินไป ไม่สมดุลกับจำนวนงานที่ทำ งานหนักหรือเยอะเกินไป
  • ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงาน
  • องค์กรไม่มีความมั่นคง ขาดความชัดเจน หรือมีค่านิยมที่สวนทางกับพนักงานคนนั้น
  • องค์กรไม่มีความยุติธรรม เกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้ากับลูกน้องทำงานนานเกินไป เช่น ต้องทำงานล่วงเวลาถึงสามทุ่มสี่ทุ่มเกือบทุกวัน ทำงานมากกว่าสิบชั่วโมงต่อวัน

2. ปัจจัยเกี่ยวกับการใช้ชีวิต

  • โหมงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อน
  • มีหน้าที่รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในบ้าน ต้องดูแลบุคคลในบ้านเพียงลำพัง
  • ครอบครัวมีความขัดแย้ง มีปัญหาหรือความสัมพันธ์ในทางลบ ทำให้รู้สึกไม่มีความมั่นคง ปลอดภัย

3. ปัจจัยเกี่ยวกับบุคลิกส่วนบุคคล

  • เป็นคนชอบความสมบูรณ์แบบ คาดหวังในการทำงานมากเกินไป
  • เก็บตัว เป็นคนไม่ยืดหยุ่น ต้องการควบคุมทุกอย่างให้เป็นดั่งใจตนเอง

ล่าสุดในปีนี้องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ได้มีมติพิจารณาให้ Burnout Syndrome เป็นสภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทางการแพทย์ โดยภาวะนี้ส่งผลเสียต่อผู้ที่เป็นและองค์กรอย่างไรบ้างนั้น เราจะพูดถึงเป็นอันดับต่อไป

สาเหตุอื่น ๆ ของการเกิดภาวะหมดไฟในการทำงาน ดังนี้

  • ขาดการควบคุม: การไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดวิธีการทำงานของคุณเอง เช่น ตารางเวลาทำงาน งานที่ได้รับมอบหมาย หรือภาระงาน อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟได้ การไม่มีสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้เช่นกัน
  • ขาดความชัดเจนในสิ่งที่คาดหวังจากหัวหน้า: หากคุณไม่แน่ใจว่าหัวหน้างานหรือบุคคลอื่น ๆ ต้องการอะไรจากคุณ คุณก็มักจะไม่รู้สึกว่าตัวเองทำงานได้ดี
  • ความขัดแย้งกับผู้อื่น: บางทีคุณอาจต้องทำงานกับคนอารมณ์ร้ายในที่ทำงาน หรือรู้สึกว่าเพื่อนร่วมงานต่อต้านคุณ หรือหัวหน้างานเข้ามายุ่งกับงานของคุณมากเกินไป ความขัดแย้งเหล่านี้สามารถเพิ่มความเครียดในการทำงานได้
  • งานมากเกินไปหรือน้อยเกินไป: บางทีงานของคุณอาจน่าเบื่อ หรือวุ่นวายจนคุณตามไม่ทัน ในสถานการณ์เช่นนี้ คุณต้องใช้พลังงานมากในการรักษาสมาธิ ซึ่งอาจนำไปสู่ความเหนื่อยล้าและหมดไฟในการทำงาน  
  • ขาดการสนับสนุน: หากคุณรู้สึกโดดเดี่ยวในที่ทำงานและในชีวิตส่วนตัว คุณอาจรู้สึกเครียดมากขึ้น
  • ปัญหาในการสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน: บางทีงานของคุณอาจกินเวลาและพลังงานของคุณมากจนไม่เหลือสำหรับครอบครัวและเพื่อนฝูง การขาดความสมดุลนี้สามารถนำไปสู่ภาวะหมดไฟในการทำงานได้

อาการของ Burnout Syndrome

ผู้ที่มีภาวะ Burnout นั้นจะมีอาการคล้ายๆ กับโรคซึมเศร้า แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังไม่มีการระบุอาการแน่ชัด แต่ถ้าคุณหรือคนรอบข้างมีอาการ ดังนี้

รู้สึกเหนื่อย ไม่มีแรง ร่างกายอ่อนเพลีย สมาธิในการทำงานลดลง นอนไม่หลับ รู้สึกเบื่อ สิ้นหวัง ไม่มีความสุขในการทำงาน เริ่มมองงานที่ทำอยู่ในแง่ร้ายผิดกับตอนที่เริ่มงานแรกๆ นอกจากนี้เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือคนรอบข้างน้อยลง ชอบแยกตัว ไม่มีความกระตือรือร้น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง

หากคุณรู้สึกว่าตัวเองมีอาการดังกล่าวหรือมีความรู้สึกเข้าข่ายภาวะ Burnout แล้วล่ะก็ คุณคงต้องเริ่มมองหาการพักผ่อนที่เหมาะสมกับตัวเอง

Burnout Syndrome ชาร์ตพลังให้พนักงานที่หมดไฟ ให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีฟื้นฟูตนเองจาก Burnout Syndrome

สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เข้าใจตนเองก่อนว่าคุณกำลังอยู่ภายใต้ความกดดันจนทำให้อยู่ในภาวะ Burnout สิ่งที่สองคือ เปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง เพื่อให้คุณสามารถปรับสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้

ป้องกัน Burnout Syndrome ได้ด้วยตนเอง

ป้องกันหรือรักษาตัวเองจาก Burnout Syndrome ได้ง่ายๆ ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยง บุหรี่ แอลกอฮอล์ และการดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมากเกินไป
  • หาเวลาไปพักร้อน ให้ห่างจากการทำงานสักพัก
  • จัดระเบียบตัวเองและงาน โดยทำงานตามลำดับความสำคัญ กำหนดเวลาในการทำงานแต่ละชิ้นให้เหมาะสม ไม่ทำงานเกินเวลา และพยายามอย่านำงานกลับไปทำที่บ้าน
  • หากงานมีความยากเกินความสามารถ ให้ขอความเห็น ความช่วยเหลือจากเพื่อนหรือหัวหน้า พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนในทีมเพื่อคลายความเครียด
  • ทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ อย่างท่องเที่ยว ดูภาพยนตร์หรือซีรี่ย์สักเรื่อง ฟังเพลง อ่านนิยายสักเล่ม ผ่อนคลายในวันหยุด หรือออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ สามสิบนาที ห้าวันต่อสัปดาห์
  • งดเล่นโซเชียลมีเดีย เพราะการออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้คุณเกิดความเครียดจากการที่รับข่าวสารเข้ามามากเกินไป และเสียเวลาพักผ่อน
  • พยายามปรับความคิดเกี่ยวกับความเครียดใหม่ ทำความเข้าใจและยอมรับว่าในการทำงานต้องมีความเครียดเป็นของคู่กัน และการที่คุณเครียดก็เป็นการบอกได้ว่าคุณใส่ใจในงานที่ทำ
  • พัฒนาทักษะสกิลในการทำงานของตัวเองอยู่เสมอ เพื่อให้เราตามทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม

นอกจากวิธีการป้องกัน Burnout Syndrome ได้ด้วยตัวเองแล้ว องค์กรหรือฝ่ายบุคคลยังสามารถช่วยพนักงานที่มีแนวโน้มจะอยู่ในภาวะ Burnout ได้ดังนี้

1. ทำงานอย่างชาญฉลาด

ปัจจุบันการทำงานให้ฉลาดขึ้น ไม่ใช่การทำงานให้นานขึ้น ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ก็มีเครื่องมือที่สามารถช่วยให้คุณและองค์กรสามารถจัดระเบียบกับเวลา และยังสามารถช่วยทำงานบางอย่างของคุณได้โดยอัตโนมัติ เช่น โปรแกรมที่จะช่วยทำให้คุณสามารถส่งอีเมลล์ที่ต้องส่งประจำได้อัตโนมัติตามที่เราได้ตั้งค่าไว้ หรือโปรแกรมที่ช่วยจัดการงานของคุณว่าอยู่ในสถานะไหน เป็นงานที่ทำเรียบร้อยแล้ว หรือว่าเป็นงานที่ต้องทำเป็นรายการต่อไป (To-Do Lists) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้แอพติดตามการทำงานประจำวันเพราะจะทำให้คุณเครียดมากยิ่งขึ้นจากการแสดงผลการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา

โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ถูกคิดค้นมาเพื่อช่วยให้การทำงานของเราง่ายขึ้นและเสียเวลาน้อยลง ดังนั้นการนำโปรแกรมเหล่านี้เข้ามาปรับใช้ในองค์กร จะช่วยให้พนักงานเสียเวลาในการทำงานน้อยลง และจัดการกับงานของตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

2. ให้พนักงานได้ออฟไลน์ตัวเอง

มันอาจจะเป็นไปได้ยากที่จะให้พนักงานอยู่ห่างจากงานที่รับผิดชอบ แต่บางครั้งการให้พวกเขาได้มีเวลาออฟไลน์ ส่งเสริมนโยบายให้พนักงานพักผ่อนในวันหยุด งดคุยเรื่องงาน งดส่งอีเมลล์ในวันหยุด หรือให้พวกเขาออกห่างจากโซเชียลมีเดีย ให้พวกเขาได้ไปพักผ่อนใช้ชีวิต ธุรกิจของคุณคงไม่เกิดปัญหาเพียงเพราะคุณไม่ทำงานหรือตอบอีเมลล์ในวันหยุด

และสำหรับพนักงานเอง เมื่อถึงวันหยุดคุณควรปล่อยให้ตัวเองได้พักผ่อนอย่างเต็มที่โดยการห่างจากสมาร์ทโฟน โดยการใช้เวลาอยู่กับครอบครัวหรือเพื่อนๆ ทำเรื่องที่ชอบโดยไม่ต้องเข้าไปเช็คโซเชียลมีเดีย เป็นต้น

และหากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ หรือกึ่งหลับกึ่งตื่น มีวิธีแก้ไขง่ายๆ คือ อย่าเล่นสมาร์ทโฟนหรือแล็ปท็อปก่อนนอนสองชั่วโมง เพราะความสว่างจากหน้าจอสมาร์ทโฟนหรือแล็ปท็อปจะทำให้สมองเกิดความสับสน คิดว่ายังเป็นช่วงเวลากลางวันอยู่

3. หาวิธีให้พนักงานผ่อนคลาย

ผลข้างเคียงจากยุคปัจจุบันที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่งคือ เราไม่ค่อยมีเวลาได้ผ่อนคลายจากความวุ่นวายที่ต้องเจอในแต่ละวัน คุณต้องเร่งรีบตั้งแต่เช้าเพื่อไปเข้างานให้ทัน ต้องรีบทั้งวัน เพราะต้องส่งงานให้ทันตามเดดไลน์ หรือแม้แต่เวลากลับบ้าน

ดังนั้นลองใช้ชีวิตให้ช้าลงหน่อย คุณอาจหาวิธีการดีๆ ที่จะทำให้พนักงานของคุณได้ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น ให้พวกเขาสามารถเข้างานสายได้สักวันในหนึ่งอาทิตย์ หรือเลิกงานก่อนเวลาสักชั่วโมง เพื่อให้พวกเขาได้ใช้เวลาเหล่านี้กับครอบครัว และเพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งใช้เวลากับตัวเองมากขึ้น

ให้เวลากับตัวเองอย่างน้อย 5 นาที โดยที่ไม่คิดถึงงานและหน้าที่ของคุณ เดินเล่น พักสมองของคุณ อยู่กับความเงียยบสงบ อย่างนั่งสมาธิ หรือการเล่นโยคะ ก็เป็นทางเลือกที่ดีทีเดียว

4. ทำงานให้น้อยลง

พนักงานหลายคนจากทั่วโลก ไม่เคยใช้วันลาของพวกเขาเลย นี่เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในสังคมการทำงานของหลายๆ ประเทศ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น หรือ อเมริกา ดังนั้นไม่แปลกใจที่ Burnout และความเครียดสะสมจะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคนทำงานทั่วโลก

การทำงานให้น้อยลงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่ยากที่สุดเช่นกัน สำหรับคนที่ทำงานด้วยแพสชันการใส่ใจกับงานให้น้อยลงแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แต่สำหรับผู้ที่อยู่ในสภาวะ Burnout เขาหมดกำลังใจที่จะทำงานที่เขารัก ไม่มีความกระตือรือร้นหรือแรงจูงใจในการทำงาน ความเหนื่อยล้าทางใจสามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาได้อย่างมาก

ดังนั้นการหยุดพักผ่อน จึงจำเป็นสำหรับพวกเขาเพื่อให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเดิม

12 คำถาม ไว้ถามพนักงานว่าหมดไฟหรือยัง ?

  1. คุณเริ่มสงสัยถึงคุณค่าของงานของคุณหรือไม่
  2. คุณรู้สึกเหนื่อยอ่อนที่จะไปทำงาน และมีปัญหาในการเริ่มต้นทำงานใช่หรือไม่
  3. คุณรู้สึกห่างเหินจากงานและเพื่อนร่วมงานด้วยหรือไม่
  4. คุณขาดความอดทนกับเพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือคนที่คุณทำงานด้วยหรือไม่
  5. คุณขาดแรงขับเคลื่อนในการทำงานของคุณให้ดีหรือไม่
  6. คุณลำบากที่จะจดจ่ออยู่กับงานของคุณหรือไม่
  7. คุณไม่พอใจกับสิ่งที่คุณได้ทำสำเร็จใช่หรือไม่
  8. คุณรู้สึกผิดหวังกับงานของคุณหรือไม่
  9. คุณสงสัยในทักษะและความสามารถของตนเองหรือไม่
  10. คุณใช้อาหาร ยา หรือแอลกอฮอล์เพื่อให้รู้สึกดีขึ้นหรือลดความรู้สึกของคุณหรือไม่
  11. นิสัยการนอนหลับและความอยากอาหารของคุณมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
  12. คุณมีอาการปวดหัว ปวดท้อง ปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ หรืออาการทางกายอื่นๆ ที่ไม่ทราบสาเหตุหรือไม่

หากตอบ “ใช่” เกิน 2 ข้อขึ้นไป แสดงว่าคุณมีแนวโน้มเสี่ยงต่ออาการหมดไฟ

Ref: mayoclinic.org

สรุป

การดำเนินชีวิตด้วยความกดดัน ทำให้ผู้คนตกอยู่ภายใต้ความเครียดอย่างมาก จนทำให้เหนื่อยล้า หมดแรงใจในการทำงานจน Burnout ไปในที่สุด และความเครียดจากการทำงานมากๆ นอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานของเราโดยตรงแล้ว ยังส่งผลให้ป่วยทางกายภาพและส่งผลเสียต่อจิตใจได้อย่างมาก

ถึงแม้ว่าต้องใช้เวลานานในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น แต่ถ้าคุณสามารถเข้าใจปรับตัว และปรับเปลี่ยนความคิด สร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตได้ คุณก็สามารถเอาชนะมันได้อย่างแน่นอน

อย่าลืมว่าควรแบ่งเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตให้ชัดเจน ออกมาจากโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยผู้คน หันมาให้ความสนใจสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวคุณ อย่าลืมที่จะหยุดพัก ผ่อนคลาย ให้เวลากับตัวเอง ทำกิจกรรมที่สนใจ ชาร์ตพลังให้ตัวเอง สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้คุณมีความสุขกับงานของคุณได้มากขึ้นครับ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง