Search
Close this search box.

COVID Aftermath EP.2: Peninsula ถอดบทเรียน HR ทางรอดแบบคนรอดตาย ที่ไม่กลายเป็นซอมบี้

HIGHLIGHT

  • ครบรอบ 24 เดือนที่มนุษยชาติได้ดำรงชีวิตร่วมกับไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังเท้าในทุกเรื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้กลายเป็นตัวชี้วัดเลยว่า คนที่จะรอด จะเป็นแบบไหน คนที่ไม่รอด เขาตายเพราะอะไร และที่สำคัญจะมีกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนตายทั้งเป็น หรือซอมบี้
  • คนที่รอดส่วนใหญ่จะมีทักษะหรือสกิลติดตัวที่หลากหลายคล้ายจะเป็นเป็ด ในรูปแบบของ M-Learning ที่เริ่มรู้พื้นฐานหลายเรื่อง มีทักษะเชิงลึกมากกว่า 1 ทาง และสามารถต่อยอดได้อีกในอนาคต รวมไปถึงการบริหารจัดการการเงินได้เป๊ะ
  • ส่วน HR ที่รอดจะเป็น Business Partner เพื่อนคู่คิดของบริษัท เป็น Specialist ที่มีทักษะเฉพาะทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น หรือเป็น Techonologist ที่จะเป็นกำลังหลักขององค์กรได้เลย

ถ้านั่งนับกันจริง ๆ แล้ว นี่ก็ครบรอบ 24 เดือนที่มนุษยชาติได้ดำรงชีวิตร่วมกับไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 นับย้อนไปวันแรก ๆ ที่เราไม่รู้อะไรเลยสักอย่างเกี่ยวกับเชื้อโรคชนิดนี้ มาวันนี้ เราก็ได้รู้จักมันมากขึ้น มีวิธีการป้องกัน วัคซีน การรักษาตามอาการพื้นฐาน และเราก็เข้าใจว่าเราอาจจะต้องยอมรับการมีอยู่ของไวรัสนี้ที่กำลังจะกลายเป็นเชื้อโรคประจำเมือง และอยู่ร่วมกับมัน

ฟังดูก็เหมือนจะจบแบบเกือบฟีลกู๊ดแล้วแหละ ถ้าไม่นับรวมที่ว่า ตัวโควิดเองก็กลายพันธุ์เก่ง ออกภาคใหม่บ่อยกว่าหอแต๋วแตก ซึ่งแน่นอนว่าตัวมันเองก็พยามยามที่จะมีชีวิตรอดเช่นเดียวกัน

ผมขอเกริ่นข้อมูลที่เป็นคอนเซปต์ที่เกี่ยวกับชีววิทยาที่ฟังดูอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับงานสายบริหารบุคคลไว้เล็กน้อยนะครับ แต่เชื่อเถอะ มันมีเอาไปต่อยอด และใช้อธิบายอะไรหลาย ๆ อย่างในชีวิตได้เยอะเชียวเลยคุณ 

COVID Aftermath EP.2: Peninsula ถอดบทเรียน HR ทางรอดแบบคนรอดตาย ที่ไม่กลายเป็นซอมบี้

ตาม Basic Instinct ของเซลล์สิ่งมีชีวิตเนี่ย หลัก ๆ แล้วมันจะมีแอ็คชันอยู่แค่ 2 อย่างเท่านั้นคือ Reproduction (การสืบพันธุ์) และ Immortalization (การเป็นอมตะ) ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลจะขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และปัจจัยภายนอกเป็นตัวกำหนดให้เซลล์เลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง 

ถ้าอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ อากาศดี น้ำไม่เป็นพิษ ไม่มีศัตรูรบกวน พักผ่อนได้สนิท สุขภาพดี เซลล์นั้นก็จะทำการ “ขยายพันธุ์” ตามรูปแบบวิธีของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น แต่ในทางกลับกัน หากแวดล้อมเป็นพิษ มีศัตรูรายล้อม กันดารอาหาร มลภาวะสูง สิ่งมีชีวิตก็จะยุติการสืบพันธุ์ชั่วคราว และหันมาปรับตัว ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองนั้น “เป็นอมตะ” 

ยกตัวอย่างง่าย ๆ ก็คือ เซลล์มะเร็ง โดยเซลล์มะเร็งคือเซลล์ที่เกิดการกลายพันธุ์ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต พอมันเกิดแล้ว ร่างกายเห็นก็รู้ว่า ยัยนี่ไม่เข้าพวก ไม่ใช่พวกฉัน! ร่างกายก็พยายามจะกำจัดเซลล์มะเร็งออกไปในฐานะผู้รุกราน ทีนี้มะเร็งก็คือเซลล์ มันก็ไม่ยอมเหมือนกัน มันก็พยายามที่จะทำลายเซลล์ปกติโดยการทำให้เซลล์ปกติในร่างกายกายเป็นพวกมัน เพื่อแย่งชิงพื้นที่ และเพื่อให้พวกมันเองมีชีวิตรอด (แต่มันไม่รู้หรอกนะว่าที่ทำอยู่ จะทำให้อวัยวะในร่างกายหรือ Host เนี่ย ล้มเหลวและเสียชีวิต ซึ่งเท่ากับว่าตัวมันก็จะไม่รอดเหมือนกัน) แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือ ทุก ๆ เซลล์พยายามที่จะเป็นอมตะ

นี่คือคำอธิบายที่ใช้บอกว่า “ไวรัส” ก็กำลังทำแบบเดียวกันกับ “มนุษย์” Everybody just makes a living. 

COVID Aftermath EP.2: Peninsula ถอดบทเรียน HR ทางรอดแบบคนรอดตาย ที่ไม่กลายเป็นซอมบี้

เอาล่ะ เล่าเรื่องชีววิทยาเยอะเกินไปเดี๋ยวบางคนจะงงว่า เอ๊ะ นี่มันหนังสือไบโอ ม.4 รึเปล่า (หัวเราะ) มาเข้าเรื่องกันดีกว่า 

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแบบที่เรียกว่าหน้ามือเป็นหลังเท้าในทุกเรื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ กลายเป็นตัวชี้วัดเลยว่า คนที่จะรอด จะเป็นแบบไหน คนที่ไม่รอด เขาตายเพราะอะไร และที่สำคัญจะมีกลุ่มหนึ่งกลายเป็นคนตายทั้งเป็น หรือซอมบี้

ตามภาพยนตร์ Peninsula (2020) โดยในหนังเรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ 4 ปี ให้หลังจาก Train to Busan คนหายไปเกินครึ่ง บางส่วนก็ตายไปเลย บางส่วนก็กลายเป็นซอมบี้ บางคนก็อยู่รอดปลอดภัยมาได้ 4-5 ปี เพราะปรับตัวทัน เรียนรู้การอยู่รอดในสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ ก็คงไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ตอนนี้เราอยู่กับโควิดมา 2 ปีแล้ว ไหน ลองสำรวจตัวเองดูรึยังว่า เราเห็นตัวเองเป็นไปยังไงกันบ้าง

ในเชิงของแรงงานและบทบาทหน้าที่ในการทำงานก็เช่นกัน จะมีแรงงานบางกลุ่มเป็นผู้รอดชีวิต บางกลุ่มก็ร่วงไป และบางกลุ่มก็กลายเป็นซอมบี้ ที่เหมือนกับจะเป็นผู้รอดชีวิต เดินได้แต่ก็นับถอยหลังจนถึงจุดสู่ขิตอยู่ดี

คนที่รอด รอดได้ไง? และคนที่ตาย ตายแบบไหน?

COVID Aftermath EP.2: Peninsula ถอดบทเรียน HR ทางรอดแบบคนรอดตาย ที่ไม่กลายเป็นซอมบี้

ถ้าเอาตามท้องเรื่องของหนัง คาแรคเตอร์ที่มักจะรอดจากพิษภัยต่าง ๆ ส่วนใหญ่คนพวกนี้จะมี “สกิลติดตัว” หรือ “ทักษะ” อะไรบางอย่างอยู่เสมอ ถ้าเรากลับมามองในชีวิตจริง คนที่ยังอยู่รอดในสภาวะที่การจ้างงานมีความผันผวนสูงมากขนาดนี้ก็เช่นกัน ซึ่งถ้านั่งวิเคราะห์กันจริง ๆ แล้ว จะพบว่าแรงงานที่ยังคงถูกจ้างงาน หรือเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานอยู่ หรือยังคงรอดจากการถูกโละออก หรือยังคงสภาพอยู่ดีมีสุข เอาตัวรอดได้ด้วยตัวเองนั้น จะเป็นคนมีลักษณะดังนี้

1. มีทักษะ หรือสกิลติดตัวที่หลากหลาย คล้ายจะเป็นเป็ด

เคยได้ยินคนที่ถูกเรียกว่า “เป็ด” ไหมครับ คือเขาเทียบคนที่ทำอะไรได้หลายอย่าง เกือบจะฟังก์ชันได้หมดทุกอย่าง แต่อาจจะไม่ได้ดีเลิศ เป็นสกิลหลัก เอาไปงัดไปสู้กับใครคนอื่นได้ ก็เหมือนกับเป็ดที่เดินได้ แต่ก็ไม่คล่องเท่ากับไก่ บินได้แต่ก็ไมได้สูงเหมือนกับนก ว่ายน้ำได้แต่ก็ไม่ได้ไวเหมือนกับปลา ก็คือไม่ได้โดดเด่นเป็นที่หนึ่งมงลงในเรื่องไหน ๆ ไป 

ในสมัยก่อนหน้านี้ คนที่มีความสามารถเฉพาะทางแบบลึก ๆ ไปเลยและเข้าใจอะไรบางอย่างแบบผิวเผินอาจจะเป็นคนที่ประสบความสำเร็จหรือเอาตัวรอดได้ แต่มันอาจจะใช่น้อยลงสำหรับยุคนี้ เพราะถ้าการเรียนรู้ในรูปแบบของ T- Learning ที่รู้อะไรลึก ๆ เพียงแค่อย่างเดียวนั้น อาจจะไม่เพียงพอในการหนีซอมบี้ที่วิ่งเร็วเหมือน ยูเซ็น โบลท์ อีกต่อไป 

ทักษะการเรียนรู้หรือสกิลของคนในตอนนี้นั้นน่าจะเป็นในรูปแบบของ M-Learning ที่เริ่มรู้พื้นฐานหลายเรื่อง มีทักษะเชิงลึกมากกว่า 1 ทาง และสามารถต่อยอดได้อีกในอนาคตผ่านสกิลที่เรียกว่า Learn to Learn หรือ Ability to Learn 

ซึ่งคนที่เป็นเป็ดมาก่อนนั้น มีพื้นฐานเบื้องต้นในหลาย ๆ ทักษะอยู่แล้ว ดังนั้นอาศัยสกิลที่กล่าวมาเพิ่มเติม ก็สามารถเปลี่ยนเป็ดให้เป็น Adaptive Talent ได้แน่นอน

2. บริหารจัดการการเงินได้เป๊ะ

คำว่าบริหารจัดการเงินได้ดีนั้น ไม่ได้หมายถึงว่า การเก็บออมเก่งอีกต่อไป ถ้าได้ฟังกูรูทางการเงินที่มีความโลดโผนอยู่ในวงการการเงิน ต่างก็จะบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ออมเงินอย่างเดียวไม่พออีกต่อไป ในสภาวะสังคม สวัสดิการและปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทยที่ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เรานั้นเกษียณอย่างมีความสุขและมั่นคง ทำให้มนุษย์ทุกคนนั้นต้องมีเงินสำรองเอาไว้เลี้ยงตัวยามชรา และการออมเงินนั้นดอกเบี้ยออมทรัพย์ ก็เรียกได้ว่าโตช้าเป็นทุเรียนป่าละอูพึ่งเพาะต้นกล้า โตไม่ทันดัชนีเงินเฟ้อด้วยซ้ำ ดังนั้นการให้เงินออมของเรานั้นไปทำเงินต่อจึงเป็นเรื่องสำคัญ 

คนที่บริหารการเงินได้ดีนั้นก็หมายถึง ความมีวินัยในการจัดสรรเงินเพื่อการนำไปต่อยอดในอนาคต เผื่อมีปัญหาเรื่องตกงานจะได้ไม่เครียดมาก 

อนาคตมาถึงแล้วครับ จากข้อมูลสถิติแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสำนักงานสถิติแห่งชาติ บอกว่า อัตราการว่างงานของคนไทยตอนนี้เกือบ 4 แสนคน และจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยอีก 2.25% ยังไม่ต้องพูดถึงภาวะเลิกจ้างรายเดือนอีก โอเคแหละ ไม่มีงานทำก็ไม่มีงานทำ ว่างงานมาผู้ใช้แรงงานในระบบประกันสังคมก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยา ได้กี่พันนะ? น่าจะพอแหละ ถ้าไม่นับสินค้าทางการเกษตรที่ราคาพุ่งขึ้นจากภาวะน้ำท่วม หรือน้ำมันราคาผันผวน รถไฟฟ้า BTS เอาก็เอาตั๋วรายเดือนออก ยังไม่พูดถึงคอนโดที่ผ่อน รถที่ขับ ไอโฟนที่ใช้ 0% 10 เดือนกันเก่ง ถ้าเรายังไม่มีทักษะบริหารจัดการเงินได้ดี ก็มีสิทธิ์ตุยเช่นเดียวกัน 

HR ที่รอด ทรงไหนถึงรอด?

COVID Aftermath EP.2: Peninsula ถอดบทเรียน HR ทางรอดแบบคนรอดตาย ที่ไม่กลายเป็นซอมบี้

ถ้าเรามาเจาะลงลึกไปที่ว่า แล้ว HR ที่รอด ทรงไหนถึงรอด และที่ล้มตึงไปเนี่ย โดนกัดที่ฉากไหน 

แน่นอนว่าองค์กรทุกที่เนี่ยได้รับผลกระทบจากโควิดกันถ้วนหน้าอยู่แล้ว ก็อาจจะมีว่าใครโดนหนัก ใครโดนเบา สภาพจะเละมาก เละน้อย ก็ขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่มีความเกี่ยวโยงกับเศรษฐกิจในแต่ละแง่กันไป ดีหน่อย ก็มีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ เครื่องมือแพทย์ เทคโนโลยีทางการแพทย์และสาธารณะสุข โรงพยาบาลและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นธุรกิจที่ได้รับผลเชิงบวกโดยตรงไป แต่ถ้าหากเราเป็น HR ที่อยู่ในองค์กรที่ไม่ได้รับผลประโยชน์เชิงบวกโดยตรงหรือโดยอ้อมล่ะ ถ้าเราอยู่ในสถานประกอบการธุรกิจบันเทิง การท่องเที่ยวและโรงแรม ร้านอาหาร การบริการ ภาคการผลิตบางกลุ่มที่ได้รับบอมบ์เต็ม ๆ จากเวฟไหนก็ตามแต่ ลองกลับมาดูตัวเองสิว่า ตอนนี้เรายังได้นั่งตำแหน่งเดิมที่เรานั่งในที่เดิม หรือโดนโยกย้ายตำแหน่งไปทำอย่างอื่น หรือตอนนี้โบกมือบ๊ายบายจากบริษัทมาแล้ว 

ต้องบอกก่อนเลยว่า ในสภาวะวิกฤตเช่นโควิดแบบนี้ ในองค์กรทุกองค์กรมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้อง เลือกเก็บบุคลากรในตำแหน่งที่สร้างรายได้ ให้กับบริษัท (ก็ยังต้องใช้เงินอยู่ ถ้าไม่มีรายได้ ก็บ๊ายบายทั้งโขยงเลยนะ) ไว้เป็นลำดับแรก ๆ ต่อมากลุ่มตำแหน่งที่จะยังอยู่รอดปลอดภัยนั้นก็คือ กลุ่มที่สามารถลดต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายขององค์กร ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนในกลุ่มนี้จะถูกเก็บไว้ทั้งหมด และคนที่อยู่นอกกลุ่มนี้ทุกคนจะต้องลากกระเป๋าโบกมือลาออกจากบ้านเอเอฟไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยและข้อกำหนดของแต่ละองค์กรนั้น ๆ

ที่นี้ถามว่า “อ้าวพี่ แล้ว HR เนี่ย มันคือกลุ่มงานไม่หาเงิน และจะประหยัดเงินให้กับบริษัทได้ไง ยืนปากเหวชัวร์ ๆ แบบนี้” พี่ก็ตอบเลยว่า “ไม่จริงครับ” ถ้าหาก HR นั้นรู้ทันไว ปรับตัวเก่ง วางแผนเผื่อองค์กรเห็นประโยชน์แน่นอน 

1. HR ที่ทำอยู่นั้น เป็น HR สายบริหาร จัดการให้จบ ๆ หรือเป็น Business Partner

อ่ะ เจออีกละ Business Partner แปลอีกรอบอธิบายไว ๆ ก็คือ ทีมบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้ทำหน้าที่เป็น “คู่คิดทางธุรกิจ” ให้กับองค์กรอยู่รึเปล่า ไม่ว่าจะเป็นการร่วมดีไซน์อัตรากำลัง Headcount ที่สมเหตุสมผลตาม Workload ของแต่ละแผนกไหม ได้มีแนะนำหรือเสนอแนะในการมี Job Requirement เพิ่มเติมจาก JD ที่มีอยู่ทั่วไป เพื่อให้ได้คนที่ตรงใจจริง ๆ มากขึ้นรึเปล่า วางแผนงานหรือทำอะไรสักอย่างที่ทำให้คนในองค์กรนั้น มีประสิทธิภาพในการทำงานของตัวเองดีขึ้นด้วยไหม มีวิธีการที่ทำให้คนเก่งอยู่กับองค์กรนานขึ้น คัดสรรผู้สมัครที่เข้มข้น ตรงตามที่องค์กร และแต่ละแผนกมองหารึเปล่า โครงสร้างเงินเดือนสะท้อนความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน เอางี้นะ ถามคำถามเดียว 

ARPE ขององค์กรที่คุณทำอยู่มีค่าเท่ากับเท่าไหร่” ถ้ารู้ก็คือเยี่ยม ได้ไปต่อ มาถูกทาง ถ้าไม่รู้ก็แสดงว่าน่าจะต้องทำอีกหลายอย่างเลย เพื่อทำให้ HR เป็น Business Partner 

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: ขอวิธีการคำนวน Average Revenue Per Employee (ARPE) และวิธีการใช้ cookingeast

เนื่องจากต้องเอาไปใช้ในการทำ Workforce planning และการวางแผนการรับพนักงานเพิ่ม แต่เมื่ออ้างอิงจากสภาวะเศรษฐกิจของช่วงนี้ก็เลยต้องมาคำนวนเรื่องความคุ้มค่ามากหน่อย ก็เลยพยายามหา recruiting metrics ที่จะมาช่วยวัดประสิทธิภาพในการจ้างพนักงานใหม่ๆ มาพบว่าค่า ARPE ช่วยที่จะ monitor เรื่องนี้ได้ เลยอยากให้ช่วยแชร์หน่อยครับว่ามันมีวิธีคิดอย่างไร และเอาไปใช้ได้ผลอย่างไรบ้าง

A: Average Revenue Per Employee (ARPE) เป็นการคำนวณหา “รายได้ของบริษัทต่อพนักงานหนึ่งคน” 

Metric ตัวนี้จะใช้ชี้วัดว่าประสิทธิภาพในการทำเงินขององค์กรของคุณ สอดคล้องกันกับจำนวนพนักงานอย่างไร และเป็นการกำหนด “มูลค่าต่อพนักงาน” ขององค์กรของคุณได้อีกด้วย โดยหลักการก็คือ,,,

 

2. HR ที่ทำอยู่นั้นเป็น Generalist หรือว่า Specialist หรือว่าเป็น Technologist กันนะ

เห็นคำข้างบนนั้นมันช่างละม้ายคล้ายชื่อตำแหน่งเก๋ ๆ ที่อยู่บนประกาศหางานต่าง ๆเลยใช่ไหมครับ แต่เอาเข้าจริงแล้ว ในความหมายของผมก็คือ วิธีคิดเพื่อการทำงานด้วย ถ้าหากเป็น Generalist ก็หมายถึง HR ที่ทำงานทั่วไป ทำงานเอกสาร ติดต่อประสานงานกับหน่วยงานราชการข้างนอก ไปประกันสังคม รอรับอัพเดทจากแผนกต่าง ๆ นั่งรอที่โต๊ะว่า หัวหน้างานคนไหนจะมาฟ้องเรื่องลูกน้องทำงานไม่ดี ทำ Payroll วันเดิม ๆ ของทุก ๆ เดือน มีประกาศ มีอะไรก็ใช้แบบนั้น ก็เรียกว่าทำงานเอกสาร ปกติทั่วไปนั่นแหละ (แบบนี้เขาเรียกเช้าชามเย็นชามนะ) แน่นอนงานแบบนี้ หาคนทำแทนได้ง่ายมาก หรืออาจจะเป็นเครื่องมืออื่นมาช่วยทำก็ได้ Generalist เตรียมตุ้บแน่ 

ต่อมาถ้ามงลงหน่อย ก็เป็น Specialist มีทักษะเฉพาะทางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลมากขึ้น การคัดเลือกผู้สมัครงาน การสัมภาษณ์งาน การวางโครงสร้างองค์กรทั่วไป มีการเก็บข้อมูลพนักงานบ้าง วิเคราะห์ข้อมูลพนักงานบ้าง เสนอแนะ แก้ไขปรับปรุงในส่วนงานที่เกี่ยวข้องบ้าง เริ่ม develope เทรนนิ่ง หรือเป็นเทรนเอง เหล่านี้ก็ดูว่าจะมีความฉกาจฉกรรจ์เฉพาะทางมาในด้านสายงานบริหารทรัพยากรบุคคลขึ้นมาหน่อย 

แต่หลัก ๆ ทั้งหมดทั้งมวลแล้ว เป็น Technologist จะทำให้ HR กลายเป็นทีมที่เป็นกำลังหลักขององค์กรได้เลย ไม่ว่าจะเป็น 

  • การนำข้อมูลพนักงานมาจัดทำ Metric เพื่อมาวิเคราะห์เรื่องของพนักงานในแง่มุมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นงานภายในอย่าง HR เอง เช่น Time to Recruit / Time to hire หรือ Cost per head แล้วคอยอัพเดทอยู่สม่ำเสมอ หรือจะเป็น Metric เพื่องานนอก HR ที่แผนกนั้นๆต้องทราบ โดยที่ไม่ลืมรายงานให้กับหัวหน้าแผนก หรือผู้รับผิดชอบในแผนกนั้น ๆ ทราบ ด้วยวิธีการที่เข้าใจง่าย ไม่เสียเวลา โดยการใช้เครื่องมือต่างๆที่ให้ทุกแผนก เข้าถึงได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ต้องเรียกประชุมวุ่นวาย
  • หรือการที่เราคอยอัพเดทสถานภาพต่างๆของพนักงานให้เป็นปัจจุบันตลอดเวลา ใครจะแต่งงาน ใครมีลูก ใครเป็นอะไรยังไง เพื่อคอยปรับนโยบายเรื่องสวัสดิการให้เหมาะสมกับกลุ่มพนักงานในอนาคต เรื่องแบบนี้พนักงานไม่เดินมาบอกนะ HR ต้องคอยถามก็เหนื่อยใช่มั้ย เราก็เอาเครื่องมือหรือเทคโนโลยีหรือแอพ หรือโปรแกรมอะไรก็ได้ที่เหมาะสม ใช้ง่าย เปิดเป็นช่องทางให้พนักงานคอยอัพเดทอยู่เสมอ ๆ 
  • หรือการนำเอาช่องทาง Social Media ที่ทุกคนเข้าถึงได้มาใช้เป็นตัวกลาง ในการติดต่อสื่อสารภายใน (ที่ไม่ใช่แค่กรุ๊ปไลน์ไว้เม้าท์กัน) หรือช่องทางการสื่อสารภายนอกเพื่อสร้าง Employer Branding ให้การเปิดรับสมัครงานครั้งหน้า HR เองนั้นแหละจะได้ประโยชน์ก่อนใคร จากการที่มีผู้สมัครมาให้เราเลือกได้มากขึ้น โอกาสได้คนดี ๆ มากขึ้น (ซึ่งไม่ใช่แค่ Facebook)
  • หรือการใช้ Tools ที่มีเกลื่อนกลาดไปหมดมาปรับใช้ในการทำงานร่วมกันไม่ว่าจะเป็น Daily Operation หรือ Project ต่าง ๆ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรอะไรก็ไม่รู้ไปวัน ๆ แถมยังตาม Track progress ต่าง ๆ ของแต่ละคนได้อีกด้วย
  • การเก็บเอกสาร รวบรวมเอกสารที่ไม่จำเป็นจะต้องเก็บแบบ Hard Copy ไว้ ก็ทำให้เป็น Soft file และจัดเก็บเป็นระบบหมวดหมู่ขึ้น Cloud ไว้ จะเรียกใช้ก็ง่าย จะให้ใครดูก็คุมได้ ไม่ต้องมานั่งล็อคเก๊ะ ซื้อตู้ใหม่ หาห้องใส่เอกสาร เปลืองทุกมิติเลยนะแม่

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: การจัดเก็บเอกสารด้านงาน HR แบบไฟล์ PDF

รบกวนสอบถามเกี่ยวกับการจัดเก็บเอกสารงานด้านบุคคล เป็น PDF ไฟล์ ทดแทนการเก็บเป็นกระดาษใส่แฟ้ม เก็บเข้าตู้เอกสารครับ
1. สามารถจัดเก็บเอกสารในรูปแบบ PDF ใน Folder HR ได้หรือไม่ครับ
2. เอกสารรูแบบไหนบ้างที่สามารถเก็บได้ และไม่สามารถเก็บได้ เช่น ใบสมัคร เอกสารส่วนบุคคลของผู้สมัคร เอกสารประวัติพนักงานบริษัท เป็นต้น
ในด้านของกฎหมาย และ ISO ต่างๆ เรื่องงานเอกสาร รบกวนขอความรู้เพื่อใช้ในการทำงานด้วยครับ ขอบคุณครับ

A: การจัดเก็บข้อมูลเป็นระบบดิจิตอลไม่ว่าจะเป็น รูปภาพ pdf หรือในรูปแบบใด สามารถจัดเก็บได้ครับ

แต่มีสิ่งสำคัญคือการควบคุมข้อมูลให้ปลอดภัย เช่น สิทธิ์การเข้าถึง สิทธิ์การใช้งาน ระยะเวลาการจัดเก็บ รวมถึงการป้องกันความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งต้องสอดคล้องกับ pdpa ที่จะบังคับใช้กลางปี 65 และ พรบ.คอมพิวเตอร์,,,

 

COVID Aftermath EP.1: Train to Busan บางครั้งซอมบี้ก็มาในรูปแบบอื่น ที่แสบและไวมากกว่าผีดิบวิ่งไล่กัดคอ

เหมือนว่า Peninsula คือเรื่องเล่าหลังจาก Train to Busan ผ่านไปแล้ว 5 ปี ที่เรื่องราวจะเป็นการเล่าถึงการมีชีวิตอีกแบบที่เปลี่ยนไป เพราะซอมบี้อาละวาด ก็อาจจะเทียบได้กับตอนนี้ ที่เราผ่านโควิดกันมาแล้ว 2 ปี ทุกคนต่างก็หนีเอาตัวรอดและมีชีวิตที่เปลี่ยนไปเช่นกัน (ส่วนโควิดนั้น ส่วนตัวก็คิดว่าน่าจะยังไม่จบ ถ้าทุกอย่างยังเป็นแบบนี้) ก็ขอแสดงความยินดีกับทุกท่านที่ยังอยู่รอดปลอดภัยมาจนตอนนี้ ที่นั่งอ่านบทความนี้จนจบ 

ส่วนใครก็ตามที่ตุ้บมาแล้ว ผมก็ยังเชื่อว่า เรายังสามารถเริ่มต้นใหม่ ปรับตัวใหม่ เพื่อสร้างโอกาสให้เราได้อยู่รอดต่อไป เหมือนเซลล์สิ่งมีชีวิตนั้นแหละครับ ส่วนคนที่เป็นซอมบี้ หากคุณรู้ตัวแล้วว่ากำลังทำอะไรแบบเดิม ๆ และหวังว่าจะมีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในวันหนึ่ง บอกเลยว่า No จ๊ะ ไม่มีวันนั้น! เพราะคุณไม่สามารถคาดหวังผลลัพธ์ใหม่ ๆ จากการทำอะไรแบบเดิมได้ ฉันใดก็ฉันนั้น คุณไม่สามารถใช้ชีวิต หรือคิดแบบเดิม ๆ และมีชีวิตรอดได้ ในสภาวะที่โลกข้างนอกนั้นเปลี่ยนไปแทบจะทุกไตรมาสแบบนี้ 

แล้วพบกันใน EP ถัดไปนะครับ สวัสดีครับ

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง