บทบาทใหม่ของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (New Roles of HR in Digital Age)

HIGHLIGHT
  • ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ในยุคดิจิทัลนั้นจะต้องทำงานฝ่ายรุก ตั้งแต่การสร้างกลยุทธ์ในการสรรหาและบริหารทรัพยากรมนุษย์ ไปจนถึงการสร้างสวัสดิการที่ดึงดูดใจ
  • ปัจจัยที่เข้ามามีผลอย่างมากในยุคดิจิทัลก็คือเรื่องของเทคโนโลยี ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ก็จำเป็นจะต้องอัพเดทและนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้กับการทำงานแผนกของตนให้มีประสิทธิภาพด้วย
  • หนึ่งในหน้าที่สำคัญของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ก็คือการสร้างความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับบุคลากรในองค์กร
  • บทบาทสำคัญอีกอย่างของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัลนี้ก็คือการส่งเสริมให้พนักงานได้เกิดการพัฒนาศักยภาพทั้งในเรื่องของทักษะการทำงานและทักษะในด้านอื่นๆ

HR in Digital Age

เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัล (Digital Age) มากขึ้นเรื่อยๆ ประเด็นหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นตามก็คือเรื่องของการปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) นั่นเอง แล้วอย่างที่เรารู้กันดีแล้วว่าหนึ่งในฝ่ายที่ต้องปรับตัวมากที่สุดหรือเปลี่ยนโฉมหน้าแผนกตลอดจนปรับกลยุทธ์แบบพลิกหน้ามือเป็นหลังมือใหม่หมดก็คือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) นั่นเอง แต่หากมองกันจริงๆ แล้วแทบทุกอย่างกลับกลายเป็นข้อดีของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ทั้งต่อการทำงานของฝ่าย HR เอง ไปจนถึงตัวพนักงานในองค์กร ตลอดจนตัวองค์กรเองที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลนั้นทำให้ฝายทรัพยากรมนุษย์ (HR) มีบทบาทที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างไรกันบ้างมาลองดูกัน

บทบาทใหม่ของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัล (New Roles of HR in Digital Age)

การปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) นั้นทำให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) ปรับเปลี่ยนหลากหลายอย่าง ตั้งแต่โครงสร้างตำแหน่งในแผนก, กระบวนการทำงานในเชิงรุก, สวัสดิการสร้างสรรค์, การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้บริหารสายงานบุคคล, ตลอดจนการสร้างกลยุทธ์ตั้งแต่ภายในองค์กรไปจนถึงการสรรหาคนภายนอกที่มีฝีมือเข้ามาร่วมงาน นั่นทำให้บทบาทของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงไปมากทีเดียว

HR ที่มีข้อสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q. จริงๆ แล้วเรามี HR กันไปเพื่ออะไร แล้วอนาคตของ HR จะเป็นอย่างไร

อยากจะมาชวนกันคุย ชวนแลกเปลี่ยนกันว่าทุกวันนี้บทบาทของ HR คืออะไร การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ต้องบอกว่ามันไม่เคยหยุดเลย มีแต่จะเข้ามาช่วยงาน HR ได้มากขึ้นเรื่อยๆ อะไรที่เคยต้องใช้คนทำหลายคนก็สามารถประหยัดเวลาและลดคนทำมาให้เหลือเพียงแค่คนเดียวได้ถ้ารู้จักการใช้เครื่องมือที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ คำถามก็คือในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปไวอย่างนี้หรือที่คนในแวดวง HR เรียกกันว่า VUCA era ( ย่อจาก volatility, uncertainty, complexity, and ambiguity) อนาคตของ HR จะเป็นไปอย่างไร เราจะต้องปรับตัวเพื่อเปลี่ยนบทบาทตัวเองไปอย่างไรบ้าง แสดงความเห็นกันได้เต็มที่ไม่มีผิดมีถูกเลยนะคะ

A. งาน HR ผมขออนุญาตแบ่งออกเป็น 2 ส่วนนะครับ
1.HR admin expert ตำแหน่งนี้ก็คือเป็นงานด้านการจัดการงานรูทีนทั้งหมดของงาน hr
2.HR strategic กลุ่มนี้เป็นมันสมอง และมีระบบความคิดใหม่ๆเข้ามาช่วยองค์กรในเชิงของการบริหารคนให้สอดคล้องกับภาระงานที่มีในปัจจุบัน สามารถเลือกคนที่ใช่มาทำงานได้อย่างเหมาะสม และสามารถพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถ รวมถึงการรักษาคนในองค์กรให้เขารู้สึกว่ายังอยากอยู่กับองค์กรนี้ต่อไป  ….

บทบาทในการสร้างความสุขและวิถีชีวิตที่มีคุณภาพให้กับพนักงาน (Making Happily and Quality of life for Employees)

ในยุคนี้สิ่งสำคัญแรกที่บริษัทให้ความสำคัญไม่แพ้การทำงานก็คือการทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้แท้ที่จริงแล้วคือภาระกิจหลักอย่างหนึ่งของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ที่มีมานานแล้ว เพียงแต่ว่าอาจจะเป็นการดูแลสาระทุกข์สุขดิบของพนักงานมากกว่าที่จะพุ่งเป้าไปที่การสร้างความสุขให้กับการทำงานอย่างในยุคปัจจุบัน

การสร้างความสุขให้กับการทำงานนั้นส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้นได้ และส่งเสริมให้การทำงานประสบความสำเร็จได้ดียิ่งขึ้นด้วย และเมื่อพนักงานมีความสุขในการทำงานแล้วการสร้าง Work-Life Balance ให้กับชีวิตก็จะดียิ่งขึ้น ทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้นตามไปด้วย

นโยบายสร้างสุข
  • Google : Google น่าจะเป็นองค์กรแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาสร้างสุขให้กับพนักงานอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นต้นแบบที่ทำให้บริษัทอื่นๆ หันมาทำตามอย่างมากมาย หนึ่งในรูปธรรมที่ชัดเจนที่สุดก็คือการสร้าง Fun Office ที่มีการตกแต่งสถานที่อย่างสวยงามมีชีวิตชีวา และสิ่งที่สร้างการจดจำมากๆ ก็คือการยกเอาสไลด์เดอร์เครื่องเล่นเด็กขนาดใหญ่มาไว้ในออฟฟิศให้พนักงานลื่นลงมาแทนการใช้บันไดทำให้การทำงานสนุกคลายเคลียดขึ้นได้ เป็นสิ่งง่ายๆ ที่ได้ผลทีเดียว ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างนโยบายที่มุ่งการสร้างความสุขให้กับพนักงานของ Google ที่ใส่ใจเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังมาโดยตลอด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.scholarship.in.th/12-great-benefits-for-world-class-companies/

  • Airbnb : อีกหนึ่งองค์กรที่ใส่ใจความสุขและความพึงพอใจของพนักงานอย่างเป็นจริงเป็นจังตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับสถานที่ก็คือ Airbnb นั่นเอง และเมื่อไม่นานมานี้ในปี ค.ศ.2015 ทาง Airbnb ก็ถึงกับเปลี่ยนโครงสร้างตำแหน่งใหม่เพื่อปรับทิศทางในการทำงานด้านทรัพยากรมนุษย์โดยเฉพาะด้วย โดยปรับจากฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) มาเป็นแผนกประสบการณ์พนักงาน (Employee Experience) ที่มุ่งเน้นการสร้างประสบการณ์ให้เกิดความประทับใจในการทำงานและองค์กรเป็นหลัก โดยหัวเรือใหญ่ในสายงานนี้ก็เปลี่ยนเป็น CHRO หรือ Chief Employee Experience Officer แทน ซึ่งเป็นการเน้นการดูแลพนักงานให้เกิดความสุขในการทำงานโดยเฉพาะ และใส่ใจนโยบายเรื่องนี้อย่างเอาจริงเอาจังกันเลยทีเดียว

สร้างสรรค์สวัสดิการใหม่ๆ ที่น่าสนใจและดีต่อพนักงานและองค์กร (Creating Interesting Benefits that good for company and employees)

เรื่องสวัสดิการนั้นถือเป็นหน้าที่และงานสำคัญหลักของสายงานบริหารงานบุคคล (HR) มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในการเป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลยุคใหม่นี้ก็คือการสรรหาตลอดจนสร้างสวัสดิการแปลกใหม่ขึ้นมาให้กับองค์กรเพื่อให้พนักงานได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ที่สุด มีความสุขในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตลอดจนเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดคนนอกให้อยากเข้ามาร่วมงานกับองค์กรด้วย และเป็นประโยชน์ต่อการสรรหาเป็นอย่างมาก ในยุคนี้เราจึงมักจะได้ยินสวัสดิการแปลกๆ ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งทุกอย่างล้วนแล้วแต่เป็นประโยชน์ทั้งต่อพนักงานเองและต่อองค์กรด้วย โดยสวัสดิการที่ดีนั้นจะช่วยส่งเสริมให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้นได้ และทำให้องค์กรมีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นอีกด้วย

สวัสดิการที่เหนือกว่า
  • Netflix : หนึ่งในสวัสดิการของ Netflix ที่โดดเด่นมากก็คือสวัสดิการลาคลอดซึ่งปกติตามมาตรฐานแล้วพนักงานสามารถลาคลอดได้ราว 3 เดือนเท่านั้น แต่ทาง Netflix นั้นอนุญาติให้พนักงานลาคลอดได้เต็มที่ถึง 1 ปี เลยทีเดียว โดยทาง Netflix มองว่าวัยทารกนั้นเป็นวัยสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และอยากให้พ่อแม่ได้อยู่กับลูก เลี้ยงดูจนพอโตที่สามารถช่วยตนเองได้ดีและสามารถไปสถานรับเลี้ยงเด็กได้หากพ่อแม่ต้องมาทำงาน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : https://www.scholarship.in.th/12-great-benefits-for-world-class-companies/

  • Southwest : บริษัทที่ดำเนินธุรกิจการบินอื่นๆ จะมีสวัสดิการบินฟรีให้พนักงานอยู่แล้ว แต่มักจะจำกัดเที่ยวบินเป็นโควต้าสำหรับสวัสดิการของพนักงานแต่ละคนไว้ แต่สำหรับสายการบิน Southwest สร้างความแตกต่างและเป็นจุดดึงดูดโดยการให้สวัสดิการ “บินฟรีไม่จำกัดเที่ยวบิน” ให้กับพนักงานทุกคน ที่สำคัญพนักงานสามารถส่งต่อสิทธิ์นี้ให้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้อีกด้วย

สรรหาองค์ความรู้และคอร์สเรียนใหม่ๆ มาพัฒนาศักยภาพพนักงาน (Fining Knowledge and Classes for Developing Employees)

อีกหนึ่งฟังก์ชั่นสำคัญของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) ก็คืองานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) นั่นเอง ซึ่งฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ที่ดีนั้นต้องหมั่นสรรหาวิธีต่างๆ มาช่วยพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้มีความก้าวหน้าอยู่เสมอๆ ทั้งในส่วนของทักษะในการทำงาน ตลอดจนทักษะอื่นๆ ที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน เช่น ทักษะการเป็นผู้นำ, ทักษะในการบริหาร, ทักษะในการนำเสนอ เป็นต้น และยิ่งไปกว่านั้นในยุคใหม่นี้หลายองค์กรต่างก็ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่ไม่คุ้นเคย ไปจนถึงทักษะทางเทคโนโลยีที่เข้ามาเกี่ยวข้องในการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้พนักงานได้ก้าวทันโลก และยังสามารถพัฒนาทักษะอื่นๆ เพื่อต่อยอดการทำงานอื่นๆ ได้ด้วย รวมถึงสามารถนำไปก่อตั้งธุรกิจตนเองในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้พนักงานมีศักยภาพที่ไม่เฉพาะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นประโยชน์ให้กับพนักงานในระยะยาวได้

การสรรหาการอบรมในอีกรูปแบบที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นก็คือคอร์ส Workshop ต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานอดิเรกหรือการผ่อนคลายนั่นเอง หากดูกันจริงๆ แล้วอาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานสักเท่าไรนัก แต่องค์กรหลายๆ องค์กรกลับส่งเสริมเพื่อสร้างให้พนักงานเกิดความสุขในการใช้ชีวิต มีเวลาพักผ่อนหย่อนใจ ผ่อนคลาย คลายเครียด แล้วมันจะทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นได้ รวมถึงพนักงานก็สามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้เสริมได้อีกด้วย เป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีอีกทางหนึ่ง

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นี้หลายองค์กรอาจมีการจัด Workshop หรือคลาสเรียนกันที่องค์กรเพื่อให้พนักงานเข้าร่วม แต่หลายองค์ในยุคดิจิทัลนี้ก็อาจใช้ระบบ Online Learning ที่ส่งเสริมให้พนักงานสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความชอบและเวลาที่ตนเองสะดวก หรือหลายองค์กรก็อาจมีการผสมผสานกันทั้งแบบมีคลาสอบรมกันที่บริษัทและมีตัวเลือก Online Learning ให้พนักงานไปพร้อมกันด้วย เป็นอีกหนึ่งหน้าที่ของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยุคดิจิทัลนี้ควรให้ความสำคัญอย่างยิ่งเช่นกัน

Online Learning Hub

ปัจจุบันมีแหล่งเรียนรู้ออนไลน์เกิดขึ้นมากมายบนโลกทั้งในส่วนของในไทยเองและระดับสากล สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ที่น่าสนใจได้ที่บทความด้านล่างนี้

เพิ่มมูลค่าทางด้านดิจิทัลตลอดจนส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับพนักงาน (Add Value and Developing Tech Skills for Employees)

หัวใจสำคัญของยุคดิจิทัลก็คือเทคโนโลยีนั่นเอง และนี่คือหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) อย่างมหาศาลในยุคนี้ หลายองค์กรเริ่มนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่การทำงานของมนุษย์เพราะนอกจากจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าแล้วก็ยังมีต้นทุนในการดูแลระยะยาวที่ต่ำกว่าด้วย ในขณะที่หลายองค์กรส่งเสริมให้บุคลากรของตนเองใช้เทคโนโลยีทำงานให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของตน เป็นการให้ทรัพยากรมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีให้ประสานกันมากที่สุด เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีคุณประโยชน์ในด้านที่ต่างกัน

หลายองค์กรจัดอบรมการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ให้กับบุคลากรในองค์กร ตั้งแต่จัดการฝึกทักษะ ไปจนถึงทำ Workshop ด้านเทคโนโลยี รวมถึงการฝึกใช้เทคโนโลยีและโปรแกรมใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานด้วย ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์เองก็ตามก็ควรจะช่วยองค์กรพัฒนาบุคคลากรในด้านเทคโนโลยีให้มากขึ้นเป็นพิเศษ ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีพื้นฐานในการใช้งานคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ทุกวันนี้มีการพัฒนาโปรแกรมต่างๆ ขึ้นมามากมาย ไปจึงถึงเทคโนโลยีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับแต่ละอาชีพและสายงาน

Reskill Trend

หนึ่งในเทรนด์ที่สำคัญของการพัฒนาบุคลากรในยุคนี้ก็คือการ Reskill ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งนั่นก็รวมถึงการนำเอาเทคโนโลยี้เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะวิชาชีพด้วยนั่นเอง สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมของการ Reskill ได้ในบทความด้านล่างนี้

คัดสรรเทคโนโลยีและแอปพลิเคชั่นที่มาช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Selected Efficiency Tech/App for improving HR working)

เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับทุกส่วนในองค์กร ไม่เว้นแม้แต่สายงานบริหารทรัพยากรมนุษย์เองที่ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีเกิดขึ้นมากมายเพื่อมาช่วยเหลืองานด้านนี้โดยเฉพาะ ให้ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่จึงควรต้องอัพเดทเทคโนโลยีอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสายงานของตัวเอง และต้องรู้จักนำเอาเทคโนโลยีนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรและมีประสิทธิภาพกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มากที่สุดอีกด้วย เพราะฝ่ายทรัพยากรบุคคลนั้นก็เปรียบเสมือนกับน้ำมันเครื่องที่ต้องคอยหยอดให้เครื่องจักรทำงานอย่างราบรื่น ไม่สะดุด เพื่อประสิทธิภาพการทำงานที่สูงสุด หากน้ำมันเครื่องไม่มีประสิทธิภาพแน่นอนว่าเครื่องจักรต้องเดินไม่เรียบแน่ๆ การทำงานก็จะลดคุณภาพลง ในอีกทางหนึ่งหากเครื่องจักรไม่มีน้ำมันเครื่อง ก็จะทำงานสะดุดไปจนถึงติดขัดจนทำงานไม่ได้ ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงควรเป็นน้ำมันเครื่องที่ดีให้กับเครื่องจักรในยุคดิจิทัลนี้ด้วย เพื่อให้ทุกคนในองค์กรขับเคลื่อนการทำงานได้ราบรื่นและมีประสิทธิภาพที่สุด

HR Tech

ปัจจุบันมี Tech ที่มีประโยชน์ต่อองค์กรและพนักงานมากมาย ตั้งแต่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ระบบการทำงาน ไปจนถึงช่วยงานแผนกทรัพยากรมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้จากลิงค์ด้านล่างนี้

คัดสรรอุปกรณ์การทำงานที่ทันสมัยและมีคุณภาพสำหรับพนักงาน (Selective Efficiency Modern and Quality Devices for Employees)

องค์กรส่วนใหญ่ให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นคนดูแลเรื่องการจัดสรรอุปกรณ์สำนักงานพื้นฐานให้กับบุคลากรทุกคน สิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลยุคดิจิทัลนี้จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องของการคัดสรรอุปกรณ์การทำงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัย ส่งเสริมการทำงานที่ยอดเยี่ยม ไม่ใช่สักแต่ว่าจะซื้อให้พนักงานมีใช้ หรือประหยัดงบเกินความจำเป็น ซึ่งบางครั้งการที่ซื้ออุปกรณ์ราคาถูก มาตรฐานต่ำ ก็อาจทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพได้ เครื่องเสียบ่อย ซ่อมบ่อย เกิดความหงุดหงิดในการทำงาน ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรละเอียดกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น เช่นเรื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ก็อาจดูความเร็วที่ไม่ช้าจนเกินไป หน่วยความจำที่เยอะ และโปรแกรมที่ไม่ล้าหลัง ทำงานไม่สะดวก ซึ่งตรงส่วนนี้อาจทำงานร่วมกับฝ่าย IT ด้วยสำหรับองค์กรใหญ่ๆ

ในส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ที่ทันสมัยก็มีความจำเป็นเช่นกัน อย่างเช่น แท็ปเล็ต หรือ สมาร์ทโฟนที่มีประสิทธิภาพ บางครั้งก็จำเป็นสำหรับบางตำแหน่งงาน อย่างเช่น ฝ่ายขายหรือการตลาดที่ต้องออกไปพรีเซนต์ลูกค้าตลอดเวลา นอกจากจะทำงานได้สะดวกขึ้นแล้วก็ยังทำให้ช่วยสร้างภาพาลักษณ์องค์กรได้อีกทางหนึ่งด้วยเช่นกัน หรือฝ่ายอื่นๆ ที่ต้องการเทคโนโลยีพิเศษก็ควรมีมาตรฐานและคุณภาพที่ดี ช่วยในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่มีเพื่อแค่เป็นพื้นฐานแต่ไม่ส่งเสริมการทำงาน นอกจากจะทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพแล้วก็ยังสร้างความหงุดหงิดให้กับบุคลากร และสร้างความเกลียดชังให้กับบริษัทรวมถึงฝ่ายบุคคลได้ด้วยเช่นกัน

สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี (Provide Good Working Environmental)

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลเป็นฝ่ายสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นตัวตั้งตัวตีการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี ตั้งแต่การส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีภายในองค์กร ไปจนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นการตกแต่งและการเลือกวัสดุจนถึงผลิตภัณฑ์ที่มาใช้กับสำนักงาน

นอกจากอุปกรณ์สำนักงานต่างๆ ควรส่งเสริมการทำงานที่ดีและมีคุณภาพ ตลอดจนไม่ทำให้สุขภาพย่ำแย่แล้ว การตกแต่งออฟฟิศให้น่าทำงาน สะอาด มีการระบายอากาศทีดี่ ตลอดจนเอื้อให้การทำงานมีความสุข ไม่รู้สึกอึดอัด ก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายบุคคลควรทำหน้าที่ดูแลตรงนี้ด้วย สำหรับองค์กรใหญ่ที่มีงบประมาณในการทำเรื่องนี้อย่างชัดเจน ฝ่ายบุคคลก็อาจเข้าร่วมในการดูแลการตกแต่ง ดูแลฟังก์ชั่นที่จำเป็น ตลอดจนดูแลเรื่องการจัดสรรพื้นที่ให้ลงตัวด้วย

ออฟฟิศที่พนักงานอยากทำงานด้วยมากที่สุด

ออฟฟิศที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีย่อมส่งผลให้พนักงานอยากมาทำงานได้เช่นกัน และหลายองค์กรต่างก็ใช้กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดใจพนักงาน ตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับบริษัท ติดตามบทความที่เกี่ยวกับการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีได้ในลิงค์ด้านล่างนี้

สร้างสรรค์วิธีการสรรหาบุคคลากรใหม่ๆ (Creative Recruitment)

ยุคนี้หลายองค์กรต่างต้องแข่งขันกับสรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพมาร่วมงานกับองค์กรของตนเองอย่างหนัก ฝ่ายทรัพยากรบุคคลยุคดิจิทัลนี้ไม่ใช่ฝ่ายรับที่จะมารอให้คนมาสมัครงาน หรือแค่ประกาศรับสมัครงานตามแหล่งงานทั่วไปเท่านั้น แต่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่จะต้องเป็นฝ่ายรุกที่ใส่ใจตั้งแต่การวางกลยุทธ์ในการสรรหาบุคคากร ไปจนถึงพยายามสร้างสรรค์วิธีการสรรหาบุคคลากรรูปแบบใหม่ๆ เพื่อสร้างความดึงดูดใจและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ด้วย

ปัจจุบันมีการใช้ Social Media เข้ามาช่วยในการสรรหาบุคคลากรเป็นอย่างมาก และบางครั้งไม่ใช่การใช้เพื่อเชิงรับอย่างเช่นการประกาศรับสมัครงานเท่านั้น แต่ยังมีการใช้เพื่อเชิงรุกในการที่องค์กรเข้าไปติดต่อข้อเสนอการจ้างงานโดยตรงด้วย โดยเฉพาะ Social Media ที่เกี่ยวกับการเครือข่ายการทำงานโดยตรงอย่าง LinkedIn ที่หลายองค์กรใช้เป็นเครื่องมือในการตามหาพนักงานที่มีศักยภาพทั้งหลาย ซึ่งสามารถดูโปรไฟล์ของผู้สมัครแต่ละคนเพื่อที่จะติดต่อไปยังแต่ละ Account โดยตรงได้อีกด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการสร้างสรรค์การสรรหาพนักงานอีกมากมาย อย่างเช่นการสร้าง Workshop เพื่อถ่ายทอดความรู้ในขณะเดียวกันก็เฝ้าสังเกตการณ์เพื่อคัดเลือกคนมีศักยภาพเข้ามาทำงานได้ด้วย หรือจะเป็นการแข่งขันด้านต่างๆ ที่ผู้ชนะก็สามารถมีสิทธิ์ได้รับการจ้างงานได้ ซึ่งเป็นการคัดคนที่มีศักยภาพสูงสุดอย่างแท้จริงได้ดีอีกเช่นกัน เป็นต้น

Recruitment in Digital Age

การสรรหาบุคลากรในยุคดิจิทัลนั้นเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากมาย สามารถอ่านบทความที่เป็นประโยชน์ในการสรรหาบุคคลากรยุคใหม่ได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้

ประชาสัมพันธ์และสร้างแบรนด์องค์กรในรูปแบบการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (PR & Branding Organization by HRM knowledge & Strategy)

ยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ (PR) เท่านั้นที่จะทำการประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์องค์กร เพราะองค์กรยุคใหม่หลายองค์กรต่างใช้ฝ่ายทรัพยากรมยุษย์เป็นหัวใจสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ตลอดจนประชาสัมพันธ์องค์กรด้วย ซึ่งลักษณะในการทำงานตลอดจนเนื้อหาอาจแตกต่างจากการประชาสัมพันธ์ทั่วไป แต่มุ่งเน้นในการสร้างภาพลักษณ์องค์กรเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและอยากเข้ามาร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนเผยแพร่ระบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านทรัพยากรมนุษย์

หลายองค์กรไม่ได้สรรหาทรัพยากรบุคคลเพียงเท่านั้น แต่ยังทำ Recruitment Marketing ไปจนถึง Organization Branding ที่เกี่ยวข้องกับสายงานบริหารงานบุคคลเป็นหลัก มีการทำการตลาดตลอดจนประชาสัมพันธ์ครบวงจรเพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในรูปแบบการจ้างงานและการดูแลพนักงาน ทำให้คนอยากเข้ามาร่วมงานกับองค์กร สำหรับองค์กรยุคดิจิทัลรุ่นใหม่นั้นอาจใช้สิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์โปรโมทองค์กร ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการบริหารงานบุคคลให้เป็นที่รู้จัก เพื่อให้คนเห็นวิสัยทัศน์และศักยภาพองค์กร จนอยากทำให้เกิดการอยากร่วมงานอีกด้วย

บทสรุป

ยุคดิจิทัลนั้นเกิดการปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption) ขึ้นมากมาย หลายฝ่ายต้องมีการปรับตัวกันยกใหญ่รวมถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ที่ต้องปรับตัวเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพื่อการแข่งขันกับสรรหาคนที่มีคุณภาพตลอดจนมีประสิทธิภาพมากที่สุดให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กร ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (HR) ในยุคดิจิทัลนั้นต้องปรับตัวเป็นฝ่ายรุกรวมถึงต้องปรับการทำงานมากมายเพื่อให้กลายเป็นฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่ที่พร้อมรับมือกับยุคดิจิทัลนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการบริหารงานทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพที่สุด และสร้างความสุขตลอดจนคุณภาพชีวิตให้กับพนักงานให้มากที่สุด รวมถึงสร้างให้องค์กรประสบความสำเร็จได้มากที่สุดด้วย

CTA HR Consulting Firm

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง