การทำธุรกิจก็ไม่ต่างอะไรกับการแข่งขันโอลิมปิกที่ไม่มีวันสิ้นสุด “พนักงาน” จึงเปรียบเสมือน “นักกีฬา”ที่ต้องแสดงศักยภาพในการทำงานให้ได้มากที่สุด
ทว่าในการทำงาน บางครั้งเราก็ต้องพบเจอกับความเหนื่อยล้า ผิดหวัง หรืออุปสรรคที่อาจนำไปสู่ความพ่ายแพ้ได้ แต่ทุกการแข่งขันเราจะเห็นนักกีฬาทุกคนยังคงมุ่งมั่นสู่เป้าหมาย และคว้าชัยชนะกลับบ้านในที่สุด
เวลานี้จึงเป็นโอกาสดี ที่เราจะเรียนรู้ทัศนคติจากผู้ชนะว่า พวกเขามีทัศนคติในการแข่งขันอย่างไร เผื่อว่า HR จะสามารถนำไปปลูกฝังให้กับพนักงานของตนเองได้
ไปเรียนรู้ทัศนคติที่ดีจากนักกีฬา และนำมาประยุกต์ใช้ในงาน HR กันเถอะ
Contents
ตั้งเป้าหมายให้ชัด (Goal setting)
นักกีฬาคงไม่ได้มาแข่ง “เล่น ๆ” ในสนามโอลิมปิกหรอก ทุกคนเดินทางข้ามประเทศเพื่อเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น การเป็นตัวแทนประเทศ การสร้างชื่อเสียง การสั่งสมประสบการณ์ หรือกระทั่งชัยชนะ
เหมือนที่ ไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) นักกีฬาว่ายน้ำเจ้าของสถิติ 28 เหรียญโอลิมปิก ที่เคยเขียนบันทึกไว้ตั้งแต่ 8 ขวบว่า “เขาอยากมาแข่งขันโอลิมปิก”
แต่ไม่ว่าเป้าหมายของนักกีฬาคนนั้นคืออะไร เมื่ออยู่สนามแล้ว พวกเขาล้วนอุทิศตนเพื่อบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นเสมอ
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
ที่สำคัญ “เป้าหมายขององค์กร” กับ “เป้าหมายส่วนตัวของพนักงาน” ต้องสอดคล้องกัน ทีม HR ต้องทำงานร่วมกับหัวหน้างานและพนักงานเพื่อกำหนดเป้าหมาย แผนพัฒนา และกระบวนการประเมินผลการทำงาน โดยการนำหลักการ SMART มาตั้งเป้าหมายขององค์กรให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ
ความมีวินัย (Discipline)
ไม่ใช่นักกีฬาทุกคนที่เกิดมามีพรสวรรค์ แต่ “ความเก่ง” ล้วนแล้วเกิดจากการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอเพื่อดึงศักยภาพตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ตารางฝึกซ้อมที่เข้มงวดและการควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัดจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พวกพัฒนาความสามารถอย่างต่อเนื่อง
ยกตัวอย่าง ตารางฝึกซ้อมของ อาลี เรสแมน (Aly Raisman) อดีตนักยิมนาสติก 6 เหรียญจากทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่เคยระบุถึงกิจวัตรประจำวันของเธอในการฝึกซ้อม ดังนี้:
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
บางครั้งกฎระเบียบมีความจำเป็นในการควบคุมพนักงาน HR ต้องเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตามนโยบายและขั้นตอนของบริษัท ทั้งยังสามารถวางแผนการพัฒนาศักยภาพพนักงานผ่าน Training Roadmap ได้
การทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork & Collaboration)
กีฬาหลายประเภทในโอลิมปิกแข่งขันเป็นทีม การทำงานร่วมกันและการสนับสนุนซึ่งกันและกันจึงมีความสำคัญ แม้แต่กีฬาที่แข่งขันคนเดียว ชัยชนะนั้นก็ไม่ได้เกิดจากตัวนักกีฬาเพียงคนเดียว แต่คือทีมงานเบื้องหลังหลาย ๆ ฝ่าย เช่น โค้ช คู่ซ้อม หรือนักกายภาพบำบัด
เหมือนที่ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ตำนานนักกีฬาบาสเก็บบอลที่พาทีมชาติสหรัฐฯ คว้า 2 เหรียญทองมาได้ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ความสามารถทำให้คุณชนะในเกม แต่ทีมเวิร์กและสติปัญญาจะทำให้คุณคว้าแชมป์”
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
HR ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการทำงานแบบ Teamwork ไม่ใช่ต่างคนต่างทำงานแบบ Silo เป็นไปได้ทั้งกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ เพื่อสร้างการสื่อสารที่จริงใจระหว่างแผนกต่าง ๆ
เพราะบางครั้งปัญหาขององค์กร ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยพนักงานจากแผนกเดียว
ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)
เมื่อลงสนามแข่งขัน สถานการณ์และเงื่อนไขย่อมแตกต่างไปจากสนามซ้อมอย่างสิ้นเชิง นักกีฬาผู้ชนะมักสามารถเปลี่ยนแปลงและปรับเทคนิคให้สอดคล้องไปกับสถานการณ์ตรงหน้านั้น ๆ หรือกระทั่งปรับทัศนคติตัวเองเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ
เช่นเดียวกับ วิคเตอร์ อเซลเซ่น (Viktor Axelsen) เจ้าของเหรียญทองแบตมินตันโอลิมปิก 2 ปีซ้อน และเพิ่งเอาชนะนักกีฬาขวัญใจชาวไทยอย่าง วิว – กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ไปได้ ซึ่งถึงแม้เขาจะเป็นชาวเดนมาร์ก แต่ก็ปรับตัวเรียนรู้ภาษาจีนจนพูดคล่อง ทำให้เขาได้เรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ ๆ จากนักจบลูกขนไก่ชาวจีนเช่นกัน
“ผมไม่รู้ว่าภาษาจีนกลางช่วยผมในสนามได้มากแค่ไหน แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือการได้พูดคุยกับผู้เล่นหลาย ๆ คน โดยเฉพาะนักแบตชาวจีน มันทำให้ผมได้รู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร” เขาให้สัมภาษณ์ “นั่นทำให้คุณรู้ว่า สิ่งที่คุณทำอยู่นั้นถูกต้อง คุณสามารถเรียนรู้บางอย่างจากผู้เล่นชาวจีนได้”
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทั้งด้านเทคโนโลยีใหม่ กฎหมาย และแนวโน้มของพนักงาน HR ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เสมอ พร้อมที่จะนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ ปรับปรุงนโยบายองค์กรที่ล้าสมัย และตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงขององค์กร
ความทรหด (Grit)
อุปสรรคและความท้าทายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่นักกีฬาผู้ชนะจะมีความมุ่งมั่นต่อเป้าหมาย ทำให้พวกเขายังคงพยายามต่อไป การยืนหยัดอดทนแม้ในยามยากลำบากเป็นสิ่งสำคัญต่อความสำเร็จ
ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดคงหนีไม่พ้น เรมโค เอเวนเนโพล (Remco Evenepoel) กับการคว้าทองให้เบลเยียมจากการแข่งปั่นจักรยาน ประเภทโรดเรซ One-Day Tour ด้วยระยะทางกว่า 273 กิโลเมตร ใช้เวลาปั่นนานกว่า 6 ชั่วโมง 19 นาที และ 34 วินาที
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
การมีความทรหดหรือ Grit ในบริบทของงาน HR นั้นสำคัญมาก HR มักเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคหลายประการ HR เองต้องพยายามสื่อสารประเด็นนี้กับพนักงานเสมอ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการเผชิญกับความท้าทายและพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จในระยะยาว
ความยืดหยุ่น (Resilience)
ถ้านักรบย่อมมีบาดแผย นักกีฬาก็ย่อมมีวันพ่ายแพ้ ล้มเหลว หรือบาดเจ็บ แต่ทุกครั้งที่ล้ม พวกเขามักเยียวยาร่างกายและจิตใจจนกลับมาแข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะความยืดหยุ่นทางจิตใจที่จะช่วยให้นักกีฬาฟื้นตัวจากอุปสรรค และเดินหน้ามุ่งสู่เป้าหมายของตัวเองอีกครั้ง
เช่นเดียวกับ ซายะ ซากากิบาระ (Saya Sakakibara) นักปั่นจักรยาน BMX สาวชาวออสเตรเลีย ที่เธอประสบอุบัติเหตุในการแข่งขันครั้งที่แล้ว ซ้ำรอยพี่ชายของเธอที่เคยประสบอุบัติเหตุเช่นเดียวกัน ทว่าในปีนี้ 2024 ที่ปารีส เธอรักษาตัวและพลิกฟื้นร่างกายอีกครั้งจนคว้าเหรียญทองแรกได้สำเร็จ
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
งาน HR ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย เช่น การบริหารความขัดแย้ง การปลดพนักงาน หรือการเปลี่ยนนโยบายบริษัท HR ต้องแสดงความยืดหยุ่นในการจัดการปัญหา และรักษาทัศนคติที่ดี เพื่อส่งผลต่อขวัญกำลังใจขององค์กร
น้ำใจนักกีฬา (Sportsmanship)
ไม่ว่าผลลัพธ์การแข่งขันจะออกมาอย่างไร แต่จิตวิญญาณของการแข่งขันคือการเคารพคู่แข่งเสมอ นักกีฬามักสอนเราถึงความมีคุณธรรม ความเคารพ และการรักษาทัศนคติที่ดี
ประเด็นนี้เห็นได้ชัดจากเหตุการณ์เมื่อสาวนักตบลูกขนไก่จีน เหอ ปิง เจียว (He Bingjiao) ได้ถือพินธงชาติสเปนขึ้นรับเหรียญรางวัล เพื่อเป็นเกียรติให้กับ คาโรลินา มาริน (Carolina Marin) คู่แข่งรอบรองชนะเลิศที่ถอดตัวจากอาการบาดเจ็บ นับเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์กินใจในการการแข่งขันปีนี้
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
HR ต้องรักษาความเป็นกลาง ยุติธรรม และเท่าเทียมในทุกขั้นตอนตั้งแต่การสรรหาบุคลากร การเลื่อนตำแหน่ง ไปจนถึงการปลดพนักงาน โดยรักษามาตรฐานทางจริยธรรมและส่งเสริมวัฒนธรรมของความเคารพในที่ทำงาน
ความแข็งแกร่งทางจิตใจ (Mental Toughness)
เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ชื่อของ ซิโมน ไบลส์ (Simone Biles) นักนิมนาสติกชาวสหรัฐฯ ต้องเป็นชื่อที่ใครหลายคนนึกถึง เพราะเธอเคยการถอนตัวจากการแข่งขันในโอลิมปิกโตเกียว 2020 จากความกดดันมหาศาลที่นักกีฬาต้องเผชิญ และกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญของสุขภาพจิตขึ้นมา
“ฉันต้องให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตของฉัน” เธอให้สัมภาษณ์ “มันแย่มากเมื่อคุณต้องต่อสู้กับความคิดของตัวเอง”
นั่นก็เพราะสภาพจิตใจมีส่วนสำคัญต่อการแข่งขัน นักกีฬาจึงต้องพร้อมลงแข่งด้วยความสงบและมีสมาธิภายใต้ความกดดันให้ได้ ไม่ใช่มองแค่ความแข็งแรงทางร่างกายเพียงอย่างเดียว
และในปี 2024 ที่ปารีส ก็กลับมาคว้า 4 เหรียญจากโอลิมปิกได้สำเร็จ
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
การประสบสถานการณ์ที่ตึงเครียด น่าวิตกกังวัล หรือกดดันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร สิ่งที่ HR ต้องมีความแข็งแกร่งในจิตใจ เพื่อจัดการกับปัญหาตรงนี้ โดยเฉพาะการตัดสินใจในเลือกที่ลำบาก
ฉะนั้น HR เอง ก็ต้องสนับสนุนพนักงานด้วย ไม่ให้พวกเขาสูญเสียสมาธิและขวัญกำลังใจในการทำงานเช่นกัน
ความหลงใหล (Passion)
ปิดท้ายด้วยสิ่งสำคัญมาก ๆ อย่าง Passion เพราะนี่คือ “ความรู้สึกที่อยากประสบควมสำเร็จ” ในเรื่องกีฬานั้น ๆ มันคือความสุขและความหลงใหลที่นักกีฬามีต่อกีฬาของพวกเขา และเป็นคอยย้ำเตือนใจว่าส การรักในสิ่งที่ทำ สามารถขับเคลื่อนให้เราให้ประสบความสำเร็จได้
แน่นอนว่านักกีฬาทุกคนย่อมมี Passion ในการกีฬาของตัวเองอยู่แล้ว ฉะนั้นตัวอย่างที่ดีที่สุดก็คือ “ผู้ชนะ” ทุกคนบนเวทีโอลิมบิกนี้นี่เอง
HR ประยุกต์ใช้อย่างไรได้บ้าง ?
ความหลงใหลจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น พร้อมขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในองค์กรเสมอ สิ่งนี้จะเห็นได้จากความกระตือรือร้น ความผูกพัน และพลังที่ส่งผ่านวัฒนธรรมองค์กรนั่นเอง
บทสรุป
เพราะการดูกีฬาอาจไม่ได้แค่ความสนุก แต่คือการเรียนรู้ สังเกต และนำทัศนคติของผู้ชนะมาปรับใช้กับตัวเอง
โดยเฉพาะ HR ที่ต้องจัดการบุคลากรและการดำเนินธุรกิจโดยรวม
สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ HR สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เข้มแข็ง เป็นธรรม และมีพลังมากขึ้น เพื่อสร้างความสำเร็จและการเติบโตขององค์กรของคุณต่อไป
Source |