การนำหลักการ SMART มาตั้งเป้าหมายขององค์กรให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

HIGHLIGHT
  • เป้าหมายที่ดีต้องสามารถบรรลุได้ ซึ่งเป้าหมายที่บรรลุได้จะกระตุ้นให้เราอยากเอาชนะเป้าหมายให้ได้
  • เป้าหมายที่ดีจะต้องมีการกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน มีระยะเวลาที่แน่นอน มีวันสิ้นสุดของเป้าหมาย เพื่อที่จะทำให้เกิดการวางแผนการทำงานได้ครอบคลุม
  • เราสามารถแบ่งเป้าหมายใหญ่ออกเป็นเป้าหมายย่อยๆ เพื่อปฎิบัติให้สำเร็จเป็นลำดับขั้นตอนไปได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการสำเร็จเป้าหมายย่อยๆ หลายๆ อันเมื่อรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นสามารถบรรลุเป้าหมายใหญ่ได้เช่นกัน
  • เป้าหมายที่ดีจะต้องมีการวัดผลได้ มีวิธีวัดผลชัดเจน บ่งชี้สิ่งที่เกิดจากผลได้ และประมวลผลนำไปใช้งานได้

Contents

SMART

ในการทำธุรกิจนั้นองค์กรมักจะมีการตั้งเป้าหมาย (Objective) เสมอ หรือแม้แต่การจะทำงานใดๆ ก็ตามพนักงานทุกคนก็มักจะมีการตั้งเป้าหมายของการทำงานนั้นๆ ด้วยเช่นกัน การตั้งเป้าหมายตั้งเป็นสิ่งที่ดีและควรทำอย่างยิ่ง เพราะมันจะทำให้เราเห็นหมุดหมายที่เราอยากไปถึงหรือทำให้สำเร็จได้ แล้วก็ยังสามารถเห็นทิศทางของการทำงานหรือดำเนินธุรกิจต่างๆ ที่จะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อให้ถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

การตั้งเป้าหมายที่ดีนั้นเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งผลให้เกิดการทำงานที่ดีมีประสิทธิภาพได้ด้วย แต่การตั้งเป้าหมายที่ลอยๆ ไม่ชัดเจน หรือเป็นนามธรรมเสียจนไม่เห็นแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรมเข้าใจง่ายก็อาจกลายเป็นเป้าหมายที่ไร้ประสิทธิภาพไปเลยก็ได้ ดังนั้นการที่จะตั้งเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพนั้นเราอาจนำหลัก SMART เข้ามาใช้เพื่อที่จะทำให้เป้าหมายของเราชัดเจนตลอดจนมีแนวทางปฎิบัติที่ลงมือทำได้ง่ายขึ้น ซึ่งหลักการนี้กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลกรวมถึงในเมืองไทยของเราด้วยที่หลายองค์กรนำไปใช้เพื่อให้เป้าหมายของตนชัดเจนและแข็งแกร่ง แน่นอนว่ามันมีส่วนที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดีด้วยเช่นกัน

การตั้งเป้าหมายขององค์กรตามหลักการ SMART

SMART คือหลักในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและมีแนวทางปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ทำให้เห็นทิศทางในการปฎิบัติที่เข้าใจได้ง่าย และนำไปปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งคำว่า SMART นั้นเกิดมาจากแนวคิดดังนี้ ตลอดจนมีวิธีการปฎิบัติเพื่อการตั้งเป้าหมายที่มีประสิทธิภาพตามหลักการของ SMART ดังนี้

S.M.A.R.T

S : Specific – เฉพาะเจาะจง

M : Measurable – สามารถวัดได้

A : Achievable – บรรลุผลได้

R : Realistic – สมเหตุสมผล สอดคล้องสถานการณ์ความเป็นจริง

T : Timely – กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน

S : Specific – เฉพาะเจาะจง

คือการที่องค์กรหรือบุคคลจะต้องมีเป้าหมายที่เฉพาะเจาะจงลงไป ไม่กว้างจนเกินไป มีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ และต้องระบุให้ชัดเจนได้ว่าต้องการอะไร นั่นจะทำให้เรามีทิศทางในการปฎิบัติที่ชัดเจนได้ด้วย

M : Measurable – สามารถวัดได้

สามารถวัดได้ในที่นี้คือต้องวัดผลได้ มีหลักการวัดผล วิธีการ ตลอดจนการคำนวณและสรุปผลออกมาได้อย่างชัดเจน การวัดผลควรสามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ แต่ไม่ใช่การตั้งลอยๆ หรือมีหลักการประเมินตลอดจนคำนวณไม่ชัดเจน ตัวเลขต้องมีที่ไปที่มา มีหลักฐานยืนยันได้ หากเราวัดผลออกมาได้ก็จะทำให้เราสามารถรู้ว่าการปฎิบัตินั้นสำเร็จหรือไม่เพียงไร เข้าใกล้เป้าหมายมากน้อยแค่ไหน ยังขาดอะไรอีกเท่าไร และควรจะต้องทำอะไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้

A : Achievable / Attainable – บรรลุผลได้

เป้าหมายที่ดีจะต้องสามารถบรรลุผลได้จริง ประสบผลสำเร็จได้ รวมถึงเป็นเป้าหมายที่ทำได้จริงด้วย บางองค์กรหรือบางคนตั้งเป้าหมายไว้ดีและสวยหรูแต่เห็นได้ชัดว่าไม่มีทางบรรลุได้ หรือทำได้ยากมากๆ สิ่งนี้ไม่ใช่การตั้งเป้าหมายที่ดีเลย โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมายตามหลักการ SMART ซึ่งควรจะต้องเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ มีโอกาสสำเร็จได้ และสามารถกระตุ้นให้เกิดการปฎิบัติเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายให้ได้ ในทางตรงกันข้าม หากเป้าหมายยิ่งใหญ่เกินไป มีโอกาสสำเร็จได้ยาก หรือมีเป้าหมายที่สูงจนเกินไป ก็จะยิ่งทำให้เกิดการท้อ รู้สึกว่าไม่มีวันเป็นไปได้ เสียกำลังใจในการทำงาน เป้าหมายที่ไม่ส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดพลังในการทำงานนั้นอาจไม่ใช่เป้าหมายที่ดี

R : Realistic / Relevant – มีความเป็นจริง สมเหตุสมผล และสอดคล้อง

เป้าหมายที่ตั้งต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง สถานการณ์จริงกับธุรกิจหรือกิจกรรมต่างๆ ของตน มีความสมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ รวมถึงสอดคล้องกับสิ่งที่องค์กรต้องการ หากเป็นการตั้งเป้าหมายย่อยก็ต้องสอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อส่งเสริมกันให้เกิดความสำเร็จ เป้าหมายควรสัมพันธ์กับธุรกิจและการประกอบการของตน นำข้อมูลจริงมาใช้ในการตั้งเป้าหมาย ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาลอยๆ หรือนำข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับธุรกิจตลอดจนองค์กรเรามาตั้งเป้าหมาย

T : Timely – กำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจน

สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการตั้งเป้าหมายคือการต้องมีการกำหนดเวลาให้ชัดเจน มีการวางแผนให้ชัดเจน มีกรอบระยะเวลาในการปฎิบัติการที่กำหนดไว้ให้รู้ชัดเจน เพื่อการปฎิบัติให้ชัดแจ้ง และการวางแผนปฎิบัติงานในส่วนต่างๆ ด้วย หากไม่มีการกำหนดเวลาที่ชัดเจนเราก็จะไม่รู้ว่าทำไปถึงเมื่อไร วางแผนอย่างไร นั่นอาจเรียกว่าไม่มีเป้าหมายเลยก็เป็นได้

SMART for KPI
การตั้งวัตถุประสงค์บนหลักการ SMART นั้นเป็นที่นิยมและมีประโยชน์อย่างมากต่อการวัดผลแบบ KPI ขององค์กร บริษัทที่นำระบบ KPI มาใช้วัดผลมักจะต้องตั้งวัตถุประสงค์ (Objective) ที่ชัดเจนเพื่อที่จะสามารถวัดผลได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่างนี้ถึงความสำคัญของการตั้งวัตถุประสงค์ตามหลักการ SMART เพื่อให้สอดคล้องกับการวัดผล KPI ที่มีประสิทธิภาพที่สุด

HR ที่มีข้อสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q. สวัสดีค่ะ เราจะมีวิธีจัดการกับความเสียหายที่เกิดจากข้อผิดพลาดจาก “เป้าหมาย” ที่กำหนดไว้ใน KPI อย่างไรได้บ้างคะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ เราจะมีวิธีจัดการกับความเสียหายที่เกิดจากข้อผิดพลาดจาก “เป้าหมาย” ที่กำหนดไว้ใน KPI อย่างไรได้บ้างคะ ขอบคุณค่ะ

A.  1. ทบทวนว่าความเสียหายที่เกิดจากข้อผิดพลาดไปจาก “เป้าหมาย” ที่กำหนดไว้ใน KPI. (หมายถึงการทำไม่ได้ตามเป้ากมาย) ส่งผลกระทบต่องานหรือเป้าขององค์กรหรือไม่ > หากใช่ ควรกำหนดค่า “ความผิดพลาด”ที่รับได้หากมากไปกว่านั้น ก็ประเมินผลตามความเป็นจริง

2. หากความเสียหายที่เกิดจากข้อผิดพลาดไปจาก “เป้าหมาย” ที่กำหนดไว้ใน KPI….

ทำไมการตั้งเป้าหมาย SMART จึงมีความสำคัญกับองค์กร

องค์กรที่มีการตั้งเป้าหมายโดยไม่มีหลักการอะไร อาจไม่ส่งผลให้เกิดการปฎิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เช่นกัน ดังนั้นองค์กรควรใส่ใจในการตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและสามารถบรรลุผลได้จริง ซึ่งหลักการ SMART นั้นเป็นเสมือนคู่มือในการตั้งเป้าหมายที่ยอดเยี่ยม ซึ่งหลักการนั้นมีความสำคัญตลอดจนประโยชน์ต่อองค์กรดังนี้

  • มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง : องค์กรที่มีเป้าหมายชัดเจนย่อมรู้ว่าจะปฎิบัติอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย การที่มีวิธีการปฎิบัติชัดเจน ตลอดจนแนวทางในการปฎิบัติที่เป็นรูปธรรม ย่อมส่งผลให้เกิดความสำเร็จได้ง่าย มีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง และบรรลุเป้าหมายได้โดยสะดวก
  • องค์กรมีทิศทางดำเนินธุรกิจหรือปฎิบัติการที่ชัดเจน : หลักการ SMART จะทำให้องค์กรมีทิศทางที่ชัดเจน ทำให้ดำเนินธุรกิจได้ชัดแจ้ง และมีทิศทางในการดำเนินธุรกิจที่เห็นได้ชัด ไม่สะเปะสะปะ ไม่เสียเวลาทำในสิ่งที่ไม่ใช่ ไม่หลงทิศทาง และก้าวไปอย่างแน่วแน่
  • กระตุ้นให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ : การตั้งเป้าหมายตามหลัก SMART นั้นจะเน้นเป้าหมายที่สามารถบรรลุได้เจริง เพื่อที่จะทำให้เกิดพลังในการทำงาน และกระตุ้นให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีกำลังใจ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ดีที่สุด
  • สามารถใช้ประเมินผลงานกับบุคคลากรได้ : การตั้งเป้าหมายตามหลักการ SMART นั้นมีตังเลขสามารถวัดผลได้จริง ชัดเจน และนำไปใช้ประโยชน์ต่อการประเมินผลต่างๆ ได้ ตอลดจนวัด KPIs ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
  • มีการวางแผนการทำงานที่ชัดเจนและครบวงจร : เป้าหมายที่ถูกตั้งตามหลักการ SMART นั้นมีความชัดเจน รวมถึงมีกำหนดระยะเวลาที่ชัดแจ้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการทำงาน ทำให้เราสามารถวางแผนการทำงานได้ทั้งระบบ ตลอดจนทั้งกระบวนการ และตลอดจนการวางแผนการทำงานให้ครบและครอบคลุมตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ เมื่อแผนการชัดเจนก็จะทำให้เราสามารถมีทิศทางตลอดจนลำดับขั้นตอนในการปฎิบัติงานได้ดีมีประสิทธิภาพ และทำงานได้ครบวงจรในทุกกระบวนการ
  • ตามตามผลการทำงานได้ชัดเจน : เมื่อมีเป้าหมายที่ชัดเจน และระบบการทำงานที่ชัดเจนแล้ว จะทำให้เราสามารถตามผลการทำงานตลอดทั้งระยะเวลาได้อย่างง่ายดาย สามารถประเมินผลได้ว่าขณะนั้นการปฎิบัติงานมีประสิทธิภาพแค่ไหน ประสบความสำเร็จในระดับใด และต้องทำอย่างไรที่จะให้บรรลุเป้าหมายได้
  • แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที : การวางแผนที่ชัดเจนนั้นจะทำให้เราเห็นถึงภาพรวมทั้งกระบวนการ ตลอดจนเข้าใจในรายละเอียดการทำงานได้ดีอีกด้วย นั่นจะทำให้เราสามารถเห็นปัญหาได้ชัดเจนขึ้น จากการคาดการณ์ต่างๆ ตลอดจนการออกนอกสิ่งที่กำหนดกรอบหรือวางแผนไว้ ก็จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันเวลา อุดรูรั่วได้ทันท่วงที

กลยุทธ์ในการพิชิตเป้าหมายตามหลักการ SMART

เป้าหมายที่ดีจะส่งผลให้เราอยากประสบความสำเร็จ กระตุ้นให้เราสามารถมีพลังในการทำทุกอย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายให้ได้ และสิ่งที่จะช่วยทำให้ประสบความสำเร็จได้ยิ่งขึ้นก็คือการสร้างกลยุทธ์ในการปฎิบัติการในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยกลยุทธ์นั้นอาจเป็นกลยุทธ์ส่วนบุคคลหรือเป็นกลยุทธ์องค์กรก็ได้

ตั้งเป้าหมายให้ง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสำเร็จได้ง่ายจนเกินไป

การตั้งเป้าหมายที่ดีนั้นควรเป็นเป้าหมายที่ง่าย เข้าใจได้ง่าย เห็นภาพให้ชัดเจน และเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย เป้าหมายที่ดูง่ายแล้วก็สามารถสำเร็จได้โดยง่ายโดยไม่ต้องพยายามอะไรมากนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ดีเหมือนกัน เป้าหมายที่ดีควรง่ายแต่ก็สำเร็จได้ไม่ง่ายจนเกินไปนัก เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนอยากเอาชนะเป้าหมายนั่นเอง

ตั้งเป้าหมายที่เป็นคุณค่าต่อธุรกิจตลอดจนองค์กร

เป้าหมายที่ดีควรเป็นการตั้งเป้าหมายที่ส่งเสริมคุณค่าต่อธุรกิจหรือองค์กร ตลอดจนหากประสบความสำเร็จแล้วก็สร้างคุณประโยชน์ให้กับธุรกิจหรือองค์กรด้วยเช่นกัน ไม่ควรตั้งเป้าหมายให้สวยหรูโดยที่ไม่เกี่ยวกับองค์กรเลย หรือองค์กรไม่ได้รับผลประโยชน์อะไรจากการตั้งเป้าหมายนั้น เพราะเมื่อบรรลุได้มันจะไม่ส่งผลดีต่อสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เลย

แบ่งเป้าหมายเชิงปฎิบัติการย่อยๆ เพื่อให้บรรลุเป็นลำดับขั้น

บางครั้งเป้าหมายใหญ่หากมองเป็นภาพรวมภาพเดียวก็อาจจะรู้สึกว่าบรรลุได้ยาก เราอาจแบ่งเป็นภาระกิจปฎิบัติการย่อยๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทีละขั้น แล้วท้ายที่สุดการบรรลุเป้าหมายย่อยๆ ทั้งหลายเมื่อรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นสามารถบรรลุเป้าหมายหลักเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ก็ได้ การตั้งเป้าหมายย่อยจะทำให้เรามีกำลังใจในการบรรลุเป้าหมายได้มากกว่า เป้าหมายย่อยควรทำให้ง่ายขึ้น มีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูง เพื่อสร้างแรงจูงใจ ตลอดจนความภาคภูมิใจในการสำเร็จ และจะทำให้มีพลังในการสำเร็จเป้าหมายย่อยอื่นๆ ตามไปด้วย

สร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ที่แตกต่างจากวิธีการเดิมๆ

พยายามหาวิธีการใหม่ๆ สร้างสรรค์วิธีปฎิบัติการใหม่ๆ เพื่อท้าทายตนเอง และไม่สร้างความน่าเบื่อ วิธีการใหม่ๆ อาจมีประสิทธิภาพกว่า หรือท้าทายการทำงานมากกว่า ตลอดจนหากเราได้ทำงานใหม่ๆ ไม่ซ้ำเดิม ก็จะทำให้เราสนุกและอยากทำงานขึ้นได้ ซึ่งก็จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ด้วยเช่นกัน แถมองค์กรก็ยังได้อะไรใหม่ๆ อีกด้วย

ให้รางวัลตัวเองและผู้อื่นเมื่อบรรลุเป้าหมาย

เมื่อเราสามารถบรรลุเป้าหมายได้จงให้รางวัลตัวเองหรือผู้อื่นที่ร่วมงานกัน ตลอดจนลูกน้องในปกครอง การให้รางวัลนี้อาจไม่ใช่ต้องยิ่งใหญ่เสมอไป บางครั้งสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แต่เกิดจากความตั้งใจก็นับเป็นรางวัลที่ดีได้เช่นกัน หลักการให้รางวัลนั้นก็คือการมอบเครื่องหมายแห่งความสำเร็จ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และเกิดกำลังใจในการทำงานต่อไปได้ ในอีกทางหนึ่งเราอาจตั้งรางวัลเพื่อเป็นผลตอบแทนของการบรรลุเป้าหมายเพื่อกระตุ้นการทำงานก็ได้เช่นกัน หากบรรลุเป้าหมายได้ก็จะได้รางวัลนี้ตอบแทน ก็เป็นเครื่องมือในการกระตุ้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เช่นกัน

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายแบบ SMART

การตั้งเป้าหมายแบบ SMART นั้นนอกจากจะทำตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้นเพื่อทำให้เป้าหมายมีความชัดเจน แล้วสิ่งที่ตามมาพร้อมกันนั้นก็คือแนวทางการปฎิบัติให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้นั่นเอง และนี่คือตัวอย่างของการตั้งเป้าหมายในแบบ SMART

บริษัท SMEs

Goal : จะต้องทำผลกำไรให้ถึงเป้าที่ 1 ล้านบาทให้ได้ ภายในเดือนธันวาคม 2019

Action : วางแผนการขายเป็น 4 ช่วงตามแต่ละไตรมาส / ให้ได้กำไรไตรมาสละ 3 แสนบาท

ธุรกิจการออกกำลังกาย

Goal : จะต้องหาสมาชิกให้เพิ่มขึ้นอีก 10% จากจำนวนสมาชิกเดิม ภายในระยะเวลา 3 เดือน

Action :

  • จัดโปรโมชั่นบอกต่อได้ส่วนลด เพื่อดึงดูดใจลูกค้าใหม่ และให้ลูกค้าเก่าได้สิทธิประโยชน์ด้วย
  • ปรับปรุงคลาสออกำลังกายให้น่าสนใจขึ้น
  • ขยายระยะเวลาเปิดให้บริการเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า
ธุรกิจการผลไม้อบแห้ง

Goal : จะต้องผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 10% ให้ได้ภายในเดือนมกราคม 2020 และต้องทำกำไรให้มากขึ้น 30% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว

Action :

  • หาผู้ผลิตเจ้าใหม่เพิ่มเติม
  • หาช่องทางการจัดจำหน่ายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น
  • เปิดตลาดนักท่องเที่ยวจีนในรูปแบบของฝากจากเมืองไทย
  • หากผลไม้ใหม่ๆ เพื่อมาทำเป็นผลิตภัณฑ์อบแห้งเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย
ธุรกิจเครื่องสำอาง

Goal : เดือนนี้จะต้องเพิ่มยอดขายให้มากขึ้น 30% จากยอดขายเดือนที่แล้ว

Action : จัดโปรโมชั่นพิเศษเพื่อกระตุ้นการขายในทุกวันศุกร์ซึ่งเป็นวันที่ขายดีที่สุด

บทสรุป

การตั้งเป้าหมายแบบ SMART นั้นจะทำให้เรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เห็นภาพได้ง่าย นำไปสู่การปฎิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม หากเราตั้งเป้าหมายเลื่อนลอย ไม่ชัดเจน หรือยิ่งใหญ่เกินความจำเป็น นั่นเป็นเป้าหมายที่ไม่ดีเลย ในทางตรงกันข้างเป้าหมายที่ดีจะต้องชัดเจน เห็นภาพชัดแจ้ง อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่เป็นจริงขององค์กร และปฎิบัติแล้วส่งผลประโยชน์ที่ดีกับตนเองและองค์กรด้วย การนำเอาหลักการ SMART มาใช้นั้นจะช่วยทำให้เราเช็คความแข็งแกร่งและชัดเจนของการตั้งเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และนั่นจะทำให้มีทิศทางในการทำงานที่ชัดเจน มีวิธีการปฎิบัติงานที่เป็นระบบระเบียบ มีการวางแผนงานที่ครบกระบวนการ และทุกอย่างจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยทำให้เราบรรลุเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จได้นั่นเอง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง