Choke Under Pressure การทำงานก็เหมือนเล่นกีฬา ซ้อมรับมือกับความกดดันอย่างไร ให้เหมือนนักกีฬามืออาชีพ

HIGHLIGHT

  • เมื่อเราพบเจอกับความกดดัน ร่างกายของเราจะหยุดนิ่งเพราะมองว่าความกดดันคือภัยคุกคาม ซึ่งในตอนที่เรากำลังรู้สึกกดดัน ในทางสรีรวิทยา ร่างกายของเราจะเข้าสู่โหมดป้องกันอันตราย และจะปล่อยฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียดออกมา
  • นักกีฬาที่เตรียมพร้อมมาอย่างดีสำหรับการแข่งแมทช์สำคัญจะไม่ค่อยตื่นเต้นหรือกดดันมากเท่าไหร่ เพราะยิ่งฝึกซ้อมเยอะก็จะยิ่งได้เทคนิค และยิ่งคุ้นชินกับการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะยากเพียงใด ซึ่งการฝึกซ้อมนี่แหละที่จะทำให้เรามีทักษะมากขึ้นจนเอาชนะความกดดันได้
  • แจ็ค นิคลอส (Jack Nicklaus) ตำนานนักกอล์ฟได้กล่าวไว้ว่า “ผมไม่เคยพัตในใจพลาดเลยสักครั้ง” เมื่อเราวางภาพการกระทำที่ทำให้เราประสบความสำเร็จไว้ในใจ สมองจะทำงานเมื่อเรานึกภาพการกระทำนั้น ๆ พอถึงตอนที่เราปฏิบัติจริงเราก็จะคุ้นชินมากขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้การจินตภาพเพื่อพัฒนาตัวเองค่อนข้างมีผลมากทีเดียว
  • นักกีฬาส่วนใหญ่รู้ว่าการคิดมากหรือกังวลก่อนลงสนามจะทำให้พวกเขายิ่งไม่มั่นใจในตัวเองหรือจดจ่อกับการเคลื่อนไหวทุกด้านมากเกินไป ซึ่งยิ่งทำให้กดดันมากขึ้นไปอีกจนทำให้เล่นออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่การจะทำให้ตัวเองเลิกแพนิคก่อนลงสนามจริงก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะทุกคนย่อมต้องมีความตื่นเต้นอยู่แล้ว นักกีฬาบางคนเลยเลือกใช้วิธี ‘การเบี่ยงเบนความสนใจ’

Choke Under Pressure การทำงานก็เหมือนเล่นกีฬา ซ้อมรับมือกับความกดดันอย่างไร ให้เหมือนนักกีฬามืออาชีพ

ในโลกใบนี้ไม่มีใครไม่เคยพบเจอความกดดัน ยิ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญก็ยิ่งกดดันมากไปกว่าเดิม บางคนถึงขั้นพูดไม่ออกหรือตัดสินใจไม่ได้ในช่วงเวลาที่ต้องพูดกับลูกค้า หัวหน้า หรือบุคคลสำคัญกันเลยทีเดียว และวิธีที่จะช่วยป้องกันแรงกดดันในที่ทำงานคือการนำเอาวิถีแห่งโลกกีฬามาปรับใช้กับการทำงาน จงทำตัวให้เหมือนกับนักกีฬาที่ถูกฝึกฝนมาแล้วและพร้อมที่จะลงสนามใหญ่ ในบทความนี้ HREX จะพาไปดู ‘วิถีนักกีฬา’ด้วยเทคนิคมากมายที่จะช่วยลดแรงกดดันในใจพร้อมกับเพิ่มสกิลการรับมือกับแรงกดดันให้ดียิ่งขึ้น

Design Thinking สำหรับ HR: วิธีการใช้ Empathy และความคิดเชิงออกแบบเป็นเครื่องมือการเปลี่ยนแปลงคนในองค์กร

วิทยาศาสตร์กับการถูกบีบคั้นภายใต้แรงกดดัน (Choke Under Pressure)

เมื่อเราพบเจอกับความกดดัน ร่างกายของเราจะหยุดนิ่งเพื่อตอบสนองกับสิ่งนั้น เพราะร่างกายมองว่ามันคือภัยคุกคาม ซึ่งภัยคุกคามของแต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไป อาจจะเป็นการเจรจาต่อรอง กองเอกสารขนาดมหึมา หรือการพูดในที่ประชุมชน ซึ่งในตอนที่เรากำลังรู้สึกกดดัน 

ในทางสรีรวิทยา ร่างกายของเราจะเข้าสู่โหมดป้องกันอันตราย และจะปล่อยฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความเครียด เช่น คอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจพุ่งสูงขึ้น ม่านตาขยาย เหงื่อออกมากกว่าเดิม และการทำงานของสมองจะลดลง เช่น ความทรงจำบกพร่อง แพนิค และมีปัญหาในการรับข้อมูลใหม่ จนในที่สุดอาจจะทำให้เกิดการมองโลกในแง่ร้าย ไม่มั่นใจในตัวเอง เกิดความรู้สึกผิดกับตัวเอง และกลัวการเผชิญหน้า ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะรู้สึกกดดันกับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายมากขึ้นไปอีกจนเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น โรค PTSD (โรคเครียดหลังประสบกับเหตุการณ์กระทบจิตใจอย่างรุนแรง) เหมือนกันกับที่แชมป์พายเรือโอลิมปิค เรเน่ โฮลเท่น เพาเซ่น (René Holten Poulsen) กำลังเผชิญอยู่

คนเรามักจะเกิดอาการกดดันจากสถานการณ์ภายนอกหรือสถานการณ์อันน่ากดดัน ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นจากการที่มีเรื่องของเงินหรือตำแหน่งเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น อนาคตและเงินทุนของทีมฟุตบอลจะขึ้นอยู่กับการเตะลูกโทษของนักฟุตบอล หรืออาจจะเป็นเรื่องของโอกาสที่มีเข้ามาเพียงครั้งเดียว

Motivation ารสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

แรงกดดันในเชิงธุรกิจ มีอะไรบ้าง

แรงกดดัน 4 C

4Cs เป็นแนวคิดสำคัญของการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน ซึ่งเริ่มแรกนั้นได้ถูกคิดค้นโดย Robert F. Lauterborn เป็นโมเดลที่สามารถนำมาปรับใช้กับการทำธุรกิจหรือองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Consumer (ลูกค้า)

ในมุมมองของ 4Cs จะมีการให้ความสำคัญกับลูกค้ามากขึ้น นักธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง เพราะธุรกิจและบริการที่ได้ก่อเกิดขึ้นมาก็เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ธุรกิจจึงจะดำเนินต่อไปได้ ดังนั้นลูกค้าจึงเป็นหนึ่งในแรงกดดันทางธุรกิจที่สำคัญมากอันดับแรก

Cost (ราคา)

ราคาอาจจะไม่ได้หมายถึงแค่เงินทองอย่างเดียว แต่หมายถึงสิ่งที่ผู้บริโภคจำเป็นต้องแลกมาเพื่อที่จะสามารถได้ใช้บริการหรือซื้อสินค้านั้นได้ ราคานั้นยังรวมไปถึงเรื่องของเวลา ความรู้สึก หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ 

Communication (การสื่อสาร)

การสื่อสารในแง่มุมความหมายของ 4c หลัก ๆ คือการสื่อสารเพื่ออธิบายให้ลูกค้าเข้าใจถึงตัวสินค้าและบริการอย่างแท้จริง เพื่อให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคทั้งทางด้านกำลังทรัพย์ ความพึงพอใจส่วนตัว และไลฟ์สไตล์ จะไม่ได้เป็นการโน้มน้าวหรือหลอกล่อให้ผู้บริโภคมาซื้อสินค้าหรือบริการ

Convenience (ความสะดวกสบาย)

นักการตลาดจำเป็นต้องมองให้เห็นถึงความสำคัญของการอำนวยความสะดวกที่ทำให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากที่สุดในการใช้บริการและซื้อสินค้า ในปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตทำให้การซื้อขายง่ายขึ้นอย่างมาก ไม่จำเป็นต้องลง on site ขายสินค้าและบริการเหมือนเมื่อก่อน ประหยัดเวลาและต้นทุนด้วย

แรงกดดัน 5 ประการ (Five Forces Model)

นอกจาก 4c ยังมีแรงกดดันอีก 5 ประการที่อยู่ในสนามแข่งทางธุรกิจ ซึ่งคนทำธุรกิจควรคำนึงถึงให้มากเช่นกัน

แรงกดดันระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันเอง (Rivalry among existing competitors)

สัจธรรมของธุรกิจคือการที่มีคู่แข่งซึ่งทำธุรกิจแบบเดียวกัน ยิ่งคู่แข่งมาก การแข่งขันก็เข้มข้นมากขึ้น และจะยิ่งรุนแรงหากอุตสาหกรรมโดยรวมขณะนั้นเกิดหดตัว เนื่องด้วยแต่ละธุรกิจจำเป็นต้องแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดกัน หรือเรียกง่าย ๆ ว่าแย่งลูกค้ากัน แล้วยิ่งลักษณะของสินค้าชนิดไหนที่แทบไม่มีความแตกต่างกันเลย ก็ยิ่งส่งผลให้มีการแข่งขันกันในเรื่องราคาสูง 

แรงกดดันเมื่อมีผู้เข้ามาใหม่ (Threat of new entrants)

ทั้งธุรกิจที่มีอยู่เดิมและตัวผู้ประกอบการใหม่เองต่างก็มีความกดดันด้วยกันทั้งสิ้น เพราะเมื่อมีคนทำธุรกิจซ้ำ ๆ เพิ่มมากขึ้น ก็ยิ่งเหมือนมีตัวหารมากขึ้น ในขณะเดียวกันผู้เข้ามาใหม่จะเสียเปรียบด้านต้นทุน เพราะถูกบีบให้ต้องเข้าด้วสเกลที่ใหญ่เพื่อจะได้ทัดเทียมกับคู่แข่งได้ ทั้งยังต้องสร้างสินค้าหรือบริการที่แตกต่างไปจากเจ้าเดิมที่มีอยู่ในตลาดเพื่อให้ผู้ซื้อเปลี่ยนใจจากสินค้าที่ใช้จนคุ้นชินแล้วมาทดลองใช้สินค้าตัวใหม่ดูบ้าง

ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน (Threat of substitute products or services)

สินค้าทดแทนแน่นอนว่าสร้างแรงกดดันอย่างหนักให้กับผู้ประกอบการทุกรายในตลาดอย่างแน่นอน ยิ่งหากสินค้าทดแทนนั้นสามารถนำมาใช้ทดแทนได้เกือบ 100% เช่น ในยุคที่กล้องดิจิตอลเริ่มมาทดแทนกล้องฟิล์ม ในระยะแรกอาจทดแทนได้เพียงแค่บางส่วน เพราะการเปลี่ยนมาซื้อตัวใหม่ก็ค่อนข้างมีราคาที่สูง แต่เมื่อราคากล้องดิจิตอลเริ่มลดต่ำลง ผู้บริโภคก็เปลี่ยนมาใช้กล้องดิจิตอลแทนอยู่ดีจนกล้องฟิล์มหายจากตลาดไป

อำนาจต่อรองของผู้ซื้อ (Bargaining power of buyers)

การที่มีผู้ประกอบการหลายรายที่ขายสินค้าและบริการเหมือน ๆ กัน ยิ่งทำให้ผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น เพราะหากผู้ซื้อสามารถหาสินค้าทดแทนได้และการเปลี่ยนจากการซื้อของจากเจ้าหนึ่งไปเป็นอีกเจ้าหนึ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำด้วยแล้วยิ่งน่ากลัวสำหรับผู้ประกอบการ  และหากเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ก็จะยิ่งมีอำนาจต่อรองกับผู้ขายมากขึ้นด้วย 

อำนาจต่อรองของผู้ขาย (Bargaining power of suppliers)

ถ้าสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบการบางรายที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร หาสินค้าทดแทนได้ยาก คือความโชคดีของผู้ประกอบการนั้น ๆ ที่ก็จะมีคู่แข่งน้อย แล้วยิ่งถ้ามีศักยภาพในการขยายตัว ผู้ประกอบการจะมีอำนาจในการต่อรองสูงมาก เพราะผู้บริโภคต้อง ‘ง้อ’ เพื่อที่จะซื้อสินค้าหรือบริการนั้น ๆ

เราจะดึงแรงกดดันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร

นักกีฬาที่เตรียมพร้อมมาอย่างดีสำหรับการแข่งแมทช์สำคัญจะไม่ค่อยตื่นเต้นหรือกดดันมากเท่าไหร่ เพราะยิ่งฝึกซ้อมเยอะก็จะยิ่งได้เทคนิค และยิ่งคุ้นชินกับการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะยากเพียงใด ซึ่งการฝึกซ้อมนี่แหละที่จะทำให้เรามีทักษะมากขึ้นจนเอาชนะความกดดันได้

สร้างภาพความสำเร็จไว้ในใจ

แจ็ค นิคลอส (Jack Nicklaus) ตำนานนักกอล์ฟได้กล่าวไว้ว่า “ผมไม่เคยพัตในใจพลาดเลยสักครั้ง” เมื่อเราวางภาพการกระทำที่ทำให้เราประสบความสำเร็จไว้ในใจ สมองจะทำงานเมื่อเรานึกภาพการกระทำนั้น ๆ พอถึงตอนที่เราปฏิบัติจริงเราก็จะคุ้นชินมากขึ้น เป็นเหตุผลหนึ่งที่ใช้การจินตภาพเพื่อพัฒนาตัวเองค่อนข้างมีผลมากทีเดียว

กล่าวง่าย ๆ ก็คือถ้าเรานึกถึงอะไรบ่อย ๆ หรือย้ำเตือนอะไรกับตัวเองบ่อย ๆ ก็จะทำให้เราเกิดความมั่นใจและมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น

ในโลกของกีฬา นักกีฬาชื่อดังอย่างเซเรน่า วิลเลียมส์ (Serena Williams) เวย์น รูนี่ (Wayne Rooney) และ ไมเคิล จอร์แดน (Michael Jordan) ต่างก็เชื่อมั่นในการนึกถึงภาพความสำเร็จของตัวเองในการแข่งครั้งก่อน ๆ ซึ่งมีประโยชน์หลายประการมากในช่วงเวลาสำคัญ ๆ คือช่วยเตรียมตัวและเตรียมใจนักกีฬาให้พร้อมสำหรับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแมทช์สำคัญและช่วยให้พวกเขาจัดการความคาดหวังและอารมณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากที่แสดงให้เห็นพลังของการคิดภาพความสำเร็จขึ้นมาในหัวเพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ความแม่นยำ และความอดทน ตลอดจนลดความวิตกกังวลและทำให้การควบคุมตัวเองในสถานการณ์ฉุกเฉินดียิ่งขึ้น

หากเราต้องเผชิญกับช่วงเวลาสำคัญในที่ทำงาน ให้ฝึกซ้อมในใจก่อน มองภาพให้ชัดเจนและลงรายละเอียดให้มากที่สุด ลองถามตัวเองว่าถ้าคุณเดินเข้าไปในห้อทำงานหัวหน้าและขอขึ้นเงินเดือนจะเป็นยังไงนะ หรือการโดนสปอตไลท์ส่องจะรู้สึกยังไงในตอนที่เราเดินออกไปพูดต่อหน้าผู้ชมมากมายบนเวที หรือแม้แต่นึกถึงคำพูดแรกที่จะพูดในตอนที่เข้าประชุมออนไลน์

ฝึกตัวเองให้กดดัน คือการสร้างความแข็งแกร่งในจิตใจ

รู้ไหมว่าพวกนักกีฬามืออาชีพไม่ได้ฝึกฝนแค่ทักษะและความสามารถเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือฝึกรับมือกับความกดดัน ยกตัวอย่างจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2012 และ 2016 ทีมเกรทบริเตนมีการฝึกความแข็งแกร่งทางจิตใจของนักกีฬาโดยค่อยๆ เพิ่มความกดดันให้กับนักกีฬา โค้ชผู้เชี่ยวชาญจะเน้นฝึกแรงกดดันทางจิตใจ เทคนิค หรือกลยุทธ์ต่าง ๆ โดยการเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างให้อยู่ในสภาวะไม่ปกติ ซึ่งนักกีฬาไม่ทันตั้งตัวเลย ตัวอย่างเช่น โค้ชจะบังคับให้นักฟุตบอลเท้าขวาใช้เฉพาะเท้าซ้ายในระหว่างการฝึกซ้อม

หรืออย่างบ็อบ โบว์แมน (Bob Bowman) โค้ชนักว่ายน้ำของไมเคิล เฟลป์ส (Michael Phelps) เคยทุบแว่นตาของเขาก่อนการซ้อมแข่ง ทำให้เขาต้องว่ายน้ำทั้ง ๆ ที่ไม่มีแว่นตาจนรู้สึกว่าตัวเองเหมือนคนตาบอดว่ายน้ำก็ไม่ปาน ซึ่งสิ่งนี้ที่เขาได้เผชิญกลับมาพิสูจน์ให้เขายิ่งเข้าใจอย่างแจ่มชัดว่ามันมีประโยชน์มาก ในการว่ายน้ำระหว่างการแข่งกีฬาโอลิมปิค ปี 2008 เกิดเหตุสุดวิสัยคือน้ำเข้าแว่นตาของเฟลป์ส จนเขามองไม่เห็นอะไรเลย “จากกำแพง 150 เมตรไปจนถึงเส้นชัย ผมมองไม่เห็นกำแพงเลยแม้แต่นิดเดียว แค่คิดอย่างเดียวว่าต้องชนะ” ผลสรุปว่า ในการแข่งครั้งนั้นเขาได้รับเหรียญทอง แถมยังทำลายสถิติโลกอีกด้วย

เปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้ชิน ก่อนช่วงเวลาสำคัญจะมาถึง

กิจวัตร การกระทำ หรือคำพูดแปลก ๆ ที่เราเห็นก่อนที่นักกีฬาจะเสิร์ฟเทนนิส โยนโทษในบาสเก็ตบอล หรือการเตะลูกโทษในฟุตบอลนั้นมีจุดประสงค์ที่สำคัญและยิ่งใหญ่มาก ว่ากันว่าราฟาเอล นาดาล (Rafael Nadal) มี 12 ขั้นตอนในคอร์ทเทนนิส ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ซับซ้อนมากและกินเวลาถึง 30 วินาที หรืออย่าง คาร์ล มาโลน (Karl Malone) ตัวท็อป NBA ก็เป็นที่รู้จักจากสเต็ปการพูดคนเดียวก่อนโยนลูกโทษ

สิ่งที่เราทำเป็นกิจวัตรก่อนการลงสนามจริงทำให้เราได้เคลียร์ใจตัวเองให้ว่างก่อนเข้าสู่ช่วงเวลานั้น เพื่อที่จะทำให้เราได้ซึมซับสิ่งที่ฝึกซ้อมมาก่อนหน้านี้จนขึ้นใจ และทำมันออกมาอย่างอัตโนมัติในตอนลงสนามจริง ๆ ในที่ทำงาน เราอาจจะตั้งกฎสั้น ๆ ของตัวเองขึ้นมา เช่น ฝึกการหายใจ ท่องคำพูดต่าง ๆ ฟังเพลง จิบชาแก้วโปรด หรือการยืดเหยียดร่างกาย เพื่อเป็นการเตรียมใจก่อนลงสนาม

อย่าคิดเยอะ ลงมือซะ

นักกีฬาส่วนใหญ่รู้ว่าการคิดมากหรือกังวลก่อนลงสนามจะทำให้พวกเขายิ่งไม่มั่นใจในตัวเองหรือจดจ่อกับการเคลื่อนไหวทุกด้านมากเกินไป ซึ่งยิ่งทำให้กดดันมากขึ้นไปอีกจนทำให้เล่นออกมาได้ไม่ดีเท่าที่ควร การสอบในสนามสำคัญต่าง ๆ ก็เช่นกัน หากเรากังวลมากเกินไปก็จะทำให้ผลคะแนนออกมาไม่ดีเท่าที่คาดหวัง กลับกันถ้าปล่อยใจสบาย ๆ คะแนนกลับยิ่งดีกว่าที่คาดไว้ แต่การจะทำให้ตัวเองเลิกแพนิคก่อนลงสนามจริงก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะทุกคนย่อมต้องมีความตื่นเต้นอยู่แล้ว นักกีฬาบางคนเลยเลือกใช้วิธี ‘การเบี่ยงเบนความสนใจ’ ในไม่กี่นาทีหรือหลายชั่วโมงก่อนการแข่งขัน เช่นการเล่นเกม ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือ เพื่อไม่ให้คิดเรื่องที่กังวลอยู่ในหัวมากเกินไป เป็นวิธีหลบหนีจากความคิดที่อยู่รอบข้างที่อาจทำให้แรงกดดันเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างจากนักกีฬาขื่อดังอย่าง ยูเซน โบลท์ (Usain Bolt) ในช่วงไม่กี่นาทีก่อนการแข่งขันเขาจะนึกถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ยินคำว่า ‘ระวัง’ ซึ่งเขาก็ได้กล่าวไว้ว่า “ไม่ว่าจะกดดันแค่ไหน ผมจะไม่คิดถึงมันเลย เพราะถ้าปล่อยให้มันเข้ามาในความคิดนั่นคือหายนะทันที เป็นเหตุผลที่ผมผ่อนคลายและสนุกกับตัวเองก่อนการแข่งขัน”

เปลี่ยนความคิดเรื่องความเครียด

เพราะเราทำให้ตัวเองหยุดเครียดไม่ได้อยู่แล้ว ดังนั้นก็เปลี่ยนความคิด จาก ‘ความเครียดทำให้หมดกำลังใจ’ เป็น ‘ความเครียดทำให้เราแข็งแกร่งขึ้น’ จะดีกว่าไหม ตำนานเทนนิสอย่าง บิลลี่ จีน คิง (Billie-Jean King) กล่าวไว้ว่า “ความกดดันเป็นสิทธิพิเศษ” เขามองความเครียดเป็นสิ่งดี ๆ ที่เขาได้รับ การเปลี่ยนกรอบความคิดให้มองโลกในแง่ดีขึ้น แท้จริงแล้วเป็นการเปลี่ยนวิธีที่ร่างกายตอบสนองต่อความเครียด ต่อไปถ้าเรารู้สึกประหม่าและรู้สึกว่าหัวใจเริ่มเต้นตุบตุบ อย่าบอกตัวเองให้ใจเย็นลงเพราะร่างกายไม่มีทางสงบลงได้หรอก ให้บอกตัวเองว่าเรารู้สึกตื่นเต้นและพร้อมแล้วสำหรับการได้รับสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นักกีฬาผู้ชนะเลิศเหรียญทองโอลิมปิก 6 สมัยอย่างเซอร์คริส ฮอย (Sir Chris Hoy) กล่าวว่า “อย่าใช้คำว่าวิตกกังวล ให้ใช้คำว่าน่าตื่นเต้นจังแทน”

 

360-degree Feedbackการประเมินผลรอบทิศแบบ 360 องศา

บทสรุป Choke Under Pressure

ไม่มีใครไม่เคยถูกบีบคั้นจากแรงกดดันอย่างแน่นอน เพราะในช่วงชีวิตเราต้องเจอเหตุการณ์หลายอย่างมากมาย ซึ่งการที่เราเรียนรู้เทคนิคจากนักกีฬาที่เก่งที่สุดในโลกก็คือการมีพฤติกรรมและความคิดที่เราทุกคนนำมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้เหมือนกันในสถานการณ์ที่สำคัญในชีวิต เพื่อช่วยให้เราพัฒนาตัวเองเป็นคนที่เก่งขึ้นและมีความสุขมากขึ้นในทุก ๆ วันของการทำงานและการชีวิต

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง