Online Certificate เชื่อถือได้ไหม? เมื่อผู้สมัครใส่เข้ามาใน Resume

HIGHLIGHT

  • การใส่ Online Certificate ใน Resume อาจได้ผลในการโน้มน้าวนายจ้างได้ไม่มากเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านทางความคิดความเชื่อในรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป
  • การประยุกต์ใช้โมเดลการเรียนรู้แบบ 70-20-10 ที่ HR มีการใช้ในการออกแบบการเรียนรู้ให้พนักงานอย่างแพร่หลายจะทำให้ Online Certificate มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
  • Online Certificate จะน่าเชื่อถือมากขึ้น เมื่อการเรียนรู้นั้นตามมาด้วยการลงมือทำจริงหรือเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อต่อยอดเป็นผลงานจริงที่จับต้องได้ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับข้อมูลภาพรวมอื่น ๆ ใน Resume

ย้อนกลับไปในปี 2020 เราได้เห็นผลกระทบอย่างรุนแรงของโรคระบาด COVID-19 ธุรกิจหนึ่งที่เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดคือการเรียนออนไลน์และคอร์สออนไลน์ต่าง ๆ มีทั้งที่ออกและไม่ออกใบ Online Certificate หรือแม้กระทั่งปริญญาบางสาขาก็เริ่มมีการเรียนการสอนออนไลน์แล้ว

แต่เชื่อว่าหลายคนคงเกิดคำถามตามมาว่า ควรใส่ Online Certificate ใน Resume ไหม? แล้วต้องใส่อย่างไร? แค่เขียนลงไปก็พอเหรอ? ก่อนจะลงมือเขียน อยากให้ทำความเข้าใจเบื้องหลังความคิดของ HR ก่อน

ตัวอย่างความเชื่อเกี่ยวกับ Online Certificate ที่ติดอยู่ในหัว HR

เนื่องด้วยเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นไม่ใช่ HR ทั้งหมดจะเชื่อถือใน Online Certificate ทั้งหมด จึงไม่แปลกที่ HR จะมีความเชื่อประมาณนี้

  1. การเรียน Online ไม่น่าเชื่อถือเท่ากับการไปเรียน Offline
  2. ความน่าเชื่อถือของคอร์ส เกิดจากความน่าเชื่อถือของสถาบัน
  3. ผู้สมัครที่จบหลักสูตรดี มีใบ Certificate ดูน่าเชื่อถือกว่า
  4. หลักสูตรที่ไม่มี Certificate ไม่ค่อยน่าเชื่อถือและไม่มีน้ำหนัก
  5. สถาบันต่างชาติและสถาบันในไทย มีความน่าเชื่อถือต่างกัน

ความเชื่อเหล่านี้จริง ๆ แล้วเกิดจากประสบการณ์ที่ผ่านมาของ HR ที่มีต่อผู้สมัครที่มี Online Certificate หรือถ้าเปลี่ยนคำก็คือ ‘ความน่าจะเป็น’ มากกว่า

ไม่ใช่เรื่องผิดที่ HR หลาย ๆ คนจะยังคงมีความเชื่อนี้อยู่ ความไม่เหมาะสมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ HR เชื่อสิ่งเหล่านี้สุดใจ มันทำให้เกิดการปิดกั้นโอกาสหรือเลือกปฏิบัติกับผู้สมัครที่เข้ามา ซึ่งเราในฐานะผู้สมัคร ก็เลยเกิดความลังเลและคำถามที่บอกไปตอนต้นว่าควรใส่ดีไหมนั่นเอง

สิ่งที่ผู้สมัครควรเตรียมตัวเมื่อจะใส่ Online Certificate

กล้าพูดได้เลยว่า แค่ชื่อ Course, สถาบัน หรือผู้สอน ไม่มีผลต่อการตัดสินใจสักเท่าไหร่ มีข้อยกเว้นคือ ใบ Online Certificate นั้นเป็น Requirement ตามกฎหมาย เช่นพวก CPA หรือใบประกอบวิชาชีพต่าง ๆ เป็นต้น

สิ่งที่ต้องเตรียมตัวก่อนคือ ตกผลึกเกี่ยวกับ Online Certificate ที่เรียนมา

  1. องค์ความรู้ที่ได้รับ – ถ้าเรียนมาแล้วไม่ได้ความรู้อะไรออกมาเลย ก็ไร้ค่ามาก ๆ หลัก ๆ ให้พิจารณา 2 อย่าง ไม่จำเป็นต้องมีทั้ง 2 อย่าง แต่เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีเลย
  • มีทักษะ Hard Skills อะไรบ้างที่ได้จาก Course นี้
  • มีทักษะ Soft Skills อะไรบ้างที่ได้จาก Course นี้
  1. ผู้สอน – เพื่อดูว่ามีประสบการณ์ในสายงานที่สอนมากน้อยเพียงใด ถ้าหากผู้สอนไม่ได้มีประสบการณ์ตรงมากนัก อาจจะต้องมีการทบทวนหรือเปรียบเทียบความรู้จากแหล่งอื่นเพื่อดูว่าถูกต้องหรือไม่ด้วย
  2. ผลงาน – เราได้สร้างผลงานอะไรจากความรู้ที่ได้จาก Course นี้บ้าง? ถ้าไม่มี จะสามารถเริ่มได้อย่างไร?

3 ส่วนที่ได้บอกไป มีที่มาจากโมเดลการเรียนรู้ 70-20-10 ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบริษัทชั้นนำต่าง ๆ โมเดลนี้ใช้ได้ทั้งการพัฒนาความรู้ส่วนตัว รวมถึงการวางแผนพัฒนาพนักงานในองค์กรด้วย เรียกว่าใช้ได้หลากหลายมาก

โมเดลการเรียนรู้ 70-20-10 สำหรับ Online Certificate

หลักการของโมเดลการเรียนรู้ 70-20-10 สื่อถึงการเรียนรู้ได้ว่า

70% ของการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพเกิดจากประสบกาณ์และการลงมือทำและปฏิบัติงานจริง

20% เกิดจากการปรึกษาหารือกับผู้อื่น หรือรับการสอน/โค้ชจากผู้ที่ชำนาญทางด้านนั้น

10% ที่เหลือ มาจากคอร์สหรือการเรียนตามหลักสูตรในห้องเรียนหรือการอบรม

ดังนั้น การใส่ Online Certificate อย่างเดียวคงไม่พอ สิ่งที่ควรตามมาคือการได้ลงมือทำจริงจากความรู้ที่มีมากน้อยแค่ไหน รวมไปถึงได้รับการสอน หรือร่วมมือกับคนอื่นมากแค่ไหน

ทำไมถึงควรใช้โมเดลนี้สำหรับ Online Certificate

เราต้องยอมรับตามตรงว่าการทำงานจริงไม่เหมือนกับในห้องเรียน (วัยทำงานทุกคนน่าจะเห็นด้วย) ดังนั้น การที่ผู้สมัครคนหนึ่งจะสามารถทำงานได้ จึงไม่ใช่แค่จบคอร์สหรือหลักสูตรที่ใกล้เคียงเท่านั้น แต่ต้องทีทักษะที่เกิดจากการลงมือทำจริง (ส่วน 70) หรือการต่อยอดเพิ่มเติมมาบ้าง (ส่วน 20) หากว่าใน Resume ของผู้สมัครมีเนื้อหาเหล่านี้อยู่ด้วย จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ เพิ่มความน่าเชื่อถือ รวมไปถึงความน่าเชื่อถือของ Online Certificate ด้วยเช่นกัน

การประยุกต์ใช้โมเดลการเรียนรู้กับการใส่ Online Certificate ใน Resume

การจะเขียน Resume ให้ดี สิ่งที่ควรมีก่อนคือข้อมูล และควรเตรียมข้อมูลให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โมเดล 70-20-10 จะช่วยให้เนื้อหาของเราไม่สะเปะสะปะ ผู้อ่านจะเห็นภาพได้ง่ายว่าผู้สมัครคนนี้เป็นอย่างไร การใส่ Online Certificate จึงเริ่มด้วยขั้นตอนเหล่านี้

10% ‘ชื่อคอร์ส, สถาบันและใบ Online Certificate (ถ้ามี)’

20% ‘การต่อยอดหรือการตกผลึกการเรียนรู้’

  • สิ่งที่ได้จากการเรียนคอร์สนี้ไม่ว่าจะเป็นทักษะ Hard Skills หรือ Soft Skills
  • การต่อยอด, แผนการ หรือเป้าหมายที่ตั้งไว้
  • สอนโดยใคร มีประสบการณ์แค่ไหน

70% ‘การลงมือทำ’

ผลงานที่เกิดจากการต่อยอดความรู้นี้

  • ทำไมถึงเลือกทำผลงานนี้, เราเห็นปัญหาอะไรจึงเลือกทำผลงานนี้
  • วิเคราะห์หรือจัดการข้อมูลของงานอย่างไรบ้าง
  • ติดต่อ, ร่วมงานกับใคร/ทีมงานไหนบ้าง
  • บริหารจัดการตัวเองอย่างไรบ้าง
  • ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร

ทั้งนี้ในการวางรูปแบบของ Resume สามารถทำได้หลากหลายมาก ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละคน และไม่จำเป็นจะต้องมีทุกหัวข้อย่อย แต่เนื้อหาหลัก (70-20-10) ควรจะมีทั้งหมด โดยอาจใช้วิธีอธิบายให้กระชับ ได้ใจความ และถ้าสามารถคงสัดส่วนของเนื้อหาไว้ที่ 70-20-10 ได้ จะยิ่งดี

บทสรุป

Online Certificate ที่เราเรียนมา สามารถสร้างความน่าเชื่อถือและถ่ายทอดตัวตนของเราได้ ถ้าหากมีการลงมือทำต่อยอดความรู้นั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นและถ่ายทอดออกมาโดยใช้การสื่อสารที่เหมาะสม คือประยุกต์โมเดลการเรียนรู้ 70-20-10 มาเขียนเป็นผลงานใน Resume

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง