โอกาสของคนทำงานและ HR ในโลก Metaverse

HIGHLIGHT

  • Metaverse คือเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการสื่อสารหลักบนโลกอนาคตอันใกล้นี้ และส่งผลกระทบต่อคนทุกคน ซึ่งนั่นรวมไปถึงองค์กรต่าง ๆ มันจะทำให้วิธีการทำงานในโลกอนาคตมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • Metaverse จะทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกจ่อมจมไปกับประสบการณ์มากกว่าเดิม มันคือการเปลี่ยนแปลงจากสื่อสาร 2D บนหน้าจอ Device ต่าง ๆ ไปเป็น 3D  ที่ทำให้รู้สึกเหมือนเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งจริง ๆ มันช่วยให้มนุษย์สามารถทำสิ่งเดิมด้วยวิธีการใหม่ที่สมจริงและใกล้ชิดกันมากกว่าเดิม
  • Metaverse จะส่งผลต่อ HR และคนทำงานหลายแง่มุม เช่น ช่วยให้ Remote Work สมบูรณ์มากขึ้น, เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการสรรหาทรัพยากรบุคคลและการฝึกอบรมพนักงาน รวมถึงเป็นการสร้างโอกาสในตำแหน่งงานใหม่ ๆ อีกมหาศาล

โอกาสของคนทำงานและ HR ในโลก Metaverse

หลังจากเฝ้าดูปรากฎการณ์ระดับโลกนี้มาสักพัก HREX.asia ก็ตัดสินใจนำเรื่อง Metaverse มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเราเชื่อว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบกับ Future of Job เป็นอย่างมาก นอกจากนี้งานศึกษาเรื่อง FutureTales Lab by MQDC ก็ได้จัด Metaverse เป็นหนึ่งใน Driver of Change ที่จะพลิกโฉมหน้าตาโลกการทำงานภายในปี 2030 ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

เมื่อพิจารณา Metaverse เราจะพบว่าตัวมันเองมีคุณสมบัติคล้ายกับอินเตอร์เน็ตที่มีลักษณะเป็น Ecosystem เชื่อมโยงกันกันสลับซับซ้อนและถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากคนนับล้าน ๆ คนทั่วโลก นั่นทำให้ Metaverse กลายเป็นเรื่องของทุกคนจริง ๆ ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงคนทำงาน ผู้จัดการ ผู้นำองค์กร และ HR ที่เป็นผู้อ่านอย่างทุก ๆ ท่านด้วย หลังจากบทความนี้จบลง ท่านจะเข้าใจว่า Metaverse คืออะไร ประโยชน์ของมันมีอะไรบ้าง อีกทั้งยังมีตัวอย่างอาชีพใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญที่สุดคือการตอบคำถามที่ว่า ‘Metaverse มีเกี่ยวข้องกับ HR และคนทำงานอย่างไร’

Metaverse คืออะไร

Metaverse แปลเป็นไทยตามราชบัณฑิตยสภาได้ว่าจักรวาลนฤมิต ซึ่งแน่นอนว่าฟังแล้วอาจจะงงกว่าเดิมว่ามันหมายถึงอะไร แต่ก่อนที่จะรู้ว่ามันคืออะไร เราจะขอเริ่มจากคำถามที่ว่าแล้วอะไรคือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Metaverse และนิยามที่ตรงกับความเป็นจริงมากกว่าคืออะไร

1. Facebook ไม่ใช่เจ้าของ Metaverse

คนจำนวนมากอาจจะรู้จัก Metaverse จากการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการของบริษัท Facebook (ต่อไปนี้คงต้องเรียกว่า Meta) แต่จริง ๆ แล้วยังมีบริษัทเทคโนโลยีอีกมากที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ เช่น Microsoft ที่เพิ่งปล่อย Software อย่าง Microsoft Mesh เป็นซอฟแวร์ที่ใช้เรื่องของประสบการณ์เสมือนแบบ Mixed Reality Applications เพื่อยกระดับการสื่อสารระหว่างทีม รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู เช่น Nvidia, Unity, Roblox ที่กำลังต่อจิ๊กซอให้ภาพของ Metaverse สมบูรณ์มากขึ้นในอนาคตอันใกล้

2. Metaverse ไม่ได้หมายถึงแว่นตาไฮเทค

การบอกว่าแว่นตา VR คือ Metaverse ก็เหมือนกับการพูดว่า Smartphone คืออินเตอร์เน็ต เพราะจริง ๆ แล้วขอบเขตของอินเตอร์เน็ตนั้นกว้างขวางกว่านั้นมาก และ Smartphone ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ Device ที่จะพาท่านเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังมีอุปกรณ์อีกหลายชนิด เช่น เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์ หูฟัง ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งหลอดไฟ ตอนนี้น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วว่าความเป็นไปได้ของ Metaverse มันหลากหลายมาก และมันจะไม่ได้แยกขาดออกไปจากเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่จะเป็นการต่อยอดขึ้นไปมากกว่า 

หัวใจสำคัญคืออุปกรณ์ Metaverse เหล่านี้ จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถจมดิ่งไปกับประสบการณ์ (Immersive) มากขึ้นกว่าแค่ภาพสองมิติบนหน้าจอโทรศัพท์ของท่านกลายเป็นโลกสามมิติเสมือนที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าเหมือนเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งจริงๆ เราจะไม่ได้เห็นแค่หน้าของเพื่อน แต่เราจะรู้สึกว่าเพื่อนนั่งอยู่ตรงหน้าเราจริง ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว Metaverse ไม่ใช่ตัวฮาร์ดแวร์ แต่เป็น ประสบการณ์สมจริงไร้รอยต่อ’ ที่ถูกสร้างขึ้นจากฮาร์ดแวร์หลาย ๆ ตัว ที่น่าตื่นเต้นคือเรายังไม่รู้อย่างชัดเจนหรอกว่าฮาร์ดแวร์หรือเครื่องหน้าตาแบบไหนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นอุปกรณ์กระแสหลักในโลก Metaverse (เช่นเดียวกับที่ทุกวันนี้คนเราก็ใช้แท็บเล็ต มือถือ และคอมพิวเตอร์เพื่อทำกิจกรรมในลักษณะคล้ายคลึงกันได้) เช่นเดียวกับที่คนก่อนยุคอินเตอร์เน็ตนึกไม่ถึงว่า คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและ Smartphone จะกลายเป็น Consumer Product ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมล้วนเป็นเจ้าของกันคนละอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง

3. Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องสำหรับพวกเนิร์ดหรือเกมเมอร์

ไม่ปฎิเสธว่ากลุ่ม Early Adopter ที่ชอบเทคโนโลยีจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ก้าวสู่โลก Metaverse แต่นั่นคือเรื่องปกติของเทคโนโลยีเกิดใหม่ แต่ไม่นานนักเมื่อโครงสร้างพื้นฐานและผู้ให้บริการในจักรวาลนฤมิตมีความเพียบพร้อมขึ้น กระแสของฝูงชนก็จะเริ่มหลั่งไหลเข้ามาจนในที่สุดคนทั่วทั้งสังคมก็จะใช้งานมันจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในท้ายที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าภาคธุรกิจ องค์กรต่าง ๆ ก็ต้องเรียนรู้เพื่อรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของคนในองค์กร อีกไม่นานเกินรอ Metaverse อาจทำให้การ Conference Call ในปัจจุบันดูเป็นเรื่องของคุณปู่ยุคสงครามโลกก็เป็นได้

ศัพท์ Metaverse น่ารู้

Virtual Reality (VR): เป็นการจำลองสิ่งแวดล้อมขึ้นมาทั้งหมด 100% ผู้ใช้งานจะรู้สึกจมดิ่งลงไปในโลกเสมือนที่ตัดขาดออกไปจากโลกความจริง เช่น Google Street View 

Augmented reality (AR): เป็นการจำลองวัตถุเสมือนขึ้นมา โดยวัตถุนั้นจะวางซ้อนทับอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเติม เสริม ให้โลกความจริงรอบตัวมีรายละเอียดที่ร่ำรวยมากยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เป็นดิจิตอล เช่น เกม Pokémon GO

Mixed reality (MR): เป็นการจำลองสิ่งแวดล้อมเสมือนขึ้นมาเพื่อหลอมรวมเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งผู้ใช้งานจะสัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกทั้งสองที่หลอมเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ 

Extended Reality (XR) / Metaverse: เป็นการผสมรวมระหว่างทุกข้อที่กล่าวมาด้านบน

ประโยชน์ของ Metaverse

เมื่อเข้าใจภาพกว้างแล้วว่า Metaverse คืออะไร เราจะมาหาคำตอบต่อว่าประโยชน์ในแง่มุมไหนบ้างที่มนุษย์ชาติจะได้จากเทคโนโลยีนี้ ซึ่งหากถอยออกมามองดูในปัจจุบัน การสื่อสารของเราส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะของการใช้พื้นที่สองมิติกว้างคูณยาวบนพื้นผิวหน้าจอ Device ต่าง ๆ ในการติดต่อสื่อสาร โดยรูปแบบที่ให้ความสมจริงที่สุดคือวีดีโอคอล (ซึ่งมีทั้งภาพและเสียง) แต่ Metaverse จะพาเราก้าวข้ามไปอีกขั้น เราจะจ่อมจมไปกับประสบการณ์มากกว่าเดิม เราจะก้าวจากการสื่อสาร 2D ไปเป็น 3D มันคือการช่วยให้เราทำสิ่งเดิม ๆ ด้วยวิธีการใหม่ที่ Immersive มากกว่าเดิม 

มาดูเคสที่ Metaverse สามารถส่งผลต่ออุตสาหกรรมตัวอย่างทั้ง 3 นี้เพื่อช่วยให้เราในฐานะนายจ้าง ผู้จัดการและHR จินตนาการได้ดีขึ้นว่าผลกระทบคล้าย ๆ กันนี้ก็สามารถส่งผลต่อโลกการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ได้ไม่ต่างกันเลย

1. ยกหมอมาไว้ในบ้านคุณ

Metaverse จะช่วยให้การไปหาหมอง่ายขึ้นมาก ปัจจัยจำกัดเรื่องระยะทางจะคลี่คลายลงเมื่อคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น (อย่างน้อยก็การวินิจฉัยความผิดปกติเบื้องต้น) ซึ่งอันที่จริงแล้วปัจจุบันก็จะมีคำอย่าง Telemedicine ที่พูดถึงการบริการทางการแพทย์แบบระยะทางไกล ในไทยเราก็มีบริการการสั่งยาทางไกล การปรึกษาจิตแพทย์ทางไกล แต่เมื่อไหร่ที่ Metaverse เข้ามาอย่างเต็มตัว เราจะได้เห็นพัฒนาการของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ล้ำหน้ามากขึ้นกว่าเดิม เมื่อแพทย์สามารถเก็บข้อมูลคนไข้ได้ละเอียดมากขึ้น ย่อมทำให้การวินิจฉัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

2. เกมที่เป็นมากกว่าเกม

Metaverse จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างเกมและการใช้ชีวิตพร่าเลือนไป เมื่อหลายสิ่งในโลกเสมือนอนุญาตให้เราทำหลายสิ่งที่โลกจริงทำไม่ได้ เราสามารถสร้างร่าง Avatar ที่เป็นตัวตนเสมือนอยู่ใน Metaverse ที่จะมีคาแรคเตอร์ได้อิสระอย่างใจคิด มีสถานที่หรือภารกิจที่ถูกออกแบบขึ้นมาในลักษณะของเกมให้เราสามารถที่จะเข้าไปผจญภัย แข่งขัน และพิชิตโดยปราศจากสิ่งใดที่จะมาบล๊อคจินตนาการของผู้สร้างเกมนั้น ๆ ได้ สิ่งที่พิเศษจริง ๆ คือเกมในโลกเสมือนนี้เป็นเหมือนดินแดนไร้รอยต่อที่ทุกอย่างผสานถึงกัน ระบบเศรษฐกิจในเกมจะสามารถโยกย้ายถ่ายโอนระหว่างกัน ไอเทมที่ถูกใช้อยู่ในเกมหนึ่งอาจจะเอาไปใช้กับอีกที่ได้ สกุลเงินในเกมหนึ่งอาจจะถูกเอาไปซื้อเงินอีกสกุลเพื่อใช้ในอีกเกมหนึ่งได้

3. เปลี่ยนนิยามของการท่องเที่ยว

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องเคยรู้สึกว้าวกับ Google Street View ที่เราสามารถหยิบลากเอามนุษย์ตัวจิ๋วสีเหลืองไปหย่อนไว้ตรงจุดไหนของแผนที่ก็ได้เพื่อดูหน้าตาจริง ๆ ของพื้นที่นั้น ซึ่งมันก็ถูกจัดเป็น Virtual Reality (VR) แบบ 2D ประเภทหนึ่ง 

แต่ Metaverse จะมาสร้างนิยามใหม่ให้กับการเดินทางและการท่องเที่ยวในรูปแบบ 3D จะมีสถานที่จริง ๆ บนโลกใบนี้ที่ถูกจำลองและยกเข้าไปใน Metaverse รวมถึงจะมีการสร้างสถานที่พิเศษหลุดโลกล้ำเกินจินตนาการที่อาจมีโมเดลมาจากหนังหรือเกม หรือตามแต่จินตนาการของสถาปนิกแห่งโลกเสมือนจะสรรค์สร้างขึ้นมา หรืออาจพูดได้ว่า Metaverse จะทำให้ต้นทุนในการเดินทางท่องเที่ยวถูกลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตรงนี้อาจจะมีผู้คนมาถกประเด็นกันในเชิงปรัชญากันว่าการท่องเที่ยวแบบไหนจะเหนือกว่ากันระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน แต่นั่นก็เหมือนกับการถามว่า การเอาเวลาไปใช้ชีวิตจริงหรือวีดีโอเกมดีกว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อเทคโนโลยี Metaverse ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ความสมจริงจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างสองโลกนี้จางลงไปเรื่อย ๆ แต่ที่แน่ ๆ ในฐานะปัจเจกบุคคลก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและเพิ่มเติมสีสันให้กับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เมื่อคุณสามารถเดินเล่นบนกำแพงเมืองจีนได้จากห้องนอนของคุณ

Metaverse เกี่ยวข้องกับ HR และคนทำงานอย่างไร

1. ยกระดับการทำงานแบบ Remote Work

Metaverse จะมีผลกับการทำงานทางไกล เหมือนกับที่ระบบอินเตอร์เน็ตและ Conference Call มาช่วยให้เราสามารถทำงานแบบ WFH ได้ในช่วง COVID-19 แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วองค์กรก็จะเริ่มได้เรียนรู้ว่าเมื่อพนักงานทำงานทางไกลไปนาน ๆ สิ่งที่ขาดหายไปก็คือมิติของความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ แต่ Metaverse จะมาทำลายกำแพงตรงนี้ลงไป ต่อให้เราอยู่ไกลกัน แต่เราจะไม่ได้รู้สึกเหมือนไกลกันอีกต่อไปแล้ว โลกเสมือนที่สมจริงเหล่านี้จะทำให้เราเห็นภาษากายและทำให้การปฎิสัมพันธ์สมจริงมากขึ้น รวมถึงปัญหาและความกังวลใจอื่น ๆ ที่นายจ้างมีอย่างเช่น การอู้งานของพนักงาน หรือเรื่องการบริหาร Performance สำหรับพนักงานที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศก็จะได้รับการแก้ไข เมื่อทุกคนสามารถมาเจอกันในห้องทำงานเสมือนสมมุติในโลก Metaverse

2. การสรรหาทรัพยากรบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไป

ในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา การสัมภาษณ์งานผ่านออนไลน์ได้กลายมาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากเราย้อนไปเมื่อซักสามสี่ปีที่แล้ววิธีการสัมภาษณ์ฺงานของบริษัทส่วนใหญ่จะต้องมีการเดินทางเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ หากเป็นบริษัท Recruiting Agency ก็จะต้องมีห้องที่เตรียมไว้สำหรับการสัมภาษณ์ไว้มากพอสมควรเลย แต่ตอนนี้ห้องเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นห้องแห่งความว่างเปล่า หรือเราอาจจะเห็นพนักงานสรรหาเพียงคนเดียวกำลังนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อ Conference Call กับผู้สมัครเพื่อคัดกรองคนเข้าทำงาน

สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจะเกิด และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องปกติในเร็ววัน และในอนาคตอันใกล้นี้ Metaverse จะเข้ามาทำให้การสัมภาษณ์พนักงานมีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกขั้นราวกับการเจอตัวกันแบบเป็น ๆ เลยทีเดียว เมื่อมองจากมุมกว้างการสัมภาษณ์ในรูปแบบเดิม ๆ ก็ยังคงมีอยู่เพียงแต่มีตัวเลือกหรือช่องทางในการเข้าถึงผู้สมัครงานจะหลากหลายมากขึ้น นี่ยังไม่นับรวมว่าผู้คนที่อยู่ในแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีธรรมชาติแตกต่างกันไป ไม่แน่ว่านายจ้างอาจจะเข้าถึงกลุ่มคนบางประเภทที่อาจจะหาตัวจับได้ยากในช่องทางบนโลกปกติโดยการเข้าไปสรรหาพนักงานที่อยู่ใน Community จำเพาะบางแห่งใน Metaverse ที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ต้องการหา เช่น คุณอาจจะไปเช่าพื้นที่เพื่อเปิดบูธรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ในพื้นที่โลกเสมือนที่กำลังจัด Event แชร์ความรู้ด้านสตาร์ทอัพเป็นต้น 

โดยล่าสุด Hyundai บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้มีการลงทุนเพื่อสร้างระบบในการเทรนพนักงานใหม่ผ่านโลกเสมือน อีกกรณีเช่นบริษัท Samsung ก็ได้มีการจัด Event เพื่อเปิดรับสมัครงานในโลกเสมือนเช่นกัน นี่แค่ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอนาคตก็จะยิ่งมีเรื่องแบบนี้เยอะขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ อย่างที่บอกไว้ว่า ‘สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจะเกิด และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องปกติในเร็ววัน’

3. ปฏิวัติการเรียนรู้ของพนักงาน

ในอดีตการที่พนักงานซักคนที่เริ่มต้นเข้ามาทำงานใหม่ ๆ จะได้รับการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง (On the job training) จนกระทั่งพัฒนาขึ้นสู่ศักยภาพสูงสุดในการทำงานเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรเลย อีกทั้งองค์กรจะต้องมีการจัดตั้งระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) เพื่อช่วยสอนงานให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ล้วนใช้ทรัพยากรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ (ผู้สอน) หรือทรัพยากรด้านเวลาที่พนักงานใหม่ต้องใช้ไปในการเรียนรู้ระเบียบการทำงานไปจนถึงความรู้เชิงเทคนิคที่เฉพาะกับตำแหน่งงานนั้น 

ทีนี้เราลองมาจินตนาการถึงสถานการณ์สมมุติในอนาคต เมื่อพนักงานที่ทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สักคนเดินมาถึงไซต์งานการผลิต เขาสามารถที่ีจะหยิบแว่นตาอัจฉริยะที่เชื่อมต่อเข้าสู่ฐานข้อมูลการฝึกอบรมพนักงานใหม่ของบริษัทผ่านระบบระบบคลาวด์ พนักงานสามารถที่จะเลือกบทเรียนที่สอดคล้องกับงานที่ต้องทำในวันนั้น ๆ ทันใดนั้นก็มีภาพจำลองของผู้สอนจากระบบการเรียนรู้ รวมถึงสัญลักษณ์และฟังก์ชั่นต่าง ๆ จากแว่นตาซ้อนทับไปบนภาพจริงตรงหน้าที่เป็นสภาพแวดล้อมพื้นที่การทำงานบนไซต์งาน ที่จะคอยแนะนำขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดยิบเสียยิ่งกว่าพี่เลี้ยงที่้เป็นคนจริง ๆ สามารถทำได้เสียอีก ฉากทัศน์ทั้งหมดนี้คงจะทำให้พอเห็นภาพแล้วว่าองค์กรจะสามารถลดต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ได้มากมายขนาดไหน

4. โอกาสในตำแหน่งงานใหม่ ๆ

นี่คือช่วงเวลาที่จะเริ่มมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยตำแหน่งนั้นอาจจะเป็นตำแหน่งใหม่ถอดด้ามไปเลย หรืออาจจะเป็นตำแหน่งงานที่เป็นการต่อยอดจากตำแหน่งงานเดิม ส่วนถัดไปเราจะพาผู้อ่านไปสำรวจอาชีพใหม่ ๆ ที่อาจผุดขึ้นอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยี Metaverse เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งเสมอเมื่อเทคโนโลยีมีการก้าวไปข้างหน้า นั่นก็คือการปรับตัวของตลาดแรงงานเพื่อขานรับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ใครที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจะต้องล้มหายตายจากไป

ตัวอย่างอาชีพ Metaverse Jobs 

เราเอาตัวอย่างตำแหน่งงานที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้ลองจินตนาการถึงโอกาสการทำงานใหม่ ๆ 3 ตัวอย่างดังนี้

1. Metaverse Tour Guide: ไกด์ทัวร์เมตาเวิร์ส

มาเริ่มจากอันแรกกันเลยดีกว่าเพราะงานนี้จะเป็นของไกด์ทัวร์ Metaverse นั่นเองซึ่งจะเป็นด่านแรก ๆ เลยที่จะเป็นคนคอยแนะนำคนหน้าใหม่ ๆ เข้าสู่ดินแดนโลกเสมือนที่กว้างใหญ่ไพศาล 

โดยไกด์ทัวร์คนนี้ของเราจะเป็นคนที่คอยพาเราไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจไม่แตกต่างจากไกด์ทัวร์ในโลกแห่งความเป็นจริงเลย สิ่งที่แตกต่างออกไปคือแต่ละสถานที่ที่มีความพิเศษเฉพาะตัวเหล่านั้นจะต้องถูกสร้างขึ้นมาโดยใครซักคนเป็นแน่ เขาจะทำหน้าที่แนะนำประวัติศาสตร์ความเป็นมา แนะนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ ซึ่งตำแหน่งงานนี้อาจจะเป็นการจ้างในรูปแบบฟรีแลนซ์โดยผู้ใช้งานที่อยากท่องเที่ยว หรืออาจจะถูกจ้างจากเจ้าของพื้นที่เหล่านั้นเองเพื่อเป็นไกด์ประจำสถานที่นั้นโดยเฉพาะ

2. Metaverse Stylist: นักออกแบบตัวละครและเสื้อผ้าเมตาเวิร์ส

เมื่อเราเริ่มท่องไปในโลกเสมือนได้คล่องแคล่วมากขึ้น งานอีกตำแหน่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นคือเรื่องของตัวตนผู้ใช้งาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะสำหรับมนุษย์แล้ว ความต้องการที่จะมีเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวเอง ก่อให้เกิดความหลากหลายอันงดงาม ทุกวันนี้โลกเริ่มเปิดรับความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา ความเชื่อ เพศสภาพ ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งถูกขับเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อคนทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึง Metaverse ได้ไม่ต่างกัน ทำให้ Avatar เป็นหนึ่งในคอนเซปต์ที่เป็นของคู่กับโลกเสมือน นั่นคือตัวตนจำลองที่เราสามารถสรรสร้างขึ้นมาตามใจนึกคิด (เทียบเคียงกับรูปโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดีย) หากคุณคิดว่าโลกของแฟชันบนโลกจริงสุดแสนพิศดารแล้ว คุณจะต้องเตรียมตัวรับมือเจอกับการแต่งตัวหลุดโลกตามท้องถนนในโลกเสมือน (ถ้าจะมี Avatar ที่ตัวเป็นมนุษย์แต่มีหัวเป็นไก่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแปลกใจ) ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Metaverse Stylist หรือนักออกแบบตัวละคร Avatar หรือเครื่องแต่งกายใด ๆ จะกลายมาเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจอย่างแน่นอน

3. Metaverse Marketer: นักการตลาเมตาเวิร์ส

ถ้าหากยังจำกันได้ คำว่า Digital Marketing หรือนักการตลาดดิจิตอลเคยเป็นคำดังคำนึงเลยเมื่อประมานหลายปีก่อนในยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมเสพสื่อของคนทั่วโลก คนเราไม่ได้เสพสื่อน้อยลง แต่ย้ายสถานที่การเสพสื่อจากช่องทางเก่า ๆ อย่างทีวี วิทยุ มาเป็นสื่อออนไลน์ บนหน้าจอมือถือเป็นหลัก และเมื่อผู้เสพสื่อย้ายไปที่ใด นั่นหมายความว่าความสนใจของคนย่อมย้ายไปที่นั่น สิ่งที่จะตามไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือเม็ดเงินโฆษณาที่จะไหลไปยังสื่อใหม่ที่มีฐานผู้ชมจำนวนมากกว่า นั่นทำให้เกิดการจ้างงานนักการตลาดที่มีชุดทักษะบนโลกดิจิตอล เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO, นักยิงโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเช่นกันเมื่อคนจำนวนมากเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่โลก Metaverse ลองจินตนาการถึงตำแหน่งงานนี้ เขาจะต้องคอยซื้อโฆษณาบนป้ายบิลบอร์ดในโลกเสมือน ต้องคอยประสานงานในการจัด Event ประสานงานกับศิลปิน Influencer ต่าง ๆ เขาต้องวางแผนการตลาดในการสร้างพื้นที่ของแบรนด์ในโลกเสมือนรวมถึงการเชื่อมโยงช่องทางการสื่อสารการตลาดทั้งจากโลกเก่า โลกดิจิตอล และโลก Metaverse ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แตกต่างจากที่วงการ Digital marketing ทุกวันนี้เรียกการทำการตลาดหลากหลายช่องทางว่า Omnichannel เพียงแต่หนนี้มันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกหลายเท่านัก 

โอกาสของคนทำงานและ HR ในโลก Metaverse

โอกาสสำหรับคนทำงาน

1. โอกาสในการหางานใหม่ในสายงาน Metaverse 

2. โอกาสในการต่อยอดอาชีพให้ทันสมัยและมีรายได้มากขึ้น

3. โอกาสในการทำงานบริษัทที่อยู่ไกลหรืออยู่ต่างประเทศ 

4. โอกาสในการทำงานที่มีอิสระและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น

5. โอกาสหารายได้เสริมจากงาน Freelance ใน Metaverse

6. โอกาสในการสร้างสร้างผู้ติดตามในช่องทางใหม่ ๆ เพื่อสร้าง​ Personal branding 

โอกาสสำหรับ HR และองค์กร

1. ลดค่าใช้จ่ายด้านออฟฟิศ ใช้ออฟฟิศรองรับเฉพาะตำแหน่งที่จำเป็นที่ต้องเข้าออฟฟิศจริง ๆ

2. ขยาย Talent Pool ให้กว้างขึ้น สามารถจ้างคนเก่งที่อยู่ที่ไกล ๆ ได้

3. เพิ่มช่องทางการสรรหาพนักงานใหม่ใน Community เฉพาะใน Metaverse 

4. ลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพในการหาพนักงานโดยใช้การสัมภาษณ์เสมือนจริง

5. ลดต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ โดยการสร้างระบบเรียนรู้อัตโนมัติแบบสมจริง

6. เพิ่มคุณภาพในการฝึกอบรมแบบทางไกล ลดค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์และค่าเดินทาง

สรุป

เมื่อมองจากมุมประวัติศาสตร์ ไล่เรียงมาจากชนบทสู่เมือง จากผืนนาและท้องไร่สู่สายพานการผลิต จากการทำงานเป็นแคมปัสและไซโลสู่ Creative Space และ Flat organization จากการเดินทางฟันฝ่าการจราจรสู่โลกแห่ง Remote Work ผ่านหน้าจอสี่เหลื่อมวีดีโอคอล และสุดท้าย, จากจอสี่เหลี่ยมสองมิติ สู่โลกเสมือน Metaverse อีกใบที่ไร้ซึ่งขีดจำกัด

มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจที่ว่า “ท่ามกลางสายลมการเปลี่ยนแปลง บางคนสร้างกำแพง บางคนสร้างกังหัน” ไม่ว่ากี่ยุคสมัยที่ผ่านมาเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับโลกการทำงานเสมอ และประวัติศาสตร์ก็ได้ฉายภาพซํ้า ๆ ให้เราเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงจะสร้างผู้ชนะที่รู้จักเอาเทคโนโลยีมาต่อยอด ในขณะเดียวกันก็สร้างผู้แพ้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานและองค์กรเริ่มต้นที่จะจับตามองเทคโนโลยีนี้เอาไว้ เริ่มศึกษา ติดตามข่าวและช่วยกันคิดว่าในแต่ละปีที่ใกล้เข้ามาเราจะเริ่มต้นทำอะไรกับตัวเองหรือองค์กรของเราได้บ้าง
HREX.asia ขอชวนทุกท่านมาร่วมสร้างกังหันที่จะเปลี่ยนลมพายุให้กลายเป็นแหล่งพลังงานดี ๆ ที่จะนำเราไปสู่อนาคตด้วยกัน


 

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง