10 คุณสมบัติในการเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ดี

HIGHLIGHT
  • การเลือกพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ดีต้องเริ่มจากความสมัครใจ ไม่เกิดจากการบังคับโดยตำแหน่ง เพราะหากพี่เลี้ยงเต็มใจที่จะทำหน้าที่จะทำให้การถ่ายทอดและสอนงานราบรื่น มีประสิทธิภาพขึ้นได้
  • พี่เลี้ยง (Mentor) ที่ดีต้องรู้จักรับฟังด้วย ไม่ใช่เอาตนเองเป็นใหญ่เพียงฝ่ายเดียว ต้องเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น รับการเสนอแนะของผู้อื่นได้ ใจเย็นในการแนะนำและตัดสินใจ เลือกทางออกที่เหมาะสมที่สุด
  • คุณสมบัติสำคัญที่สุดของการเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) นั้นก็คือต้องมีความรู้ความสามารถที่แท้จริงในงานที่ทำ ตลอดจนมีทักษะชำนาญการที่ดีเยี่ยม เพราะนอกจากจะสอนงานน้องเลี้ยงแล้ว ยังต้องเตรียมตัวในการตอบข้อสักถาม รวมถึงเตรียมตัวแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย
  • กุญแจสำคัญของการที่จะสร้างระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) ให้สำเร็จและมีประสิทธิภาพก็คือการสร้างความประทับใจระหว่างกัน ซึ่งนอกจากจะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระยะยาวแล้ว ยังสร้างความทรงจำที่ดี และช่วยปลูกฝังคุณลักษณะในการเป็นพี่เลี้ยงที่ดีที่จะนำไปใช้ในอนาคตได้ รวมถึงสร้างความภักดีให้กับองค์กรได้ในที่สุด

พี่เลี้ยง (Mentor) HR

คนไทยทั่วไปเพิ่งจะรู้จักคำว่า Mentor เมื่อไม่นานมานี้ แต่สำหรับแวดวงบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) นั้นอาจจะคุ้นเคยกับคำนี้เป็นอย่างดี สำหรับคำว่า Mentor นั้นแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “พี่เลี้ยง” ซึ่งคำนี้คนไทยจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีทีเดียว อันที่จริงคำว่า Mentor นั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณโน่นแล้ว มีการใช้คำนี้มานานแสนนานในความหมายเดียวกับที่คนไทยทั่วไปคุ้นเคยกันดี แต่สำหรับในวงการ HR นั้นได้มีการนำคำนี้มาประยุกต์ใช้ในลักษณะเดียวกันแต่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานเสียมากกว่า ซึ่งเป็นระบบหนึ่งที่มีประโยชน์ต่อองค์กรเป็นอย่างมาก

ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System)

ระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System)  ก็คือ ระบบดูแล สอนงาน และเป็นที่ปรึกษาให้กับบุคลากรที่อ่อนประสบการณ์กว่า โดยผู้ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงควรจะต้องมีความอาวุโสในงานตลอดจนประสบการณ์การทำงานนั้นๆ ที่สูงกว่าผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแล นอกจากนี้บางครั้งพี่เลี้ยงอาจจะเป็นผู้ให้คำแนะนำตลอดจนเป็นที่ปรึกษาในเรื่องอื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย อย่างเช่น การปรับตัวในการทำงานที่องค์กร, การใช้ชีวิตในองค์กร, ตลอดจนการใช้ชีวิตในสังคม เป็นต้น

  • พี่เลี้ยง (Mentor) หมายถึง ผู้ที่รับหน้าที่ดูแลบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ได้รับมอบหมาย คอยสอนงานตลอดจนเป็นที่ปรึกษาตามทักษะ ความเชี่ยวชาญ หรือประสบการณ์ที่ตนถนัดและทำอยู่ก่อนหน้าแล้ว โดยมากมักเป็นรุ่นพี่ในองค์กรหรือผู้ที่อาวุโสกว่าซึ่งทำงานมาก่อนหน้าและมีความเข้าใจการทำงานเป็นอย่างดี
  • ผู้รับการดูแล / น้องเลี้ยง (Mentee) หมายถึง ผู้ที่ต้องอยู่ในการดูแลของพี่เลี้ยง เรียนรู้การทำงาน ฝึกฝนทักษะ ตลอดจนสั่งสมประสบการณ์การทำงานเพื่อให้เกิดความชำนาญยิ่งขึ้น โดยมากมักเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานใหม่ มีอาวุโสในการทำงานน้อยกว่าผู้ที่ทำงานในองค์กรมาก่อน ส่วนใหญ่มักเป็นรุ่นน้องที่อายุอ่อนกว่า น้องเลี้ยงในบางครั้งก็เป็นผู้ที่อยู่ในองค์กรมาแล้วแต่กำลังจะขึ้นตำแหน่งใหม่หรือย้ายแผนก/สายงาน ซึ่งผู้ที่อยู่ในตำแหน่งเหนือกว่า หรือผู้ที่รู้และเข้าใจการทำงานมากกว่า จะเป็นผู้ที่คอยดูแลนั่นเอง อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุจริงแต่ขึ้นอยู่กับอายุและประสบการณ์การทำงานเป็นหลัก

 10 คุณสมบัติในการเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ที่ดี

พี่เลี้ยง (Mentor) HR

พี่เลี้ยงนั้นไม่ใช่ตำแหน่งงานประจำ ไม่ใช่ตำแหน่งหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ในขณะเดียวกันการเป็นพี่เลี้ยงต้องเสียสละหลายสิ่งหลายอย่างโดยเฉพาะเสียสละเวลาในการมาดูแล สอนงาน เพิ่มภาระของตน นั่นเลยทำให้หลายคนอาจไม่อยากเป็นพี่เลี้ยงก็เป็นได้ อันที่จริงแล้วใครๆ ก็สามารถเป็นพี่เลี้ยง (Mentor) ได้ แต่การเป็นพี่เลี้ยงที่ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เราขอแนะนำคุณสมบัติที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นพี่เลี้ยงควรมีดังนี้

 1.เต็มใจที่จะแบ่งปัน

การจะเป็นพี่เลี้ยงที่ดีนั้นควรมีคุณสมบัตินี้เป็นอันดับแรก เพราะหน้าที่นี้คือการเสียสละอย่างหนึ่ง ผู้ที่ไม่เต็มใจจะมาทำหน้าที่นี้จะทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีภาระและเสียเวลาอย่างยิ่ง นั่นไม่เป็นผลดีต่อการดูแลน้องเลี้ยงเลย เพราะหากไม่เต็มใจตั้งแต่ต้นแล้วก็จะทำให้ไม่เต็มที่ในการดูแลและสอนงานอีกด้วย ท้ายที่สุดแล้วอาจจะไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับใครเลย องค์กรหรือฝ่าย HR ควรเลือกคนที่เต็มใจจะมาเป็นพี่เลี้ยงเป็นอันดับแรก มากกว่าการบังคับหรือสั่งการผู้ที่ไม่เหมาะสม

2.มีนิสัยชอบดูแลให้คำแนะนำ

พี่เลี้ยงที่ดีควรมีนิสัยชอบดูแลและให้คำแนะนำผู้อื่น รู้จักเอาใจใส่ผู้อื่น เพราะการเป็นพี่เลี้ยงจะต้องคอยดูแลและเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องเลี้ยงที่อาจกินเวลาระยะยาว หากเลือกคนที่เก่งงาน แต่ไม่เก่งการดูแล เป็นฝ่ายตั้งป้อมก่อนว่าน้องเลี้ยงจะต้องมาถามพี่เลี้ยงก่อนเท่านั้น ถามแล้วจึงจะตอบ เพราะตัวเองก็มีงานท่วมตัวเช่นกัน ซึ่งตามหลักความเป็นจริงแล้วไม่ใช่น้องเลี้ยงทุกคนจะเป็นคนกล้าซักถามเสมอไป หรือเกรงใจในการสักถามตามหลักอาวุโสและผู้ที่มาใหม่ ก็อาจทำให้ไม่ได้สอนงานกัน เกิดความอึดอัด และงานไม่สัมฤทธิ์ผลได้ หรือบางอย่างคนที่มาใหม่ก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง สิ่งใดควรหรือไม่ควรทำ ความไม่รู้อาจทำให้เกิดข้อบกพร่องในการทำงานได้ ซึ่งส่วนนี้พี่เลี้ยงต้องทำการสอนงาน หรือแนะนำให้รู้นั่นเอง

3.เชี่ยวชาญในงาน เข้าใจในองค์กร

พี่เลี้ยงควรจะต้องมีเข้าใจและเชี่ยวชาญในงานที่ทำ ตลอดจนมีทักษะความชำนาญการในงานนั้นๆ ด้วย เพราะนอกจากจะต้องสอนงานให้กับน้องเลี้ยงที่ใหม่สำหรับการทำงานแล้ว พี่เลี้ยงยังจะต้องคอยตอบข้อสงสัยต่างๆ ของน้องเลี้ยงอีกด้วย ซึ่งอาจไม่ได้อยู่ในขอบข่ายที่ตนรู้หรือวางแผนไว้ล่วงหน้า การเข้าใจและเชี่ยวชาญในงานนั้นจะทำให้สามารถตอบปัญหา ข้อซักถามต่างๆ ได้รอบด้าน หากพี่เลี้ยงไม่ชำนาญการในการทำงานแล้วก็จะไม่สามารถตอบปัญหาหรือไขข้อข้องใจได้ ก็อาจทำให้การทำงานมีปัญหาได้ หรือหากน้องเลี้ยงมีความรู้ความสามารถที่ดีกว่า ก็อาจทำให้ลดความไว้วางใจหรือเชื่อถือในตัวพี่เลี้ยงได้เหมือนกัน

อีกส่วนที่พี่เลี้ยงควรต้องเข้าใจอย่างดีก็คือเข้าใจในองค์กร เพราะนอกจากองค์ความรู้ในการทำงานแล้ว องค์ความรู้เรื่ององค์กรต่างๆ พี่เลี้ยงจะต้องทำหน้าที่ในการถ่ายทอดในตัวด้วย ตั้งแต่ประวัติองค์กร ลักษณะธุรกิจ ไปจนถึงวัฒนธรรมองค์กร สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้มาใหม่ไม่รู้ทั้งหมด พี่เลี้ยงเป็นหนึ่งส่วนที่จะต้องถ่ายทอดความเป็นองค์กรให้กับน้องเลี้ยงได้เป็นอย่างดี

4.มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีทัศนคติที่ยอดเยี่ยม

คุณสมบัติข้อนี้อาจไม่ใช่เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นเป็นหลัก แต่หากพี่เลี้ยงมีคุณสมบัติข้อนี้ก็จะทำให้การเป็นพี่เลี้ยงมีประสิทธิภาพมากขึ้น การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เกิดการสนิทสนม ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ยอมรับนับถือกัน รวมถึงเปิดใจระหว่างกันได้ง่าย เมื่อพี่เลี้ยงและน้องเลี้ยงยอมรับกันและกันตลอดจนสร้างปฎิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดีแล้วก็ย่อมทำให้การถ่ายทอดงานตลอดจนการพูดคุยต่างๆ ดูราบรื่น และประสบผลสำเร็จได้ง่าย

บ่อยครั้งที่ผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมักเป็นผู้ที่มีทัศนคติที่ดีด้วย การมีทัศนคติที่ดีก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรเลือกคนที่มีทัศนคติไม่ดีกับการทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติที่ไม่ดีต่อองค์กรมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพราะนั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่อาจส่งผลต่อการถ่ายทอดเรื่องแย่ๆ ทัศนคติที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และต่อองค์กร เมื่อน้องเลี้ยงซึมซับทัศนติแย่ๆ ไปก็จะส่งผลให้มีพื้นฐานทัศนคติที่แย่ได้เช่นกัน ทัศนคติในเชิงบวกนั้นยังส่งผลดีต่อการมองปัญหาและแก้ปัญหา ตลอดจนการส่งเสริมกำลังใจซึ่งกันและกันด้วย หากมองปัญหาเป็นทัศนคติในทางลบ ก็อาจทำให้เราอยากวิ่งหนีปัญหาได้ หรือกลัวปัญหาและไม่กล้าเผชิญในที่สุด แต่หากมองปัญหาบนพื้นฐานทัศนคติในทางบวก ก็อาจเป็นแรงผลักดันในการต่อสู้ตลอดจนเอาชนะปัญหาเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จได้เช่นกัน

5.มีทักษะการสื่อสารที่ดี

คุณสมบัตินี้ถือเป็นคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งเลยทีเดียว เพราะไม่ใช่ว่าคนเก่งทุกคนจะเข้าใจการสอนหรือถ่ายทอดงานที่ดี ในขณะเดียวกันผู้ที่จะรับหน้าที่ในการถ่ายทอดงานที่ดีนั้นก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่เก่งที่สุดเสมอไป แต่หากคนเก่งแล้วมีทักษะการสื่อสารที่ดีนั้นก็จะยิ่งเป็นพี่เลี้ยงที่ยอดเยี่ยมที่สุด พี่เลี้ยงควรจะต้องมีทักษะในการสื่อสารถ่ายทอดข้อมูลที่ดี รู้จักการถ่ายทอดงานให้เป็นขั้นเป็นตอน ใช้ภาษาที่ทำให้เข้าใจง่าย เหมาะสม ทักษะการสื่อสารที่ดีจะช่วยทำให้น้องเลี้ยงเข้าใจได้ง่ายขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากเลือกคนที่ไม่มีทักษะในการสื่อสารที่ดีมาทำหน้าที่ตรงนี้ ก็อาจทำให้การสื่อสารระหว่างกันไม่รู้เรื่อง สอนงานไม่เป็น ลำดับขั้นตอนไม่ถูก ก็อาจทำให้งานเกิดการเสียหาย หรือน้องเลี้ยงจำวิธีการทำงานแบบผิดๆ ไปได้เช่นกัน

6.มีความรับผิดชอบ

ควรเลือกผู้ที่มีความรับผิดชอบมาทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เพราะผู้ที่มีความรับผิดชอบจะสามารถถ่ายทอดความรับผิดชอบที่ดีสู่น้องเลี้ยงได้เช่นกัน ความรับผิดชอบนี้ตั้งแต่การรับผิดชอบในงานของตน ไม่ทิ้งงาน ปฎิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ เพราะหากเป็นคนไม่รับผิดชอบในการทำงานแล้วน้องเลี้ยงก็จะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดี หรือคิดว่าพี่เลี้ยงทำแบบนี้ได้น้องเลี้ยงก็ต้องทำได้บ้าง นั่นทำให้เป็นการปลูกฝังนิสัยไม่ดีกับน้องเลี้ยงได้ ผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบในการทำงานก็อาจส่งผลให้ไม่มีความรับผิดชอบในการสอนงานได้เช่นกัน พี่เลี้ยงอาจเกิดความขี้เกียจ หรือไม่ใส่ใจเพราะไม่ใช่งานของตน ปล่อยปะละเลย ก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อการดูแลและปลูกฝังน้องเลี้ยงได้

7.มีภาวะเป็นผู้นำที่ดี

ภาวะผู้นำนั้นไม่ได้หมายถึงตำแหน่งที่เป็นหัวหน้างาน แต่หมายถึงบุคลิกลักษณะตลอดจนนิสัยในการทำงานที่เป็นคุณลักษณะที่ดีของการเป็นผู้นำ ตั้งแต่รู้จักการประเมินสถานการณ์ วางแผนการทำงาน ตลอดจนบริหารจัดการได้ดี รวมถึงมีทักษะในการเผชิญหน้ากับอุปสรรค์ที่ดี และมีทักษะการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมด้วย หากเลือกพี่เลี้ยงที่มีคุณลักษณะผู้นำที่ดีนั้นจะทำให้เขาสามารถบริหารจัดการน้องเลี้ยงได้ดี สร้างความน่านับถือและน่าเชื่อถือ สามารถส่งสอนและถ่ายทอดได้ ขับเคลื่อนการทำงานได้ดี ตลอดจนมีทักษะในการตัดสินใจที่ดีได้ด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถให้คำปรึกษาหรือแก้ปัญหากับน้องเลี้ยงได้ทันท่วงที ฝึกนิสัยและถ่ายทอดความเป็นผู้นำสู่น้องเลี้ยงได้อีกด้วย

8.รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของผู้อื่น

ผู้ที่เป็นพี่เลี้ยงที่ดีนั้นควรรู้จักฟังให้เป็น ตั้งใจฟัง และยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างจากตน รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ของผู้อื่น และสามารถวิเคราะห์เพื่อเลือกสิ่งที่เหมาะสมที่สุดได้ นอกจากพี่เลี้ยงจะเป็นผู้ถ่ายทอดที่ดียังต้องเป็นผู้รับฟังน้องเลี้ยงที่ดี เปิดใจ ทำใจเป็นกลาง และที่สำคัญต้องเปิดโอกาสให้น้องเลี้ยงได้แสดงความคิดเห็นตลอดจนเสนอแนะสิ่งต่างๆ ด้วย อย่างตั้งตนเป็นผู้รู้ไปเสียทุกเรื่อง ไม่ยอมรับฟังคนอื่น โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนกว่าหรือผู้ที่มาใหม่ การรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะจากผู้อื่นนั้นบางทีอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด หรือเป็นวิธีคิดรูปแบบใหม่ๆ ที่เรามักคิดไม่ถึงเพราะเราอาจจะอยู่กับสิ่งที่คุ้นเคยจนสร้างกรอบให้ตัวเองอย่างไม่รู้ตัว

9.เป็นคนใจเย็น

พี่เลี้ยงที่ดีคนมีลักษณะนิสัยที่เป็นคนใจเย็น รอบคอบในการตัดสินใจ ไม่ใจร้อน ด่วนตัดสินใจ หรือมีอารมณ์ฉุนเฉียว ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนไม่มีใครอยากอยู่ด้วยหรือร่วมกับคนที่อารมณ์ไม่ดี ระบายอารมณ์โกรธใส่กัน ทะเลาะเบาะแว้ง ระบายความฉุนเฉียว หรือแม้แต่เป็นที่รองรับอารมณ์ของคนอื่น นั่นจะทำให้เกิดการสั่งสมสุขภาพจิตที่ไม่ดี แน่นอนว่าการเป็นพี่เลี้ยงให้กับน้องเลี้ยงที่ยังขาดประสบการณ์นั้นย่อมต้องใช้เวลามากกว่าปกติในการสอนงาน หรืออาจต้องตอบคำถามในสิ่งที่น้องเลี้ยงไม่รู้แต่เป็นเรื่องง่ายสำหรับเราอยู่บ่อยๆ หรือต้องทนกับการถามคำถามเดิมซ้ำๆ ในบางที ถามคำถามอยู่ตลอดเวลา

หากพี่เลี้ยงไม่เป็นคนใจเย็นก็อาจจะเกิดการรำคาญและระเบิดอารมณ์ใส่กันได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่ผลดีเลย พี่เลี้ยงต้องเข้าใจว่าสถานการณ์ตอนนี้คือช่วยที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการเรียนรู้ ไม่มีใครทุกคนที่รู้มาก่อน การเรียนรู้จะทำให้ทุกคนชำนาญ ดังนั้นต้องเข้าใจสถานะผู้ที่มาใหม่ เพราะเมื่อก่อนเราก็เป็นคนที่ไม่เคยรู้มาก่อนเช่นกัน ต้องใจเย็นในการสอนสิ่งเดิมๆ เปิดใจในการรับฟัง ไขข้อข้องใจในสิ่งที่ผู้มาใหม่ไม่รู้ การเข้าใจและใจเย็นจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย และการดูแลเป็นไปอย่างราบรื่น ในขณะที่ความใจร้อนก็ทำให้การทำงานประสบปัญหา น้องเลี้ยงปฎิบัติงานไม่เป็น องค์กรได้รับความเสียหายได้เช่นกัน

10.รู้จักการให้กำลังใจและสร้างความประทับใจให้เป็น

สิ่งนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญเสมอไป แต่ก็เป็นกุญแจสำคัญที่จะสร้างความสัมฤทธิ์ผลได้อย่างดีเยี่ยม พี่เลี้ยงที่ดีควรรู้จักการส่งเสริมให้กำลังใจในทิศทางที่เหมาะสม และในสถานการณ์ตลอดจนช่วงเวลาที่ถูกต้องด้วย เวลาเราเจอปัญหาหรือท้อกับสิ่งใดๆ เรามักต้องการกำลังใจเสมอ และบ่อยครั้งผู้ที่ไม่รู้มาก่อน หรือผู้ที่มาใหม่มักมีโอกาสสูงที่จะทำงานผิดพลาด บกพร่อง หรือตกหล่น พี่เลี้ยงไม่ควรจะดุด่าว่ากล่าวในเหตุที่ไม่สมควร ไม่ควรโยนความผิดหรือผลักภาระให้น้องเลี้ยงเพียงอย่างเดียว ควรเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสด้วยการชี้ให้เห็นปัญหา ข้อบกพร่อง เพื่อแนะวิธีแก้ไข หรือการปฎิบัติที่ถูกต้อง ตลอดจนส่งเสริมกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรค และให้กำลังใจในการทำงานต่อไป แล้วหัวใจสำคัญที่สุดของการเป็นพี่เลี้ยงที่ดีนั้นก็คือการสร้างความประทับใจให้เกิดขึ้นกับน้องเลี้ยง ซึ่งอาจเกิดจากความไม่ตั้งใจหรือตั้งใจก็ได้ ความประทับใจอาจเป็นลักษณะนิสัยหรือคุณสมบัติที่ดีที่ควรทำ หรือบางครั้งก็อาจเพิ่มเติมด้วยของขวัญเล็กๆ น้อยๆ หรือพาไปเลี้ยงข้าวตอบแทน เป็นต้น ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละบุคคลด้วย เพราะนั่นจะทำให้น้องเลี้ยงจดจำภาพดีๆ เก็บความทรงจำที่ดี สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ที่อาจส่งผลดีต่อการทำงานร่วมกันต่อๆ ไป ส่งผลดีกับองค์กร และยังเป็นการปลูกฝังให้น้องเลี้ยงกลายเป็นพี่เลี้ยงที่ดีในอนาคตได้ด้วยเช่นกัน

ข้อควรระวังและใส่ใจเพิ่มเติมในการเลือกพี่เลี้ยง

  • ควรเลือกเพศเดียวกันก่อน : หลายองค์กรให้ความใส่ใจและให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก แต่หลายองค์กรก็มองข้ามจุดนี้ไป ทางที่ดีควรเริ่มต้นด้วยการเลือกเพศเดียวกันก่อน เพราะนอกจากจะเข้าใจลักษณะนิสัยทางเพศในเบื้องต้นที่สามารถเข้าใจกันได้ดีกว่าเพศตรงข้ามแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาด้านอื่นๆ เบื้องต้นด้วย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการชู้สาวหรือการละเมิดทางเพศต่างๆ ซึ่งหากเกิดในทิศทางที่แย่ก็จะส่งผลเสียต่อน้องเลี้ยง พี่เลี้ยง หรือสร้างชื่อเสียให้กับองค์กรได้
  • ควรเลือกผู้ที่มีอายุมากกว่ามาเป็นพี่เลี้ยง : ตามธรรมชาติและหลักจิตวิทยาแล้วผู้อายุน้อยมักให้ความเคารพ นับถือ ตลอดจนมีแนวโน้มเปิดใจเชื่อฟังผู้ที่มีอายุมากกว่าตนเสมอ การเลือกพี่เลี้ยงที่มีอายุจริงมากกว่าน้องเลี้ยงก็ถือเป็นสิ่งที่ดีเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดระบบอาวุโสขึ้นที่อาจง่ายต่อระบบการสอนงานมากกว่า แต่กรณีนี้ก็ไม่จำเป็นเสมอไป หากจำเป็นต้องเลือกผู้ที่มีอายุน้อยกว่าก็ควรเลือกผู้ที่มีภาวะในการเป็นผู้นำหรือมีภาวะความเป็นอาวุโสด้วย หรืออีกทางออกก็คือเลือกผู้ที่มีอายุเท่ากัน แต่ต้องชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียให้ดี เพราะผู้ที่มีอายุใกล้เคียงกันจะมีข้อดีในการสร้างความสนิทสนม มีลักษณะนิสัยและพฤติกรรมที่ปรับตัวเข้ากันง่าย แต่ก็อาจมีปัญหาในการสร้างความนับถือหรือเชื่อถือระหว่างกัน หรือไม่ก็ชวนกันละเลยในหน้าที่หรือการงานที่ควรปฎิบัติได้เช่นกัน
  • อย่าเลือกพี่เลี้ยงด้วยการบังคับตามหน้าที่ : ควรเริ่มจากการถามความสมัครใจ หรือสอบถามความสามารถในการเป็นพี่เลี้ยงเป็นอันดับแรกก่อน หากไม่มีตัวเลือกก็ควรทำความเข้าใจเบื้องต้นถึงภาระหน้าที่เพิ่มเติมที่จะตามมา หากทำจากการบังคับย่อมไม่เกิดผลดี
  • ควรมีการติดตามประเมินผล : การมอบหมายหน้าที่พี่เลี้ยงนั้น องค์กรหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ไม่ใช่สักแต่จะโยนหน้าที่ให้ แล้วก็จบๆ ไป เพราะการไม่ใส่ใจกระบวนการต่อมา หรือไม่มีการประเมิลผล หรือเป็นการฝากงานจ้างวานเพียงเฉยๆ ก็ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่พี่เลี้ยงอาจรับปากแค่เฉยๆ ไม่เกิดการสอนงานใดๆ หรือปฎิบัติหน้าที่ไม่ได้ นั่นย่อมทำให้ระบบพี่เลี้ยงไม่เกิดผลประโยชน์ใดๆ กับใครเลย องค์กรหรือฝ่าย HR เองควรมีการติดตามผลและประเมินผลการสอนงานด้วย ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับระบบแล้ว ก็ยังเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพของบุคคลตลอดจนระบบของพี่เลี้ยงขององค์กรไปในตัวด้วย และประเมินผลได้ว่าน้องเลี้ยงนั้นสามารถปฎิบัติงานได้จริงหรือไม่

ข้อดีของการมีระบบพี่เลี้ยง

พี่เลี้ยง (Mentor) HR

  1. องค์กรมีการถ่ายทอดการทำงานโดยถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงที่อยู่บนพื้นฐานการทำงานขององค์กรเอง
  2. บุคลากรใหม่หรือผู้ที่มารับตำแหน่งใหม่มีแบบแผนในการทำงานที่จะส่งผลให้การทำงานเป็นระบบระเบียบ และมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน
  3. รักษามาตรฐานขององค์กรได้ดี เพราะมีการถ่ายทอดระบบระเบียบที่ชัดเจน เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งองค์กร
  4. ไม่เสียเวลาในการลองผิดลองถูก ซึ่งบางครั้งอาจสร้างผลลัพธ์ที่แย่ หากให้บุคลากรใหม่เกิดการลองผิดลองถูกด้วยตนเอง
  5. มีโอกาสเกิดความเสียหายในการทำงานน้อยลง เพราะมีผู้มีประสบการณ์คอยดูแลอยู่ และไม่ปล่อยปะละเลยให้ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ทำอะไรโดยความไม่รู้ ที่อาจเกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายสูง
  6. มีการสอดส่องดูแลการทำงาน เพื่อคอยตรวจสอบข้อผิดพลาดกันและกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหาได้
  7. สร้างประสิทธิภาพในการทำงานได้ดียิ่งขึ้น บุคลากรมีการพัฒนาทักษะอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว เพิ่มศักยภาพให้องค์กรได้มากขึ้น
  8. สร้างสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร ระบบพี่เลี้ยงนอกจากจะเป็นประโยชน์ในเรื่องการทำงานแล้วยังเป็นประโยชน์ในด้านการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรที่ดีไปในตัวด้วย สร้างเครือข่ายและความสามัคคีที่ดีในการทำงาน ตลอดจนการดูแลซึ่งกันและกัน
  9. สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี ตลอดจนส่งเสริมระบบพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทั้งยังส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กรด้วย
  10. บุคลากรใหม่เกิดความประทับใจในเพื่อนร่วมงาน ระบบการทำงาน ตลอดจนองค์กร และสร้างความจงรักภักดีให้กับองค์กรได้ในที่สุด

บทสรุป

แรงบันดาลใจ ทำงาน ความสำเร็จ

ไม่ว่าใครก็ตามต่างก็เป็นผู้ที่ไม่เคยรู้มาก่อน ระบบพี่เลี้ยง (Mentor) ในองค์กรจะเป็นระบบสอนงาน ถ่ายทอดและพัฒนาทักษะการทำงาน ตลอดจนมอบประสบการณ์ในการทำงาน รวมถึงแชร์ประสบการณ์ชีวิตที่ดีให้กับน้องเลี้ยง (Mentee) ได้ เป็นรากฐานที่ดีในการเติบโต เป็นมาตรฐานที่ดีในการทำงาน และเป็นบรรทัดฐานที่ดีของระบบงานองค์กร นอกจากจะทำให้น้องเลี้ยงเกิดการเรียนรู้ในการทำงานที่เป็นระบบระเบียบแบบแผนเดียวกันแล้ว ระบบพี่เลี้ยงก็ยังเป็นการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรที่ดีไปในตัวด้วย สร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมความสามัคคีในองค์กร ตลอดจนช่วยเพิ่มพูนศักยภาพในองค์กรได้ในที่สุดด้วย และนั่นเป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนองค์กร ตลอดจนสร้างความจงรักภักดีกับองค์กรให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง