อนาคต 4 แบบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมการทำงานไทยก่อนปี 2030 โดย ดร.การดี เลียวไพโรจน์

HIGHLIGHT

  • ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ คือกลุ่มสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญที่สร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นแนวขับเคลื่อนไปสู่อนาคต เช่น Workforce evolution, Metaverse, Gig economy, Multipotentialite และ Artificial Robot coworker
  • ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาทำนายฉากทัศน์อนาคตโลกการทำงานของประเทศไทยออกเป็น 4 แบบจากการวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อนต่าง ๆ ทั่วโลก องค์กรสามารถที่จะเอาข้อมูลไปใช้ในการวางแผนการทำงานเพื่อกำหนดกลยุทธ์ขององค์กรในระยะ 5-10 ปีข้างหน้านี้ได้
  • ฉากทัศน์ทั้ง 4 ได้แก่ หนึ่ง GET OUT, HUMAN! คนไม่สามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลโลยีใหม่ ๆ คนตกงานและรายได้ลดมหาศาล สอง MONDAY AGAIN?? เกิดความไม่เท่าเทียม คนมีต้นทุนในการปรับตัวเข้าสู่โลกอนาคตไม่เท่ากัน สาม HAPPY WORK, HAPPY LIFE เทคโนโลยีต่อยอดให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สี่ UBI AS A LIFE FUNDER รัฐบาลมีหลักประกันด้านรายได้ขั้นพื้นฐานให้ประชาชน คนทํางานอย่างผ่อนคลาย สนใจการทําโครงการเพื่อสังคมมากขึ้น

อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตโลกการทำงานและองค์กรในประเทศไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้านี้ ปัจจัยอะไรบ้างที่เป็น Driver สำคัญที่เราจะต้องจับตามอง รู้เท่าทัน และฉวยมาเป็นโอกาส แน่นอนว่าไม่มีใครรู้อนาคตได้อย่างแน่นอน แต่ใช่หรือไม่ว่าการคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้น ย่อมนำไปสู่การเตรียมพร้อมและการตัดสินใจในวันนี้ที่ดีกว่า

บทความนี้ HREX.asia จะพาผู้อ่านไปหาคำตอบของทุกคำถามที่ได้กล่าวมา โดยเราได้รับเกียรติในฐานะ Media partner ร่วมงานกับสมาคมบริหารงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ให้เข้าไปร่วมฟัง Session พิเศษในงานสัมมนายิ่งใหญ่ส่งท้ายปีกับงาน HR DAY 2021 ที่มีชื่อว่า ‘4 Scenario of Work & Organization’ บรรยายโดย ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา FutureTales Lab by MQDC

หากพร้อมแล้ว ขอเชิญผู้อ่านทุกท่านมาเกาะติดขอบเวทีเสวนานี้กัน

CURRENT SITUATIONS: เข้าใจปัจจุบัน เพื่อทำนายอนาคต

การที่จะทำความเข้าใจอนาคตได้ เราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจบริบทของโลกการทำงานในปัจจุบันเสียก่อน

การศึกษาพบว่า Driver หลัก ๆ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกการทำงานและองค์กรในปัจจุบันคือ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี โดยจากการศึกษาของ Mckinsey Global Institute มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 จะมีคนทำงานมากถึง 14% หรือคิดเป็นราว ๆ 375 ล้านคนทั่วโลกที่จะมีการเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งการเปลี่ยนอาชีพที่ว่านี้เราไม่ได้กำลังหมายถึงการเปลี่ยนงานอย่างสมัครใจจากตัวคนทำงานเองเสียด้วย แต่พวกเขาจะถูกทำให้ต้องเปลี่ยน อันเกิดมาจากแรงกดดันของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว

ที่น่าเป็นห่วงคือนั่นคือการทำนายนี้เกิดขึ้นก่อนที่จะมีการเกิด COVID-19 บนโลกใบนี้ นั่นอาจทำให้เราตีความได้ว่า ความรุนแรงและความรวดเร็วของการ Disrupt ดังกล่าวอาจจะยิ่งเกิดขึ้นเร็วเป็นทวีคูณดังเช่นที่นักคิดหลาย ๆ ท่านเรียกขานโควิดว่าเป็นตัวเร่งปฎิกิริยาให้มิติของการรับเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ (Technology adoption) ในโลกทำงานจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นที่นี่ ทันที เดี๋ยวนี้ ไม่เช่นนั้นองค์กรของท่านอาจจัดอยู่ในหมวดของสิ่งมีชีวิตที่ไม่สามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ทันและอาจจะต้องสูญพันธุ์ไป 

หากการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์เกิดจากสถาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงหรืออุกกาบาตที่พุ่งชนโลก (แล้วแต่ทฤษฎีจะกล่าว) แล้วอะไรคือปัจจัยหนุนหลังที่อาจจะทำให้เกิดการสูญพันธุ์ของนิยามโลกการทำงานแบบเก่า ๆ ในบทความนี้เราจะไปหาคำตอบกันว่าสาเหตุที่เป็นไปได้นั้นคืออะไร และหน้าตาของโลกใบใหม่หลังจากนั้นที่เราเรียกกันว่า Future of job จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

DRIVERS OF CHANGE: ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง

ปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ (Driver of Change)
คือปัจจัยหรือกลุ่ม
สัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ
ที่สร้างการ
เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นแนวขับเคลื่อนไปสู่อนาคต

1. Workforce Evolution

เราทำงานกันไปทำไม แน่นอนว่าเหตุผลของการทำงานย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน ทว่าเมื่อมองในภาพใหญ่แล้ว หากเราไล่เรียงประวัติศาสตร์จากอดีตเป็นต้นมา เราจะพบว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีในแต่ละยุคสมัยจะเป็นตัวกำหนดภาพรวมของ Workforce หรือแรงงานในยุคนั้น ๆ 

เริ่มจากยุค 1.0 ที่แรงงานมีเหตุผลหลักในการทำงานเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว โดยแรงงานส่วนใหญ่ยังมีบทบาทเป็นหนึ่งในฟันเฟืองในสายพานในภาคการผลิตและอุตสาหกรรม 

ต่อเนื่องมายังยุค 2.0 ที่เป็นครั้งแรกที่เกิดคำอย่าง Blue collar (ชนชั้นแรงงาน) และ White collar (คนที่ทำงานในออฟฟิศ) โดยคนยุคนี้ให้ความสำคัญกับองค์กร มีมุมมองในการอยู่กับบริษัทที่ตนสังกัดไปตลอดชีวิต มีความรักและผูกพันธ์กับองค์กร ตำแหน่งหน้าที่ค่อนข้างมีความชัดเจนตายตัว แรงงานทำงานตามระบบระเบียบที่ถูกกำหนดไว้

ปัจจุบันนี้แรงงานได้เข้าสู่ยุค 3.0, 4.0 และ 5.0 โดยมีลักษณะเป็น Coexist คือมีอยู่ร่วมกันไปทั้งสามแบบในสังคมโดย Workforce 3.0 คนเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเติบโตขึ้นเป็น CEO เริ่มมีการให้ความสำคัญกับเรื่องของ Entrepreneurial Mindset หรือจิตใจแห่งผู้ประกอบการ มีการใช้ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น ส่วน Workforce 4.0 คนรุ่นใหม่ ๆ ที่เชื่อในเรื่องของความยืดหยุ่นในการทำงาน และการให้อิสระในวิธีการทำงานมากยิ่งขึ้น คนทำงานไม่ได้ยึดติดกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งและพร้อมจะเปลี่ยนงานเพื่อแสวงหาองค์กรที่มีวัฒนธรรมการทำงานสอดคล้องกับคุณค่าที่ตัวเองยืดถือ จากนั้น Workforce วิวัฒนาการมาถึง Workforce 5.0 โดยเกิดขึ้นจากการที่เทคโนโลยีทางการแพทย์และความรู้ทางสุขภาพแพร่หลายเป็นวงกว้างทำให้สังคมเข้าสู่ยุคที่ประชากรมีอายุไขยืนยาวมากขึ้นในขณะที่วงล้อทางเทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดดและหมุนเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘แล้วตัวฉันจะยังคงรักษาคุณค่าของตัวเองในตลาดแรงงานได้อย่างไร’ ในเมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ในขณะที่ปลายทางวัยเกษียณได้ถูกถ่างไกลออกไปเรื่อย ๆ นั่นทำให้เรื่องของการ Upskills&Reskills กลายมาเป็นหัวข้อที่องค์กรต้องใส่ใจมากขึ้นกว่าที่เคย

2. Metaverse

จาก Driver of Change ข้อที่แรกที่เป็นแง่มุมทางประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงในระดับสังคมปัจจัยข้อนี้เน้นไปในเรื่องความเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้หากไม่ใช่ Metaverse ที่สามารถถอดความแปลเป็นไทยตามราชบัณฑิตยสภาได้ว่า ‘จักรวาลนฤมิต’  ท่านกำลังนึกถึงแว่นตา VR อยู่ใช่ไหม หรือกำลังนึกถึงการที่ Facebook ได้มีการเปลี่ยนชื่อบริษัทไปเป็น Meta หรือไม่ท่านก็กำลังจินตนาการถึงการสร้างตัวตนเสมือนเพื่อท่องไปยังโลกสมมุติที่กว้างใหญ่ไพศาลและไร้ขีดจำกัด สิ่งเหล่านี้ล้วนกำลังพูดถึง Metaverse ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งทั้งสิ้น

แม้ Metaverse ชื่ออาจจะฟังดูไม่คุ้นหูและชวนให้นึกถึงนิยายไซไฟ แต่จริง ๆ แล้วเทคโนโลยีนี้จะกลายเป็นหนึ่งในสิ่งที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีการที่มนุษย์จะใช้ในการติดต่อสื่อสารกันไปตลอดกาล ถึงกับมีผู้ให้นิยามมันว่าเป็น Web 3.0 หรือยุคใหม่ของอินเตอร์เน็ตได้เลย มันจะเป็นการอัพเกรดการสื่อสารจากหน้าจอแบน ๆ สองมิติ กว้างคูณยาวให้กลายมาเป็นการสื่อสารแบบ 3 มิติ (หรืออาจจะมากกว่านั้น เช่นอาจรับสัมผัสต่าง ๆ เมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปมากขึ้น) ให้ลองจินตนาการถึงการที่ท่านสามารถเข้าร่วมประชุมกับเพื่อนรวมงานที่อยู่ไกลกันหลายร้อยกิโลเมตร แต่ให้ความรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ให้ห้องเดียวกัน ท่านสามารถเอี้ยวตัวไปคุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ทางซ้าย ก่อนจะลุกขึ้นแล้วเดินไปเขียนแผนงานที่หน้ากระดาน ทั้ง ๆ ที่ความจริงทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากห้องนอนในบ้านของท่านเอง 

มาถึงตรงนี้ก็คงจะพอเห็นภาพกันแล้วว่าทำไม Metaverse ถึงมีส่วนในการสร้าง Future of job เพราะเมื่อการทำ Remote work กลายเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับการเข้ามาทำงานในออฟฟิศมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเกิดคำถามว่าออฟฟิศจะยังจำเป็นอยู่ไหม และฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลและผู้นำองค์กรจะออกแบบวัฒนธรรมการทำงานและการประเมินผลอย่างไรให้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป

3. Gig Economy

การเติบโตของเทคโนโลยีแพลตฟอร์มรูปแบบต่าง ๆ ทำให้คนทำงานมีตัวเลือกมากขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้คนทำงานมีโอกาสได้ใช้ Talent ที่มีในการทำงานรับงานย่อย ๆ เป็นรายครั้งนอกองค์กรได้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบการจ้างงานชั่วคราวและงานพาร์ทไทม์กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาของตลาดงาน ทั้งนี้นายจ้างเองก็มีเป้าหมายที่จะลดจํานวนสัญญาแบบถาวรให้น้อยที่สุดด้วยเหตุผลทางการเงิน คำถามที่น่าสนใจคือ องค์กรจะสามารถที่จะออกแบบวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้ใช้ความสามารถอันหลากหลายที่มีและดึงศักยภาพเหล่านั้นเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับองค์กรได้อย่างไร

4. Multipotentialities

แรงงานในยุคต่อไปจะมีลักษณะของ ‘เป็ด’ มากยิ่งขึ้น หรือถ้าพูดแบบทางการอาจจะเรียกได้ว่ามี T- shape skills คือรู้กว้างเหมือนหัวตัวที ในขณะที่ก็มีบางแง่มุมที่รู้ลึกเหมือนหางตัวที คนกลุ่มนี้มีความกระตือรือร้นสูง และยังเป็นผู้ที่มีความสามารถพิเศษในหลายด้าน มีความสามารถในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ด้วยตัวเองจากสื่อออนไลน์อย่างรวดเร็ว และสามารถนำทักษะเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในการทำงานหรือหารายได้ ทําให้แรงงานกลุ่มนี้มีทางเลือกมากมายสําหรับอาชีพในอนาคต แต่ในทางกลับกันก็ทําให้เกิดความท้าทายที่จะพยายามตัดสินใจด้านการเลือกอาชีพใดอาชีพหนึ่ง หรือการตัดสินใจในการทำงานในองค์กรใดองค์กรหนึ่ง 

ฝั่งนายจ้างสามารถที่จะใช้ความสามารถพิเศษอันหลากหลายของ Talent กลุ่มนี้โดยอาจจะจ้างงานแบบเป็นลักษณะโปรเจกเป็นรายครั้ง หรือถ้าจะจ้างคนกลุ่มนี้แบบพนักงานประจำก็ต้องมีการออกแบบการบริหารงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติของ Talent กลุ่มนี้ เช่น การให้อิสระในการทำงานมากขึ้น ให้ความท้าทายด้วยการมอบโจทย์การทำงานแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ ก็จะสามารถช่วยให้คนทำงานที่เป็น ‘Multipotentialite’ รู้สึกว่าได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ และทำให้นายจ้างสามารถรักษาพนักงานกลุ่มที่เป็น Talent นี้ได้ยาวนานขึ้น

5. Artificial & Robot coworker

ปิดท้ายด้วยฝั่งเทคโนโลยีที่เมื่อสัก 3 ปีที่แล้วยังมีสถานะเป็นเพียง Signal of Change หรือสัญญาณที่น่าจับตาแต่ตอนนี้ได้ยกระดับขึ้นมาเป็น Driver of Change เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยตอนนี้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จากที่เมื่อก่อนเคยอยู่แต่ในภาคการผลิตหรืออุตสาหกรรม เช่น หุ่นยนต์ที่อยู่ในโรงงานผลิตรถยนต์ แต่ในปัจจุบันระบบอัตโนมัติเหล่านี้จะเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้ช่วยให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น ไวขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่มันก็มาพร้อมกับความเป็นจริงที่น่าเป็นห่วงที่ว่าระบบอัตโนมัติเหล่านี้จะเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานที่เคยมีมนุษย์เป็นพระเอกหลักมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเริ่มจากงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ คาดเดาได้ ไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาก เช่น งานแคชเชียร์ งานเสริฟอาหาร งานแพ็คสินค้า ก่อนที่จะค่อย ๆ รุกร้ำเข้ามายังงานทักษะสูงที่เราอาจจะคิดไม่ถึงว่าระบบอัตโนมัติจะทำแทนได้ เช่น การวิเคราะห์ภาพฟิล์มเพื่อหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อซึ่งก่อนหน้าเป็นงานของนักรังษีวิทยาหรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง

มาถึงส่วนที่หลายคนเฝ้ารอในบทความชิ้นนี้ ซึ่งเป็นความเป็นไปได้ทั้งสี่แบบที่อาจเกิดขึ้นอันเป็นผลงานที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของ FutureTales Lab by MQDC กับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ออกมาเป็น 4 ฉากทัศน์ที่อาจเกิดขึ้นกับสังคมการทำงานในประเทศไทยภายในปี 2030

Scenario ที่ 1: GET OUT, HUMAN!

มาถึงในจุดที่การทํางานสำหรับมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกข์ยาก คนที่ขาดโอกาสอยู่แล้ว จะยิ่งเข้าถึงโอกาสในการทำงานยากขึ้นไปอีกเนื่องจากการจ้างงานใหม่ ๆ มีอัตราที่ลดลงเนื่องจากหุ่นยนต์และเทคโนโลยีเขามามีบทบาทในการทํางานเป็นอย่างมาก แถมระบบอัตโนมัติเหล่านี้ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่ามนุษย์เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการตกงานโดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพทักษะต่ำถึงปานกลาง เมื่อหันกลับมามองฝั่งคนทำงานก็พบว่าไม่มีทักษะแห่งอนาคตรองรับที่จะสามารถปรับเข้ากับโลกใบใหม่และเทคโนโลยีเหล่านี้ได้

พูดถึงมุมมองที่คนมีต่องานคนส่วนใหญ่มองว่างานเป็นเพียงหนทางของการมีชีวิตรอด การทำงานเต็มไปด้วยความทุกข์ยาก ผู้คนไม่มีเวลาให้กับครอบครัว เกิดการต่อสู้เพื่อแก่งแย่งและดิ้นรน ผู้คนมีศีลธรรมน้อยลง มีผู้ดําเนินธุรกิจหรืออาชีพผิดกฎหมายมากขึ้น 

แต่ ดร.การดี ก็กล่าวปิดท้ายไว้ว่าเหตุการนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก แต่รูปแบบที่มีความเป็นไปได้สูงสำหรับประเทศไทยมากกว่าอาจจะเป็นในข้อถัดไป

Scenario ที่ 2: MONDAY AGAIN??

สถานการณ์ในข้อนี้ดูเลวร้ายน้อยลงกว่าข้อแรกแต่สถานการณ์แต่ก็ยังไม่สู้ดีนัก ในมุมสังคม แรงงานทักษะตํ่ามีการถูกแทนที่ ด้วยระบบอัตโนมัติมากขึ้น คนที่หมุนตามโลกสมัยใหม่ไม่ทันจําเป็นต้องออกจากองค์กรและหางานรูปแบบอื่นทํา เช่น อาชีพภาคบริการ ทำให้เกิดความเหลื่อมลํ้าในสังคมมากขึ้นไปอีก

ในมุมเศรษฐกิจผู้คนที่มีรายได้น้อยจะยิ่งมีรายได้น้อยลง เพราะไม่มีโอกาสในการพัฒนาทักษะตนเอง แต่ผู้ที่มีต้นทุนที่ดีกว่าจะยิ่งมีรายได้สูงขึ้น เมื่อทักษะที่ได้รับจากการศึกษาถูกนำไปต่อยอดจนตอบโจทย์กับความต้องการของงานในอนาคต และเศรษฐกิจจะมีการดําเนิน ไปในรูปแบบ Gig Economy มากขึ้นอีกด้วย

ฝั่งของเทคโนโลยี องค์กรขนาดใหญ่มีการนําเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการทางธุรกิจ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ ส่งผลให้งานดําเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่สามารถปรับตัวตามทันเทคโนโลยีต่าง ๆ เนื่องด้วยข้อจํากัดของงบประมาณและบุคลากร

โดยภาพใหญ่แล้ว คนส่วนใหญ่ยังต้องทํางานอย่างหนัก ไม่มีเวลาได้ใช้ชีวิตในอย่าง ที่ตนต้องการ ส่งผลให้การทํางานเป็นสิ่งบังคับ การทำงานยังถูกมองว่าเป็นความจําเป็นในการใช้ชีวิต โดยอาจจะไม่มีโอกาสได้ทํางานตามสิ่งที่ตนเองชอบหรือสนใจอย่างแท้จริง 

Scenario ที่ 3: HAPPY WORK, HAPPY LIFE

ฉากทัศน์ที่สามนี้เป็นภาพที่งดงามมากทีเดียวหากว่าสามารถเกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทยเมื่อผู้คนได้รับการเข้าถึงการศึกษาที่เสริมสร้างทักษะแห่งอนาคตใหม่ ทำให้ประชาชนพร้อมที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดในการทำงานได้อย่างดีเยี่ยม การจ้างงานจะให้ความสําคัญกับการดูระดับการศึกษาน้อยลง แต่จะเน้นไปที่ทักษะและความสามารถในการทำงานอย่างแท้จริง

ในส่วนเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวมากขึ้น ธุรกิจมีความหยุ่นมากขึ้น จะมีการกระจายงานออกเป็นโปรเจ็คเล็ก ๆ ทำให้การรวมศูนย์ลดน้อยลง ทุกคนมีความสุขที่สามารถทํางานที่ตรงกับความชอบความต้องการได้หลายอย่างในเวลาเดียวกันจากโอกาสในการทำงานในรูปแบบของ Gig Economy ซึ่งเป็นโอกาสในการสร้างรายได้เสริมตามต้องการ

ฝั่งของเทคโนโลยี มีการนำมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยอํานวยความสะดวกในการทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อข้อมูลถึงกันได้รวดเร็ว ระบบอัตโนมัติทําให้โครงการต่าง ๆ ประสบความสําเร็จในการขับเคลื่อนประเทศ ผู้คนสามารถออกแบบการทํางานโดยใช้เทคโนโลยีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกส่วนของสังคมได้มากขึ้น คนทำงานส่วนมากจะไม่ตกงานเพราะสามารถปรับตัวไปทำงานที่ใช้ทักษะสูงขึ้นได้

โดยภาพรวม ผู้คนมองว่างานเป็นส่วนเติมเต็มในชีวิตที่ไม่ทําให้เกิดความทุกข์ เพราะสามารถปรับสมดุลในชีวิตได้อย่างที่ต้องการ ทุกคนสามารถทํางาน จากที่ไหนก็ได้ มีการประเมินผลจากความสามารถและผลงานที่จัดทําได้จริง เมื่อทุกคนมีความสุขมากขึ้นก็จะมีประสิทธิภาพการทํางานที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ทุกครอบครัวและสังคมมีความสุขมากกว่าที่เคย

Scenario ที่ 4: UBI AS A LIFE FUNDER

รัฐบาลประกาศใช้นโยบาย Universal Basic Income เพื่อให้ประชาชนทุกคนมีหลักประกันด้านรายได้ขั้นพื้นฐาน ผู้คนส่วนใหญ่ทํางานด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่มีแรงกดดันในชีวิต ผู้คนที่สนใจการทําโครงการเพื่อสังคมหรือเพื่อช่วยเหลือโลกมากขึ้น

ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจมีการขยายตัวในรูปแบบของการจ้างงานรายโปรเจ็ค และมีการทํางานหลายงานพร้อมกันในเวลาเดียวกัน ทําให้ผู้คนสามารถมีรายได้เพิ่มอย่างที่ตนเองต้องการ ผู้ประกอบการ รายย่อยหรือ Startups สามารถนํารายได้ขั้นพื้นฐานของตนเองเก็บรวบรวมเพื่อนําไปต่อยอดธุรกิจได้มากขึ้น

ในภาพรวม รูปแบบการทํางานมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ทุกคนให้ความสําคัญและเคารพเวลาส่วนตัวของผู้อื่น คนโฟกัสไปกับการหาเวลาให้กับตนเองและครอบครัวมากขึ้น

บทสรุป

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น แต่คำตอบสุดท้ายนั้นหาได้ยังมีการเฉลยออกมา สิ่งที่เราพยายามจะสื่อสารในบทความนี้ ก็เพื่อการดึงอนาคตที่ดูเหมือนอยู่ไกลมาวางไว้ตรงหน้า แม้ว่าในบางฉากทัศน์อาจทำให้เรารู้สึกกลัวหรือปวดใจ แต่นั่นก็คือเหตุผลที่เราสร้างมันขึ้นมาเพื่อไม่ให้เราทำเป็นปิดตาเพื่อหลีกหนีความเป็นจริงที่อาจเกิดขึ้นได้ เราอยากจากท่านผู้อ่านไปด้วยสำนวนที่ว่า “Hope for the best but prepare for the worst” พวกเราจะต้องเตรียมแผนรับมือหากว่าฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้น และพยายามทำปัจจุบันให้ดีที่สุดและตั้งความหวังว่าฉากทัศน์ที่สวยงามก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้เช่นกันหากพวกเราร่วมมือกันเพื่อเตรียมการและลงมือทำบางอย่างเพื่อกำหนดอนาคตที่ดีกว่าเสียตั้งแต่ตอนนี้

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง