สรุปเสวนา Multi-Generational Dynamics in the Workplace คู่มือรวมใจคนต่างวัยในองค์กร

HIGHLIGHT

  • สังคมทำงานในปัจจุบันเต็มไปด้วยความหลากหลายของช่วงวัย องค์กรต้องบริหารทัศนคติ, ความต้องการ และออกแบนโยบายให้เหมาะกับคนทุกฝ่าย เพื่อช่วยส่งเสริมพัฒนาการ, สร้างการมีส่วนร่วม และทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ไม่สามารถทำแบบ One Size Fits All ได้อีกต่อไป
  • การออกแบบออฟฟิศก็ถือเป็นเรื่องที่หลายที่หลงลืมไปเหมือนกัน เพราะคนแต่ละวัยต้องการที่ทำงานแตกต่างกัน บ้างก็ต้องการความเป็นส่วนตัว, บ้างก็ต้องการสนทนากับผู้อื่น เป็นต้น
  • องค์กรต้องมีโครงสร้างที่เหมาะกับการทดลองอะไรใหม่ ๆ เช่นการนำเรื่องของ AI มาใช้ ก็ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละช่วงวัยมีวิธีเรียนรู้เทคโนโลยีแตกต่างกัน องค์กรก็ต้องเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมที่สุด
  • คนรุ่นใหม่คือพวกที่มีความมั่นใจมาก ๆ เพราะพวกเขายังเด็ก พวกเขาจะไม่ตัดสินใจโดยมองความสำเร็จที่ผ่านมาแล้ว แต่จะมาด้วยความเชื่อว่า “ตนสามารถเปลี่ยนโลกได้” จึงกล้าที่จะเสนอไอเดียแปลก ๆ (Crazy Ideas) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง หาก HR นำมาประยุกต์ใช้ได้ ก็จะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

โลกการทำงานในปัจจุบนเต็มไปด้วยความหลากหลาย ทั้งเชื้อชาติ, ทัศนคติ และที่สำคัญคือช่วงวัย (Generation) FUTUREHR จึงจัดเสวนาหัวข้อ Multi-Generational Dynamics in the Workplace มาค้นหาวิธีใช้จุดแข็งและเข้าใจมุมมองของคนในแต่ละเจนเนอเรชั่น เพื่อสร้างสภาพการทำงานที่ทุกคนทำงานอย่างสอดประสาน กลมกลืน และเพิ่ม Productivity ได้มากขึ้น

ในงานเสวนาบรรยายโดย 3 Speakers มากความสามารถที่จะมาให้ Insight สำคัญในการวางกลยุทธ์ด้าน Effective communication, Conflict Resolution และการทำ Talent Management ที่ยกระดับความสามารถพนักงานทุกเจนเนอเรชั่นอย่างทั่วถึง

รายชื่อผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย

Speaker 1 : คุณ Carol Chan, General Manager และ Corporate Affairs จาก MALAYAN FLOUR MILLS BERHAD

Speaker 2 : คุณ Cheryll Ruth Lat-Agsaoay, Vice President และ HR Head จาก SM Supermalls

Speaker 3 : คุณ Nguyễn Tâm Thanh, CHRO จาก Masan Group Corporation

ดำเนินรายการโดย : สหธร เพชรวิโรจน์ชัย Manager จาก HREX

สรุปเสวนา Multi-Generational Dynamics in the Workplace

การทำงานกับคนหลากหลายช่วงวัยถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก ๆ ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่เป็นเรื่องที่เราควรผสานคนทุกรูปแบบเข้ากันให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทุกฝ่ายต้องรู้สึกถึงความเท่าเทียม ต้องไม่รู้สึกว่าตนถูกเลือกปฏิบัติ ผู้บริหารต้องรู้ว่าจะดูแลเรื่องพัฒนาการของพวกเขาได้อย่างไร, ควรออกแบบสวัสดิการอย่างไร และที่สำคัญคือต้องรู้ว่าจะใช้ประโยชน์จากพวกเขาได้อย่างไร ที่สำคัญเราต้องทำให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ดังนั้นองค์กรจะต้องมาพร้อมกับนโยบายที่แตกต่างกัน ไม่สามารถทำแบบ One Size Fits All อีกต่อไป ทุกคนต้องเคารพซึ่งกันและกัน (Respect the Difference) เหตุนี้ HR ที่ปรับตัวได้แบบยืดหยุ่น (Flexible) คือ HR ที่เหมาะกับการทำงานยุคนี้อย่างแท้จริง

เราเริ่มต้นเสวนาด้วยการตั้งคำถามว่า Multi-Generational Dynamics in The Workplace สำคัญอย่างไร ? ซึ่งคุณ Cheryll กล่าวว่ามันเป็นเรื่องดีมาก ๆ ขององค์กรในปัจจุบันที่จะมีโอกาสใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนหลายช่วงวัย โดยสถิติที่เธอสำรวจระบุว่าในปี 2024 องค์กรจะมีคน Gen Z อยู่ราว 30% และ 60% เป็น Gen Y ซึ่งเป็นจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เองที่ทำให้องค์กรต้องตั้งคำถามว่าเราสามารถผสานคนทุกวัยให้อยู่ร่วมกันอย่างดีที่สุดแล้วหรือไม่ ทุกฝ่ายมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาหรือไม่

เพราะหากเราทำได้ เราก็จะดึง “จุดแข็ง”​ ของแต่ละคนออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ในทางกลับกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอก็คือการที่องค์กรทั่วโลกไม่สามารถดึงดูด (Attract) และสร้างการมีส่วนร่วม (Engage) จากคนรุ่นใหม่ได้ เราจึงต้องยกระดับในเรื่องเหล่านี้เพื่อให้องค์กรร่วมสมัยกับคนทุกวัยมากที่สุด

ขณะที่คุณ Carol Chan ก็เห็นด้วยกับสิ่งที่คุณ Cheryll พูด โดยมองว่าที่บริษัท Malayan Flour Mills ประเทศมาเลเซียนั้น ให้ความสำคัญกับการร่วมมือจากคนทุกวัยมาก ๆ และไม่ว่าเราจะอยากปรับตัวหรือไม่ สังคมก็จะบังคับให้เราปรับตัวอยู่ดี เนื่องจากคนรุ่นเก่าก็จะทยอยเกษียณอายุงาน และคนรุ่นใหม่ก็จะเข้ามาแทนที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังไม่รวมกับการปรับตัวเข้าหายุคดิจิทัล หรือยุค AI ในปัจจุบันที่ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องปรับตัว (Transformation) อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ดังนั้นการปรับตัวจึงสำคัญมากไม่ว่าเราจะมีเป้าหมายในการทำงานอย่างไรก็ตาม นอกจากนี้เธอยังได้ให้คำแนะนำเรื่องการบริหารจัดการความแตกต่างเอาไว้อย่างน่าสนใจว่าองค์กรต้องให้ความสำคัญกับ ESG เพราะการให้พนักงานทำหน้าที่โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมตลอดเวลาจะทำให้เราเข้าใจโครงสร้างด้านอื่นได้ดีขึ้น

คุณ Cheryll ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการทำงานแบบ Hybrid ว่าองค์กรต้องรู้ว่าเป้าหมายในการทำงานคืออะไร ต้องมี Sense of Purpose เพื่อจะได้วางแผนการทำงานอย่างถูกต้อง รู้ว่าองค์กรของเรามีข้อจำกัดอย่างไร ควรรับมือและประสานงานในสิ่งเหล่านั้นอย่างไร อย่างองค์กรของเธอต้องการให้พนักงานได้สัมผัสกับประสบการณ์ทำงานที่ดีจากออฟฟิศ (On-Site Experiences) ที่จะเป็นประโยชน์กับงานมากกว่าการทำงานอยู่ที่บ้าน เพราะจะทำให้เกิด Engagement ระหว่างพนักงานและองค์กรมากกว่า เป็นต้น

คุณ Nguyen Tam Thanh ได้กล่าวเสริมว่าสิ่งสำคัญก็คือองค์กรต้องใส่ใจ (Awareness) และรู้ว่าโครงสร้างองค์กรเป็นอย่างไร  ต้องรู้ว่าคนแต่ละรุ่นต้องการอะไร ออกนโยบายแบบเดียวไม่ได้ เพราะความต้องการของคนแต่ละรุ่นแตกต่างกัน จะทำแบบ One-Size-Fit-All ไม่ได้เด็ดขาด เราต้องมีนโยบายที่หลากหลายและยืดหยุ่น

โดยเธอแนะนำให้องค์กรทำ Benefit Checklist เช่นเราให้งบพนักงานคนละ 1,000 ดอลลาร์ และให้พนักงานเลือกสวัสดิการที่พวกเขาต้องการได้เองภายใต้งบเหล่านั้น วิธีนี้ก็จะช่วยให้พนักงานได้ประโยชน์จากสวัสดิการมากขึ้นภายใต้งบประมาณที่ไม่ต่างจากเดิม เป็นต้น สรุปคือยิ่งองค์กรเคารพความหลากหลาย องค์กรก็จะเข้าใจคนได้มากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ Keyword สำคัญในการทำงานทุกกอย่างคือคำว่า Fairness และหากเราแสดงออกถึงเรื่องนี้อยู่ตลอดเวลา คนในก็จะมีความสุข คนนอกก็จะอยากร่วมงานกับเรามากขึ้น ในที่นี้คุณ Thanh ยังได้ให้มุมมองเกี่ยวกับการใช้ AI ในองค์กรว่าหากเราไม่พัฒนา เราก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง อย่างการไปซุปเปอร์มาร์เก็ตในปัจจุบันก็แทบจะไม่มีคนให้บริการแล้ว นี่คือตัวอย่างง่าย ๆ ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามามีส่วนสำคัญใน Workforce นับจากนี้ และคนรุ่นใหม่ก็จะเป็นคนที่ช่วยขับเคลื่อนมันได้อย่างดี

การออกแบบออฟฟิศก็ถือเป็นเรื่องที่หลายคนหลงลืมไปเหมือนกัน เพราะคนแต่ละวัยต้องการที่ทำงานแตกต่างกัน บ้างก็ต้องการความเป็นส่วนตัว, บ้างก็ต้องการสนทนากับผู้อื่น จากนั้นก็ต้องมีโครงสร้างที่เหมาะกับการทดลองอะไรใหม่ ๆ เช่นการนำเรื่องของ AI มาใช้ ก็ต้องเข้าใจว่าคนแต่ละช่วงวัยมีวิธีเรียนรู้เทคโนโลยีแตกต่างกัน องค์กรก็ต้องเลือกใช้วิธีที่เหมาะสม ทุกคนจะได้มีความรู้ความเข้าใจเหมือนกันภายใต้แนวคิดว่า “สิ่งที่องค์กรทำต้องแฟร์กับทุกคน” (Fairness for Everyone) ทุกคนก็จะมีความสุขและอยากมีส่วนร่วมกับองค์กร (Happy and Engagement)

องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสาร และการมีรุ่นพี่ที่ดี เราต้องมีขั้นตอนของการ Coaching and Mentoring ควบคู่ไปกับการประเมินผู้นำที่ดี ซึ่งความท้าทายของการทำงานกับช่วงวัยของพนักงานที่หลากหลายคือสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดแล้ว อาจเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์กับฝ่ายหนึ่ง หรือสิ่งที่ดีกับฝ่ายหนึ่งแล้ว อาจเป็นสิ่งที่สร้างความขัดแย้งต่ออีกฝ่ายก็ได้

ดังนั้นไม่ว่าจะตัดสินใจอะไร เราต้องทำโดย “เอาพนักงานเป็นศูนย์กลาง” ทำทุกอย่างโดยคิดถึงความสุขของพนักงานเป็นที่ตั้ง เราจึงต้องมีการฝึกฝนผู้นำเพื่อให้มีความเข้าใจเรื่องนี้อย่างแรงกล้าที่สุด

แต่สื่งสำคัญของคนรุ่นใหม่คือพวกเขามีความมั่นใจมาก ๆ เพราะพวกเขายังเด็ก พวกเขาจะไม่ตัดสินใจโดยมองความสำเร็จที่ผ่านมาแล้ว แต่จะมาด้วยความเชื่อว่า “ตนสามารถเปลี่ยนโลกได้” จึงกล้าที่จะเสนอไอเดียแปลก ๆ (Crazy Ideas) เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งแนวคิดเหล่านี้ไม่ใช่แนวคิดที่ไร้สาระเพียงอย่างเดียว เพราะหากองค์กรมีศักยภาพมากพอ และสามารถเอาไอเดียเหล่านั้นมาตกตะกอน ตกผลึกให้ใช้งานได้ในบริบทจริง เราก็อาจได้นวัตกรรม (Innovation) ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน กลายเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะการทำให้คนรุ่นใหม่เห็นถึงศักยภาพของตนเอง คือการทำให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability)

การสื่อสารที่ดีจึงเป็นกลไกที่จะช่วยพัฒนาองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยการสื่อสารของคนแต่ละช่วงวัยจำเป็นต้องมีความชัดเจนอย่างสูง (Very Clear), นอกจากนี้องค์กรสามารถลองให้พนักงานรุ่นใหม่เป็นผู้นำในบางโปรเจ็คได้เลย เพราะปัจจุบันโลกธุรกิจเริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องทักษะมากกว่าช่วงวัย เป็นแบบ Skill-Based Approach ควบคู่ไปกับการกระตุ้นให้ทุกคนในทีมร่วมมือกัน เช่นการประเมินร่วมกัน, หรือนำเสนองานร่วมกัน วิธีนี้จะช่วยลดทอนความแตกต่างระหว่างช่วงวัย และทำให้ทุกฝ่ายพยายามปรับการสื่อสาร, ช่วยกันทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงตามเป้าหมาย, วัตถุประสงค์ที่สุดแทน

เช่นคนรุ่นใหม่คิดไอเดียแปลก ๆ มา คนรุ่นเก่าก็จะช่วยตบให้เข้าที่เข้าทาง, ไม่ให้หวือหวาเกินไป, ให้สอดคล้องกับแผนงบประมาณขององค์กร เป็นต้น นี่คือวิธี Empower คนรุ่นใหม่อย่างเป็นรูปธรรม และอย่างสุดท้ายคือองค์กรต้องทำให้เกิดความรู้สึกของการมีส่วนร่วม (Feeling of Inclusion and Belonging) ทุกคนต้องรู้สึกมีคุณค่า, รู้สึกปลอดภัย และรู้สึกว่าตนมีคุณค่าบางอย่างต่อองค์กร

คุณ Carol ให้คำแนะนำที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำงานกับคนรุ่นใหม่ว่าเราต้องเคารพในสิ่งที่พวกเขาคิด เราต้องรู้จักรับฟัง และเลือกสิ่งที่ถูกต้องมาใช้ เราต้องสร้างองค์กรที่ใส่ใจสภาพสังคม, สภาพแวดล้อมเสมอ เพราะอย่าลืมว่าคนรุ่นใหม่คือกลุ่มคนที่จะคงอยู่ต่อจากรุ่นของเรา ในที่นี้หากเรายังไม่มีแผนงานที่เกิดการร่วมมืของคนหลายวัย เราก็สามารถสร้างโปรเจ็คบางอย่างขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเห็นคุณค่าระหว่างคนแต่ละวัยได้ด้วย

นี่คือคำแนะนำที่อยากให้ทุกฝ่ายลองปฏิบัติตาม จากนั้นเธอได้กล่าวปิดท้ายว่า “ไม่ว่าเราจะได้เจอเรื่องอะไรมาก็ตาม สิ่งสำคัญคือเราต้องหยุด (Pause) และคิดถึงมันอย่างจริงจังว่าเราจะทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นได้อย่างไร” หาก HR ทุกคนมีแนวคิดแบบนี้ องค์กรก็จะเติบโตได้ดีขึ้นแน่นอน

CTA HR Products & Services

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง