The Power of Respect ลด ’ความขัดแย้ง’ ด้วยการเพิ่ม ’ความเคารพ’ คนอื่น

HIGHLIGHT

  • ยิ่งสังคมเปิดกว้างมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นความแตกต่างของคนมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีความแตกต่างกันมากขึ้น ก็ยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน
  • การสร้างวัฒนธรรมที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง และเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกระดับต้องให้ความสำคัญ
  • ตัวชี้วัด 3 ประการที่สะท้อนคุณสมบัติของผู้นำคือ 1.ฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดขัด 2.ไม่ด้อยค่าใคร และ 3.ยอมรับความแตกต่างของคน และหากทำได้ความขัดแย้งจะลดลงแน่นอน

The Power of Respect ลด ’ความขัดแย้ง’ ด้วยการเพิ่ม ’ความเคารพ’ คนอื่น

ยิ่งสังคมเปิดกว้างมากเท่าไร ยิ่งเห็นความแตกต่างของคนมากขึ้นเท่านั้น และเมื่อมีความแตกต่างกันมากขึ้น ก็ยิ่งนำไปสู่ความขัดแย้งเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน 

ผู้นำในทุกระดับไม่ว่าจะเป็น ผู้นำประเทศ ผู้นำองค์กร หรือผู้นำครอบครัว จึงหนีไม่พ้นความท้าทายเรื่องนี้

แล้วผู้นำควรทำอย่างไรดี ? เพราะคงไปทำให้คนอื่นคิดเหมือนกันไม่ได้ แต่ควรทำให้คนคิดต่างอยู่ร่วมกันโดยมีความขัดแย้งในระดับที่ควบคุมได้ และนำไปสู่นวัตกรรมที่สร้างสรรค์ ไม่ลุกลามบานปลายจนกลายเป็นหายนะของครอบครัว องค์กร และประเทศ

การสร้างวัฒนธรรมที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับสังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่าง เชื่อไหมครับว่า การให้เกียรติกันแม้เพียงเล็กน้อย จะช่วยลดความเป็นปฏิปักษ์ลงได้มากมาย พูดง่าย ๆ คือ ลงทุนทำเรื่องเล็กน้อยแต่ได้ผลที่ยิ่งใหญ่ 

แต่ก็นั่นแหละครับ คนที่ไม่เคยให้ความเคารพใครก็ยากที่จะทำได้ ดังนั้นต้องเริ่มจากผู้นำก่อน ต้องแสดงให้คนอื่นเห็นเป็นตัวอย่างว่า เราเคารพและให้เกียรติคนที่อยู่ตรงข้าม 

เจาะงานวิจัย The Power of Respect พบ 3 ตัวชี้วัดที่ผู้นำควรใช้เพื่อสร้างวัฒนธรรมที่ลด ’ความขัดแย้ง’ และเพิ่ม ’ความเคารพ’ คนอื่น

มีงานวิจัยของ Center for Creative Leadership สำรวจเรื่อง “The Power of Respect” จาก 3,000 กลุ่มตัวอย่าง ใน 10 ประเทศ เปิดเผยว่า การเคารพและให้เกียรติกัน ไม่ได้มีประโยชน์แค่ช่วยจัดการกับความขัดแย้งระหว่างกลุ่มเท่านั้น แต่ยังถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้นำที่สำคัญอีกด้วย 

ทั้งนี้มีตัวชี้วัด 3 ประการที่สะท้อนถึงความเอาจริงของผู้นำ ในการสร้างวัฒนธรรมที่ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน ดังนี้

  1. ฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดขัด คนอื่นจะรู้สึกว่าเราเคารพและให้เกียรติเขาเมื่อเราฟังอย่างตั้งใจ ใช่ครับ! แค่หยุดฟัง ไม่ด่วนสรุป ไม่พูดสวน ไม่รีบอธิบาย การฟังไม่ได้หมายความว่า ต้องเห็นด้วย แต่ฟังเพื่อทำความเข้าใจว่าโลกในมุมมองของเขาเป็นอย่างไร โดยไม่เอามุมมองของเราเป็นตัวตั้ง หรือเอาไปหักล้างมุมมองที่ไม่เห็นด้วย
  2. ไม่ด้อยค่าใคร การเคารพและให้เกียรติคนอื่นต้องแสดงออกทั้งคำพูด น้ำเสียง และท่าทาง สามสิ่งนี้ต้องสอดคล้องกัน ดังนั้นหากอยากให้คนอื่นมองว่าเราให้เกียรติเขา ไม่ใช่แค่หยุดพูด แต่ต้องไม่บูลลี่คนอื่นด้วยสายตา และท่าทีที่ไม่เหมาะสมด้วย
  3. ยอมรับความแตกต่างของคน เราจะไม่มีวันเคารพและให้เกียรติใครได้เลย ถ้าตัวเราอยากให้คนอื่นเป็นเหมือนเรา ความจริงคือ ที่มาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ชาติกำเนิด ความรู้ รสนิยมและการจัดลำดับความสำคัญในชีวิตต่างกัน  ดังนั้นชีวิตใครชีวิตมัน มุมมองใครมุมมองมัน สิ่งเหล่านี้เราควบคุมไม่ได้ แต่ที่ควบคุมได้ คือการยอมรับว่าคนไม่เหมือนกัน ถ้าคิดแบบนี้ เราจะไม่หงุดหงิดเมื่อเจอคนเห็นต่างจากเรา

วันนี้ถ้าคุณอยู่ในฐานะผู้นำ ไม่ว่าคุณจะยืนอยู่ท่ามกลางคนในครอบครัว ในองค์กร หรือในประเทศ จงเพิ่มความเคารพคนอื่นให้มากขึ้น แล้วความขัดแย้งจะลดลง

ดร.จักรพันธ์ จันทรัศมี

Consulting Partner

Slingshot Group

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง