Ambidextrous Leadership ภาวะผู้นำ 2 ขั้ว ที่ต้องต่อยอดของปัจจุบันและหาสิ่งใหม่สู่อนาคต

HIGHLIGHT

  • ทำไมองค์กรต้องเปลี่ยนแปลง
  • ผู้นำมีบทบาทอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลง
  • Ambidextrous Leadership ต้องมีลักษณะอย่างไร

Ambidextrous Leadership ภาวะผู้นำ 2 ขั้ว ที่ต้องต่อยอดของปัจจุบันและหาสิ่งใหม่สู่อนาคต

ของเก่าก็ยังต้องทำ ของใหม่ก็ต้องคิด สรุปจะเอาอะไร ?

ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เรื่องการเปลี่ยนแปลง (Change) ถือเป็นเรื่องใหม่ ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาในการทำงานโครงการ Change & Transformation ให้กับองค์กรต่าง ๆ สลิงชอท กรุ๊ปกับผู้นำองค์กรต้องใช้เวลาส่วนใหญ่กับการสร้างบรรยากาศให้คนในองค์กรเห็นความเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลง (Create sense of urgency) ด้วยการพูดถึงเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยน และเหตุผลหลัก ๆ มีอยู่ 2 ข้อคือ เพื่อ “อยู่รอด” และ “เพื่อเติบโต”

บางองค์กรมีเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงเพราะต้องการอยู่รอด เพราะเจอความท้าทายจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การเข้ามาของคู่แข่งในรูปแบบใหม่ทั้งในและต่างประเทศ การถูก disrupt ซึ่งการบริหารการเปลี่ยนแปลงในบริบทนี้จะพบว่าบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่ตรึงเครียด ผู้นำต้องเข้าใจและบริหารอารมณ์ของทีมงานที่กำลังถูกเปลี่ยนพฤติกรรม วิธีการทำงาน วัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้ก้าวผ่านความยากลำบาก พย่ายามหาวิธีต่อยอดจากธุรกิจเดิมที่มี รวมไปถึงจัดการกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงจากคนกลุ่มเดิมที่ทำงานปัจจุบันอยู่

บางองค์กรมีเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงเพราะเห็นโอกาสแห่งการเติบโต เช่น การเข้ามาของเทรนด์ใหม่ เห็นโอกาสในการแตกสายธุรกิจใหม่แยกมาตั้งบริษัทใหม่ ซึ่งการนำการเปลี่ยนแปลงในบริบทนี้ก็จะต้องอาศัยผู้นำที่การสร้างแรงบันดาลใจ วาดภาพอนาคตให้คนอยากไปด้วยกับอนาคต

ที่ผ่านมาเราอาจมองคุณลักษณะผู้นำที่มานำการเปลี่ยนแปลงใน 2 บริบทที่แตกต่างกันนี้แตกต่างกัน การเปลี่ยนแปลงในแต่ละ stage อาจใช้ผู้นำที่มีคุณลักษณะเหมาะสมต่างกันด้วย อย่างไรก็ดี สัปดาห์ที่ผ่านมาสลิงชอท กรุ๊ป ได้มีโอกาสคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านปฏิรูปองค์กรจากประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับแนวคิดที่เรียกว่า Ambidextrous Leadership ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่ถนัดทั้งต่อยอดของปัจจุบันและหาสิ่งใหม่สู่อนาคต กล่าวคือ สามารถหาโอกาสใหม่ในอนาคต​ ในขณะเดียวกันก็ต้องสามารถใช้ประโยชน์ต่อยอดจากสิ่งที่องค์กรมีอยู่แล้วในปัจจุบันให้ดียิ่งขึ้น เพื่อผลักดันนวัตกรรม​ความมีประสิทธิภาพและความสำเร็จในระยะยาวให้กับองค์กรได้

การนำองค์กรทุกวันนี้ทั้งมีความซับซ้อน ทั้งต้องแข่งขันด้วยเกมส์ใหม่ ผู้นำองค์กรต่างรู้ว่าความสำเร็จในอดีตไม่การันตีความสำเร็จในอนาคต เหตุนี้หลายองค์กรจึงต้องแบ่งเวลาและทรัพยากรในการมองหาสิ่งใหม่ในอนาคตด้วย เมื่ออยากทำของใหม่ แต่ก็ยังทิ้งธุรกิจหลักไม่ได้ ผลคือคนที่มีอยู่ต้องมายุ่งวุ่นวายกับการทำสิ่งใหม่ จนไม่สามารถโฟกัสกับ Core Business ที่ทำอยู่ได้ Ambidextrous Leadership จึงช่วยสร้างสมดุลระหว่างสิ่งที่ทำในปัจจุบันกับนวัตกรรมที่จะทำในอนาคต 

อยากสร้างความสำเร็จที่ยั่งยืน ต้องอย่าลืมวัดผลผู้นำ (Leadership Outcome) ด้วย DAC

คุณลักษณะสำคัญ 3 ประการ ของผู้นำแบบ Ambidextrous Leadership มีดังนี้

  1. สร้างวัฒนธรรมแห่งการเตรียมพร้อม (Culture of Preparation) ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างเป้าหมายระยะสั้นและเป้าหมายระยะยาว รวมถึงสร้างจิตสำนึกแห่งการสร้างความต่อเนื่อง (Sense of Continuity) กล่าวคือต้องสร้างวัฒนธรรมในการพูดคุยและมองหาว่าสิ่งที่ทำในปัจจุบันมีอะไรที่ทำได้ดีบ้าง จะคงไว้อย่างไร และมีอะไรบ้างที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตข้างหน้าเพื่อให้การปฏิรูปไปสู่ทิศทางใหม่ต่อเนื่องจากสิ่งที่ทำมาได้ดีหรือจุดแข็งที่เคยทำมาในอดีต
  2. สร้างความรู้สึกปลอดภัยทางใจในที่ทำงาน (Psychological Safety) ที่วันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่สิ่งที่ดีที่ควรทำ แต่กลับเป็นกลยุทธ์สำคัญในการนำมาซึ่งความสำเร็จ เพราะเป็นการปลูกฝังคุณค่าของความกล้าแสดงออก กล้าเสี่ยงพนักงานรู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวเอง แม้ทำผิดพลาดและแสดงความคิดเห็นโดยไม่กลัวการถูกลงโทษหรือเยาะเย้ย ซึ่งการศึกษาพบว่าสภาพแวดล้อมแบบนี้สำคัญอย่างยิ่งในเศรษฐกิจที่เน้นความเร็วและนวัตกรรมในปัจจุบัน
  3. ความสามารถในการบริหารความย้อนแย้ง (Paradox Management) เมื่อต้องทำ 2 สิ่งที่อยู่กันคนละขั้ว เช่นจะรวมศูนย์หรือกระจายอำนาจ จะเน้นความสัมพันธ์หรือผลลัพธ์ดี ซึ่งแทนที่จะเลือกทางใดทางหนึ่ง แต่ต้องสามารถหาจุดที่มันเชื่อมโยงและส่งเสริมกันได้มากกว่าเห็นเฉพาะจุดที่มันขัดแย้งกัน

โดย

Dr. Sutisophan Chuaywongyart

CEO and Partner at Slingshot Group

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง