สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

กลับมาอีกครั้งของ “Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน” อีเวนต์พัฒนาทักษะคนทำงานแห่งปี ที่จะพาคนสู้งานทุกท่าน ไปเปิดใจให้ทุกความท้าทาย รับแรงบันดาลใจ พร้อมเรียนรู้ทักษะแห่งการทำงานและชีวิต จัดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2024 ณ BITEC Bangna Bhiraj Hall 2-3

HREX ได้เข้าร่วมงานดังกล่าว และได้เข้าฟังเสวนาที่น่าสนใจหลายหัวข้อด้วย จึงถือโอกาสนี้สรุปสิ่งที่ HR ต้องรู้เกี่ยวกับงานมาให้ได้อ่านกันในบทความนี้ได้เลย

Forum 1.WORK-LIFE SURVIVAL GUIDE เปิดคู่มือคนสู้งาน ให้ผ่านทุกด่านยากของชีวิต

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

คุณรวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศรีจันทร์ และ Mission to the Moon เริ่มด้วยการเกริ่นว่า เขารู้ว่าปัจจุบันทุกคนกำลังเหนื่อยกับเรื่องการทำงาน เศรษฐกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย สังคมยุคนี้เต็มไปด้วยความคาดหวังที่สูงขึ้น เราคาดหวังให้เรียนหนังสือต้องดี ทำงานต้องดี ต้องหุ่นดี หน้าตาดี มีชีวิตที่ดี มีบ้านรถ มีคู่ชีวิตที่ดี ฯลฯ

ซึ่งปัญหาหนึ่งเกิดจากการที่เราคาดหวังเยอะเพราะโซเชี่ยลมีเดียมาช่วยให้เราได้รู้ความเติบโตของผู้อื่นเร็วขึ้น ทำให้มนุษย์ยิ่งเปรียบเทียบตัวเองกับผู้อื่นตลอดเวลา ทำให้ความคาดหวังมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสมหวังทุกอย่างเสมอไป และถึงแม้เราจะทำได้ เราก็จะเอาความคาดหวังไปใช้กับเรื่องใหม่อย่างไม่มีสิ้นสุด

คุณรวิศ ยกตัวอย่างเรื่องราวในวรรณกรรมคลาสสิคเรื่อง อวสานเซลส์แมน ที่เล่าถึงตัวเอกที่เดินทางไปขายของที่ต่างๆ ด้วยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดี แต่เขาเองกลับทำหลายสิ่งหลายอย่างไม่สำเร็จเลย ทำให้เขาคิดว่าตายอาจดีเสียกว่า วรรณกรรมนี้เล่าถึงโศกนาฏกรรมประจำวัน ซึ่งเกิดขึ้นกับคนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อของความคาดหวังที่สูง ซึ่งยังคงทันสมัยในปัจจุบัน

คำถามคือ เราจะเอาตัวรอดจากโศกนาฏกรรม วังวนของความผิดหวังได้อย่างไร ?

ก่อนอื่นต้องตระหนักก่อนว่า ความคาดหวังเกิดจากการตัวเราเอง พอเป็นปัญหาของเราเอง เราจะสามารถจัดการได้ง่ายกว่าหากเป็นปัญหาจากความคาดหวังของคนอื่น

ทั้งนี้ มี 5 ด่านสำคัญที่คนเราต้องเผชิญอยู่เสมอดังนี้

ด่านที่ 1 การงาน การเปลี่ยนแปลงเชิงธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการทำงาน การรับมือกับคน คนที่กังวลเรื่องอนาคตตัวเอง การต้องเจอกับ AI

ด่านที่ 2 การเงิน มีการถกเถียงกันว่า ความสุขที่ได้จากเงินจะน้อย เมื่อเราได้เงินที่ต้องการแล้ว และเงินที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ มีผลต่อความสุขที่เพิ่มขึ้นด้วย แต่ทุกวันนี้คนเรายังไม่มั่นคงทางการเงิน คนหาเงินมาใบ้ไม่พอ ซึ่งมีปัญหาหลายอย่างตามมา

ด่านที่ 3 ความสัมพันธ์ มีคนอยู่รอบตัวเราเยอะ แต่เราดูแลความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้ดีแล้วรึยัง เราทำงานหนักเกินไปจนละเลยคนรอบข้าวหรือไม่

ด่านที่ 4 สังคม คาดหวังว่าเราต้องรู้ทุกเรื่อง เข้าใจสิ่งใหม่ ๆ เข้าใจการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หากไม่ระวังอาจโดนทัวร์ลงได้

ด่านที่ 5 ใจ เราป่วยทางใจ เราเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวลกันมากขึ้น

หากเราจะฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ นี้ไปได้ สิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือมายด์เซ็ตที่ดี มีมายด์เซ็ตที่ถูกต้องว่า ถึงเราต้องเจอ 5 ด่านนี้ตลอดเวลา แต่เราสามารถโต้ สู้กับมันไม่ให้ดึงเราจมลงไปในทะเลได้ เราสามารถเอาเทคโนโลยีที่ เช่น Gen AI ที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบันมาใช้ได้ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาในการทำงานได้มหาศาล

คนใช้ AI เป็นจะยิ่งได้เปรียบ คนไม่ใช่จะยิ่งเหนื่อยมาก ใครใช้แล้ว ให้ใช้อีก ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จะช่วยประหยัดเวลา และทำให้งานมีประสิทธิภาพได้เยอะกว่าเดิมหลายเท่า

มายด์เซ็ตอีกอย่างที่จำเป็นก็คือ การหาถ้าความสุขจากสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เราจะไม่สามารถมีความสุขกับความสำเร็จครั้งใหญ่ได้เลย หากไม่เห็นคุณค่าของสิ่งล้ำค่าที่พบเจอระหว่างทาง และอย่าลืมระวังราคาที่ต้องจ่ายในทุกการกระทำเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วย จงทำตัวให้คุ้นชินกับความไม่สบายใจ แล้วสู้ต่อไป

และนี่คือมายด์เซ็ตที่เขาเน้นย้ำในเบื้องต้น ซึ่งน่าจะช่วยให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ได้ ไม่มากก็น้อย

Forum 2.ให้เรื่องงานและการใช้ชีวิต ไปด้วยกันได้ดีด้วย WORK-LIFE HARMONY วิถีใหม่

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

วิทยากรของหัวข้อนี้ได้แก่คุณโทนี่ – ศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asset Five Group โดยมีคุณรวิศ หาญอุตสาหะ ทำหน้าที่พิธีกร โดยคราวนี้ คุณศุภโชคนำแง่มุมใหม่มานำเสนอนั่นคือ Work-life Harmony ที่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นกว่าการมี Work-Life Balance เสียอีก

คุณโทนี่เล่าประวัติตัวเองก่อนคร่าว ๆ ว่า เขาทำงานในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และโชคดีที่อยู่ในกลุ่มที่เกิดมาแล้วมีบุญเก่าจากครอบครัว แต่เขารู้สึกว่าไม่ชอบบุญเก่าที่มีเลย เพราะเขาอยากสร้างความสำเร็จให้กับตัวเอง อยากเป็นเถ้าแก่มากกว่าให้คนจดจำว่าตัวเองเป็นลูกเถ้าแก่

เขาจึงตั้งปณิธานอันแรงกล้าว่าจะต้องสร้าง Legacy ของตัวเองให้ได้ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ง่ายเลย โดยเขายังจำได้ว่าในช่วงแรกที่เปิดบริษัทขึ้น เขาต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะองค์กรยังมีพนักงานไม่เยอะจนชีวิตโอเวอร์โหลด ขาด Work-Life Balance เขาหิวความสำเร็จ สนแต่การสร้างความสำเร็จเร็ว ๆ ทำยังไงก็ได้ที่จะเพิ่ม Productivity ให้ตัวเอง

แต่เขามาค้นพบทีหลังว่ามันมีสิ่งที่เรียกว่า The Wheel of Life เขาได้พบว่าชีวิตนั้นมีเป้าหมายอีกมากมายนอกเหนือจากเรื่องเงินและงาน ทั้งเรื่องจิตใจ ครอบครัว สังคม และสุขภาพ และหากไม่ตั้งเป้าหมายให้รอบด้าน มันจะส่งผลถึงชีวิตจนเสียศูนย์ และมันทำให้เขาหันมามองหา Work-Life Harmony แทน

เขาให้นิยามคำนี้ไว้ว่า เราทำอะไรสักอย่าง เราต้องมีความสุข Harmony ของแต่ละคนจะขึ้นอยู่กับการตั้งเป้าหมายก่อนว่า เป้าหมายของเรามีค่าอย่างไร เมื่อเราชอบมัน เราจะทำสิ่งนั้นอย่างเปี่ยมด้วยความหมาย ไม่เพียงแค่ในเรื่องงานแต่ยังรวมถึงเรื่องอื่น ๆ ด้วย

ทั้งนี้มี 4 ข้อที่จำเป็นต่อการมี Work Life Harmony ซึ่งเราต้องเอากลับมาตั้งคำถามต่อตัวเองด้วย

  1. ทำไมคุณถึงทำงานที่กำลังทำอยู่ ? อะไรที่ทำให้เรายังทำงานนี้ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องมาค้นหา แต่มันต้องใช้เวลานานเหมือนกันกว่าเราจะเข้าใจตัวเองว่า ทำไปเพื่ออะไร
  2. คุณทำสิ่งนี้เพื่อใคร ? นอกจากทำเพื่อตัวเองตัวเองแล้ว เราทำเพื่อใครอีกบ้าง เพื่อครอบครัว เพื่อลูกน้อง หรือเพื่อลูกค้า…
  3. คุณร่วมงานกับใครบ้าง เขามีความหมายอย่างไร ? เขามอบพลังบวกหรือพลังลบ เขาเป็นแรงบันดาลใจ หรือบั่นทอนกำลังใจให้เรา
  4. เรื่องที่มีความหมายกับคุณในแต่ละวันคืออะไร ลองเขียนลงในกระดาษบ่อย ๆ เพื่อให้ได้ทบทวนการกระทำในแต่ละวัน

การทำ 4 ขั้นตอนนี้ เมื่อทำบ่อย ๆ เดี๋ยวมันก็จะช่วยให้เราค้นพบคำตอบ ค้นพบเป้าหมายของชีวิตที่เราต้องการ และเกิด Work-Life Harmony ที่ตามหามานานได้อย่างแน่นอน

Forum 3.ชักหน้าไม่ถึงหลัง ออกแบบการเงินอย่างไรให้มั่งคั่ง

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

การเงินคือเรื่องสำคัญที่คนทำงานทุกคนต้องให้ความสำคัญ แต่หลายคนกลับชักหน้าไม่ถึงหลัง ใช้เวินไม่เคยพอในแต่ละเดือน คุณธนธร กาญจนิศากร ที่ปรึกษาทางการเงินส่วนบุคคลและนิติบุคคล เจ้าของเพจ NamFinance วิทยากรประจำ Session นี้เล่าว่านี่เป็นสถานการณ์ที่คนจำนวนมากพบเจอเป็นประจำ

โดยผลการสำรวจทักษะการเงินของคนไทยเมื่อปี 2565 พบว่า คนมากกว่า 75% เก็บเงินในรูปของเงินสด และมี 12.5% ไม่เคยเก็บออมเลย 

ผลสำรวจยังพบอีกว่า กลุ่มคนที่เก็บเงิน มีเงินสำรองฉุกเฉินมากกว่า 6 เดือน จะมีความสามารถในการเกษียณได้ดีกว่าคนกลุ่มอื่น แต่คนที่เก็บเงินได้ไม่ถึง 1 อาทิตย์ จะตกอยู่ในสถานการณ์ชักหน้าไม่ถึงหลัง หมุนเงินไม่ทัน จนต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย เพราะมีรายได้ที่ได้มาตอนต้นเดือนเหลือใช้ไม่ถึงปลายเดือน

ทำไมคนไทยถึงชักหน้าไม่ถึงหลัง เพราะพฤติกรรมการใข้เงินเป็นหลัก ตามมาด้วยค่าครองชีพที่สูง การเปรียบเทียบกันในสังคมที่ทำให้ผู้คนอยากแสดงตัวตนว่ามีสิ่งที่คนในสังคมมี

พฤติกรรมที่เราควรเลิก หากไม่อยากชักหน้าไม่ถึงหลัง คือให้รางวัลกับตัวเองบ่อยน้อยลง การซื้อของตามกระแส จนไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเงินลงทุน คือการประมาทกับการใช้ชีวิตจนไม่ได้คำนึงถึงตัวเองในวันหน้า ซึ่งจริง ๆ ไม่ใช่ว่าซื้อของตามกระแสไม่ได้ แต่ต้องถามว่าซื้อทำไม ถ้าเรามีเงินพอที่จะซื้อก็อาจไม่ผิดอะไร แต่ปัญหาจะเกิดขี้นเมื่อไม่มีเงินแต่ยังมีความต้องการ

แล้วเราต้องรู้เรื่องอะไรทางการเงินบ้าง คำตอบคือ 4 เรื่องดังนี้

M – Multiply Your Money and Skill เราต้องเพิ่มพูนทักษะด้านการเงินและทักษะอื่น ๆ ไปพร้อมกัน บางครั้งทักษะที่เพิ่มพูน นำมาซึ่งความมั่งคั่งมากขึ้น เราสามารถหาอาชีพเสริม เพิ่มเติมองค์ความรู้ได้ เราต้องใช้แรงทำเงินเพื่อให้เงินทำงานแทนเรา การมีรายได้มากกว่า 1 ทางเป็นวิธีที่จะช่วยให้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น

U – Understand Your Risk เข้าใจความเสี่ยง 4 มิติ ความเสี่ยงจากภายในร่างกายจากการเจ็บป่วย ความเสี่ยงภายนอกร่างกาย ความเสี่ยงที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ เมื่อเราเข้าใจว่าเราเสี่ยงด้านไหนบ้าง จะช่วยให้เราวางแผนชีวิตได้ง่ายขึ้น และรู้ว่าจะกระจายความเสี่ยงอย่างไร

S – Save & Safe Your Money ต้องแบ่งเงินให้แน่ชัดหลายกระเป๋า ทั้งเงินสำรองฉุกเฉิน เงินสำหรับใช้จ่ายในปัจจุบัน และเงินสำหรับอนาคต โดยต้องไม่ใช้ผิดกระเป๋า และยิ่งเริ่มต้นเก็บเงินเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นแต้มต่อเหนือกว่าคนที่เริ่มข้า

T – Think About Your Retirement ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการวางแผนเกษียณคือเมื่อเริ่มทำงานใหม่ครั้งแรก แต่หากใครไม่ได้เริ่ม การเริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สาย 

ทุกคนต่างมีระเบิดเวลาของตัวเอง ซึ่งจะระเบิดเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อย่างน้อยการเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันนี้ก็จะช่วยให้เข้าใกล้การเกษียณได้ใกล้ขึ้นเรื่อย ๆ ดีกว่าการที่จะเกษียณแล้วแต่ไม่มีเงินเก็บเลย

Forum 4.ฮีลใจอย่างไรในวันที่หมดไฟ

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

ต่อให้ทำงานเก่งแค่ไหน แต่หากสภาพจิตใจไม่มั่นคง ผลงานที่ออกมาย่อมไม่มีคุณภาพ หรือถ้ามีคุณภาพ ในระยะยาว คุณภาพชีวิตของเขาคนนั้นก็จะไม่ยั่งยืนเอาเลย คุณนภาพร ไตรวิทย์วารีกุล หรือดีเจพี่อ้อย นักจัดรายการวิทยุ Club Friday ที่หลาย ๆ คนน่าจะรู้จักกันดี จึงถือโอกาสนี้มาเล่าเคล็ดลับในการเยียวยาจิตใจ

ดีเจพี่อ้อยอธิบายว่า จริง ๆ แล้วเรื่องงานกับความรักนั้นไม่ต่างกัน หากวันไหนที่ใจพัง ไม่มีใครมีพลังไปรับมือแน่ ๆ แต่ที่สำคัญก็คือ วิธีรับมือนั้นเหมือนกันด้วย โดยวิธีที่จะเยียวยาหัวใจตัวเอง รู้วิธีคิดให้ชีวิตรอด มีดังต่อไปนี้

1.ถามตัวเองว่า เราทำแต่สิ่งที่ต้องทำ จนลืมสิ่งที่อยากทำหรือไม่ วันหนึ่งก็จะหมดไฟ ซึ่งเข้าใจได้ว่าบางคนอาจต้องทำงานที่ไม่ชอบ แต่ก็อย่าลืมหามุมด้านดี ๆ ที่จะทำให้อยากทำงานนั้นอย่างเต็มที่ หรือหาโอกาสสักเล็กน้อยในการทำสิ่งที่อยากทำจริง ๆ มันจะช่วยเติมพลังใจให้มีแรงสู้ต่อไปได้ หรือบางทีการหยุดงานสักวันเพื่อพักและตั้งหลัก จะช่วยให้เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคงเช่นกัน

2.บอกตัวเองว่า ไม่มีอะไรได้ดั่งใจเราไปทุกอย่าง แม้แต่ตัวเราเองในบางวัน อย่าเอาความสุขของเราไปผูกที่ขาของคนอื่น เราเปลี่ยนโลกคนอื่นไม่ได้ เราต้องเปลี่ยนที่ตัวเราเอง อย่าลืมว่าความสุขขึ้นอยู่กับเรา และอย่าให้คนอื่นทำอะไรแล้วมามีผลต่อใจเรา

3.งานเลือกได้ เจ้านายกับเพื่อนร่วมงานเลือกไม่ได้ เมื่อเราเลือกคนที่เจอไม่ได้ เราสามารถเลือกวางเขาไว้ตรงไหนในชีวิตได้ อาจดูเหมือนจะพูดง่าย แต่ทำยาก แต่ถ้าทำได้จะช่วยให้ใจเยียวยาขึ้นได้เพิ่มขึ้น ถ้าเราไม่ชอบใคร ก็ไม่ต้องไปจับจ้องเขา และอย่าปล่อยให้คำพูดด้านลบมีอิทธิพลกับตัวเราเองจนเดินหน้าต่อไปไม่ได้

4.จงทำดีที่สุดในจุดของเรา และอย่าลืมชื่นชมตัวเองเมื่องานประสบความสำเร็จ ไม่ต้องกลัวเหลิง เราชมตัวเองโดยไม่ต้องรอให้คนอื่นมาชมเรา นี่แหละ ที่จะช่วยเติมพลังให้เราได้ดีที่สุด

5.ปฏิเสธให้เป็น เราต้องรู้ว่าเมื่อไหร่ที่เรารับงานไม่ไหวอีกต่อไป อย่าลืมว่างานเสร็จกับงานสำเร็จไม่เหมือนกัน และมีความภาคภูมิใจที่แตกต่างกัน ถ้าเราทำงานน้อยแล้วมันออกมาสำเร็จ ไม่เพียงแค่เราจะภาคภูมิใจในงานที่ออกไป แต่ยังส่งผลดีต่อองค์กรในภาพรวมด้วย

6.อย่ามัวแต่มองข้าวหน้า จนลืมมองคนข้าง ๆ ความสำเร็จจะอ้างว้างหากไม่มีคนร่วมฉลองด้วย อย่าทำอะไรหนักเกินไปจนไม่ได้ใช้เวลากับครอบครัว เพราะเราไม่รู้ว่าคน ๆ นั้นจะอยู่กับเราไปอีกนานแค่ไหน และบางทีเขาอาจจะเป็นคนที่ให้กำลังใจ เติมไฟให้เราในช่วงเวลาที่กำลังต้องการพอดีก็ได้

“ความสุขไม่ได้อยู่ที่เรามีอะไร แต่อยู่ที่เรารู้สึกยังไงกับสิ่งที่เรามี ไม่มีใครมีความสุขตลอดเวลา แต่เราต้องไม่ลืมซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง” ดีเจพี่อ้อยทิ้งท้าย

Forum 5.รับงานนอก ซอบงานประจำ และอยากทำธุรกิจ

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

ในยุคนี้ การทำงานประจำอย่างเดียวไม่สามารถช่วยให้แต่ละคนไปถึงเป้าหมายได้อีกต่อไป หลายคนรับงานฟรีแลนซ์ด้วย คุณณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ อุ๊คบี (Ookbee) ก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง

เพราะเขาเองก็มีหลายอาชีพ ทั้งการเป็นเจ้าของบริษัทเอง และได้ร่วมลงทุน เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานในหลายบริษัท แต่ตลอดเวลาในการทำงานที่ผ่านมา เขาตระหนักว่าเรามีเวลาจำกัดเพื่อบริหารจัดการ 5 แกนในชีวิต ทั้งด้านการงาน การเงิน สุขภาพ ความสัมพันธ์ และความสงบสุขทางใจ (Peace of Mind)

และแต่ละทุก ๆ แกน ไม่สามารถทดแทนกันได้ แต่หากทุ่มเทกับแกนใดแกนหนึ่งมากเกินไป จะส่งผลกระทบกับด้านอื่น ๆ เช่น ถ้าทุ่มเททำงานมากเกินไป ก็อาจส่งผลด้านสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ การทำงานเยอะไม่ผิด และการแบ่งเวลาไปทำงานเสริม งานที่ 2 หรือ 3 ก็ไม่ใช่เรื่องผิด แม้ในมุมมองของเจ้าของกิจการจะกังวลว่าพนักงานไปทำงานนอกจะส่งผลต่อองค์กรหรือไม่ แต่นายจ้างก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ในยุคสมัยนี้เป็นไปแทบไม่ได้แล้วที่ 1 คนจะทำงานเดียวเพื่อเลี้ยงชีพ

แต่การที่จู่ ๆ จะทำงานที่ 2 ได้ คุณณัฐวุฒิชวนให้คิดก่อนว่า การทำงานเสริมจะเข้ามาเสริมอะไรในชีวิตเราได้บ้าง หากใครพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่า เราสามารถทำสิ่งนี้แล้วเกิดคุณค่ากับตัวเองและผู้อื่น ก็ขอแนะนำให้ทำ โดยหากเป็นไปได้ก่อนเริ่มทำงานนั้น ให้ลองหาคนที่มีประสบการณ์ทำงานนั้นจนความสำเร็จให้เจอ แล้วลองนัดคุยสอบถามเขาก่อน ขั้นตอนนี้จะช่วยประหยัดเวลาการทำรีเสิร์ชไปได้เยอะ

จากนั้นลองลงมือทำเล็ก ๆ ง่าย ๆ ยังไม่จำเป็นต้องทุ่มทุกอย่างเต็มร้อย แต่ค่อย ๆ เพิ่มระดับความจริงจังและเข้มข้นไปเรื่อย ๆ มันจะเสริมประสบการณ์ ช่วยให้เราค่อย ๆ เก่งขึ้นกว่าวันเก่าได้แน่นอน ที่สำคัญ อย่าลืมเผื่อช่องว่างให้เรียนรู้จากความผิดพลาดและเติบโต

แล้วหากลองทำจนรู้สึกชอบ ก็ค่อยลงแรงกายและใจอย่างจริงจัง ทำจนพอเห็นภาพว่ามันสามารถกลายมาเป็นงานหลักแทนงานประจำที่มีอยู่ได้ ซึ่งกว่าจะถึงตรงนั้นต้องใช้เวลา และผ่านวินัยที่ต้องทำซ้ำ ๆ จนเกิดเป็นความเชี่ยวชาญ

ไม่เพียงแค่นั้น และอย่าลืมวัดผลด้วยว่า เมื่อจริงจังกับมันมากขึ้น ผลที่ได้เป็นอย่างไร เติบโตขึ้นกว่าเดิมไหม

ผู้ก่อตั้ง Ookbee เน้นย้ำว่า การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง จนคนอื่นอยากลงทุนกับเรา และเราเองก็สามารถเลือกได้ว่าเราอยากทำงานร่วมกับใครบ้าง เมื่อนั้น Life Portfolio ของเราก็จะสมบูรณ์เติมเต็ม

Forum 6.HUMANIZED LEADER ผู้นำยุคใหม่ต้องใช้ใจ บริหารคนอย่างไรถึงจะสำเร็จ

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Mission To The Moon Forum 2024 : Work-Life Survival Guide

การเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่สั่งงานเป็นอย่างเดียว แต่ยังต้องบริหารความรู้สึกของคนในทีมด้วย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย และบางครั้งผู้นำก็อาจทำให้ลูกทีมเสียกำลังใจโดยไม่รู้ตัว 

แล้วอย่างนี้หัวหน้าจะทำอย่างไรได้ดี ?

คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Chief Engagement Officer (CEO) บริษัท Food Passion จำกัด, คุณวิตสุภา วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ และคุณชญาน์ทัต วงค์มณี นักเขียนชื่อดังที่รู้จักกันในนามเพจ ‘ท้อฟฟี่ แบรดชอว์’ จึงได้มาร่วมแชร์แนวทางกันว่า ผู้นำควรต้องบริหารความรู้สึกอย่างไร เพื่อพาทีมไปให้ถึงฝั่งฝัน ดำเนินรายการ พิริยะ กุลกาญจนาชีวิน ผู้ร่วมก่อตั้ง Glow Story

คุณชาตยา อธิบายว่าสาเหตุที่ความเป็นมนุษย์สำคัญสำหรับผู้นำมาก ๆ เพราะผู้นำต้องทำงานร่วมกับคน ในธุรกิจร้านอาหารที่คนเสิร์ฟอาหารให้คน Food Passion ตระหนักเสมอว่า มนุษย์จำเป็นต้องอยู่ในสมการเสมอ องค์กรไม่สามารถขาดคนได้ อย่าลืมว่าคนไม่ใช่เครื่องจักร ถ้าอยากซื้อใจให้เขาอยากเดินตามมาด้วยกัน ก็ต้องเริ่มจากการไม่มองคนเป็นเพียงเครื่องจักรที่แค่กดปุ่มสั่งการ ก็จะทำงานอัตโนมัติ

คุณวิตสุภา เล่าในมุมมองธุรกิจสื่อว่า การทำคอนเทนต์มีอารมณ์ความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ อารมณ์ความรู้สึกของคนทำงานสามารถส่งผ่านไปสู่ผู้รับสารได้ แม้กระทั่งความเครียดก็ด้วย ดังนั้น เราต้องแคร์ความเป็นมนุษย์ให้มาก ๆ และผู้นำที่มีความเป็นมนุษย์ ย่อมรู้ว่าผู้อื่นก็ต้องการการเห็นอกเห็นใจเช่นกัน เราจะคาดหวังให้คนมาทำดีต่อเราฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ก็ต้องเป็นทั้ง 2 ฝ่ายที่ทำซึ่งกันและกัน และหัวหน้าควรต้องเริ่มเป็นคนนั้นก่อน

ส่วนคุณท้อฟฟี่ แบรดชอว์ ฝากถึงคนเป็นหัวหน้าทุกคนว่า ก่อนที่เราจะเป็นหัวหน้า เราต้องเป็นคนให้ได้ก่อน การจะเป็นหัวหน้าที่มีความเก่งกาจ ไม่เพียงคำนึงถึงความสามารถในการทำงาน แต่ต้องเป็นคนที่มีความเข้าใจ มี Empathy ต่อผู้อื่นด้วย ถึงจะเป็นหัวหน้าและเป็นคนที่ดี ที่สำคัญหัวหน้าจะต้องไม่กลัวลูกน้องฟีดแบ็คด้านลบกลับมา เพื่อจะได้รู้ว่าควรปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นอย่างไร และจะได้ยกระดับทีมให้ดีขึ้น มีความสุขมากขึ้นไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ ทั้ง 3 ท่านยังได้ร่วมแชร์ถึงสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรทำ ซึ่งมี 6 อย่างดังนี้

  1. เปรียบเทียบตัวเองในฐานะบทบาทของพ่อแม่ ต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกน้องที่มาทำงานไม่จำเป็นต้องรักกัน เช่นเดียวกับลูกของเราที่ไม่ต้องรักกัน แต่พ่อแม่และผู้นำต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เขาสามัคคีกัน เอื้ออำนวยให้เขาเดินไปด้วยกัน ทำงานด้วยกันไปถึงเป้าหมายได้
  2. ผู้นำต้องวางนโยบายอย่าบมีธรรมาภิบาล มีหลักการ มีคุณธรรม ถูกต้อง โปร่งใส นโยบายต่าง ๆ ถูกใช้อย่างเท่าเทียมกับทุกคน ผู้นำต้องสามารถอธิบายกับทุกคนได้ว่า ทำไมถึงออกนโยบายนี้มา บังคับใช้อย่างไร ตัดสินให้รางวัลหรือให้โทษอย่างไร ไม่มี 2 มาตรฐาน
  3. ปฏิบัติตัวต่อผู้อื่นอย่างเป็นมิตร หมั่นทักทาย ถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ดูแลเอาใจใส่ผู้อื่นกันจริง ๆ ผู้นำต้องทำตัวให้คนอื่นสามารถจับต้องได้ ไม่ใช่ทำให้คนเกรงกลัว
  4. หัวหน้าต้องอย่าลืมว่าตัวเองเคยเป็นลูกน้อง ถ้าเราเข้าใจความรู้สึกของคนตัวเล็ก เราจะยิ่งถนอมน้ำใจกันและกันมากขึ้น เราจะรู้ว่าเราเคยไม่ชอบให้หัวหน้าทำอะไร และเราก็จะไม่ทำสิ่งนั้นกับลูกน้องด้วย
  5. อย่าลืมว่าคนทำงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี เราต้องรู้ว่างานที่ทำอยู่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนอื่นอย่างไร คิดเสมอว่าเมื่อให้ทำงานใดงานหนึ่งไป เขาจะได้นอนเต็มที่หรือไม่ หรือต้องทำงานดึกดื่นจนเบียดเบียนเวลาในชีวิต
  6. งานไหนลูกน้องทำเองไม่ได้ หัวหน้าต้องช่วย บางงานอาจต้องคุยข้ามแผนก ซึ่งอาจไม่สะดวกสำหรับลูกน้อง หัวหน้าผู้มีสิทธิ์ที่จะเข้าไปคุยกับทีมอื่น ๆ ก็ต้องสามารถประสานงานเพื่อช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น สะดวกขึ้นด้วย

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง