ในโลกการทำงานนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจโลกถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการวางแผนงานในแต่ละปี เพราะหากเราทำงานโดยไม่สนใจเลยว่าสภาพสังคมเป็นอย่างไร เราก็จะไม่สามารถสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนหมู่มาก ไม่สามารถหาสวัสดิการที่เข้าถึงจิตใจของพนักงาน และอาจทำให้บริษัทไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์อันหนักหน่วงได้อีกต่อไป
HR NOTE.asia ซึ่งเป็น Media Partner จึงได้สรุปประเด็นที่ HR ควรรู้จากงาน The Standard Economic Forum 2022 เอาไว้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามจากบทความนี้ได้เลย
Contents
Edge of Tomorrow : เศรษฐกิจไทยจะก้าวข้ามเหวสู่อนาคตได้อย่างไร โดย ดร. พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย, ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, เศรษฐา ทวีสิน และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย
เศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีปัจจัยจากทั่วโลกที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงความผันผวนทางเศรษฐกิจทั่ว เช่นเรื่องวิกฤตโลกร้อน, โลกรวน และต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีอัตราฟื้นตัวจากโควิด-19 ช้ากว่าต่างประเทศ เพราะไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นหลัก และยังกลับมาเปิดได้ไม่เต็มสูบ จึงเรียกได้ว่าเศรษฐกิจของไทยได้ยืนอยู่บนปากเหวอย่างแท้จริง ดังนั้นการเสวนาในหัวข้อนี้คือการอธิบายว่าเราจะก้าวข้ามเหวดังกล่าวได้ด้วยวิธีใด
อย่างไรก็ตามคุณสมเกียรติ มองว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ที่ปากเหวอย่างที่คิด ไม่ได้ประสบวิกฤตเศรษฐกิจอย่างประเทศอย่างศรีลังกา, ลาว หรือแม้แต่ในประเทศไทยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปีพ.ศ. 2540 แต่ปัญหาตอนนี้คือภูมิรัฐศาสตร์ เพราะเราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของการสู้รบอย่างในยุโรป แต่เราก็ไม่ได้ประโยชน์จากภูมิรัฐศาสตร์เท่าที่ควรเช่นกัน
ดังนั้นเราพูดได้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาวะ “ติดหล่ม” คือก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ก็ช้ามาก ๆ ไม่ได้คึกคักเหมือนเวียดนามหรืออินโดนิเซียที่กำลังมาแรง สาเหตุเพราะรัฐบาลไทยเก่งบางเรื่องและไม่เก่งบางเรื่อง ผู้พูดมองว่าเมืองไทยมีการบริหารเศรษฐกิจมหภาคได้ดีพอสมควร แต่เรื่องที่ไม่เก่งคือการวางแผนเพื่ออนาคตที่ยังมีความมั่วอยู่มาก เช่นการออกกฎ Must Have ของฟุตบอลโลกที่มีการอนุมัติงบประมาณมั่ว ๆ ต่างจากหลายประเทศในภูมิภาคที่ปิดดีลได้ตั้งแต่ต้นปี กรณีนี้แสดงถึงความเฉื่อยของรัฐบาล จึงกล่าวโดยง่ายว่าเรากำลังติดหล่มเพราะความ “มั่วเกินสมควร”
ดร.พิพัฒน์ เห็นด้วยว่าปัญหาไม่ใช่ว่าเราจะตกเหว แต่ปัญหาคือเราโตช้าและโตช้าลงเรื่อย ๆ ปัญหานี้ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่คนให้ความสำคัญน้อยลง ยกตัวอย่างจากประเทศอาร์เจนติน่าในที่เคยเจริญทางเศรษฐกิจเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกในยุค 90 แต่ปัจจุบันก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน เศรษฐกิจที่ไม่เติบโตจะส่งผลกับประชาชนในภาพรวม โดยคำที่ต้องพูดถึงคือ Social Mobility ที่หมายถึงการตั้งคำถามว่าคนที่เกิดมาจนนั้นจะมีโอกาสลืมตาอ้าปากหรือไม่, ความเหลื่อมล้ำในเมืองจะมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งปัญหาตรงนี้จะต่อยอดไปเป็นสิ่งที่แย่กว่าได้
ผู้บรรยายเปรียบประเทศไทยเหมือนสาวสวยร้านขายของชำที่เคยประสบความสําเร็จเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ตอนเมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แม้เจ้าของร้านจะยังสวยอยู่ แต่ก็อายุเยอะขึ้นเรื่อย ๆ แถมมีร้านสะดวกซื้อเปิดใหม่อยู่ท้ายซอย คนเลยมองข้ามและไปเข้าร้านแบบนั้นแทน อีกมุมหนึ่งเจ้าของร้านชำเองก็ไม่ดูแลตัวเอง ไม่มีทั้งแรง ไม่มีทั้งเสน่ห์ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ความสามารถในการแข่งขันของร้านชำจะลดลง
ดร. สันติธารเปรียบประเทศไทยเป็นนักฟุตบอลที่เคยมีฝีมือ มีสมรรถนะที่เคยเล่นได้สมฉายา เสือตัวที่ 5 แต่ตอนนี้เริ่มแก่ตัว, มีศักยภาพน้อยลง ประเด็นนี้แม้จะดูน่าเป็นห่วง แต่สิ่งที่ต้องคิดก็คือโลกใบนี้มีนักกีฬาอายุเยอะที่ยังแข่งขันในระดับสูงได้มากมาย ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนทัศนคติ (Mindset) ยอมรับความเป็นจริง และมีความคิดว่า “เราต้องไม่รอแมวมอง แต่ต้องเป็นคนวิ่งเข้าหาแมว” ต่างหาก
ดร. สมเกียรติมองว่าสิ่งที่ประเทศไทยต้องมีคือผู้นำที่มีวุฒิภาวะ (Leadership) อย่างประเทศรอบตัวที่เคยเป็นคู่แข่งของเรานั้นเวลาไปเจรจาแต่ละครั้ง ตัวผู้นำจะไปเอง คู่ค้าก็จะให้ความสำคัญมากกว่า เราจะรอเจรจาแค่ตอนที่จัดประชุมตามวาระไม่ได้ ผู้นำประเทศต้องกล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง แม้อาจจะไม่ถูกใจคนบางกลุ่มก็ตาม
ผู้บรรยายมองอนาคตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในช่วง 3-4 ปีหลังจากนี้ว่ามีอยู่ 3 ประเด็นที่น่าสนใจ กล่างคือ
- เรื่องของการฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 ซึ่งเรายังไม่สามารถกลับไปมี GDP เทียบเท่ากับช่วงก่อนโควิดด้วยซ้ำ ปัญหานี้กระทบต่อธุรกิจขนาดเล็กค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้เราต้องพัฒนาเครื่องจักรและพัฒนาตัวเองให้พร้อมรับมือด้วย ลองตั้งคำถามว่าหากการท่องเที่ยวกลับมาแตะหลัก 40 ล้านคนเท่าเดิม เราจะมีศักยภาพในการรับมือได้จริง ๆ หรือไม่ ?
- เงื่อนไขจากภายนอกเช่นวิกฤตค่าครองชีพที่คนต้องจ่ายเงินมากขึ้น ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ, การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถือเป็นต้นทุนทางการเงินที่ขยับขึ้นเร็วมาก
- สภาพเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในสภาวะถดถอย ทั้งอเมริกา, ยุโรป หรือแม้แต่จีน ดังนั้นประเทศไทยที่เป็นประเทศขนาดเล็ก ก็ไม่สามารถหลีกหนีเรื่องนี้ เราจะฟื้นตัวได้ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ในปี ค.ศ.2023 คนไทยมีแนวโน้มเจอกับสภาวะของแพง ของที่ขึ้นราคาไปแล้ว ก็จะไม่ลดราคาลงมา ซึ่งเป็นปัญหามากโดยเฉพาะกับคนรายได้น้อย สอดคล้องกับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นั่นแปลว่าหากเศรษฐกิจของไทยยังแก้ไขได้ช้า คนรายได้น้อยก็จะยิ่งลำบากมากขึ้น
ที่สำคัญคือปีหน้าประเทศไทยจะมีงานเลือกตั้ง ซึ่งอาจมีนโยบายประชานิยมเยอะ และถ้าคนที่ถูกเลือกมีนโยบายที่ขาดความรับผิดชอบ การทำตามนโยบายนั้น ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องดีทางเศรษฐกิจแน่นอน วิธีที่ต้องทำคือไม่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล ก็ต้องจำกัดให้ใช้เงินแค่ตามงบประมาณเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเมืองเอาไว้ โดยผู้นำที่สนใจเรื่องภูมิรัฐศาสต์อย่างจริงจัง จะเป็นผู้ที่แก้ไขปัญหาได้เร็ว
3 สิ่งที่ต้องมีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะยาว
- ESG ต้องมี S : ESG คือแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งย่อมาจาก Environment, Social, และ Governance เพราะคนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainablity) มากขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Social) จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาด้านอื่น ๆ
- ดิจิตัลต้องช่วยคนตัวเล็ก : เศรษฐกิจดิจิตัลไม่ใช่เฉพาะกลุ่มธุรกิจ IT แต่เป็นส่วนหนึ่งของทุกอุตสาหกรรม
- เอเชียต้องมีอาเซียน : ในโลกยุคใหม่ ASEAN จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เนื้อหอมมากขึ้น เรียกได้ว่าเรียกได้ว่าภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็มีโอกาสมากมายที่แฝงอยู่เช่นกัน
ปัญหาสำคัญในอนาคตของไทยคือ “โครงสร้างประชากร” ที่มีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้น แต่ประชากรในวัยทำงานกลับ “ลดลง” ให้มองว่าเศรษฐกิจเป็นเหมือนเครื่องจักร เมื่อแรงงานลดลง แรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโตก็จะน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศชั้นนำอย่างจีนเช่นกัน ดังนั้นถ้าเราไม่ทำให้พนักงานเก่งและมีความรอบรู้มากขึ้น เศรษฐกิจก็จะเติบโตก็ช้าลง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานมากกว่าเดิม
ปัญหาต่อมาก็คือปัญหาทางสังคม เช่นพวก Social Safetiness กล่าวคือประเทศของเรามีคนทำงานน้อยลง แต่มีคนที่เอาแต่รอรับสวัสดิการมากขึ้น กองทุนต่างๆ จึงอาจอยู่ไม่ได้ เช่นประกันสุขภาพ, ประกันสังคม เป็นต้น ทำให้มีแนวโน้มสูงมากที่จะมีการเพิ่มภาษีขึ้นมาอีก
ปัญหาสุดท้ายคือประเทศไทยก้าวไม่ทันเทคโนโลยี เช่นถ้าเราไม่มีความรู้เรื่องรถยนต์ที่กำลังเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า เราก็อาจไม่ได้เป็นฐานผลิตชั้นนำของโลกอีกต่อไป, สินค้าส่งออกของเราก็อาจเปลี่ยนไป ยังไม่รวมถึงพวกปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เริ่มลดลง เราจึงต้องตั้งคำถามว่าแท้จริงคนไทยพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงหรือยัง เพราะหากปล่อยไปโดยไม่หาทางรับมือ ปัญหาก็จะใหญ่ขึ้นจนอาจแก้ไขไม่ไหวอีกต่อไป
The Future of Leadership โดย เรืองโรจน์ พูลผล : ประธานกลุ่ม KASIKORN Business – Technology Group (KBTG)
“ภาวะผู้นำในโลกยุคปากเหว” เป็นคำที่เหมาะสำหรับใช้เรียกผู้นำในยุคนี้มาก เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่กระแสโลกปั่นป่วนที่สุดในรอบหลายสิบปี สถานการณ์นี้ทำให้คนเกิดความกังวลและพยายามหาวิธีรับมือที่มีประสิทธิภาพที่สุด
ประเทศไทยในปัจจุบันไม่ได้เจอผลกระทบจากสถานการณ์ระดับโลกเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกมาก เช่นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ความไม่เท่าเทียมในสังคม เป็นต้น ผู้บรรยายจึงกล่าวโดยสรุปว่าความเปลี่ยนแปลงในรอบ 2 ปีที่ผ่านมานั้น เทียบเท่ากับความเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีก่อนหน้าเลยด้วยซ้ำ และที่สำคัญ World Economic Forum กล่าวว่าในอีก 8 ปีนับจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกจะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ย้อนกลับมาไม่ได้อีกต่อไป
สภาวะอันยากลำบากที่ผู้นำในปัจจุบันต้องเผชิญประกอบด้วย
- Brittle : ความเปราะบาง
- Anxious : ความกังวล
- Nonlinear : คาดเดาได้ยาก
- Incomprehensible : ความไม่เข้าใจ
อย่างไรก็ตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ของคนทำงาน เพราะอายุเฉลี่ยของคนที่เป็นผู้นำในประเทศไทยคือ 70 ปี ดังนั้นเราต้องตั้งคำถามแล้วว่าคนเหล่านี้จะสามารถอยู่ช่วยเหลือองค์กรต่อไปได้นานแค่ไหน และหากเรายังไม่มีตัวแทนในระยะราว 10 ปีนับจากนี้ ก็ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะต้องเริ่มพัฒนาศักยภาพของคนที่เป็นหรือกำลังก้าวมาเป็นผู้นำให้แข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม
องค์ประกอบสำคัญของการเป็นผู้นำในปัจจุบันคือ “การเป็นมนุษย์ที่ดีให้ได้ก่อน” (Be a Good Human Being) เราต้องเลิกเป็นผู้นำแบบเก่าที่มักเถียงในเรื่องไม่เป็นเรื่อง แล้วเปลี่ยนมาเป็นคนที่เปิดใจรับฟัง พร้อมร่วมมือกับคนอื่นโดยเอาเป้าหมายส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เป็นตัวอย่างที่ดีของลูกน้อง และเข้าใจว่าตนจำเป็นต้องเรียนรู้ให้มากขึ้นตลอดเวลา หากผู้นำมีทัศนคติแบบนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือความน่าเชื่อถือ คนรอบตัวจะรู้สึกว่าผู้นำเป็นคนที่พึ่งพาได้ เกิดความใกล้ชิด และพร้อมเป็นขุมกำลังไว้สู้กับอุปสรรคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ผู้นำต้องท่องไว้เสมอว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ไม่มีอัศวินขี่ม้าขาวให้เราขอความช่วยเหลือหรือให้เราไปใฝ่หาโชคเอาดาบหน้า เราต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและหาคำตอบให้ได้ว่าต้องทำอย่างไรถึงจะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ดังนั้นผู้นำยุคใหม่ต้องมีองค์ประกอบดังนี้
- กล้ารับมือกับทุกวิกฤต และหาทางพลิกให้เป็นโอกาส
- ปรับตัวได้ไว และมีวิสัยทัศน์กว้างไกล
- ต้องเชื่อมั่นในทีมงาน เปิดโอกาสให้แก้ไขปัญหา แม้จะเป็นพนักงานอายุน้อยที่ขาดประสบการณ์ก็ตาม
- เป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นเสมอ ต้องคิดว่ายิ่งเราส่งต่อพลังบวกออกไปเท่าไหร่ เราก็มีโอกาสได้สิ่งมหัศจรรย์จากคนอื่นกลับมาเช่นกัน
- สร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่เคยมีอยู่ให้กลายเป็นเรื่องจริง
THE FUTURE OF WORK โดย คุณภาณุวัฒน์ เบ็ญเราะมาน, นพมาศ ศิวะกฤษณ์กุล และเด่นชัย เพชรชมรัตน์
อย่างที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้าว่าเทรนด์การทำงานถูกเร่งให้เร็วขึ้นมาจากการเกิดโควิด-19 การทำงานที่บ้านหรือ Remote Working ได้รับความนิยมมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีที่ใช้สนับสนุนการทำงานให้คล่องตัวก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นกัน
แน่นอนว่าการทำงานแบบ Remote Working ไม่ได้เหมาะกับทุกองค์กร แต่ก็เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ เพราะความเข้าใจตรงนี้จะทำให้เราทราบความต้องการของพนักงานและสามารถหาสวัสดิการมาตอบสนองตามความเหมาะสม โดยผู้บรรยายกล่าวว่าการทำงานจากนอกออฟฟิศมีจุดที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษดังนี้
- องค์กรต้องออกแบบกระบวนการทำงานให้สอดคล้องกับการทำงานแบบไฮบริด โดยเอาเป้าหมายขององค์กรเป็นที่ตั้ง หมายความว่าวิธีทำงานแบบเดิมอาจไม่ได้ผลแม้จะเคยทำให้ประสบความสำเร็จก็ตาม
- ต้องรู้จักใช้เครื่องมือเพื่อพัฒนาการทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
- ให้ความรู้กับพนักงานเมื่อมีวัฒนธรรมองค์กรที่เปลี่ยนไป เพื่อให้ทุกคนมีเป้าหมายในการทำงานแบบเดียวกันและรู้สึกเป็นทีม
- หากสามารถทำได้ องค์กรควรว่าจ้างหัวหน้าฝ่ายทำงานออนไลน์ (Head of Remote Working) เพื่อคอยบริหารจัดการกลยุทธ์ขององค์กรให้รับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้น
ในที่นี้กลไกสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับสถานการณ์โลกได้ดีคือการมีผู้นำที่เข้มแข็ง ซึ่งจำเป็นต้องช่วยกระตุ้นให้เกิด 4 องค์ประกอบสำคัญของการทำงานยุคใหม่ ได้แก่
- ทักษะการฟัง (People Skill)
- ทักษะด้านข้อมูล (Data Skill)
- ความรู้เรื่องเทคโนโลยี (Tech Skill)
- ทักษะทางสังคม (Social Skill)
ทักษะเหล่านี้ต้องมาคู่กับทัศนคติเชิงบวกเพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ระหว่างกัน เพราะการปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน อ้างอิงจากอัตราการหมดไฟ (Burnout) ที่พุ่งสูงขึ้นถึง 35% ในผู้ชาย และ 42% ในผู้หญิงหากเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แถมกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ยังทำให้มีพนักงานถึง 50% ที่พร้อมลาออกโดยไม่มีงานรองรับ นั่นแปลว่าปัญหาขาดแคลนแรงงานจะเป็นอีกหนึ่งหัวข้อที่คนทำงานต้องเจอ
ผู้บรรยายอธิบายว่าเราสามารถรับมือกับสงครามแย่งชิงคนเก่ง (Talent War) ได้ด้วยวิธีเหล่านี้
- แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจ (Motivation) เพื่อให้พนักงานรู้ว่าองค์กรกำลังก้าวไปที่จุดไหน
- ทำให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าของงาน ด้วยการให้ความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของงาน (Sense of Ownership)
- เร่งดำเนินการในทุกขั้นตอนให้รวดเร็ว (Speed Implementation)
- นำเสนอการทำงานแบบไฮบริด หรือแนวทางที่เหมาะกับความต้องการของพนักงานและไม่ขัดต่อนโยบายขององค์กร
- มีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานเสมอเพื่อให้รู้สึกใกล้ชิด