HIGHLIGHT
|
การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา อยู่ที่ว่าเราจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร
โดยเฉพาะ การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ที่แต่ละครั้งพลิกโฉมโลกไปอย่างสิ้นเชิง เปลี่ยนทั้งวิถีชีวิต ความคิด และกระบวนการทำงาน ซึ่งปัจจุบันเราเข้าสู่ยุค ปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 หรือ The Fourth Industrial Revolution (4IR) แล้ว
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร ทำงานอะไร หรืออยู่ตำแหน่งไหน หนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้ ทุกคนจึงต้องตื่นตัวและก้าวทันโลกใบใหม่อยู่เสมอ เพื่อเอาตัวรอด และคว้าโอกาสท่ามกลางการปฏิวัติที่เกิดขึ้น
Contents
ย้อนประวัติศาสตร์ปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ผ่านมามียุคอะไรบ้าง
การปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) คือ การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานและระบบการผลิตให้แตกต่างไปจากเดิม ตั้งแต่จากครัวเรือนเล็ก ๆ ไปจนถึงระบบอุตสาหกรรมโรงงาน หรือจากการใช้แรงงานคนและสัตว์ ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งที่ผ่านมาโลกได้ผ่านการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว 3 ครั้ง ได้แก่
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 (The First Industrial Revolution)
เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ ปี 1784 จากเดิมที่ใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นหลัก เปลี่ยนมาเป็นการใช้ เครื่องจักร เป็นตัวทุ่นแรง ตัวการสำคัญก็คือการเกิดขึ้นของเครื่องจักรไอน้ำโดยนักประดิษฐ์ชื่อดัง เจมส์ วัตต์ (James Watt) ที่พัฒนามาจากตัวต้นแบบของ โทมัส นิวโคเมน (Thomas Newcomen)
นับเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมโรงงานที่เข้ามาแทนระบบเกษตรกรรมแบบเดิม โดยเฉพาะการบุกเบิกเครื่องทอผ้าในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ทำให้เกิดการขยายตัวครั้งมโหฬารของการผลิตด้วยเครื่องจักรในทุกอุตสาหกรรม
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 (The Second Industrial Revolution)
การปฏิวัติครั้งนี้เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา ปี 1870 เป็นการเปลี่ยนจากพลังงานถ่านหินมาสู่การใช้พลังงานไฟฟ้า ก๊าซ และน้ำมัน รวมไปถึงการเกิดขึ้นของ ระบบสายพาน จาก เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ที่เร่งประสิทธิภาพการผลิตรถยนต์ให้สูงขึ้น ทั้งรวดเร็วและลดต้นทุน จนทุก ๆ อุตสาหกรรมหันมาใช้ตาม เกิดเป็นยุคการผลิตที่สินค้าหน้าตาเหมือนกันจำนวนมากหรือ Mass Production อย่างที่เรารู้จัก
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 (The Third Industrial Revolution)
การเกิดขึ้นของไฟฟ้านำมาสู่การพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และจุดเปลี่ยนสำคัญของยุคนี้ก็คือ คอมพิวเตอร์ นั่นเอง
คอมพิวเตอร์เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1946 และเริ่มนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมเมื่อปี 1969 ทำให้เกิดการผลิตแบบอัตโนมัติ สามารถผลิตสินค้าที่มีความซับซ้อนได้ ส่งผลให้กระบวนการผลิตยิ่งมีประสิทธิภาพและเป็นมาตรฐานมากขึ้น
ปัจจุบันแทบไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่ไม่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการทำงานแล้ว เพราะมันได้กลายเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานที่ทุกคนเข้าถึงได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเรากำลังเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 นับการปฏิวัติที่มีพื้นฐานมาจากเทคโนโลยียุคนี้
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 คืออะไร
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (The Fourth Industrial Revolution – 4IR) มีอีกชื่อหนึ่งว่า อุตสาหกรรม 4.0 (Industry 4.0) คือ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาผสมกับโลกการผลิต เชื่อมโยงเครื่องข่ายในรูปแบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things – IoT) รวมไปถึงการใช้งานระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) และจักรกลเรียนรู้ (Machine Learning – ML) ทำให้เกิดการผลิตระบบอัติโนมัติที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องจักรสามารถวิเคราะห์ปัญหาและแก้ไขปัญหาเองได้ โดยปราศจากการแทรกแซงจากมนุษย์
ความแตกต่างจากการปฏิวัติครั้งที่ 3 ก็คือ จากเดิมเป็นการผลิตแบบเดียวจำนวนมากในเวลาไม่นาน แต่ยุค 4.0 จะผลิตสินค้าได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของผู้บริโภคแต่ละคน ทำให้เกิดความพึงพอใจที่ต่างแตกกันไป
ตัวอย่างเทคโนโลยี Industry 4.0 มีอะไรบ้าง
- หุ่นยนต์อัตโนมัติในการผลิต (Autonomous Robots)
- การสร้างแบบจำลอง 3 มิติ (Simulation)
- การบูรณาการระบบต่าง ๆ เข้าด้วยกัน (System Integration)
- การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตกับอุปกรณ์อัจฉริยะ (Internet Of Things)
- การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล (Cybersecurity)
- การประมวลผลและการเก็บข้อมูลออนไลน์ (Cloud computer)
- การขึ้นรูปชิ้นงานด้วยเนื้อวัสดุ (Additive Manufacturing)
- เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Augmented Reality)
- ข้อมูลใหญ่ที่จัดเก็บและแบ่งปันกันได้ (Big data)
การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ส่งผลกระทบอะไรกับ HR
ย้อนกลับไปในปี 2016 มีการพูดคุยถึงผลกระทบจาก 4IR ว่าจะส่งผลอะไรต่อมนุษยชาติบ้าง ซึ่งในกรณีของฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources : HR) มีข้อมูลว่าที่น่าสนใจว่า 65% ของเด็กเล็กที่เพิ่งสมัครเรียนในปีนั้น อนาคตจะจบมาทำงานใหม่ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นในตอนนี้ด้วยซ้ำ
สอดคล้องกับข้อมูลจาก World Economic Forum ที่คาดการณ์ว่า ในปี 2025 งานต่าง ๆ ของมนุษย์จะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรคอมพิวเตอร์กว่า 50% ขณะเดียวก็จะสร้างงานใหม่ ๆ มากกว่า 133 ล้านงานทั่วโลก
นั่นแปลว่า HR จะมีงานใหม่จำนวนมหาศาล ที่รอให้คุณไปทำความรู้จักและเรียนรู้มัน
ราวิน เจสุธาสาน (Ravin Jesuthasan) Managing Director จาก Willis Towers Watson ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน เคยแสดงความคิดเห็นถึงผลกระทบของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ว่า
“สิ่งที่เกิดขึ้นกำลังมอบโอกาสพิเศษให้กับ HR ในการกำหนดภารกิจใหม่และพัฒนาหน้าที่การงานตัวเอง HR จะประสบความสำเร็จได้โดยการเกี่ยวข้องกับ ‘งาน’ ทั้งองค์กร ไม่ใช่การจ้างพนักงานอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการการันตีคุณภาพของพนักงาน การสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ และการประเมินทักษะด้วย”
ความท้าทายของ HR ในยุคปฏิวัติอุสาหกรรม 4.0
การเปลี่ยนแปลงนำมาซึ่งความท้าทายเสมอ โดยความท้าทายแรกของ HR ก็คือ การสรรหาพนักงานให้มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งงานใหม่ที่จะเกิดขึ้น บทบาทการทำงาน HR จะมากขึ้นโดยเฉพาะการต้องมีทักษะวิเคราะห์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อจะได้สรรหาบุคคลากรให้เหมาะกับตำแหน่งใหม่นั้น ๆ
ต่อมาคือความท้าทายในการสร้างการรักษาพนักงานมืออาชีพให้อยู่กับเรา เพราะอนาคตผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน การแข่งขันแย่งตัวพนักงานจะยิ่งรุนแรงขึ้น
สุดท้ายก็คือความท้าทายในการสร้างแรงจูงใจและกระตุ้นให้พนักงานอยากเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ เพิ่มเติม เพื่อพร้อมปรับตัวเข้าสู่ Digital Transformation นั่นเอง
เพราะฉะนั้น ถ้าอุตสาหกรรมยังเป็นอุตสาหกรรม 4.0 ได้ ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่ HR เองก็จะต้องปรับตัวเข้าสู่การเป็น HR 4.0 เช่นกัน
บทบาทของ HR ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้บทบาท HR ต้องเปลี่ยนไป ซึ่งเว็บไซต์ Lifexchangesolutions กล่าวถึงบทบาทของฝ่ายทรัพยากรบุคคลในยุค 4IR ไว้ 4 ประการดังนี้
- เป็นนักวางแผนธุรกิจ – HR ไม่ใช่แค่คนจ้างพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่อาจมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร ในฐานะนักวางกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการ
- เป็นตัวแทนแห่งการเปลี่ยนแปลง – HR จะต้องรับผิดชอบในการขับเคลื่อนองค์กรอย่างมีนัยยะสำคัญ เช่น การเป็นตัวแทนในการนำทางองค์กรเมื่อเกิดความไม่แน่นอน หรือให้คำปรึกษาสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงาน
- เป็นผู้ริเริ่ม – HR จะต้องช่วยคนอื่น (รวมถึงตัวเอง) ในการปรับตัวเข้าสู่ดิจิทัล จัดการเพิ่มและพัฒนาทักษะพนักงาน รวมไปถึงการเริ่มเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานในฝ่ายตัวเองก่อน
- เป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม – HR ต้องสร้างสรรค์หรือปรับปรุงระบบการทำงานเดิมให้ดีขึ้น หรือสร้างสรรค์กระบวนการใหม่ ๆ ให้เหมาะสมกับยุคสมัย
กล่าวสรุปก็คือ บทบาทของ HR จะมีความสำคัญมากขึ้นในองค์กร ทุกคนจึงต้องพัฒนาตัวเองและพัฒนาพนักงานผ่านการ Re-Skill, Up-Skill ฉะนั้นทรัพยากรบุคคลจึงเตรียมทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการเติบโตขององค์กรให้พร้อมเสมอ
กลยุทธ์การสร้างพนักงานในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
พัฒนาศักยภาพใหม่ของผู้นำสำหรับ 4IR
ไม่ใช่แค่พัฒนาพนักงาน แต่ HR ต้องพัฒนาศักยภาพผู้นำในองค์กรด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับธุรกิจ, การสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ ๆ ในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กร และกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคคล
จัดการบูรณาการเทคโนโลยีให้กับพนักงาน
HR จะต้องการร่วมมือกับผู้บริหารระดับสูง CEO หรือ C-level เพื่อผสมผสานการทำงานระหว่างบุคคลและเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติให้ลงตัว พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้ได้ว่า การบูรณาการดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อการทำงานในอนาคต
ยกระดับประสบการณ์ของพนักงาน
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเรียกร้องให้พนักงานเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานจนเกิดเป็นประสบการณ์ใหม่หรือความเชี่ยวชาญใหม่ HR จึงมีบทบาทในการกำหนด ประเมินผล และทำให้ประสบการณ์นั้น ๆ มีคุณค่ามากขึ้น
สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่คล่องตัวและเหมาะสมสำหรับแต่ละคน
แน่นอนว่า หน้าที่หลักของ HR คือการสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้อยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม แต่ละตำแหน่งก็มีความต้องการความรู้หรือทักษะใหม่ ๆ ที่แตกต่างกัน หรือทักษะบางอย่างก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป HR จึงต้องเลือกการเรียนรู้ทักษะให้เหมาะสมกับแต่ละคน ผ่านเทคนิค learn, unlearn และ relearn
กำหนดตัวชี้วัดเพื่อประเมินคุณค่าของทุนมนุษย์
เพราะความสำเร็จประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือตัวพนักงานที่เป็นหนึ่งในสินทรัพย์อันมีค่าขององค์กร HR จึงควรมีหน่วยวัดที่ชัดเจนเพื่อแยกความสำคัญของทุนมนุษย์ และบ่งบอกได้ว่าทุนมนุษย์นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนศักยภาพและประสิทธิภาพขององค์กร
ส่งเสริมความหลากหลายและไม่แบ่งแยกกัน
ต่อไปองค์กรจะเต็มไปความหลากหลายทางสังคม ชนชั้น เชื้อชาติ หรือแม้กระทั่งความคิดเห็นทางการเมือง HR จึงมีหน้าที่สร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งเดียวกันของพนักงาน เพื่อก่อให้เกิดความเท่าเทียมและเคารพซึ่งกันและกัน เพราะความหลากหลายของพนักงานก็สามารถสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้ดีทีเดียว
ตัวอย่างการปรับตัวในช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงสงสัยว่า แล้วเราจะปรับตัวในช่วง 4IR ยังไงดี เพื่อแสดงให้เห็นมาตรการที่เป็นรูปธรรม เราขอยกตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงจาก 2 องค์กรใหญ่ว่าเขามีการปรับกระบวนทัศน์อย่างไรบ้าง
Unilever – บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ ได้ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไว้ 3 ข้อ คือ
- จุดประกายการเรียนรู้ตลอดเวลาชีวิต ด้วยการให้พนักงานทุกคนวางแผนอนาคตของตัวเอง และสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ทักษะใหม่ เพื่อเติบโตในสายงานนั้น ๆ หรือสายงานใหม่ที่ต้องการ
- ปรับเปลี่ยนตามพนักงานที่เปลี่ยนไป เนื่องจากพนักงาน 80% เป็นสหภาพแรงงานจึงมีความเสี่ยงที่จะนัดหยุดงานหรือประท้วง องค์กรจึงตั้งเป้าไว้ว่า จะทำงานร่วมกันพนักงานและสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างตระหนัก อำนวยความสะดวก และสร้างกระบวนการทำงานร่วมกับพนักงาน
- กำหนดระบบการทำงานขององค์กรใหม่ ผ่านรูปแบบการจ้างงานที่พนักงานสามารถเลือกได้ว่า จะจ้างงานแบบประจำหรือฟรีแลนซ์ กรณีนี้นำร่องใช้แล้วในสหราชอาณาจักร รวมไปถึงการสร้างฐานข้อมูล (talent pool) ฟรีแลนซ์ ที่จะแบ่งปันพนักงานเก่ง ๆ ให้กับองค์กรอื่นด้วย
PwC – บริษัทตรวจสอบบัญชีขนาดใหญ่ มีแนวทางในการรับมือ 4IR ทั้งหมด 3 ข้อ คือ
- ปฎิวัติทักษะแรงงาน ทั้งการยกระดับทักษะแรงงาน การสรรหาพนักงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยี และการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องและเอื้อต่อการทำงานร่วมกับเทคโนโลยี
- สร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยี กล่าวคือธุรกิจต้องพิสูจน์ความโปร่งใสในการใช้เทคโนโลยีให้ได้ เพราะความเชื่อมั่นจะเป็นกุญแจสำคัญที่สร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ
- นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาสังคม ทั้งในด้านของการพัฒนาการศึกษา แก้ปัญหาความยากจน และช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมา PwC ได้ให้คำปรึกษากับองค์กรต่าง ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน
บทสรุป
ถึงตอนนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่าโลกของเราได้เข้าสู่ยุค 4IR เป็นที่เรียบร้อย เห็นได้จากเทคโนโลยีที่นับวันจะล้ำขึ้นเหมือนหลุดออกมาจากหนัง
นี่คือยุคสมัยอันน่าตื่นเต้นของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมาพร้อมโอกาสมหาศาลที่กำลังรอเราอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างไร นับเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4
เพราะหลังจากวันนี้ โลกของเราจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกต่อไป