Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

HIGHLIGHT
  • Workforce Diversity ความหลากหลายของบุคลากรในที่ทำงาน ไม่ใช่ปัญหาในการบริหาร แต่ในอีกมุมหนึ่งของความแตกต่างของทักษะความสามารถ ตลอดจนความคิดเห็นในหลายแง่มุมที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานได้
  • องค์กรที่มีพนักงานหลากหลายทางเชื้อชาติเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในยุคปัจจุบันมากขึ้น เพราะธุรกิจในยุคนี้ทำการตลาดแบบทั่วโลกมากขึ้น ทำให้องค์กรเข้าใจลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
  • ยุคนี้กระแสการยอมรับความหลากหลายทางเพศกำลังเป็นกระแสที่มาแรงมาก ทั้งในการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคม ไปจนถึงการยอมรับความหลากหลายทางเพศในการทำงานอย่างยุติธรรม ซึ่งความสามารถไม่ควรมองจากเรื่องเพศเป็นหลัก
  • ความหลากหลายอีกอย่างในองค์กรที่เจอกันประจำก็คือเรื่องของอายุ แต่อาจนำข้อได้เปรียบของแต่ละอายุมาใช้ในการทำงานให้เกิดประโยชน์ เช่น ใช้ความสามารถทางเทคโนโลยีของคนรุ่นใหม่ ทำงานกับการตลาดที่เข้าใจผู้บริโภคจากประสบการณ์ที่มากมายของผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำนวนไทยที่บอกว่า “มากคน มากความ” นั้นเป็นจริงเสมอ แต่ในบางครั้งการมากคนและมากความก็เป็นประโยชน์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะมุมมองของการทำงานในองค์กรต่างๆ ที่หากองค์กรมีความหลากหลายของพนักงานก็สามารถนำสิ่งนี้มาสร้างให้ก่อประโยชน์กับองค์กรได้เช่นกัน ความหลากหลายในยุคปัจจุบันนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในเรื่องเพศหรืออายุเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเชื้อชาติ ตลอดจนความรู้ความสามารถที่ต่างก็ทำให้เกิดมุมมองต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับองค์กรได้มากมาย ตรงกันข้ามองค์กรที่ไม่มีความหลากหลายนั้นถึงแม้จะมีข้อดีที่สามารถบริหารจัดการได้ง่าย มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ก็มักไม่มีความหลากหลายของความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ซึ่งนั่นอาจทำให้องค์กรมีวิสัยทัศน์หรือความคิดที่ไม่กว้างขวาง บริหารจัดการหรือแก้ปัญหาในวิธีซ้ำๆ เดิมๆ ที่อาจไม่สามารถแก้ปัญหาเลยเสียด้วยซ้ำ ดังนั้นองค์กรจึงควรมีพนักงานที่หลากหลายเพื่อให้เกิดประโยชน์กับองค์กรในที่สุด

ความหลากหลายของบุคลากรในรูปแบบต่างๆ

ความหลากหลายของบุคลากรในตลาดแรงงานหรือการบริหารงานแบบองค์กรนั้นมีมากมายหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละอย่างต่างก็มีลักษณะและข้อดีกับองค์กรที่แตกต่างกัน ซึ่งความหลากหลายต่างๆ นั้นมีดังนี้

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความหลากหลายทางเพศ (Gender Diversity)

หากพูดถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศในยุคปัจจุบันนี้ไม่ใช่มีแค่เพศชายหรือหญิงเท่านั้น การที่ทั่วโลกเริ่มรณรงค์ให้เปิดกว้างและยอมรับเพศทางเลือกที่แตกต่าง โดยเฉพาะในกลุ่ม LGBT ทั้งการยอมรับในสังคมทั่วไป ไปจนถึงสังคมแห่งการทำงาน เพื่อให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันอย่างแท้จริง และมีโอกาสก้าวหน้าในการทำงานที่วัดจากความสามารถไม่ได้วัดจากเรื่องเพศ

การเปิดรับเพศทางเลือกอื่นๆ เข้ามาทำงานในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในยุคนี้ เพราะเรื่องนี้ค่อยๆ มีการยอมรับมากขึ้นเรื่อยๆ มานานแล้ว โดยเฉพาะในแวดวงแฟชั่นไปจนถึงอุตสาหกรรมบันเทิงที่เพศทางเลือกนั้นกลับสามารถใช้พรสวรรค์ของตนในการทำงานด้านนี้ได้ดีเป็นพิเศษอีกด้วย แต่สำหรับในยุคนี้มีหลายองค์กรต่างก็ใช้โอกาสการมีเพศทางเลือกให้เป็นประโยชน์มากขึ้น อย่างเช่นบริษัทที่ทำสินค้าต่างๆ ทั้งหลาย ต่างก็เริ่มสร้างตลาดใหม่เป็นเพศทางเลือกมากขึ้นเรื่อยๆ และการรับพนักงานที่มีความหลากหลายนี้นอกจากจะทำให้พวกเขาเหล่านั้นเข้าใจในตลาดที่ตนเองอยู่ จนสามารถทำการตลาดได้ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นได้แล้ว ก็ยังทำให้องค์กรมีการแสดงความคิดที่หลากหลายมุมมองมากขึ้น นำไปเป็นประโยชน์กับธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย รวมถึงสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งได้อย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้ด้วยเช่นกัน

LGBT Policy

ปัจจุบันมีหลายองค์กรยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แล้วบางองค์กรก็ถึงกับยกเรื่อง LGBT เป็นระดับนโยบายองค์กรเพื่อเป็นแนวทางในการให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ซึ่งยิ่งจะทำให้คนกลุ่มนี้มีความเคารพและไว้ใจองค์กรไปในคราวเดียวกันด้วย หนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนด้านนี้อย่างจริงจังก็คือองค์กรใหญ่อย่างเชลล์ (Shall) ที่กำหนดเป็นนโยบายองค์กรไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย มีการสร้าง LGBT Network ภายในองค์กรเชลล์ทั่วโลกที่จะเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งในเรื่องของการทำงาน และเรื่องของ LGBT ไปจนถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สนใจติดตามรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมลองเข้าไปดูได้ที่ https://www.shell.co.th/th_th/careers/diversity-inclusion/lgbt-talent-at-shell.html

ความหลากหลายทางตำแหน่งงาน (Position Diversity)

องค์กรที่แบ่งตำแหน่งงานให้ละเอียดและหลากหลายขึ้น ถึงแม้จะทำให้การบริหารจัดการยุ่งยากและซับซ้อนขึ้น แต่การแบ่งงานไปหลากหลายลักษณะนั้นก็ทำให้เกิดความหลากหลายในงาน ตลอดจนเกิดการแข่งขันการทำงานที่ส่งเสริมประสิทธิภาพขององค์กรได้เช่นกัน การแบ่งหน่วยย่อยยังช่วยให้เกิดการแสดงความคิดเห็นของหลายหน่วยมากขึ้นด้วย หากไม่มีการแบ่งหน่วยย่อยของตำแหน่งต่างๆ โดยให้ขึ้นรวมต่อตำแหน่งเดียวก็อาจจะไม่เกิดการเสนอความคิดเห็นใดๆ เพราะคิดว่าความคิดหลักของทีมน่าจะมีอย่างเดียว หรือไม่ก็เห็นไปตามๆ กันเพื่อตัดปัญหาความเห็นขัดแย้งและการถกเถียง

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ตัวอย่างของการแบ่งความหลากหลายของตำแหน่งที่เห็นภาพได้ดีและชัดเจนที่สุดก็เช่นแผนก Marketing & Sales ที่เมื่อก่อนเราอาจจะเห็นการตั้งแผนกเป็นแผนกเดียวแล้วก็มีลูกน้องประจำแผนกไปโดยตรง แต่ปัจจุบันจะมีการแบ่งแผนกยิบย่อยตามขนาดขององค์กร โดยเฉพาะองค์กรที่มีหลากหลายผลิตภัณฑ์ หรือการมีหลากหลายกลุ่มเป้าหมาย ก็จะเกิดแผนก Marketing & Sales แยกย่อยออกไป ภาพรวมอาจจะทำงานลักษณะเดียวกัน แต่รายละเอียดของการทำงานแต่กลุ่มเป้าหมายหรือสินค้านั้นจะแตกต่างกันไป นอกจากจะเกิดการแข่งขันในองค์กรเพื่อกระตุ้นการทำงานในองค์รวมที่ดีขึ้นแล้ว ก็ยังทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลาย องค์กรมีข้อมูลละเอียดตามกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนประเภทสินค้า และเกิดการทำการตลาดหลากหลายรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างความสำเร็จได้หลากหลายวิธี หรือสามารถทำให้เราเห็นได้ว่าวิธีไหนจะมีศักยภาพมากที่สุดได้ด้วย

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความหลากหลายของตำแหน่งนั้นยังรวมไปถึงความหลากหลายของระดับบริหาร เพื่อการบริหารงานและบริหารอำนาจการจัดการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากขึ้น บางองค์กรอาจจะมีหลักการในการบริหารในแนวระนาบ คือทุกคนเท่ากันหมด ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร ทำงานกันเหมือนเพื่อน ก็อาจจะมีประโยขน์หากทุกคนมีเป้าหมายและความสามารถ ตลอดจนมีความขยันในการทำงานในระดับเดียวกัน แต่หากไม่ใช่ก็อาจเกิดการบริหารงานได้ยาก เพราะไม่มีใครฟังใครหรือบังคับใครได้ ฉะนั้นการบริหารในแนวดิ่งที่มีความหลากหลายทางระดับตำแหน่ง ระดับการใช้อำนาจ ก็จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น รวมถึงมีหน้าที่ความรับผิดขอบที่ชัดเจน สามารถตรวจสอบความรับผิดชอบได้ รวมถึงสามารถจับผิดหรือลงโทษในการไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่ได้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้กระบวนการบริหารมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นได้

ความหลากหลายของเชื้อชาติและวัฒนธรรม (Race & Culture Diversity)

ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในองค์รวมนั้นอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ นั่นก็คือ เชื้อชาติตะวันตก และเชื้อชาติตะวันออก แล้วในแต่ละกลุ่มต่างก็มีเชื้อชาติย่อยๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ อีกมากมาย แล้วในยุคปัจจุบันที่โลกไร้พรมแดน การผสมผสานของเชื้อชาติข้ามไปข้ามมามากขึ้น ก็เริ่มมีลูกผสม ไปจนถึงเลือดแท้แต่อยู่ต่างภูมิภาค อย่างเช่น ชาวจีนที่เติบโตในอเมริกา, หรือแม้แต่ชาวอเมริกันที่เติบโตในเอเชีย เป็นต้น ซึ่งในยุคปัจจุบันความหลากหลายของเชื้อชาตินั้นมีมากมายจนแทบนับไม่ถ้วน

โลกยุคนี้เป็นโลกยุคไร้พรมแดน การทำธุรกิจก็ข้ามพรมแดนกันตลอดเวลาเช่นกัน หลายสินค้ามีการทำการตลาดทั่วโลก และคนทั่วโลกต่างก็เป็นผู้บริโภคเดียวกันทั้งหมด การมีคนหลากหลายเชื้อชาติมาทำงานร่วมกันนั้นจะได้ความคิดเห็นที่หลากหลาย ได้เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และการทำการตลาดที่แตกต่างกันด้วย ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลกจะสามารถได้เปรียบตรงจุดนี้ในการที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาทำงานร่วมกันและแชร์ความรู้ตลอดจนประสบการณ์ของแต่ละคนให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานได้ ทำให้องค์กรมีข้อมูลที่หลากหลายขึ้น เข้าใจมุมมองที่แตกต่างกันมากขึ้น และสามารถใช้ประโยชน์ตลอดจนความสามารถของแต่ละคนได้หลากหลายรูปแบบเช่นกัน

ความหลากหลายทางวัฒนธรรมนั้นมักตามมาจากองค์กรที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ถึงอย่างไรชนชาติเดียวกัน เชื้อชาติเดียวกัน ต่างก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเช่นกัน ซึ่งประโยชน์ต่างๆ อาจเหมือนกับลักษณะของความหลากหลายทางเชื้อชาติ แต่ความหลากหลายทางวัฒนธรรมจะละเอียดอ่อนกว่า

ข้อดีของการมีคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอยู่ด้วยกันอีกอย่างก็คือการฝึกการเรียนรู้ต่างวัฒนธรรมกัน และจะยิ่งช่วยสร้างการเคารพซึ่งกันและกันได้ดียิ่งขึ้นด้วย รวมถึงเสริมสร้างความสามัคคีในการทำงานได้ดีขึ้นจากการทำงานร่วมกันกับคนต่างวัฒนธรรมที่ตนคุ้นเคย

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความหลากหลายของอายุ (Age Diversity)

ความหลากหลายทางด้านอายุดูเหมือนจะเป็นเรื่องความหลากหลายพื้นฐานที่รองลงมาจากเรื่องเพศ องค์กรที่มีความหลากหลายทางด้านอายุจะมีมุมมองหลากหลายรูปแบบทั้งจากคนอายุน้อยไปจนถึงคนที่มีประสบการณ์ในชีวิตและการทำงานมานาน ซึ่งจะมีมุมมองที่แตกต่างกันเสมอ และองค์กรเองก็สามารถนำสิ่งที่ดีที่สุดมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดได้เช่นกัน

อายุยังสะท้อนลักษณะการทำงาน ตลอดจนความละเอียดรอบคอบ รวมถึงประสบการณ์การทำงานได้เป็นอย่างดีอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรแต่ละอายุต่างก็มีคุณสมบัติที่ดีต่อการทำงานแตกต่างกันด้วยเช่นกัน คนรุ่นใหม่อายุน้อยอาจจะมีข้อดีในการเก่งเทคโนโลยี รู้จักใช้ให้เกิดประโยชน์จากงานมากกว่าคนที่มีอายุเยอะ ในขณะที่คนที่มีอายุมากก็อาจมีลูกล่อลูกชน ตลอดจนกลวิธีในการทำงานที่หลากหลายรูปแบบกว่า เข้าใจผู้บริโภคมากกว่า และมีมุมในการแก้ไขปัญหาที่มองรอบด้านและเข้าใจชัดเจนกว่า อย่างไรก็ดีหากคนต่างวัยมาทำงานร่วมกันได้อย่างดีเยี่ยม นำเอาข้อดีของแต่ละวัยมาใช้ประโยชน์ให้เกิดกับการทำงาน องค์กรก็จะประสบความสำเร็จมากที่สุดได้เช่นกัน

การที่องค์กรมีความหลากหลายทางอายุนั้นยังช่วยให้สามารถส่งผ่านถ่ายทอดงานให้องค์กรยืนหยัดในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย และประสบการณ์ที่หลากหลายต่างก็มีประโยชน์ต่อองค์กรรวมถึงการบริหารงาน ไปจนกระทั่งการทำการตลาดที่เหมาะสมในแต่ละยุคสมัยและกลุ่มเป้าหมายอีกด้วย

ความหลากหลายของสถาบัน (Institute Diversity)

หลายองค์กรมักเลือกพนักงานจากสถาบันเดียวกันเพื่อสร้างเครือข่ายและความสามัคคี บางครั้งก็อาจเป็นการดีที่พนักงานมีลักษณะรวมถึงสงคมที่คล้ายกัน แต่บางครั้งสิ่งนี้กลับทำให้ขาดความหลากหลายทางแนวความคิดและวิธีการทำงาน ซึ่งแต่ละสถาบันต่างก็มีการเรียนการสอนรวมถึงการปลูกฝังให้กับศิษย์ที่ต่างกัน การที่เรามีบุคลากรจากหลากหลายสถาบันนั้นย่อมทำให้เรามีองค์ความรู้ที่หลากหลายรูปแบบมาแชร์กัน ตลอดจนวิธีการคิด แนวความคิด รวมถึงการแสดงความคิดเห็นที่มาจากต่างพื้นฐานกัน นั่นย่อมทำให้เกิดความหลากหลายในมุมมองและความคิดเห็นได้

การที่ได้คนลักษณะคล้ายๆ กันมาทำงาน ตลอดจนมาจากสถาบันเดียวกันนั้นบางครั้งก็ส่งผลทางจิตวิทยาที่ทำให้เกิดอาการพวกมากลากไป หรืองดแสดงความคิดเห็นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกันภายในกลุ่มสถาบัน ตลอดจนหว่านล้อมให้เกิดความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อความเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งนั่นอาจะไม่เกิดผลดีได้เช่นกัน การมีความคิดเห็นหลากหลายรูปแบบและมุมมองย่อมเป็นประโยชน์ต่อการทำงานมากกว่า

ความหลากหลายทางความสามารถและทักษะวิชาชีพ (Skills Diversity)

องค์กรขนาดใหญ่ที่มีหลากหลายแผนกหลากหลายส่วนงานย่อมเกิดความหลากหลายทางวิชาชีพตลอดจนทักษะในการทำงานที่แตกต่างกันอยู่แล้ว แต่ละวิชาชีพต่างก็ถูกปูพื้นฐานความรู้ตลอดจนความคิดเห็นในลักษณะที่แตกต่างกันอีกด้วย ดังนั้นองค์กรขนาดใหญ่จึงมีความหลากหลายทางความคิด การแสดงความคิดเห็น วิธีการจัดการ ตลอดจนความสามารถที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทำให้องค์กรเคลื่อนที่ไปได้อย่างสมบูรณ์ด้วยงานหลากหลายลักษณะ

ความหลากหลายทางความสนใจ (Interest Diversity)

ความสนใจของคนมีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งก็เกิดการร่วมกลุ่มความสนใจที่คล้ายๆ กัน ในองค์กรเองก็มีความหลากหลายทางความสนใจเช่นกัน ซึ่งความสนใจนี้อาจไม่เกี่ยวกับทักษะวิชาชีพ หรือการเรียน แต่เป็นความสนใจส่วนบุคคล ความสนใจเป็นอดิเรก หรือความสนใจจากความชอบส่วนตัว การมีคนที่มีความหลากหลายทางความสนใจมาร่วมกัน ย่อมทำให้เกิดความหลากหลายทางความคิด การแสดงความคิดเห็น ตลอดจนความหลากหลายในเรื่องราวที่เกิดขึ้น ความหลากหลายนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ด้วยเช่นกัน หรือบางครั้งก็สามารถช่วยแก้ปัญหาได้หากความสนใจของบุคลากรอยู่ในขอบข่ายเดียวกันกับปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น การทำการตลาดกับลูกค้ากลุ่มที่ชื่นชอบฟุตบอล หากคนทำงานมีความชื่นชอบฟุตบอลไปด้วย ก็จะมีความรู้ต่างๆ มากมายเกี่ยวกับกีฬาประเภทนี้ และเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้มากขึ้น ก็จะช่วยให้ทำการตลาดได้ดีกว่าผู้รับผิดชอบที่ไม่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลเลย เป็นต้น

ความหลากหลายทางระบบประสาท (Neurodiversity)

Harvard Health Publishing ได้นิยามความหมายของ Neurodiversity ว่า “Neurodiversity คือ ความคิดที่บอกว่าผู้คนเรียนรู้และมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวของพวกเขาในแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ได้มีหนทางไหนที่ถูกต้องที่สุด ทั้งด้านความคิด การเรียนรู้ ความประพฤติ และความแตกต่าง สิ่งเหล่านั้นไม่ถือว่าเป็นความผิดปกติ” ถ้าองค์กรสนับสนุนความหลากหลายทางระบบประสาทในที่ทำงาน ก็จะทำให้องค์กรแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากได้รวบรวมคนที่มีความสามารถเฉพาะทางในหลาย ๆ ด้านเข้ามาทำงานร่วมกัน ฉะนั้น HR ควรเข้าใจก่อนว่า Neurodiversity หรือคนที่เป็นออทิสติก มีปัญหาทางการอ่าน หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่เรื่องที่แปลกแยกหรือแตกต่าง เราสามารถพูดคุยถึงเรื่องนี้ หรือกับคนที่มีความแตกต่างได้อย่างปกติ

Neurodiversity ยกระดับองค์กรด้วยความเท่าเทียมทางระบบประสาท

หลักการบริหารความแตกต่างที่หลากหลายของบุคลากรในองค์กร

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ความหลากหลายของความแตกต่างนั้นเกิดจากความหลากหลายของบุคลากรที่มีลักษณะต่างๆ กันไป การที่องค์กรมีความหลากหลายมากนั้นย่อมต้องมีการบริหารจัดการให้เกิดความเหมาะสม เพื่อให้ความหลากหลายที่รวมตัวกันนั้นสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขและองค์กรก็สามารถได้รับประโยชน์จากความหลากหลายดังกล่าวได้ด้วย ซึ่งหลักการในการบริหารความแตกต่างที่หลากหลายของบุคลากรในองค์กรนั้นควรมีดังนี้

  • ให้ความเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม : องค์กรควรเคารพความหลากหลายของบุคลากรและให้ความเท่าเทียมกันอย่างยุติธรรม ไม่มีใครได้สิทธิประโยชน์เหนือกว่าใคร หรือไม่มีการขัดแย้งบาดหมางระหว่างกลุ่มที่แตกต่างกัน หากองค์กรละเลยในความเท่าเทียมกันนี้ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นได้ เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หรือการทะเลาะเบาะแว้ง และอาจลามไปถึงการลาออกได้เช่นกัน นั่นย่อมเกิดผลเสียกับองค์กรในที่สุด
  • ให้โอกาสที่เหมาะสมกับความสามารถ : องค์กรควรสนับสนุนและให้โอกาสกับทุกคนอย่างเท่าเทียมโดยวัดที่ความสามารถเป็นหลัก หากใครมีศักยภาพก็ส่งเสริมให้เหมาะสม และส่งเสริมกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมด้วย ทุกคนมีสิทธิคว้าโอกาสนั้นได้หากมีความสามารถ ไม่ใช่เพราะเส้นสาย หรือแบ่งแยกกลุ่ม แบ่งแยกเพศ ตลอดจนแบ่งแยกสถาบัน
  • รับฟังและเคารพความคิดเห็นของทุกคน : ความคิดเห็นของทุกคนมีคุณค่าในตัวของมันเอง องค์กรที่มีบุคลากรที่หลากหลายควรเคารพการเสนอความคิดเห็นตลอดจนวิธีการทำงานที่แตกต่างกันด้วย หากมีการถกเถียงกันให้ยึดอยู่บนหลักเหตุและผล ไม่ใช่ไม่เคารพความคิดเห็นหรือดูถูกดูแคลนไปจนถึงละเลยกับความคิดเห็นที่ไม่ใช้ทิศทางเดียวกับตน หรือดูถูกความคิดเห็นโดยเกิดจากการแบ่งแยกเชื้อชาติ หรือไม่ฟังความคิดเห็นเพราะรังเกียจเพศสภาพ เป็นต้น ควรมองที่ความคิดเห็นเป็นหลัก และนำมาวิเคราะห์แยกแยะให้เกิดประโยชน์กับการทำงาน
  • เปิดกว้างสำหรับตำแหน่งและทักษะในการทำงาน : ยุคนี้ทุกคนต่างมีความหลากหลายและความสามารถได้ทุกรูปแบบ อย่าปิดกั้นหรือสร้างกรอบคุณลักษณะ (Stereotype) ไปก่อน โดยเฉพาะกับเรื่องตำแหน่งและอาชีพในการทำงาน อย่างเช่น วิศวกรในยุคนี้ต่างก็เป็นผู้หญิงได้ ไม่ใช่ผู้ชายเพียงอย่างเดียว, เพศที่สามต่างก็สามารถเป็นครูและสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้ครูเพศปกติ, หรือแม้แต่นักการตลาดที่เก่งฉกาจก็ไม่จำเป็นจะต้องจบมาจากสถาบันดังเสมอไป ซึ่งทุกคนสามารถฝึกฝนตนเองให้เก่งได้หากมีความสนใจและความมุ่งมั่น เป็นต้น
  • ไม่พยายามสร้างกลุ่มหรือหมู่ในองค์กรแบบเป็นทางการ เพื่อให้เกิดการแบ่งแยกกัน : บางครั้งบางองค์กรอาจมีการสร้างกลุ่มหรือเครือข่ายการทำงานขึ้น อาจเป็นการรวมตัวของคนสถาบันเดียวกัน หรือรวมตัวจากคนที่มาจากองค์กรเก่าเดียวกัน หากเกิดการรวมตัวโดยที่บริษัทไม่ใส่ใจก็อาจเกิดการแบ่งแยกได้เช่นกัน หรือทำให้คนที่ไม่มีกลุ่มก็ไม่สามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้ องค์กรควรละลายพฤติกรรมให้ได้มากที่สุด และหลอมรวมการทำงานแบบระบบทีมโดยที่ไม่มีการแบ่งแยกให้มากที่สุดด้วย
  • ไม่สื่อสารกับคนเฉพาะกลุ่มจนเกินไป : การสื่อสารภายในองค์กรนั้นมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างสูง การใช้คำ ตลอดจนการสื่อสารแบบแฝงอคติ รวมไปถึงการจงใจสื่อสารเฉพาะกลุ่ม อาจทำให้เกิดความแบ่งแยก หรือสร้างความแตกต่างระหว่างกันได้ ดังนั้นจึงควรสื่อสารให้เป็นกลาง ครอบคลุมความเข้าใจกับทุกฝ่าย หรือไม่สื่อสารใดๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกแย่กับคนบางคนหรือบางลักษณะขึ้น หรือสื่อสารเฉพาะกลุมจนเกิดการไม่ยอมรับระหว่างกัน
  • เสริมสร้างความสามัคคีระหว่างกัน : องค์กรยิ่งมีบุคลากรที่หลากหลายย่อมต้องหาวิธีเสริมสร้างความสามัคคีระหว่างบุคลากรเพื่อให้ทุกคนเข้าใจซึ่งกันและกันและทำงานตลอดจนอยู่ในสังคมร่วมกันได้อย่างมีความสุข จะเห็นได้ว่าหลายองค์กรอาจมีการนำเอากีฬามาเชื่อมความสัมพันธ์กลุ่ม, จัดกิจกรรมสัมพันธ์ตลอดจนสันทนาการต่างๆ เพื่อละลายพฤติกรรมระหว่างกัน, ตลอดจนจัดปาร์ตี้หรือท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการรู้จักและสร้างความสนิทสนมกันให้มากขึ้น เหล่านี้ล้วนเชื่อมความผูกพัน สร้างความสามัคคี และทำให้ความหลากหลายแตกต่างอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา
  • ใช้ความแตกต่างให้เกิดประโยชน์ : ในเมื่อองค์กรมีบุคลากรที่แตกต่างกันก็ควรหยิบเอาความแตกต่างเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานตลอดจนการประกอบธุรกิจขององค์กร เพื่อสร้างคุณค่าให้กับความแตกต่างไปในตัวด้วย และทำให้บุคลากรเห็นคุณค่าขององค์กรที่เคารพและส่งเสริมความแตกต่างให้เป็นประโยชน์ อย่างเช่น องค์กรที่รับบุคลากรจากชาติตะวันตกเข้ามาทำงานด้วย ก็อาจจะจ้างบุคลากรเพิ่มเติมในการสอนภาษาอังกฤษให้กับพนักงานคนอื่นๆ, องค์กรที่มีหลากหลายเชื้อชาติและต้องทำตลาดแบบทั่วโลกก็อาจเรียกทุกคนมาแชร์องค์ความรู้ตลอดจนคุณลักษณะของคนในชาติของตนเพื่อให้ทำการตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น, หรือองค์กรที่มีคนที่ชอบดนตรีก็อาจส่งเสริมให้การนำเอาเพลงมาใช้ประโยชน์ในการทำงานได้, หรือองค์กรที่มีคนมาจากหลากหลายศาสนาก็อาจแชร์ความรู้ความสนใจระหว่างกันเพื่อเพิ่มประสบการณ์ตลอดจนองค์ความรู้ระหว่างกันให้เพิ่มขึ้น
Teal Organization

ลองติดตามเรื่องราวของการบริหารองค์กรในรูปแบบต่างๆ ได้ที่บทความนี้

หลักการบริหารแบบองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization)

บทสรุป Workforce Diversity

Workforce Diversity ทำไมความหลากหลายของพนักงานในองค์กรจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ไม่ว่าสังคมไหนก็ย่อมมีคนที่แตกต่างกันเสมอ หรือองค์กรไหนย่อมมีความแตกต่างของบุคลากรเสมอ แม้แต่คนมี่ดูเหมือนจะมีลักษณะคล้ายกัน มาจากสถานบันเดียวกัน หรือมาจากชนชาติเดียวกัน ต่างก็มีความแตกต่างที่ซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน ความแตกต่างบางอย่างนั้นเป็นประโยชน์ต่อการทำงานที่แตกต่างกันไป อย่างเช่นทักษะอาชีพ ไปจนถึงความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ความแตกต่างบางอย่างเป็นคุณลักษณะของบุคคลที่ไม่ได้เกี่ยวกับการทำงานเป็นหลัก อย่างเช่น เชื้อชาติ, วัฒนธรรม, ภาษา, ตลอดจนความสนใจ หากองค์กรไม่มองความแตกต่างให้เป็นปัญหา บริหารความแตกต่างให้อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ตลอดจนนำความแตกต่างไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับองค์กรให้มากที่สุด เมื่อนั้นความแตกต่างก็จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าขึ้นมาทันที และสามารถสร้างคุณค่า ตลอดจนประโยชน์ให้กับองค์กรได้ด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการเคารพความแตกต่างระหว่างกัน รับฟังความคิดเห็นที่มีทิศทางไม่เหมือนกัน และตัดสินทุกอย่างบนความยุติธรรม นั่นจะทำให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างมากที่สุด และส่งเสริมให้องค์กรมีศักยภาพได้ในที่สุด

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง