Search
Close this search box.

เจาะลึกการบริหารงานที่ไร้กรอบกับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ Young CEO, Young Leader ผู้นำยุคใหม่แห่ง Shipnity

HIGHLIGHT

  • หลายคนน่าจะมีความฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ แม้ว่าความฝันนั้นจะกลายเป็นจริงอาจต้องใช้เวลานาน แต่สำหรับ เฟิร์น – ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ หลังเรียบจบ เธอก็ได้เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็น CEO ของบริษัท Shipnity ทันทีตั้งแต่อายุเพียง 22 ปี
  • การเป็นผู้นำตั้งแต่อายุน้อยมาพร้อมความท้าทายมากมาย แต่สิ่งที่เธอค้นพบก็คือ การเป็นผู้นำตั้งแต่อายุน้อยในบริษัททำระบบหลังบ้าน ช่วยการขายของออนไลน์ ช่วยให้เปิดกว้าง ไม่ต้องยึดติดว่าการบริหารงานควรต้องยึดสูตรสำเร็จแบบใดแบบหนึ่ง เพราะจริง ๆ แล้วอาจไม่มีสูตรตายตัวด้วยซ้ำ
  • บริษัททำระบบหลังบ้าน อำนวยความสะดวกในการขายของออนไลน์ Shipnity ก่อตั้งโดยมีพนักงานเพียง 5 คน ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 30 คน และเคยมีช่วงที่มีคนสมัครงานเข้ามาถึง 600 คนด้วย
  • เป้าหมายต่อไปที่ CEO แห่ง Shipnity ตั้งมั่นก็คือ ต้องพาองค์กรทำระบบหลังบ้าน อำนวยความสะดวกในการขายของออนไลน์ กระโดดไปสู่ก้าวต่อไปที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่เรื่องจำนวนคน แต่เป็นเรื่องของการทำให้องค์กรเกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

หลายคนน่าจะมีความฝันว่าอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากเป็นนายตัวเอง แต่กว่าความฝันนั้นจะกลายเป็นจริงอาจต้องใช้เวลานาน หรือบางครั้งมันอาจไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้

แต่สำหรับ เฟิร์น – ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ ความฝันของเธอมาถึงเร็วกว่าที่ใครคาดคิด กับการได้เป็นเจ้าของธุรกิจทันทีที่เรียนจบ และนั่งตำแหน่ง CEO ของบริษัทที่มีชื่อว่า Shipnity บริษัทสตาร์ทอัพที่ขึ้นชื่อลือชาในการทำระบบหลังบ้าน เพื่อช่วยให้อำนวยความสะดวกพ่อค้าแม่ค้าในการขายของออนไลน์ ให้ไม่ต้องเผชิญความยุ่งยากหลายประการในการขายของออนไลน์

HREX.asia มีโอกาสจับเข่าคุยกับ CEO หญิงเก่งในฐานะผู้นำวัยเยาว์ว่ามีเคล็ดลับในการบริหารคนที่แตกต่างจากผู้บริหารรายอื่น ๆ อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่ทั้งกำลังเดินในเส้นทางสายเดียวกัน และคนที่กำลังมองหาลู่ทางใหม่ ๆ ให้ชีวิต

จุดเริ่มต้นของบริษัททำระบบขายของออนไลน์หลังบ้าน Shipnity มีที่มาอย่างไร

ชญานิษฐ์: เฟิร์นเป็น co-founder ค่ะ ผู้ร่วมก่อตั้งอีกท่าน (พสธร อธิยุตภัคพล) เป็น CTO เป็นเพื่อนของเพื่อนสมัยเรียนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสัก 6 ปีก่อนเขาเริ่มต้นก่อนด้วยการขายของออนไลน์ แต่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการหลังบ้าน พอลูกค้าบ่น เขาก็หาวิธีว่าจะทำอย่างไรดี ตอนนั้นยังไม่มีโซลูชั่นมากมายเหมือนตอนนี้ เลยเขียนโปรแกรมขึ้นเองเพื่อแก้ Pain Point นั้น 

ส่วนการเข้ามาทำงานที่นี่ ตอนนั้นเฟิร์นทำงานกลุ่มวิชาเดียวกับเพื่อนท่านนี้ เขาเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ พอใกล้เรียนจบก็คุยกันว่าสมัครงานกันหรือยัง คุยไปคุยมาเขาบอกว่ากำลังเขียนโปรแกรมชื่อว่า Shipnity เป็นโปรแกรมทำระบบสต็อก เขาทำอยู่คนเดียว กำลังหา CEO อยู่ เพราะไม่อยากเป็นเอง อยากเขียนโปรแกรมมากกว่า เลยหาคนที่สามารถคุยกับคนอื่น สามารถไปเจอผู้คนได้ เฟิร์นเลยมาร่วมด้วยจนถึงตอนนี้

เฟิร์นเองรู้ตัวว่าอยากทำธุรกิจตั้งแต่สมัยเรียน ม.ต้น แล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง พอมีโอกาสเข้ามาก็รู้สึกว่า ถ้าไม่คว้าไว้ก็ไม่รู้จะมีมาอีกเมื่อไหร่ จึงมาร่วมงานและเป็น CEO ของ Shipnity ตั้งแต่ตอนนั้นค่ะ

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

วันที่รับบทบาท CEO เริ่มธุรกิจทำระบบหลังบ้าน ช่วยการขายของออนไลน์ ตอนนั้นรู้ไหมว่าหน้าที่ของ CEO มีอะไรบ้าง

ชญานิษฐ์: ไม่รู้เลยค่ะ เราเหมือนมีภาพกันใช่ไหมว่าคนทำธุรกิจ คนเป็น CEO ต้องเป็นนักบริหาร แต่จริง ๆ แล้วหน้าที่ของ CEO เปลี่ยนไปตามขนาดองค์กร ตามแต่ละช่วงเวลา ถ้าตอนนั้นบอกว่าเราเป็น CEO งานของเราคือการนั่งบริหารคู่กับ Co-Founder กันแค่ 2 คน เราจะบริหารอะไรล่ะ ?

หน้าที่ CEO ของเฟิร์นมีทั้งช่วงที่ต้องเป็นเซลล์ มีช่วงที่ต้องเป็น Manager ด้วย แต่อย่าติดอยู่กับการเป็น Manager นานนะคะ เพราะถ้าทำแต่งาน Manager แล้วจะขึ้นไปทำงานที่เกินกว่านั้นไม่ได้ แต่ตอนนั้นเราเป็นเด็กอายุแค่ 21-22 ปี เรายังไม่กล้าเขียนบนนามบัตรว่า CEO ด้วยซ้ำ 

สำหรับหน้าที่และสิ่งที่ต้องมีของ CEO คือความเป็นผู้นำ (Leadership) สำหรับ Entrepreneur นะ ต้องกล้าได้กล้าเสียระดับหนึ่งด้วยเหมือนกัน จริง ๆ เฟิร์นเป็นคน Conservative ทำอะไรก็แอบกังวล ส่วน CTO จะสายลุย เราก็เอามาบาลานซ์ ช่วยกันทำงานค่ะ

แต่เฟิร์นไม่กล้าพูดว่าตัวเองเป็นหัวหน้า คำว่าเจ้านายยังไม่เคยใช้เลย เฟิร์นไม่ใช้คำว่าลูกน้อง เฟิร์นใช้คำว่า ‘ทีม’ ไม่มีใครเป็นลูกน้องเฟิร์น เฟิร์นไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย แล้ว Passion ที่เฟิร์นมีตรงกับเพื่อนคือ เราอยากสร้างอะไรบางอย่างให้มันมีคุณค่าจริง ๆ ให้ Shipnity มันยิ่งใหญ่ในแบบที่ทุกคนใช้แล้วได้ประโยชน์จากมัน เราอยากขับเคลื่อนให้เกิดอะไรบางอย่างที่ดีขึ้นกว่าเดิม

การเป็นผู้นำตั้งแต่อายุยังน้อยมีความท้าทายยังไงบ้าง พบเจออุปสรรคอะไรบ้าง

ชญานิษฐ์: ค่อนข้างเยอะนะ ทั้งความท้าทายจากภายในและภายนอก

ความท้าทายภายนอก คือวันที่เราต้องเป็นเซลล์หรือเป็น AE สมมติเราไปคุยงานกับบริษัทเครือหนึ่ง เขาให้เอา CEO มาคุย พอบอกว่าเราเองที่เป็น CEO เขาก็ตกใจ พอเล่าประวัติว่าเราเริ่มมายังไง มีอะไรมานำเสนอบ้าง สุดท้ายเราได้งานนั้นนะ แต่หลายครั้งได้คุยกับหลายที่ ก็จะเจอคำถามว่า “อายุเท่าไหร่” “จบมากี่ปีแล้ว” บ่อยเหมือนกัน เพื่อนอีกคนก็ดูเด็ก ๆ ไม่ได้ดูมีภูมิฐานขนาดนั้น 

ส่วนความท้าทายจากภายใน ด้วยความที่ช่วงอายุเรากับน้องในทีมเท่า ๆ กัน ก็จะวางตัวไม่ถูกว่าควรใกล้ชิดกับเขาแค่ไหน แต่ประเด็นนี้เฟิร์นมองว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย 

ข้อดีคือ พอเราทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย เราจะมีเวลาล้มลุกคลุกคลานได้เยอะหน่อย ชีวิตเรายังไม่ได้ต้องแบกรับความรับผิดชอบมากขนาดนั้น อาจกล้าลองผิดลองถูกได้เยอะกว่าคนที่มีภาระเยอะแล้ว อายุ 40 ปี มีลูกมีครอบครัวที่ต้องดูแลแล้ว 

ส่วนอันนี้จะถือเป็นข้อดีก็ได้นะ เพราะเฟิร์นกับ co-founder ไม่เคยไปทำงานที่อื่น เราเลยไม่รู้ว่าการเป็นหัวหน้าต้องเป็นยังไง จึงต้องเรียนรู้จากหน้างาน จากการถามคนอื่น หรือหาข้อมูลมาอ่านมาฟังแทน ซึ่งเฟิร์นจะชอบนั่งคุยแล้วก็ได้ความรู้จากพี่ ๆ เยอะมาก

แล้วพอเราไม่ต้องยึดติดว่ามันควรเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราสองคนก็เปิดกว้างได้โดยไม่มีกรอบเลย ไม่ใช่แค่เอากรอบออก แต่มันไม่มีกรอบเลยว่าอะไรควรต้องเป็นอย่างไร จริง ๆ มันอาจไม่มีสูตรตายตัวด้วยซ้ำ เพราะทุกคนจะมีสไตล์การทำงานของตัวเอง

อายุน้อยก็เป็นผู้บริหารได้ ถ้าคุณเป็นผู้นำครั้งแรก ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง?

พอเรียนจบมาแล้วเป็น CEO เลย เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัย (Insecure) บ้างไหม

ชญานิษฐ์: เรื่องวัยเลยค่ะ เฟิร์นเคยไปหา CEO บริษัทด้านขนส่งเจ้าหนึ่ง CEO ไม่ให้เฟิร์นเข้าพบสักทีทั้งที่คุยนัดหมายทางโทรศัพท์มาแล้ว เขาบอกว่าให้เอา CEO มาคุย เราก็บอกว่า “เฟิร์นคือ CEO เองค่ะ” เขาถามกลับว่า “เฟิร์นเป็นเลขาใช่ไหม” “ไม่ใช่ค่ะ เฟิร์นเป็น CEO” ถามตอบอย่างนี้จนเริ่มเซ็ง แต่หลายที่ก็ไม่ได้ตัดสินด้วยอายุ 

แล้วที่นี่เฟิร์นก็ไม่ได้ตัดสินคนด้วยอายุเช่นกันนะ น้องบางคนเก่งมากเลย มีคนที่ได้เลื่อนขั้นได้เงินเดือนสูง ๆ เยอะ ถ้าเราไปตัดสินว่า หนูเพิ่งอายุ 23 เอง ได้เท่านั้นเท่านี้ไม่ได้ เพราะวันนั้นพี่ก็ได้มาแค่นี้ก็คงไม่ได้ เราไม่อยากให้ตัดสินอย่างนี้ 

อีกอย่าง ตอนทำงานแรก ๆ จะไม่กล้าโพสต์อะไรใน Facebook และ Instagram ไม่กล้าเที่ยวเล่นเลย เพราะจะรู้สึกผิด ตอนนั้นพยายามวางตัวนะ แต่คาแรคเตอร์เรามันออกไปทางเป็นคนสนุก ๆ  ถ้าอยู่กับเพื่อน เฟิร์นจะเป็นคนติงต๊องแหละค่ะ เลยจะวางตัวไม่ถูก ก็รู้สึกน้อยใจ รู้สึกโดดเดี่ยวจัง ต้องใช้คำนี้เลยว่าโดดเดี่ยว พี่ ๆ สตาร์ทอัพปกติจะอายุน้อยกันอยู่แล้ว แต่น้อยที่ว่าคืออายุ 30 ปี ส่วนเราแค่ 23 เอง ก็จะมีความ “ไอ้เฟิร์น-ไอ้เวฟ” เด็กน้อยสองคนอยู่กับแก๊งคนแก่ 

โชคดีที่พี่ ๆ เขาช่วยเราบ้าง ให้คำปรึกษานิดหน่อย ทำให้รู้สึกว่าถ้าเราอยู่ในบริษัท ถึงเราจะมีความเป็นพี่ อาจจะโดดเดี่ยว แต่ยังมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ข้างนอกที่เราพูดคุยและขอคำปรึกษาได้

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

ทุกวันนี้ยังอยู่ในสภาวะนั้นไหม

ชญานิษฐ์: จริง ๆ เพิ่งมารู้สึกว่าโพสต์ลง Facebook ไปเหอะ ไม่เป็นไร เราเพิ่งไปเที่ยวคาเฟ่ได้เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมานี่เอง เพราะโควิดระบาดไปอีก 2 ปีด้วย หลังโควิดก็อายุ 28 แล้ว เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้ใหญ่แล้ว จริง ๆ ตอนนี้เราไปเที่ยวคาเฟ่ ลงรูปไปเที่ยวได้แล้ว มันไม่ได้ดูเด็กหรือไร้สาระขนาดนั้นหรอก แต่ตอนนั้นจะรู้สึกว่าทุกอย่างต้องเป็นงาน ต้องรันงาน ปัจจุบันจะรู้สึกว่า เราควรต้องมีช่วงที่ไม่ทำงานแล้วเป็นตัวเราเองบ้าง

ตอนนั้นสิ่งที่ทรมานที่สุดคือ เฟิร์นคุยกับตัวเองแล้วรู้สึกว่า “เอ๊ะ เฟิร์น-ชญานิษฐ์ อยู่ไหน ?” มันมีแต่เฟิร์น Shipnity พอพี่สาวชวนไปเที่ยว เพื่อนชวนไปเที่ยว ก็ไม่ไป ไม่ว่าง จนเพื่อนเลิกชวน แต่เดี๋ยวนี้ไปได้จนเพื่อนสงสัย ก็ตอบว่าเพราะคิดได้มั้ง ว่าต้องแบ่งเวลาด้วยเหมือนกัน ตอนที่ไปเที่ยว งานเราก็รันในหัวแหละ ถ้ามีไลน์มาเราก็ตอบ หรือบางทีเที่ยวอยู่แล้วเจออะไรน่าสนใจ ก็ได้ไอเดียเอาไปปรับใช้ต่อ

มีเทคนิคแบ่งเวลาตัวเองยังไงว่า เวลาไหนจะทำงาน เวลาไหนจะเล่น

ชญานิษฐ์: พอเราเซ็ตเวลาพักร้อนให้เป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งบริษัท ก็ได้เท่าน้องที่อายุงานเท่ากันนั่นแหละค่ะ ตอนแรกเราไม่ได้เซ็ตเวลาให้ตัวเอง แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่า เราลาได้ตามโควตาที่มี แล้วก็ใช้ตรงนั้นได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด 

เราต้องอนุญาตให้ตัวเองเป็นคน ๆ หนึ่ง ที่มันมีพาร์ทของเฟิร์นที่เล่นสนุก กับเฟิร์นที่ทำงาน เราสนุกกับงานมาตลอด เพิ่งมาเริ่มคิดได้ว่ามันต้องมีช่วงที่เราได้พักบ้างเหมือนกันนี่แหละค่ะ

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

ขอถามเชิงธุรกิจบ้าง ปัจจุบันมีคู่แข่งที่ทำระบบหลังบ้าน ช่วยการขายของออนไลน์เยอะแค่ไหน

ชญานิษฐ์: ช่วงโควิดมานี้ เยอะมาก (กอไก่ล้านตัว) เพราะเหมือนเขามองเห็นโอกาสด้วย บางที่ทำแบบรวมส่งอย่างเดียว ไม่ได้เน้นระบบขนาดนั้นค่ะ แต่ก็ต้องขอบคุณที่เราทำมาตั้งแต่แรก จนมีฐาน มีความพร้อมของระบบต่าง ๆ ครอบคลุมมากแล้ว จะไม่เหมือนกับระบบที่พัฒนาใหม่ค่ะ ตอนนี้ Users ของเรามีหลายหมื่นเลย

ปัจจุบันนี้ Shipnity มีพนักงานกี่คน

ชญานิษฐ์: ตอนนี้ประมาณ 30 คนค่ะ แต่ช่วงนี้เราจะสลับกัน Work From Home ไม่ได้มาที่ออฟฟิศพร้อมกันหมด มองดูในวันนี้ถือว่ามาไกลมาก แต่คิดว่ายังไปได้อีกไกลนะ 

ตอนนั้นถ้าเรามองว่า บริษัทของเด็กอายุแค่ 22 ปี มีพนักงานแค่ 10 คนก็เก่งแล้วมั้ง ตอนนี้เป็นจุดเริ่มต้นของสเต็ปต่อไป เฟิร์นเองก็ต้องพยายามขยับไปสเต็ปถัดไปด้วย มันจะต้องกระโดดจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่กระโดดแค่เรื่องจำนวนคน แต่เป็นเรื่องของความยั่งยืนจริง ๆ เกิดความ Sustainablity ที่มีการเติบโตไปในหลาย ๆ แง่มุมค่ะ

พนักงานที่นี่อยู่ในวัยเดียวกันหมดเลยใช่ไหม

ชญานิษฐ์: ตอนที่เฟิร์นอายุประมาณสัก 24-25 ปี น้องในทีมจะเพิ่งจบใหม่ อายุห่างกันประมาณ 1-2 ปี จริง ๆ จะมีพี่ที่อายุ 30 ด้วย แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าแก่ขนาดนั้น มันอยู่ที่ Mindset และการปรับตัวค่ะ 

บางคนอายุ 60 แต่จ๊าบมากเลยนะ ต้องใช้คำว่าจ๊าบเลย อย่างพ่อของเฟิร์นเองอายุ 58 รู้ว่ามีคาเฟ่เปิดใหม่ที่ไอคอนสยาม นั่นคือ %arabica ก่อนเราอีก ตายแล้ว รู้จากไหน หนูยังไม่รู้เลย มันอยู่ที่ mindset ของคน และความ active ในตัวเขา

แล้วมันไม่ได้เป็น Generation Gap ขนาดนั้น (พี่ที่อายุ 30) เขายังกลมกลืนกับน้องมากกว่าเฟิร์นอีก มันอยู่ที่การคุยแล้วเรารู้ว่าไปด้วยกันได้มากกว่า 

ส่วนเรื่องการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยี อันนี้อาจเป็นที่ตัวเฟิร์นเองก็ได้นะ คือทำสตาร์ทอัพแต่เป็นคนค่อนข้างโลว์เทค ต้องให้น้องมาสอนใช้ TikTok เลยคิดว่ามันอยู่ที่คน อยู่ที่ Mindset ไม่ได้อยู่ที่อายุหรอก และขึ้นอยู่ว่าจะปรับตัวได้เร็วแค่ไหน เพราะงั้นการเลือกคนเข้ามาทำงานที่นี่ เราอาจต้องเลือกคนที่ปรับตัวได้เร็วก่อน เพราะองค์กรเรามันต้องปรับตัวตลอดเวลา 

แต่เฟิร์นก็อาจจะยังไม่ได้รับคนอายุ 60 เข้ามาเลยนะ มันจะ Extreme ไปหน่อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าถ้าคนที่อายุเกินจะหมดสิทธิ์ เพราะ ณ วัยวุฒิหนึ่งเขาอาจจะเห็นอีกมุมหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นก็ได้

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

ที่ Shipnity มี HR ไหม

ชญานิษฐ์: ตอนนี้จะมี HR ดูแลอยู่คนเดียว แต่ในปี 2023 เราจะวางระบบเรื่อง HR เรื่องการ Recruiting หรืออะไรมากขึ้น จริง ๆ ก็ช่วยกันดูแลนั่นแหละค่ะ ไม่ได้มองว่าเป็นครอบครัวหรอก 

แต่ส่วนตัวมองว่าพอเป็นทีมเดียวกันแล้ว HR ต้องดูแลทั้งบริษัทฝ่ายเดียวเหรอ ถ้าคนอื่น ๆ ในทีมที่เป็นเฮดทีมให้แต่ HR ทำ แล้วตัวเองไม่ทำเลยเหรอ ถ้าบ้านมีขยะ ใครเก็บใครกวาดบ้าน จะรอแค่แม่บ้านทำ ฉันไม่ช่วยเหรอ แล้วมันจะเป็นองค์กรได้ยังไง จะเป็นทีมได้ยังไง ไม่ใช่ว่า HR ไม่ดีนะคะ ถึงจุดหนึ่งต้องมีความพร้อม เพราะ HR ก็มีหลายเลเวลเนอะ

ด้าน Human Resources Development เฟิร์นมองว่าจะไม่มีเลยก็ไม่ใช่ เพราะเมื่อรับคนเข้ามาแต่ละรุ่น ก็ต้องมีการเทรนความรู้กัน จะต้องเทรนอะไรเขาบ้าง หัวข้อมีแค่ไหน แบบประเมินมีแค่ไหน การทำ HRD อาจต้องให้ทีมนั้น ๆ เทรนให้กันเอง เพราะจะให้ HR เทรนเองก็ไม่เหมือน Customer Service เทรนกันเอง เพราะว่าโปรดักส์มันค่อนข้างลึก CS จะ Specialized กว่า เก่งกว่าเฟิร์นอีก 

ได้ยินว่าที่ออฟฟิศของ Shipnity ส่วนใหญ่พนักงานจะเป็น Introvert แต่คุณเป็น Extrovert อย่างนี้มีผลต่อการทำงานบ้างไหม

ชญานิษฐ์: จริง ๆ ที่ออฟฟิศช่วงแรกมี Extrovert เยอะมากค่ะ พอหลังโควิดก็เปลี่ยนรุ่นไปมา ตอนหลังให้ทำกิจกรรม Smallroom Town Hall แล้วมีคนเกือบ 80% บอกว่าเป็น Introvert ไม่ใช่แค่ทีม Dev (Developer) นะ แต่รวมถึงเซลล์ การตลาด แทบทั้งหมดของบริษัทเลย 

เคยมีคนบอกว่า บริษัทเทค ฯ ก็อย่างนี้แหละ แต่เฟิร์นคิดว่าไม่ ฝั่งโปรดักส์คือแค่ 1 ใน 3 แต่ที่มัน 70-80% นะ เกิดอะไรขึ้น ปกติพวกผู้หญิงที่เป็นเซลล์หรือการตลาด จะต้อง Extrovert กลายเป็นว่า หลังโควิดมาเนี่ยใน 30 คน จะมีแค่ 5 คนเองที่เป็น Extrovert จ๋า ๆ ก็ว่าทำไมออฟฟิศเรามันเงียบจัง เมื่อก่อนสมัยที่มีแต่ Extrovert จะมีเสียงตะโกนเข้าไปในห้องประชุมลูกค้า คุยงานไม่รู้เรื่องเลย ปัจจุบันมีกัน 30 คน แต่เงียบเชียว องค์กรก็เปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาด้วย 

พอมองย้อนกลับไป เราผ่านมาตั้งแต่ตอนที่คิดว่า ใครจะสมัครงานบริษัทเรานะ จนมาถึงช่วงที่มีคนสมัครงานเข้ามาถึง 600 คน ตกใจเลย มีคนสนใจบริษัทเราขนาดนี้เลยเหรอ ช็อคมาก 

แล้วพอหาคนอีกรอบหนึ่ง ตัวเลขก็อยู่ที่ 600-800 คนอีก แสดงว่ามันมีคนสนใจเราจริง ๆ ถ้าเราสร้างองค์กรให้ดีกว่านี้อีกก็คงยิ่งดี อยากให้เป็นองค์กรที่… ใช้คำว่าน่าอยู่มันจะ Generic เกินไป แต่อยากให้เป็นองค์กรที่เขาภูมิใจที่ได้ทำงาน ได้เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสรรค์อะไรให้กับโลกและลูกค้า ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่ให้อะไรบางอย่างกับเขาได้ ให้เขาเรียนรู้และเติบโตได้

ตอนมีคนสมัครงานมากกว่า 600 คน ใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกคนที่ใช่ยังไงบ้าง

ชญานิษฐ์: เราจะส่งคำถามกลับไปหาผู้สมัครงานประมาณ 10 ข้อ เพื่อดูว่าเขาตอบได้ไหม ถ้าคนไหนไม่ตอบ หรือตอบแล้วไม่ดีเราก็คัดออก แต่ก็ยังมีคนตอบกลับ 200-300 คนนะ อ่านกันตาเหลือกเลย (หัวเราะ) ครั้งต่อมาเลยเปลี่ยนเป็น เราจะคัดคนที่คุณสมบัติไม่ตรงกับที่ต้องการออกไปก่อน แล้วค่อยส่งโจทย์ให้ จะได้เหลือน้อยลง สุดท้ายมีคนตอบกลับประมาณครึ่งหนึ่ง 

ตอนนั้นเราเลือกได้ 3 คน จากรอบสุดท้าย 20 กว่าคน เพราะว่าการสัมภาษณ์ CS มีหลายรอบแล้ว โหดด้วยนะ จะให้โจทย์ทำระบบ ทดสอบระบบกับให้น้อง CS ในทีมดูก่อน ถ้าผ่านปุ๊บค่อยมาสัมภาษณ์เรื่องทั่วไป เรื่องทัศนคติอีกรอบ

แล้วรอบสัมภาษณ์จะเหลือคนผ่านไม่เยอะ เราจะตั้งคะแนนที่สูงขึ้นในทุก ๆ รอบ เพราะความคาดหวังของเราสูงขึ้น คนสมัครเยอะขึ้น แต่เราจะมีคู่มือหรือวิดีโอให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองได้ เราจะบอกเลยว่า สามารถดูในช่อง YouTube ของเราได้เลยนะ จะได้เตรียมตัว 

แต่ตอนนั้นน้องเซ็ตแรก ๆ ที่ผ่านมาทำงานด้วยต้องเรียกว่าเก่งมากเลย แล้วทำได้เยอะกว่าเราอีก สมัยนั้นยังไม่มีวิดีโอหรือโพยให้อ่านก่อนเลย แต่ก็ยังผ่านมาได้

คิดว่าคุณสมบัติอะไรที่ผู้สมัครงานเด็กจบใหม่ควรมี เพื่อให้สามารถทำงานในอนาคตได้ง่ายขึ้น

ชญานิษฐ์: เฟิร์นให้เรื่องของ Growth Mindset เป็นหลักค่ะ ถ้ามีใจ อยากพัฒนา เขาก็จะทำได้ บางคนเก่งอยู่แล้วแต่ไม่พัฒนา วันหนึ่งเพื่อนก็จะพัฒนาแซงเขา เราเคยเลือกคนจากสกิลเป็นหลัก คนที่มี mindset ที่ดีทั้งในเรื่องทัศนคติในการมองที่ดี 

แต่ว่า Logic พื้นฐานต้องมีนะคะ ถ้าทัศนคติที่ดีต่อตัวเอง คนอื่น และเนื้องาน แล้วก็เรื่องการพัฒนาตัวเองเนี่ย พอเอามาบวกกันมันจะดีมาก ๆ เลย ไปต่อได้ไกล 

แต่การปรับ Mindset จะยากสุดเลย เขาอยู่มาทั้งชีวิตแล้วมันปรับยากมาก และเราอย่าคาดหวังว่าเราจะสามารถ Grooming ทุกคนได้ แต่เราต้องเอาพนักงานที่เขาอยากเติบโตไปกับเราด้วยต่างหาก

ส่วนในเรซูเม่ เฟิร์นชอบหาว่าแต่ละคนชอบทำกิจกรรมอะไรนอกจากผลการเรียน เฟิร์นไม่ได้บังคับว่าต้องจบสายไหนเป็นพิเศษ เพราะสกิลพวกนี้เทรนได้ เดี๋ยวนี้เด็กจบการตลาดก็ไม่ได้ทำการตลาดได้เลยทันที ต้องมาเทรนหมด เทรนจากการทำงาน (On Job Training)

เฟิร์นมองว่าการใส่กิจกรรมที่มันดูมีเรื่องราวของตัวเองน่าจะดีกว่า แต่ถ้าบอกว่า ความสามารถพิเศษคือว่ายน้ำ คำถามคือมันจะใช้กับงานนี้ยังไง แล้วมันจะเป็นความสามารถพิเศษหรือเปล่า

ตอนเด็ก ๆ เฟิร์นก็เคยเขียนนะว่าว่ายน้ำก็ได้ แต่ทุกคนก็ว่ายกันได้หมดนี่ การใส่ความสามารถพิเศษมันคือการ Represent มันคือการเล่าว่าเขาอยากให้เรารู้จักเขายังไง ใส่เข้าไป

จริง ๆ ถ้าไม่ขี้เกียจนะ เวลาสมัครที่ไหน สามารถทำเรซูเม่สำหรับสมัครงานที่นั่นได้เลย มันจะแสดงถึงความความตั้งใจของเรา หรือที่เฟิร์นเคยเจอ ตอนสัมภาษณ์งานกับเฟิร์น เขาแต่งเพลงแรปเวอร์ชั่น Shipnity มาร้องเลย สนุกมาก ยิ่งทำให้เรารู้ว่าเขาตั้งใจอยากไปทำงานที่นั่นนะ มันทำให้เราอยากคุยกับคนนี้ต่อจังเลย เหมือนเป็น First Date ที่ทำให้ First Impression มันดีอะ แน่นอนว่าคนที่คัดก็ต้องให้คะแนนพิเศษบ้างแหละ

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

พอทำงานมาถึงจุดนี้แล้ว คุณนิยามความหมายของคำว่าความสำเร็จไว้อย่างไร

ชญานิษฐ์: ความสำเร็จในความคิดของเฟิร์น รู้สึกว่ามันเต็มอิ่มตอนที่เห็นว่าเราสร้างอะไรแล้วมันสำเร็จ โดยเฉพาะตอนที่เราสร้างคนค่ะ ตอนเรียนจบมาแรก ๆ มีพี่มาชวนไปเป็นวิทยากรตามมหาวิทยาลัย สอนเรื่องสตาร์ทอัพ แล้วเฟิร์นมักจะได้พูดเปิด สร้าง Inspiration ก่อนเสมอ จนแอบสงสัยว่าทำไมต้องให้มาพูดพาร์ทนี้ด้วย 

มันเหมือนกับไป Pitching หรือขายงานเหมือนกันนะ ซึ่งเป็นสกิลที่ CEO ต้องมี แต่จะขายอะไร บางทีขายเพื่อเอา VIP ขายเพื่อเอาพาร์ทเนอร์ ขายเพื่อเอาคนเข้ามาทำงาน และถ้าเขาซื้อ vision ของเรา เขาจะมาร่วมงานด้วย แต่เฟิร์นจะไม่พูดอะไรที่ไม่จริง เพราะถ้าไม่จริงจะสื่อออกไปไม่ได้ เราจะไม่เชื่อในสิ่งที่พูด 

และไม่ใช่ว่าจะโน้มน้าวเขาอย่างเดียว ต้องดูด้วยว่าสิ่งที่เราขายมันตอบโจทย์กับสิ่งที่เขาหาด้วยหรือไม่ สมมติว่าสิ่งที่เราต้องการมันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเขาเลย เฟิร์นก็ไม่อยากให้เขาต้องเสียเวลาเหมือนกัน

เฟิร์นชอบตอนที่โค้ชคนไป หรือช่วยใครแล้วเขาประสบความสำเร็จอะ ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างหรือช่วยอะไรเขาได้ เราจะแฮปปี้มาก ๆ นี่ความสำเร็จที่เฟิร์นมองเห็นนะ 

ส่วนความสำเร็จในฝั่งของ Shipnity คงเน้นในเรื่องของด้านเทคโนโลยีเป็นหลัก ในที่นี้คือตัวระบบจัดการค่ะ วันหนึ่งมันอาจจะเป็น Baseline อาจเป็น Cash cow ก็ได้ ไม่ใช่ว่าวันหนึ่ง Shipnity จะเป็นระบบจัดการที่เด็ดที่สุด อันนี้มันเหมือนเป็น Goal หนึ่งที่ระบบจัดการที่ดีที่สุด แต่ไม่ใช่ Ultimate Goal 

เพราะถ้าเราเป็นระบบจัดการอย่างเดียว มันจะยังไม่สามารถตอบเวอร์ชั่นที่เราหวังอยากให้ขับเคลื่อนธุรกิจได้จริง ๆ เราจะมีขาที่มันมากกว่านั้น จะเป็น Mission ในปี 2023  เราก็จะเน้นให้มันดีที่สุด แล้วก็ Serve User ให้ดีขึ้น 

แต่ในพาร์ทถัดไปมันคือ Challenge ที่เฟิร์นมองว่ามันจะหนักสำหรับทีมบริหารแล้ว เพราะอย่างที่บอกว่า เราต้องกระโดดไปอีกก้าวหนึ่ง ต้องทำเพื่อให้ดีที่สุด เราต้องมีสิ่งที่ว้าวมากกว่านั้นมาต่อยอด ก็เลยเป็น Challenge ในปีนี้และปีถัด ๆ ไป

คุณอยากเป็นผู้นำแบบไหน

ชญานิษฐ์: เฟิร์นอยากเป็นคนที่ รู้สึกว่าสามารถเข้าใจคนอื่น แล้วก็ให้แรงบันดาลใจ (Inspire) คนอื่นได้ จะสร้างหรือผลักดันให้เขาได้

ตอนที่เฟิร์นไปสอนที่เคสตาร์ทอัพหลายปีก่อน มีน้องคนหนึ่งเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 3 ตัดสินใจทัก Facebook มาบอกว่า “พี่จำผมได้ไหมที่ผมตามมาจากใน IG พี่เป็นหนึ่งในคนที่ผมให้เป็นไอดอลเลย ช่วงไหนผมรู้สึกเหนื่อย ผมรู้สึกว่าผมฟังพี่แล้วมีแรง มี Passion ให้ตัวเอง” 

อีกวันที่รู้สึกดีมาก ๆ คือมีลูกค้าบินจากพิษณุโลกมาที่ออฟฟิศเพื่อมาเวิร์คชอป มาบ่ายกลับเย็นด้วย จริง ๆ ออนไลน์มาก็ได้ แต่พี่เขาอยากมาเจอคนพัฒนาโปรแกรม พอถามเขาว่าทำไมต้องบินมาขนาดนี้อะพี่ ค่าตั๋วแพงด้วยนะ เขาบอกว่า “ตอนนั้นพี่เริ่มไลฟ์ขายของ พี่เริ่มมีรายได้ แต่พี่ไม่ได้คุยกับลูก ไม่ได้เลี้ยงลูกเลย จนพอมีระบบดูดไลฟ์ของ Shipnity มันทำให้พี่ได้นอนแล้วเหมือนได้ลูกพี่กลับคืนมา มีเวลาไปเลี้ยงลูก ไม่ได้เอาแต่ไลฟ์ พี่อยากมาเจอคนที่พัฒนาแล้วอยากมาขอบคุณเขา” พูดแล้วยังขนลุกอยู่เลย 

เราอาจรู้สึกว่าเหนื่อยกับการทำงาน แต่พอเจออะไรแบบนี้เข้าไป ทำให้เรามีแรงกลับมาหมดเลยเราจะรู้สึกว่าพวกนี้มันเป็นสิ่งที่มันมีคุณค่าทางจิตใจ 

เปิดกว้างการบริหารงานที่ไม่มีกรอบ กับ ชญานิษฐ์ โพธิครูประเสริฐ YOUNG CEO, YOUNG LEADER แห่ง SHIPNITY

หลังจากผ่านประสบการณ์มาเยอะ คิดว่ายังมีอะไรที่ขาดแล้วอยากเสริมอยู่

ชญานิษฐ์: จริง ๆ ประสบการณ์ ก็ยังน้อยอยู่นะ ยังขาดอีกเยอะเลยค่ะ คิดว่าเพิ่งผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลานมาดีกว่า ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก 

แต่เคยมีนะตอนทำงานที่คิดว่าฉันเริ่มรู้แล้ว แต่พอเอาตัวเองไปอยู่ในอีกเลเวลหนึ่ง ก็… เฮ้ย เราไม่รู้อะไรเลย เราคิดว่าเราเก่ง มันแค่ตรงนี้ มันนิดเดียวเองที่เราคิดว่าเรารู้อะ 

แต่มีคำพูดหนึ่งที่เฟิร์นชอบอะ ไม่แน่ใจว่าจาก สตีฟ จ็อบส์ รึเปล่านะที่พูดเรื่อง “Connecting the Dots” เพราะเราจะเริ่มเห็นจริง ๆ ว่า เราสามารถเอาทุกสิ่งอย่างมาบูรณาการกันได้ มา Connect กันได้ จริง ๆ มันมีเท่านี้แหละ แค่ต้องกางแผนภาพแล้วก็เชื่อมจุดให้หมด แต่ในจุดต่าง ๆ ที่เชื่อมจะไม่ใช่เราทั้งหมด คนที่เก่งกว่าเราในแต่ละอันก็ดูส่วนนั้นไป 

ประสบการณ์ในตอนนี้เฟิร์นว่าเฟิร์นยังขาดอีกเยอะ ภาพต่อไปธุรกิจจะต้องไปเรื่องไฟแนนซ์มากขึ้น ตอนนี้เราเข้าใจ Business Will แล้ว จากตอนแรกที่เราไม่เคยทำสัญญา พวกสัญญากับพาร์ทเนอร์ สัญญาจ้าง ไม่เคยแตะเลย ตอนนั้นมันท้าทายไปหมด ตอนนี้มันเริ่มโอเค หรือว่าบางอันเราไม่รู้ หาคนที่เขารู้กว่าเรามาทำ

CTA HR Products & Services

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง