ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จ แล้วองค์กรจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร?

HIGHLIGHT

  • Growth Mindset คือสิ่งที่ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น ในฐานะกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที
  • Growth Mindset คือแนวคิดที่เชื่อว่าความสามารถของทุกคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผ่านความพยายาม ไม่ยอมแพ้ และการเรียนรู้
  • Growth Mindset คือสิ่งที่สามารสร้างได้ โดยคนที่มี Growth Mindset จะกล้าผ่าฟันเรื่องยาก มองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวต่อไป
  • เมื่อองค์กรมีพนักงานที่มี Growth Mindset จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น การจัดการภายในองค์กรก็จะลดความขัดแย้งลง ที่สำคัญคือทำให้เกิดความหลากหลายในองค์กร

ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร แล้วเราจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

ไม่กี่ปีมานี้ Growth Mindset คือสิ่งที่ได้รับการพูดถึงกันมากขึ้น ในฐานะกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จขององค์กร โดยเฉพาะช่วงเวลาที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที ทั้งจากเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม หรือแม้กระทั่ง COVID-19 ทำให้อนาคตกลายเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก

ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่กล้าเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลง ไม่กลัวที่จะสำรวจอนาคตแม้จะมืดมิด พร้อมลุยต่อแม้จะเจอความล้มเหลว อยากเรียนรู้สิ่งใหม่แม้จะท้าทาย และยังลุกขึ้นมาใหม่เสมอแม้จะบอบช้ำเพียงใด ซึ่งนั่นเป็นคุณสมบัติหลักของ Growth Mindset ที่ใครหลายคนนิยาม

เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจว่า Growth Mindset คืออะไร ทำไม Growth Mindset คือกุญแจสำคัญองค์กร วันนี้ HREX จะพามารู้จักให้มากขึ้น พร้อมทั้งวิธีการที่องค์กร ผู้นำ หรือ HR สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อปลูกฝัง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นได้จริง

Growth Mindset คืออะไร?

ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร แล้วเราจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

Growth Mindset คือแนวคิดที่เชื่อว่าความสามารถของทุกคนนั้นเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ผ่านความพยายาม ไม่ยอมแพ้ และการเรียนรู้ ถึงแม้จะอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ไม่แน่นอนหรือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากก็ตาม

การมี Growth Mindset จะทำให้บุคคลนั้นกล้าที่จะผ่าฟันเรื่องยาก มองว่าอุปสรรคไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นโอกาสที่จะลองสิ่งใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวต่อไป นับเป็นกระบวนการคิดที่พยายามพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ๆ เพื่อค้นหาสิ่งที่ดีกว่า และเชื่อว่าสิ่งใหม่นั้นจะดีขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการมี Growth Mindset จะช่วยให้สามารถพัฒนาศักยภาพของแต่ละบุคคลได้ แต่การพัฒนาศักยภาพจาก Growth Mindset ยังมีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากจะพัฒนาได้ตามศักยภาพสูงสุดของแต่ละบุคคลเท่านั้น ถึงกระนั้นก็นับว่าการเปลี่ยนไปสู่ Growth Mindset อีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้ทุกคนได้ใช้ศักยภาพของตนได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในอนาคตต่อไป

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: คิดอย่างไรกับแนวคิดการจ้างงานยุคใหม่ที่ว่า “hire for mindset and train for skills”

ความหมายของมันจะประมาณว่าการจะจ้างให้ดูที่ Mindset ก่อนเป็นลำดับแรกว่าเป็นไปในทางเดียวกับที่เราต้องการไหม เพราะยังไงสมัยนี้ความรู้ก็ตกยุคไวมาก ในเรื่องของ Skills หรือทักษะสามารถเข้ามาฝึกฝนเรียนรู้กันที่หลังกันได้ เพื่อนๆ คิดอย่างไรกับแนวคิดการจ้างแบบนี้คะ

 

A: เห็นด้วยครับ โดยส่วนตัวเป็นคนที่มีความเชื่อว่า Mindset เกิดจากการหล่อหลอมมาจากอดีต จากสถาบันครอบครัว หรือ สังคมรอบข้าง ซึ่งไม่สามารถเปลี่ยนได้โดยใช้เวลาอันสั้น 

หากเราสามารถเลือกหรือส่งคนที่มี Outward Mindset หรือ ทัศนคติที่ดีเข้ามาทำงาน เรื่องทักษะการเรียนรู้สามารถทำได้ไม่ยากเพราะคนกลุ่มนี้ ถึงแม้ว่าบริษัทไม่ได้มี Training อะไรให้ พวกเราเหล่านั้นจะเรียนรู้ด้วยตัวเองแถมยังจะเอาไปสอบให้คนรอบข้างอีกต่างหาก,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

Growth Mindset Vs. Fixed Mindset

ดร. แครอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success เป็นคนที่ทำให้คำว่า Growth Mindset รู้จักในวงกว้าง โดยเธอได้ทำวิจัยโดยสังเกตพฤติกรรมกลุ่มเด็กที่มี Growth Mindset และ Fixed Mindset โดยผลสรุปได้นิยามไว้ว่า

กรอบความคิดแบบพัฒนาได้ หรือ Growth Mindset คือ ความเชื่อว่าตัวเองสามารถพัฒนาได้ด้วยความพยายาม ถึงแม้คนเราจะเกิดมาแตกต่างกันจากพรสวรรค์ ความถนัด ความสนใจ หรือนิสัยใจคอ แต่ทุกคนก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยความพยายามและประสบการณ์

ขณะที่กรอบความคิดแบบตายตัว หรือ Fixed Mindset คือ ความเชื่อว่าตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้จะหลีกเลี่ยงความท้าทาย ไม่ชอบความลำบาก ยอมแพ้ง่าย มองว่าความตั้งใจและความพยายามไม่มีค่า กระทั่งไม่ได้ใส่ใจคำแนะนำตักเตือนที่มีประโยชน์จากคนอื่น

ความแตกต่างของกรอบความคิดจะส่งผลให้คนมีมุมมองต่อตนเองแตกต่างกัน ทั้งในด้านมุมมองต่อภาพลักษณ์ การใช้ความพยายาม การเรียนรู้ รวมถึงการปรับตัว ดังภาพนี้ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร แล้วเราจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

(ภาพจากวิทยาการวิจัยและวิทยาการปัญญา ปีที่ 14 ฉบับที่ 1, มกราคม – มิถุนายน 2559)

ประโยชน์ของ Growth Mindset ในองค์กร

ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร แล้วเราจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

มีรายงานจาก McKinsey บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังที่คาดการณ์ไว้ว่า ปี 2030 แรงงานกว่า 375 ล้านคนทั่วโลก จะต้องเปลี่ยนแปลงบทบาทและเรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่ เนื่องจากการเติบโตทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วและใหญ่ขึ้น หากแรงงานไม่พัฒนาทักษะตัวเอง เขาก็อาจไม่มีงานให้ทำอีกต่อไป

ด้วยเหตุนี้ Growth Mindset จึงกลายเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสนใจ และต้องการที่ปลูกฝังกรอบแนวคิดดังกล่าวให้กับพนักงาน เพื่อที่ว่าจะสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร ทุ่มเทให้กับการทำงาน และยอมรับความท้าทายใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น

สอดคลองกับงานวิจัยของ ดร. ดเว็ค ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่พบว่า พนักงานที่มี Growth Mindset จะมีลักษณะดังนี้

  • 47% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าเพื่อนร่วมงานมีความน่าเชื่อถือ
  • 34% มีแนวโน้มที่จะรู้สึกเป็นเจ้าของและเป็นส่วนหนึ่งกับองค์กรอย่างแข็งแกร่ง
  • 65% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าองค์กรสนับสนุนในการรองรับความเสี่ยง
  • 49% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าบริษัทส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม

ฉะนั้นแล้ว เมื่อองค์กรมีพนักงานที่มี Growth Mindset ก็จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น การจัดการภายในองค์กรก็จะลดความขัดแย้งลง ที่สำคัญคือทำให้เกิดความหลากหลายในองค์กร เพราะทุกคนจะพร้อมรับความแตกต่างนั่นเอง

วิธีสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นในองค์กร

มีหลากหลายวิธีที่จะสร้าง Growth Mindset ให้เกิดขึ้นในองค์กร ทั้งการปลูกฝังให้ตัวเอง การปลูกฝังในฐานะหัวหน้างาน หรือในฐานะ HR ของบริษัท ทั้งนี้เราได้รวบรวมกระบวนการทั้งหมดและกลั่นออกมาเป็นวิธีการแบบฉบับของเราได้ดังนี้

1. สร้างแรงบันดาลใจให้เกิด Growth Mindset 

ก่อนอื่นต้องให้พนักงานทราบถึงคุณค่าของ Growth Mindset ที่จะส่งผลต่อการเติบโตทางอาชีพการงานส่วนบุคคล ซึ่งมีการศึกษาพบว่า ผู้คนจะเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมกาขึ้น เมื่อพวกเขาได้รับการสนับสนุน มีแรงจูงใจ และได้รับการยอมรับ พูดง่าย ๆ ก็คือพนักงานจะเติบโตเมื่อพวกเขามีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตัวเอง

ยกตัวอย่างการเปิดรับสมัครงาน มีการศึกษาพบว่า หากโพสต์รับสมัครงานด้วยคำว่า “เรียนรู้สิ่งใหม่” หรือ “มีความมุ่งมั่นอย่างสูง” ก็มีโอกาสที่จะดึงดูดพนักงานที่มี Growth Mindset เข้ามาสมัครงานได้ เป็นต้น

2. สร้างพื้นที่ให้พนักงานเติบโต

องค์กรต้องสนับสนุนให้พนักงานเรียนรู้พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ เช่น บางองค์กรมีนโยบายสนับสนุนเงินเมื่อพนักงานสมัครเรียนทักษะใหม่หรือแม้กระทั่งซื้อหนังสือสำหรับการทำงาน

การเทรนนิ่งหรือการโค้ชชิ่ง เป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการพัฒนาพนักงานที่หลายองค์กรจัดทำวางแผน เช่น ผ่านการถ่ายทอดความรู้และภูมิปัญญาจากมืออาชีพที่เข้าใจเรื่อง Growth Mindset โดยตรง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงานเรียนรู้ความสำเร็จจากโค้ชของตนเอง

ส่วนองค์กรที่ไม่ได้สนับสนุน Growth Mindset นั้น ว่ากันว่าพนักงานจะหมกมุ่นกับการพิสูจน์ความสามารถของตัวเองและพยายามแข่งขันกับคนอื่น ซึ่งขัดขวางการพัฒนาและการสร้างนวัตกรรมใหม่ในองค์กรต่อไป

3. สร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้

สิ่งสำคัญคือพนักงานต้องเข้าใจว่า ตำแหน่งที่ตัวเองกำลังทำงานอยู่ ไม่ใช่ตำแหน่งที่องค์กรคาดหวังให้คงอยู่ตลอดไป เพราะทุกคนจะมี Career Path หรือเส้นทางอาชีพให้เติบโตแตกต่างกันไป อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การวางเส้นอาชีพอาจเป็นไปได้ยาก ฉะนั้นสิ่งที่องค์กรควรทำคือการทำให้พนักงานผ่านประสบการณ์ที่หลากหลายและมีทักษะเพิ่มมากขึ้นในโลกอนาคตที่ไม่แน่นอนจะดีกว่า

4. ให้การเสนอแนะที่ก่อให้เกิดการเติบโต

 ข้อเสนอแนะหรือคำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์​จะทำให้พนักงานรู้สึกปลอดภัย ควบคุมสถานการณ์หรือความผิดพลาดได้ และไม่ทำให้ตัวเองรู้สึกอ่อนแอลง เพราะหากเป็นการว่าร้ายสาดเสียเทเสีย จะพาให้พนักงานจมดิ่งสู่ความสิ้นหวัง หมดหนทาง รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ และไม่พร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง

เช่นเดียวกับชมเชยไม่ใช่แค่การปรบมือ แค่คือการชื่นชมกระบวนการทำงาน วิธีคิด หรือความอุตสาหะ เพื่อให้พนักงานสามารถให้การช่วยเหลือคนอื่นต่อไป

5. ส่งเสริมการทดลองสิ่งใหม่ 

องค์กรต้องแสดงความสนใจใคร่รู้เมื่อพนักงานนำเสนอไอเดียใหม่ ๆ ส่งเสริมว่าความเชื่อทุกชนิดนำไปสู่การเรียนรู้ ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่ความสำเร็จที่อยู่ปลายทางด้วยซ้ำ แต่ระหว่างทางก็ยังเกิดการเรียนรู้ได้

โดยเฉพาะกลุ่มหัวหน้างานที่จำเป็นต้องฟังไอเดียใหม่ ๆ จากพนักงานเสมอ หากมีการนำเสนอไอเดียใด ๆ อย่าเพิ่งปฏิเสธที่จะรับฟัง ลองประเมินความคิดและถามต่อภายใต้กรอบการทำงานเพื่อตัดสินใจ เช่น ทำไมแนวคิดนี้ถึงมีประโยชน์ แก้ปัญหาอะไรได้บ้าง หรือไอเดียนี้มีความเสี่ยงอะไร

ยิ่งหากรับฟังโดยยังไม่ต้องนึกถึงผลลัพธ์ เราก็อาจสามารถนำแนวคิดนั้น ๆ มาพัฒนาต่อ เช่นเดียวกับพนักงานที่จะกล้านำเสนอความคิด ท้าทายตัวเอง และคิดอะไรใหม่ ๆ มานำเสนอต่อไป 

6. ยอมรับความผิดพลาดและแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้

มองทุกความล้มเหลวคือบทเรียนอันล้ำค่าที่สามารถเรียนรู้จากมันได้ เมื่อเกิดความผิดพลาด การลงโทษไม่ใช่คำตอบเดียว หนำซ้ำเรายังสามารถนำความผิดพลาดนั้นมาเป็นโจทย์ในการเรียนรู้ ไม่ใช่เกิดความผิดซ้ำสองได้

แน่นอนว่าความผิดนั้นต้องไม่ใช่ความร้ายแรง หรือเป็นความผิดทางกฎหมายนะ

6 คำถามสร้าง Growth Mindset แบบรวบรัด

  1. ยกตัวอย่างภารกิจที่คุณคิดว่าไม่สามารถเป็นไปได้
  2. อะไรที่ทำให้คุณบรรลุเป้าหมายนั้น
  3. อะไรที่ช่วยให้ลุกขึ้นมาในวันที่เลวร้าย
  4. มุมต่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของคุณคืออะไร
  5. ยกตัวอย่างคำวิจารณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่เคยได้รับ และคุณตอบสนองมันอย่างไร
  6. ใครคือแรงบันดาลใจของคุณ 

บทสรุป

ถ้า Growth Mindset คือกุญแจสู่ความสำเร็จขององค์กร แล้วเราจะสร้างขึ้นมาได้อย่างไร

ทุกวันนี้ Growth Mindset คือคำที่ได้ยินกันบ่อยครั้ง แต่ก่อนที่องค์กรจะปลูกฝังกรอบแนวคิดนี้ให้กับพนักงานทุกคน เราต้องกลับมาถามตัวเองว่า แล้วเรามี Growth Mindset หรือยัง เพราะองค์กรจะไม่สามารถสร้าง Growth Mindset ได้สำเร็จ หากผู้นำยังไม่เปิดใจกับกรอบแนวคิดนี้

ฉะนั้นบอกตัวเองเสมอว่า จงเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ กล้าที่จะเผชิญหน้ากับความท้าทาย ผลักดันขีดจำกัดของตัวเอง และถามหาการเสนอแนะที่ดีจากผู้เสมอ แล้วองค์กรของคุณก็จะเติบโตพัฒนาอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง