HIGHLIGHT
|
หลังจากเฝ้าดูปรากฎการณ์ระดับโลกนี้มาสักพัก HREX.asia ก็ตัดสินใจนำเรื่อง Metaverse มาเล่าสู่กันฟัง เพราะเราเชื่อว่ามันจะเป็นเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบกับ Future of Job เป็นอย่างมาก นอกจากนี้งานศึกษาเรื่อง FutureTales Lab by MQDC ก็ได้จัด Metaverse เป็นหนึ่งใน Driver of Change ที่จะพลิกโฉมหน้าตาโลกการทำงานภายในปี 2030 ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ
เมื่อพิจารณา Metaverse เราจะพบว่าตัวมันเองมีคุณสมบัติคล้ายกับอินเตอร์เน็ตที่มีลักษณะเป็น Ecosystem เชื่อมโยงกันกันสลับซับซ้อนและถูกประกอบสร้างขึ้นมาจากคนนับล้าน ๆ คนทั่วโลก นั่นทำให้ Metaverse กลายเป็นเรื่องของทุกคนจริง ๆ ซึ่งนั่นก็หมายรวมถึงคนทำงาน ผู้จัดการ ผู้นำองค์กร และ HR ที่เป็นผู้อ่านอย่างทุก ๆ ท่านด้วย หลังจากบทความนี้จบลง ท่านจะเข้าใจว่า Metaverse คืออะไร ประโยชน์ของมันมีอะไรบ้าง อีกทั้งยังมีตัวอย่างอาชีพใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และที่สำคัญที่สุดคือการตอบคำถามที่ว่า ‘Metaverse มีเกี่ยวข้องกับ HR และคนทำงานอย่างไร’
Contents
Metaverse คืออะไร
Metaverse แปลเป็นไทยตามราชบัณฑิตยสภาได้ว่าจักรวาลนฤมิต ซึ่งแน่นอนว่าฟังแล้วอาจจะงงกว่าเดิมว่ามันหมายถึงอะไร แต่ก่อนที่จะรู้ว่ามันคืออะไร เราจะขอเริ่มจากคำถามที่ว่าแล้วอะไรคือความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Metaverse และนิยามที่ตรงกับความเป็นจริงมากกว่าคืออะไร
1. Facebook ไม่ใช่เจ้าของ Metaverse
คนจำนวนมากอาจจะรู้จัก Metaverse จากการเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่อลังการของบริษัท Facebook (ต่อไปนี้คงต้องเรียกว่า Meta) แต่จริง ๆ แล้วยังมีบริษัทเทคโนโลยีอีกมากที่กำลังพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ เช่น Microsoft ที่เพิ่งปล่อย Software อย่าง Microsoft Mesh เป็นซอฟแวร์ที่ใช้เรื่องของประสบการณ์เสมือนแบบ Mixed Reality Applications เพื่อยกระดับการสื่อสารระหว่างทีม รวมถึงบริษัทเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่หลายคนอาจไม่คุ้นหู เช่น Nvidia, Unity, Roblox ที่กำลังต่อจิ๊กซอให้ภาพของ Metaverse สมบูรณ์มากขึ้นในอนาคตอันใกล้
2. Metaverse ไม่ได้หมายถึงแว่นตาไฮเทค
การบอกว่าแว่นตา VR คือ Metaverse ก็เหมือนกับการพูดว่า Smartphone คืออินเตอร์เน็ต เพราะจริง ๆ แล้วขอบเขตของอินเตอร์เน็ตนั้นกว้างขวางกว่านั้นมาก และ Smartphone ก็เป็นเพียงหนึ่งในหลาย ๆ Device ที่จะพาท่านเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังมีอุปกรณ์อีกหลายชนิด เช่น เครื่องเล่นเกม คอมพิวเตอร์ หูฟัง ตู้เย็น หรือแม้กระทั่งหลอดไฟ ตอนนี้น่าจะพอเห็นภาพกันแล้วว่าความเป็นไปได้ของ Metaverse มันหลากหลายมาก และมันจะไม่ได้แยกขาดออกไปจากเทคโนโลยีปัจจุบัน แต่จะเป็นการต่อยอดขึ้นไปมากกว่า
หัวใจสำคัญคืออุปกรณ์ Metaverse เหล่านี้ จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถจมดิ่งไปกับประสบการณ์ (Immersive) มากขึ้นกว่าแค่ภาพสองมิติบนหน้าจอโทรศัพท์ของท่านกลายเป็นโลกสามมิติเสมือนที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าเหมือนเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งจริงๆ เราจะไม่ได้เห็นแค่หน้าของเพื่อน แต่เราจะรู้สึกว่าเพื่อนนั่งอยู่ตรงหน้าเราจริง ๆ เพราะจริง ๆ แล้ว Metaverse ไม่ใช่ตัวฮาร์ดแวร์ แต่เป็น ‘ประสบการณ์สมจริงไร้รอยต่อ’ ที่ถูกสร้างขึ้นจากฮาร์ดแวร์หลาย ๆ ตัว ที่น่าตื่นเต้นคือเรายังไม่รู้อย่างชัดเจนหรอกว่าฮาร์ดแวร์หรือเครื่องหน้าตาแบบไหนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นอุปกรณ์กระแสหลักในโลก Metaverse (เช่นเดียวกับที่ทุกวันนี้คนเราก็ใช้แท็บเล็ต มือถือ และคอมพิวเตอร์เพื่อทำกิจกรรมในลักษณะคล้ายคลึงกันได้) เช่นเดียวกับที่คนก่อนยุคอินเตอร์เน็ตนึกไม่ถึงว่า คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะและ Smartphone จะกลายเป็น Consumer Product ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมล้วนเป็นเจ้าของกันคนละอย่างน้อยหนึ่งเครื่อง
3. Metaverse ไม่ใช่แค่เรื่องสำหรับพวกเนิร์ดหรือเกมเมอร์
ไม่ปฎิเสธว่ากลุ่ม Early Adopter ที่ชอบเทคโนโลยีจะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่ก้าวสู่โลก Metaverse แต่นั่นคือเรื่องปกติของเทคโนโลยีเกิดใหม่ แต่ไม่นานนักเมื่อโครงสร้างพื้นฐานและผู้ให้บริการในจักรวาลนฤมิตมีความเพียบพร้อมขึ้น กระแสของฝูงชนก็จะเริ่มหลั่งไหลเข้ามาจนในที่สุดคนทั่วทั้งสังคมก็จะใช้งานมันจนมองว่าเป็นเรื่องปกติในท้ายที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าภาคธุรกิจ องค์กรต่าง ๆ ก็ต้องเรียนรู้เพื่อรับเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจหรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสารของคนในองค์กร อีกไม่นานเกินรอ Metaverse อาจทำให้การ Conference Call ในปัจจุบันดูเป็นเรื่องของคุณปู่ยุคสงครามโลกก็เป็นได้
ศัพท์ Metaverse น่ารู้
Virtual Reality (VR): เป็นการจำลองสิ่งแวดล้อมขึ้นมาทั้งหมด 100% ผู้ใช้งานจะรู้สึกจมดิ่งลงไปในโลกเสมือนที่ตัดขาดออกไปจากโลกความจริง เช่น Google Street View
Augmented reality (AR): เป็นการจำลองวัตถุเสมือนขึ้นมา โดยวัตถุนั้นจะวางซ้อนทับอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มเติม เสริม ให้โลกความจริงรอบตัวมีรายละเอียดที่ร่ำรวยมากยิ่งขึ้นจากสิ่งที่เป็นดิจิตอล เช่น เกม Pokémon GO
Mixed reality (MR): เป็นการจำลองสิ่งแวดล้อมเสมือนขึ้นมาเพื่อหลอมรวมเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งผู้ใช้งานจะสัมผัสและมีปฏิสัมพันธ์กับโลกทั้งสองที่หลอมเป็นเนื้อเดียวกันอยู่
Extended Reality (XR) / Metaverse: เป็นการผสมรวมระหว่างทุกข้อที่กล่าวมาด้านบน
ประโยชน์ของ Metaverse
เมื่อเข้าใจภาพกว้างแล้วว่า Metaverse คืออะไร เราจะมาหาคำตอบต่อว่าประโยชน์ในแง่มุมไหนบ้างที่มนุษย์ชาติจะได้จากเทคโนโลยีนี้ ซึ่งหากถอยออกมามองดูในปัจจุบัน การสื่อสารของเราส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะของการใช้พื้นที่สองมิติกว้างคูณยาวบนพื้นผิวหน้าจอ Device ต่าง ๆ ในการติดต่อสื่อสาร โดยรูปแบบที่ให้ความสมจริงที่สุดคือวีดีโอคอล (ซึ่งมีทั้งภาพและเสียง) แต่ Metaverse จะพาเราก้าวข้ามไปอีกขั้น เราจะจ่อมจมไปกับประสบการณ์มากกว่าเดิม เราจะก้าวจากการสื่อสาร 2D ไปเป็น 3D มันคือการช่วยให้เราทำสิ่งเดิม ๆ ด้วยวิธีการใหม่ที่ Immersive มากกว่าเดิม
มาดูเคสที่ Metaverse สามารถส่งผลต่ออุตสาหกรรมตัวอย่างทั้ง 3 นี้เพื่อช่วยให้เราในฐานะนายจ้าง ผู้จัดการและHR จินตนาการได้ดีขึ้นว่าผลกระทบคล้าย ๆ กันนี้ก็สามารถส่งผลต่อโลกการทำงานขององค์กรต่าง ๆ ได้ไม่ต่างกันเลย
1. ยกหมอมาไว้ในบ้านคุณ
Metaverse จะช่วยให้การไปหาหมอง่ายขึ้นมาก ปัจจัยจำกัดเรื่องระยะทางจะคลี่คลายลงเมื่อคนที่อยู่พื้นที่ห่างไกลสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น (อย่างน้อยก็การวินิจฉัยความผิดปกติเบื้องต้น) ซึ่งอันที่จริงแล้วปัจจุบันก็จะมีคำอย่าง Telemedicine ที่พูดถึงการบริการทางการแพทย์แบบระยะทางไกล ในไทยเราก็มีบริการการสั่งยาทางไกล การปรึกษาจิตแพทย์ทางไกล แต่เมื่อไหร่ที่ Metaverse เข้ามาอย่างเต็มตัว เราจะได้เห็นพัฒนาการของการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ที่ล้ำหน้ามากขึ้นกว่าเดิม เมื่อแพทย์สามารถเก็บข้อมูลคนไข้ได้ละเอียดมากขึ้น ย่อมทำให้การวินิจฉัยมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
2. เกมที่เป็นมากกว่าเกม
Metaverse จะทำให้เส้นแบ่งระหว่างเกมและการใช้ชีวิตพร่าเลือนไป เมื่อหลายสิ่งในโลกเสมือนอนุญาตให้เราทำหลายสิ่งที่โลกจริงทำไม่ได้ เราสามารถสร้างร่าง Avatar ที่เป็นตัวตนเสมือนอยู่ใน Metaverse ที่จะมีคาแรคเตอร์ได้อิสระอย่างใจคิด มีสถานที่หรือภารกิจที่ถูกออกแบบขึ้นมาในลักษณะของเกมให้เราสามารถที่จะเข้าไปผจญภัย แข่งขัน และพิชิตโดยปราศจากสิ่งใดที่จะมาบล๊อคจินตนาการของผู้สร้างเกมนั้น ๆ ได้ สิ่งที่พิเศษจริง ๆ คือเกมในโลกเสมือนนี้เป็นเหมือนดินแดนไร้รอยต่อที่ทุกอย่างผสานถึงกัน ระบบเศรษฐกิจในเกมจะสามารถโยกย้ายถ่ายโอนระหว่างกัน ไอเทมที่ถูกใช้อยู่ในเกมหนึ่งอาจจะเอาไปใช้กับอีกที่ได้ สกุลเงินในเกมหนึ่งอาจจะถูกเอาไปซื้อเงินอีกสกุลเพื่อใช้ในอีกเกมหนึ่งได้
3. เปลี่ยนนิยามของการท่องเที่ยว
เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนต้องเคยรู้สึกว้าวกับ Google Street View ที่เราสามารถหยิบลากเอามนุษย์ตัวจิ๋วสีเหลืองไปหย่อนไว้ตรงจุดไหนของแผนที่ก็ได้เพื่อดูหน้าตาจริง ๆ ของพื้นที่นั้น ซึ่งมันก็ถูกจัดเป็น Virtual Reality (VR) แบบ 2D ประเภทหนึ่ง
แต่ Metaverse จะมาสร้างนิยามใหม่ให้กับการเดินทางและการท่องเที่ยวในรูปแบบ 3D จะมีสถานที่จริง ๆ บนโลกใบนี้ที่ถูกจำลองและยกเข้าไปใน Metaverse รวมถึงจะมีการสร้างสถานที่พิเศษหลุดโลกล้ำเกินจินตนาการที่อาจมีโมเดลมาจากหนังหรือเกม หรือตามแต่จินตนาการของสถาปนิกแห่งโลกเสมือนจะสรรค์สร้างขึ้นมา หรืออาจพูดได้ว่า Metaverse จะทำให้ต้นทุนในการเดินทางท่องเที่ยวถูกลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ตรงนี้อาจจะมีผู้คนมาถกประเด็นกันในเชิงปรัชญากันว่าการท่องเที่ยวแบบไหนจะเหนือกว่ากันระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน แต่นั่นก็เหมือนกับการถามว่า การเอาเวลาไปใช้ชีวิตจริงหรือวีดีโอเกมดีกว่ากัน เพราะสุดท้ายแล้วเมื่อเทคโนโลยี Metaverse ก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ความสมจริงจะทำให้เส้นแบ่งระหว่างสองโลกนี้จางลงไปเรื่อย ๆ แต่ที่แน่ ๆ ในฐานะปัจเจกบุคคลก็จะเป็นการเพิ่มทางเลือกและเพิ่มเติมสีสันให้กับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป เมื่อคุณสามารถเดินเล่นบนกำแพงเมืองจีนได้จากห้องนอนของคุณ
Metaverse เกี่ยวข้องกับ HR และคนทำงานอย่างไร
1. ยกระดับการทำงานแบบ Remote Work
Metaverse จะมีผลกับการทำงานทางไกล เหมือนกับที่ระบบอินเตอร์เน็ตและ Conference Call มาช่วยให้เราสามารถทำงานแบบ WFH ได้ในช่วง COVID-19 แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วองค์กรก็จะเริ่มได้เรียนรู้ว่าเมื่อพนักงานทำงานทางไกลไปนาน ๆ สิ่งที่ขาดหายไปก็คือมิติของความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ แต่ Metaverse จะมาทำลายกำแพงตรงนี้ลงไป ต่อให้เราอยู่ไกลกัน แต่เราจะไม่ได้รู้สึกเหมือนไกลกันอีกต่อไปแล้ว โลกเสมือนที่สมจริงเหล่านี้จะทำให้เราเห็นภาษากายและทำให้การปฎิสัมพันธ์สมจริงมากขึ้น รวมถึงปัญหาและความกังวลใจอื่น ๆ ที่นายจ้างมีอย่างเช่น การอู้งานของพนักงาน หรือเรื่องการบริหาร Performance สำหรับพนักงานที่ไม่ได้เข้าออฟฟิศก็จะได้รับการแก้ไข เมื่อทุกคนสามารถมาเจอกันในห้องทำงานเสมือนสมมุติในโลก Metaverse
2. การสรรหาทรัพยากรบุคคลที่เปลี่ยนแปลงไป
ในช่วงเวลา 2 ปีกว่าที่ผ่านมา การสัมภาษณ์งานผ่านออนไลน์ได้กลายมาเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหากเราย้อนไปเมื่อซักสามสี่ปีที่แล้ววิธีการสัมภาษณ์ฺงานของบริษัทส่วนใหญ่จะต้องมีการเดินทางเข้าไปในห้องสัมภาษณ์ หากเป็นบริษัท Recruiting Agency ก็จะต้องมีห้องที่เตรียมไว้สำหรับการสัมภาษณ์ไว้มากพอสมควรเลย แต่ตอนนี้ห้องเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นห้องแห่งความว่างเปล่า หรือเราอาจจะเห็นพนักงานสรรหาเพียงคนเดียวกำลังนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เพื่อ Conference Call กับผู้สมัครเพื่อคัดกรองคนเข้าทำงาน
สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจะเกิด และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องปกติในเร็ววัน และในอนาคตอันใกล้นี้ Metaverse จะเข้ามาทำให้การสัมภาษณ์พนักงานมีคุณภาพสูงขึ้นไปอีกขั้นราวกับการเจอตัวกันแบบเป็น ๆ เลยทีเดียว เมื่อมองจากมุมกว้างการสัมภาษณ์ในรูปแบบเดิม ๆ ก็ยังคงมีอยู่เพียงแต่มีตัวเลือกหรือช่องทางในการเข้าถึงผู้สมัครงานจะหลากหลายมากขึ้น นี่ยังไม่นับรวมว่าผู้คนที่อยู่ในแต่ละแพลตฟอร์มก็จะมีธรรมชาติแตกต่างกันไป ไม่แน่ว่านายจ้างอาจจะเข้าถึงกลุ่มคนบางประเภทที่อาจจะหาตัวจับได้ยากในช่องทางบนโลกปกติโดยการเข้าไปสรรหาพนักงานที่อยู่ใน Community จำเพาะบางแห่งใน Metaverse ที่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่ต้องการหา เช่น คุณอาจจะไปเช่าพื้นที่เพื่อเปิดบูธรับสมัครงานที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ในพื้นที่โลกเสมือนที่กำลังจัด Event แชร์ความรู้ด้านสตาร์ทอัพเป็นต้น
โดยล่าสุด Hyundai บริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้มีการลงทุนเพื่อสร้างระบบในการเทรนพนักงานใหม่ผ่านโลกเสมือน อีกกรณีเช่นบริษัท Samsung ก็ได้มีการจัด Event เพื่อเปิดรับสมัครงานในโลกเสมือนเช่นกัน นี่แค่ตัวอย่างเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน ซึ่งอนาคตก็จะยิ่งมีเรื่องแบบนี้เยอะขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ อย่างที่บอกไว้ว่า ‘สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นจะเกิด และสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องปกติในเร็ววัน’
3. ปฏิวัติการเรียนรู้ของพนักงาน
ในอดีตการที่พนักงานซักคนที่เริ่มต้นเข้ามาทำงานใหม่ ๆ จะได้รับการเรียนรู้ผ่านการทำงานจริง (On the job training) จนกระทั่งพัฒนาขึ้นสู่ศักยภาพสูงสุดในการทำงานเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ระยะเวลานานพอสมควรเลย อีกทั้งองค์กรจะต้องมีการจัดตั้งระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System) เพื่อช่วยสอนงานให้กับพนักงานใหม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ล้วนใช้ทรัพยากรทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรมนุษย์ (ผู้สอน) หรือทรัพยากรด้านเวลาที่พนักงานใหม่ต้องใช้ไปในการเรียนรู้ระเบียบการทำงานไปจนถึงความรู้เชิงเทคนิคที่เฉพาะกับตำแหน่งงานนั้น
ทีนี้เราลองมาจินตนาการถึงสถานการณ์สมมุติในอนาคต เมื่อพนักงานที่ทำงานในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สักคนเดินมาถึงไซต์งานการผลิต เขาสามารถที่ีจะหยิบแว่นตาอัจฉริยะที่เชื่อมต่อเข้าสู่ฐานข้อมูลการฝึกอบรมพนักงานใหม่ของบริษัทผ่านระบบระบบคลาวด์ พนักงานสามารถที่จะเลือกบทเรียนที่สอดคล้องกับงานที่ต้องทำในวันนั้น ๆ ทันใดนั้นก็มีภาพจำลองของผู้สอนจากระบบการเรียนรู้ รวมถึงสัญลักษณ์และฟังก์ชั่นต่าง ๆ จากแว่นตาซ้อนทับไปบนภาพจริงตรงหน้าที่เป็นสภาพแวดล้อมพื้นที่การทำงานบนไซต์งาน ที่จะคอยแนะนำขั้นตอนการทำงานอย่างละเอียดยิบเสียยิ่งกว่าพี่เลี้ยงที่้เป็นคนจริง ๆ สามารถทำได้เสียอีก ฉากทัศน์ทั้งหมดนี้คงจะทำให้พอเห็นภาพแล้วว่าองค์กรจะสามารถลดต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ได้มากมายขนาดไหน
4. โอกาสในตำแหน่งงานใหม่ ๆ
นี่คือช่วงเวลาที่จะเริ่มมีตำแหน่งงานใหม่ ๆ เกิดขึ้น โดยตำแหน่งนั้นอาจจะเป็นตำแหน่งใหม่ถอดด้ามไปเลย หรืออาจจะเป็นตำแหน่งงานที่เป็นการต่อยอดจากตำแหน่งงานเดิม ส่วนถัดไปเราจะพาผู้อ่านไปสำรวจอาชีพใหม่ ๆ ที่อาจผุดขึ้นอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยี Metaverse เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งเสมอเมื่อเทคโนโลยีมีการก้าวไปข้างหน้า นั่นก็คือการปรับตัวของตลาดแรงงานเพื่อขานรับโอกาสและความท้าทายใหม่ ๆ ใครที่ปรับตัวไม่ทันก็อาจจะต้องล้มหายตายจากไป
ตัวอย่างอาชีพ Metaverse Jobs
เราเอาตัวอย่างตำแหน่งงานที่น่าสนใจมาให้ทุกท่านได้ลองจินตนาการถึงโอกาสการทำงานใหม่ ๆ 3 ตัวอย่างดังนี้
1. Metaverse Tour Guide: ไกด์ทัวร์เมตาเวิร์ส
มาเริ่มจากอันแรกกันเลยดีกว่าเพราะงานนี้จะเป็นของไกด์ทัวร์ Metaverse นั่นเองซึ่งจะเป็นด่านแรก ๆ เลยที่จะเป็นคนคอยแนะนำคนหน้าใหม่ ๆ เข้าสู่ดินแดนโลกเสมือนที่กว้างใหญ่ไพศาล
โดยไกด์ทัวร์คนนี้ของเราจะเป็นคนที่คอยพาเราไปเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ที่น่าสนใจไม่แตกต่างจากไกด์ทัวร์ในโลกแห่งความเป็นจริงเลย สิ่งที่แตกต่างออกไปคือแต่ละสถานที่ที่มีความพิเศษเฉพาะตัวเหล่านั้นจะต้องถูกสร้างขึ้นมาโดยใครซักคนเป็นแน่ เขาจะทำหน้าที่แนะนำประวัติศาสตร์ความเป็นมา แนะนำกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถทำได้ ซึ่งตำแหน่งงานนี้อาจจะเป็นการจ้างในรูปแบบฟรีแลนซ์โดยผู้ใช้งานที่อยากท่องเที่ยว หรืออาจจะถูกจ้างจากเจ้าของพื้นที่เหล่านั้นเองเพื่อเป็นไกด์ประจำสถานที่นั้นโดยเฉพาะ
2. Metaverse Stylist: นักออกแบบตัวละครและเสื้อผ้าเมตาเวิร์ส
เมื่อเราเริ่มท่องไปในโลกเสมือนได้คล่องแคล่วมากขึ้น งานอีกตำแหน่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนั่นคือเรื่องของตัวตนผู้ใช้งาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะสำหรับมนุษย์แล้ว ความต้องการที่จะมีเอกลักษณ์ มีความเป็นตัวเอง ก่อให้เกิดความหลากหลายอันงดงาม ทุกวันนี้โลกเริ่มเปิดรับความแตกต่างหลากหลายมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศาสนา ความเชื่อ เพศสภาพ ทัศนคติทางการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยิ่งถูกขับเน้นให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อคนทั่วทุกมุมโลกสามารถเข้าถึง Metaverse ได้ไม่ต่างกัน ทำให้ Avatar เป็นหนึ่งในคอนเซปต์ที่เป็นของคู่กับโลกเสมือน นั่นคือตัวตนจำลองที่เราสามารถสรรสร้างขึ้นมาตามใจนึกคิด (เทียบเคียงกับรูปโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดีย) หากคุณคิดว่าโลกของแฟชันบนโลกจริงสุดแสนพิศดารแล้ว คุณจะต้องเตรียมตัวรับมือเจอกับการแต่งตัวหลุดโลกตามท้องถนนในโลกเสมือน (ถ้าจะมี Avatar ที่ตัวเป็นมนุษย์แต่มีหัวเป็นไก่ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องแปลกใจ) ทั้งหมดนี้จึงทำให้ Metaverse Stylist หรือนักออกแบบตัวละคร Avatar หรือเครื่องแต่งกายใด ๆ จะกลายมาเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจอย่างแน่นอน
3. Metaverse Marketer: นักการตลาดเมตาเวิร์ส
ถ้าหากยังจำกันได้ คำว่า Digital Marketing หรือนักการตลาดดิจิตอลเคยเป็นคำดังคำนึงเลยเมื่อประมานหลายปีก่อนในยุคที่เป็นจุดเปลี่ยนผ่านพฤติกรรมเสพสื่อของคนทั่วโลก คนเราไม่ได้เสพสื่อน้อยลง แต่ย้ายสถานที่การเสพสื่อจากช่องทางเก่า ๆ อย่างทีวี วิทยุ มาเป็นสื่อออนไลน์ บนหน้าจอมือถือเป็นหลัก และเมื่อผู้เสพสื่อย้ายไปที่ใด นั่นหมายความว่าความสนใจของคนย่อมย้ายไปที่นั่น สิ่งที่จะตามไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คือเม็ดเงินโฆษณาที่จะไหลไปยังสื่อใหม่ที่มีฐานผู้ชมจำนวนมากกว่า นั่นทำให้เกิดการจ้างงานนักการตลาดที่มีชุดทักษะบนโลกดิจิตอล เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้าน SEO, นักยิงโฆษณาบนโซเชียลมีเดีย และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นเช่นกันเมื่อคนจำนวนมากเริ่มหลั่งไหลเข้าสู่โลก Metaverse ลองจินตนาการถึงตำแหน่งงานนี้ เขาจะต้องคอยซื้อโฆษณาบนป้ายบิลบอร์ดในโลกเสมือน ต้องคอยประสานงานในการจัด Event ประสานงานกับศิลปิน Influencer ต่าง ๆ เขาต้องวางแผนการตลาดในการสร้างพื้นที่ของแบรนด์ในโลกเสมือนรวมถึงการเชื่อมโยงช่องทางการสื่อสารการตลาดทั้งจากโลกเก่า โลกดิจิตอล และโลก Metaverse ให้เป็นเนื้อเดียวกัน ไม่แตกต่างจากที่วงการ Digital marketing ทุกวันนี้เรียกการทำการตลาดหลากหลายช่องทางว่า Omnichannel เพียงแต่หนนี้มันจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้นไปอีกหลายเท่านัก
โอกาสของคนทำงานและ HR ในโลก Metaverse
โอกาสสำหรับคนทำงาน
1. โอกาสในการหางานใหม่ในสายงาน Metaverse
2. โอกาสในการต่อยอดอาชีพให้ทันสมัยและมีรายได้มากขึ้น
3. โอกาสในการทำงานบริษัทที่อยู่ไกลหรืออยู่ต่างประเทศ
4. โอกาสในการทำงานที่มีอิสระและยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
5. โอกาสหารายได้เสริมจากงาน Freelance ใน Metaverse
6. โอกาสในการสร้างสร้างผู้ติดตามในช่องทางใหม่ ๆ เพื่อสร้าง Personal branding
โอกาสสำหรับ HR และองค์กร
1. ลดค่าใช้จ่ายด้านออฟฟิศ ใช้ออฟฟิศรองรับเฉพาะตำแหน่งที่จำเป็นที่ต้องเข้าออฟฟิศจริง ๆ
2. ขยาย Talent Pool ให้กว้างขึ้น สามารถจ้างคนเก่งที่อยู่ที่ไกล ๆ ได้
3. เพิ่มช่องทางการสรรหาพนักงานใหม่ใน Community เฉพาะใน Metaverse
4. ลดต้นทุนและเพิ่มคุณภาพในการหาพนักงานโดยใช้การสัมภาษณ์เสมือนจริง
5. ลดต้นทุนในการฝึกอบรมพนักงานที่มีลักษณะซ้ำ ๆ โดยการสร้างระบบเรียนรู้อัตโนมัติแบบสมจริง
6. เพิ่มคุณภาพในการฝึกอบรมแบบทางไกล ลดค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์และค่าเดินทาง
สรุป
เมื่อมองจากมุมประวัติศาสตร์ ไล่เรียงมาจากชนบทสู่เมือง จากผืนนาและท้องไร่สู่สายพานการผลิต จากการทำงานเป็นแคมปัสและไซโลสู่ Creative Space และ Flat organization จากการเดินทางฟันฝ่าการจราจรสู่โลกแห่ง Remote Work ผ่านหน้าจอสี่เหลื่อมวีดีโอคอล และสุดท้าย, จากจอสี่เหลี่ยมสองมิติ สู่โลกเสมือน Metaverse อีกใบที่ไร้ซึ่งขีดจำกัด
มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจที่ว่า “ท่ามกลางสายลมการเปลี่ยนแปลง บางคนสร้างกำแพง บางคนสร้างกังหัน” ไม่ว่ากี่ยุคสมัยที่ผ่านมาเทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงกับโลกการทำงานเสมอ และประวัติศาสตร์ก็ได้ฉายภาพซํ้า ๆ ให้เราเห็นว่าความเปลี่ยนแปลงจะสร้างผู้ชนะที่รู้จักเอาเทคโนโลยีมาต่อยอด ในขณะเดียวกันก็สร้างผู้แพ้ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน เราหวังว่าบทความนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนทำงานและองค์กรเริ่มต้นที่จะจับตามองเทคโนโลยีนี้เอาไว้ เริ่มศึกษา ติดตามข่าวและช่วยกันคิดว่าในแต่ละปีที่ใกล้เข้ามาเราจะเริ่มต้นทำอะไรกับตัวเองหรือองค์กรของเราได้บ้าง
HREX.asia ขอชวนทุกท่านมาร่วมสร้างกังหันที่จะเปลี่ยนลมพายุให้กลายเป็นแหล่งพลังงานดี ๆ ที่จะนำเราไปสู่อนาคตด้วยกัน