สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2

HIGHLIGHT

  • CIS 2023 – Corporate Innovation Summit งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมวันที่ 2 ยังอัดแน่นด้วยเนื้อหาน่าสนใจเช่นเคย เรื่องแรกว่าด้วยการสร้างความยั่งยืนด้วยการลดขยะ แก้ปัญหาถุงพลาสติกล้นโลก เรื่องนี้เป็นสิ่งที่คนทั้งโลกต้องช่วยกันแก้ไข และในการทำงานยุคต่อไป หากองค์กรไหนไม่ยึดมั่นในการลดขยะ สร้างความยั่งยืน องค์กรนั้นจะไม่สามารถแข่งขันกับใครได้อีกเลย
  • ผู้บริหารองค์กรของ บิ๊กซี เล่าถึงการเติบโตที่น่าสนใจตลอดหลายปีที่ผ่านมาว่า มาจากการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดมั่นในความยั่งยืนตั้งแต่แรก และเมื่อแนวคิดนี้ได้เผยแพร่ออกไป ก็จะช่วยดึงดูดพนักงานมากความสามารถมาร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปพร้อมกัน ไปจนถึงการเชื่อมโยงกับพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่เห็นด้วยการเรื่องความยั่งยืน
  • หลายองค์กรสามารถเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจไปสู่ก้าวใหม่ ๆ ด้วยการทำ Business Transformation ขับเคลื่อนจากไอเดียของพนักงานในองค์กรเอง (Employee-Driven) ที่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ที่มีประโยชน์ แล้วนำมาปรับใช้กับองค์กร จุดตัดความสำเร็จมักอยู่ที่ความเอาใจใส่ของพนักงานเองว่า รับฟังเสียงของลูกค้ามากพอหรือไม่ และสามารถสกัดจนได้ Insight ที่สำคัญมาพัฒนาต่อหรือไม่
  • การให้ฟีดแบ็คเป็นสิ่งที่หัวหน้าควรทำ แต่หัวหน้าหลายคนไม่รู้วิธีใช้ Soft Skill นี้อย่างเกิดประโยชน์ เคล็ดลับง่าย ๆ คือต้องใช้หลัก “Say When You Do “X”, I feel “Y”. How Shall We Solve?” เช่น ไม่พูดว่า ลูกน้องมาสาย ไม่มีความรับผิดชอบ แต่ใช้คำพูดว่า “เรานัดกันเวลา 9 โมง แต่คุณมา 9 โมง 15 นาที ช้ากว่ากำหนดที่นัดกัน คุณทำให้ผมผิดหวัง เกิดอะไรขึ้น?” การให้ฟีดแบ็คที่มีประโยชน์จะก่อให้เกิดผลลัพธ์ด้านบวก และสร้างทีมที่แข็งแกร่งตามมา

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2

มาถึงวันที่ 2 แล้วกับงาน CIS 2023 – Corporate Innovation Summit งานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จัดขึ้นโดย RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร เพื่อขับเน้นความสำคัญของการนำนวัตกรรมล้ำยุคมาใช้ในการทำงาน สร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน

สำหรับงานวันนี้ HREX ได้เข้าฟังเสวนาที่น่าสนใจหลายเวที แล้วนำมาสรุปรายละเอียดที่น่าสนใจให้ท่านผู้อ่านเช่นเคย มีเรื่องอะไรที่ HR และผู้นำควรรู้บ้าง ติดตามได้เลยในบทความนี้

CIS 2023 Highlight #1 – แก้ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลก คือภารกิจที่ทุกคนต้องแก้ร่วมกัน

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2

หัวข้อเสวนาแรกของวัน เริ่มต้นที่เรื่อง This Work Can’t Wait: IDEO Way to Sustainability Innovation โดยคุณ เบอา คามาโช่ Director จาก IDEO Southeast Asia มาแชร์วิถีการทำงานของ IDEO ในโครงการ Beyond the Bag ที่มีความตั้งใจลดการใช้ถุงพลาสติกทั่วสหรัฐอเมริกา พร้อมแสดงให้เห็นว่านี่คือปัญหาที่ทุกคนต้องเรียนรู้และแก้ไขไปพร้อมกัน

คุณเบอา เปิดเผยสถิติว่า ในแต่ละวันมีผู้ใช้ถุงพลาสติกมากกว่าพันล้านชิ้น ถุงพลาสติกยังติด 1 ใน 10 สิ่งที่พบเจอมากที่สุดบนชายหาด และโดยปกติแล้วคนเราจะใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยต่อวัน 12 นาที แต่ถุงพลาสติกแต่ละใบต้องใช้เวลาย่อยสลายนานกว่า 1,000 ปีเลยทีเดียว

และเพราะทุกคนบนโลกนี้ใช้ถุงพลาสติกไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ทำให้การจะแก้ปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกคนจริง ๆ ซึ่งอาจเป็นไปได้ยาก แต่ในความคิดของคุณเบอา เธอเริ่มจากการพาองค์กรตัวเองเข้าหาบริษัทพาร์ทเนอร์ องค์กรที่ทำธุรกิจค้าปลีกทั้งหลาย เพื่อให้เป็นกลุ่มแรกที่ตระหนักถึงปัญหานี้ก่อนใคร พร้อมหาทางคิดค้นนวัตกรรม ช่วยให้ผู้คนบนโลกสามารถใช้แทนถุงพลาสติกโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต

ผลที่ได้เกิดเป็นการใช้ถุงผ้าอเนกประสงค์ ที่ช่วยทดแทนความต้องการของผู้คนได้ดี ถุงดังกล่าวสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ไม่ต้องทิ้งเป็นขยะ และถึงแม้จะเริ่มต้นจากกลุ่มเล็ก ๆ จากร้านค้าไม่กี่จุด แต่นานวันเข้าเสียงชื่นชม และกระแสเรียกร้องที่มากขึ้น ทำให้มีผู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเข้าถึงและใช้งานผลิตภัณฑ์เหล่านี้มากขึ้นตามไปด้วย ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีถุงผ้าที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ 5.8 ล้านใบ มีผู้ใช้งานมากกว่า 2.1 ล้านคน และพบเจอได้ในร้านค้าปลีก 73,000 แห่งทั่วประเทศ ฯลฯ

ทั้งนี้ มี 3 บทเรียนที่ Director จาก IDEO Southeast Asia สังเคราะห์เจอก็คือ

  1. ความท้าทายของการทำโปรเจ็คท์นี้ อยู่ที่การหาว่าสิ่งที่ช่วยให้คนใช้งานได้ตรงจุดนั้นควรมีหน้าตาอย่างไร เขาจะเข้าถึงสิ่งนี้ได้อย่างไร และจะไปหาฟีดแบ็คมาจากไหน เพื่อไปถึงทางออกของปัญหา
  2. การแก้ปัญหานี้ ต้องร่วมมือกันอย่างแข็งขันตั้งแต่คนในองค์กร คนนอกองค์กรซึ่งเป็นลูกค้า พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ ไปจนถึงส่วนอื่น ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากวงโคจรจึงจะสร้างผลกระทบ สร้างความยั่งยืนได้ เพราะดังที่กล่าวไว้ข้างต้น นี่ไม่ใช่ปัญหาที่ใครคนใดคนหนึ่งจะแก้ได้เอง
  3. ต้องมองไกลไปจนถึงอนาคตตั้งแต่แรกที่วางแผน ต้องคิดว่าจะออกแบบถุงอเนกประสงค์อย่างไรให้ในอีก 4-5 ปีข้างหน้าก็ยังสามารถใช้งานได้ ผู้คนเข้าถึงได้ ไม่ได้คิดแค่แก้ปัญหาในวันนี้แล้วจบไป อย่าลืมว่าอนาคตของเราจะเป็นอย่างไร อยู่ที่การออกแบบที่ดีตั้งแต่วันนี้

และนี่คือบทเรียนสำคัญอย่างยิ่งในการทำงานยุคต่อไป ที่เทรนด์ความยั่งยืนคือสิ่งที่ทุกคนและทุกองค์กรไม่สามารถละเลยได้

CIS 2023 Highlight #2 – สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความสำเร็จ

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2

หัวข้อต่อมายังอยู่ที่ประเด็นความยั่งยืนในหัวข้อ Road to Sustainability: From Regional Retail Leader to the World Class Sustainability Leader

คราวนี้ คุณ อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) มาเล่าถึงการเปลี่ยนผ่านองค์กรอย่างแข็งขัน ทำให้บิ๊กซีสามารถเติบโตอย่างก้าวหน้า ไม่เพียงแค่ขยายสาขาในประเทศไทย แต่ยังเปิดตลาดต่างประเทศเช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และฮ่องกงได้อย่างเห็นผล

คุณอัศวิน เล่าว่า กว่าจะมาถึงวันนี้ บิ๊กซี เดินทางมาไกลมาก ตลอดเวลาที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกมีการแข่งขันสูง ต้องแข่งกันเอาชนะใจคน เอาชนะใจลูกค้าให้ได้ โดยปี 2016 ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ทั้งเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานทุกระดับ เปลี่ยนมาใช้ระบบออนไลน์ในการทำงาน และให้บริการลูกค้า ส่งผลสืบเนื่องทำให้ช่วงโควิด-19 บิ๊กซี เติบโตมาก ๆ ในเชิงผลประกอบการ และมีแพลตฟอร์มออนไลน์ให้บริการที่ครอบคลุม

บอสใหญ่ของบิ๊กซี เผยว่าที่มีทุกวันนี้ได้ยังอยู่ที่การมองเห็นว่า เทรนด์การใช้เทคโนโลยีและการใช้ AI ช่วยงานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้หากจะสร้างความยั่งยืน แม้ทุกวันนี้ยังไม่กล้าพูดว่าบิ๊กซีประสบความสำเร็จแล้ว แต่เชื่อว่ากำลังก้าวเข้าใกล้จุดนั้นเรื่อย ๆ

“ความยังยืนไม่ใช่ตัวเลือก แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ ความยั่งยืนจะนำมาซึ่งการร่วมงานกับพาร์ทเนอร์ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มองเห็นความสำคัญและมีเป้าหมายเดียวกัน ซึ่งจะอนุญาตให้เราทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงแค่นั้นลูกค้าในปัจจุบันก็อยากอุดหนุนองค์กรที่สนับสนุนความยั่งยืนมากขึ้น ทำให้เรายิ่งต้องให้ความสำคัญเรื่องนี้”

ทั้งนี้ก็มีความท้าทายที่ต้องเผชิญเช่นกันจากทั้งภายในภายนอก แต่บิ๊กซีควบคุมสิ่งที่ควบคุมได้คือความท้าทายจากภายในองค์กร ด้วยการโอบรับวัฒนธรรมองค์กรที่ฝังเป้าหมายเพื่อสร้างความยั่งยืนไว้ใน DNA และหากมีความชัดเจนมากพอ สิ่งนี้จะดึงดูดทาเลนต์ที่มองเห็นเป้าหมายเดียวกันมาร่วมทีม มาร่วมขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จพร้อมกัน

“เราต้องไม่ทำเพื่อจะได้รับการจดจำ แต่เราต้องเชื่อมั่นในเรื่องนี้จริง ๆ แล้วทุกอย่างก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย พนักงานทุกคนอยากทำงานกับบริษัทที่มองไปข้างหน้า และสร้างสิ่งที่ดีกว่าให้โลกนี้ ถ้าเรามีมายด์เซ็ตนี้ก็จะนำไปเจอกับคนที่มีมายด์เซ็ตเดียวกัน เพื่อยกระดับองค์กรและโลกนี้ไปด้วยกันต่อไป” คุณอัศวินทิ้งท้าย

CIS 2023 Highlight #3 – นวัตกรรมล้ำค่า เกิดจากการฟังเสียงของคนให้มากพอ

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2

อีกเวทีที่น่าสนใจคือเวทีเสวนาว่าด้วย Empowering Employee-Driven Innovation at Scale โดยคุณ จินน์ รฐิยา อิสระชัยกุล Chief Operating Officer, RISE มาเล่าว่าภารกิจที่ผ่านมาของ RISE คือการช่วยองค์กรหลายแห่งเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจด้วยการทำ Business Transformation ที่ขับเคลื่อนจากไอเดียของพนักงานในองค์กร (Employee-Driven) ผ่านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่แล้วนำมาปรับใช้กับองค์กรด้วยการทำ Hackathon หรือการจัด Bootcamp เป็นตัวจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้พุ่งทะยาน

คุณรฐิยา พบว่าทุกบริษัทจะอยู่รอดและเติบโตได้จะต้องมีพอร์ตกิจกรรม หรือการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ บริการ และนวัตกรรมที่แบ่งเป็น 3 ช่วง ซึ่งจะใช้หลักคิดแตกต่างกันไป

  1. ในช่วงแรก ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและขายจะใกล้เคียงกับแก่นหลักของธุรกิจที่สุด
  2. หลังเติบโตผ่านก้าวแรกไปแล้ว ผลิตภัณฑ์และบริการต่อไปจะมีการปรับเปลี่ยนให้เกิดรูปแบบใหม่ที่ต่อยอดจากเดิม
  3. เกิดการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เกิดกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาโดยสิ้นเชิง

จากการลงมือทำของ RISE พบว่า 2 ช่วงแรกคือช่วงที่พนักงานสามารถช่วยขับเคลื่อนและสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ง่ายที่สุด และบ่อยครั้งมักเกิดจากคนที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุดด้วย เพราะพนักงานกลุ่มนี้จะได้รับ Insight จากลูกค้าในแต่ละวันเยอะมาก จนรู้ว่าสิ่งไหนกันแน่ที่ผู้บริโภคต้องการจากองค์กร

นั่นหมายความว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นขององค์กรนั้น จะต้องเปลี่ยนผ่านจากล่างขึ้นบน (Bottom-up) แต่หากองค์กรไหนเปลี่ยนผ่านจากระดับผู้บริหารลงมาก่อนก็ไม่ผิด แต่อย่าลืมว่าสุดท้ายแล้วข้อมูลจากพนักงานระดับปฏิบัติการ และจากลูกค้ามีประโยชน์และสามารถมาปรับใช้ต่อได้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่องค์กรมักเจอก็คือ พวกเขาไม่ได้มีไอเดียเยอะแยะในช่วงแรกที่ระดมสมอง และถ้าไม่มีไอเดีย ก็จะต่อยอดไปสู่สิ่งที่ดีกว่าได้ยาก ดังนั้นต้องมี 3 สิ่งนี้ที่จะสนับสนุนให้องค์กรไปต่อได้

  1. คนในองค์กรต้องมี Customer Centric Mindset อย่าลืมว่าข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และเป็น Insight มักเกิดขึ้นเพราะพนักงานได้รับฟีดแบ็คมาจากลูกค้าในแต่ละวันโดยตรง บ่อยครั้งฟีดแบ็คที่ออกมามักไม่ใช่ด้านดีเท่าไหร่ แต่หากช่วยให้พนักงานสามารถรับมือกับเสียงวิจารณ์ แล้วเปลี่ยนเป็นพลังบวกได้ จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่สร้างความแตกต่าง
  2. การหวังพึ่งพาพนักงานคอยรับฟีดแบ็คเพียงฝ่ายเดียวไม่เพียงพอ แต่องค์กรต้องมีกลุ่มบุคคล หรือทีม Innovation Catalysts คอยช่วยตบไอเดียต่าง ๆ ให้เข้าที่เข้าทาง
  3. อย่าลืมสร้างทีมที่เป็น Cross Functional Enablers ด้วยการรวมตัวผู้ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมมาคอยช่วยผลักดันไอเดียต่าง ๆ ให้กลายเป็นจริง

“ถ้าคนของเราแคร์ ใส่ใจมากพอ ก็จะสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ขึ้นมาได้” คุณรฐิยาสรุปใจความสั้น ๆ

CIS 2023 Highlight #4 – สร้างทีมที่แข็งแกร่งด้วยการให้ฟีดแบ็คที่ไม่ทำร้ายจิตใจ

หัวข้อการเสวนาสุดท้ายที่ HREX สรุปให้ได้อ่านกันว่าด้วย Leading with Effective Feedback Framework โดยได้คุณ กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร CEO Purple Ventures (Robinhood) & Blogger / Podcaster จาก 8.5 Sentences หรือ 8 บรรทัดครึ่ง มาแชร์มุมมองเกี่ยวกับการให้ฟีดแบ็คลูกทีมว่าสำคัญอย่างยิ่ง ถือเป็น Soft Skill ที่สำคัญมากที่คนระดับผู้นำต้องมี มิฉะนั้นงานจะไม่มีทางเกิดประสิทธิภาพ

แต่มันไม่ง่ายเลยที่จะให้ฟีดแบ็คไปโดยไม่โดนมองด้านลบ คุณกวีวุฒิอธิบายว่า สาเหตุหนึ่งที่การให้ฟีดแบ็คลูกทีมแล้วได้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่าที่ควร เพราะบางทีคนเป็นหัวหน้ายุ่งจนลืมคิดไปว่ากำลังทำงานกับผู้อื่น ลืมคำนึงถึงจิตใจ อารมณ์และความรู้สึกของผู้อื่น

หนึ่งในตัวอย่างสุดคลาสสิคที่แสดงให้เห็นว่า การวิจารณ์ การให้ความเห็นต่อผู้อื่นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง ก็คือเวลาเห็นคนลืมรูดซิปกางเกงเดินอยู่ เราจะบอกเขาอย่างไรไม่ให้เขารู้สึกเสียหน้า หรือกระอักกระอ่วน อย่าลืมว่าถึงแม้เราจะมีเจตนาที่ดีแต่การที่จู่ ๆ จะเข้าไปบอกผู้อื่นว่าไม่ได้รูดซิป ย่อมสร้างความรู้สึกที่ไม่ดีได้ง่าย ๆ ยกเว้นแต่เขาคือคนที่เรารู้จัก มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันอยู่แล้ว 

CEO จาก Purple Ventures แจกวิธีให้ฟีดแบ็คที่ช่วยให้ได้ผลดีแน่นอนว่า เวลาจะวิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นอะไร คนเป็นหัวหน้าต้องห้ามตัดสินผู้อื่นโดยเด็ดขาด ในที่นี้หมายถึงห้ามตัดสินโดยยึดสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น การบอกลูกน้องว่าขี้เกียจ ถึงแม้ลูกน้องจะขี้เกียจจริง ๆ แต่ถ้าพูดตรง ๆ แบบนั้นจะทำให้ลูกน้องปิดกั้นตัวเอง และไม่ยอมรับว่าสิ่งที่พูดเป็นเรื่องจริง

แต่สิ่งที่ต้องทำคือการพูดถึงพฤติกรรม หรือพูดในสิ่งที่เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ง่าย ๆ ว่า “Say When You Do “X”, I Feel “Y”. How Shall We Solve?”

เช่น ไม่พูดว่า ลูกน้องมาสาย ไม่มีความรับผิดชอบ แต่ใช้คำพูดว่า “เรานัดกันเวลา 9 โมง แต่คุณมา 9 โมง 15 นาที ช้ากว่ากำหนดที่นัดหมายกัน คุณทำให้ผมผิดหวัง เกิดอะไรขึ้น?”

หรือหากมีคนไม่ยอมฟังคำวิจารณ์ และพยายามพูดแทรกตลอด การพูดว่า “ตอนที่ผมพูดอยู่ คุณชอบขัด ไม่ยอมให้พูดจนจบประโยคก่อนเลย คุณทำให้ผมไม่สามารถนำเสนอความคิดเห็นได้ ทำไมคุณถึงทำแบบนี้” ย่อมได้ผลดีกว่าการบอกว่า “คุณไม่ยอมฟังผมเลย” ที่จะสร้างกำแพงในใจผู้ฟังขึ้นมาทันทีมากกว่า

และนี่คือวิธีการให้ฟีดแบ็คที่มีประโยชน์ ซึ่งมั่นใจได้ว่าจะช่วยให้การมอบฟีดแบ็คจากหัวหน้าไปสู่ลูกน้องอย่างราบรื่น เกิดผลลัพธ์ด้านบวก และสร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ตามมา

สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

CTA HR Products & Services

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง