สรุปทุกเรื่องที่ต้องรู้จากงาน Leadership in Digital Era by Learning Hub นำคนอย่างไร ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลกว่าเดิม

HIGHLIGHT

  • การสร้างผู้นำในปัจจุบันคือการมองหา “ผู้นำที่สามารถสร้างผู้นำ” รุ่นใหม่ต่อไปได้ ดังนั้นจึงต้องเข้าใจทั้งเรื่องการทำงานและจิตวิทยาการบริหารคน การศึกษา Soft Skills จึงเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด อย่าโฟกัสแต่การพัฒนา Hard Skills อย่างเดียว
  • “คนเกรด A จะไม่ทำงานกับคนเกรด B” ดังนั้นนอกจากจะพัฒนาคนจากระดับล่างขึ้นมาแล้ว องค์กรต้องแน่ใจด้วยว่าคนในระดับบริหารขององค์กรสามารถทำงานได้ดี เป็นแบบอย่าง (Role Model) ที่ส่งเสริมการเติบโตขององค์กรได้จริง
  • การเลือกผู้นำนั้น หากเห็นว่าเก่ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปรื่องฝีมือที่ชัดเจน สามารถมาเน้นในช่วงทดลองงาน 3 เดือนแรกได้ โดยให้เน้นทั้งเรื่องฝีมือการทำงานและวิธีคิด ตลอดจนความเข้าใจในวัฒนธรรมองค์กร หากประเมินแล้วได้ไม่ถึง 80% ก็ควรหาคนใหม่
  • การยอมเสียเงินชดเชยและหาผู้นำใหม่ คุ้มค่ากว่าการดันทุรังใช้ผู้นำเดิม เพราะจะทำให้โครงสร้างต่าง ๆ วุ่นวายไปหมด
  • ดาวน์โหลดเนื้อหา Key Takeaway คลิกที่นี่ https://bit.ly/NewLeadership-LHT

สรุปทุกเรื่องที่ต้องรู้จากงาน Leadership in Digital Era by Learning Hub นำคนอย่างไร ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกลกว่าเดิม

“ผู้นำยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่สามารถสร้างผู้นำรอบตัวให้ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิผลสูงสุด” 

คำกล่าวนี้คงไม่เกินจริงไปนัก เพราะโลกการทำงานในปัจจุบันเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน องค์กรที่อยู่รอดคือองค์กรที่ไม่ได้หวังพึ่งพาผู้นำงเพียงไม่กี่คน แต่เป็นองค์กรที่พร้อมสร้างคนรุ่นใหม่ให้ก้าวขึ้นมาขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต เพราะแนวทางนี้จะทำให้เราปรับตัวได้รวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการขององค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการสร้างรากฐานตรงนี้ถือเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ไม่สามารถมองข้ามได้อีกแล้ว

ดังนั้น HREX.asia จึงได้ร่วมมือกับ Learning Hub จัด Webinar ครั้งสำคัญเพื่อหาคำตอบว่าเราจะเปลี่ยนผู้บริหารทั่วไป ให้กลายเป็นผู้นำที่สามารถสร้างผู้นำรุ่นใหม่ขึ้นมาได้อย่างไร จะช่วยปรับมุมมอง (Create Mindset), สร้างแรงบันดาลใจ (Create Motivation) และดึงศักยภาพ ของพนักงานด้วยวิธีไหน เพื่อให้แน่ใจว่าบุคลากรทุกคนจะประสานงานกันได้อย่างไร้รอยต่อ โดยมีเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือทางจิตวิทยาเป็นองค์ประกอบสำคัญ

เสวนานี้นำโดยอ.เรือรบ จิณณ์ณัฎฐ์ พรหมนุรักษ์ CEO จาก Learning  Hub Thailand ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาภาวะผู้นำ และผู้พัฒนากระบวนการ “ไดอะล็อก” เพื่อนำมาแก้ปัญหาการสื่อสารและส่งเสริมการทำงานเป็นทีม ซึ่งผู้ฟังเสวนานี้จะได้รู้ว่า HR มีบทบาทอย่างไรในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ และควรบริหารคนเก่งที่ไม่สามารถเป็นผู้นำให้มีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไร ? ดำเนินรายการโดย คุณสหธร เพชรวิโรจน์ชัย Manager of HREX.asia

สรุปเสวนา Leadership in Digital Era by Learning Hub

คุณเรือรบกล่าวว่าเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ลักษณะของผู้นำที่แต่ละองค์กรต้องการก็ต้องพัฒนากันตามไปด้วย มิฉะนั้นองค์กรก็จะสูญเสียอำนาจทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ไปอย่างน่าเสียดาย ในที่นี้เขากล่าวว่าสิ่งสำคัญที่สุดนอกจากเรื่องของวิสัยทัศน์, เทคโนโลยีที่ทันสมัย, เงินลงทุน ก็คือเรื่องของ Teamwork โดยอ้างถึง “เรื่องราวของฝูงแกะ” มีรายละเอียดดังนี้

ผู้นำยุคก่อนเปรียบดั่ง “แกะตัวหน้า” เป็นคนที่มีวิสัยทัศน์​ เก่ง ฉลาด มีความสามารถ องค์กรในยุคนี้จึงสามารถโตได้เท่ากับความสามารถของผู้นำ

แต่ผู้นำยุคใหม่จะมีลักษณะของ “หมาเฝ้าแกะ” คือต้องมีความสามารถในการดึงดูดคนเก่ง หล่อเลี้ยงคนเก่ง พัฒนาคนให้เก่งขึ้น ต้องวิ่งให้ไกลและไปในทิศทางที่ต้องการ ผลลัพธ์ที่ได้คือองค์กรจะโตได้เท่าความสามารถของทีม

ขณะเดียวกัน เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดเดาได้ยาก องค์กรจึงต้องการผู้นำที่มีคุณลักษณะของการหล่อเลี้ยงภาพรวม โดยต้องให้ความสำคัญกับเรื่องดังต่อไปนี้

  1. มีความเป็นเจ้าของ (Ownership) : รับผิดชอบสูง รู้จักวางแผนในการคิดเพื่อผลักดันสิ่งที่ทำให้อยู่ให้ก้าวไปข้างหน้า
  2. รักในงานและองค์กร : ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
  3. มีประสิทธิผลสูง : มุ่งทำงานเพื่อเน้นผลลัพธ์ ปรับตัวได้เร็ว และกล้าตัดสินใจ
  4. เป็นผู้หล่อเลี้ยง : สามารถสร้างทีม, พัฒนาทีม และปลุกพลังทีมได้

ดังนั้นการสร้างผู้นำในยุคดิจิทัลจึงต้องมีกระบวนการที่ต่างจากเดิม คุณเรือรบแนะนำว่าองค์กรควรปรับใช้เรื่อง New Leadership Model:4P มีรายละเอียดดังนี้

  1. Purpose : มีจุดมุ่งหมายในงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับค่านิยมภายในของตน แนวคิดนี้จะทำให้การทำงานทุกวันมีความหมาย และยิ่งแน่วแน่กับแทวทางนี้ก็จะยิ่งดึงดูดคนที่คิดเหมือนกันเข้ามา เคล็ดลับก็คือเราต้องตั้งเป้าหมายที่มีพลัง ไม่ได้ทำแค่เพื่อตัวเอง แต่มีเป้าหมายที่ไกลกว่านั้น ไม่ต้องไปไกลถึงเปลี่ยนโลก แต่ต้องทำให้ชีวิตของผู้อื่นดีขึ้น เมื่อเป้าหมายมีพลังมากขึ้น เราก็จะขับเคลื่อนคนอื่น โน้มน้าวคนอื่นได้มากขึ้น
  2. Partnership : ผู้นำยุคนี้ต้องหล่อเลี้ยงคนรอบตัวในฐานะพาร์ทเนอร์ชีวิต สามารถบริหารครอบครัว, ทีมงาน, ลูกค้า และผู้ที่อยู่ในวงกลมรอบตัวได้ เคล็ดลับก็คือผู้นำต้องรู้จักรับฟังเพื่อรับรู้ว่าเขามีปัญหาอะไร,​ มีความต้องการอย่างไร, มีเป้าหมายอย่างไร และเรามีหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้สิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริง
  3. Planet : ผู้นำต้องสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าต่อสังคมอย่างยั่งยืน (ESG & Sustainability) เพราะจะทำให้คนรุ่นใหม่สนับสนุน อนึ่งองค์กรต้องทำเรื่องนี้เป็นประจำ ไม่ใช่จำกัดเพียงครั้งคราวเท่านั้น
  4. Prosperity : เมื่อธุรกิจเติบโตและมีกำไร ทุกภาคส่วนก็จะเจริญรุ่งเรืองไปด้วยกัน นั่นคือเราต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น ที่สำคัญคือต้องแน่ใจว่าจะไม่มีชีวิตใครแย่ลงเพราะธุรกิจของเรา โดยคุณเรือรบแนะนำว่าหากเรามองความสุขของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นรากฐานหลัก เราก็จะรู้เองว่าควรปรับธุรกิจให้ดีขึ้นอย่างไร

เพื่อให้เข้าใจมากขึ้น เราสามารถสรุปทัศนคติ (Mindset) ของผู้นำยุคใหม่ว่าเขาต้องมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่การมีเป้าหมายชีวิตชัดเจน, รับผิดชอบในผลลัพธ์จนประสบความสำเร็จ โดยต้องลงมือทำล่วงหน้า, สามารถวางระบบงานเพื่อป้องกันปัญหา ไม่รอให้เกิดปัญหาก่อนแล้วค่อยแก้แบบวัวหายล้อมคอก และสำคัญที่สุดคือเขาต้องรู้สึกผูกพัน (Belonging) เป็นส่วนหนึ่งของทีมและองค์กร

ในบริบทนี้ เป้าหมาย (Purpose) สำคัญที่สุด เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เกิดเรื่องของ Proactive และ Belonging ตามมา เมื่อได้แก่นชององค์กรเรียบร้อยแล้ว กระบวนการสรรหาและพัฒนาผู้นำยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้น ก็จะเลือกแค่จากเรซูเม่ หรือประสบการณที่ผ่านมามาไม่ได้ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเขามีรูปแบบการทำงานหรือเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรของเราดีแล้วหรือไม่ ดังนั้น HR จะต้องสัมภาษณ์เชิงลึก หรือให้ทำแบบทดสอบเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าเขามีคุณสมบัติ 3 ประการที่สำคัญดังต่อไปนี้หรือไม่

  1. Ownership Mindset : มีความรับผิดชอบสูง มีวิสัยทัศน์ไกล
  2. Purpose : ส่วนตัวที่สอดคล้องกับเป้าหมายองค์กร
  3. DNA : พฤติกรรมที่สอดคล้องกับ Culture องค์กร

อนึ่งเพื่อให้องค์กรได้คำตอบชัดเจนที่สุด หากยังหาข้อสรุปไม่ได้ในขั้นตอนสัมภาษณ์ HR ก็ต้องบริหารจัดการ 3 เดือนแรก (ช่วงทดลองงาน) ให้เข้มข้นที่สุด อย่าประเมินแค่เรื่องงาน แต่ให้ดูในภาพรวมทั้งหมด ช่วนกระบวนความคิด, พฤติกรรม หรือแม้แต่การทำประเมิน 360 องศาจากเพื่อนร่วมงานทุกคน ถ้าไม่ผ่าน 80% ก็ไม่ควรให้ผ่านทดลองงาน เพราะหากเราเลือทกผู้นำผิดพลาด จะมีความเสียหายที่มูลค่าสูงกว่าการหาผู้นำใหม่หลายเท่า กรณีตัวอย่างของเรื่องนี้คือบริษัท Zappos ที่มีโครงการ Pay to Quit คือถ้ารู้ว่าคนดังกล่าวไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำและยอมลาออกใน 3 เดือนแรก จะให้เงินก้อมแถมไปเลย

และประเด็นที่สำคัญที่สุดก็คือหากมีบุคลากรที่ทำงานเก่ง แต่ยังไม่สามารถเป็นผู้นำได้ คุณเรือรบกล่าวว่าเรื่องนี้สำคัญมาก เพราะคนที่ทำงานเก่งไม่ได้แปลว่าจะนำคนได้ ดังนั้นก่อนจะเลือกใครมาเป็นผู้นำ HR ควรให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยต่อไปนี้

  1. กำหนด Leadership Competency เพื่อให้ทราบคุณลักษณะและพฤติกรรมของผู้นำที่องค์กรต้องการ
  2. กำหนด Leadership Development Program เพื่อเตรียมพร้อมด้านการพัฒนาบุคลากร
  3. ประเมินผู้นำตามคุณลักษณะที่ต้องการ ดวยการทำแบบสำรวจ 360 องศา

และหากต้องเลือกหัวข้อที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ คุณเรือรบกล่าวว่าเราควรเน้นในเรื่องของ Soft Skills และเน้นเรื่องการวัดผลเชิงพฤติกรรม ไม่ใช่ความรู้ เช่นการจัดทำ Leadership Development Program ระยะเวลา 16 สัปดาห์ โดยไม่ใช่แค่เฉพาะการฝึกอบรมเรื่องทักษะผู้นำ แต่ต้องให้ทำโปรเจกต์เพื่อไปพัฒนางานกับทีมของเขาด้วย เพื่อเปิดโอกาสให้ถ่ายทอดความเป็นผู้นำออกมา

ผู้บรรยายปิดท้ายด้วยประโยคที่น่าสนใจว่า “คนเกรด A จะไม่เป็นลูกน้องคนเกรด B” คนรุ่นนี้จะไม่ทำงานกับหัวหน้าที่ไม่มีทักษะความเป็นผู้นำ ดังนั้นเราต้องสร้างคนระดับสูงสุดลงมาด้วย ไม่ใช่โฟกัสแต่การพัฒนาจากด้านล่างขึ้นไปอย่างเดียว ทั้งนี้แม้ AI จะมีประโยชน์และช่วยให้การทำงานมีประสิทธภาพขึ้น แต่ทีมเวิร์กก็เป็นเรื่องที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะการร่วมมือกับหลาย ๆ ฝ่ายจะช่วยให้เราเข้าใจหลักจิตวิทยา มีภาวะผู้นำ อยู่กับคนหมู่มากได้อย่างดีกว่าเดิม

กล่าวโดยสรุปคือผู้นำที่แท้จริงนั้น คือ​ “ผู้นำที่สามารถสร้างผู้นำ” เราไม่ได้สนใจคนที่สร้างตัวเองให้เก่งได้เพียงอย่างเดียว แต่เรากำลังมองหาคนที่สามารถสร้างคนรอบตัวให้กลายเป็นผู้นำ เพื่อพัฒนาองค์กรให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ดาวน์โหลดเนื้อหา Key Takeaway: https://bit.ly/NewLeadership-LHT

สนใจจัดอบรมพัฒนาผู้นำในองค์กร: ติดต่อ Learning Hub Thailand

Tel: 093 925 4962

Line: @lhtraining

Website: www.learninghubthailand.com

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง