สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

HIGHLIGHT

  • งาน CIS 2023 มีไฮไลท์เด่นหลายอย่าง เริ่มแรก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในช่วงเปิดงานว่า การเติบโตทางเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เศรฐกิจดิจิทัลก้าวพัฒนา และสร้างความยั่งยืนได้อย่างเห็นผล งาน CIS 2023 คืองานที่รวม Solution ต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการในไทยว่า เอาจริงเอาจังกับการใช้เทคโนโลยีสร้างความเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งหวังว่าทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง
  • คุณศุภชัย ปาจริยานนท์ CEO & Co-Founder ของ RISE มองว่า หากแต่ละองค์กรต้องการต่อยอด S-Curve ให้พุ่งทะยานต่อไปอย่างมั่นคง มีสิ่งที่ต้องรีบทำคือ ต้องมองให้กว้างกว่าสิ่งที่ธุรกิจทำอยู่ เพื่อต่อยอดสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เลิกคิดถึงทฤษฎี แต่ต้องปฏิบัติให้เป็น และที่สำคัญ ต้องเริ่มใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตั้งแต่วินาทีนี้ ถ้าช้า จะตามใครไม่ทัน
  • คุณ ปฐมา จันทรักษ์ Country Managing Director – Accenture Thailand หวนย้อนประสบการณ์ตอนทำงานกับ Microsoft และ IBM ว่าเธอได้บทเรียนสำคัญนั่นคือ องค์กรเปรียบเหมือนรถคันหนึ่งที่ Perform และ Transform ไปพร้อมกัน รถยนต์คันนั้นจะต้องไม่หยุดอยู่กับที่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ซึ่งในบางครั้ง อาจมีบางคนที่ต้องยืนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่นั่นก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้รถมีสมดุล และไม่พลิกคว่ำไปกลางทาง
  • การเติบโตไปในอนาคต อย่าลืมหลักการของ DEI ที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม การโอบรับความหลากหลายไม่ว่าจะเพศ อายุ เชื้อชาติ รวมถึงความหลากหลายทางภาษา ทักษะ ความเขื่อ ประสบการณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย จะเป็นตัวแปรที่ขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จ และทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องระวังอคติที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
  • ตัวแทนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่มาร่วมแลกเปลี่ยนเรื่องการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กรว่า มนุษย์เราไม่ได้แข่งขันกันกับ AI แต่เราแข่งขันกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อเอา AI มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ที่สด ดังนั้น แต่ละองค์กรต้องกลับไปสำรวจว่า คนในองค์กรของเราพร้อมรึยังกับการใช้งานสิ่งเหล่านี้ หรือถ้าใช้อยู่แล้ว เราใช้มันอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดแล้วหรือยัง
  • สุดท้าย เมื่อคิดจะพัฒนาเทคโนโลยี ต้องอย่าลืมพัฒนาคนให้พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ซึ่ง HR และผู้นำขององค์กรต้องพร้อมสนับสนุนพนักงาน และองค์กรต้องพร้อมโค้ชชิ่งพนักงานเสมอ ให้ปรับตัวเข้ากับงานและภารกิจใหม่ให้ได้ ซึ่งในปีแรกอาจยังไม่มีใครเก่งขึ้นทันตา แต่ถ้าให้เวลาเขาปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนานพอ เดี๋ยวเขาก็จะเก่งขึ้น และช่วยให้องค์กรไปสู่ความสำเร็จได้เอง

สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยี คือปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การทำงาน ด้วยเหตุนี้ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร จึงจัดงานสัมมนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มีชื่อว่า CIS 2023 – Corporate Innovation Summit ขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเน้นความสำคัญของการนำนวัตกรรมล้ำยุคมาใช้ในการทำงาน เพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน

สำหรับธีมหลักของงานในปีนี้ คือ “Accelerating Growth While Saving The World” โดยจะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจและประเทศไทย รวมถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างยั่งยืน โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการดำเนินงานเพื่อสร้างความเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด และการพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน

HREX ได้เข้าร่วมงานนี้ด้วย และสำหรับใครที่พลาดการร่วมงาน เราขอสรุปสาระน่ารู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราวที่เกี่ยวกับการบริหารคนมาให้ได้อ่านกัน ดังต่อไปนี้

CIS 2023 Highlight #1 – โอกาสของการใช้เทคโนโลยีสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไร้รอยต่อ

นาย ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มากล่าวเปิดงาน CIS 2023 ในนามของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน โดยกล่าวว่าการเติบโตทางธุรกิจในปัจจุบัน จะต้องเติบโตไปโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกทั้งใบ แต่การเติบโตนั้นไม่ง่าย เพราะมีความท้าทายมากมายรออยู่ ทั้งปัญหาโลกร้อน ปัญหาความยากจน ซึ่งต้องอาศัยการร่วมมือกันจึงจะฝ่าวิกฤตินี้ไปได้

นายประเสริฐ เล็งเห็นว่าการเติบโตทางเทคโนโลยียังเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจดิจิทัลก้าวพัฒนา เกิดความไร้รอยต่อ และสร้างความยั่งยืนได้อย่างเห็นผล งาน CIS 2023 คืองานที่รวม Solution ต่าง ๆ มากมาย และแสดงให้เห็นความมุ่งมั่นของผู้ประกอบการในไทยว่า เอาจริงเอาจังกับการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งหวังว่าทั้งหมดนี้จะช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้นได้อย่างแท้จริง

ขณะที่คุณ Parson Lam ผู้อำนวยการ Bangkok ETO เห็นด้วยว่าโลกทุกวันนี้วิวัฒนาการไปมากแล้ว และเจอความท้าทายจากรอบด้าน ไม่เพียงความท้าทายจากเทคโนโลยี แต่ยังรวมถึงพฤติกรรมคนที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น สิ่งที่เคยทำได้ในอดีต อาจไม่สามารถใช้ได้แล้วในปัจจุบัน จึงขอขอบคุณ Speakers และผู้ร่วมงานทุกคน ที่มาร่วมงานนี้และพร้อมใจส่งพลังงานด้านบวก ร่วมแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น

คุณ Lam เน้นย้ำว่า โลกต่อจากนี้ไป ทุกองค์กรต้องหานวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการแข่งขันกันหมด และหน่วยงานรัฐบาลมีหน้าที่สำคัญคือการสร้างบรรยากาศในการทำงานร่วมกันที่ดี สร้าง Ecosystem ที่ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างสบายใจ ซึ่งเขาเชื่อว่าหากเป็นไปเช่นนั้นได้ จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างโลกทั้งใบที่ยั่งยืนแน่นอน

CIS 2023 Highlight #2 อยากสร้าง S-Curve ทางธุรกิจ ธุรกิจ-คน-เทคโนโลยี ต้องเดินหน้าไปพร้อมกัน

สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

สำหรับการบรรยายหัวข้อแรก คุณ ศุภชัย ปาจริยานนท์ CEO & Co-Founder ของ RISE ได้บรรยายในหัวข้อ Accelerating the Growth While Saving the World With Your New S-Curve โดยกล่าวว่ามีองค์กรจำนวนมากที่กำลังเติบโต เคยอยู่ช่วงใน S-Curve หรือช่วงที่ธุรกิจกำลังเติบโต แต่เมื่อไม่มีการสานต่อและสร้างสรรค์นวัตกรรม และโอบรับสิ่งใหม่ ๆ ในช่วงที่กำลังขาขึ้น ทำให้สุดท้ายองค์กรเหล่านั้นต้องล้มหายตายจากไป ไม่สามารถก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ดังที่ช่วงแรกวาดฝันไว้

ดังนั้น หากแต่ละองค์กรต้องการต่อยอด S-Curve ให้พุ่งทะยานต่อไปอย่างมั่นคง มี 3 สิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วนดังนี้

  1. เลิกมองแค่แก่นของธุรกิจเวลาวางกลยุทธ์องค์กร แต่ต้องคิดไปให้มากกว่านั้น ต้องมองให้กว้างกว่านั้นยังมีอะไรที่องค์กรทำได้อีก เช่น Apple ของ สตีฟ จ็อบส์ โด่งดังจากการทำเครื่องคอมพิวเตอร์ Macintosh แต่เขาไม่ได้หยุดแค่นั้น และออกนวัตกรรมใหม่ออกมาเรื่อย ๆ ทั้ง iPod, iPhone, iPad เป็นต้น องค์กรของเราเอง มีอะไรที่สานต่อนวัตกรรมเหล่านี้ได้บ้าง เป็นสิ่งที่ต้องกลับไปทำการบ้าน
  2. เลิกท่องทฤษฎี แต่ต้องลงมือปฏิบัติจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนทฤษฎีทาง HR ให้สามารถดูแลคน พัฒนาพนักงานเพื่อสร้าง S-Curve ยกระดับองค์กรได้ อย่าลืมทำเวิร์คชอปเพื่อเปิดโอกาส เปิดพื้นที่ให้คนได้ลองทำสิ่งใหม่ ๆ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ที่แม้จะล้มเหลว แต่สักวันมันจะเป็นบทเรียนที่นำไปสู่ความสำเร็จ
  3. เลิกคิดว่าเทคโนโลยีคือกระสุนวิเศษ แต่เริ่มใข้ประโยชน์จากเทคโนโลยีตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป ถ้าช้า จะตามใครไม่ทัน

ท้ายที่สุด คุณศุภชัย ยืนยันว่า เราไม่สามารถทำงานตัวคนเดียวได้ แต่ต้องสร้างระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้ และผู้บริหารต้องมีส่วนร่วม ต้องเห็นความสำคัญจริง ๆ เพราะการสร้าง S-Curve ให้เกิดขึ้น ทั้งธุรกิจ คน และเทคโนโลยีต้องเดินหน้าไปด้วยกัน และเมื่อนั้น เราทุกคนจะเติบโตไปด้วยกัน เกิดอนาคตที่สดใสและยั่งยืนแก่ทุกชีวิต

CIS 2023 Highlight #3 พิมพ์เขียวของการสร้างองค์กรที่แข็งแรง ต้องออกแบบโดยผู้นำที่ไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง

สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

องค์กรจะเดินไปสู่ความสำเร็จหรือไม่ อยู่ในมือของคนที่เป็นผู้นำ หากผู้นำวางแผนถูกต้อง องค์กรและพนักงานจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างไม่ยากเย็น แต่แน่นอนว่าไม่ใช่งานที่ง่าย เพราะทุกการตัดสินใจของผู้นำจะเป็นเรื่องยาก ๆ เสมอ

ในหัวข้อการเสวนา CEO Blueprint For Transformation Success คุณ ปฐมา จันทรักษ์ Country Managing Director – Accenture Thailand พร้อมผู้ดำเนินรายการ คุณ เฟิร์น – ศิรัถยา อิศรภักดี ได้อธิบายว่า เราจะสามารถเป็นผู้นำที่ขับเคลื่อนความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง โดยมีเรื่องราวน่าสนใจดังนี้

คุณปฐมา เล่าว่า 30 ปีที่ได้ทำงานในองค์กรใหญ่ ๆ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงมากมาย ครั้งแรกที่ได้เรียนรู้คำว่า Transformation คือสมัยทำงานที่ Microsoft ตั้งแต่ปี 1995 ได้ทำงานกับคนที่เก่งมากมาย เช่น บิล เกตส์, สตีฟ บัลเมอร์ ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร จึงได้เรียนรู้วิธีการบริหารและการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงมากมาย

การ Transform จะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจาก “วัฒนธรรมองค์กรที่ดี” ทว่าแต่ละที่จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป บางองค์กรวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากผู้นำ บางองค์กรทุกคนมีความเท่าเทียม บางองค์กรขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งอยู่ศูนย์กลาง แต่ Microsoft กลับมีวัฒนธรรมขององค์กรแบบ Warring Gangs ที่ทุกคนพร้อมจะเข่นฆ่ากันตลอดเวลา มีการเมืองภายใน และนั่นคือสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงเสียที

ทั้งนี้ การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรจะต้องเริ่มต้นจากข้างบนเสมอ ผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเป็นคนแรก เกิดแนวทางใหม่ว่า ความกดดันคือสิ่งที่ดีต่อ Microsoft นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หลวง เกิดการเลย์ออฟพนักงานจำนวนมาก จอห์น ทอมป์สัน ประธาน Microsoft ณ ตอนนั้นบอกว่า “ทุกอย่างต้องเปลี่ยน และทุกคนต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง” เริ่มจากการเอาธุรกิจขึ้นไปอยู่บน Cloud ให้ได้

มี 3 อย่างของ Microsoft ที่ผู้นำต้องตระหนักเสมอ

  1. ทุกอย่างเริ่มต้นจากผู้นำเอง คุณเองต้องมีความตระหนักรู้ในสิ่งต่าง ๆ คุณได้อะไรจากโปรเจ็กต์ต่าง ๆ บ้าง แล้วเอามาปรับใช้ให้ดีกว่าหรือไม่
  2. มีความเชื่อถือได้ สื่อสารเป็น บอกเล่าให้เห็นภาพที่ตรงกัน
  3. อะไรก็ตามต้องเป็นไปได้ ไม่มีคำว่า “เป็นไปไม่ได้”

ถ้าผู้นำคนไหนไม่มี 3 สิ่งนี้ ก็อาจไม่สามารถทำงานที่นี่ได้อย่างสอดรับกับวัฒนธรรมองค์กร

คุณปฐมา เสริมว่า สิ่งสำคัญของการทำงาน Microsoft ก็คือ ต้องทำผลงานให้ได้ มีผลลัพธ์ที่ชัดเจน จับต้องได้ มีพลังงานเหลือล้นในการทำงาน โดยยังนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการทำงานในที่อื่นด้วย โดยเฉพาะเรื่อง Bring Clarity ต้องทำให้คนรอบข้างเห็นเป้าหมายเหมือนกัน ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน และเข้าใจตรงกัน ทำให้ปัจจุบัน Microsoft กลับมาเป็นองค์กรยักษ์ใหญ่ที่ผลประกอบการดี ไม่ใช่ไดโนเสาร์อีกต่อไป

สำหรับก้าวต่อไปที่ IBM เธอเล่าว่า เป็นก้าวที่ต่างออกไป เธอเลือกทำงานที่นี่ เพราะเธอเชื่อว่า เธอมองเห็นสิ่งเดียวกับคนอื่น ๆ ในองค์กรว่า เทคโนโลยีจะเปลี่ยนสิ่งต่างๆ เป็นสิ่งที่ดีกว่าได้ นอกจากนั้นตอนอยู่ Microsoft บัลเมอร์ กับ เกตส์ บอกเสมอว่า Microsoft ต้องเป็นเหมือน IBM องค์กร IT ยิ่งใหญ่ และเป็นเหมือนแนวคิดที่ได้รับการปลูกฝังมาว่า จะต้องมาทำงานที่นี่ให้ได้

4 สิ่งที่เธอคำนึงถึงเสมอในการทำงานที่นี่

  1. Eyes on the Mission มีเป้าหมายแน่ชัด จับต้องได้ตลอดเวลา และมีเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง
  2. Passion มีแรงปรารถนาที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดี
  3. Ambition มีความทะเยอทะยาน ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงเสมอ
  4. Compassion อย่าลืมมี Empathy แก่ผู้คน

หากเปรียบองค์กรเป็นรถคันหนึ่งที่ต้อง Perform ขณะที่ Transform ไปด้วย รถยนต์คันนั้นจะต้องไม่หยุดอยู่กับที่ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ซึ่งในบางครั้ง อาจมีบางคนที่ต้องยืนอยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร แต่นั่นก็เป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยให้รถมีสมดุล และไม่พลิกคว่ำไปกลางทาง

ผลของการเข้ามาเปลี่ยนแปลง IBM ทำให้องค์กรเติบโตอย่างสูงในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เธอภูมิใจที่ได้เปลี่ยนองค์กรไปในทางที่ดีขึ้น แม้จะแค่ในไทยก็ตาม แต่ก็ทำให้มีทาเลนต์เข้าองค์กรมากมาย และนี่คือส่วนหนึ่งของ Blueprint ของผู้นำที่สร้าง Transformative Success ที่ทุกคนควรรู้

CIS 2023 Highlight #4 เปลี่ยนองค์กรให้แตกต่าง ด้วยการโอบรับหลัก DEI

สรุป 6 ไฮไลท์จากงาน CIS 2023 Day 1 ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้ ธุรกิจ-คน+เทคโนโลยี ต้องสอดประสานไปพร้อมกัน

ในเวทีเสวนาหัวข้อ Unity in Diversity: Cultivating a Thriving Corporate Culture Through Diversity, Equity, and Inclusion (DEI) ได้รับเกียรติจากคุณ ประนัปดา จิราธิวัฒน์ Founder & Chairwoman, Dragonfly 360 และคุณ วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา จาก Woody World มาเล่าถึงการขับเคลื่อนองค์กรให้เกิดความหลากหลายแตกต่าง ด้วยการโอบรับหลัก DEI (Diversity, Equity and Inclusion) โดยยกกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่ทั้งคู่เองเคยประสบพบเจอมาโดยตรง

คุณประนัปดา เล่าว่า เธอเห็นความสำคัญของ DEI มาตั้งแต่ช่วงแรกของการทำงาน เพราะได้การทำงานในองค์กรที่มีผู้ชายเยอะมาก แต่มันก็เป็นอุปสรรคที่ทำให้เธอรู้สึกเปลี่ยวเหงา เข้ากับใครไม่ค่อยได้ เพราะการเป็นคนส่วนน้อย ทำให้หลายคนไม่สามารถส่งเสียง แสดงความคิดเห็นที่มีประโยชน์ได้จริง ๆ เธอจึงตั้งเป้าว่า ต้องการที่จะสร้างความแตกต่างในองค์กร เพื่อเชื่อมโยงทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้

ทั้งนี้ หลักการของ DEI คือการให้ความสำคัญกับมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียม ความหลากหลายแรกที่คนจะคิดถึงคือ เพศ อายุ เชื้อชาติ แต่นอกเหนือจากสิ่งเหล่านี้แล้วยังมีเรื่องภาษา ทักษะ ความเชื่อ ประสบการณ์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นตัวแปรที่ทำให้มนุษย์มีความแตกต่างกัน ดังนั้นต้องสร้างมุมมองใหม่ ๆ เพื่อความคิดสร้างสรรค์ที่แปลกใหม่ขึ้นด้วย

คุณประนัปดา เน้นย้ำว่า มนุษย์ไม่อยากอยู่ร่วมกับคนที่แตกต่างจากตัวเอง เพราะจะรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากการมีอคติ ดังนั้น หากจะสร้างองค์กรที่โอบรับความหลากหลาย ก็ต้องระวังการอยู่ในบรรยากาศเดิม ๆ ที่จะทำให้เราคิดแต่เรื่องเดิม ๆ ไม่ได้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ขึ้นเลย

สำหรับคุณวู้ดดี้ เขายกเล่าถึงสิ่งที่เคยประสบมากับตัวว่า เมื่อก่อนเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความหลากหลายหมายถึงอะไร และทำไมต้องเข้าใจสิ่งนี้ด้วย แต่นั่นคือสัญญาณที่บ่งชี้ว่าเรากำลังมี อคติโดยไม่รู้ตัว ซึ่งหล่อหลอมมาจากหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง สังคม ประสบการณ์ในอดีต การศึกษา ข่าว ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น การหล่อหลอมจนคนเกิดความคิดแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น คือสิ่งที่ไม่ดีต่อการรณรงค์สร้างความแตกต่างในองค์กร

ดังนั้น ยิ่งองค์กรตระหนักเรื่องนี้ และลงมือแก้ไขเร็วเท่าไหร่ จะยิ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เดินเข้าใกล้เป้าหมายได้มากขึ้นเท่านั้น

คุณวู้ดดี้ ยกตัวอย่างกรณีขององค์กรตัวเอง ว่าเมื่อก่อนในองค์กรมีพนักงานที่เป็น LGBTQ เยอะ จนทำให้คนที่เป็นชายแท้รู้สึกต่อไม่ติดกับองค์กร พอเขารับรู้ว่ามีพนักงานที่คิดแบบนี้ เขาจึงเริ่มเปลี่ยนนโยบาย รับคนหลากกลุ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ รับพนักงานชายเข้ามามากขึ้น จนเกิดเป็นการเปลี่ยนวัฒนธรรมที่ดี และทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นทันตา

คุณประนัดดา ชวนให้ทุกคนคิดว่า ครั้งต่อไปที่มีใครเดินเข้ามาในชีวิต อย่าลืมคิดก่อนว่า เรามีอคติต่อเขารึเปล่า และถ้าตระหนักในเรื่องนี้แล้ว นั่นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างอวค์กรที่โอบรับ DEI อย่างแท้จริง

ท้ายที่สุดนี้ คุณประนัปดา ได้ให้หลักคิด 6C ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในตัวผู้นำ หากต้องการสร้างองค์กรที่โอบรับความแตกต่างและหลากหลาย ดังต่อไปนี้ 

  1. Commitment ผู้นำต้องยึดมั่นในหลักการ หากต้องการให้องค์กรเกิดความแตกต่างหลากหลาย ผู้นำต้องไม่เพียงแค่พูด แต่ต้องลงมือทำได้จริงด้วย (Walk the Talk)
  2. Courage ผู้นำต้องกล้าพูด กล้าสื่อสารเรื่อง DEI เพื่อนำพาองค์กรสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่า
  3. Curiosity ผู้นำต้องมีความอยากรู้อยากเห็น อยากได้ฟีดแบ็คเพื่อนำมาพัฒนาสิ่งที่ดีขึ้น
  4. Collaboration ผู้นำต้องโอบรับความขัดแย้ง แล้วเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นการร่วมมือกันสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าเดิม
  5. Cognizance ผู้นำต้องตรวจสอบอคติของตัวเองเสมอ 
  6. Cultural Intelligence สุดท้าย ผู้นำต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความฉลาดหลักแหลม

และหากยึดตามหลักการนี้ มั่นใจได้ว่าองค์กรของคุณจะก้าวไปสู่ความหลากหลายได้จริงอย่างที่ตั้งมั่น

CIS 2023 Highlight #5 ถอดกรณีศึกษา บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ ใช้ AI  อย่างไรให้เกิดประโยชน์

อีกหัวข้อที่ควรรู้คือ The Transformative Power of AI: Impact of Applied AI on Corporate Innovation Strategies หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่ HR ไม่รู้ไม่ได้ เพราะเรื่อง AI กำลังเปลี่ยน Landscape การทำงานของทั้งโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือ ดังนั้น HR ต้องรีบทำความเข้าใจตั้งแต่วันนี้ ก่อนสายเกินไป

และผู้ที่มาให้ความรู้ในหัวข้อนี้นั้น ล้วนทำงานอยู่ในองค์กรเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ President, Huawei Technologies Thailand, คุณ แจ็คกี้ หวัง Country Director, Google Thailand, คุณ แพร ดำรงค์มงคลกุล Country Director, Meta Thailand และคุณ วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ Country Manager, Amazon Web Services (AWS Thailand)

โดยมีคุณ ณัฐภัทร ธเนศวรกุล Head of Strategy & Investment, RISE เป็นผู้ดำเนินรายการ

มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง มีไฮไลท์ดังนี้

  1. คุณวัตสัน อธิบายว่า ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา AWS ใช้เทคโนโลยีสำคัญๆ มากมายรวมถึง AI เสมอมา เพื่อสร้างบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และไม่เคยหยุดนำเสียงตอบรับของลูกค้า มาใช้พัฒนา AI
  2. ด้านคุณแพร บอกว่า Meta และ Facebook ใช้ AI มาตั้งนานแล้ว ทั้งใช้ AI แนะนำเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้ใช้บริการ ไปจนถึงสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งบนแพลตฟอร์ม และในอนาคตเชื่อว่า AI จะยิ่งมีบทบาทกว่าเดิมในการใช้ชีวิต การเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ และมันจะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา ไปจนถึงช่วยเปิดช่องทางใหม่ ๆ และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ ๆ ขึ้นตามมา
  3. คุณแจ็คกี้ เล่าว่าที่ Google มีการเอา AI มาใช้งานในอีกหลายด้านที่หลายคนอาจไม่คาดคิด เช่น เอามาใช้พยากรณ์ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ ทำนายว่าระดับน้ำจะขึ้นสูงในแต่ละวันแค่ไหน เกิดเป็นข้อมูล Open Source ที่คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงได้และมีความแม่นยำ
  4. ด้านคุณแพร เสริมว่าการมีข้อมูลเปิดกว้าง Open Source จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนา AI ในยุคต่อไป โดยทุกวันนี้ Meta กำลังลงทุนสร้าง LLM ที่มีชื่อว่า Llama 2 เป็นโปรแกรมช่วยงานด้านภาษาที่ช่วยให้แต่ละองค์กรสามารถนำไปใช้งานได้เลย ไม่ต้องพัฒนาเอง ซึ่งจะช่วยให้ลดต้นทุนในการทำงานไปได้มหาศาล
  5. ดร.ชวพล ให้มุมมองว่า ปัจจุบัน เขาภูมิใจที่โลกนี้ใช้ประโยชน์ AI มากกว่าการใช้ทำ Power Point เท่านั้น เพราะประโยชน์ของมันช่วยองค์กรได้หลายด้าน และที่ Huawei ก็อยากเห็นการเอา AI ไปใช้งาน เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่า พร้อมจินตนาการว่าในอนาคตภายหน้า จะมีจำนวนปัญญาประดิษฐ์มากกว่าเดิมอีกลหายเท่า และทุกองค์กร ทุกคนจะใช้มันในการทำงานที่ไม่เหมือนกันเลย ดังนั้น แต่ละบริษัทต้องรู้ตั้งแต่ตอนนี้ว่า มีสิ่งใดที่ต้องการให้ AI ช่วยเพื่อทำให้งานออกมาดีที่สุด และไม่มีใครจะลอกเลยนแบบใครได้
  6. สุดท้ายนี้ คุณแจ็คกี้ เน้นย้ำว่า มนุษย์เราไม่ได้แข่งขันกันกับ AI แต่เราแข่งขันกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อเอา AI มาใช้งานให้เกิดประโยชน์ทีุ่สด ดังนั้น แต่ละองค์กรต้องกลับไปสำรวจว่า คนในองค์กรของเราพร้อมรึยังกับการใช้งานสิ่งเหล่านี้ หรือถ้าใช้อยู่แล้ว เราใช้มันอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุดแล้วหรือยัง ?

CIS 2023 Highlight #6 โลกการทำงานที่เปลี่ยนไป HR และผู้นำต้องไม่ทำงานแบบเดิม

อีกไฮไลท์ของงาน อยู่ในการเสวนาเรื่อง Embracing the Forces for the Future of Work โดยได้คนทำงานสายการพัฒนาบุคลากรชั้นแนวหน้าจากทั่วโลกมาอยู่บนเวทีเดียวกัน ได้แก่ ดร.ธารินี สุรัตพิพิธ SVP Senior Wealth Capability Enablement Expert, SCB Wealth Management, SCB – Siam Commercial Bank, คุณ พอล มายเยอร์ส Head Coach, Asia Founder Coaching, คุณ กรกนก ยงสกุล CEO RBL Training และคุณ เดวิด เทลล์ Co-Founder and CEO, Kwal.ai

โดยมีคุณ วาร์นี่ย์ สินฤกษ์ Corporate Innovation Director, RISE เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  1. วิทยากรแต่ละท่านได้ชวนพูดคุยกันว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า อะไรคือสิ่งสำคัญต่อโลกการทำงาน ซึ่งคำตอบของวิทยากรส่วนใหญ่ ล้วนตอบตรงกันว่านั่นคือ เทคโนโลยี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องไม่ลืมว่าพนักงานก็ยังเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยให้ใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  2. คุณพอล มองในมุมของคนเป็นโค้ชว่า การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมให้อยู่ร่วมกับ AI แต่ยังลืมดูแลความสัมพันธ์ระหว่างคนด้วย ต้องไม่ทำให้ลืมสัมผัสของความเป็นมนุษย์ และต้องพัฒนาศักยภาพในการทำงานและการเรียนรู้ของพวกเขาต่อไป ขณะที่คุณเดวิด เสริมว่า เราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ การมีเทคโนโลยีมาช่วยงาน ช่วยทำให้เกิดอิมแพ็คมากมาย แต่อย่าลืมว่าชีวิตคนเราไม่ได้มีแต่เรื่องทำงาน อย่าลืมให้ความสำคัญกับพื้นฐานของการใช้ชีวิตด้วย
  3. คุณกรกนก มองว่าปัจจุบัน เราอยู่ในยุคที่ไม่มีความแน่นอน ดังนั้นเราต้องมาให้นิยามเรื่องการทำงานกันใหม่หมดเลย เริ่มจากการจะสร้าง Ecosystem ในการทำงานได้อย่างไร เพื่อทำให้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เป็นส่วนหนึ่งกับทุกคน โดยคุณธารินี ให้ความเห็นว่า นับตั้งแต่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด
    ธนาคาร SCB เจอการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายมากมาย มีพนักงานที่แม้จะไม่โดนปลดออก แต่ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับบทบาทหน้าที่ใหม่ และเทรนด์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งก็กลายเป็นความท้าทายขององค์กรเช่นกันว่า จะมีหลายบทบาทในการช่วยเหลือพนักงานก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร
    “การทำงานกับคนด้วยกันนาน ๆ จะช่วยให้เข้าใจว่าทำไมเขามีปัญหาอะไร คิดอะไร กลัวอะไร เราในฐานะผู้นำต้องพร้อมสนับสนุนพนักงาน ความเป็นผู้นำคือสิ่งสำคัญ การโค้ชชิ่งจากองค์กรก็เป็นสิ่งสำคัญสำคัญมาก ในปีแรกอาจยังไม่มีใครเก่งขึ้นมาได้ แต่เราต้องให้เวลาเขาปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลง และถ้าพัฒนาต่อไปได้เรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะเก่งขึ้นเอง”
  4. สำหรับคำถามว่า เทคโนโลยี เปลี่ยนนิยามงาน HR อย่างไรบ้าง คุณพอลชี้ให้เห็นว่า ในช่วงหลายปีมานี้ มีบริษัทสตาร์ทอัปที่พัฒนา Solution ด้าน HR เพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งบ่งชี้ว่ามันมีความต้องการตรงนี้ มีความต้องการให้มาช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่องค์กรพบเจอ และเป็นความท้าทายของงาน HR ยุคต่อไปที่ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ 
  5. สำหรับคำแนะนำองค์กรที่กำลังเปลี่ยนผ่านด้าน HR หรือด้านคน คุณกรกนก แนะนำว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงย่อมมีการต่อต้านเสมอ แต่เราต้องสามารถให้คำแนะนำพนักงานได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นดีกว่าอย่างไร ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นอะไร เธอเชื่อว่าการมีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคน จะเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้การเอาเทคโนโลยีมาช่วยทำงานประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
  6. สุดท้ายนี้ คุณธารินี ให้ทัศนะว่า เมื่อหนอนพัฒนาไปเป็นผีเสื้อแล้ว ผีเสื้อจะไม่วิวัฒนากลับไปเป็นหนอนอีกครั้ง ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกันกับการพัฒนาคนก็คือ เราจะพัฒนาเพื่อเป็นสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ถ้าเราเข้าใจสิ่งที่ขับเคลื่อนตัวพนักงาน เราก็จะช่วยเขาเอาชนะอุปสรรคนานาได้ ไม่ผิดหากจะทดลองสิ่งต่าง ๆ ในช่วงแรกแล้วเกิดความล้มเหลว แต่ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องแย่ มันคือการสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า มีวิธีการใดอีกบ้างที่เราทำได้เพื่อจะพบเจอความสำเร็จ

ดังนั้น อย่าหยุดเรียนรู้ และอย่าหยุดลงมือทำเพื่อผลักดันพนักงานให้เกิด Transformative Success

สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2 สรุปทุกเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CIS 2023 Day 2

CTA HR Products & Services

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง