สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CTC 2023 วันที่ 3 : Creative Talk Conference

HIGHLIGHT

  • Passion ในการทำธุรกิจที่ดีต้องเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น, สามารถทำได้นานและมีเป้าหมายให้เราได้ต่อยอดไปเรื่อย ๆ ซึ่งหากเราเข้าใจถึงจุดนี้ ก็จะทำให้ Business Model ของเราไม่เหมือนใคร ทำงานได้อย่างมีความสุข และสามารถเปลี่ยน Passion เป็น Profit ได้อย่างเป็นรูปธรรม
  • การลงทุนในอะไรดีที่สุด คำตอบของวอร์เรน บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนสาย VI ยืนยันว่าคือการลงทุนในคน ในตัวเอง หากเป็นคนที่เก่งที่สุดในสายงานที่ทำ ใคร ๆ ก็พร้อมที่จะร่วมงาน และทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้น จนไม่ต้องมากังวลเรื่องเงินเฟ้อ การตกงาน และอุปสรรคอื่นใด
  • หากต้องการเห็นองค์กรเต็มไปด้วยคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง การสร้างวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยน “ออฟฟิศ” เป็น “ออฟ Fit” โดยเริ่มต้นจากผู้นำ ผู้บริหาร และ HR ที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมท้าทายอันแสนสนุก จะเกิดเป็นผลดีต่อองค์กรเอง
  • ปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วรึยังที่ควรต้องเลิกแบ่งแยกการทำงานระหว่างผู้หญิงกับผู้ชาย เลิกใช้อคติมองว่าผู้หญิงคือผู้สนับสนุนผู้ชายอยู่ข้างหลัง แล้วปล่อยให้ผู้ชายอยู่แต่เบื้องหน้าเพียงอย่างเดียว การส่งเสริมให้ทุกคนเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรเจริญเติบโตและเดินหน้าไปสู่เป้าหมายได้

งาน CTC 2023 วันที่ 2 มาในหัวข้อ Creative Talk Conference จัดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2023 ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับ HR ในหลากหลายแง่มุม ครอบคลุมเนื้อหาในกลุ่ม Creativity, Marketing, Business, Innovation และ People ภายใต้ความเชื่อว่าความรู้เหล่านี้มีคุณค่ากับผู้ร่วมงาน เพื่อนำไปต่อยอดการทำงานและธุรกิจ โดยจุดเด่นของปีนี้คือการเพิ่มเนื้อหาในส่วนของธุรกิจภาพยนตร์, ดนตรี และคอมมิดี้ นอกจากนี้ยังมีสื่อชั้นนำของประเทศอย่าง The Standard, Mission to the Moon, Beartai และมนุษย์ต่างวัยเข้ามามีส่วนร่วมอีกด้วย

Creative Talk Conference (CTC) เป็นงานรวมเทรนด์ความรู้เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนสามารถใช้ไอเดียต่อยอดการทำงานและทำธุรกิจให้สร้างสรรค์ จัดขึ้นต่อเนื่องมาแล้วนานกว่า 10 ปี โดยธีมงานประจำวันที่ 3 ถือเป็นงานวันสุดท้ายอันถือเป็นข้อสรุปว่าธุรกิจในปัจจุบันนั้น จะประสบความสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิด และกล้าลงมือทำ เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไรเลยหากเราได้ความรู้มากมายไปแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะนำไปปฏิบัติจริงอย่างไร

งาน CTC 2023 : Creative Talk Conference เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเต็มที่ ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่ง HREX.asia ได้สรุปงานเสวนาที่น่าสนใจมาให้บางส่วนแล้ว ผู้ที่สนใจสามารถติดตามอ่านกันได้เลย

Finding Business Harmony: Balancing Profitability and Passion

บรรยายโดยยคุณกฤตินี พงษ์ธนเลิศ นักเขียน และอาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


เสวนานี้จะพูดถึงการจัดสมดุล (Balancing) ระหว่าง Profit และ Passion ซึ่งปัญหาของคนทั่วไปจะมีอยู่สองอย่าง คือไม่สามารถเปลี่ยนความชอบเป็นเงินได้ กับประสบความสำเร็จทางธุรกิจดีแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มี Passion ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้นคำถามสำคัญคือเราจะบริหารจัดการทั้งสองมุมนี้ได้อย่างไร ?

ผู้บรรยายเริ่มต้นด้วยการยกตัวอย่างร้านขายไม้แคะหู ที่วัด Koganji (Togenuki Jizoson) เมืองซูกาโมะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ที่เจ้าของพยายามเหลาไม้อย่างดี จนทำให้สิ่งเล็ก ๆ นี้มีชื่อเสียงในวงกว้าง และได้รับการต่อยอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมาจนปัจจุบัน นี่คือตัวอย่างของคนที่มี Passion ในสิ่งเล็ก ๆ แต่สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างเป็นรูปธรรม

บางที Passion ก็ไม่ได้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก โดยเธอยกตัวอย่างให้เห็นภาพดังนี้

กรณีศึกษาที่ 1 : เรื่องของคุณ Kato Yuko จากบริษัทที่ปรึกษาด้านการจัดงานเทศกาลชื่อ Omatsuri Japan

เธอไม่ได้สนใจในธุรกิจงานเทศกาลมาก่อน จนกระทั่งได้ไปร่วมงานเทศกาล Nebuta ที่เมืองอาโอโมริในช่วงโควิด-19 และพบว่ามีผู้คนมาร่วมงานน้อยกว่าปกติ แต่ในขณะที่กำลังกังวลเรื่องจำนวนคนอยู่นั้น เสียงเพลงก็เริ่มดังขึ้น และเธอก็ได้เห็นว่ามีผู้คนออกมาร้องเล่น เต้นรำกันอย่างสนุกสนาน นำไปสู่ความคิดว่า “ปีนี้คนน้อยกว่าปกติก็จริง แต่ทำไมมันสนุกจังเลย” เธอจึงเริ่มรู้สึกสนใจงานเทศกาลมากขึ้นนับจากนั้น

เธอเริ่มใช้ทักษะทางด้านศิลปะของตัวเองมาโปรโมทเทศกาลตามจังหวัดต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรมผ่านหน้าเพจ Facebook จนมีคนสนใจมากขึ้น นำไปสู่การตั้งบริษัทในเดือนพฤศจิกายน 2015 โดยเธอกล่าวว่าปัญหาของงานเทศกาลมี 3 ข้อคือ

– ขาดแรงงาน (หนุ่มสาว)

– ขาดเงินทุน

– ขาดความแปลกใหม่

เมื่อเห็นปัญหา คุณยูโกะก็เริ่มเห็น Passion ของตัวเองว่า “อยากทำให้ผู้คนสดใสด้วยพลังของงานเทศกาล” อยากให้คนรู้สึกแบบเดียวกับที่ตนเคยเป็นตอนเทศกาล Nebuta ในอดีต ดังนั้นสิ่งที่เธอทำคือการเป็นตัวเชื่อมระหว่างความต้องการของแต่ละเมือ งกับบริษัทภาคเอกชน  รวมถึงช่วยออกแบบงานเทศกาลให้สนุกสนาน เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้นด้วย 

นอกจากนี้คุณยูโกะยังสร้างแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวมงานเทศกาลทั่วประเทศ โดยผู้ใช้สามารถค้นหาจากชื่อเมือง, ค้นหาจากธีม (เช่นงานที่เหมาะกับคู่รัก, งานที่เกี่ยวกับหิมะ, งานที่เหมาะกับการแต่งชุดแต่ละแบบ), ค้นหาจากวันที่จัด รวมถึงพยายาค้นหาจุดเด่นของเมืองเล็ก ๆ และช่วยกันพัฒนา

เป้าหมายต่อไปของคุณยูโกะคือการเป็นตัวกลางเช่าอุปกรณ์, สร้างเทมเพลตให้เมืองที่ไม่ได้มีงบประมาณมากมายสามารถนำไปปรับใช้ได้ฟรี, ทำแอปพลิเคชั่นสำหรับจองทริปให้คนไปเที่ยวงานเทศกาล 

จากกรณีศึกษาข้างต้น เราจะเห็นว่า Passion ของยูโกะคือการอยากทำให้คนสนุกไปกับเทศกาล ส่วนผลกำไร (Profit) เกิดจากการนำเสนอสินค้าใหม่, การนำเสนอสินค้าใหม่ และการให้คำปรึกษา (Consulting) ดังนั้นให้คิดว่า Passion สามารถเกิดขึ้นตามกาลเวลา หากเราพยายามต่อยอด ก็จะเติบโตและสร้างรายได้อย่างยั่งยืนได้

กรณีศึกษาที่ 2 : Nakagawa Masashichi จาก Nakagawa Masashichi ตัวอย่างของแบรนด์แห่งความยั่งยืน

แบรนด์นี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1716 เป็นธุรกิจขายผ้าจีวร ใช้ได้กับทั้งพระและซามูไร แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนก็ไม่ค่อยสนใจตามยุคสมัย จึงเกิดแนวคิดว่าหากเรานำจีวรไปย้อมสี ควบคู่กับการเน้นจุดเด่นเรื่อง “ยิ่งซักยิ่งนุ่ม” ก็น่าจะทำให้เกิดสินค้าใหม่ที่น่าใช้งานมากขึ้น  จึงมีการนำผ้าดังกล่าวไปทำเป็นผ้าเช็ดหน้าและเปิดร้านอยู่ที่เมืองนารา มียอดขายอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

ปัจจุบันบริษัทนี้มีผู้บริหารคือคุณ Jun Nakagawa ซึ่งเป็นทายาทรุ่น 13 เขาเริ่มสังเกตว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาซื้อผ้าเช็ดหน้ามีแต่ผู้หญิง เลยพยายามหาสินค้าใหม่ ๆ ให้ร้านหลากหลายมากขึ้น ภายใต้แนวคิดว่า “ถ่ายทอดภูมิปัญญาญี่ปุ่นสู่คนรุ่นใหม่” ร้าน Nakagawa Masashichi จึงเต็มไปด้วยสินค้าไลฟ์สไตล์มากมายจนได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นเวลาประมาณ 10 ปี

อย่างไรก็ตามเมื่อเข้าสู่ปีที่ 10 คุณจุนกลับรู้สึกเบื่องานที่ทำ ซึ่งเขาตกใจกับความเบื่อของตัวเองมาก เพราะคิดว่าขนาดตนที่เป็นผู้บริหารเองยังเบื่อ แล้วพนักงานของเราจะเบื่อไปด้วยหรือไม่ ? เขาเลยพยายามหาทางออกให้ตัวเอง จนไปเจอเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิต คือตอนที่เขาโทรไปติดต่อซัพพลายเออร์เจ้าเดิม แต่กลับถูกบอกว่าสินค้าที่กำลังทำจะถือเป็นล็อตสุดท้าย เพราะมองว่าคนรุ่นใหม่ไม่อยากได้ของทำมืออีกแล้ว น่าจะสนใจของเนี๊ยบ ๆ ที่ทำจากโรงงานมากกว่า

คำพูดนี้กระตุ้นจิตใจของจุน เพราะเขาไม่อยากให้งานคราฟต์ดี ๆ แบบนี้หายไป เขาเลยกลับมาเจอ Passion ว่าตนอยากจะทำให้วงการงานฝีมือคึกคัก ไม่อยากให้ผู้ผลิตต้องมาเสียใจ หรือคิดว่างานของตนไม่สามารถสู้งานที่มาจากโรงงานได้ เขาจึงเริ่มหาวิธีทางช่วยคนที่ทำงานฝีมือ โดยเริ่มจากการเขียนหนังสือให้เหล่า SME อ่าน โดยใส่ know-how ทั้งหมดที่เขารู้ ให้คนนำไปใช้ต่อได้เลย

การเขียนหนังสือได้นำเขาไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ เพราะมีบริษัทผลิตกระเป๋าอย่าง Bagworks ที่ได้อ่านหนังสือแต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มลงมือทำอย่างไร เลยขอให้คุณจุนช่วยเหลือ ซึ่งเขาก็แนะนำและเอาสินค้าไปขายต่อที่ร้าน Nakagawa Masashichi ของตนจนได้กำไร และอีกกรณีคือบริษัทขายจาน Hasami ที่คุณจุนให้คำแนะนำและช่วยออกแบบ โดยสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งจากความสำเร็จนี้ ทำให้เขาเริ่มหันไปจับธุรกิจ ให้คำแนะนำ (Consulting) และพัฒนาไปสู่ธุรกิจสัมมนา เพราะมีผู้สนใจมากจนไม่สามารถพูดคุยแบบตัวต่อตัวได้ตลอดเวลาอีกต่อไป โดยข้อมูลในปี 2021 ที่ผ่านมา พบว่าคุณจุนสามารถทำยอดขายได้ถึง 5,200 ล้านเยนเลยทีเดียว

Passion แบบไหนที่จะนำไปสู่กำไรที่ยั่งยืนได้ ?

– Passion ในการช่วยเหลือคน จะนำไปสู่เป้าหมาย (Purpose) แบบต่อเนื่อง และอยากทำให้สุดทาง แต่คำถามคือจะต้อง “สุด” ถึงไหน ถึงจะเรียกว่าดี ? ผู้บรรยายยกกรณีศึกษาให้เราเพิ่มเติมอีกหนึ่งข้อ ดังนี้

กรณีศึกษาที่ 3 : เรื่องของคุณ Yusaku Maezawa จาก ZOZOTOWN

นี่คือคนที่ซื้อตั๋วที่นั่ง 8 ที่ ในโครงการ SpaceX ของ Elon Musk ซึ่งเขาร่ำรวยมาจากธุรกิจเรียกว่า ZOZOTOWN ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่มีแบรนด์ในสังกัดถึง 3,821 ร้าน มีปริมาณซื้อขายกว่า 2.3 ล้านล้านเยน (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) แต่ก่อนจะประสบความสำเร็จแบบนี้ ชีวิตเขาผ่านอะไรมาบ้าง ?

ตอนมัธยมศึกษาปีที่ 5 เขาได้เห็นหน้าของมนุษย์เงินเดือนตอนนั่งรถไฟ และรู้สึกว่าตนไม่อยากเติบโตไปเป็นคนที่เครียดแบบนั้น เลยพยายามใช้ชีวิตตาม Passion เริ่มต้นด้วยการตั้งวงร็อคกับเพื่อน และทำงานพิเศษเพื่อเก็บเงินไว้ทำตามเป้าหมายของตน

ตอนที่เขาเล่นดนตรีนี้เอง เขาได้เริ่มทำธุรกิจนำเข้าแผ่น CD, DVD และลองจำหน่ายบนเว็บไซต์ที่เขาสร้างขึ้นมาจนขายดีมาก นำไปสู่ความคิดว่าอยากลองหาอะไรใหม่ ๆ ทำ สิ่งนั้นคือเรื่องแฟชั่น ซึ่งเขามีแนวคิดว่า “อยากให้คนสนุกกับการแต่งตัว”

เขามองว่าอุปสรรคที่ทำให้นักช้อปปิ้งออนไลน์ไม่สนุกกับการแต่งตัวคือ

– ตัวเลือกเยอะแยะไปหมด

– ซื้อมาแล้ว ไซส์ไม่พอดี เพราะไม่มีโอกาสได้ลองของจริง

– ไม่รู้จะ Mix & Match อย่างไร 

เมื่อเห็นถึงแก่นของปัญหาแล้ว เขาก็พยายามหาทางออกที่สร้างความสะดวกสบายให้ทุกคนที่สุด กลไกในเว็บไซต์นี้จึงแตกต่างจากร้านออนไลน์อื่น ๆ เช่นนอกจากจะมีตัวอย่างและราคาตามปกติแล้ว เขาจะแยกย่อยไปด้วยว่าหากนางแบบที่ส่วนสูงแตกต่างกัน รูปแบบของชุดที่ออกมาจะเป็นอย่างไร 

นอกจากนี้ ZOZOTOWN ยังมีฟังก์ชั่น “เปรียบเทียบ” ข้อมูลของสินค้าที่กำลังเลือกดูอยู่ กับสินค้าที่เราเคยซื้อเมื่อในอดีต โดยทุกคนสามารถลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น WEAR ที่เปรียบได้กับ Instagram ของแฟชั่น ที่มีประโยชน์ทั้งในแง่ของการดูข้อมูลสินค้า และการได้เห็นสไตล์ของผู้ซื้อคนอื่นไว้เป็นแนวทางอีกด้วย 

ZOZOTOWN ยังพบว่าสาเหตุที่คนไม่ซื้อชุดใหม่เป็นเพราะมีของล้นตู้แล้ว เลยจัดทำโครงการ ZOZOUSED ให้คนได้ระบายของออกมา แถมยังมีบริหารชุดสูทวัดขนาดตัว ที่มีข้อดีคือให้คนได้ชุดที่ตัดได้ตามขนาดตัวอย่างชัดเจน โดยไม่ต้องออกมาวัดที่ร้าน แถมยังทำให้องค์กรได้ข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่าฐานลูกค้าของตนมีลักษณะทางกายภาพอย่างไร

ZOZOTOWN มีแนวคิดว่า “ทำให้คนทั่วโลกเท่และมีรอยยิ้ม” โดยคุณ Yusaku Maezawa ได้ทิ้งท้ายว่า “จริง ๆ แล้วบริษัทควรเติบโตมาจากการทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนมีความสุขและสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่น  การจะมานั่งแข่งขันกับเพื่อน หรือการมัวแต่คิดว่าทำอย่างไรจะไม่ให้เจ้านายโมโหนั้น เป็นเรื่องที่น่าเบื่อ และจะทำให้งานน่าเบื่อด้วย หากพนักงานมัวแต่คิดอย่างนี้ พนักงานเหล่านั้นก็คงไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่ดี แทนที่จะเหยียบคนอื่นขึ้นมาชนะ สิ่งสำคัญน่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นแ ละทำให้ทุกคนมีความสุขหรือเปล่า”

ผู้บรรยายสรุปว่า Passion ที่ดีต้องเป็นแบบนี้

– เป็นประโยชน์กับผู้อื่น

– อาจไม่ต้องมีตั้งแต่วันแรกก็ได้

– มาจากความตั้งใจของตัวเอง

– สามารถทำได้นาน

– นำไปสู่การสร้างผลกำไรได้

– ทำในแบบที่ Unique ไม่เหมือนใคร

และสรุปเนื้อหาทั้งหมดของ Finding Business Harmony ภายใต้ Key Takeaways ดังนี้

– การมี Passion เป็นสิ่งที่ดี

– จงเลือก Passion ที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น

– Passion จะกลายเป็น Purpose เป็นเป้าหมายให้เราต่อยอดไปเรื่อย ๆ

– Passion ต้องเป็นสิ่งที่เราทำได้นานอย่างน้อยสิบปี

– เราต้องก้าวผ่านเสียงจากสังคม และความกดดันต่าง ๆ ให้ได้

– เมื่อมี Passion แล้ว เราต้องทำเรื่องนั้นต่อไปให้สุดทาง

– Passion จะทำให้ Business Model ของเราไม่เหมือนใคร

– สำคัญที่สุดคืออย่าลืมรักษาหัวใจของเรา

The Future of Investment

บรรยายโดย คุณชัชวาล วัฒนะโชติ Influencer นักลงทุน เจ้าของช่อง Kim Property Live 


“ในอนาคต เราควรลงทุนในอะไรดี ?”

ในฐานะอินฟลูเอนเซอร์ด้านการลงทุนชื่อดัง คุณชัชวาล ได้รับคำถามนี้จากผู้คนตลอดเวลาว่า แต่เขาไม่ใช่ผู้หยั่งรู้ในอนาคตว่า อะไรจะขึ้นอะไรจะลง แต่สิ่งที่เขาพอจะรู้ก็คือ หากจะอยู่รอด การลงทุนระยะยาวอาจเป็นคำตอบ แต่จะลงทุนอย่างไร ?

เขาเล่าถึงย้อนไปถึงอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน ยุคที่คนเกิดขึ้นเยอะมาก ส่งผลให้การผลิตสินค้าก็มาก ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นตามไปด้วย แต่ปัจจุบันไม่ใช่อย่างนั้นอีกต่อไป เพราะคนเติบโตน้อยลง Productivity น้อยลง กำลังการผลิตก็ถดถอยลง แต่คนสร้างหนี้มากขึ้น เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า Deadlock และถ้าเกิดเหตุการณ์เปราะบางขึ้นมา การแก้ปัญหา การเดินต่อไปข้างหน้าจะลำบากขึ้นมาก

เทรนด์ในปัจจุบันยังเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าและบริการในระคาที่ถูกและคุ้มค่า ใครขายของถูกและดีทุกคนพร้อมซื้อ แต่ทุกวันนี้ แต่วันนี้ ผู้คนหวนกลับมองข้ามความคุ้มค่า ไปหาของแพงมากขึ้น ต่อให้แพงแค่ไหนก็ต้องซื้อ เพราะส่งผลต่อความมั่นคงในประเทศ และเมื่อสินค้าราคาเพิ่ม ก็ยากที่จะลดราคาลงมาได้

โลกเคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้บ่อยครั้ง แต่การก้าวข้ามได้จะต้องเปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้าง ความคิด วัฒนธรรม ดังเช่นที่เคยเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตถูกลง หรือการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล การเกิดอินเทอร์เน็ต เมื่อข้อมูลข่าวสารรวดเร็วขึ้น นำมาซึ่งสมาร์ทโฟน นำมาซึ่งแอปพลิเคชั่นมากมาย รวมไปถึงงานที่มากมายตามไปด้วย ซึ่งงานที่มีอยู่ในท้องตลาดทุกวันนี้ ส่วนใหญ่คืองานที่ไม่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 80 ปีที่แล้ว

เทรนด์ในอนาคตภายหน้า หุ่นยนต์คือสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดที่จะเข้ามาทดแทนการทำงานของคน ประชากรหุ่นยนต์จะเติบโตขึ้นสวนทางกับปริมาณคนบนโลกที่ลดน้อยลง อีกทั้งราคาของหุ่นยนต์ก็ค่อย ๆ ราคาถูกลงด้วย และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เมื่อมันถูกจนผู้คนสามารถเข้าถึงได้ มันก็จะถูกนำไปใช้งานทั่วทุกอุตสาหกรรม รวมถึงในบ้านเรือนของคุณด้วย

แต่อย่าเพิ่งประเมินค่าฮาร์ดแวร์อย่างหุ่นยนต์สูงไป เพราะสิ่งที่น่าจะมาแรงและทรงอิทธิพลมากไม่แพ้กันก็คือ ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมักประเมินค่าต่ำไปเสมอ แต่มันกำลังมาเร็วกว่าที่ทุกคนคาดคิด ตัวอย่างสำคัญคือการมาถึงของ ChatGPT ที่นำทัพ Generative AI จำนวนมาก ทำให้คนเริ่มแยกไม่ออกว่า อะไรคืองานของคน อะไรคืองานของคอมพิวเตอร์

ChatGPT ปลดล็อคโลกครั้งใหญ่ชนิดที่อาจมาช่วยทดแทนวงการศิลปะได้ด้วย ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ถูกแทนที่ได้ แค่พิมพ์ไม่กี่ตัวอักษร AI ก็สามารถประมวลออกมาเป็นภาพได้ในเวลารวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนและลดเวลาการผลิตมหาศาล ChatGPT ยังส่งผลต่อวงการโค้ดดิ้ง ในปี 2030 โค้ดที่เขียนโดย AI จะเยอะกว่าโค้ดที่เกิดจากมนุษย์หลายเท่า

ดังนั้น ในอนาคตภายหน้า คนทั่วไปจะยิ่งทำสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ทั้งการทำสื่อ ทำหนัง แต่งเพลง ตัดต่อวิดีโอ AI ในหลายแพลตฟอร์มยังฉลาดมากโดยเฉพาะในแอปพลิเคชั่น TikTok ซึ่งไม่เพียงทำให้เราได้ดูคอนเทนต์ที่โดนใจ แต่ยังช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์สามารถขายของในเวลาเพียง 5 นาที แล้วมีคนซื้อมากกว่า 10,000 ชิ้น

เมื่อโลกเสมือนพัฒนาตลอดเวลา คนจะดิ้นรนหาที่ใหม่เพื่อสร้างโอกาส สร้างความร่ำรวยเสมอ อย่าลืมว่าโลกหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วที่ต้องมีหุ่นยนต์ มี AI เพื่อช่วยลดต้นทุน

แต่สิ่งที่ยังไม่เปลี่ยนไปคือการเติบโตของแวดวงอสังหาริมทรัพย์ที่จะยังเป็นที่ต้องการของผู้คนเช่นเคย เพราะผู้คนยังต้องมีที่พักที่นอนอยู่ แต่คนจะเข้ามาอยู่ในเมืองมากขึ้น บ้าน คอนโดในเมืองจะขายดี แต่บ้านหรือคอนโดนอกเมืองจะร้าง ผู้คนยังหลงใหลในชีวิตใจกลางเมือง เพราะที่นี่เป็นแหล่งงาน แหล่งรายได้ที่มากกว่า โครงสร้างดีกว่า ช่วยสร้าง Productivity ที่ดีกว่า

สำหรับคำตอบของคำถามว่า ควรลงทุนในอะไรดี คุณชัชวาลอ้างอิงคำตอบของ วอร์เร็น บัฟเฟ็ตต์ นักลงทุนสาย VI ที่โด่งดังที่เคยบอกว่า การลงทุนที่ดีที่สุดก็คือการลงทุนในตัวเองนั่นเอง การเพิ่มมูลค่าให้ตัวเองเองผ่านความรู้ ผ่านทักษะต่าง ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง และไม่ว่าในอนาคตมีเงินเฟ้อกี่เปอร์เซ็น หรือมีวิกฤติอะไรเกิดขึ้นบ้าง หากตัวเราเองคือคนที่เก่งสุดในสายงาน เก่งสุดในอุตสาหกรรม เก่งสุดในประเทศ สุดท้ายทุกคนก็จะเอาเงินมาให้คุณอยู่ดี

ดังนั้นหากต้องการลงทุนในอนาคตแล้วอยู่รอดได้ คนต้องรู้ทัน AI ใช้งานเขาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ให้เป็น ยุคต่อไปจะเป็นยุคทองของงานศิลปะ และความคิดสร้างสรรค์ของเราที่สร้างสรรค์ผ่าน AI จะช่วยให้จะโลกใบนี้สวยงามยิ่งขึ้น

เปลี่ยนชาวออฟฟิศให้เป็นชาวออฟ Fit

บรรยายโดย นพ.ชินะโชติ ลิขิตสมบูรณ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู / อาจารย์แพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ / เจ้าของ Win Rehab สหคลินิก คุณพลสัน นกน่วม Co-Founder of GetTalks media และคุณสุภชีพ พรวัฒนากูร CEO & Co-founder WIRTUAL


บอกลาคำว่า “ไม่มีเวลาออกกำลังกาย” สร้างองค์กรที่แข็งแรงได้ด้วยมือเรา

ปัญหาสุขภาพของพนักงานออฟฟิศ คือสิ่งที่คนในองค์กรไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือมองข้ามได้ แต่หากองค์กรไหนให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงาน ช่วยให้พนักงานได้ขยับร่างกาย มีความฟิตตลอดเวลา บริษัทนั้นมีโอกาสสูงมากที่จะสร้าง Productivity ได้ดีกว่า ทำให้พนักงานรู้สึกมีความสุขและเกิดความผูกพันได้ง่ายกว่าด้วย

ในเวทีเสวนาหัวข้อ เปลี่ยนชาวออฟฟิศให้เป็นชาวออฟ Fit บรรยายโดย นพ.ชินะโชติ ลิขิตสมบูรณ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู / อาจารย์แพทย์ สถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูฯ / เจ้าของ Win Rehab สหคลินิก คุณพลสัน นกน่วม Co-Founder of GetTalks media และคุณสุภชีพ พรวัฒนากูร CEO & Co-founder WIRTUAL วิทยากรแต่ละท่านต่างมาแชร์มุมมองที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ต่อคนวัยทำงานทุกคน

นพ.ชินะโชติ เล่าว่าปัญหาสุขภาพออฟฟิศที่พบเจอบ่อยจากการรักษาคนไข้ มี 3 อาการสำคัญ ได้แก่

1. ออฟฟิศซินโดรม โดยมีพนักงานออฟฟิศถึง 85% ที่มีปัญหาเรื่องนี้ โดยมีอาการคือการปวดคอ บ่า ไหล่ ปัญหานี้เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุประกอบกันที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่การจะรักษาได้ต้องหาสาเหตุมห้เจอ ซึ่งมักพออยู่บ่อย ๆ ว่าเกิดจากการไม่ออกกำลังกาย และการใช้เฟอร์นิเจอร์ผิด หรือการนั่งผิดท่า เป็นต้น

2. มีอาการปวดตา เคืองตา เพราะต้องโน้มตัวไปข้างหน้า จ้องคอมพิวเตอร์นาน ๆ แต่ปัญหานี้แก้ได้ด้วยสูตร 20 20 20 หรือการทำงาน จ้องหน้าจอ 20 นาที จากนั้นให้หันไปมองที่อื่น โฟกัสที่อื่นที่ห่างไป 20 ฟุตเป็นเวลา 20 วินาที แล้วค่อยกลับมาทำงานต่อ จะช่วยลดปัญหาลงได้ไม่น้อย

3. มีอาการปวดใจ การหมดไฟ ซึ่งมักเกิดขึ้นจาก 2 สาเหตุนั่นคือ โดนหัวหน้าด่า หรือโดนแฟนทิ้ง ทำให้เกิดความตึงเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ ส่งต่อมาถึงการทำงานด้วย

ทั้งนี้ CTC2023 ยังสำรวจความคิดเห็นของคนที่มาร่วมงาน แล้วเจอว่าปัญหาที่คนมางานนี้มีร่วมกันก็คือ

อิริยาบถผิดท่า ปวดตา ตามัว การมองเห็นลดลง เบื่อ ทำงานไม่เพลิน เกิดความกังวล ไม่มีสมาธิ ไม่มีความสุข ขาดแรงจูงใจ ไปทำงานสายขึ้น ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับ 3 อาการข้างต้นทั้งหมดนั่นเอง

สำหรับคุณพลสัน ในฐานะที่เป็นผู้บริหารองค์กร เขาพยายามจัดสรรเวลาในแต่ละวันให้มีประโยชน์มากที่สุด โดยมีสูตรในการแบ่งเวลาคือ 10 / 7 / 7 ดังนี้

10 – ใช้เวลา 10 ชั่วโมงทำงาน

7 – ใช้เวลา 7 ชั่วโมงทำกิจวัตรต่าง ๆ เช่น อาบน้ำแต่งตัว เผื่อเวลาเดินทาง รับประทานอาหาร วิ่ง ออกกำลังกาย เป็นต้น

7 – และใช้เวลาอีก 7 ชั่วโมง พักผ่อน นอนหลับ

โดยสูตรนี้ดัดแปลงมาจากสูตร 8 / 8 / 8 ที่แบ่งเวลาทำงาน ทำกิจวัตรต่าง ๆ และ การพักผ่อนเท่า ๆ กันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจมองว่า เพราะเขาเป็นผู้บริหาร เขาจึงมีเวลา สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ตามเวลาดังกล่าวได้ แต่คุณพลสันยืนยันว่า เขาจัดสรรเวลาแบบนี้มาตั้งแต่ยังเป็นพนักงานธรรมดา ๆ แล้ว และเรื่องนี้มันขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลาของแต่ละคนด้วย

ส่วนคุณสุภชีพ อธิบายว่า ในแอปพลิเคชั่น WIRTUAL มีการเก็บข้อมูลพบว่า หากต้องการให้ทุกคนสามารถออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยได้

โดยข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า คนใช้งานในแอป WIRTUAL ออกกำลังกายรวมกันคิดเป็นเวลานานถึง 320 ปี เฉลี่ยแล้ว มีคนออกกำลังกายอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน โดยผลสำรวจในไทยยังพบว่าคนไทย เน้นการวิ่งมากที่สุด ส่วนในประเทศรัสเซียและญี่ปุ่นจะเน้นการเดินมากกว่า

นพ.ชินะโชติ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ถ้าใครชอบวิ่งชอบเดิน แอโรบิค หรือปั่นจักรยาน วิธีนี้จะถือเป็นการคาร์ดิโอเพื่อให้หัวใจแข็งแรง ขอเพียงออกกำลังด้วยวิธีนี้รวมกัน 150 นาทีต่อสัปดาห์ก็เสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกายได้แล้ว แล้วไม่จำเป็นต้องสนว่า วันนี้วิ่งไปกี่ก้าว เดินไปกี่กิโลเมตร ขอเพียงทำได้ตามเวลาที่วางไว้แบบสม่ำเสมอ แค่นั้นก็เพียงพอ

ทั้งนี้ สิ่งที่จะช่วยให้คนในองค์กรอยากออกกำลังกาย อยากดูแลสุขภาพ วิทยากรทั้ง 3 ท่านมองตรงกันว่า ต้องมาจากการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมสนุก ๆ สร้างสรรค์ขึ้น เช่น ทำชาเลนจ์กันเองในบริษัท ถ้าใครวิ่งมากกว่า CEO ทุก 1 กิโลเมตร CEO จะจ่ายเงินให้ 100 บาท หรือให้รวมทีมคนที่ไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน วิ่งรวมกันให้ได้ระยะมากที่สุด ในแต่ละสัมปดาห์ ทีมไหนวิ่งได้ระยะมากที่สุด จะได้ไปเอาท์ติ้ง 1 วัน ส่วนทีมคนแพ้ต้องเก็บขยะในองค์กรเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เป็นต้น

และพอทำให้สนุก ทำได้ต่อเนื่อง และมีเป้าหมายในการออกกำลังกาย หรือการแข่งขันที่แน่ชัด ก็จะเป็นการเชิญชวนให้คนอยากเข้าร่วม เป็นการสร้างวัฒนธรรมที่ดีในองค์กร ทำให้คนในองค์กรผูกพันกันมากขึ้นอย่างง่ายดาย ซึ่งนโยบายนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากคนเป็นผู้บริหาร และฝ่าย HR ไม่ผลักดัน ไม่ให้ความสำคัญ และอ้างแต่คำว่า “ไม่มีเวลา”

หากองค์กรต้องการช่วยสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนขององค์กร ผู้บริหาร รวมถึง HR จำเป็นต้องหาทางสื่อสารที่มองเห็นภาพเดียวกัน ว่าการออกกำลังกาย มีประโยชน์หลายประการ สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ทำให้พนักงานสร้าง Productivity มากขึ้น มีเวลาสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ประหยัดงบประมาณของบริษัทมากขึ้น และอื่น ๆ อีกมากมาย

ซึ่งหากมองเห็นข้อดีเหล่านี้ร่วมกันแล้วว่าดีต่อทุกคนอย่างไร ข้ออ้างว่าไม่มีเวลาก็จะหมดไปอย่างแน่นอน

The Journey of Women Entrepreneurs


ในยุคสมัยที่สังคมส่งเสริมให้เกิดความหลากหลาย องค์กรจำนวนมากได้รับความคาดหวังว่า จะต้องเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในองค์กรให้มากขึ้นด้วย ความหลากหลายยังเกิดขึ้นจากการมีผู้หญิงขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นเสาหลักขององค์กร

งาน CTC 2023 วันที่ 3 มีหัวข้อเสวนาสุดเด็ด The Journey of Women Entrepreneurs ที่เอาผู้ประกอบการหญิง 4 ท่าน ได้แก่ คุณสรานี สงวนเรือง CEO of Flourish Digital คุณชวิศา เฉิน Founder WENDAYS และ Co-Founder Talk to PEACH  คุณธีรยา ธีรนาคนาท Co-Founder & CEO of CareerVisa Digital และคุณชื่นชีวัน อานันโทไทย Co-founder, Globish มาร่วมแชร์ประสบการณ์การทำงาน บอกเล่าความท้าทายของการเป็น Working Women ว่าต้องเผชิญอุปสรรคอะไร และก้าวผ่านมันไปได้อย่างไร

การสนทนาสุดแซ่บไฟลุกครั้งนี้มีหลายประเด็นน่าสนใจที่ HR และผู้บริหารสามารถเรียนรู้และเอาไปปรับใช้ในองค์กรได้หลายอย่าง โดย HREX สรุปมาแล้วคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้

1) ถึงเวลาเลิกแบ่งหญิงแบ่งชายในการทำงาน

ภาพลักษณ์ของผู้หญิงถูกมองว่ามีความอ่อยโยน อ่อนหวาน เรียบร้อย เป็นคนละเอียด ทำให้ผู้หญิงมักถูกมองว่าถนัดการทำงานหลังบ้านเสียมากกว่า และหากแต่งงานมีครอบครัวแล้ว ผู้หญิงก็มักจะถูกวางให้เป็นคนคอยสนับสนุนสามีอยู่เบื้องหลัง แล้วปล่อยให้สามีทำงานอยู่หน้าฉากแทน ซึ่งปฏิเสธไมไ่ด้ว่าแนวคิดนี้ยังมีอยู่เยอะมาก แม้กำลังเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นแล้ว

สปีคเกอร์ทุกคนต่างเคยพบเจออคติทางเพศกันมาทั้งนั้น เคยถูกมองว่าได้วางมาเพราะพริวิลเลจจากหน้าตา ถึงเวลาแล้วที่ต้องเลิกแบ่งหยิงแบ่งชายในการทำงาน แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังมีคนจำนวนมากยังติดอยู่ในอคติดังกล่าว ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะเลิกแบ่งคนทำงานผู้หญิงผู้ชายได้แล้ว แม้การยังต้องมีเวทีสนทนาหัวข้อนี้ยังสะท้อนได้ว่า โลกยังไม่สามารถก้าวข้ามอคติดังกล่าวไปได้

ถึงอย่างนั้น สปีคเกอร์ทุกคนก็ยังคาดหวังว่า จะหาทางทำให้ทุกคนในแวดวงการทำงาน เข้าใจในความเท่าเทียมทางเพศ และก้าวข้ามกำแพงทางเพศไปได้ แล้วหันมาสนใจว่าทำอย่างไรให้เราได้เป็นตัวเราเองในเวอร์ชั่นที่ดีที่สุดมากกว่า

“เราเชื่อความเท่าเทียมกัน คนทุกเพศควรได้ส่งเสียง ช่วยขับเคลื่อนสังคมต่อไปเหมือนกัน มีอีกหลายเรื่อง หลายหัวข้อที่ผู้หญิงไม่ค่อยได้อยู่ในบทสนทนาเหล่านั้นเลย ดังนั้นคนทุกคนควรขึ้นไปอยู่ในนั้น การทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าเราทำได้ ผู้หญิงทำได้” คุณสรานี กล่าว

2) หาอาชีพที่ใช่ยังไม่เจอ ไม่ได้หมายความว่าไม่ประสบความสำเร็จ

ผู้หญิงอาจเคยถูกอบรมสั่นสอนให้เป็นคนเรียบร้อย จึงไม่แปลกที่ทำให้หลายคนเติบโตมาโด ไม่มั่นใจตัวเอง กลัวทำอะไรแล้วดูไม่ดี ดังนั้นจะต้องเพอร์เฟ็คตลอดเวลา บางครั้งก็อาจถูกมองได้ว่าเมื่อได้งานอะไรมาสักอย่าง ก็เป็นเพราะหน้าตา ไม่ได้มาจากความสามารถจริง ๆ

แต่ประเด็นนี้ คุณชวิศา กลับเห็นต่างว่า ถ้าเกิดเราดูแลตัวเองจนสวย จนดูดี แล้วได้งานเพราะพริวิเลจดังกล่าว ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร เพราะมันก็แสดงให้เห็นว่า เราได้งาน ได้ความสำเร็จมาก็เพราะการดูแลตัวเองที่ดี การเตรียมความพร้อมที่ดี

“เราไม่ได้แข่งกับคนอื่น แต่แข่งกับตัวเอง เรากำลังจะพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่า เรามีความสามารถ เราไม่ได้เป็นแค่หน้าตาของบางสิ่งบางอย่าง แต่เรามีความรู้ เราท้าทายมาก ๆ เราแข่งกับตัวเองตลอดเวลาเพื่อเป็นตัวเองในแบบที่เราคิดว่าดีที่สุด”

แต่สำหรับคนที่อาจยังไม่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานในวันนี้ ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอบนโลกนี้

“โลกเปลี่ยนแปลงทุกวัน ทำไมเราจึงจะเปลี่ยนตัวเองไม่ได้ เราหาอาชีพใหม่ได้ การค้นหาอาขีพคือ Journey ไม่ใช่ Destination คุณต้องค้นหาตัวเองไปเรื่อย ๆ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนก็จะพบเจอความ้ทาทายใหม่ ๆ เสมอ ตอนโสดอยู่ในสถานการณ์หนึ่ง พอมีลูกก็ต้องหาอาชีพตัวเองใหม่ ดังนั้นเราต้องไม่หยุด Upskill-Reskill ไม่หยุดพัฒนาตัวเอง” คุณธีรยา อธิบาย

3) การเป็นผู้ประกอบการเหมือนการเป็นปลาน้ำลึก ต้องกล้าเสี่ยงเพื่อเก่งขึ้น

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการ คือการตัดสินใจครั้งสำคัญ สิ่งที่สปีคเกอร์แต่ละท่านพูดตรงกันก็คือ หากเบื่อการเป็นพนักงานประจำ เพราะอยากมีกิจการเป็นของตัวเอง ถือเป็นความคิดที่ผิดและจะทำให้เกิดปัญหายามทำงานจริง แต่ควรต้องมีแรงปรารนาที่จะเป็นผู้ประกอบการ ทำงานที่รัก ซึ่งจะทำให้กล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยง เพื่อที่จะเติบโตต่อไป

คุณชื่นชีวัน กล่าวว่า คอนเซ็ปต์ของการเป็นผู้ประกอบการคือการเป็น Deep Sea Fish เป็นปลาที่อยู่ในน้ำลึก ซึ่งไม่มีแสงสว่างส่องทาง ต้องเดินไปข้างหน้าโดยไม่รู้จุดหมาย ซึ่งมีคนไม่น้อยที่ชอบอยู่ในสภาวะสุดกดดันแบบนี้เสมอเช่นกัน แม้การเป็นปลาน้ำตื้น จะมองเห็น Career Path ชัดเจนกว่า ทำให้ไม่ผู้หญิงชอบปลาน้ำตื้นมากกว่า แต่มันก็กลายเป็นข้อจำกัดไม่ให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ประกอบการได้

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนเพศไหน ก็ต้องกล้าเผชิญความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นผู้ประกอบการ ที่หากต้องการที่จะเติบโตขึ้นไปอีกขั้น มิฉะนั้น ก็จะเป็นได้เพียงปลาที่อยู่น้ำตื้น มองเห็นแสงสว่าง มองเห็นทางไปชัดเจน ชีวิตที่รับความเสี่ยงไม่ค่อยได้ ก็จะอยู่แต่ในเซฟโซน จนสุดท้ายไม่กล้าริเริ่ม ไม่กล้าทำอะไรใหม่เลย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง