สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน CTC 2023 วันที่ 1 : Marketing Insight & Technology Conference

HIGHLIGHT

  • คุณเก่ง – สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม Founder จาก Creative Talk กล่าวว่าโลกในปัจจุบันมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา เปรียบเหมือนคลื่นที่ซัดเข้าใส่ เราจึงต้องรู้จัก “ขี่คลื่น” หรือ RIDE ประกอบด้วย Respond, Intellectual, Dare to do และ Evaluate
  • โลกการตลาดและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคนรวมถึงองค์กรเสมอ การก้าวให้ทันท่วงทีอาจทำได้ยาก แต่นักการตลาดต้องห้ามหยุดวิ่ง การติดตามการเปลี่ยนแปลงเสมอจะช่วยยกระดับองค์กรให้ดีขึ้นได้
  • สิ่งที่เราต้องทำการบ้านก่อนจะไปโน้มน้าวเพื่อของบประมาณจากผู้บริหารคือการหา Pain Point, การชี้ให้เห็นโอกาสทางธุรกิจ, รู้จุดคุ้มทุน, มี Small Wins และต้องทำให้เห็นความสำเร็จเป็นระยะ
  • Generative AI คือเครื่องมือที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดก็ต่อเมื่อผู้ใช้มีความคิดสร้างสรรค์ และเข้าใจว่าจะนำ AI แต่ละประเภทมาบูรณาการอย่างไร ทั้งนี้มนุษย์ควรกำกับดูแลเสมอ เพราะ AI เข้าใจเรื่อง Logical Thinking น้อยกว่า อาจให้ข้อมูลที่ไม่มีประโยชน์หรือผิดพลาดได้
  • Affiliate Marketing การตลาดแบบหาคนมาช่วย หรือการตลาดที่ให้อินฟลูเอนเซอร์เป็นผู้แนะนำสินค้าและบริการต่าง ๆ แก่ผู้บริโภคอย่างจริงใจ คือทางรอดสำคัญของการทำการตลาดในปัจจุบันและอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับองค์กรที่ไม่มีทุนทรัพย์มากเท่าบริษัทใหญ่ ๆ ช่วยให้ประหยัดงบประมาณ และสามารถใช้งบประมาณได้อย่างเกิดประโยชน์ที่สุด
  • Digital Transformation ก็เป็นเหมือนการสร้างบ้าน เราต้องรู้ก่อนว่าเป้าหมายของการสร้างบ้านคืออะไร, ใครเป็นผู้ใช้งาน และมีสไตล์ที่อยากให้เป็นอย่างไร เมื่อตั้งโจทย์ได้แล้วก็ค่อยหาองค์ประกอบต่าง ๆ ให้สอดคล้อง ซึ่งทุกคนในบ้านควรช่วยเหลือกัน
  • David Meerman Scott กล่าวว่า Fanocracy คือการสร้างแรงบันดาลใจและความหลงใหล คลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์, แบรนด์ หรือแนวคิด ด้วยการยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ
  • นักการตลาดต้องทำความรู้จักคน Gen Z ให้มากขึ้น เพราะถึงแม้คน Gen Z จะเติบโตขึ้นมายุคที่เต็มไปด้วยวิกฤติ แต่ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสมากมาย ทั้งโอกาสในการทำงาน โอกาสในการทำงาน โอกาสที่จะได้ส่งเสียงในประเด็นต่าง ๆ ซึ่งพฤติกรรมและความคิดของพวกเขาล้วนสำคัญต่องานการตลาดทั้งสิ้น
  • บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก มีความเป็นศิลปินทั้งนั้น ข้อมูล (Data) คือตัวต่อเลโก้ที่รอประกอบรูปร่าง และสิ่งที่จะทำให้ประกอบออกมาแตกต่างกันก็คือทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ หากองค์กรต้องการสร้างความแตกต่าง ก็ต้องเริ่มจากการกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับผู้นำเป็นรายแรก

งาน CTC 2023 วันที่ 1 มาในหัวข้อ Marketing Insight & Technology Conference จัดขึ้นในวันที่ 22 มิถุนายน 2023 ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นประโยชน์กับ HR ในหลากหลายแง่มุมโดยเฉพาะเรื่องการเติบโตของเทคโนโลยี, ความต้องการของตลาด และการปรับกลยุทธ์ทั้งขององค์กรและคนให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก โดย HREX.asia ในฐานะ Media Partner ก็ได้ไปร่วมงานเพื่อช่วยนำไอเดียใหม่ ๆ มาเพิ่มศักยภาพให้กับการทำงานของชาว HR ทุกคน

Creative Talk Conference (CTC) เป็นงานรวมเทรนด์ความรู้เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนสามารถใช้ไอเดียต่อยอดการทำงานและทำธุรกิจให้สร้างสรรค์ จัดขึ้นต่อเนื่องมาแล้วนานกว่า 10 ปี ในที่นี้เราเชื่อมั่นว่าการหาความรู้อยู่ตลอดเวลาเป็นสิ่งที่ HR ต้องทำ เพราะหากเรายึดติดอยู่กับสิ่งเดิม ๆ แม้จะเป็นสิ่งที่เคยทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีโอกาสที่เราจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยไม่รู้เลยว่ามีสิ่งที่ดีกว่า สะดวกกว่า และเป็นประโยชน์มากกว่าให้เราเลือกใช้ ซึ่งแนวคิดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเราไม่รู้ว่าโลกหมุนไปถึงไหนแล้ว เราจึงต้องคิดเสมอว่า “เมื่อโลกหมุนไว เราก็ต้องตามให้ทัน”

งาน CTC 2023 : Marketing Insight & Technology Conference เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเต็มที่ ครอบคลุมทุกประเด็น ซึ่ง HREX.asia ได้สรุปงานเสวนาที่น่าสนใจมาให้บางส่วนแล้วที่นี่ ชาว HR ไปอ่านกันได้เลย !

Opening Session CTC2023 Festival & MIT Conference

งานตลาดและ Martech แห่งปี เจาะทุกมุมมองแห่งอนาคตของโลกการตลาดที่ไม่ควรพลาด


คุณเก่ง – สิทธิพงศ์ ศิริมาศเกษม Founder จาก Creative Talk กล่าวว่างาน CTC จัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2013 งานปีนี้จึงถือเป็นวันครบรอบ 10 ปีของงาน ซึ่งแนวคิดหลักของปีนี้มาจากการมองเห็นว่าโลกเปลี่ยนไปไวมาก คนมีความกระหายในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และรู้สึกอยากเก่งขึ้นอยู่ตลอดเวลา นำไปสู่การคิดค้นธีมว่า The Next Big Things ซึ่งเป็นคำที่ต่างชาติใช้กันเยอะเวลามีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น อย่างเช่นยุคของวิทยุ, โทรทัศน์, อินเทอร์เน็ต เป็นต้น

แต่ปัจจุบันเรามีนวัตกรรมเกิดขึ้นทุกวัน เปรียบดั่งคลื่นที่ซัดเข้ามาหาให้เราเลือกว่าจะปล่อยให้มันซัดเราจนจม หรือหาทางเอาชนะคลื่นนั้นให้ได้ โดยคุณเก่งขอฝากคำว่า “RIDE” เอาไว้ ซึ่งเป็นแนวคิดอยากให้ทุกคนเรียนรู้วิธี “ขี่คลื่น” หมายความว่า

R – Respond : เราอาจเจอเรื่องราวที่ไม่ได้สนใจ ไม่ได้ตรงกับสายงานที่ทำเลย แต่เราก็ควรตอบรับมัน ควรหาคำตอบว่ามันน่าสนใจอย่างไร มีข้อดีอย่างไร

I – Intellectual : เมื่อเราได้ตอบรับมันแล้ว เราก็ต้องไปเรียนรู้ เมื่อมีเรื่องที่เราไม่รู้จัก อย่ามองผ่านมัน ให้คิดว่าเป็นกลไกในการเปิดโลกเพื่อช่วยให้เราเท่าทันโดยเร็ว

D – Dare to Do : เมื่อเรียนรู้จนเข้าใจแล้ว ก็ต้องลองกลับไปทำ

E – Evaluate : เมื่อลองทำแล้ว ก็ต้องวัดผล เพราะการทำเรื่องใดแล้วไม่วัดผล จะไม่เกิดการพัฒนา

คุณเก่งทิ้งท้ายว่าเราต้องเป็นคนที่เก่งกว่าตัวเองในเมื่อวาน อย่าเป็นคนที่เหมือนเดิมในทุกวัน เพราะแท้จริงแล้ว เรานี่ล่ะที่เป็น The Next Big Thing ที่แท้จริง

Marketing Insight & Technology Trend 2023

บรรยายโดย คุณสิทธินันท์ พลวิสุทธิ์ศักดิ์ CEO of Content Shifu


โลกการตลาดและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคนรวมถึงองค์กรเสมอ คนเป็นนักการตลาดจำเป็นต้องวิ่งไปข้างหน้า และติดตามการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเสมอเช่นกัน 

คุณสิทธินันท์ คาดการณ์ว่า ในอนาคตภายหน้า เทรนด์การตลาดจะเปลี่ยนไปหลายอย่าง และนักการตลาดจะสามารถทำอย่างไรเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงได้มากมาย โดยสามารถสรุปออกมาเป็น 6 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

1. The Rise of AI & Automation หลังจากปลายปี 2022 เริ่มมีกระแสของ AI เช่น ChatGPT เกิดขึ้น นำมาสู่ AI ที่โดดเด่นอีกมากมาย อาทิ Bard หรือ Midjourney บิล เกตส์ มองว่า เอไอ จะปฏิบัติวงการเหมือนตอนที่อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนปฏิวัติโลก แต่ AI ที่กล่าวมานั้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ AI ทั้งหมด เพราะยังมี Generative AI จำนวนมากให้ใช้ประโยชน์ได้หลายหลายรูปแบบ เช่น ทำรูป ทำคอนเทนต์ แม้กระทั่งสร้างเสียง เป็นต้น 

แต่การเอา AI มาใช้ก็ต้องระมัดระวังเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวมากขึ้น Samsung บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายสำคัญของโลก ประกาศห้ามพนักงานใช้ ChatGPT เพราะมันอาจเรียนรู้ความลับของบริษัทได้ ไม่เพียงแค่นั้น รูปภาพที่ AI จำนวนมากทำออกมาก็มีข้อกังวลว่า สามารถนำมาใช้งานได้ถูกกฎหมายหรือไม่ ดังนั้นคนทำงานยิ่งต้องระมัดระวังยิ่งขึ้นด้วย

2. The Fall of 3rd Party Data ข้อมูลของบุคคลที่ 3 จะเข้าถึงยากขึ้น ในประเทศไทยเริ่มมีกฎ PDPA ซึ่งควบคุมดูแลไม่ให้การเอาข้อมูลส่วนตัวของประชาชนมาใช้โดยไม่ได้ยินยอมก่อน แต่ประเด็นนี้ไม่เพียงแค่ในไทยเท่านั้นที่ตื่นตัว เพราะองค์กรใหญ่ระดับโลก เช่น Apple ก็ให้ความสำคัญมานานแล้ว ล่าสุดการอัปเดต iOS17 จะทำให้นักการตลาดปวดหัวมากขึ้น เพราะจะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการได้เลยว่า ตามมาใช้บริการ ซื้อสินค้าจากช่องทางใด คอนเทนต์ใด แพลตฟอร์มใด

3. Going Beyond Typical Content Formats ในอนาคตคอนเทนต์จะเยอะขึ้นจนเกลื่อน ทุกคนสามารถทำคอนเทนต์เองได้ มิหนำซ้ำ AI ยังช่วยให้ผลิตคอนเทนต์ง่ายขึ้นด้วย ดังนั้นนักการตลาดจึงต้องตื่นตัว หูตากว้างไหล และหาทางทำคอนเทนต์ที่โดดเด่น แตกต่างไปจากเจ้าอื่น ๆ เสมอ

4. MarTech is Marvelous เครื่องมือการตลาดเทคโนโลยีจะยิ่งมีความน่าสนใจมากขึ้น ผลการสำรวจคนใช้งาน MarTech พบว่าปี 2022 ปริมาณ MarTech ที่นักการตลาดใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 11 ตัว แต่ปี 2023 มีจำนวนใช้งานเพิ่มเป็น 16.7 ตัว และใช้งานมากขึ้นในทุกหมวดหมู่

นอกจากนั้นผลสำรวจยังพบว่า ในช่วงปีแรกที่ใช้งาน นักการตลาดอาจยังไม่พึงพอใจมากนัก แต่ยิ่งใช้งานไปเรื่อย ๆ ความพึงพอใจก็ยิ่งเพิ่มขึ้น อีกทั้งมีแนวโน้มที่แต่ละองค์กรจะลงทุนในเครื่องมือการตลาดมากขึ้นด้วยเช่นกัน

5. Emerging Ads Platform แพลตฟอร์มโฆษณาจะมาแรงยิ่งขึ้น นักการตลาดสามารถใช้แพลตฟอร์มใหม่ ๆ และเจ๋ง ๆ ได้มากขึ้น เช่น TikTok, Shopee, Lazada รวมถึง Facebook, Youtube และ Instagram ทำให้เกิดความหลากหลายและการแข่งขันที่มากขึ้นตามมาด้วย 

6. The Creator Nation มีอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ แม้กระทั่ง อินฟลูเอนเซอร์แบบ Virtual เองก็ตาม ดังนั้นโมเดลที่แบรนด์สินค้าจะไปบอกครีเอเตอร์ให้พูดถึงสินค้า และหากมีคนซื้อ ก็จะได้รับเปอร์เซ็นส่วนแบ่งจะเกิดมากขึ้น แต่แบรนด์เองไม่จำเป็นต้องรอเข้าหาอินฟลูเอนเซอร์ฝ่ายเดียว เพราะแบรนด์ก็สามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์เองได้ เช่น กรณีของ Tops และ เนื้อแท้ ที่เก่งในการเล่นกับคอนเทนต์ตามกระแสจนเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเสมอ

7. The World is Moving Fast, but Basic is Still Classic พื้นฐานการมาร์เก็ตติ้งสำคัญ นักการตลาดต้องเข้าใจลูกค้า เข้าใจสินค้าของลูกค้า เข้าใจสินค้าของตัวเองซึ่งสำคัญมาก และถ้าพื้นฐานแข็งแรง ก็จะต่อยอดได้ดี 

โลกการตลาดและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าคนรวมถึงองค์กรเสมอ แม้การก้าวให้ทันท่วงทีอาจทำได้ยาก แต่นักการตลาดต้องห้ามหยุดวิ่ง การติดตามการเปลี่ยนแปลงเสมอจะช่วยยกระดับองค์กรให้ดีขึ้นได้ ไม่มากก็น้อย 

How to Convince C-Level to try New Marketing Initiatives : วิธีการโน้มน้าวผู้บริหารให้ทำการตลาดรูปแบบใหม่

บรรยายโดยคุณภคมน ตุลยาพิศิษฐ์ชัย Head of Digital Transformation, Ngern Tid Lor Co., Ltd. และคุณอภิรดา เบ็ญจฆรณี CEO of Customer Experience Management, Dentsu International Thailand


หลายองค์กรคงเจอปัญหาว่าเจอนวัตกรรมที่น่าสนใจแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะโน้มน้าวผู้บริหารให้เลือกใช้งานและมองเห็นถึงความคุ้มค่าได้อย่างไร

คุณอภิรดากล่าวว่าเธอเคยของบประมาณจากผู้บริหารได้มากที่สุดถึง 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งวิธีที่จะช่วยโน้มน้าวได้ดีก็คือการทำ Storytelling หรือ Story Pitching คือต้องทำให้ผู้บริหารเห็นว่างบประมาณดังกล่าวจะนำไปใช้ในส่วนใดบ้าง และในระยะยาวการลงทุนนี้จะต่อยอดไปสู่อะไรได้บ้าง เราควรระบุอย่างชัดเจนให้ได้โดยละเอียด ยิ่งเรามีความรู้ และสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างชัดเจน ก็มีโอกาสโน้มน้าวผู้บริหารได้มากขึ้น

คุณภคมนให้ Roadmap เพื่อทำการบ้านก่อนไปพูดคุยกับผู้บริหารเอาไว้ดังนี้

1. ต้องคุยกับทีมเพื่อหา Pain Point

2. หาโอกาสทางธุรกิจให้ผู้บริหารเห็นถึงความคุ้มค่า

3. อธิบายให้ชัดเจนว่าโอกาสในการสร้างรายได้ในแต่ละปีเป็นอย่างไร

4. อธิบายให้ได้ว่าจะเกิดจุดคุ้มทุนเมื่อไหร่

5. ต้องทำให้ผู้บริหารเห็นความสำเร็จเป็นระยะ ต้องมี Small Win

คุณภคมนเสริมว่าเราต้องสามารถแปลวิสัยทัศน์ (Vision) ของบริษัทให้กลายเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง เราต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด (Priority) ของบริษัท อะไรคือสิ่งที่ทีมเห็นตรงกันว่าต้องมี อะไรคือสิ่งที่จะตอบโจทย์ชีวิตการทำงาน ให้คิดว่าทีมงานของเราคือผู้ถือหุ้น (Stakeholder) คนแรกเสมอ เพราะผู้บริหารไม่ใช่คนที่ลงไปทำงานเองทุกวัน คนที่ลงมือคือทีม ผู้บริหารจึงมีหน้าที่ช่วยให้ชีวิตของเขาง่ายขึ้น

เมื่อเรามีไอเดียอะไรก็ตาม เราต้องเริ่มจากการคุยกับคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ Solution ของเรา จากนั้นเราก็ค่อยไปคุยกับคนที่จะเจอข้อเสียจาก Solution ดังกล่าว เช่นหากเราต้องการนำ AI เข้ามา เราก็ต้องอธิบายให้พนักงานที่มีหน้าที่แบบรูทีนเข้าใจว่างานของเขาจะไม่ถูกแย่งชิงไป แต่จะต้องเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และองค์กรพร้อมสนับสนุนการพัฒนาทักษะอย่างไร เป็นต้น 

เมื่อเราอธิบายให้ทั้งคู่เข้าใจได้แล้ว ก็จะมีผู้สนับสนุนในที่ประชุมมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องรับฟังความเห็นที่ได้รับมาอย่างจริงใจ และนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ผู้บริหารเห็นว่าสิ่งที่เรานำเสนอนั้นเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายจริง ๆ 

คุณอภิรดากล่าวว่าเราควรเริ่มพูดคุยกับนายที่ใกล้ชิดเรา คนที่รู้สึกว่าเขาพร้อมสนับสนุน (Supporter) ของเรา จากนั้นก็ให้ไปพูดคุยกับ CFO (Chief Financial Officer) และค่อย ๆ ไปพูดคุยกับคนที่น่าจะไม่เห็นด้วย เราต้องรู้จักพูดคุยกับคนรอบนอกทั้งหมด เพื่อเตรียมตัวสำหรับเนื้อหาที่อาจถูกเห็นแย้ง และต้องหลีกเลี่ยงหัวข้อที่อาจถูกยิงตกในที่ประชุม เพราะอาจทำให้การเจรจาล้มเหลวได้ เป็นต้น

Chief Financial Officer ถือเป็นจุดที่ยากที่สุด คุณภคมนกล่าวว่าเราควรมีไฟล์ Excel ที่อธิบายอย่างชัดเจน เพราะหน้าที่ของ CFO คือการทำให้ตัวเลขของบริษัทออกมาดีที่สุด การพูดคุยกับ CFO ต้องตรงประเด็น ชัดเจน ไม่อ้อมค้อม เพราะโดยพื้นฐานแล้ว CFO จะมีเวลาน้อยมาก นอกจากนี้เราต้องอธิบายด้วยว่าเทรนด์ธุรกิจในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะ CFO มีหน้าที่เตรียมงบประมาณให้พร้อมสำหรับรับมือความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นอีกด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับว่าเมื่อขอเงินส่วนใดแล้ว เราไม่สามารถขอเพิ่มเติมได้ เราจึงต้องรู้จักในเรื่องของการจัดสรรใหม่ (Reallocate) เช่นกัน

คุณภคมนกล่าวว่าการไปของบประมาณแต่ละครั้ง ก็เหมือนเราเป็นตัวแทนที่มีทีมอยู่เบื้องหลัง การที่ผู้บริหารตอบรับข้อเสนอ ก็เป็นภาพสะท้อนว่าเขาเชื่อมั่นในทีมของเราด้วย 

นอกจากนี้ยังกล่าวเสริมว่าส่วนใหญ่แล้วโปรเจ็คที่ผ่าน มักมาจากการไม่รู้ว่าการวัดผลคืออะไร เพราะเราจะไม่รู้ว่าจุดคุ้มทุนคืออะไร ควรหยุด หรือพิจารณาแผนงานในอนาคตอย่างไร ดังนั้นเราควรมีตัววัดในเรื่องนี้ตั้งแต่วันแรก เพราะจะช่วยให้งานพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ที่สำคัญหากเรารู้ว่ามันไม่ได้ผล เราก็ต้องกล้าหยุด ต้องยอมรับว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่าไปคิดว่าเมื่อขอเงินผู้บริหารมาแล้ว ต้องพยายามทำให้สำเร็จให้ได้ เพราะความจริงแล้วไม่มีทางที่เราจะวางแผนได้ถูกต้องตลอดเวลา การกล้าหยุดจะเปิดโอกาสให้เราเอาเงินในส่วนนี้ไปลงทุนในด้านอื่นให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เป็นข้อดีต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

Essential Ways to Transform Your Business with Technology & Creativity : แนวทางการเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วย Technology และ Creativity

บรรยายโดยคุณปราโมทย์ ผ่องสุวรรณ์ Head of Corporate Marketing & Branding, G-Able, คุณนารีรัตน์ แซ่เตียว CEO & Co-Founder, InsightEra และ คุณคณพร ฮัทชิสัน Chairwoman, GREYnJ UNITED


Digital Transformation หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้กับธุรกิจให้เหมาะกับยุคสมัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ยากที่จะทำให้สำเร็จ เสวนานี้จึงมีเป้าหมายเพื่อตอบคำถามว่าเทคโนโลยีและพลังสร้างสรรค์ จะช่วยพาธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มประสิทธิภาพได้อย่างไร

Digital Transformation จำเป็นอยู่หรือไม่ ? คุณปราโมทย์กล่าวว่า “จำเป็นมาก” เพราะความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ทุกยุคทุกสมัย ซึ่งรูปแบบการ Transform ในปัจจุบัน ควรนึกถึงเรื่องของการผสมผสาน (Combination) อย่างยั่งยืน ต้องหาสมดุล (Balance) ระหว่างธุรกิจและพลังสร้างสรรค์ (Creativity) ให้ได้

คุณนารีรัตน์มองว่า Digital Transformation เป็นเรื่องสำคัญ และอยู่คู่กับชีวิตประจำวันจนเราไม่ควรเสียเวลามาถกเถียงเรื่องนี้ เพราะหากเราต้องการอยู่รอด, มีศักยภาพในการแข่งขัน และอยากเติบโต เราจะถูกบังคับให้มี Transformation ทันที และไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงเบื้องหน้าเท่านั้น เราต้องปรับตัวจากภายใน ให้ทีมทำงานสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงทีเช่นกัน

คุณคณพรเสริมว่าเราต้อง Transform ตัวเองด้วย เพราะหากเราไม่เพิ่มศักยภาพให้ตัวเอง เราจะก้าวไม่ทันคนอื่น Transformation เป็นเรื่องเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป เพราะตอนนี้ทุกคนมีจุดที่ต้องแข่งกัน เราต้องมีความเป็น Somebody ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งโดยเร็ว

คุณนารีรัตน์พูดถึงประโยชน์ของการ Transform ในช่วงวิกฤต (Touch Time) ไว้ดังนี้

1. เราจะมีความลังเลน้อยลง เช่นตอนสถานการณ์โควิด-19 ที่เราต้องตัดสินใจทันที รอไม่ได้

2. เราจะมีความสามารถในการทำสิ่งใหม่ ๆ มากขึ้น เช่นพอไฟไหม้ เราจะพยายามเอาตัวรอดให้ได้ มีพลังในการหยิบจับข้าวของมากขึ้น เป็นต้น

สาเหตุที่พฤติกรรมของเราเปลี่ยนแปลงและทำให้เรากล้าลงมือมากขึ้น เป็นเพราะรู้ว่าหากไม่ Transform โดยเร็ว สิ่งที่แย่กว่า และกำลังจ่ออยู่ข้างหลังจะเข้ามาเล่นงานได้ทันที โดยคุณคณพรกล่าวเสริมว่าการ Transform ไม่ใช่สิ่งที่ทำแบบครั้งเดียวจบ แต่ต้องทำอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้นหากเราอยากให้แบรนด์ของเราเป็น “ที่รัก” (Brand Love) ของลูกค้า เราก็ต้องไม่หยุดนิ่งเด็ดขาด

องค์ประกอบในการทำ Transformation ในมุมมองของคุณคณพรมีดังนี้ 

1. Where are we now ? : รู้ว่าเราอยู่ตรงจุดไหน และรู้ว่า Pain Point ขององค์กรคืออะไร

2. Where we want to be ? : เป้าหมายของเราอยู่ตรงไหน ? : เราต้องเห็นตั้งแต่จุดเริ่มต้นว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร ซึ่งการวางแผนอย่างรัดกุมจะช่วยให้เราหลุดจากสภาวะ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” ไม่เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ 

ขณะที่คุณปราโมทย์แสดงทรรศนะว่าการทำ Digital Transformation ก็เหมือนการสร้างบ้านหลังหนึ่ง เราต้องรู้ก่อนว่าบ้านหลังนี้ควรมีสไตล์แบบไหน, มีรูปแบบการใช้งานอย่างไร, มีคนอยู่กี่คน ฯลฯ และเมื่อเราตั้งโจทย์ได้แล้ว เราก็ค่อย ๆ หาองค์ประกอบอื่นให้เข้ากับรูปแบบที่วางเอาไว้ เช่นต้องใช้เฟอร์นิเจอร์อย่างไร, ใช้เทคโนโลยีอะไรบ้าง, ดีไซน์ตรงกันไหม เป็นต้น นอกจากนี้คุณโมทย์ยังทิ้งท้ายถึงเทรนด์ของ Digital Transformation ในมุมของส่วนตัวว่าเราต้องให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นคือการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย (Fluidity) และ ความเรียบง่าย (Simplicity)

คุณนารีรัตน์มองว่าการจะได้มาซึ่งข้อมูล (Data Collection) ในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เช่นกัน เพราะตอนนี้คนใส่ใจเรื่อง Privacy และ Security มากขึ้น ดังนั้นในฐานะของแบรนด์ที่ต้องการข้อมูลของลูกค้า ก็ต้องพยายามคิดค้นวิธีที่ตอบโจทย์องค์กรและลูกค้ามากขึ้น เช่นการใช้ VR/AR , Gamification หรือสื่อใดก็ตามแต่ ซึ่งกลไกนี้ทำให้ฝ่ายครีเอทีฟต้องทำงานร่วมกับฝ่ายไอทีเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมที่สุด ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างแผนกต่าง ๆ ลดน้อยลง เราต้องคิดว่าการทำงานในปัจจุบันเปรียบดั่งทุกคนอยู่บ้านหลังเดียวกัน ทุกคนจึงต้องร่วมมือเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตรงความต้องการขององค์กรมากที่สุด

Key Takeaway จากผู้บรรยายทั้ง 3 ท่านมีดังนี้

1. คุณปราโมทย์ : องค์กรบางแห่งมีความพร้อม แต่ยังมีความกลัวเพราะรู้สึกว่ามันยังไม่ใช่ เราจึงควรลอง “ไม่กลัว” และลงมือทำ รับรองว่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นแน่นอน

2. คุณนารีรัตน์ : ถ้าเราอยากปรับตัวเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่าง อย่าคิดว่าสิ่งที่เราทำจะสำเร็จ 100% เพราะต่อให้เราจะคำนวนเอาไว้อย่างเต็มที่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งที่เราเคยคิดก็อาจไม่ได้ผลอีกต่อไป เราต้องรู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาด และต้องรู้จักทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อให้รู้ว่าสิ่งใดควรใช้ และสิ่งใดควรปล่อยผ่านไป

3. คุณคณพร : หากเราทำได้แค่เทียบเท่ากับเทคโนโลยี สักวันเราก็จะถูกแทนที่ ดังนั้นสิ่งที่เราต้องมีคือจินตนาการ และรู้จักร่วมมือกับผู้อื่นเพื่อก้าวข้ามข้อจำกัดบางอย่าง เราต้องก้าวเดินด้วยความคิดสร้างสรรค์ ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับความซับซ้อน (Complexity) และเปิดกว้างในการรับสิ่งใหม่เข้ามา

Transform Creative Content Marketing with Generative AI : พลิกวงการสร้างสรรค์งาน Creative Content Marketing ด้วย Generative AI

บรรยายโดยคุณสุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล Co-Founder & Director of Planning & Ideas Brandbaker


เมื่อเราพูดถึง Content Marketing ความท้าทายหลัก ๆ ของมันมีอยู่ 3 ตัวคือ

1. Low Reach : Engagement เพราะคนมีทางเลือกเยอะมาก

2. Not Enough Time : เวลามีไม่พอ เพราะกว่าคอนเทนต์จะเสร็จ ใช้เวลานาน

3. Less Budget : สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ย่ำแย่ลง

จาก Pain Point สามข้อข้างต้นนั้น ผู้บรรยายมองว่าแม้ Generative AI จะช่วยแก้ปัญหาได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด สิ่งที่จะช่วยให้การใช้งาน AI มีประโยชน์สูงสุดคือความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ของเรา เพราะการใช้ AI เปรียบเสมือนการ “ต่อกล่อง” เราต้องเข้าใจว่าเครื่องมือแต่ละอย่างจะให้ผลลัพธ์อย่างไร จากนั้นก็ต้องรู้ว่าควรนำไปต่อยอดเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการอย่างไร

Generative AI จะช่วย Content Marketing ใน 3 ประเด็นคือ 1.) Faster 2.) Easier 3.) More Diverse เช่นในอดีตเวลาจะทำโฆษณา เราอาจเคยประสบปัญหาเรื่องการหาภาพให้ตรงกับจินตนาการในหัว แต่ปัจจุบันเราสามารถลดขั้นตอนดังกล่าวได้เลยหากมีความรู้เรื่อง AI และสามารถสั่งงานเป็น

ผู้บรรยายเน้นย้ำว่าสิ่งที่ AI สู้มนุษย์ไม่ได้เลยคือ Logical Thinking ดังนั้นเราต้องเปลี่ยนวิธีการจากการ “ให้ AI คิด” ไปเป็น “ให้มนุษย์คิด แล้วให้ AI ช่วย” เราต้องรู้จักวิธีให้ Input ที่ดี โดยผู้บรรยายยกตัวอย่าง Bad Input เช่น ‘Please make content marketing for [product name]’ ส่วน Good Input คือการให้ข้อมูลอย่างละเอียดที่สุด มีการแยกประเด็นให้ครบทุกแง่มุมเพื่อให้ AI เห็นภาพ นอกจากนี้การพูดคุยกับ AI ไปเรื่อย ๆ จะทำให้เราได้ผลลัพธ์ที่ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้นตามลำดับ

ข้อดีของ AI อีกอย่างคือการช่วยคิดงานที่น่าเบื่อ, ซับซ้อน หรืองานซ้ำ ๆ และสำคัญที่สุดคือช่วยให้เรามีทางเลือก (Option) มากขึ้น เช่นเราสามารถใช้ปลั๊กอิน Video Insights ของ ChatGPT เพื่อวิเคราะห์ประเด็นหลัก (Key Points) จากวีดีโอได้เลย จากนั้นก็ถามเสริมได้ด้วยว่า “ขอข้อมูลที่คนไม่ค่อยรู้หน่อย” แค่นี้เราก็จะได้ผลลัพธ์ใหม่ที่เจาะลึกเหมาะกับการนำไปใช้แล้ว 

ปัจจุบันเราไม่ได้มีแค่ Text to Photo แต่ยังมี Text to Video, Text to Music, Text to Speech และอีกมากมาย หมายความว่าคนจะเข้าถึงข้อมูลที่ช่วยสร้างความน่าสนใจให้เนื้อหาโดยใช้เวลาเพียงนิดเดียว มนุษย์ในปัจจุบันจึงสามารถสร้าง “สิ่งที่อยากได้” ง่ายขึ้น และเมื่อเราได้สิ่งที่ต้องการแล้ว จึงค่อยเลือกหยิบใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละโอกาสก็พอ

ข้อควรระวังในการใช้ AI คืออย่าให้ AI ทำงานโดยไม่มีคนดูแล เพราะ ChatGPT เองก็อาจให้ข้อมูลที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือระบบ Auto-Pilot ของรถยนต์สุดล้ำอย่าง Tesla ก็ยังเคยเจอข้อผิดพลาดตอนที่รถหยุดกะทันหันเมื่อเจอรถสองแถว เพราะระบบของ Tesla ไม่เคยวิ่งบนถนนในประเทศไทยมาก่อน ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ที่แพลตฟอร์ม AI หลายแห่งเริ่มถูกองค์กรฟ้องร้องอยู่เป็นระยะ

ผู้บรรยายกล่าวทิ้งท้ายว่า Generative AI คือ “เครื่องมือ” (Tools) เราต้องใช้ให้เป็น เพราะการมีเครื่องดนตรีดี ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสร้างสรรค์เพลงที่ดีได้ ดังนั้นการที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี เราต้องมีความรู้, มีเป้าหมาย, และมีทักษะในการใช้เครื่องมืออย่างดีที่สุด นี่คือองค์ประกอบหลักที่จะช่วยให้การใช้ AI มีประโยชน์อย่างแท้จริง

The Art of Affiliate Marketing : ศิลปะแห่งการหาคนมาช่วยขาย

บรรยายโดย คุณธนาวัฒน์ มาลาบุปผา Co-Founder and CEO of Priceza  และคุณพลาวุฒิ เจริญจิตมั่น Managing Director at Micron Group Co.,Ltd


การโฆษณาออนไลน์ สามารถทำได้หลายวิธีในปัจจุบัน แต่หากจะหาวิธีโฆษณาแล้วได้ผลคุ้มค่ากับเงินที่เสียไปที่สุดในปัจจุบัน น่าจะหนีไม่พ้น Affiliate Marketing หรือ การตลาดแบบหาคนมาช่วยนั่นเอง และคนที่มาช่วยก็คืออินฟลูเอนเซอร์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TikTok ซึ่งมีมากกว่า 2 ล้านคนในประเทศไทย

สาเหตุที่ Affiliate Marketing เป็นทางออกที่ดี เพราะองค์กรจะใช้เงินไม่มาก แต่รู้แน่นอนว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาแค่ไหน ทำให้เจ้าของกิจการสามารถวางงบประมาณได้แน่นอน แตกต่างจากหลายวิธีอื่น ๆ เช่น การยิงโฆษณาผ่าน Facebook ที่ไม่สามารถการันตีได้ว่า การบูทส์โพสต์แต่ละครั้ง จะให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่าหรือไม่ ทำให้องค์กรเล็ก ๆ ที่อาจไม่มีทุนทรัพย์เท่าองค์กรใหญ่ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากกว่าที่คิด 

สำหรับการตลาดแบบ Affiliate Marketing สามารถแบ่งได้ 2 ยุคสมัยคร่าว ๆ ดังนี้

1.ยุคที่เน้นปริมาณ (Quantity) หรือยุคของคอนเทนต์แบบ Clickbait จั่วหัวดึงดูดน่าสนใจให้กดเข้าไปในลิงก์คอนเทนต์ต่าง ๆ พอกดเข้าไปจะเจอโฆษณาจำนวนมาก ซึ่งผู้ใช้งานอาจกดผิด แล้วพุ่งตรงไปยังเว็บต่าง ๆ โดยไม่ตั้งใจ ยุคนี้เต็มไปด้วยคอนเทนต์ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควรนัก

2.ยุคที่เน้นคุณภาพ (Authenticity) เกิดขึ้นช่วงเปลี่ยนผ่านจากทำ Blog สู่ยุคที่มีผู้มีอิทธิพลทางความคิดเป็นครีเอเตอร์ การรีวิวของครีเอเตอร์ที่เปรียบเสมือนเพื่อนอีกคนผู้บริโภคไว้วางใจ เชื่อใจ ส่งอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากกว่า 60-70% คอนเทนต์ที่เผยแพร่ในยุคนี้ หากทำด้วยความจริงใจ อะไรดีบอกดี อะไรไม่ดีบอกไม่ดี จะยิ่งได้ใจผู้บริโภคจำนวนมาก สวนทางกับคอนเทนต์ที่รีวิวตามใบสั่ง ผู้บริโภคจะจับไต๋ง่ายว่านี่คือการโฆษณาตรง ๆ ดังนั้นความจริงใจต่อผู้บริโภคสำคัญมากในยุคสมัยนี้

สำหรับข้อดีของ Affiliate Marketing สามารถแจกแจงได้ 3 ข้อ ประกอบด้วย

1.รู้ต้นทุนขัดเจน ผู้ประกอบการรู้แน่ชัดว่าต้องใช้เงินเท่าไหร่ในการโฆษณา ในการจ้างอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป

2.ช่วยเข้าถึงชุมชนของผู้บริโภคแต่ละสายได้ตรงตัว การเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์ที่มีฐานผู้ติดตามเยอะ จะทำให้เกิดคอนเทนต์ที่โดนใจผู้บริโภคจำนวนมาก เมื่อเขาแนะนำสินค้าของแบรนด์ จะช่วยสร้างอิทธิพลทางความคิดของคนในชุมชนได้โดยตรง โดยที่นักการตลาดไม่จำเป็นต้องไปค้นหาชุมชนเหล่านั้นด้วยตัวเอง

3.ติดตามผลได้ง่าย เพิ่มยอดขายได้ง่าย เมื่อก่อนอาจมีปัญหาว่า หากซื้อโฆษณาทาง Facebook บ่อย ๆ ยอดที่ออกมาอาจไม่สูงเท่าที่ควร แต่ Affiliate Marketing จะแก้ปัญหาได้ถ้าทำคอนเทนต์ดีมีคุณภาพเยอะในแพลตฟอร์มอื่นมาก่อน แล้วนำมา Retarget ใน Facebook อีกทีด้วยการยิงโฆษณาเพิ่ม วิธีนี้จะช่วยให้ได้ยอดการเข้าถึงและยอดขายที่ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเยอะแต่อย่างใด

สำหรับโมเดลที่จะช่วยให้ทำ Affiliate Marketing ได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับแบรนด์เล็ก ๆ ควรทำ 5 อย่างดังต่อไปนี้

1. วางเป้าหมายให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เช่น อยากได้ยอดขาย อยากให้แบรนด์เป็นที่รู้จัก ฯลฯ ถ้าเป้าหมายชัดเจนตั้งแต่แรก จะวางแผนต่อได้ชัดเจนขึ้นว่าจะต้องทำอย่างไร มีอะไรสามารถทำได้บ้าง สิ่งที่จะทำสามารถทำได้ด้วยตัวเองหรือต้องใช้คนอื่นช่วยเพื่อไปสู่เป้าหมาย

2. กำหนดผลตอบแทนแก่อินฟลูเอนเซอร์ที่แน่ชัด เมื่อจะให้อินฟลูเอนเซอร์ช่วยโปรโมทสินค้า ก็ต้องให้ผลตอบแทนที่แน่ชัด และเป็นธรรม เช่น ของมูลค่า 100 บาท ถ้าขายได้จะได้ค่าคอมมิชชั่นให้ 10% เป็นต้น อย่าลืมว่าคนหยิบสินค้าไปรีวิว ต้องเสียเวลาทำคอนเทนต์ ต้องคิดด้วยว่าจะทำคอนเทนต์อย่างไร ต้องเหมาะสม มีกำไร และดึงดูดคนได้ สิ่งนี้เป็นศิลปะ ไม่มีสูตรตายตัว

3. มอบมิตรภาพแก่อินฟลูเอนเซอร์ มีอินฟลูเอนเซอร์ไม่กี่คนที่เป็นสุดยอดของด้านนั้นจริง ๆ และจะมีผู้ติดตามอีกมหาศาล ถ้าดูแลเขาอย่างดี เขาจะเป็นพันธมิตรที่ช่วยให้เดินไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้ โดยหากเป็นไปได้ เจ้าของกิจการควรจะต้องเข้ามาคุย ทำความรู้จักกับอินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นด้วยตัวเอง เพราะเขาจะสัมผัสได้ถึงความจริงใจได้โดยตรง หลีกเลี่ยงการให้เอเจนซี่เป็นคนดูแล และถ้าจะให้คนในทีมมาดูแล ก็ต้องหาคนที่มีใจบริการ ชอบการพูดคุยบริหารความสัมพันธ์กับผู้อื่น จะช่วยให้ความสัมพันธ์ยืนยาว

4.อย่าลืมติดตามผล เมื่อใช้งบประมาณไปแล้ว อย่าลืมติดตามผลว่ามีผู้เข้าถึงสินค้ามากแค่ไหน ปฏิสัมพันธ์ที่ลูกค้ามีในโพสต์ ในคอนเทนต์เป็นอย่างไร

5.อย่าลืมประเมินผลและปรับแผน ถ้าคนสนใจสินค้า แต่กลับไม่เกิดการซื้อมากเท่าที่ควร ก็ต้องวางแผน ปรับปรุงแผนให้ดีขึ้น การมีข้อมูลในมือจะช่วยให้วางเป้าหมายให้ทีมงานมองเห็นร่วมกันได้ง่าย รู้ว่าสิ่งที่ทำดีอยู่แล้วหรือไม่ หรือยังต้องพัฒนาต่อ รู้ว่าอะไรที่ทำดีแล้ว ต้องทำต่อไป

และนี่คือ Affiliate Marketing เครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรที่มีทุนทรัพย์ไม่มาก สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Marketing to Gen Z: Engaging the New Generation

บรรยายโดย คุณณัฐพล ม่วงทำ เจ้าของเพจการตลาดวันละตอน ที่ปรึกษาด้านการตลาด


คำว่า Gen Z อาจเพิ่งเป็นที่รู้จักแค่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่คนในวัยนี้มีความสำคัญต่อโลกการตลาดยุคปัจจุบันอย่างมาก และนักการตลาดจำเป็นต้องเรียนรู้พฤติกรรมของพวกเขา เพราะมีผลต่อการเติบโตของแบรนด์อย่างยิ่ง

หากถามว่าคน Gen Z หมายถึงใคร หลายคนอาจคิดว่าหมายถึงเพียงแค่วัยรุ่นเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว Gen Z สามารถแบ่งได้ถึง 4 ช่วงวัย ได้แก่ ช่วงอายุ 11-18 ปี (Teenager) ช่วงอายุ 18-22 ปี (Explorer) ช่วงอายุ 22-24 ปี (First Jobber) และช่วงอายุ 24-26 ปี (Senior) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น คน Gen Z เติบโตและใช้ชีวิตผ่าน 4 ยุคดังนี้

1.ยุควิกฤติการเงิน เช่น วิกฤติ Subprime เกิดมาแล้วรู้สึกว่าการไต่ระดับชั้นทางสังคมทำได้ยาก ไม่สามารถซื้อบ้านได้เพราะบ้านราคาแพงมาก

2.ยุคแห่งภัยพิบัติ หรือยุคที่คน Gen ก่อนหน้าใช้โลกไม่ระวัง เกิดปัญหาโลกร้อน ฝุ่นควัน PM2.5 เป็นต้น

3.ยุค Always Online เมื่ออินเทอร์เน็ตอยู่รอบตัว ออนไลน์ตลอดเวลา

4.ยุคโควิด-19 หรือยุค New Social Media เป็นยุคที่ต้องเรียนมหาวิทยาลัยช่วงการแพร่ระบาด ได้เจอเพื่อนผ่านหน้าจอเท่านั้น ขาดปฏิสัมพันธ์ในโลกจริง และจบมาหางานยากมาก

แต่สิ่งที่นักการตลาดจำเป็นต้องรู้และตระหนักก็คือ คน Gen Z ในยุคนี้ใช้บริการ Subscription คนไม่อยากมีรถ ไม่อยากมีภาระเพิ่ม ทำใบขับขี่น้อยลง แต่เลือกใช้บริการ Grab, Uber เพราะยังต้องการเข้าถึงบริการต่าง ๆ แต่ไม่ต้องการครอบครองเป็นของตัวเอง เช่น ดูหนังผ่าน Netflix แต่ไม่ซื้อแผ่น DVD อีกต่อไป

คน Gen Z ยังมีความฉลาดทางการเงินมากกว่าที่คนยุคก่อนคาดคิด คนจำนวนมากตั้งเป้าเก็บเงินให้มากที่สุด แต่ในขณะเดียวกันก็เกิดบริการต่าง ๆ เช่น Buy Now Pay Later มีแอปพลิเคชั่นที่ช่วยให้ผ่อนของโดยไม่ต้องมีสลิปเงินเดือน เกิดแคมเปญ Your First Loan Ever ชวนมากู้ครั้งแรก เริ่มจากการกู้เพื่อมาดูคอนเสิร์ต เพื่อซื้อประสบการณ์ที่ดี

ที่สำคัญ คน Gen Z ยังมีช่องทางทำเงินได้ง่ายกว่าคน Gen ก่อน เข้าถึงโอกาสงานมากขึ้นผ่านช่องทางที่หลากหลาย ด้วยเหตุนี้ทำให้หลายคนมองว่า Gen Z ไม่ค่อยอดทน แต่คำถามคือ จะอดทนทำไมในเมื่อสามารถได้งานได้ง่ายกว่า มีช่องทางง่ายกว่า ซึ่งกลายเป็นความท้าทายของแต่ละองค์กรที่ต้องพัฒนาและปรับปรุงองค์กรเสมอ เพื่อให้อยู่คู่องค์กรนานขึ้น ซึ่งแบรนด์แต่ละเจ้าก็สามารถเอามาปรับใช้ได้เช่นกัน เพื่อตอบคำถามว่าทำไมเด็ก Gen Z ต้องอยากมาเป็นลูกค้าแต่ละแบรนด์ด้วย

ในยุคที่คน Gen Z มีอิทธิพล เกิดเป็น Creator Economy ไม่ต้องเป็นดาราดัง ไม่ต้องหน้าตาหล่อสวย แต่ขอแค่มี Passion และเจอชุมชนที่ใช่ ก็สามารถเติบโตและมีอิทธิพลทางความคิดของคนหมู่มากได้ เช่น เป็นอินฟลูเอนเซอร์สายการลงทุน (FinFluencer) อินฟลูเอนเซอร์สายจิตวิทยา ช่วยแก้ปัญหาโรคซึมเศร้า 

นอกจากนั้น เสียงของคน Gen Z ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ในเรื่องการแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พวกเขาพร้อมใช้เงินกับแบรนด์ที่มีทัศนคติที่ดี ใครที่แสดงทัศนคติไม่ดี ไม่เป้นธรรม สามารถโดน #แบน ได้ง่าย ๆ 

หากแต่ละแบรนด์ตระหนักถึงความต้องการของคน Gen Z ที่ต้องการสิ่งที่อาจไม่โดดเด่นในสายตาตัวเอง แต่เป็นเรื่องที่สำคัญกับเขามาก มันจะกลายเป็นสิ่งที่ได้ใจคนกลุ่มนี้ ซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความสำคัญต่อสังคมมากขึ้นตามมา

Fandom Marketing & Measurement : สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รักด้วยการตลาดแบบแฟนด้อมที่วัดผลได้จริง

บรรยายโดยคุณจักรพงศ์ คงมาลัย Managing Director, Rabbit’s Tale PR (Moonshot Digital)


David Meerman Scott กล่าวว่า Fanocracy คือการสร้างแรงบันดาลใจและความหลงใหล คลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์, แบรนด์ หรือแนวคิด ด้วยการยึดเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหัวใจสำคัญ 

แฟนด้อมจะเกิดขึ้นได้ ต้องมาจากแนวคิดอย่างไร

1. Brand ที่คนรู้สึกเป็นมิตร  : เช่นบริการกรณีของ Bar B Q Plaza ที่จัดลังกระดาษเป็นรูป “พี่ก้อน” มานั่งตรงข้ามลูกค้าที่มาคนเดียว และสามารถเอากลับบ้านได้ด้วย โครงการนี้ทำให้คนสนุก อยากมากินบ่อย ๆ เพราะมองว่าร้านค้าให้ความสำคัญกับพวกเขา

2. Brand ที่คนรู้สึกอยากเป็นส่วนหนึ่ง : เช่น Apple แบรนด์เทคโนโลยีระดับโลกที่มีฐานแฟนคลับเยอะมาก ใคร ๆ ก็อยากใช้สินค้า อยากทำงานด้วย

ผู้บรรยายกล่าวว่าปัจจุบันใคร ๆ ก็สามารถทำตัวเป็นสื่อได้ ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเสียเงินจ้างผู้มีชื่อเสียงมาประชาสัมพันธ์สินค้าเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่หากเราทำในสิ่งที่ลูกค้าชอบมากพอ ก็จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมและเกิดการแชร์สู่สาธารณะในลำดับต่อไป

วิธีสร้างแฟนมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ (สามารถปรับให้เข้ากับธุรกิจของตนได้เลย)

1. รู้จักกลุ่มแฟนของตัวเองว่าคือใคร

วิธีการ : ให้ลูกค้าลิสต์ลูกค้า 10 คนออกมาเลย เพราะเป็นคนที่หากเราทำได้ดี ก็จะช่วยบอกต่อแน่นอน

2. มองหา Passion Point คือสิ่งที่ลูกค้าของคุณหลงใหล และสิ่งที่ตัวคุณทำได้ดี

วิธีการ : ตอกย้ำสิ่งที่ลูกค้าชอบ และพัฒนาสิ่งที่เราทำได้ดี

3. สร้างเนื้อหาที่ตรงกับ Passion ของแฟน ๆ

วิธีการ : เล่าเนื้อหาของแบรนด์

4. สร้างบรรยากาศของชุมชนและดุึงแฟน ๆ มามีส่วนร่วมเพื่อขยายฐาน

วิธีการ : พูดคุย, ขอความรู้จากลูกค้า

5. วัดผลและทำให้ดีขึ้น

วิธีการ : ดู Awareness, Trusted Sentiment, Email Subscription, Lead

วิธีวัดผล (Measurement) ของการทำแฟนด้อม มีดังนี้

1. OUTPUTS : Exposure : มีขึ้นเพื่อทำให้คนเห็นว่าเราคืออะไร วัดผลได้จากยอดวิว, ยอดรีช

2. OUTTAKES : Engagement : วัดผลด้วยการมีส่วนร่วม เช่น Likes, Comment, Share

3. OUTCOMES : Outcomes : ความเชื่อมั่น, การเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude Change)

4. IMPACTS : Action : วัดผลจากชื่อเสียง,​เซลล์ และการรักษาพนักงานเอาไว้กับบริษัท

วัดผลเสร็จแล้วจต้องทำอย่างไรต่อ ?

1. ถ้ารู้ว่า Performance ของ Content ไหนดี – ไม่ดี ก็ต้องเรียนรู้และปรับให้ดีขึ้น

2. ปรับ tactic และ format ให้สอดคล้องกับ Platform ที่แฟน ๆ ชอบ

3. Challenges : Fixed Mindset ฝันเกินไป ทำไม่ได้หรอก

– สำหรับผู้นำ เรื่องบางเรื่องอาจมองว่าทำได้ยาก แต่เราก็ต้องบอกทีมว่ามันอาจเป็นเพราะเรายังไม่ได้ลงมือทำเลยคิดไปเองว่ายาก เราเลยต้องลงมือทำก่อน จะได้รู้ว่าเราทำไม่ได้จริงหรือไม่

– ตั้ง Experiment Budget รายปี

ท้ายสุดให้คิดว่าวิธีการทำธุรกิจที่ดีคือ “อย่าคิดว่าเราจะได้อะไรก่อน” แต่ให้คิดว่า “เราจะให้คุณค่าอะไรกับแฟน ๆ ก่อน” ต่างหาก

Creative + Innovation = Global Business ได้อย่างไร

บรรยายโดย ดร.เอกลักษณ์ ยิ้มวิไล Founder Ocean Sky Network, CEO Mandala Analytics


โลกธุรกิจยุคปัจจุบัน หากไม่มีความคิดสร้างสรรค์ (Creative) ย่อมไม่สามารถเกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) นำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่เมื่อพูดถึงนวัตกรรม ผู้คนมักจะคิดว่ามันเกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยี แอปพลิเคชั่น โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทั้งที่จริงแล้ว ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เกิดขึ้นก็เพราะคน และการจะพาองค์กรเติบโตไปสู่ระดับโลกได้ ก็เพราะคนนั่นเอง

ทั้งนี้ความคิดสร้างสรรค์คือสิ่งที่ไม่ต้องลงทุน แต่เกิดจากการตั้งคำถาม การตีความ แต่ละคนมองเห็นข้อมูลชุดเดียวกัน ก็อาจตีความไม่เหมือนกันเสมอไป นวัตกรรม ไม่จำเป็นต้องยุ่งยากซับซ้อน แต่เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นสิ่งที่ง่าย 

อย่าลืมว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่เคยเปลี่ยน พื้นฐานของคนยังต้องกิน มีชีวิต เที่ยวเสมอ ภายใต้โลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ยังมีความท้าทายรายรอบตัวทำให้ต้องเร็ว ต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในยุคปัจจุบันกลับไม่ค่อยอยากเรียน สวนทางกับ Machine ที่ Learning ตลอดเวลา

บริษัทเทคโนโลยีจำนวนมาก มีความเป็นศิลปินทั้งนั้น ข้อมูลคือเลโก้ที่รอประกอบรูปร่าง และสิ่งที่จะทำให้ประกอบออกมาแตกต่างกันก็คือทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ หากองค์กรต้องการสร้างความแตกต่าง ก็ต้องเริ่มจากการกล้าเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ระดับผู้นำเป็นรายแรก หากต้องการให้ลูกทีมมีความคิดสร้างสรรค์ ผู้นำก็ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ก่อนเช่นกัน

ความคิดสร้างสรรค์ + นวัตกรรม จะช่วยนำพาองค์กรไปสู่ระดับโลกได้ ด้วยก้าวย่างดังต่อไปนี้

1.ตั้งเป้าหมายแล้วไปให้ถึง ต่อให้เป้าหมายจะดูยากเพียงใด แต่บนโลกนี้ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้ อย่างไรก็ตามเมื่อตั้งเป้าแล้วก็ต้องทำให้ได้ด้วย

2.เลือกพื้นที่ อยากพาองค์กรไปไกลแค่ไหน ต้องกำหนดที่หมายให้ชัดเจน จะไปแค่ในระดับประเทศตัวเอง ระดับภูมิภาค หรือไปทั้งโลก

3.ตั้งคำถาม คนไม่ค่อยกล้าตั้งคำถามว่า สิ่งที่อยากได้มา จะได้มาอย่างไร ทั้งที่การตั้งคำถามคือวิธีสำคัญที่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ได้

4.ต้องกล้าเปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด การเจอสถานการณ์เลวร้ายจะช่วยให้กล้าออกจากเซฟโซน

5.ยินยอมที่จะก้าวข้ามอุปสรรค ต้องไม่หยุดเดินต่อไป แม้การจะขึ้นจุดสูงสุดหนักหนาจะการันตีว่าต้องเหนื่อยแน่นอน

6.คิดบวก คิดนอกกรอบ คิดไม่เหมือนชาวบ้าน การกล้าคิดต่างจะนำมาซึ่งนวัตกรรมใหม่ ๆ สิ่งใหม่ ๆ แต่ต้องคิดอย่างสนุก ไม่ได้ซีเรียสเกินไป 

7.Scalable ปรับเปลี่ยนได้ วัดผลได้ คิดตั้งแต่แรกว่าเครื่องมือที่ใช้จะช่วยในอนาคตอย่างไรบ้าง เตรียมการไว้ก่อน แม้จะยังไม่ได้ใช้งานจริง

ทั้งนี้ ความสำเร็จของการไประดับโลก ยังขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กรด้วยว่า มองความสำเร็จอย่างไร ทีมเวิร์คเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ตั้งแต่ผู้บริหารจนถึงแม่บ้านต้องเข้าใจร่วมกัน ต้องเป็นองค์กรที่มีเลือดนักรบแบบไวกิ้ง (Viking) ผู้ที่ไม่รู้ว่าจะมีอะไรรออยู่ข้างหน้า แต่ก็พร้อมลุย พร้อมสู้ไปด้วยกัน และสปาร์ตัน (Spartan) ที่แม้จะมีเพียง 1 คน ก็เหมือนมี 5 คนอยู่ในทีม 

และบางครั้งการมีทีมที่เก่ง และพาร์ทเนอร์ที่ดี ก็ไม่จำเป็นต้องมีคนเยอะเสมอไป แต่ต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว ปรับตัวได้ง่าย ฉลาม อาจถือเป็นเจ้าทะเล แต่ปลาปิรันย่า ที่มากันเป็นฝูง ปฏิบัติการได้ในเวลาอันรวดเร็วกว่า

กล่าวโดยสรุป นวัตกรรม คือการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อเข้าใจผู้บริโภค ให้ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค นวัตกรรมไม่เกี่ยวกับว่ามีเงินมากเพียงใด แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดสิ่งที่ทำได้จริงและจับต้องได้จริง และทีละก้าว ๆ ก็จะช่วยให้ไปถึงเป้าหมาย ไปถึงระดับโลกอย่างแน่นอน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง