สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2023 : Wellness For People

HIGHLIGHT

  • หากต้องการให้องค์กรน่าอยู่ ทำงานแล้วดีต่อสุขภาพ องค์กรต้องส่งเสริมให้มีระบบด้านสุขภาพที่ดี (Wellness) ให้พนักงานกินอาหารที่ดี หาโอกาสให้พนักงานเคลื่อนไหวร่างกายเสมอ ส่งเสริมให้พนักงานมีเป้าหมายในการทำงานแน่ชัด มีสถานที่ให้พักผ่อนหย่อนใจ ช่วยให้พนักงานได้ฝึกจิต ฝึกสมาธิ
  • เมื่อมีสุขภาพกายดีแล้ว (Wellness) อย่าลืมดูแลสุขภาพใจด้วย แต่การจะมีสุขภาพใจดีได้ ไม่สามารถทำได้แค่มีนักจิตวิทยาคอยให้ปรึกษาพนักงาน แต่บริษัทต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการทำงานให้เหมาะสมด้วย มิฉะนั้นต่อให้พนักงานมีที่ระบายความเครียด แต่จะไม่สามารถกำจัดมันออกไปได้ ส่งผลให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • อีกปัจจัยที่ช่วยให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี (Wellness) โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพจิต คือการเสริมสร้างความรู้เรื่องการเงิน งานวิจัยพบว่าพนักงานที่มีปัญหาการเงิน จะมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลง และปัจจุบัน นักเรียนนักศึกษา ผู้ที่จะกลายเป็นพนักงานบริษัทในอนาคตก็มีปัญหาด้านนี้เยอะ HR จึงต้องรีบหาทางแก้ปัญหาไว้แต่เนิ่น ๆ เพื่อที่เมื่อนักศึกษาเรียนจบมาสมัครงาน จะไม่ส่งผลต่อการทำงาน
  • ปัญหาทางกายและใจ (Wellness) จะเป็นปัญหาใหญ่ การจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในองค์กร อาจช่วยลดความรุนแรงของปัญหาได้ แต่ก็ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาตรงจุด วิธีการที่ดีที่สุดคือต้องเสริมสร้างภาวะผู้นำให้กับคนในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนเป็นหัวหน้าทีม เพราะเขาคือผู้ที่อยู่กับพนักงานมากกว่า HR และพร้อมยื่นมือช่วยเหลือทันท่วงทีได้มากกว่า

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2023 : Wellness For People

เมื่อวันที่ 14 – 15 มิถุนายน 2023 HREX.asia ได้เข้าร่วมงาน Thailand HR Tech 2023 ในธีม “Everything Everywhere Augmented” ในงานไม่เพียงมีการออกบูธของบริษัท HR Tech ชั้นนำต่าง ๆ แต่ยังมีการเสวนาในหลากหลายหัวข้อที่มีประโยชน์กับการทำงานของชาว HR ทุกคน ทุกสายงาน

ก่อนหน้านี้ HREX.asia อาจสรุปงานเสวนาที่น่าสนใจในงานในหัวข้อเกี่ยวกับ AI และ HR Tech ซึ่งเป็นประเด็นหลักของงานครั้งนี้ แต่ในงานยังจัดเวทีเพื่อเสวนาเกี่ยวกับการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีให้กับพนักงานโดยเฉพาะด้วย เราจึงถือโอกาสนี้สรุปสาระน่ารู้มาให้อ่านกันว่า ในโลกที่กำลังพัฒนาไปไกล HR ควรดูแลสุขภาพพนักงานอย่างไร เพื่อทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไปได้

ถ้าพร้อมแล้ว ติดตามได้จากบทความนี้เลย !

Wellness 1: Health and Wellbeing for executives เคล็ด(ไม่)ลับ สำหรับผู้บริหารในการสร้าง Wellness Culture

โดย นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ ผู้อำนวยการศูนย์ Wellness We care บริษัท เมก้า วีแคร์ จำกัด

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2023 : Wellness For People

ช่วง 10 ปีมานี้มีผลวิจัยใหม่ ๆ ด้านสุขภาพ ที่เปลี่ยนแปลงองค์ความรู้ที่เคยปลูกฝังกันมาเยอะมาก

ล่าสุด Eurospire สำรวจพบว่า การหวังพึ่งหมอ โรงพยาบาล และยารักษาโรค เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องอีกต่อไป เพราะเมื่อเทียบกันแล้ว คนที่ต้องพักฟื้นอยู่ในโรงพยาบาล มีสัดส่วนของคนลงพุง มีความดันสูงมากขึ้นในปี 2007 เมื่อเทียบกับปี 1996 อย่างมีนัยสำคัญ

งานวิจัย Healthy Lifestyle พบประเด็นสอดคล้องกันว่า การให้ประชาชนดูแลตัวเองผ่านดัชนีสุขภาพ 7 อย่างประกอบด้วย การควบคุมน้ำหนัก การดูแลความดัน การลดไขมัน ลดน้ำตาล กินผักผลไม้ ออกกำลังกาย และไม่สูบบุหรี่ ถ้าทำได้ตามนี้จะช่วยลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 91% 

นอกจากนั้นหากนอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ยังเป็นอีกปัจจัยช่วยให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ปลอดโรคอันตรายซึ่งประกอบด้วย โรคอ้วน เบาหวาน ความดัน หัวใจหลอดเลือด สมองเสื่อม โรคไตเรื้อรัง และมะเร็ง ที่กัดกินชีวิตของผู้คนมานานแสนนาน

ผลการวิจัยยังสอดคล้องกับงานวิจัย Blue Zone Project ที่สำรวจชุมชนที่ผู้คนอายุยืนมากสุดในโลกเกิน 100 ปีหลายแห่ง แล้วพบว่าปัจจัยที่ทำให้คนในชุมชนเหล่านี้มีชีวิตยืนยาวขึ้น เพราะพวกเขากินพิชผัก ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย ทำจิตใจให้สงบ ดื่มแอลกอฮอล์ หาเวลาผ่อนคลายความเครียด รักตัวเอง และรักครอบครัว

นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ จึงหยิบปัจจัยเหล่านี้นำมาดัดแปลงเป็น Health Town Concept เพื่อใช้สำหรับสร้างและบริหารให้เกิด Wellness Culture ดังต่อไปนี้

1.อาหารดีต่อสุขภาพต้องหาง่าย บริษัทสามารถส่งเสริมให้พนักงานกินอาหารสุขภาพได้หลายวิธี เช่น เปลี่ยนของว่างการประชุมในปริษัทเป็นชา กาแฟ เครื่องดื่มที่ถือเป็น 2 ใน 3 เครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ รองจากน้ำเปล่า เสิร์ฟด้วยผลไม้ ถ้่ว เลี่ยงการเสิร์ฟน้ำตาล 

นอกจากนั้น หากมีโรงอาหารประจำออฟฟิศ ควรจัดหาร้านที่ทำอาหารเพื่อสุขภาพให้ด้วยอย่างน้อย 1 ร้าน โดยจูงใจด้วยการคิดค่าเช่าถูกลง รวมถึงอนุญาตให้พนักงานทำอาหารสุขภาพมาขาย และใช้พื้นที่ว่างในโรงงานทำสวนผักให้พนักงานซื้อกลับบ้าน เป็นต้น

2.บังคับเดิน บังคับเคลื่อนไหว องค์กรสามารถสร้างวัฒนธรรมการเคลื่อนไหวร่างกาย ลดปัญหาออฟฟิศซินโดรมได้หลายวิธี เช่น หาโต๊ะทำงานยืนได้ รณรงค์ให้ใช้บันไดในการเดินทางขึ้นลงบริษัท จูงใจให้ไม่เอารถมาจอดในที่ทำงาน หรือหากมีที่จอดรถ อาจจัดที่จอดรถไว้ไกล ๆ แล้วทำทางเดินที่ร่มรื่น ทำให้คนอยากเดิน อยากผ่อนคลายระหว่างเดินมาออฟฟิศ

3.ใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย เพราะคนที่มีเป้าหมายอายุยืนกว่าคนไม่มี บริษัทต้องสร้างเป้าหมายร่วมให้พนักงานเห็นดีเห็นงามได้ก่อน โดยแต่ละคนอาจมีหลายบทบาท หลายเป้าหมายได้

4.มีสถานที่ธรรมชาติให้ได้พักผ่อนหย่อนใจ มีมุมพักผ่อนช่วยให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลาย สามารถประดับตกแต่งได้ทั้งต้นไม้จริง ต้นไม้ปลอม มีพื้นที่ให้รับแสงแดด รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ หากมีภาพเขียนธรรมชาติติดไว้บนฝาผนัง ก็ช่วยให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายได้อีกทาง

5.สร้างชุมชนอบอุ่น อาจทำกิจกรรมให้พนักงานมีกลุ่มเพื่อนซี้ในบริษัท จัดงานพบปะในองค์กร ทำกิจกรรมอาสาร่วมกัน และอาจมีมี Warm Zone Warm Hub หรือมุมคนเหงา ให้สังสรรค์ ทำฝ่ายบุคคลให้เป็นโซนอบอุ่น

6.สงบจิต สงบใจ ฝึกจิตสมาธิ บริษัทสามารถสนับสนุนให้มีชมรมพัฒนาสติสมาธิ และให้พนักงานสามารถเข้าร่วมได้ ช่วงเช้าอาจมีชมรมรำมวยจีน ชวนพนักงานมาร่วมฝึกสมาธิ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อร่างกายด้วยประการทั้งปวง

7.ระบบสุขภาพพื้นฐานต้องดี การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นเรื่องจำเป็น แต่ยังไม่พอ องค์กรต้องติดตามผล ปรับปรุงผลการตรวจสุขภาพให้ออกมาดีได้จริงด้วย

หากองค์กรส่งเสริมสุขภาพดีด้วยปัจจัยเหล่านี้ได้ มั่นใจได้ว่าสุขภาพของพนักงานจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย

Wellness 2: Body and Mind: Physical & Mental Wellbeing and Team’s performance.

โดย ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยาแสงเพ็ชร์ CEO and Founder, Ooca

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2023 : Wellness For People

สุขภาพของพนักงานที่แข็งแรง ย่อมส่งผลให้เกิด Performance ที่ดี อย่างไรก็ตาม สุขภาพกายที่ดีไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะสุขภาพใจต้องแจ็งแรงต้องไปพร้อมกันด้วย แต่คนวัยทำงานกลับมีความเครียดสูง จากการสำรวจของ Ooca พบว่าในกลุ่มตัวอย่าง 1,500 คน มีถึง 65% ที่พบว่าทำงานจนเครียด จนเบิร์นเอาท์เป็นเรื่องปกติ 

แม้ปัญหาสุขภาพใจจะเป็นปัญหาใหญ่ แต่รู้หรือไม่ว่า งานวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพจิตในที่ทำงานยังมีน้อย อย่างไรก็ตาม มีไกด์ไลน์ของ WHO Guideline Mental Health at Work และ Mental Health Wellbeing at Work ของ NICE ที่ HR ในแต่ละองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่ในระดับนโยบายว่า มีนโยบายส่งเสริมให้เกิดสุขภาพจิตดีไหม นโยบายใดทำให้ทุกข์ การทำงานมีความยืดหยุ่น ช่วยให้พนักงานทำงานอย่างสบายใจ และมีความสุขหรือไม่ องค์กรให้ความรู้และมองเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดีหรือไม่ คนในองค์กรรู้ตัวแล้วหรือยังว่ามีปัญหา หรือว่าเขามาใช้ตอนที่ปัญหาทางใจโตแล้ว และมีเครื่องมือใดที่พอจะช่วยแก้ปัญหาทางสุขภาพจิตได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากบริษัทไหนที่มีให้บริการสายด่วนสุขภาพจิต ทพญ.กัญจน์ภัสสร แนะนำว่าควรพิจารณาเรื่องการใช้สายด่วนสุขภาพจิตดี ๆ ด้วย เพราะบ่อยครั้งเมื่อนำไปใช้งานจริง กลับพบว่ารูปแบบการใช้งานไม่น่าใช้ ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขจริง ๆ

“แต่ต่อให้ปรึกษานักจิตวิทยาบ่อย ถ้าบริษัทยังไม่เปลี่ยนนโยบายในการทำงานซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พนักงานก็จะทำได้เพียงแค่ระบายความเครียดกับนักจิตวิทยาเท่านั้น แต่จะไม่สามารถกำจัดความเครียดได้เลย และเมื่อปัญหาลึกสุดขององค์กรยังไม่ได้แก้ จะกลับมาเป็นปัญหาอีกเรื่อย ๆ” ทพญ.กัญจน์ภัสสร อธิบาย

Wellness 3: Financial literacy as a Catalyst: Using technology to reduce employee financial stress and improve mental well-being

โดย จารุมณี นาคะศิริ Chief Strategy & Governance Officer, Mula-X Holding (Thailand) Co., Ltd.

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2023 : Wellness For People

รู้หรือไม่ว่า คนที่มีปัญหาสุขภาพจิต จะมีความสามารถในการตัดสินใจที่ถูกต้องลดลง โดยเฉพาะอย่างการตัดสินใจด้านการเงิน ทำให้ใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่ายจนปัญหาการเงินแย่ลง บ่อยครั้งที่มันกลายเป็นวงจรอุบาทว์ และกระทบกับการทำงาน กลายเป็นประเด็นเร่งด่วนที่ HR ต้องให้ความสำคัญ

โดยเฉพาะช่วงหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้คนเป็นหนี้ในระบบและนอกระบบมากขึ้น คุณจารุมณี นาคะศิริ อธิบายปัจจุบันกลุ่มคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาเหล่านี้ก็คือพนักงานบริษัทนั่นเอง โดยเฉพาะผู้ยังมีเงินเดือนน้อยเกินกว่าจะสามารถกู้ ขอสินเชื่อจากธนาคาร หรือมีบัตรเครดิตดอกเบี้ยต่ำได้ รวมถึงกลุ่ม First Jobber หรือกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ เพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มงานและสร้างเนื้อสร้างตัว และกลุ่มที่น่าตกใจที่สุดก็คือกลุ่มนักเรียนนักศึกษา ผู้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตอันใกล้ 

ผลการสำรวจนักเรียนนักศึกษา 9,000 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 40% เครียดเรื่องเงินตลอดเวลา กลุ่มตัวอย่าง 30% อยู่ในภาวะซึมเศร้า 4% เคยคิดฆ่าตัวตาย และ 1.3% เคยทำร้ายตัวเองมากกว่า 1 ครั้ง และสาเหตุที่เครียดเรื่องเงิน เพราะเป็นหนี้ ซึ่งก็มีทั้งหนี้จากการกู้ยืม กยศ. หนี้จากบัตรเครดิตทั้งของตัวเอง และบัตรเครดิตเสริมที่พ่อแม่ผู้ปกครองให้ใช้ ไปจนถึงเป็นหนี้นอกระบบ กลายเป็นกลุ่มที่กำลังต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด

แม้จะเป็นเรื่องของนักเรียนนักศึกษา แต่ HR ก็ต้องให้ความสำคัญมาก ๆ เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จะเรียนจบออกมาเพื่อทำงานในบริษัทต่าง ๆ หากพวกเขาต้องทำงานพร้อมกับขบคิดเรื่องปัญหาทางการเงินเกินตัว ย่อมส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ลดน้อยลง และทำให้องค์กรต้องเสียเงินมากกว่าที่ควรในขั้นตอนการรับสมัคร การ Upskill-Reskill และการ Retain พนักงานเพื่อให้อยู่คู่องค์กรอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

สิ่งที่ HR สามารถช่วยพนักงานได้ประกอบด้วย

1.หาเครื่องมือเสริมสร้างความรู้ทางการเงินแก่พนักงาน องค์กรควรให้ความรู้ด้วยการจัดอบรมความรู้การเงิน Money Management เมื่อมีความรู้ทางการเงินเพียงพอ พนักงานจะไม่กู้หนี้นอกระบบ ไม่ใช้จ่ายเกินตัว อาจลองให้พนักงานประเมินตัวเองด้วยได้ว่าปัจจุบัน คนที่เป็นหนี้อยู่ต้องจ่ายดอกเบี้ยกี่เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นเท่าไรห่ต่อเดือน การค่อย ๆ ปลูกฝังความรู้เรื่องนี้จะช่วยให้พนักงานให้หลุดจากวังวนหนี้สินได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน

2.หาเครื่องมือ เบิกเงินเดือนล่วงหน้า วิธีนี้ไม่ใช่การให้กู้ แต่เป็นการให้พนักงานเอาเงินส่วนที่ทำงานไปแล้วออกมาใช้ก่อน เพื่อบริหารสภาพคล่อง จะได้ไม่ประสบปัญหาเป็นหนี้โดยไม่จำเป็น 

3.หาข่องทางใหม่ๆ ช่วยพนักงานด้วยเทคโนโลยี การนำเครื่องมือใหม่ ๆ เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ทุ่นแรงในการทำงาน จะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเมื่อทำงานเสร็จเร็ว ก็จะมีเวลาไปใช้พักผ่อน ใช้ชีวิต รวมถึงหาความรู้ที่มากขึ้นตามไปด้วย

Wellness 4: Wellbeing at Work – How to Build an Inspirational Organization

โดย อภิสิทธิ์ ธโนปจัย Vice President DDI ASEAN

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2023 : Wellness For People

ที่ผ่านมา การสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและมีความสุข ทุกคนอาจคิดว่าเป็นหน้าที่ของ HR อย่างไรก็ตามในหัวข้อเสวนานี้ คุณอภิสิทธิ์ ธโนปจัย มองต่างออกไปว่า จริง ๆ แล้วคนเป็น “ผู้นำ” ต่างหากที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่า

เพราะถึงแม้ HR จะมีหน้าที่ดูแลและบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ แต่ HR ไม่ใช่คนที่ใกล้ชิดกับพนักงานที่สุดเมื่อเทียบกับหัวหน้า ดังนั้นเมื่อไหร่ที่พนักงานเริ่มเกิดสภาวะผิดปกติ ผู้นำต้องสังเกตอาการดังกล่าวให้ออกก่อนใคร ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการลางาน ว่าพนักงานขาดงานบ่อยไหม ลางานแต่ละครั้งนานขึ้นไหม จำนวนคนลาออกบ่อยเยอะเกินไปหรือไม่ เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนออกจากงาน เนื่องจากมีผู้นำที่ไม่ดีในองค์กรนั่นเอง 

สิ่งที่คนเป็นผู้นำและ HR ต้องตระหนักก็คือ พนักงาน 81% จะลาออกและไปทำงานที่อื่นที่เครียดน้อยกว่า ช่วยให้มีสุขภาพจิตใจปลอดโปร่งกว่าด้วย

สำหรับอาการ 4 รูปแบบที่สุ่มเสี่ยงต่อการเบิร์นเอาท์ และหัวหน้าต้องสังเกต มีดังต่อไปนี้

1.อยากชนะตลอดเวลา สู้ไม่ถอย กดดันตัวเองไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ต้องทำงานนั้นให้สำเร็จให้ได้ เดดไลน์มาใกล้แค่ไหนก็ต้องเอาชนะให้ได้ เพื่อนกลับแต่ยังทำงานต่อ

2.ไม่อยากทำความลำบากใจให้คนอื่น เป็นคนขี้เกรงใจ จึงรับงานแทนคนอื่น ยอมลำบากแทนคนอื่น ปฏิเสธคำขอไม่เป็น

3.เป๊ะทุกเรื่อง ถือคติทุกอย่างต้องเพอร์เฟ็ค เก็บเล็กเก็บน้อย คิดเล็กคิดน้อยจนไม่มีเวลาดูแลตัวเอง 

4.ตั้งการ์ดป้องกันตัวเอง ไม่ชอบโดนมองว่าไม่ดี ต้องทำตัวให้ดีเลิศตลอดเวลา สอดคล้องกับข้อข้างต้น

อย่างไรก็ตาม หลายองค์กรมองว่าปัญหาสุขภาพของพนักงานทุกอย่าง ต้องแก้ด้วยการให้ HR จัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กิจกรรมออกกำลังกาย การเดินวิ่ง เป็นต้น ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ผิด แต่สามารถแก้ได้ด้วยการปลูกฝังความเป็นผู้นำที่ดี การมีผู้นำที่ดี ดังต่อไปนี้

1.เห็นอกเห็นใจลูกน้องให้เป็น ลูกน้องทำดีต้องชม ลูกน้องทำผิดพลาด ต้องอย่าลืมให้กำลังใจ

2.โค้ชและการกระจายงานให้ถูกวิธี อย่าให้งานไปหนักที่ใครคนใดคนหนึ่งเกินไป ใครทำงานอะไรไม่เป็น ต้องช่วยส่งเสริมให้เขาเก่งขึ้น

3.ให้ความสำคัญกับความหลากหลายขององค์กร อย่าละเลยคนชายของขององค์กร เพราะคนกลุ่มนี้มีโอกาสจะเครียดยิ่งกว่าคนอื่น ๆ ในองค์กร

4.อย่าลืมพัฒนาคนเพื่ออนาคต หากทำงานกันอยู่แต่คนเดิม ๆ ไม่หาคนใหม่ ไม่ส่งเสริมให้เกิดการช่วยงานกันจะทำให้ทีมหนักเหนื่อยมากขึ้น นำไปสู่การเบิร์นเอาท์

“จะสร้างสภาวะในการทำงานที่ดี เป็นบวกได้ ผู้นำ และ HR อย่าทำในเชิงรับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำเชิงรุกด้วย เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุ มิฉะนั้นต่อให้ แต่ปัญหาที่ไม่หายไปก็จะกัดกินใจต่อไปจนไม่สามารถเดินไปถึงเป้าหมายได้” อภิสิทธิ์ ทิ้งท้าย

คือการกลืนกิน (Disruption) ที่จะเปลี่ยนแปลงกลไกทำงานในอนาคตไปอย่างสิ้นเชิง

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง