เคล็ดลับในการดูแลสุขภาพจิตให้กับพนักงาน

ประเด็นสำคัญ
  • คนญี่ปุ่นทำงานหนักมาก เฉลี่ย 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มากที่สุดเมื่อเทียบกับนานาประเทศอย่าง อเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน ในหลายๆ องค์กรของญี่ปุ่นได้มีการหาวิธีการทำให้พนักงานเลิกงานให้ไวขึ้น แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่น่าพอใจ
  • ERI Model อีกสาเหตุของความเครียด โดย ERI Model คือ รูปแบบความไม่สมดุลระหว่างการทุ่มเทความพยายามในการทำงาน กับรางวัลหรือผลที่ได้จากการทำงาน เมื่อพนักงานทุ่มเทแรงกาย แรงใจทำงานอย่างหนักแต่รางวัลที่ได้กลับมานั้นไม่สมดุลกับแรงที่ได้เสียไป จึงทำให้เกิดเป็นความเครียดขึ้นมานำไปสู่ความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิตใจในที่สุด
  • ความต้องการได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้า จัดได้ว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์หนึ่งในความต้องการห้าขั้นของมาสโลว์ การตอบสนองต่อความต้องการการยอมรับของพนักงาน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถดูแลป้องกันสุขภาพจิตให้กับพวกเขาได้

ใครที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น การทำงานหนักหรือทำงานล่วงเวลาอาจเป็นเรื่องที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป แต่เชื่อหรือไม่ว่าจริงๆ แล้วการทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมงก็เป็นปัญหาใหญ่ข้อหนึ่งที่คนญี่ปุ่นต้องการการแก้ไข เพราะไม่ใช่คนญี่ปุ่นทุกคนที่อยากจะทำงานหนัก หรือทำงานล่วงเวลา หลายๆ คนต้องฝืนทำจนทำให้เกิดปัญหาทางสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจขึ้นมา บางคนอยากลดเวลาการทำงานลงยังไง ก็ยังลดไม่ได้ วันนี้เราจึงอยากนำเสนอการแก้ปัญหาการทำงานหนักในแบบของคนญี่ปุ่นกันครับ

จริงๆ แล้ว ลดอยู่แน่หรือ? เวลาในการทำงาน

マネジメント640

“คนญี่ปุ่นทำงานหนักเกินไป” นี่เป็นคำพูดที่คนต่างชาติมักจะพูดกับคนญี่ปุ่นเสมอเมื่อพูดถึงการทำงาน

ซึ่งจากการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขและแรงงานในประเทศญี่ปุ่น พบว่า ในปี 1990 คนญี่ปุ่นทำงานเกิน 2,000 ชั่วโมงต่อปี และในปี 2009 ได้ลดลงเหลือน้อยกว่า 1,800 ชั่วโมงต่อปีแล้ว

ถึงแม้ในทางข้อมูลตัวเลขจะค่อยๆ ลดลงมา เพียงแต่ข้อมูลนี้ ได้รวมเอาเวลาการทำงานของพนักงานพาร์ทไทม์เข้าไว้ด้วย เลยพูดได้ยากว่า ชั่วโมงในการทำงานของคนญี่ปุ่นลดแล้วจริงๆ หรือเปล่า

เมื่อลองเปรียบเทียบการทำงานของญี่ปุ่นกับต่างประเทศดูจะพบว่า คนญี่ปุ่นทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดเป็นร้อยละ 28.1 มากที่สุดเมื่อเทียบกับ อเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน ดังนั้นสามารถบอกได้ว่า ปัญหาการทำงานหนัก ทำงานเกินเวลาของคนญี่ปุ่นยังไม่ได้ดีขึ้น

สาเหตุอื่นของความเครียด และ ERI Model

ストレス640

เป็นที่รู้กันดีว่าการทำงานเกินเวลานั้นอาจส่งผลทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต แต่หลายๆ คนอาจคาดไม่ถึงว่า นอกจากนั้นแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตได้ เช่น ปัจจัยที่มาจากคนใกล้ตัว คนในทีม อย่างไม่ได้รับการยอมรับจากหัวหน้าหรืออาจเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ ปัจจัยนี้ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดในการทำงาน จนทำให้ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ

นอกจากปัจจัยจากคนใกล้ตัวแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งคือ ปัจจัยจาก ERI Model

ERI Model (Effort-Reward Imbalance) หรือความไม่สมดุลระหว่างการทุ่มเทกับรางวัล คือ รูปแบบความไม่สมดุลระหว่างการทุ่มเทความพยายามในการทำงาน กับรางวัลหรือผลที่ได้จากการทำงาน โดยแนวคิดคือ บุคคลพยายามลงแรง ให้เวลาและทุ่มเทให้กับการทำงาน มีความสัมพันธ์กับรางวัลและผลที่ได้ ถ้าสัดส่วนของความพยายามและการทุ่มเทมีน้อยกว่าส่วนของรางวัลและผลที่ได้มีมากกว่า ก็ย่อมทำให้ผู้ทำงานมีความยินดี แต่ในทางกลับกันถ้าส่วนของการทุ่มเทและความพยายามมีมาก แต่ส่วนของรางวัลและผลที่ได้มีน้อย ก็ทำให้ผู้ทำงานผิดหวังและท้อถอยเกิดภาวะความตึงเครียด

อ้างอิง : http://repository.li.mahidol.ac.th/dspace/bitstream/123456789/2345/1/sh-ar-santat-2549-1.pdf

เมื่อพนักงานทุ่มเทแรงกาย แรงใจทำงานอย่างหนักแต่รางวัลที่ได้กลับมานั้นไม่สมดุลกับแรงที่ได้เสียไป จึงทำให้เกิดเป็นความเครียดขึ้นมานำไปสู่ความเจ็บป่วยทั้งทางกายและทางจิตใจในที่สุด ถ้าองค์กรสามารถให้รางวัลที่เหมาะสมกับการลงแรงของพนักงานได้แล้วละก็ พนักงานจะมีความสุขมากขึ้น ความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยต่างๆ ก็จะลดลงเช่นเดียวกัน

สิ่งสำคัญอยู่ที่รางวัลที่ให้ นอกจากค่าตอบแทนหรือตำแหน่งตามความเหมาะสมแล้ว รางวัลที่ดีอีกอย่างคือ การได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง ซึ่งในที่นี้หมายถึง เพื่อนร่วมงานและหัวหน้า

กล่าวคือ ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะเป็นคนใหม่หรือคนเก่า และไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด พวกเขาต่างก็ต้องการได้รับการยอมรับและการให้เกียรติจากเพื่อนร่วมงาน ซึ่งสิ่งนี้จะนำไปสู่การเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานและความผูกพันกับองค์กรได้

ความสำคัญของความต้องการห้าขั้นของมาสโลว์ต่อการดูแลสุขภาพจิต

victory640

ความต้องการห้าขั้นของมาสโลว์ ได้แก่ ความต้องการทางกายภาพ (Physiological needs), ความต้องการความมั่นคงปลอดภัย (Safety needs), ความต้องการความรักและความเป็นเจ้าของ (Social belonging), ความเคารพนับถือ (Self-esteem) และความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-actualization) เมื่อความต้องการในขั้นใดขั้นหนึ่ง ได้รับการตอบสนองจนพอใจแล้ว มนุษย์จึงจะมีความต้องการในขั้นต่อไป

ความต้องการได้รับการยอมรับและการให้เกียรติจากเพื่อนร่วมงานที่เราได้กล่าวไปข้างต้นนั้น จึงจัดได้ว่าเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่อยู่ในขั้นต้องการความเคารพนับถือของมาสโลว์นั่นเอง

ยกตัวอย่างเช่น พนักงานคนหนึ่งตั้งใจทำงานมาก แต่กลับไม่ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้า หรือการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานเลย เขาจะรู้สึกว่าความพยายามที่ทำไป ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย ต่อให้ไม่พยายาม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงเหมือนกัน หากปล่อยให้พนักงานคนนั้นมีความรู้สึกแบบนี้ต่อไป แรงจูงใจในการทำงานก็จะลดตามไปด้วย

ดังนั้น การตอบสนองต่อความต้องการของพนักงาน จึงเป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สามารถดูแลป้องกันสุขภาพจิตให้กับพนักงานได้

สิ่งสำคัญต่อการดูแลสุขภาพจิต

労務640

เมื่อมีพนักงานในองค์กรลาพักงาน องค์กรจะมีมาตรการรับมือกับเรื่องนี้โดย อนุมัติการลาพักร้อนระยะยาว มีการติดตามระหว่างการลา เมื่อกลับมาทำงานแล้วก็จัดให้มีการพูดคุยกับแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ (การแพทย์แขนงหนึ่ง ว่าด้วยเรื่องการดูแลสุขภาพของคนทำงาน ซึ่งวิชานี้ครอบคลุมตั้งแต่การป้องกันโรค การรักษาโรคและการฟื้นฟูสุขภาพของคนทำงาน ในปัจจุบันวิชานี้เน้นหนักไปในการป้องกันโรคเป็นหลัก)

ถึงแม้การลาระยะยาว องค์กรจะไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน ในกรณีที่พนักงานลาพักเกินวันที่สามารถลาพักได้ แต่องค์กรก็ยังต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือเวลาในการรักษาพนักงานคนหนึ่งไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายต่อการรักษาพนักงานหนึ่งคนอาจสูงมากถึงแสนหรือล้านเยนเลยทีเดียว

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน ไม่ให้พนักงานต้องลาพักในระยะยาว สิ่งสำคัญที่สุดคือองค์กรต้องมีกลยุทธ์หรือมาตราการในการจัดการที่มีความเหมาะสม อย่างการใส่ใจดูแลพนักงาน เป็นต้น

การดูแลสุขภาพจิตเริ่มต้นได้ด้วย

question640

การดูแลสุขภาพจิตเริ่มต้นได้ด้วย การจัดการเวลาในการทำงานให้เหมาะสม ไม่ทำงานหนักจนเกินเวลาทำงาน เพื่อให้พนักงานได้ใช้เวลากับตัวเอง หรือครอบครัว ให้พวกเขาได้พักผ่อนจากทำงาน สำหรับพนักงานเอง การทุ่มเทให้กับงานเป็นเรื่องที่ดี ที่จะทำให้คุณมีความก้าวหน้าในหน้าที่ต่อไป องค์กรก็ได้รับผลประโยชน์จากการลงแรงของคุณ แต่อย่าลืมว่าร่างกายของเราก็ต้องได้รับการพักผ่อน การทุ่มเทให้กับงานโดยการทำงานหนักมากเกินไป ก็ไม่ดีต่อร่างกาย ต่อให้องค์กรจะให้ความสำคัญกับคุณแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่ดูแลตนเองก็มีโอกาสที่จะเจ็บป่วยได้ทั้งทางกายและทางจิตใจ

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กร คือการดูแลเอาใจใส่พนักงาน อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่า พนักงานทุกคนไม่ว่าจะทำงานอยู่ในองค์กรมานานแค่ไหน พวกเขาต่างก็ต้องการได้รับการยอมรับ การให้เกียรติจากเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้า ซึ่งการได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง จะส่งผลให้การทำงานร่วมกันของบุคลากรในองค์กรเป็นไปในทางที่ดีขึ้น และยังเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานให้แก่พนักงาน ลดอัตราการเกิดปัญหาทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตได้อีกด้วย

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง