สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2022 : Day 2

HIGHLIGHT

  • การเกิดโควิด-19 เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิด แผนงานระยะยาวมากมายกลายเป็นเรื่องสูญเปล่า การเติบโตของ HR Tech จึงเป็นกลไกสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าหากมนุษย์สามารถนำมาปรับใช้อย่างเหมาะสมก็จะช่วยให้เราฟื้นฟูจากอุปสรรคได้ดีขึ้น
  • แม้การเรียนออนไลน์จะได้รับความนิยมมากขึ้น แต่อัตราการเข้าเรียนก็น้อยกว่าการอบรมแบบดั้งเดิมที่ผู้สอนกับผู้เรียนใกล้ชิดกันมากกว่า ดังนั้นจึงมีการนำความบันเทิงเข้ามาผสมกับเนื้อหาเกิดเป็น Edutainment ที่ทำให้การเรียนสนุกกว่าที่เคย
  • ปัจจุบันคนนิยมคอนเทนต์ขนาดสั้นมากขึ้น เพราะต้องการความกระชับ เข้าใจง่าย ไม่ต้องเสียเวลาตีความ การอ่านหนังสือเล่มโตหรือบทความขนาดยาวกำลังลดความนิยมลงอย่างมีนัยสำคัญ
  • การทำคอนเทนต์ขนาดสั้นไม่ใช่คำตอบสุดท้ายเสมอไป ผู้ผลิตงานต้องเลือกกลยุทธ์โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพและใช้ประโยชน์จากเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2022 : Day 2

HREX.asia ได้เข้าร่วมงาน Thailand HR Tech 2022 ในธีม “Let’s create human-first technology for humanity” ระหว่างวันที่ 18-19 ตุลาคม พ.ศ. 2565 ซึ่งนอกเหนือจากการออกบูธจากบริษัท HR Tech ชั้นนำของประเทศแล้ว ยังมีการเสวนาในหลากหลายหัวข้อที่เป็นประโยชน์กับการทำงานของชาว HR ทุกคน

สำหรับการเสวนาในวันแรก (18 ตุลาคม) ครอบคลุมในหลากหลายหัวข้อทั้งการพัฒนาคน, การพัฒนาองค์กร และการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ดี ซึ่งสามารถอ่านสรุปได้ที่นี่

สำหรับการเสวนาประจำวันที่ 19 ตุลาคม จากงาน Thailand HR Tech 2022 มีประเด็นใดบ้างที่ HR ควรรู้ หาคำตอบได้ในบทความนี้

ถึงเวลาปรับตัวเพื่อการอยู่ร่วมของมนุษย์และเทคโนโลยี

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2022 : Day 2

การเกิดขึ้นของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำงาน ผู้บรรยายจึงแนะนำว่าเราควรมองย้อนกลับไปถึงช่วงที่ปัญหาโควิดยังคงรุนแรง เพื่อดูว่าเราเคยแก้ปัญหาอย่างไร, มีทักษะอะไรที่ทำได้ดีขึ้นบ้าง และมีสิ่งใดสามารถทำมาต่อยอดได้อีกเพื่อหากลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับอนาคต

การเกิดโควิด-19 ถือเป็นเรื่องที่ไม่มีใครเคยคาดคิดมาก่อน (Unpredictable Situation) องค์กรจึงต้องจัดลำดับความสำคัญใหม่ทั้งหมด (Priority Shift) เช่นการหาวิธีขับเคลื่อนองค์กร, วิธีรักษาคุณภาพให้ดีเท่าเดิม, วิธีบริหารจัดการค่าใช้จ่าย และวิธีบริหารจัดการคน จนสามารถเปรียบการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเหมือนการ ‘ดับเพลิง’ (Fire Fighter) ที่ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปทีละจุด ไม่สามารถโฟกัสอยู่กับเป้าหมายได้มากเท่าที่ควร (Disconnected)

แนวโน้มของโลกหลังจากนี้เป็นอย่างไร ? เรามีปัญหาแบบองค์รวมเกิดขึ้นกับโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นการเกิดสงครามที่ส่งผลกับพลังงาน, เศรษฐกิจ และระบบความคิดของคน ดังนั้นการทำ Digital Transformation จึงเป็นกลไกที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าจะทำให้ HR Strategy ของเราเชื่อมต่อกับทุกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

สถานการณ์ของธุรกิจที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ประกอบด้วย

1. บริษัทต้องพัฒนาเป็นองค์กรที่ใส่ใจถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เพราะทัศนคติของลูกค้าจะเปลี่ยนไป เนื้องานต้องไม่ตอบโจทย์แค่ธุรกิจ แต่ต้องช่วยให้โลกดีขึ้น

2. การพึ่งพาประเทศจีนอาจไม่แข็งแรงอย่างที่หลายฝ่ายเคยคิด การวางแผนธุรกิจจึงต้องเปลี่ยนตาม  (Supply Chain Shift)

3. ‘Do More With Less’ ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้กับการทำงานให้ได้

4. หาคำตอบให้ได้ก่อนทำงานทุกครั้งว่างานที่ทำอยู่ส่งผลดีกับโลกอย่างไร

5. ตั้งคำถามเสมอง่างานที่ทำอยู่สร้างประสบการณ์ที่ดีกับพนักงานในองค์กรได้อย่างไร 

อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์ของโลกจะวุ่นวายเป็นพิเศษ แต่ผู้บรรยายกลับเน้นย่ำว่าช่วงเวลาเหล่านี้เป็นโอกาสทองของ HR ในการยกระดับองค์กรโดยเฉพาะในหัวข้อเหล่านี้

1. การสร้าง DNA และการเปลี่ยนอัตลักษณ์ (Identity) ขององค์กร

2. การบริหารจัดการเรื่อง Knowledge Management และ Succession Plan

3. การฟื้นฟูองค์กร (Recover) เพราะแม้องค์กรบางแห่งจะทำผลงานได้ดีอยู่จนปัจจุบัน แต่สถานการณ์โควิด-19 ได้สร้างความเหนื่อยล้า (Exhausted) บางอย่างต่อองค์กร ดังนั้นเคล็ดลับคือ HR ต้อง ‘Prioritizes & Focus’ หรือ ‘เลือกและเจาะจง’ เพราะเราทำทุกอย่างไม่ได้ ต้องรู้จักเลือกสิ่งที่เหมาะที่สุดและทำสิ่งนั้นให้สุดพลัง

HR ต้องคิดว่าเราจะนำความรู้ของเรามาบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดประโยชน์กับการทำงานได้อย่างไร (Employees Impact) ซึ่งทั้งสองอย่างต้องเติบโตไปพร้อม ๆ กันเพราะทรัพยากรคนยังถือเป็นผู้ขับเคลื่อนหลักขององค์กรอยู่ดี

ผู้บรรยายกล่าวว่าเราควรพัฒนาไปให้ถึงการเป็น Humanize Digital หมายถึงการใช้เทคโนโลยีโดยมีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ต่อกัน, มีการใช้ข้อมูล (Big Data) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ (Productivity), และสร้างประสบการณ์ใหม่ (Experiences) ให้ได้ ทั้งนี้องค์กรต้องสนใจสุขภาพ (Well Being) ของทั้งคนและองค์กร ภายใต้แนวคิด ทำงานอย่างสบายใจ (Work Well), มีชีวิตที่สบายใจ (Live Well), เติบโตอย่างสบายใจ (Grow Well) หากองค์กรของคุณยังปราศจากเรื่องนี้ ก็ต้องกลับมาคิดใหม่ทำใหม่ (Zero To One) เพราะองค์กรที่จะอยู่รอดไม่ใช่องค์กรที่แข็งแกร่งที่สุด แต่เป็นองค์กรที่สามารถปรับตัวเข้ากับทุกสถานการณ์ได้ดีที่สุดต่างหาก

ผสมความรู้กับความสนุกอย่างลงตัว เพิ่มอัตราการเข้าเรียนออนไลน์ด้วย Edutainment 

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2022 : Day 2

แม้การเรียนออนไลน์จะได้รับความนิยมในปัจจุบัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าอัตราการเข้าเรียน (Accessibility) ในแต่ละครั้งกลับไม่ได้สูงเหมือนการฝึกอบรมแบบเจอหน้า (Face to Face) ที่เป็นวิธีทั่วไปในช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด-19 

ปัญหานี้ทำให้องค์กรไม่สามารถ Upskills, Reskills พนักงานได้อย่างที่ตั้งใจ 

การเรียนออนไลน์จะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ

1. Virtual Training : เรียนสดผ่าน Zoom, Google Meet เป็นต้น ข้อเสียคือมีความช้า ไม่เหมาะกับกลุ่มคนที่มีความไวในการเรียนรู้ (Pace) ต่างกัน

2. On Demand Training : เรียนตามช่วงเวลาที่ต้องการได้เลย สะดวกเมื่อไหร่ ก็เรียนเมื่อนั้น 

อย่างไรก็ตามแม้ On Demand Training จะให้ความสะดวกสบาย แต่ก็มีความน่าเบื่อเพราะเป็นการเรียนแบบฝ่ายเดียว (One-Way Communication) ไม่มีการโต้ตอบ จึงไม่มีแรงจูงใจให้เข้าเรียน กลายเป็นปัญหาของ HR เวลาต้องสรุปผลให้ผู้บริหารเห็นว่าอัตราเข้าเรียนของพนักงานเป็นอย่างไร เมื่อมีผู้เรียนน้อย HR ก็ต้องเสียเวลาโน้มน้าว กลายเป็นปัญหาวุ่นวายตามมา

Forbes กล่าวว่ารูปแบบการเรียนรู้ในปัจจุบันจำเป็นต้องมี Micro Learning เช่นการทำ Infographic หรือสรุปสั้น ๆ เพื่อย้ำเตือนความรู้ที่ได้รับจากการเรียนแบบ Macro Learning ไม่ให้หลงลืมและสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้จริง ขณะที่ Harvard Business กล่าวเสริมว่าคนจะอยากเรียนรู้มากขึ้นหากเนื้อหานั้นเกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับชีวิต และตัวคลิปสามารถสั้น – ยาวได้ตามต้องการตราบใดที่มีวัตถุประสงค์ (Objective) ชัดเจน 

เหตุนี้ Edutainment จึงเป็นทางเลือกที่สร้างการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้ดี อ้างอิงจากรายชื่อภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาพยนตร์ตลก นั่นแปลว่าความบันเทิงยังเป็นส่วนผสมที่หอมหวานสำหรับการเรียนรู้ที่ช่วยให้คนเข้าใจเนื้อหามากขึ้น เช่นคนไทยหลายคนที่จำชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครได้จากเพลงของอัสนี-วสันต์ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้บรรยายเผยว่าการใช้ Edutainment จะช่วยเพิ่มอัตราเรียนจบสูงกว่าการเรียนรู้แบบทั่วไปถึง 40%

เพื่อกระตุ้นให้คนอยากเข้าร่วมคลาสเรียนมากขึ้น ผู้บรรยายได้ให้คำแนะนำทั้งหมด 7 ข้อดังนี้

1. จัดให้มีการพูดกระตุ้นจากผู้บริหารระดับสูง (Top Management) เพื่อเน้นย้ำให้เห็นความสำคัญ ทำให้พนักงานอยากเรียนมากขึ้น

2. เปลี่ยนคอนเทนต์ธรรมดาให้เป็น Edutainment

3. สื่อสารภายในองค์กรให้ดีขึ้น ให้ทุกคนรู้ว่าบทเรียนเป็นอย่างไร, เข้าถึงอย่างไร, มีประโยชน์อย่างไร

4. สร้างการมีส่วนร่วม เช่นการให้รางวัลสำหรับคนที่เรียนจบก่อน หรือทำคะแนนได้ดีที่สุด

5. สร้างชุมชนสำหร้บการเรียนรู้เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้เรียน

6. กระตุ้นให้เกิดการเปิดซ้ำหรือทบทวน

7. ชื่นชมผู้ที่เรียนจบ และให้ค่ากับการมีความรู้เพิ่มเติมเสมอ

กลยุทธ์สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ด้วยการใช้คอนเทนต์เล็ก ๆ 

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2022 : Day 2

การเรียนรู้ในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเป็นคอนเทนต์ขนาดยาวหรือเป็นหนังสือเล่มโตอีกต่อไป แต่เรากำลังอยู่ในยุคของคอนเทนต์ขนาดเล็ก (Micro Content) และคอนเทนต์ขนาดเล็กมาก (Nano Content) ซึ่งนำไปสู่คำถามว่าคอนเทนต์ลักษณะนี้มีเคล็ดลับหรือกลไกอย่างไรที่สามารถทำให้ผู้เรียนได้ประโยชน์ไม่ต่างจากวิธีการเรียนรู้แบบดั้งเดิมที่ต้องใช้เวลามากกว่า

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือความสำเร็จของแอปพลิเคชั่นอย่าง TikTok ที่เน้นความสั้น, กระชับ, เข้าใจง่าย และกลายเป็นแนวทางที่สื่อโซเชียลอื่น ๆ ยึดถือเป็นแบบอย่าง เช่นระบบ Shorts ใน YouTube เป็นต้น อนึ่ง Nielsen เผยว่า TikTok และ YouTube ได้รับความนิยมในเมืองไทยเกิน Facebook ที่เคยครองตลาดอย่างเบ็ดเสร็จไปแล้ว

ผู้บรรยายกล่าวว่าคนทำงานในปัจจุบันมีเวลาว่างน้อยลงเรื่อย ๆ จึงต้องการรูปแบบการเรียนรู้ที่สามารถกลมกลืน (Blended) กับชีวิตประจำวันได้ดี ที่สำคัญผู้คนเริ่มต้องการคอนเทนต์ที่ตรงไปตรงมา พุ่งตรงไปถึงวิธีแก้ปัญหาแบบไม่อ้อมค้อม และแยกเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน รูปแบบคอนเทนต์นี้จะช่วยให้คนรับความรู้ได้ง่ายและรวดเร็วกว่าเดิม นอกจากนี้ความสั้นกระชับยังทำให้คนกล้าเปิดใจไปหาคอนเทนต์ที่เคยมองข้าม เพราะคิดว่าการทดลองนั้นไม่ได้กินเวลามากจนเกินไป

อีกประเด็นหนึ่งคือโลกของเราเพิ่งผ่านความเครียดจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการรับข้อมูลที่หนักหน่วง จริงจัง แม้จะเป็นประโยชน์ แต่ก็มีบรรยากาศที่น่าหลีกเลี่ยงปกคลุมอยู่ ต่างกับ TikTok ที่เริ่มจากการทำคอนเทนต์สนุก ๆ และพัฒนามาเป็นแพลตฟอร์มที่คนใช้เพื่อเผยแพร่ความรู้ ผู้ใช้ (User) จึงรู้สึกว่าความรู้จากช่องทางนี้เกิดขึ้นได้โดยไม่จำเป็นต้องจดจ่อเป็นพิเศษ (Attention Space) สามารถเลื่อนดูตามสบายและได้ประโยชน์ไปในตัว

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคของ Keyword Economy กล่าวคือโลกมี Keyword ใหม่ ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นคอนเทนต์ก็ต้องปรับตัวให้ทันทุกความเปลี่ยนแปลง จุดที่ต้องให้ความสำคัญคือการอธิบายให้ได้ว่าคอนเทนต์นั้นคืออะไร (What ?) ทำเพื่ออะไร (Why ?) และมีวิธีการอย่างไร (How To ?) ทั้งนี้พอเป็นคอนเทนต์ระยะสั้น ผู้ผลิตก็ต้องทำให้คนสนใจเนื้อหาอย่างรวดเร็ว (Hooked) มิฉะนั้นก็มีโอกาสสูงมากที่คนจะหันไปหาข้อมูลจากช่องทางอื่นแทน

ท้ายสุดผู้บรรยายกล่าวว่าผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องเข้าใจว่ากลุ่มเป้าหมายของตนเป็นอย่างไร แล้วค่อยผลิตงานให้สอดคล้องกับพฤติกรรมนั้น เช่นหากพบว่าผู้ฟัง Podcast ของเราจะฟังขณะเดินทางไปทำงานเป็นหลัก ความยาวของรายการก็ควรอยู่ในระยะที่สามารถฟังจบในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ผลิตต้องตรวจสอบเสมอว่าการทำคอนเทนต์สั้นเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ ทำให้ข้อมูลส่วนใดตกหล่นหรือไม่ เพราะหากมีทางเลือกอื่นที่ให้ข้อมูลครบถ้วนและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีกว่าก็ควรเลือกทางนั้น ไม่ใช่เลือกแต่เทรนด์ใหม่ ๆ โดยไม่สนว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร หากเข้าใจตรงจุดนี้ คอนเทนต์ของเราก็จะส่งเสริมทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง

สรุปเรื่องที่ HR ต้องรู้จากงาน Thailand HR Tech 2022 : Day 1

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง