Search
Close this search box.

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Well-Being กลายเป็นเทรนด์สำคัญที่องค์กรทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี และช่วยส่งเสริมสุขภาพทั้งกายและจิตของพนักงาน โดยคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations ซึ่งจัดขึ้นที่ FutureTales LAB by MQDC ได้นำเสนอกลยุทธ์การพัฒนาองค์กรที่ตอบโจทย์ Well-Being โดยมีผู้เชี่ยวชาญจาก SuperLab และแขกรับเชิญพิเศษมากมาย มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์และวิธีการในการพัฒนาบุคลากรให้ประสบความสำเร็จ

ในคอร์สนี้ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และแนวทางในการออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานที่ทันสมัย มุ่งเน้นการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงานในทุกมิติ ทั้งสุขภาพจิต สังคม และการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัว 

ความรู้จากหลักสูตรนี้ HR และผู้บริหารสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรของตนเองเพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงานที่ยั่งยืนได้

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

The Future of work is employee well-being โดย ดร. การดี เลียวไพโรจน์

ในยุคที่โลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเด็นเรื่องความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Well-Being) กลายเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดอนาคตของการทำงาน ซึ่งปัจจุบันมีแรงกดดันและข้อท้าทายมากมาย ทั้งจากการเติบโตของเทคโนโลยี ความท้าทายทางเศรษฐกิจ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการเปลี่ยนแแปลงทางสังคม โดย ดร. การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ FutureTales LAB by MQDC กล่าวว่า “Well-being ไม่ใช่ความรู้สึก ไม่ใช่แฟชั่น แต่คือวิทยาศาสตร์”

ฉะนั้นความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนให้กับองค์กรอีกด้วย

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

ทำไมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานจึงสำคัญ ?

ปัจจุบันมีข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ปัญหาภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลส่งผลกระทบต่อการสูญเสียวันทำงานถึง 12,000 ล้านวันทั่วโลก และทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคนเงินจำนวนมหาศาลที่สามารถนำไปพัฒนาโลกได้

การสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน สามารถช่วยลดอัตราการลาออกของพนักงานได้ถึง 50% ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้มากถึง 22% และความเครียดที่เกี่ยวข้องกับการทำงานยังเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตถึง 120,000 รายต่อปีทั่วโลก 

ฉะนั้นการให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานจึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่องค์กรไม่ควรมองข้าม และส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว

นอกจากนี้ ดร. การดี ยังคาดาการณ์ เทรนด์ที่เป็นอนาคตของการทำงานในปี 2035 ดังนี้

  1. ขาดแคลนบุคลากร: โดยปี 2030, การขาดแคลนบุคลากรทั่วโลกจะสูงถึง 18 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดการสูญเสียรายได้ประจำปีถึง 8.45 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  2. ความคิดของคนรุ่นใหม่: 48% ของคนรุ่น Gen Z และ 55% ของคนรุ่น Gen Y รู้สึกว่าพวกเขาอาจลาออกจากงานหากพบว่ามีค่านิยมที่ไม่ตรงกันระหว่างตนเองและองค์กรฯ
  3. ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ปรับแต่งส่วนบุคคล: 85% ของผู้นำทรัพยากรมนุษย์มองคุณค่าในค่าตอบแทนและสวัสดิการที่ปรับให้เหมาะสมกับบุคคล แต่เพียง 42% เท่านั้นที่นำไปใช้จริง
  4. การเปลี่ยนอาชีพ: อาจต้องการการเปลี่ยนแปลงอาชีพเพิ่มเติมถึง 12 ล้านครั้งภายในปี 2030
  5. ความต้องการบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อม: ความต้องการบุคลากรด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น 38.5% ระหว่างปี 2015 ถึง 2021, แต่เพียง 13% ของแรงงานเท่านั้นที่มีทักษะที่จำเป็น

แนวทางการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

HR หรือองค์กรสามารถประเมินและพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานผ่านการพิจารณาตาม Guideline ดังนี้

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

  1. ความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์: ประเมินการจัดการกับอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบอย่างเหมาะสม
  2. ความเป็นอยู่ที่ดีด้านอาชีพ: ประเมินความพึงพอใจในการทำงานและการมีความก้าวหน้าในอาชีพ
  3. ความเป็นอยู่ที่ดีทางปัญญา: ประเมินการพัฒนาความรู้และทักษะผ่านการเรียนรู้ตลอดชีวิต
  4. ความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตวิญญาณ: ประเมินการมีความหมายและคุณค่าในชีวิต
  5. ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม: ประเมินการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการมีส่วนร่วมในชุมชน
  6. ความเป็นอยู่ที่ดีทางการเงิน: ประเมินความพึงพอใจทางการเงินและการบริหารการเงินในอนาคต
  7. ความเป็นอยู่ที่ดีทางความคิดสร้างสรรค์: ประเมินการเปิดรับประสบการณ์ทางศิลปะและวัฒนธรรม
  8. ความเป็นอยู่ที่ดีทางดิจิทัล: ประเมินการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี
  9. ความเป็นอยู่ที่ดีทางสิ่งแวดล้อม: ประเมินการมีสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนสุขภาพที่ดี
  10. ความเป็นอยู่ที่ดีทางกายภาพ: ประเมินการดูแลสุขภาพผ่านการออกกำลังกาย การรับประทานอาหาร และการพักผ่อนอย่างเพียงพอ

มุมมองในอนาคตของความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

ปิดท้าย ดร. การดี มองอนาคตว่า ด้วยเทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น องค์กรจะเริ่มนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์การสื่อสารของพนักงาน เช่น อีเมลและข้อความเพื่อประเมินสถานะอารมณ์ ระดับความเครียด และความเสี่ยงในการเกิดภาวะหมดไฟ (Burnout) นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง Neurofeedback จะสามารถฝึกสมอง ช่วยเพิ่มสมาธิและเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ได้ 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรใหญ่ ๆ จะเริ่มนำเสนอโครงการด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุมถึงมิติทางสังคม สภาพแวดล้อม และเอื้อให้พนักงานออกแบบชีวิตตัวเองได้ ซึ่งเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายการทำงานและชีวิตส่วนตัวของพนักงาน

ท้ายที่สุด มุมมองต่อการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานจะไม่ได้หมายถึงแค่การเพิ่มผลผลิตขององค์กรเท่านั้น แต่จะเป็นการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของพวกเขาให้ที่ดีขึ้น “ความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรจะต้อง “ลงทุน” และ “ปรับตัว”​

เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีสำหรับอนาคตต่อไป

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Well-Being is Organization’s future โดย ดร.สิงห์ อินทรชูโต

เพราะทุกองค์กรต้องการเป็น Healthy Organization และการสร้างองค์กรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีในศตวรรษที่ 21 นั้น มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในทุก ๆ วัน 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีที่สมบูรณ์แบบของบุคลากร ฉะนั้นองค์กรต่าง ๆ จึงเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนในด้านนี้เพื่อประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยในวันนี้ ดร.สิงห์ อินทรชูโต ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนจาก RISC  ได้กล่าวถึงอีกมุมมองของเรื่อง Well-being ที่ไม่ใช่ฝั่งพนักงานเพียงอย่างเดียวที่องค์กรควรลงทุน ! 

ความเป็นอยู่ที่ดีขององค์กร ไม่ใช่แค่เรื่องของคน

ถึงแม้ “การลงทุนในความเป็นอยู่ที่ดี คือ ความสำเร็จที่ยั่งยืน” (Investing in Well-Being = Sustainable Success) แต่ดร.สิงห์ อินทรชูโต ตั้งข้อสังเกตว่า ปกติองค์กรจะเน้นไปที่การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน (Employee Centric) ทำให้เขาตั้งคำถามได้ว่าเราสามารถขยายมุมมองนี้ไปสู่การเป็น “องค์กรที่มีความเป็นอยู่ที่ดี” (Organization Centric) ได้หรือไม่ ? 

เพราะความเป็นอยู่ที่ดีไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่กับปัจจัยมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงสิ่งแวดล้อมที่ทำงาน, เทคโนโลยี, และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ภายในองค์กรด้วย 

มุมมองนี้ช่วยให้เราสามารถสร้างกรอบการทำงานที่ส่งเสริมการเติบโตร่วมกันระหว่างบุคคลและองค์กรได้อย่างแท้จริง เป็นการลงทุนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนไม่เพียงแค่ในปัจจุบัน แต่ยังรวมถึงอนาคตอีกด้วย

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

5 Organization’s Well-being 

การลงทุนในความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานนั้นสามารถส่งเสริมการเป็นองค์กรที่ยั่งยืนได้ มีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้องในการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขององค์กร ซึ่งจาก 10 Demintion of Well-Being ในข้างต้น ทาง ดร.สิงห์ จัดกลุ่มแยกเป็น 5 Pillar ดังนี้ 

  • Workplace & Environment: ผ่านการออกแบบพื้นที่ทำงานให้เหมาะสมกับงานและส่งเสริมการทำงานด้วยความปลอดภัย ทั้งยังจัดการความเสี่ยงในการดำเนินงาน รวมการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น แสง สี เสียงในองค์กร
  • Employee Engagement & Fulfilment: ผ่านการส่งเสริมสุขภาพจิตและสมดุลชีวิตการทำงาน เพื่อโอกาสในการเติบโตทางอาชีพและความพึงพอใจในงาน ทั้งยังการเพิ่มแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของพนักงาน และการส่งเสริมให้พนักงานไปเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เช่น การส่งพนักงานไปเทรนนิ่งช่วยรักษาพนักงานได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
  • Cultural & Social Cohesion: ผ่านการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้สอดคล้องกันของภารกิจ, ค่านิยม, และเป้าหมาย เพราะพนักงานรุ่นใหม่ไม่ได้ทำงานเพื่อเงินอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงทางสังคมและความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย
  • Digital & Innovation: ผ่านการพัฒนาทักษะดิจิทัลและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เช่น การส่งเสริมการสร้างสรรค์, นวัตกรรม, และการแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ รวมทั้งปรับตัวให้องค์กรขับเคลื่อนด้วย AI
  • Financial: ผ่านการจัดการและการวางแผนทรัพยากรทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความยืดหยุ่นทางการเงินและการปรับตัว และต้องมีกลยุทธ์การลงทุนและการเติบโตเพื่อความยั่งยืน

การพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขององค์กรเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างบุคคล, วัฒนธรรม, สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี และการวางแผน ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการเติบโต และรักษาความยั่งยืนขององค์กรในระยะยาวนั่นเอง

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Resiliency-people Side of Well-Being โดยคุณ วิธพล เจาะจิตต์

แน่นอนว่าการดูแลสุขภาพจิตในองค์กรเป็นประเด็นที่สำคัญมากยิ่งขึ้นในโลกปัจจุบัน ซึ่งบ้านปู (Banpu) ก็เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก โดยคุณ วิธพล เจาะจิตต์ ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ เน้นย้ำถึงการสร้างความยืดหยุ่นและการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงาน ไไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพ, อารมณ์, และสังคม ผ่านการจัดหาสวัสดิการและโปรแกรมต่างๆ เช่น ห้องออกกำลังกาย การสนับสนุนด้านสุขภาพจิต หรือโปรแกรมเพิ่มพลังจิตใจ

ทว่า, สวัสดิการในรูปแบบ Non-Cash Benefits กลับเป็นที่นิยมและสร้างผลกระทบมากกว่า Cash Benefit เสียอีก โดยเขาแนะนำมีโปรแกรมสนับสนุนด้านสุขภาพที่หลากหลายผ่านการ Empower พนักงาน เช่น

  1. Hybrid Workplace: การจัดการทำงานแบบผสมผสาน โดยพนักงานทำงานในออฟฟิศ 3 วัน และทำงานจากที่ใดก็ได้อีก 2 วัน รูปแบบนี้ไม่เพียงเน้นที่ Work-Life Balance แต่ยังเน้น Work-Life Integration ให้พนักงานสามารถออกแบบงานและชีวิตได้เอง โดยให้อิสระในการจัดการงานแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
  2. Flexible Benefits: Banpu เสนอเงิน 12,000 บาทต่อปีสำหรับสวัสดิการที่ยืดหยุ่น นอกเหนือจากประกันกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมถึงสุขภาพและสุขภาพจิต พนักงานสามารถเลือกสวัสดิการที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น การดูแล OPD, IPD หรือเน้นที่ Mental Health ตามความต้องการ
  3. โปรแกรมด้านสุขภาพ: มีการสนับสนุนสุขภาพผ่านโปรแกรม Health at Work และ iStrong ซึ่งส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดีและมีประสิทธิภาพในการทำงาน
  4. Boost Me Up Programme: โปรแกรมนี้เน้นการสร้างทักษะชีวิต (Life Skill Literacy) ให้กับพนักงาน เช่น ความรู้ด้านสุขภาพ สุขภาพจิต และการเงิน เพื่อช่วยให้พนักงานพัฒนาตนเองและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกด้าน

Banpu เชื่อว่าการให้อำนาจพนักงานในการจัดการชีวิตและการทำงานของตนเองจะช่วยเพิ่มความสุขและประสิทธิภาพในการทำงานอย่างยั่งยืน มากกว่าการจัดการที่องค์กรเลือกให้

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

รายงาน Mental Health and Wellbeing Report and Analysis

นอกจากนี้ทางคุณวิธพล ยังได้แสดงรายงานจาก Banpu และ ITM Group เน้นย้ำถึงการจัดการกับปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤติ COVID-19 โดยมีเนื้อหาน่าสนใจดังนี้

1. พัฒนาภูมิคุ้มกันทางอารมณ์และจิตใจให้กับพนักงาน

รายงานชี้ให้เห็นว่าความเครียดและการเผาผลาญจากการทำงานเป็นเวลานานทำให้เกิดภาวะหมดไฟ การดูแลสุขภาพจิตในที่ทำงานควรเน้นที่การลดอัตราการขาดงานและการลาออก โดยมีการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงาน

2. การสำรวจและการวิเคราะห์ข้อมูล

การรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงและพนักงานที่ประสบปัญหาสุขภาพจิตแสดงให้เห็นว่า มีการเพิ่มขึ้นของความเครียดในทุกระดับอายุและตำแหน่งงาน ข้อมูลนี้ช่วยให้องค์กรสามารถกำหนดเป้าหมายการช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

3. การพัฒนาความสามารถในการให้การสนับสนุน

ผลการศึกษาชี้ว่า หลายองค์กรยังขาดความสามารถในการจดจำและตอบสนองต่อความต้องการด้านสุขภาพจิตของพนักงาน การฝึกอบรมที่เพิ่มขึ้นและการเข้าถึงทรัพยากรที่ดีขึ้นสามารถช่วยเพิ่มความสามารถนี้ได้

4. การปรับปรุงนโยบายและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต

การระบุและการปรับปรุงนโยบายที่สนับสนุนสุขภาพจิตที่เหมาะสมสำหรับทุกคนในองค์กรเป็นสิ่งจำเป็น โปรแกรมเช่นการฝึกอบรมด้านสุขภาพจิต การให้คำปรึกษา และการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิตจะช่วยสร้างพื้นที่ทำงานที่เข้าใจและรองรับความต้องการของพนักงานได้ดียิ่งขึ้น

ท้ายที่สุด การลงทุนในสุขภาพจิตไม่เพียงแต่เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขาดงานและการหมุนเวียนของพนักงานได้ สิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่ผลกำไรที่เพิ่มขึ้นและการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้นในระยะยาว 

การเข้าใจและเอาใจใส่ต่อความต้องการด้านสุขภาพจิตของพนักงานจึงเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพในยุคปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการสร้างองค์กรที่แข็งแกร่งและมีความยั่งยืน

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Enhancing Leadership Through The Science of Well-Being โดย ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ

ดร.สฤกกา พงษ์สุวรรณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน MQDC เริ่มต้นด้วยคำถามส่า Work Life Balance มีจริงไหม เพราะปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่ Work Hard to Survive กันแล้ว ซึ่งนั่นนำมาซึ่งปัญหาเรื่อง Metal Health เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานทั้งนั้น

การออกแบบองค์กรที่เน้นการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง องค์กรต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการใหม่ ๆ ของพนักงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสุขภาพจิต การสร้างความสุข และการพัฒนาในด้านการทำงานผ่านการออกแบบสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการทำงานและชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถนำไปสู่ประสิทธิภาพและผลผลิตที่ดีขึ้น

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

สถิติปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงาน

ปัญหาสุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นเรื่องที่องค์กรต่าง ๆ ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่มีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นทุกปี ความเครียดจากการทำงานอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าและปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานและการมีส่วนร่วมของพนักงาน

จากข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตกว่า 4.4 ล้านคน คิดเป็น 6.44% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งจำนวนผู้ป่วยนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากสาเหตุอันดับหนึ่งอย่าง “ความเครียดจากการทำงาน”

นอกจากนี้ ภาวะซึมเศร้าที่คนไทยป่วยสะสม มากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งภาวะซึมเศร้ายังส่งผลกระทบต่อพนักงานและการทำงานในองค์กร ทำให้การจัดการสุขภาพจิตในที่ทำงานเป็นเรื่องที่องค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

การออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมสุขภาพ

หนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนสุขภาพจิตของพนักงานคือการออกแบบสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม การจัดการแสง สี พื้นที่สีเขียว และการระบายอากาศที่ดีในสถานที่ทำงานสามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานได้ เช่น

  • การใช้แสงและสีที่เหมาะสม: การใช้แสงที่มีอุณหภูมิสีระหว่าง 4000K ซึ่งเป็นแสงที่ช่วยเพิ่มสมาธิและความพึงพอใจในการทำงานได้ หรือการใช้สีที่สงบ เช่น สีฟ้าหรือสีเขียว ก็สามารถช่วยลดความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
  • การเพิ่มพื้นที่สีเขียว: การมองเห็นธรรมชาติหรือการมีต้นไม้ในที่ทำงานช่วยให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ลดความเมื่อยล้า และเพิ่มสมาธิในการทำงาน

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

ใช้เทคโนโลยีกับการพัฒนาสุขภาพจิตในที่ทำงาน

เราสามารถนำเทคโนโลยีทันสมัย เช่น EEG (Electroencephalogram) และ VR (Virtual Reality) มาใช้ในการวิจัยเพื่อศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมต่อสุขภาพจิตของพนักงาน การใช้ข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้องค์กรสามารถออกแบบพื้นที่ทำงานที่เหมาะสมและเพิ่มประสิทธิภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีการ Eye Tracking ในตรวจการมองพนักงานว่ามองพื้นที่ส่วนใดของออฟฟิศมากที่สุด หรือใช้ Face Tracking เพื่อหาการแสดงอารมณ์ผ่านใบหน้านั่นเอง

ฉะนั้นแล้วการออกแบบองค์กรในศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงต้องสร้างความสุขให้กับพนักงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพและผลผลิตขององค์กรได้อย่างยั่งยืน ซึ่งควรใช้เทคโนโลยีเพื่อออกแบบพื้นที่ที่เน้นสุขภาพจิตเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อช่วยให้ทุกองค์กรสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

เพราะ “ความสุขออกแบบได้”​นั่นเอง

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Certifying Company Well-being Excellence โดย วสุธา เชน

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำจำกัดความของสุขภาพว่าเป็น “สภาวะแห่งความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และสังคม และไม่ใช่เพียงแค่การปลอดจากโรคหรือความเจ็บป่วย” 

ความหมายนี้ชี้ให้เห็นว่า “สุขภาพ”​ ไม่ได้หมายถึง “การไม่มีโรคภัยเพียง” อย่างเดียว แต่ยังรวมถึงความสามารถในการมีชีวิตที่สมดุล มีความสุข และมีพลังในการดำเนินชีวิตอย่างเต็มที่

วสุธา เชน สถาปนิกวิจัยอาวุโส นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญระดับ LEED AP BD+C และ WELL AP ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) จึงกล่าวว่า แนวคิดการดูแลสุขภาพในศตวรรษที่ 21 ได้ขยายออกไปสู่การมุ่งเน้นการยืดอายุการมีสุขภาพดี (Health Span) มากกว่าเพียงแค่การยืดอายุขัย (Life Span) การให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพที่ดีตลอดช่วงชีวิต จึงช่วยลดโรคเรื้อรังและป้องกันการเกิดโรคในวัยชรา เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคที่เกิดจากการเสื่อมของระบบประสาทได้ 

โดยเฉพาะ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในประเทศไทยและทั่วโลก ฉะนั้นเราจึงให้ความสำคัญกับสุขภาวะผ่านการออกแบบมากขึ้น แล้วเราจะวัดผล Well-Being ขององค์กรได้อย่างไร ?

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

มาตรฐาน WELL Building (WELL Building Standard Introduction)

เริ่มต้นที่มาตรฐาน WELL Building ซึ่งเป็นมาตรฐานแรกที่เน้นการออกแบบอาคารเพื่อส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานในอาคาร 

มาตรฐานนี้ไม่ได้เน้นเพียงแค่การลดปัญหาทางกายภาพ เช่น การจัดการอากาศหรือแสงในอาคารเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นการออกแบบสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตและความสามารถในการทำงานของพนักงาน รอบคลุมทั้งการออกแบบ ก่อสร้าง และการดำเนินงานของอาคารเพื่อให้ผู้ใช้งานมีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

นับเป็นมาตรฐานใหม่สำหรับการออกแบบอาคารสถานที่ในประเทศไทย

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

แนวคิด WELL Concepts คืออะไร ?

WELL Concepts ประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญหลายประการที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในอาคาร ที่ไม่ได้จบแค่ในพิมพ์เขียว ซึ่งรวมถึงองค์ประกอบ ตามนี้

  • อากาศ (Air): คุณภาพอากาศที่ดีภายในอาคารช่วยลดปัญหาสุขภาพ เช่น โรคทางเดินหายใจและอาการแพ้ การระบายอากาศที่มีประสิทธิภาพ การควบคุมความชื้น และการกรองอากาศเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี หรือกระทั่งมีพรมลดฝุ่นจากรองเท้าที่เข้ามาในอาคาร
  • น้ำ (Water): การเข้าถึงน้ำที่สะอาดและปลอดภัยเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสุขภาพของทุกคน เพราะน้ำที่ได้รับการกรองและดูแลให้มีคุณภาพดีช่วยลดความเสี่ยงจากสารปนเปื้อนได้ และพื้นที่ในการตั้งที่กดน้ำที่ไม่ควรเกิน 30 เมตร 
  • โภชนาการ (Nourishment): การเข้าถึงอาหารที่ดีและมีประโยชน์ช่วยส่งเสริมสุขภาพและลดโรคภัยที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหาร โดยการให้ความสำคัญกับส่วนประกอบของอาหาร และการสนับสนุนการรับประทานอาหารอย่างมีสติ ไม่บริโภคมากเกินไป รวมถึงการเข้าถึงอาหารสุขภาพด้วยเช่นกัน
  • แสง (Light): อย่างที่รู้กันว่าแสงมีผลต่อจังหวะการนอนหลับและความตื่นตัวของร่างกาย การออกแบบแสงที่เหมาะสมจึงช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานและสุขภาพโดยรวม
  • การออกกำลังกาย (Fitness): การออกแบบที่สนับสนุนให้มีการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การมีพื้นที่สำหรับออกกำลังกายหรือโต๊ะทำงานที่ปรับระดับได้ ช่วยลดปัญหาจากการนั่งทำงานนานๆ
  • สบายกาย (Comfort): การออกแบบพื้นที่ที่สะดวกสบาย ปราศจากเสียงรบกวนและการควบคุมอุณหภูมิที่เหมาะสม (Noise and Thermal) ซึ่งจะช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงานได้
  • จิตใจ (Mind): การสนับสนุนสุขภาพจิตผ่านการออกแบบพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ เช่น การใช้พืชในอาคารหรือการมีพื้นที่เงียบสงบเพื่อพักผ่อน

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

ทำความรู้จัก Harvard Research – Flourishing Index

ปิดท้ายคุณวสุธา เปิดงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้พัฒนา Flourishing Index (FI) ที่ใช้ในการวัดระดับความสุขและสุขภาพจิตของพนักงาน โดยดัชนีนี้ประเมินจาก 6 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่:

  • ความพึงพอใจในชีวิต (Happiness and Life Satisfaction): ความสามารถในการรู้สึกพึงพอใจและมีความสุขในชีวิตประจำวัน เช่น เสียง อุณหภูมิ แสง
  • สุขภาพกายและจิต (Physical and Mental Health): การประเมินสุขภาพร่างกายและจิตใจของพนักงาน
  • ความหมายในชีวิต (Meaning and Purpose): การมีเป้าหมายและความหมายในการทำงานและชีวิตส่วนตัว
  • คุณธรรมและความรับผิดชอบ (Character and Virtue): การส่งเสริมคุณธรรมและการกระทำที่ดีในทุกสถานการณ์
  • ความสัมพันธ์ทางสังคม (Close Social Relationships): การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและการสนับสนุนซึ่งกันและกันในที่ทำงาน
  • ความมั่นคงทางการเงิน (Financial and Material Stability): ความรู้สึกปลอดภัยและมั่นคงทางการเงิน

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า การสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมทั้งสุขภาพกายและจิตสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและความพึงพอใจในการทำงานของพนักงานได้อย่างมีนัยสำคัญ

สรุปได้ว่า มาตรฐาน WELL Building และการใช้ดัชนี Flourishing Index ร่วมกัน ก็จะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสร้างองค์กรที่ส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานได้ ซึ่งอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายร่วมกัน

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Emotional AI Bridging Technology and Human Emotion โดย อรรถพร จงรักศักดิ์ 

ปิดท้าย Session สุดท้ายโดยคุณ อรรถพร จงรักศักดิ์ AI and Gamification Lead จาก MQDC Metaverse ที่มาพูดเรื่อง AI กับการสร้างสุขภาวะที่ดีในองค์กร เพราะปัจจุบันเริ่มมีการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานกันแล้ว 

โดย AI ไม่เพียงช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่ยังช่วยในการดูแลสุขภาพจิต และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีได้ นับเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เขาต้องการพูดในการบรรยายครั้งนี้

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

Emotional AI ปัญญาประดิษฐ์ที่ตรวจจับอารมณ์ได้

Emotional AI คือ AI ที่สามารถตรวจจับและตอบสนองต่ออารมณ์ของมนุษย์ได้ เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์และเครื่องจักร 

โดย Emotional AI นี้สามารถวิเคราะห์อารมณ์ผ่านเสียง ใบหน้า และข้อมูลอื่น ๆ เพื่อรับรู้และตอบสนองต่อความรู้สึกของพนักงาน ทำให้สามารถช่วยพนักงานที่มีความเครียด หรือจัดการกับอารมณ์เชิงลบได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ Emotional AI มีคุณสมบัติหลัก 3 ข้อที่โดดเด่น ดังนี้

1. การรู้จำอารมณ์ (Emotion Recognition)

การรู้จำอารมณ์เป็นกระบวนการที่ AI วิเคราะห์และแยกแยะอารมณ์ของมนุษย์ผ่านสัญญาณต่าง ๆ เช่น การแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง ท่าทาง และสัญญาณทางกายภาพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ไปจนถึงความดันโลหิต 

AI จะใช้เทคโนโลยีการประมวลผลสัญญาณดิจิทัล และการจดจำรูปแบบเพื่อระบุอารมณ์ที่แตกต่างกันในแต่ละสถานการณ์ได้

ตัวอย่างการใช้งาน: Emotional AI สามารถตรวจจับความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของน้ำเสียงหรือสีหน้าในการประชุมออนไลน์ และสามารถแนะนำให้พักผ่อนเมื่อพบว่ามีระดับความเครียดสูง หรือการตรวจสอบสัญญาณของความเครียดผ่านการวิเคราะห์เสียงหรือใบหน้า และนำเสนอคำแนะนำหรือโปรแกรมผ่อนคลายที่เหมาะสมกับพนักงานคนนั้น ๆ ได้

2. การสร้างอารมณ์ (Emotion Generation)

นอกจากการรู้จำอารมณ์แล้ว Emotional AI ยังสามารถสร้างและแสดงอารมณ์ที่สอดคล้องกับการตอบสนองของมนุษย์ เช่น การยิ้มแบบเสมือนจริง หรือการใช้โทนเสียงที่เป็นมิตรเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ที่แตกต่างกัน เช่น ChatGPT 4o สามารถมีน้ำเสียง ลมหายใจ หรือการหัวเราะได้ ฉะนั้นการสร้างอารมณ์ของ AI จะช่วยให้การโต้ตอบระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรมีความเป็นธรรมชาติและเป็นมิตรมากยิ่งขึ้น

ตัวอย่างการใช้งาน: แชทบ็อตหรือผู้ช่วยเสมือนที่สามารถแสดงอารมณ์ผ่านข้อความหรือเสียง เช่น การใช้เสียงที่อ่อนโยนและแสดงความห่วงใยเมื่อตรวจพบว่าผู้ใช้งานมีความวิตกกังวล

3. การปรับตัวตามอารมณ์ (Emotion Adaptation)

การปรับตัวตามอารมณ์เป็นความสามารถที่ทำให้ AI สามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการตอบสนองตามอารมณ์ที่ตรวจพบได้ เช่น การแนะนำเพลงที่เหมาะสมกับอารมณ์ปัจจุบันของผู้ใช้งาน หรือการปรับวิธีการสื่อสารเมื่อพบว่าอารมณ์ของผู้ใช้งานเปลี่ยนแปลงไป 

ฟีเจอร์นี้ช่วยให้ AI สามารถสร้างประสบการณ์ส่วนตัว และตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ตัวอย่างการใช้งาน: แอปพลิเคชันสตรีมมิ่งเพลงหรือภาพยนตร์ที่สามารถแนะนำเพลย์ลิสต์หรือหนังที่สอดคล้องกับอารมณ์ ความต้องการ และรสนิยมของผู้ใช้งานได้ โดยวิเคราะห์จากพฤติกรรมในแต่ละช่วงเวลานั่นเอง

สรุปสิ่งที่ HR ควรรู้จากคอร์ส Designing 21st Century Well-Being Organizations

AI กับความเป็นอยู่ที่ดีในองค์กร

ปัจจุบัน AI ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลเท่านั้น แต่ยังสามารถถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีในองค์กรได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ทั้งยังขยายไปถึงมิติทางการเงินและสังคมของพนักงานอีกด้วย ที่สำคัญยังช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน และสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของพนักงานในด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยมีตัวอย่างดังนี้

ตัวอย่างการใช้งาน:

  • AI ในการออกแบบสถานที่ทำงาน: AI สามารถวิเคราะห์ข้อมูลการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมของพนักงานในสำนักงานเพื่อนำมาปรับปรุงการออกแบบพื้นที่ทำงาน เช่น การปรับอุณหภูมิและแสงสว่างในแต่ละส่วนของสำนักงานให้เหมาะสมกับความต้องการของพนักงานแต่ละคน
  • AI กับความผูกพันของพนักงาน: AI สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการตรวจสอบการสื่อสารและการทำงานของพนักงานมาปรับปรุงการมีส่วนร่วมและความผูกพันของพนักงานในองค์กร โดยเฉพาะการช่วยลดความขัดแย้งและการสื่อสารที่ผิดพลาด
  • AI ในการจัดการทรัพยากรทางการเงิน: AI สามารถช่วยในการวิเคราะห์และจัดสรรงบประมาณหรือค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสิ้นเปลืองทรัพยากร และเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน
  • การสร้างความร่วมมือทางสังคม: AI ยังสามารถช่วยส่งเสริมความสามัคคีและความร่วมมือในองค์กรผ่านการสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่มีคุณค่าและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กร
  • AI กับการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์: AI สามารถช่วยประเมินพฤติกรรมและความคิดสร้างสรรค์ของพนักงาน และเสนอวิธีการหรือแนวทางที่จะช่วยให้พนักงานสามารถคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • AI ในการส่งเสริมนวัตกรรม: ด้วยการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล AI สามารถช่วยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว

ท้ายที่สุดสิ่งสำคัญคือเรื่อง Privacy ที่ทุกคนควรตระหนักก่อนที่จะนำ AI ไปใช้องค์กร เพราะหากมีการละเมิดสิทธิส่วนตัวอาจเป็นผลร้ายกับองค์กรมากกว่าผลดี

แต่ถ้าหากองค์กรทำทุกอย่างถูกต้อง AI ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในองค์กรอย่างยั่งยืนได้แน่นอน !

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง