ดูแลสุขภาพงาน ด้วยการรักษาสุขภาพกายและใจ ห่างไกล NCDs

HIGHLIGHT

  • NCDs คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนมากถึง 41 ล้านคนทั่วโลก จากตัวเลขนี้มีถึง 15 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
  • NCDs ถูกเรียกว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่นการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, การทำงานหามรุ่งหามค่ำ, การอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองเป็นเวลานาน, การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงานทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ องค์กรจึงมีหน้าที่สอดส่องดูแลพนักงาน และช่วยดูแลทุกคนให้มีสุขภาพดี
  • สถิติเรื่อง NCDs ในเมืองไทยจากปี 2023 ระบุว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 400,000 คนต่อปี คิดเป็น 76% และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 9.7% ของ GDP
  • วิจัยพบว่าองค์กรขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานมากกว่าองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร แต่ความจริงแล้ว HR สามารถช่วยวางแผนด้านนโยบายสุขภาพเพื่อป้องกัน NCDs ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมด้วยซ้ำ แต่ต้องใช้ทักษะของการจัดลำดับความสำคัญ และบริหารจัดการตามสัดส่วน ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกัน
  • อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจาก NCDs คือภาพสะท้อนว่าองค์กรจะใส่ใจเพียงสุขภาพงานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงานควบคู่ไปด้วยเสมอหากต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลแค่ไหน เราก็จะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้เลยหากไม่มี “แรงงานคน” ที่แข็งแรง พร้อมปรับตัวตลอดเวลา

ดูแลสุขภาพงาน ด้วยการรักษาสุขภาพกายและใจ ห่างไกล NCDs

ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 คือตัวเร่งสำคัญที่ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องแข่งขันกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราได้เห็นข่าวพนักงานล้มป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำงานหารุ่งหามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งแม้จะช่วยให้ลูกค้าในฐานะผู้บริโภครู้สึกตื่นตาตื่นใจ แต่ในมุมกลับกัน ก็ทำให้พนักงานและองค์กรในฐานะผู้ผลิตต้องเจอกับผลกระทบตามมาเช่นกัน

หนึ่งในนั้นอันตรายที่เกิดขึ้นจาก NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเครียด, เบาหวาน, ความดัน ฯลฯ ที่เข้ามาลดทอน ความแข็งแรงทางกายใจของพนักงานโดยตรง ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักได้แล้วว่า แม้โลกธุรกิจจะเข้มข้นขึ้นแค่ไหน แต่เราจะสนใจแค่สุขภาพงาน โดยละเลยสุขภาพกายและใจของพนักงานที่ร่วมหัวจมท้ายกับเราไม่ได้อีกแล้ว

NCDs คืออะไร ทำลายองค์กรได้มากแค่ไหน และ HR จะเปลี่ยนโลกการทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ได้ด้วยกลยุทธ์แบบใด อ่านทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ได้ที่นี่

NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คืออะไร 

NCDs มาจากคำว่า Non-Communicable Diseases หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญทั่วโลก โรคในกลุ่ม NCDs ได้แก่โรคเบาหวาน, โรคความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วน, ถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็ง รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นต้น ทั้งนี้สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2023 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้มากถึง 41 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 15 ล้านคนที่มีอายุ 30-69 ปี หรือเรียกว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สถิติยังเผยว่า 77% ของคนที่เสียชีวิตมาจากประเทศกลุ่มรายได้น้อยและกำลังพัฒนา สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก, สภาพอากาศ ตลอดจนการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง 

กลุ่มโรค NCDs เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ส่วนใหญ่แล้วโรคในกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ จนบางครั้งผู้ป่วยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่โรคจะทวีความรุนแรงขึ้นจนเข้าสู่สภาวะเรื้อรังในท้ายที่สุด

NCDs ถูกเรียกว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เราจึงรับมือกับโรคนี้ได้ด้วยการปรับวิถีชีวิต เช่นการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ไม่ตามใจปากเกินไป, พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที และสำคัญที่สุดคือหากรู้สึกไม่สบายให้ปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยากินเองโดยปราศจากความรู้เด็ดขาด

หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่า “พนักงานบริษัท” เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคนี้มาก เพราะวิถีชีวิตในแต่ละวันต่างมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยได้ทั้งสิ้น ดังนั้นในยุคที่สวัสดิการพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ HR ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของพนักงานมากกว่าเดิม

ผลวิจัยเรื่อง A Systematic Review on NCDs Among Working Women ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Industrial Health ของ National Institute of Occupational Safety and Health เมื่อปี 2021 กล่าวว่าการทำงานหนักกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานไม่เป็นเวลา, การทำงานหนักเกินไปจนเกิดความเครียด, การนั่งอยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป ฯลฯ 

สาเหตุเหล่านี้ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องกลับมาทบทวนเรื่องกระบวนการทำงาน และปรับโครงสร้างองค์กรให้ดีขึ้น เพราะพนักงานที่มีกายใจอ่อนแอ จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ได้ ส่งผลเสียทั้งกับตัวองค์กรและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ภาพรวมของ NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยเป็นอย่างไร

NCDs คือหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตหลักของคนไทย โดยสถิติในปี 2023 ระบุว่ามีอัตราสูงถึง 76% หรือราว 400,000 คนต่อปี คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว ปีละ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9.7% ของ GDP ประเทศ 

เหตุนี้การแก้ไขปัญหา NCDs จึงเป็นเรื่องที่องค์กรทุกแห่งต้องให้ความสำคัญ สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคนี้ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2030 และแนวทางของสสส. ที่อยากให้องค์กรชูเรื่อง Happy Workplace เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี เป็นมิตรกับครอบครัว (Family-Friendly Workplace) ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม เรามาดูพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อ NCDs ของวัยทำงานในเมืองไทยกันบ้าง สสส. กล่าวว่า การเติบโตของการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ทำให้ปัญหานี้น่ากังวลมากขึ้น เพราะนิสัยปกติของคนทำงานที่มักจะสั่งของกินเมื่อรู้สึกเครียด โดยเฉพาะของหวานและขนมจุกจิกที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเบาหวานและโรคอ้วน

ผลวิจัยจาก Mintel ระบุว่าคนไทย 77% เลือกทานขนมกรุบกรอบเพื่อให้กำลังใจตัวเอง และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 81% ในกลุ่มคนอายุ 25 – 34 ปี นอกจากนี้คนไทย 76% ยังมีสภาวะ “กินไปเรื่อย” เรียกว่าเคี้ยวไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งตอนทำงาน, ตอนดูหนัง, ตอนเล่นเกม หรือแม้แต่ตอนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร ตัวเลขเหล่านี้กระตุ้นให้เราต้องคิดว่าคนไทยขาดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างโฟกัสระหว่างวันหรือเปล่า

ในส่วนของความเครียดนั้น การทำงานคือหัวใจสำคัญที่คอยกระตุ้นให้เรื่องนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยกลางคนที่มีความเครียดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้องแบกรับทั้งส่วนของบริษัทและความรับผิดชอบส่วนตัว ทั้งนี้ Cigna ได้วิจัยและพบว่าคนไทย 9 ใน 10 มีความเครียด แต่คิดว่าตนสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง และสาเหตุของความเครียดก็แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 43% เกิดจากเรื่องการเงิน , 35% เกิดจากเรื่องการงาน, 10% เกิดจากเรื่องครอบครัว แล้ว 8% เกิดจากเรื่องสุขภาพ ผลสำรวจเดียวกันยังกล่าวว่าพนักงานไทย 82% มองว่าองค์กรที่ใส่ใจสุขภาพเป็นองค์กรที่ดีกว่า หากต้องเปรียบเทียบเพื่อเลือกร่วมงานกับอีกบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย

ปิดท้ายด้วยข้อมูลของดร.นพ.เจตน์ รัตนจีนะ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการศึกษาเรื่อง “บทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล” พบว่า องค์กรขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพแรงงาน เพราะมีสภาพคล่องทางการเงิน และมองว่าวิธีนี้จะทำให้เกิดการการทำงานที่คล่องตัวขึ้น โดยอยู่ในรูปแบบของสวัสดิการรักษาพยาบาล, การตรวจคัดกรองและกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ โดยให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น

ขณะที่องค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็กจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่า เพราะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร และไม่ได้เน้นย้ำเรื่องนี้กับบุคลากรตั้งแต่แรก จึงเกิดปัญหาเวลาต้องการนำเสนอกับพนักงานอีกครั้ง

จากบริบทของสังคมไทย ทำให้เราต้องเข้าใจตรงกันว่าแรงงานคนเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด ทั้งกับองค์กรและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า หากเราโดดเดี่ยวคนกลุ่มนี้และให้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเององคาพยพทางธุรกิจก็อาจหยุดชะงัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบในปัจจุบัน

NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลเสียกับการทำงานอย่างไร

พนักงานที่สุขภาพกายใจดี ย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่จิตใจว้าวุ่น โดยเราสามารถสรุปผลเสียของการมีพนักงานที่ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ดังนี้

  1. เกิดการขาดงาน (Absenteeism) : โรคในกลุ่ม NCDs อย่างเบาหวาน, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ปัญหาสุขภาพจิต จะนำไปสู่การใช้วันลาป่วยที่เพิ่มขึ้นของพนักงาน ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานขาดความต่อเนื่อง และหากเกิดขึ้นเป็นประจำก็จะทำให้ธุรกิจล่าช้า เพราะมีกำลังคนไม่พอ (Lack of Manpower) ซึ่งอาจไม่รีบแก้ไขโดยเร็ว ก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อองค์กร ที่สำคัญคือผู้นำจะไม่กล้าฝากงานให้กับคนเหล่านี้เพราะรู้สึกถึงความไม่มั่นคง
  2. พนักงานมาทำงานจริง แต่ทำงานได้ไม่เต็มที่ (Presenteeism) : แม้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางส่วนจะมาทำงานได้ แต่อาการของโรคก็จะทำให้พวกเขาใช้ศักยภาพเพื่องานได้ไม่เต็มที่ เพราะผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่นอารมณ์ฉุนเฉียว, ทัศนคติที่ผิดพลาดจากปัญหาทางใจ, ความผิดปกติของร่างกาย ฯลฯ การทำงานโดยคนกลุ่มนี้ในบางครั้งจึงเป็นงานที่ทำเพื่อให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดเท่านั้น ไม่ได้มีคุณภาพดีเท่าเดิม นอกจากนี้พนักงานที่ฝืนทำงานตอนร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อจนส่งผลกระทบต่อพนักงานคนอื่นได้ กล่าวโดยสรุปคือการมีผู้ป่วยลักษณะนี้ในองค์กร คือเรื่องที่ส่งผลเสียในระยะยาวหากไม่มีมาตรการรองรับอย่างจริงจัง
  3. ลดทอนประสิทธิภาพของบุคคลากร (Reduce Efficiency) : NCDs จะทำให้พนักงานไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้อย่างเต็มที่ งานที่ควรจะเสร็จในเวลาอันสั้นก็ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ใช้ทรัพยากรมากกว่าปกติ และใช้พลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งพอมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แทนที่พนักงานจะเอาเวลามาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ต้องเอาเวลามาแก้ไขปัญหามากกว่า หากเกิดกรณีนี้ขึ้นในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง องค์กรของเราก็จะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advabtage) โดยไม่ทันตั้งตัว
  4. ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพขององค์กรสูงขึ้น (Increase Healthcare Cost) : สวัสดิการพนักงานยุคนี้ให้ความสำคัญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพนักงานหรือครอบครัวก็ตาม โดยสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานตัดสินใจว่าจะอยู่กับองค์กรในระยะยาวหรือไม่ตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อสวัสดิการด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่องค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีพนักงานป่วยเรื้อรังจะทำให้องค์กรต้องเสียทั้งค่ารักษา, ค่าปรึกษา, ค่าเงินประกันเพิ่มเติม ฯลฯ ซึ่งหากมีจำนวนมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อโครงสร้างทางการเงินขององค์กร ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรเอาไปใช้เรื่องการพัฒนาทักษะ (Learning & Development) ของพนักงานมากกว่า
  5. ทำให้เกิดบรรยากาศทำงานที่เป็นพิษ (Toxic Atmosphere) : แม้ NCDs หรือความเจ็บป่วยทุกอย่างจะเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่หากเจอกับพนักงานคนใดคนหนึ่งในระยะยาวจนส่งผลกระทบกับงานและกลายเป็นปัญหาของคนหมู่มาก ความเจ็บป่วยจะถูกมองเป็นปัญหาที่สร้างความขุ่นข้องมองใจได้ทันที จนอาจนำไปสู่การโดดเดี่ยว (Isolating) ผู้ป่วย NCDs เหล่านั้น

HR ช่วยดูแลสุขภาพกายใจพนักงานให้ห่างไกล NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างไร

คนวัยทำงานต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันที่ออฟฟิศ หรืออย่างน้อยก็ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอตามนโยบาย Work From Home นโยบายแต่ละอย่างขององค์กรและการทำหน้าที่ของ HR จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพนักงานอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นถ้าเรามีพนักงานที่ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการยุติสัญญา เราควรมองแนวทางช่วยเหลืออื่น ๆ ให้จริงจังเสียก่อน จากนั้นก็ควรเก็บข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นองค์ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมอีกครั้ง 

HR ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันเรื่อง NCDs ได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  1. เก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น (Conduct Needs Assessment) : ในโลกที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างมาก สิ่งที่องค์กรทั่วโลกทำก็คือการรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปพิจารณาถึงแนวทางการออกแบบสวัสดิการ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในหมู่พนักงานมากขึ้นถึงสภาพกายและใจของเพื่อนร่วมงานคนอื่น ขณะเดียวกันเราก็สามารถนำข้อมูลไปให้ AI วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นหรืออาจนำไปใช้คาดเดาความน่าจะเป็นในอนาคตก็ได้ โดยวิธีการเก็บข้อมูลที่น่าสนใจก็เช่นการทำแบบสอบถามเป็นระยะ, การทำ Stay Interview หรือการตั้งทีมวิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งไม่ว่า HR จะตัดสินใจแบบไหนก็ตาม HR ควรอ้างอิงกับข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ไม่ตัดสินใจโดยคิดไปเองเด็ดขาด
  2. สร้างสถานที่ทำงานให้ดีต่อใจด้วย Wellness Program : WHO เน้นย้ำว่าการดูแลสุขภาพพนักงานส่งผลอย่างยิ่งต่อความต่อเนื่อง, การดึงดูดคนเก่ง (Attracting Talents) และการรักษาพนักงาน (Retention) ดังนั้นการลงทุนกับกระบวนการดูแลบุคลากร 1 ดอลลาร์ จะได้ผลตอบแทนกลับมา 4 ดอลลาร์ ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะจะได้ประโยขน์ทั้งด้านคุณภาพงานและคุณภาพคนไปพร้อม ๆ กัน ในที่นี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าการสร้าง Wellness Program ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มก็ได้ หาก HR รู้จักจัดระเบียบความสำคัญ (Prioritized) เอาเรื่องสุขภาพพนักงานขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ลดทอนเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าลงไป และบริหารงบประมาณภายใต้ Framework ดังกล่าว อนึ่ง Wellness Program ที่ดีครอบคลุมเรื่องการให้ความรู้ด้านสุขภาพกับพนักงาน, การสนับสนุนวิธีเดินทางมาออฟฟิศให้สะดวกสบาย, การสร้างสรรค์กิจกรรมให้พนักงานอยากออกกำลังกายโดยมีรางวัลตอบแทนมากระตุ้น, การวางตารางทำงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น เป็นต้น
  3. จัดเตรียมทรัพยากรด้านสุขภาพที่พนักงานต้องใช้ (Health Resources) : HR ต้องแน่ใจว่าพนักงานสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นด้านสุขภาพและศูนย์ช่วยเหลืออื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ เช่นพื้นที่สำหรับรถเข็นในที่ทำงานสำหรับคนที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก, พื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนการเลือกอาหารที่เหมาะสมในห้องอาหารส่วนกลาง องค์กรควรมีระบบประกันสุขภาพให้พนักงานเข้าถึงการรักษาได้ง่าย, มีบัตรสมาชิกสำหรับออกกำลังกาย, มีรถรับส่งตามจุดต่าง ๆ ในกรณีที่ออฟฟิศตั้งอยู่ไกล เป็นต้น ซึ่งหากมีทรัพยากรเพียงพอ สิ่งเหล่านี้สามารถลงลึกไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วยก็ได้ เพราะความสุขทางใจก็นำไปสู่สุขภาพที่ดีได้เช่นกัน 
  4. ออกแบบนโยบายที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Benefits) : เราต้องตระหนักว่าความเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ สิ่งที่องค์กรควรทำจึงเป็นการสนับสนุนพนักงานให้มากที่สุดโดยเริ่มจากการออกนโยบายที่ยืดหยุ่น โดยเอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง เช่นการอนุญาตให้ทำงานที่บ้าน, การเข้างานได้ในเวลาที่สะดวก, หรือหากคนไหนไม่สามารถทำงานได้จริง ๆ ก็สามารถลดปริมาณงานและไปโฟกัสในจุดที่ทำได้ดีที่สุดแทนก็ได้ หากคำนวณแล้วว่าคุ้มค่ากว่าการจ้างบุคลากรคนใหม่ ความยืดหยุ่นตรงนี้ยังหมายถึงการที่ HR ต้องหมั่นหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อทำให้ความยืดหยุ่นแต่ละอย่างมีความรอบคอบมากขึ้น ตอบสนองบุคลากรและองค์กรมากขึ้น 
  5. สร้างวัฒนธรรมของการช่วยเหลือกัน (Supportive Culture) : วัฒนธรรมองค์กรคือแก่นสำคัญที่ทุกคนควรยึดเป็นแบบอย่าง และจะดีแค่ไหนหากวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเราคือวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายพร้อมช่วยเหลือ และเต็มไปด้วยความเข้าอกอกเข้าใจ การทำแบบนี้ได้นั้น HR ต้องหากระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ข้อมูลกับพนักงานทั้งในเรื่องของการอยู่ร่วมกับผู้ป่วย, การดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งการอบรมเหล่านี้จะมีประโยชน์มากขึ้น หากองค์กรมีวัฒนธรรมด้านการแลกเปลี่ยนความเห็น (Feedback Culture) ที่ทุกฝ่ายสามารถพูดถึงความไม่สบายใจออกมา เพราะหากความเจ็บป่วยทำให้ประสิทธิภาพงานลดลง การพูดออกมาก็จะนำไปสู่วิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้นดี กว่าการเก็บไว้คนเดียวและระเบิดออกมา จนเป็นเพียงการกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

เมื่อทำตามขั้นตอนทั้ง 5 ข้อข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือการวัดผลที่ถูกต้อง (Monitor and Evaluate) HR ควรเก็บข้อมูลเสมอว่าระบบสุขภาพขององค์กร ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร, มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสุขภาพเกิดขึ้นจากพนักงานหรือไม่, อัตราการลาป่วยมีมากหรือน้อยแค่ไหน

และเมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว เราสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง หรือใช้เทคโนโลยี AI มาคำนวณว่านโยบายสุขภาพใดบ้างที่เป็นประโยชน์, วิธีการทำงานแบบใดที่นำไปสู่ความเจ็บป่วย หรือให้ลึกซึ้งไปอีกก็คือการตรวจสอบว่าผู้สมัครในลักษณะแบบไหน ที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคต โดยใช้สถิติจากข้อมูลที่บันทึกไว้ เป็นต้น หากทำได้แบบนี้ ทุกคนก็จะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี สามารถต่อกรกับ NCDs ได้แน่นอน

Work Life Balance ปัจจัยพื้นฐานเพื่อจัดสมดุลชีวิตพนักงานที่ทุกองค์กรต้องมี

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอนำเครื่องที่ถูกพูดถึงกันมาตลอดอย่าง “การจัดสมดุลชีวิต” มาเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานห่างไกล NCDs มากขึ้น เพราะหากเราเปลี่ยนชีวิตประจำวันของคนให้มีคุณค่า พวกเขาก็จะอยากทำงานเพื่อองค์กร และเกิดมุมมองว่าเราควรยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นไปด้วยกัน แต่หากเราใช้งานพนักงานจนหามรุ่งหามค่ำ การทำงานทั้งหมดก็จะอยู่ในลักษณะของการเอาตัวรอด (Survival) เท่านั้น ไม่ใช่งานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกให้กับใครได้เลย

Forbes รายงานว่าพนักงานที่มีความสุข จะทำงานได้ดีกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุขถึง 20% ซึ่งความสุขเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากมีความเจ็บป่วย หรือต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเชิงลบที่ไม่รู้สึกถึงการสนับสนุนใด ๆ จากองค์กร เพราะในผลสำรวจเดียวกันยังระบุด้วยว่าไม่ใช่ทุกองค์กรที่พร้อมทำเพื่อพนักงาน จึงไม่แปลกหากจะมีสถิติเผยว่าพนักงานถึง 61% กำลังรู้สึกหมดไฟ (Burnout) และสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะซึมเศร้า (Depression), วิตกกังวล (Anxiety), หงุดหงิดง่าย (Anger) รวมถึงมีความเจ็บป่วยทางกายและใจอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ NCDs ได้ทั้งสิ้น

สมดุลชีวิตที่ดีจะทำให้พนักงานมี Passion กับตัวเอง รู้ว่าจะเอาเวลาว่างไปใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้คนเหล่านั้นเห็นความสุขแบบอื่นนอกจากในที่ทำงานจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถนำประสบการณ์ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับการทำงาน และเมื่อเห็นคุณค่าของการรักตัวเองมากขึ้นแล้ว พนักงานก็จะหันมาดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ 

ขณะเดียวกัน HR ต้องหมั่นตรวจสอบว่าพนักงานมีเครื่องมือที่จำเป็นครบถ้วนดีแล้วหรือไม่ และมีกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดขั้นตอนให้พนักงานหรือเปล่า HR ต้องคิดว่าการใช้เงินแลกกับสวัสดิภาพของพนักงานคือการลงทุน (Investment) ไม่ใช่รายจ่าย

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า “…(คนวัยทำงาน) ใช้เวลากับที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน สิ่งสำคัญจึงเป็นสภาพแวดล้อมและสังคมที่ทำให้เขามีความสุขกับการทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วผลงานก็จะถูกสะท้อนออกมาจากคุณภาพชีวิตของคนทำงาน” สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศปี 2564 ในประเด็นด้านสาธารณสุข ที่ได้มีการเน้นเรื่อง “นโยบายสุขภาพในที่ทำงาน” (Work Health Policy) เพื่อให้ความรู้เรื่องสุขภาพ และป้องกัน NCDs ในองค์กรผ่านมาตรการของบริษัทไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพนักงาน, เพิ่มผลผลิตขององค์กร และสำคัญที่สุดคือช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นไม่ว่าเราจะออกนโยบายแบบใดมาก็ตาม คำถามสำคัญที่ HR ต้องนึกถึงก็คือ “คนรอบข้างของเรามีความสุขหรือไม่” หากใช่ ก็แปลว่าคุณเดินมาถูกทางแล้ว

บทสรุป

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาใหญ่ที่องค์กรทั่วโลกต้องเจอแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันผ่านการออกโยบายที่ดี เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ควบคู่กับการออกแบบสวัสดิการที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของบุคลากรอย่างเท่าเทียม

HR ต้องเข้าใจว่าการป้องกัน NCDs ไม่ใช่เรื่องของพนักงานเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะในเมื่อพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายของเรา HR ก็ควรใส่ใจพนักงานอย่างเต็มที่ ซึ่งหากองค์กรมีรูปแบบการทำงานที่ดี มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ส่งเสริมให้พวกเขาสามารถดูแลได้ทั้งตัวเองและคนรัก องค์กรก็จะได้สุขภาพงานที่ดี ควบคู่ไปกับสุขภาพกายและใจที่ดีของพนักงานแน่นอน

HR ที่สนใจสามารถรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ LINE GROUP พันธมิตรเครือข่ายศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ หรือหากสนใจความรู้เพื่อสุขภาวะที่ดี ก็ติดตามต่อบนเว็บไซต์และเพจศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) ได้เลย

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง