“ฮาวทูเตรียม” ฉบับนี้ เป็นภาคต่อจากบทความตอนที่ 1 เรื่อง “ทำความรู้จักกับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR (HR Certification)” ค่ะ ซึ่งในตอนนี้ผู้เขียนอยากจะมาแชร์เทคนิคและเกร็ดความรู้ (Hacks) จากประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับการขอรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR (แบบลงรายละเอียดมากขึ้น) สำหรับผู้ที่สนใจและอยากศึกษาข้อมูลล่วงหน้าเพื่อเตรียมตัวในอนาคต
ที่กล่าวว่าสำหรับผู้ที่สนใจและศึกษาข้อมูล “ล่วงหน้า” นั้นเป็นเพราะว่าการขอเข้ารับการรับรองฯ นั้นมีขั้นตอน และแต่ละขั้นตอนจำเป็นต้องอาศัยการเตรียมข้อมูล (ซึ่งการเตรียมข้อมูลนี้ใช้เวลาค่ะ)
การที่เราจะจัดสรรและบริหารเวลาในการเตรียมตัวเข้ารับการรับรองฯได้ดีเพียงใดนั้น อยากแนะนำให้เริ่มจากการตั้งเป้าหมายหรือการ Set Expectation ส่วนตัวก่อนว่าต้องการ “การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ” ไปเพื่ออะไร และจะสามารถทำให้สำเร็จได้เมื่อใด การตั้ง Expectation and Timeline จะทำให้สามารถจัดสรรเวลาในการเตรียมตัวได้ดีมากขึ้น
ขอทบทวนกันสักนิดเกี่ยวกับคุณวุฒิวิชาชีพการบริหารงานบุคคล
คุณวุฒิวิชาชีพการบริหารงานบุคคลแบ่งออกเป็น 4 ชั้นคุณวุฒิ แยกตามระดับของสมรรถนะและความถนัดเริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 3 ไปถึงชั้นที่ 6 โดยแยกย่อยเป็นสาขาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงาน HR ทั้งหมด 10 สาขา ตามรายละเอียดดังนี้
ชั้นที่ 3 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้ปฏิบัติงาน” (HR Practitioner-HRP) แบ่งเป็นสาขาการปฏิบัติงาน 4 สาขาได้แก่ สรรหาและคัดเลือกบุคลากร พนักงานสัมพันธ์ เรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริหารค่าตอบแทน
ชั้นที่ 4 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “ นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้บริหารระดับต้น” (HR Professional-PHR) แบ่งเป็นสาขาการปฏิบัติงาน 8 สาขาได้แก่ สรรหาและคัดเลือกบุคลากร พนักงานสัมพันธ์ เรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริหารค่าตอบแทน วางแผนอัตรากำลัง พัฒนาองค์กร บริหารผลงาน บริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพ
ชั้นที่ 5 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “ นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้เชี่ยวชาญอาวุโส หรือผู้บริหารระดับกลาง” (Senior HR Professional-SPHR) มีสาขาการปฏิบัติงานเพียง 1 สาขาคืออาชีพนักบริหารงานบุคคล
ชั้นที่ 6 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้ชำนาญการพิเศษหรือผู้บริหารระดับสูง” (HR Expert-EHR) มีสาขาการปฏิบัติงานเพียง 1 สาขาคืออาชีพนักบริหารงานบุคคล
เบื้องต้นอยากจะแบ่งขั้นตอนการเตรียมความพร้อมออกเป็น 5 หัวข้อใหญ่เพื่อให้เห็นภาพทั้งหมดของกระบวนการตั้งแต่ต้นไปจนถึงการได้รับการรับรอง ฯ ดังนี้ค่ะ
I: ก่อนตัดสินใจสมัคร
เมื่อ Set Expectation และ Timeline แล้วควรเริ่มศึกษาข้อมูลการรับสมัคร (ผ่านการประกาศใน Website, Facebook Page หรือช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของสถาบัน) หากยังไม่เคยสมัครมาก่อนเลย แนะนำให้ลองใช้เวลาสืบค้นเข้าไปทุกแหล่งและเปรียบเทียบเงื่อนไขและระยะเวลาที่เหมาะสมกับตนเอง องค์กรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR มีมาตรฐานและขั้นตอนที่ไม่แตกต่างกัน จะแตกต่างกันเพียงแค่รอบของการเปิดรับสมัครและสถานที่การจัดสอบประเมินทั้งกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยมากแต่ละรอบการเปิดรับสมัครจะห่างกันประมาณ 3-4 เดือน หรือมีรอบรับสมัครแค่ประมาณ 3-4 ครั้งต่อปีเท่านั้น (สถาบันที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เป็นองค์กรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR 6 แห่งอยู่ในบทความตอนแรก
เมื่อตัดสินใจเลือกสถาบันผู้ให้การรับรองแล้ว ควรเข้าไปศึกษาข้อมูลโดยละเอียดไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติของผู้สมัคร ขั้นตอน สาขาที่เปิดรับสมัคร เกณฑ์การพิจารณา ค่าใช้จ่าย รวมทั้งทำความเข้าใจในแต่ละขั้นตอน หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อทางโทรศัพท์หรือ E-mail ที่มีการประกาศไว้ (เรียกได้ว่าต้องกระจ่างชัดตั้งแต่ต้น จะทำให้เราตรียมตัวได้ดีที่สุด)
II: เตรียมใบสมัครและส่งเอกสารการสมัคร
ขั้นตอนการสมัครขององค์กรผู้ให้การรับรองจะคล้ายกันเกือบทั้งหมด อาจจะมีเรื่องระยะเวลาในการส่งใบสมัครและเอกสารประกอบที่แต่ละสถาบันเป็นผู้กำหนดเอง โดยเอกสารที่ต้องส่งในการขั้นการสมัครนี้ประกอบด้วย
1.ใบสมัครสอบ กรอกรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
1.1 ข้อมูลส่วนบุคคล
1.2 ชั้นคุณวุฒิวิชาชีพที่ขอรับการประเมิน
1.3 ข้อมูลองค์กร/บริษัทที่ท่านปฏิบัติงานอยู่ปัจจุบัน หากกรณีที่ไม่ได้ทำงานให้องค์กร/บริษัท เช่นเป็นที่ปรึกษา วิทยากร นักวิชากรอิสระ ไม่ต้องกรอกข้อมูลส่วนนี้แต่ไปกรอกข้อมูลในเอกสารประกอบการขอเข้ารับการทดสอบกรณีผู้สมัครทำวิชาชีพอิสระ
1.4 ประวัติการศึกษา
1.5 ประสบการณ์ทำงานในองค์กร/บริษัทย้อนหลังทั้งหมด (ระบุรายละเอียดของประเภทกิจการ จำนวนพนักงาน บทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในขณะที่ปฏิบัติงานที่องค์กร/บริษัทนั้น)
1.6 การลงนามรับรองของนายจ้าง หรือ ผู้บังคับบัญชา (กรณีผู้สมัครทำงานสังกัดบริษัทหรือองค์กร) หรือบุคคลอ้างอิงที่มิใช่บิดา มารดา พี่ น้อง หรือญาติใกล้ชิด (กรณีผู้สมัครทำงานวิชาชีพอิสระ)
2.หลักฐานประกอบการสมัครเพื่อยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้กรอกไว้ในใบสมัครเช่น บัตรประจำตัวประชาชน ใบแสดงวุฒิการศึกษา รูปถ่าย
3.แบบฟอร์มบันทึกแฟ้มสะสมผลงาน ที่ระบุข้อมูลต่างๆ ดังนี้
3.1 ประสบการณ์การปฏิบัติงานจริง (Past Experience) และความสำเร็จในงาน (Achievement)
3.2 รายการเอกสารหลักฐานประกอบการยื่นแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) เป็นเหมือนใบปะหน้าที่แสดงลิสต์ของหลักฐานทั้งหมดใน Portfolio ว่าแบ่งป็นกี่เรื่อง แต่ละเรื่องมีเอกสารหัวข้อใดบ้าง
3.3 รางวัลที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ในวิชาชีพ HR (Awards)
3.4 ใบรับรองความรู้ ความสามารถ การพัฒนาและทักษะต่างๆ (Certification)
3.5 ข้อมูลการทําประโยชนให้กับวิชาชีพการบริหารทรัพยากรบุคคลในประเทศไทย (Social Contribution)
Tips
ขอเน้นเรื่องการให้ข้อมูลประสบการณ์ทำงานในองค์กร/บริษัทย้อนหลังทั้งหมดและการจัดทำข้อมูลใน Portfolio เนื่องจาก 2 เรื่องนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อการพิจารณาคุณสมบัติให้เป็นผู้มีสิทธิ์เข้ารับการทดสอบโดยคณะกรรมการ (หมายถึงหลังจากยื่นใบสมัครและเอกสารต่าง ๆ แล้ว ทางคณะกรรมการจะพิจารณาแล้วจึงแจ้งว่าจะมีสิทธิ์เข้ารับการทดสอบในขั้นต่อไปหรือไม่ เพราะมีบางกรณีที่ผู้สมัครส่งใบสมัครไปแต่ไม่ผ่านเพราะคุณสมบัติไม่ตรงหรือไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด) โดยต้องเน้นย้ำว่า ข้อมูลที่จะให้ต้องเป็นข้อมูล “จริง” ที่สามารถตรวจสอบและสอบทานกลับได้ การบิดเบือนหรือใช้ประโยชน์จากข้อมูลในทางที่ผิดถือว่าผิดจรรยาบรรณวิชาชีพ HR ด้วย
ข้อมูลประสบการณ์ทำงานในองค์กร/บริษัทย้อนหลังกำหนดให้ผู้สมัครระบุขอบเขตและบทบาท ข้อมูลตรงนี้ให้นึกถึงข้อมูลที่ปรากฎในเอกสาร พรรณาหน้าที่ หรือ JD ที่เราๆ รู้จักกัน หน้าที่ความรับผิดชอบจะสะท้อนมาจากชื่อตำแหน่ง ขอบเขตจะบอกระดับของความยาก ความซับซ้อนและมิติของงานในตำแหน่งนั้นว่ามีขอบเขตความรับผิดชอบทั้งกระบวนการหรือเพียงบางส่วน ส่วนบทบาทจะบอกในสิ่งที่ผู้ปฏิบัติงานได้ลงมือทำในฐานะผู้ปฏิบัติงานในวิชาชีพ HR
ยกตัวอย่างเช่น การเขียนขอบเขตและบทบาทของตำแหน่ง Training Manager ของ HR บ.แห่งหนึ่ง
1.วางแผนและเป็นที่ปรึกษาให้กับ Line Manager เกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาพนักงานในกลุ่มธุรกิจประกันภัย จำนวน 1,800 คน
2.วางแผน บริหาร ควบคุม และติดตามแผนการพัฒนาและเรียนรู้ (Corporate Learning Plan)ให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้
3. สื่อสารและกระตุ้นการรับรู้และมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมองค์กร
4.เป็นวิทยากรภายในองค์กรเพื่อเผยแพร่ความรู้ ทักษะและทัศนคติที่จำเป็นและเหมาะสมกับการปรับตัวเข้ากับการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร (New-Hired Mandatory Courses)
5. รับผิดชอบโครงการพัฒนาพนักงานกลุ่มหัวหน้างาน (Leadership Development Framework and Plan) และพนักงานศักยภาพสูง (Talent Development)ทั้งกระบวนการ (End-to-End) ของกลุ่มบริษัทย่อย
จะสังเกตได้ว่า keyword ในส่วนที่ขีดเส้นใต้จะเป็นตัวสะท้อนขอบเขตและบทบาท นอกจากนี้ควรเขียนในเชิง Informative อาจไม่ต้องขายของหรือ Self-Promoted เหมือนการเขียน CV/Resume สมัครงาน ส่วนของผลงาน ผลสำเร็จหรือ Impact ที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่สามารถไปลงรายละเอียดใน Portfolio ได้อีกที
พูดถึง Portfolio แล้วขอแชร์ Q&A เกี่ยวกับเทคนิคในการจัดเตรียมดังนี้ค่ะ
Q: Portfolio คืออะไร
A: Portfolio เป็น “ชุด” ของข้อมูลที่อาจประกอบด้วยตัวอย่าง (หรือต้นแบบของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่) แผนงาน แผนภาพ แผนภูมิ รายงาน (Report) เครื่องมือ แบบประเมิน แบบฟอร์มต่าง ๆ และเอกสารที่อยู่ในรูปแบบตัวอักษรใน Format ต่าง ๆ (หมายรวมถึง Link text ที่เชื่อมโยงไปยังข้อมูลที่อยู่ในลักษณะออนไลน์ด้วย)
Q: ใน Portfolio ควรมีข้อมูลอะไรบ้าง
A: ควรจัดเตรียมข้อมูลใน Portfolio ให้สอดคล้องกับสาขาและระดับชั้นคุณวุฒิวิชาชีพที่ผู้สมัครขอเข้ารับการประเมิน เช่น หากสมัครสอบในสาขา “การสรรหาและคัดเลือกบุคลากร” ควรมีข้อมูลที่แสดงถึงประสบการณ์เกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจในนโยบายการสรรหาคัดเลือกบุคลากร ตัวอย่างแผนงานสรรหา คัดเลือก ตัวอย่างกติกา และเกณฑ์การสรรหาคัดเลือก หรือขั้นตอนการปฏิบัติงานสรรหาคัดเลือกบุคลากร เป็นต้น
Q: สามารถใส่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท/องค์กรที่เคยปฏิบัติงานใน Portfolio ได้หรือไม่
A: ประเด็นนี้ไม่มีคำตอบที่ตายตัว ข้อมูลประสบการณ์ของแต่ละท่านมีมิติที่แตกต่างกัน แต่มีข้อแนะนำที่สำคัญให้พิจารณาก่อนใส่ข้อมูลลงใน Portfolio ดังนี้
- ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการคุ้มครองตามพ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ข้อมูลส่วนบุคคลที่สามารถทำให้สามารถระบุตัวตนของบุคคลนั้นๆได้ ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทร หมายเลขบัตรประชาชน ที่อยู่ ข้อมูลอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆและ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลพฤติกรรมทางเพศ ข้อมูลด้านสุขภาพ ความเห็นทางด้านการเมือง ความเชื่อในด้านศาสนา เป็นต้น
- หากไม่ได้เป็นข้อมูลส่วนบุคคลแต่เป็นขององค์กรหรือนิติบุคคล ควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าสิทธิ์ในข้อมูลนั้นเป็นขององค์กรนั้นๆ หรือไม่หรือเป็นข้อมูลที่มีผลผูกพันตามกฎหมายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใดหรือเปล่า (สังเกตว่าข้อมูลของบริษัท/องค์กรใดที่เปิดเผยในพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์หรือรายงานประจำปีถือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยได้)
- ผู้จัดทำเอกสารนั้นมีสิทธิ์ในข้อมูล (ย้อนหลัง) ภายใต้บริบทการทำงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง (ที่ปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติงานที่นั้นแล้ว) แต่ไม่ควรใส่ชื่อบริษัทหรือโลโก้ลงไปในเอกสาร
- เอกสารบางอย่างมีความจำเป็นต้องเขียนหรือจัดทำขึ้นมาใหม่ (Rewrite) บนข้อมูลเดิมเพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของความปลอดภัยข้อมูลหือสิทธิ์ในข้อมูล ควรใส่หมายเหตุไว้ด้วย
Q: Portfolio ควรมีข้อมูลมากน้อยแค่ไหน
A: การจัดทำข้อมูลใน Portfolio ควรให้ความสำคัญกับคุณภาพของข้อมูลมากกว่าปริมาณ โดยข้อมูลควรมีความสอดคล้องกับสาขาความถนัด เช่นสมัครสาขาการเรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคลก็ควรมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเชี่ยวชาญนี้เท่านั้น ข้อมูลควรแสดงถึงความรู้ ประสบการณ์ของผู้สม้คร หากมีข้อมูลเชิงประจักษ์ถึงผลที่เกิดขึ้น (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) หรือผลกระทบ (Impact & Achievement) ที่ชัดเจนจับต้องได้จะยิ่งทำให้ Portfolio มีความน่าเชื่อถือและสะท้อนถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญในวิชาชีพของผู้สมัครได้เป็นอย่างดี
ตัวช่วย (Helping Hacks) : การจัดเรียงรายการเอกสารบนใบปะหน้า (แสดงลิสต์ของหลักฐานทั้งหมดใน Portfolio) อย่างเป็นระบบ (เรียงจากผลงานที่เป็นเรื่องใหญ่มาเรื่องเล็ก หรือเรียงจากผลงานที่เป็นขั้นตอนการทำงานขั้นแรกไปหาขั้นสุดท้าย) และเป็นระเบียบ (เรียงตามตัวอักษร หรือจัดทำเป็นตัวเลขดัชนี) จะทำให้ผู้อ่านหรือผู้พิจารณาสามารถอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย ไม่สับสนและยังแสดงถึงความตั้งใจและความเป็นมืออาชีพด้วย
III: การเข้ารับการทดสอบ (ประกาศผลผู้มีสิทธิเข้ารับการทดสอบหลังส่งใบสมัคร)
หลังจากที่ส่งเอกสารทั้ง 3 ส่วน (ที่ระบุในข้อ II) ไปแล้วทางคณะกรรมการขององค์กรผู้รับรองนั้น ๆ จะพิจารณาพิจารณาคุณสมบัติจากใบสมัครและจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบเป็นขั้นตอนต่อไป โดยในขั้นตอนการเข้ารับการทดสอบนั้นจะประเมินโดยชุดเครื่องมือ (มีมากกว่าหนึ่งเครื่องมือ) ได้แก่การสอบข้อเขียน การให้คะแนนแฟ้มสะสมผลงาน และการสอบสัมภาษณ์โดยคณะกรรมการ ในแต่ละชั้นคุณวุฒิจะมีการกำหนดน้ำหนักของเครื่องมือแต่ละประเภทไว้ต่างกันตามตารางสรุปด้านล่าง
คุณวุฒิวิชาชีพบริหารงานบุคคลระดับ 3 แบ่งน้ำหนักออกเป็น
1) แฟ้มสะสมผลงาน คิดเป็นร้อยละ 20 จากคะแนนรวม 100 คะแนน
2) การสอบข้อเขียน คิดเป็นร้อยละ 80 จากคะแนนรวม 100 คะแนน
คุณวุฒิวิชาชีพบริหารงานบุคคลระดับ 4 จะมีขั้นอนการพิจารณา 2 ขั้นตอน โดยแบ่งน้ำหนักดังนี้
ขั้นที่ 1
1) แฟ้มสะสมผลงาน คิดเป็นร้อยละ 30 จากคะแนนรวม 100 คะแนน
2) การสอบข้อเขียน คิดเป็นร้อยละ 70 จากคะแนนรวม 100 คะแนน
ขั้นที่ 2
1) การสัมภาษณ์ ผลการสัมภาษณ์จะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการสอบ (Examiner) ว่าผ่าน หรือไม่ผ่าน โดยเอกฉันท์ กำหนดเวลาในการสัมภาษณ์ 45-60 นาที
คุณวุฒิวิชาชีพบริหารงานบุคคลระดับ 5 จะมีขั้นตอนการพิจารณา 2 ขั้นตอน โดยแบ่งน้ำหนักดังนี้
ขั้นที่ 1
1) แฟ้มสะสมผลงาน คิดเป็นร้อยละ 40 จากคะแนนรวม 100 คะแนน
2) การสอบข้อเขียน คิดเป็นร้อยละ 60 จากคะแนนรวม 100 คะแนน
ขั้นที่ 2
1) การสัมภาษณ์ ผลการสัมภาษณ์จะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการสอบ (Examiner) ว่าผ่าน หรือไม่ผ่าน โดยเอกฉันท์ กำหนดเวลาในการสัมภาษณ์ 2 ชั่วโมง
คุณวุฒิวิชาชีพบริหารงานบุคคลระดับ 6 จะมีขั้นตอนการพิจารณา 2 ขั้นตอนได้แก่
1) แฟ้มสะสมผลงาน
2) การสัมภาษณ์ ผลการสัมภาษณ์จะได้รับการพิจารณาโดยคณะกรรมการสอบ (Examiner) กำหนดเวลาในการสัมภาษณ์ 3 ชั่วโมง
IV: เตรียมเข้ารับการประเมินด้วยการสอบข้อเขียนและการสัมภาษณ์
การสอบข้อเขียน สำหรับคุณวุฒิชั้น 3, 4 และ 5 แบ่งข้อสอบออกเป็น 3 หมวดได้แก่
- หมวด HR Concept & Strategy กำหนดให้ทุกชั้นคุณวุฒิต้องสอบ
- หมวด HR Expertise แยกชุดข้อสอบตามสาขาที่สมัคร
- หมวด HR Professional Practice แยกชุดข้อสอบตามสาขาที่สมัคร
สำหรับคุณวุฒิชั้น 4 และ 5 ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องสอบผ่านข้อเขียนแต่ละหมวด 50% ขึ้นไปของคะแนนเต็มและจะต้องมีคะแนนจากการสอบข้อเขียนและแฟ้มสะสมผลงานรวมกันมากกว่า 70% ขึ้นไป จึงจะสามารถเข้าสัมภาษณ์ได้
สำหรับคุณวุฒิชั้น 6 ผู้เข้ารับการทดสอบจะต้องมีคะแนนแฟ้มสะสมผลงานมากกว่า 70% ขึ้นไปจึงจะสามารถเข้าสัมภาษณ์ได้
V: หลังการประเมินสิ้นสุดจนถึงการประกาศผล
องค์กรผู้ให้การรับรองจะประกาศรายชื่อผู้ที่มีผลคะแนนผ่านการทดสอบตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ทราบทางเว็บไซต์หรือช่องทางอื่น ๆ ตามแต่ละสถาบันกำหนด หลังจากนั้นจะได้ใบประกาศรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพนักบริหารงานบุคคล ซึ่งใบรับรองมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพนักบริหารงานบุคคลนี้มีอายุ 3 ปี นับจากประกาศรับรองโดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
กระบวนการตั้งแต่ต้นไปจนถึงการได้รับการรับรอง ฯ ที่สรุปไว้ข้างต้นทั้ง 5 ขั้นตอนนั้นจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น ระยะห่างของแต่ละ step ตั้งแต่สมัคร การเข้าสอบ การพิจารณาแฟ้มผลงาน การสัมภาษณ์ การประกาศผลจะห่างกันประมาณ 1 อาทิตย์ หากเตรียมตัวไม่พร้อมหรือไม่ดีพอ อาจจะเกิดความกดดัน รีบเร่งซึ่งมีผลกับการรวบรวมข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ได้
ปัจจุบันมีผู้ผ่านการประเมินจำนวน 803 คน (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2563) การผลักดันให้การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพเป็น “ความจำเป็นและมูลค่าเพิ่ม” ของการทำอาชีพด้าน HR ยังต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกส่วน ทั้งองค์กรที่ให้การรับรอง ผู้ที่ผ่านการรับรอง องค์กร สถาบันที่มีผู้ผ่านการรับรองปฏิบัติงานอยู่จะเป็น “กระบอกเสียง” สำคัญในการสนับสนุน เผยแพร่ ให้ผู้ที่ปฏิบัติงานด้าน HR ได้เข้าใจและเห็นความสำคัญของการ “มี” และ “ใช้” วิชาชีพเพื่อทำให้งาน HR เป็นงานที่มีคุณค่าสร้างผลลัพธ์ให้องค์กร ประเทศชาติและความภาคภูมิใจของ “คน HR” ด้วยกันต่อไป
ข้อมูลรายละเอียดการสมัครสอบทั้งหมดจาก https://www.pmat.or.th/hrci/