การรับรองคุณวุฒิวิชาชีพทรัพยากรบุคคล (HR Certification) เรื่องที่ HR อย่างคุณไม่รู้จักไม่ได้ถ้าคุณอยากก้าวหน้าในสายอาชีพนี้

ทำความรู้จักกับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR (HR Certification)

อาชีพ “HR” ในมุมมองคนที่ทำงานด้านนี้คงทราบดีว่าเป็นบทบาทที่เผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากในช่วงของการเกิด Disruption ทางธุรกิจและเทคโนโลยีรวมไปถึงการระบาดของ COVID-19 มีหลายท่านเปรียบเปรยว่าเป็น HR นั้นไม่ง่าย (เหมือนที่หลายๆ คนคิด) เพราะต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ผสมผสานกัน

ที่ว่าเป็น HR นั้นไม่ง่ายก็คงเป็นเพราะว่าส่วนหนึ่งของงานที่ HR ต้องดูแลคือ “คน” ที่เป็นต้นทุน เป็นสินทรัพย์ ยิ่งการดำเนินธุรกิจขององค์กรผันแปร เปลี่ยนแปลงไปเร็วเท่าไร “ความคาดหวัง” ในเรื่องคนของผู้บริหารองค์กรหรือเจ้าของกิจการยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น การตอบสนอง “ความคาดหวัง” ของทุก Stakeholder ของ HR ทั้งภายในได้แก่ พนักงาน หัวหน้างาน ผู้บริหาร และภายนอกได้แก่ลูกค้า นักลงทุน ชุมชน สังคม จึงทำให้การทำงานของ “HR” จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปทั้งในเรื่องของบทบาท (HR role and value deliver) ทักษะความสามารถ (HR Competencies) และวิธีการทำงาน (HR Practice)

เรื่องการขับเคลื่อนให้เกิดการยกระดับทักษะความสามารถและบทบาทของ HR หรือการรับรอง “ศาสตร” ในการบริหารคนและความสามารถของ HR เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวางในวงการ HR ระดับโลก เช่น ในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน อินเดีย สิงคโปร์ อังกฤษ เป็นต้น จากการสำรวจของ HR Certification Institute (HRCI) เรื่อง “The Value of HR Certification Around the World” โดยผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 1,592 คนใน 37 ประเทศทั่วโลกสรุปว่าคุณวุฒิวิชาชีพ HR (HR Certification) บนคุณสมบัติของผู้สมัครกลายเป็น “ความจำเป็น” (Required) มากกว่าการ “หากมีจะพิจารณา” (Preferred) รวมทั้งยังเป็นปัจจัยที่ส่งผลกับค่าตอบแทนและการเติบโตในสายอาชีพ HR ด้วย

เมื่อมองกลับมาที่ “คุณวุฒิวิชาชีพ”  HR ในบริบทของประเทศไทย นั้นถือว่ายังเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ที่เพิ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านนี้ จากแผนงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือที่รู้จักในนาม “สภาพัฒน์” ที่ต้องการยกระดับทักษะ ความรู้ความสามารถกำลังคนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ จึงมีการจัดตั้ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) หรือ สคช. (Thailand Professional Qualification Institute (Public Organization :TPQI) ในปี พ.ศ.2554 เพื่อให้การรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและวิชาชีพ

การรับรองมาตรฐานอาชีพคือการรับรองว่าผู้ที่ประกอบอาชีพ มีความรู้ ทักษะและความเชี่ยวชาญเพียงพอในการประกอบอาชีพนั้นๆ เช่น อาชีพเกษตรกรรม ก่อสร้าง ไฟฟ้า ธุรกิจอาหาร เสริมสวย เป็นต้น ส่วนการรับรอง “คุณวุฒิวิชาชีพ” คือการรับรอง “ความสามารถ” ในการประกอบอาชีพของบุคคลที่อาจไม่ได้จบการศึกษามาตรงกับอาชีพที่ทำ ผ่านการประเมินความรู้ ทักษะ และ ทัศนคติ ที่จำในการประกอบอาชีพ นั้นๆ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าอาชีพ HR ต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ผสมผสานกัน ย้อนกลับไปช่วงปีคศ. 1930 – 1980 ในยุคที่ HR มีบทบาทเป็น Personnel Manager ผู้จัดการงานบุคคล กล่าวคือจัดการให้มีคนมาทำงาน คนมีทักษะสามารถทำงานได้ ทำแบบนี้วนไปไม่ว่าธุรกิจจะเป็นแบบใดก็ตาม ดังเช่นคำพูดติดตลกของกูรู HR หลายท่านว่า HR มีหน้าที่ “รับคนเข้า เอาคนออก เก็บบัตรตอก ออกใบเตือน ทำเงินเดือน เบิกสวัสดิการ”

ต่อมาในช่วงปีคศ. 1980 – 1990 ที่องค์กรต่างๆ เผชิญความท้าทายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร การบริหารค่าใช้จ่าย การรักษาพนักงานไว้ไม่ให้ลาออก ขวัญกำลังใจของพนักงาน ทักษะของแรงงานที่ยังไม่ตอบโจทย์ของธุรกิจ ทำให้ HR และองค์กรต้องทบทวนมุมมองเรื่องคนใหม่จาก “Personnel Management Approach” to “Human Resources Management Approach” ที่มองคนเป็นทรัพยากร มีต้นทุน มีการเปลี่ยนแปลง สามารถพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ บทบาท HR ในช่วงยุคนี้จึงเป็น Human Resources Manager ที่ทำงาน HR สนับสนุน แต่ละ Function ต่างๆ ขององค์กร ทำหน้าที่วางแผนงาน ลงมือทำและประเมินผลจากการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนให้เป้าหมายองค์กรประสบผลสำเร็จ

จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ใครๆ ต่างบอกว่า HR จะต้องเป็น Business Partner หมายถึงคู่คิด ที่ปรึกษา ผู้เชี่ยวชาญให้กับผู้บริหาร พนักงานในการบริหารคนและองค์กร ช่วยพัฒนาประสิทธิผลองค์กร ทั้งในเชิงโครงสร้าง ระบบ และกระบวนการทำงาน สร้างความพร้อมของพนักงานในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กรและส่งมอบงานบริการอื่นๆที่มีคุณค่าและมีประสิทธิภาพให้กับองค์กร (เป็นทุกอย่างให้เธอแล้วจริงๆ)  หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ทั้งคนทำงาน (HR) และผู้บริหาร มั่นใจและเชื่อใจว่าวิชาชีพ HR จะผสาน“ศาสตร์” และ “ศิลป์” เพื่อสร้างผลลัพธ์ให้กับองค์กรได้นั้นคือ “การยอมรับ” จากบุคคล องค์กร หรือสถาบันที่โปร่งใส น่าเชื่อถือ ว่าบุคคลผู้ประกอบอาชีพ HR ท่านนั้น ๆ สามารถบูรณาการความรู้ ทักษะ ความสามารถ ประสบการณ์ด้าน HR เข้าด้วยกันได้

การทำอาชีพ HR ภายใต้บริบทของประเทศไทยต้องอาศัยความสามารถหลายส่วน การได้รับการรับรองความสามารถในวิชาชีพเป็นคุณค่าเพิ่ม (Value-Added) ที่จะกระตุ้นจูงใจให้ HR พัฒนาตนเอง สร้างความมั่นใจให้กับตนเองและองค์กร เป็นแรงจูงใจทางบวกให้คนในวิชาชีพพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อรักษาหรือยกระดับความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ

มาถึงตรงนี้ หากคิดว่าถึงเวลาที่จะต้องเริ่มศึกษาเรื่องการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR บ้างแล้ว อยากบอกว่าไม่สายเกินไปเลย เพราะเรื่องนี้ยังเป็น Early Stage ในประเทศไทย คุณอาจเป็นกลุ่มผู้บุกเบิกและมีส่วนสำคัญในการเผยแพร่ สนับสนุน ผลักดันเรื่องนี้ในอนาคตก็เป็นได้

คุณวุฒิวิชาชีพ HR เรียกเต็มๆ ว่าคุณวุฒิวิชาชีพการบริหารงานบุคคล แบ่งออกเป็น 4 ชั้นคุณวุฒิ แยกตามระดับของสมรรถนะและความถนัดเริ่มตั้งแต่ชั้นที่ 3 ไปถึงชั้นที่ 6 โดยแยกย่อยเป็นสาขาเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงาน HR  ทั้งหมด 10 สาขา ตามรายละเอียดดังนี้

ชั้นที่ 3 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้ปฏิบัติงาน” (HR Practitioner-HRP) แบ่งเป็นสาขาการปฏิบัติงาน 4 สาขาได้แก่ สรรหาและคัดเลือกบุคลากร พนักงานสัมพันธ์ เรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริหารค่าตอบแทน

ชั้นที่ 4 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “ นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้บริหารระดับต้น” (HR Professional-PHR)  แบ่งเป็นสาขาการปฏิบัติงาน 8 สาขาได้แก่ สรรหาและคัดเลือกบุคลากร พนักงานสัมพันธ์ เรียนรู้และพัฒนาทรัพยากรบุคคล บริหารค่าตอบแทน วางแผนอัตรากำลัง พัฒนาองค์กร บริหารผลงาน บริหารความก้าวหน้าในสายอาชีพ

ชั้นที่ 5 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “ นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้เชี่ยวชาญอาวุโส หรือผู้บริหารระดับกลาง” (Senior HR Professional-SPHR) มีสาขาการปฏิบัติงานเพียง 1 สาขาคืออาชีพนักบริหารงานบุคคล

ชั้นที่ 6 ชื่อชั้นคุณวุฒิว่า “นักบริหารงานบุคคล ระดับผู้ชำนาญการพิเศษหรือผู้บริหารระดับสูง” (HR Expert-EHR) มีสาขาการปฏิบัติงานเพียง 1 สาขาคืออาชีพนักบริหารงานบุคคล

ความแตกต่างของแต่ละชั้นคุณวุฒิคือระดับของคุณสมบัติพื้นฐาน  ความรู้ ทักษะ คุณลักษณะของผู้ขอรับการรับรอง ซึ่งสามารถศึกษาสมบัติพื้นฐานที่กำหนดและแนวทางการประเมินสมรรถนะด้วยตนเองเบื้องต้นได้ในแหล่งข้อมูลของเว็บไซต์ขององค์กรผู้ให้การรับรอง ตัวอย่างเช่น ชั้นที่ 3 เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้ในวิชาชีพในระดับต้นมีทักษะและประสบการณ์ในงานปฏิบัติการบริหารทรัพยากรบุคคล อย่างน้อยเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี  ชั้นที่ 4 เป็นผู้ปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความรู้พื้นฐานในวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคล มีทักษะและประสบการณ์ในงานวิชาชีพบริหารทรัพยากรบุคคลไม่น้อยกว่า 5 ปี อย่างไรก็ตาม สมบัติพื้นฐานเป็นเพียงปัจจัยเบื้องต้นเท่านั้น  การให้การรับรองยังพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยได้แก่การพิจารณาประสบการณ์และผลงานเชิงประจักษ์จากแฟ้มสะสมผลงาน (Portfolio)  การสอบวัดความสามารถ (Exam) และการสัมภาษณ์ (Interview)

ปัจจุบันมีองค์กรและสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ให้เป็นองค์กรรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR อยู่หลายแห่ง (Certified Organization) ได้แก่

  1. องค์กรรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพสาขาอาชีพนักบริหารงานบุคคลหรือ Thailand Human Resources Certification Institute
  2. ศูนย์รับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRCC) โดยสถาบันกาจัดการปัญญาภิวัฒน์
  3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
  4. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
  6. สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น

สถาบันเหล่านี้จะเป็นผู้ให้การรับรอง รวมถึงอำนาจในการรคงไว้ การต่ออายุ การพักใช้ การเพิกถอนการรับรอง(ในบางกรณี)

การขอเข้ารับการประเมินและรับรองคุณวุฒิจำเป็นต้องมีการวางแผนและเตรียมตัวล่วงหน้าเนื่องจากกำหนดการรับสมัครขององค์กรผู้รับรองแต่ละแห่งไม่เหมือนกันในแต่ละปี อีกทั้งผู้สมัครยังต้องเตรียมข้อมูล เตรียมตัว (เตรียมใจ) ก่อนการประเมินด้วย

เตรียมข้อมูล  ได้แก่ เตรียมการสมัครและเอกสารประกอบการสมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Portfolio ให้ครบถ้วนถูกต้อง (ควรให้เวลาและให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้)

เตรียมตัว ได้แก่ หาความรู้เพิ่มเติม  หาแนวข้อสอบจากแหล่งข้อมูลหรือคนรู้จักทั้งในทางทฤษฎี ข่าวสาร สถานการณ์ปัจจุบัน และในทางปฏิบัติ

เตรียมใจ คือตั้งเป้าหมายในใจว่าต้องการความสำเร็จในเรื่องใดจากการสมัครเข้ารับการรับรอง เมื่อมีเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนจะเกิดความสบายใจ แรงจูงใจที่จะทำ เช่น บางคนตั้งเป้าว่าการสมัครครั้งแรกอาจไม่ผ่าน ไม่เป็นไร เป็นการทดลองสนามสอบและจะได้ทราบพื้นฐานและระดับความสามารถของตนเอง บางคนศึกษาและดูรายละเอียดมาระยะหนึ่ง ต้องการผ่านการรับรองเพื่อสร้างการยอมรับในการทำงาน (ในชีวิตจริงควรเตรียมใจก่อนเป็นอันดับแรก)

เส้นทางของคุณวุฒิวิชาชีพการบริหารงานบุคคลในประเทศไทยเพิ่งเริ่มต้นมาได้ไม่ถึง 10 ปี ปัจจุบันมีผู้ผ่านการประเมินจำนวน 803 คนจากผู้ที่ขอเข้ารับการรับรอง 1,128 คน

(ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค. 2563 จาก http://tpqi-net.tpqi.go.th/home/occ/industrialInfo/HRM)

ส่วนหนึ่งของความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนักบริหารงานบุคคลที่ถูกเผยแพร่และตีพิมพ์ในวารสารการบริหารคน People Magazine ฉบับที่ 4/2561 จัดพิมพ์โดยสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวไปในแนวทางเดียวกันว่า การได้รับการรับรองมีผลกับความมั่นใจ ภูมิใจและศรัทธาในวิชาชีพ ได้รับการยอมรับจากองค์กรที่ปฏิบัติงานและผู้ประกอบการ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีข้อมูลความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องค่าตอบแทนและความก้าวหน้าในอาชีพก็ตาม

ท้ายที่สุดผู้เขียนเชื่อว่าการก้าวเดินไปใน “วิชาชีพ HR” อย่างมั่นคงและมั่นใจก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และคุณค่าที่เราเริ่มสร้างให้กับตัวเราตั้งแต่วันนี้ การเตรียมตัว เตรียมข้อมูล เตรียมความพร้อมสำหรับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ HR เป็นกระบวนการที่ควรให้ความสำคัญ พบกับข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเตรียมการสมัครขอรับรองคุณวุฒิ ได้ในฉบับหน้า เมื่อทราบภาพรวมของเนื้อหาชิ้นที่สอง เราอาจจะกลับมาเขียนเชื่อมโยงให้ผู้อ่านติดตามบทความต่อไป

ศึกษารายละเอียดคุณสมบัติและการเตรียมตัวเพิ่มเติมได้ที่

http://tpqi-net.tpqi.go.th/home/

http://www.pmat.or.th/hrci/

https://pcc.pim.ac.th/pages/hrccschedule

ผู้ตอบ :
ปถิตา ชูพันธ์ดิลก – HR Professional ด้านกลยุทธ์บุคคลของบริษัท CP ALL จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจค้าปลีกประเภทร้านค้าสะดวกซื้อภายใต้เครื่องหมายการค้า “7-Eleven” ในประเทศไทยและ Knowledge Partner ของ Lynk Global แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญระดับโลก
ติดตามและแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่อง HR ได้ที่ :

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง