90% ของชีวิตเราถูกกำหนดโดย “เสียง” และ “การพูด” จริงหรือไม่? ปรับปรุงทักษะของ HR ผ่านการเปลี่ยนแปลงสไตล์การพูด

90% ของชีวิตเราถูกกำหนดโดย "เสียง" และ "การพูด" จริงหรือไม่? ปรับปรุงทักษะของ HR ผ่านการเปลี่ยนแปลงสไตล์การพูด

ในวงการธุรกิจ เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการพูดคุยกับคนที่เจอกันเป็นครั้งแรกหรือการพูดคุยต่อหน้าคนมากๆ ในที่สาธารณะได้
ยิ่งเป็นคนที่เกี่ยวข้องอยู่ในวงการ HR หรือบุคลากรทางการศึกษาที่ต้องพูดในการสัมมนา หรือการสัมภาษณ์แล้วด้วย การพูดยิ่งมีความสำคัญ

และหากจะบอกว่า “ทักษะการพูด” ของคนที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมพนักงานในองค์กรมีความสำคัญต่อทิศทางและความสำเร็จขององค์กร ก็คงไม่ใช่การพูดเกินจริงนัก เพราะสิ่งที่สร้างองค์กร ไม่ใช่เงินหรือสินค้า แต่เป็น “คน”

บทความครั้งนี้ เราขอแนะนำเคล็ดลับของการสนทนาและสไตล์การพูดให้มีประสิทธิภาพ โดยอิงจากงานเขียนเรื่อง “วิธีการปรับปรุงโทนเสียงของคุณให้ดีขึ้นในเวลาเพียงหนึ่งวัน” ของคุณ Rie Uozumi ผู้ประกาศข่าวของประเทศญี่ปุ่น หวังว่าบทความครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ให้กับทุกคนได้ครับ

แค่ HR เปลี่ยนโทนเสียงและสไตล์การพูด ชีวิตจะเปลี่ยนไปทันที

ต่อให้เราเขียนสคริปต์ดีแค่ไหน แต่ถ้าวิธีการสื่อสารออกไปไม่ดีพอ ผลที่ได้ก็อาจจะไม่ดีตามที่เราคาดหวังไว้ กลับกัน ต่อให้สคริปต์ไม่ดีเท่าไหร่แต่ถ้าวิธีการสื่อสารออกมาดี ผลที่ได้ก็จะดีตาม

กล่าวคือ สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่าผลที่ได้จะดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้วัดที่ “เราจะพูดเกี่ยวกับอะไร” แต่วัดที่ “เราจะพูดด้วยวิธีไหน” มากกว่า

“โทนเสียง” “สไตล์การพูด” “การสนทนา”

โทนเสียง

หากลองเปลี่ยนวิธีการออกเสียง หรือปรับความสูงต่ำของเสียงตามสถานการณ์ที่พบเจอ จะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

หลายๆ คนคงเคยมีความรู้สึก ไม่มีความมั่นใจในเสียงของตัวเอง บางคนอาจรู้สึกว่าเสียงเล็กเกินไป หรือไม่มั่นใจกลัวว่าตัวเองจะพูดไม่ชัด จนเสียความเป็นตัวของตัวเองไป แต่จริงๆ แล้ว เราสามารถปรับเปลี่ยนโทนเสียง หรือปรับปรุงการพูดของตัวเองให้พูดชัดขึ้นมาได้

สไตล์การพูด

สิ่งที่สำคัญกว่าเนื้อหาคือ “วิธีการสื่อสาร หรือสไตล์การพูด” อยากให้ทุกคนลองนึกถึงตอนที่คุณนั่งฟังสัมมนาสักงานหนึ่งดูว่า ในตอนที่คุณกำลังนั่งฟังวิทยากรบรรยายอยู่ คุณให้ความสนใจกับสิ่งไหนมากที่สุด เนื้อหาของสัมมนา? หรือ สไตล์การพูด การสื่อสารของวิทยากร?

ต่อให้การบรรยายจะเป็นไปได้อย่างราบรื่นแค่ไหนก็ตาม ถ้าวิทยากรไม่มีการใส่ใจ หรือใส่ความรู้สึกลงไปในการบรรยาย ก็คงมัดใจคนฟังได้ยาก

การสนทนา

การสนทนา คือ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในสิ่งที่สนใจร่วมกัน อาจไม่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกหรือทักษะใดๆมากนัก แต่ถ้าเรารู้เคล็ดลับ มารยาท หรือวิธีที่จะทำให้การสนทนาเป็นไปได้อย่างราบรื่น ไม่ติดขัด ก็จะยิ่งทำให้การพูดของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น

First impression (ความประทับใจเมื่อแรกพบ) เริ่มต้นได้ด้วย “น้ำเสียง” และ “สไตล์การพูด”

ในการพบกันเป็นครั้งแรก คนส่วนใหญ่มักจะตัดสินคนๆ หนึ่งว่า เป็นคนดีหรือไม่ คนๆ นี้จะขยันทำงานหรือเปล่า จากน้ำเสียงที่เขาเปล่งออกมา หรือสไตล์การพูดของคนๆ นั้น

หากเราสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบไว้ไม่ดี อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์กับอีกฝ่ายในระยะยาว กว่าจะทำให้คนๆ นั้นกลับมาประทับใจ รู้สึกดีกับเราได้ ต้องใช้เวลานานพอสมควร ถ้าหากคนๆ นั้นเป็นเพื่อนหรือคนรู้จักที่พบปะกันทุกวันก็คงไม่มีปัญหาอะไรมาก แค่ใช้เวลาเป็นตัวช่วย ให้เรียนรู้กันและกัน แต่ถ้าคนๆ นั้นคือกรรมการ หรือคนสัมภาษณ์เราตอนสมัครงานล่ะ ถ้าเราสร้างความประทับใจในแรกพบไว้ติดลบ ผลการสมัครงานก็อาจจะติดลบไปด้วย เพราะฉะนั้น การสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบจึงเป็นเรื่องสำคัญ

คิดซะว่า การพูด = การเล่นกีฬา

การพูดได้ดีหรือไม่ดีนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่ติดตัวคนเรามาตั้งแต่เกิด แต่ขึ้นอยู่กับการฝึกฝน และการปรับปรุงแก้ไขมากกว่า

จากคำพูดของนักเบสบอลมืออาชีพคนหนึ่งที่ได้พูดไว้ว่า “นักเบสบอลที่ไม่มีการฝึกฝนเลย จะสามารถคว้ารางวัล MVP (Most Valuable Player) ในปีนั้นๆ ได้หรอ?” แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นเรื่องยากสำหรับนักกีฬาที่ไม่เคยฝึกฝนจะได้รับรางวัลนี้ ต้องมีการฝึกฝนอย่างหนักทุกวัน ถึงจะทำให้นักกีฬาคนหนึ่งจะรับรางวัลนี้ได้

เช่นเดียวกับการพูด ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนช่วยทำให้พูดเก่งขึ้น อย่างคนที่เก่งในด้านการพูดเองเขาก็ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์กว่าจะมีทักษะการพูดเหมือนในตอนนี้ได้ เพราะฉะนั้นหากต้องการเก่งขึ้น อย่าเสียเวลาไปกับการคิดว่าทำไม่ได้ แต่ควรลองที่จะทำ หรือฝึกฝนเพื่อให้เก่งขึ้น

วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เราสร้าง ‘โทนเสียง’ ใหม่ขึ้นมา

หากคุณรู้สึกไม่มั่นใจในโทนเสียงของตัวเอง เราก็มีวิธีง่ายๆ มานำเสนอเพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ได้ดังนี้

เทคนิคง่ายๆ ในการสร้างโทนเสียงใหม่

การหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อท้อง

จริงๆแล้ว การหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อท้อง ไม่ได้ช่วยทำให้โทนเสียงดีขึ้นโดยตรง แต่เป็นการช่วยทำให้สามารถออกแรงเปล่งเสียงได้มากขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถช่วยทำให้คุณหายใจได้สะดวก สามารถปรับเปลี่ยนจังหวะและขนาดของลมหายใจเพื่อช่วยในการผ่อนคลายได้อีกด้วย และวิธีนี้ยังนิยมใช้ในสายอาชีพนักพากย์ นักแสดงหรือผู้ประกาศข่าว เพื่อทำให้สามารถเปล่งเสียงออกมาได้ดียิ่งขึ้น

ฝึกพูด​ให้​ชัด​ถ้อย​ชัด​คำ

ปัญหาอีกอย่างที่ทำให้หลายๆ คน ไม่มีความมั่นใจในการพูดของตัวเอง ถึงแม้ว่าจะมีโทนเสียงที่ดีอยู่แล้ว ปัญหานั้นก็คือ การพูดไม่ชัด

แต่ปัญหานี้ก็สามารถแก้ได้ด้วยการฝึกฝนอีกเช่นกัน คนที่มีปัญหาพูดไม่ชัด ให้ลองฝึก​ผ่อน​คลาย​กล้ามเนื้อบริเวณใบ​หน้า ขากรรไกร และคอ นอกจากนั้นลองฝึกออกเสียงพูด​ให้​ชัด​ถ้อย​ชัด​คำ อาจ​ฝึก​​โดย​การอ่านเน้น​ที​ละ​พยางค์เพื่อให้สามารถออกเสียงได้อย่างชัดเจน หากทำได้สักระยะ จะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาการพูดไม่ชัดได้

ใช้ “โทนเสียง” และ “ความ​เร็ว​ที่​เหมาะ​สม” มัดใจคนฟัง

แค่ลองเปลี่ยนโทนเสียง และความ​เร็ว​ในการพูด ก็ทำให้คนฟังมีความรู้สึกเปลี่ยนไปได้ ดังนี้

  • เสียงโทนสูง × พูดเร็ว → ดูเป็นคนร่าเริงและสดใส
  • เสียงโทนสูง × พูดอย่างช้าๆ → ดูเป็นคนใจดีและใจกว้าง
  • เสียงโทนต่ำ × พูดเร็ว → ดูเป็นคนที่ทำงานเก่ง
  • เสียงโทนต่ำ × พูดอย่างช้าๆ → ดูเป็นคนสงบและใจเย็น

หากลองนำการจับคู่นี้ไปปรับใช้จริงในสถานการณ์ต่างๆ เช่น

ในการสัมมนาแนะนำบริษัทให้ใช้น้ำเสียงในโทนสูงกับพูดเร็วแต่ไม่ถึงกับเร็วมาก จะทำให้คนฟังรู้สึกว่าเราเป็นคนร่าเริง สดใส

ในการสัมภาษณ์เข้าทำงาน เพื่อให้คนสัมภาษณ์รู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ใจกว้างลองใช้โทนเสียงสูงและพูดอย่างช้าๆ หรือถ้าอยากให้เขารู้สึกว่าคุณเป็นคนที่ดูใจเย็นก็ลองเลือกใช้โทนเสียงต่ำและพูดช้าๆ แทน เป็นต้น

ถ้าเราปรับเปลี่ยนวิธีการสื่อสาร ใช้โทนเสียงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง