Leadership Words ผู้นำพูดเก่งไม่พอ แต่ต้องพูดเป็นด้วย

HIGHLIGHT

  • ผู้นำ (Leadership) พูดเก่งอย่างเดียวไม่พอ แต่ต้องรู้ว่าควรพูดอะไร ในเวลาไหน และต้องรู้จักใช้คำให้กระชับ ชัดเจน สื่อสารครบถ้วนในเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ​ “คำพูดของผู้นำต้องศักดิ์สิทธิ์”
  • John Baldoni นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำกล่าวว่า สิ่งที่ผู้นำต้องสื่อสารให้เป็น คือการบอกว่าเขาต้องการอะไร, เชื่ออะไร และต้องเป็นคนพูดแทนลูกทีมในเรื่องที่พวกเขาไม่กล้าพูดออกมา 
  • ผู้ตามมักอยากรู้ว่าผู้นำทำสิ่งต่าง ๆ ได้เพราะอะไร ผู้นำจึงต้องมีทักษะในการเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวผ่านวาทะศิลป์จนผู้ฟังอยากทำตาม ไม่ควรพูดโม้หรือโอ้อวดความสำเร็จจนเกินงาม
  • หัวข้อที่ผู้นำควรพูดได้แก่จุดเริ่มต้น, วิสัยทัศน์, อุปสรรค, ลูกค้า และผลกระทบต่อโลก การเน้นย้ำเรื่องเหล่านี้จะทำให้พนักงานเห้นคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่ รวมถึงเกิดแรงบันดาลใจว่าหากผู้นำทำได้ เขาก็อาจทำได้เช่นกัน

Leadership Words ผู้นำพูดเก่งไม่พอ แต่ต้องพูดเป็นด้วย

เวลาเราได้ยินคำว่า “ผู้นำต้องพูดเก่ง”​ เราเคยสงสัยไหมว่าพูดเก่งในที่นี้หมายถึงการพูดเรื่องอะไร เพราะด้วยเวลาที่มีจำกัดในแต่ละวัน การเสียเวลาพูดเรื่องที่เปล่าประโยชน์ คงเป็นเรื่องเสียเวลาของทุกฝ่าย ดังนั้นบทความนี้จะพาทุกคนไปหาคำตอบว่าผู้นำต้องพูดเรื่องไหน ถึงจะทำให้ผู้ฟังรู้สึกถึงคุณค่าของการทำงาน และเกิดความเชื่อมั่นในตัวหัวหน้าจนยึดถือเป็นแบบอย่าง (Role Model) เพราะหากสมาชิกในทีมสัมผัสถึงการเรียนรู้ระหว่างกันได้ บรรยากาศของงานก็จะเป็นบวก นำไปสู่พลังสร้างสรรค์ที่โดดเด่นกว่าองค์กรที่ไม่มีแรงผลักดันในเรื่องนี้

Leadership Words ส่งผลกับการทำงานอย่างไร หาคำตอบไปพร้อมกับ HREX ได้เลย

Leadership Words สำคัญกับผู้นำอย่างไร ?

การใช้คำให้ถูกต้อง เป็นรากฐานความสำเร็จของผู้นำในทุกสายงาน เพราะไม่ว่าจะเป็นการโน้มน้าว, การปฎิเสธ หรือการออกคำสั่งแบบใดก็แล้วแต่ จำเป็นต้องมีวาทะศิลป์เพื่อสื่อสารทั้งสิ้น ผู้นำจะไม่สามารถพูดตามใจ ไม่ว่าสิ่งที่พูดจะเป็นเรื่องถูกก็ตาม เพราะหากเราเอ่ยปากโดยไม่คำนึงผู้ฟังแล้ว ก็อาจเกิดผลลัพธ์ตรงข้ามกับที่หวัง จนส่งผลต่อการบริหารทีม หรือเกิดปัญหาต่อบริบทของงานในภาพรวมได้เลย เหตุนี้หากคุณก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ สิ่งแรกที่ต้องเรียนรู้ควบคู่ไปกับทักษะการบริหาร คือการหาคำตอบว่าทักษะสื่อสารของตนมีปัญหาหรือไม่ และจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อย่างไร

John Baldoni นักเขียนและผู้เชี่ยวชาญเรื่องภาวะผู้นำกล่าวว่า สิ่งที่ผู้นำต้องสื่อสารให้เป็น คือการบอกว่าเขาต้องการอะไร, เชื่ออะไร และต้องเป็นคนพูดแทนลูกทีมในเรื่องที่พวกเขาไม่กล้าพูดออกมา โดยอธิบายภาพรวมของการพูดให้เห็นดังนี้

  • คำพูดมีพลังในการสอน และบอกว่าเราต้องเรียนเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม
  • คำพูดมีพลังในการสร้างบาดแผลให้กับผู้ฟัง
  • คำพูดสามารถช่วยเยียวยาคนจากความทุกข์เศร้า และทำให้ความเจ็บปวดหายไป
  • คำพูดมีพลังในการออกคำสั่ง และทำให้ทุกคนหันไปในทิศทางเดียวกัน
  • คำพูดสามารถหลอมรวมมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

จากมุมมองข้างต้น เราสามารถพูดได้ว่าในฐานะผู้นำ เราต้องทำให้ทุกคำพูดออกมามีความหมาย สะท้อนออกมาได้ว่าเราคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรแ ละจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ภาษาของผู้นำเปรียบเสมือนเครื่องดนตรีที่คอยบรรเลงออกมาให้ส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ฟัง ผู้นำมีสิทธิ์ใช้คำพูดเพื่อแสดงอำนาจ เพื่อผลักดันคนในทีมไปสู่เป้าหมายที่ต้องรับผิดชอบได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม อำนาจดังกล่าวต้องมาพร้อมกับความเข้าอกเข้าใจ ไม่หลงผิด หรือเอาแต่เล่าเรื่องตัวเองโดยไม่สนใจคนอื่น เพราะคำพูดที่ผู้นำเอ่ยออกไปแต่ผู้ฟังไม่อยากทำตาม จะยิ่งทำให้ภาวะผู้นำถูกลดทอนความน่าเชื่อถือ ยิ่งหากสถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่การพูดด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวโมโห คำพูดของผู้นำก็จะผิดประเด็น (Mislead) และไม่สามารถสร้างแรงบันดาลใจ (Inspire) ให้กับใครได้เลย

“คำพูดผู้นำต้องศักดิ์สิทธิ์” คือคำที่ไม่เกินจริงแต่อย่างใด หากเราเป็นผู้นำที่ไม่มีคนตาม เราต้องตั้งคำถามแล้วว่าวิธีสื่อสารที่ทำมาตลอดมีข้อผิดพลาดหรือไม่ เพราะท้ายสุดแล้ว ผู้นำมีหน้าที่เป็นแบบอย่าง (Lead by Example) ที่จะช่วยให้การสื่อสารของคนในทีมดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน

Leadership Words ช่วยสร้าง Role Model ได้อย่างไร ?

ก่อนที่เราจะไปดูว่าผู้นำควรใช้คำและควรพูดเรื่องอะไรบ้าง Fluency Leadership แพลตฟอร์ม ด้านการพัฒนาผู้นำกล่าวว่า เมื่อเราก้าวมาอยู่ในจุดที่มีผู้ตามแล้วvคนเหล่านั้นจะจับตาดูเราเสมอ เปรียบดั่งมีกล้องส่องมาที่ตัวตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ระบุไว้ใน Job Description แต่เป็นเรื่องที่ผู้นำทุกคนต้องเจอ 

เราต้องตระหนักว่าเราอาจเป็นตัวอย่างในด้านดีหรือไม่ดีก็ได้ เช่นหากหากเราเป็นคนที่ชอบส่งงานให้ลูกทีมในช่วงห้าทุ่ม เราก็จะเป็นแบบอย่างในด้านลบ แต่หากเราเป็นผู้นำที่เห็นอกเห็นใจ คอยสนับสนุนการทำงานของลูกทีมเสมอ เราก็จะเป็นแบบอย่างในด้านบวก ทำให้ลูกทีมอยากส่งมอบความสุขไปยังผู้อื่นต่อไป

โดยปกติแล้วการเป็นแบบอย่างของผู้นำนั้น มักเกิดขึ้นจากการอ้างถึงผลงานความสำเร็จในอดีต ผู้นำต้องเข้าใจว่าสิ่งที่ผู้ตามอยากเห็น ไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งเงินเดือน หรือภาพรวมว่าผู้นำกำลังทำอะไร (What they did) แต่คือการรู้ว่าเขาทำสิ่งนั้นได้อย่างไรต่างหาก (How they did) นี่คือเหตุผลว่าทำไมผู้นำที่ดีต้องรู้จักเล่าเรื่องของตัวเองออกมาในแง่มุมที่เหมาะสม ไม่โอ้อวด หรือทำให้อีกฝ่ายหมันไส้มากกว่าอยากทำตาม

HR ต้องรู้จักวงจรของความคิดเห็น (Feedback Loop) เพื่อเข้าใจองค์กรและเข้าใจตัวเอง

HR ต้องรู้จักวงจรของความคิดเห็น (Feedback Loop) เพื่อเข้าใจองค์กรและเข้าใจตัวเอง 

5 เรื่องที่ผู้นำควรพูดให้ลูกทีมฟัง

การเป็นแบบอย่างให้กับพนักงาน นอกจากจะต้องทำให้ลูกทีมเห็นถึง “แก่น” (Core) ของการทำงานแล้ว ยังทำให้พนักงานเห็นคุณค่าขององค์กรมากขึ้นอีกด้วย ดังนั้นรากฐาน (Foundation) ของการเป็นแบบอย่างที่ดีคือการที่ผู้นำต้องมีทักษะของการเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่้อทำให้พนักงานสัมผัสถึงแนวคิดอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น (Deeper Level) มีประสบการณ์ทำงานที่ดีขึ้น 

เมื่อเราก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ สิ่งที่เราต้องทำให้ได้ ก็คือทำให้ผู้ฟังรู้ว่าพวกเขาควรอยู่ตรงจุดไหนของบทสนทนา และคำพูดของเราต้องสะท้อนความเป็นผู้นำออกมาให้ชัดเจน ต้องทำให้ผู้ฟังรู้สึกสบายใจ ต้องเด็ดขาด โดยผู้นำต้องไม่พูดเยอะ แต่สามารถเลือกใช้คำได้เหมาะสม สามารถถ่ายทอดทุกความต้องการออกมา ไม่ปล่อยให้ใครตีความผิดพลาด

สิ่งนี้เรียกว่า Executive Voice หมายถึงความเข้าใจในบริบทของเนื้อหาที่กำลังพูดคุย และมีความสามารถในการอ่านสถานการณ์จนรู้ว่าต้องใช้วาทะศิลป์อย่างไร โดยเฉพาะในเวลาที่ต้องพูดเพื่อตัดสินใจเรื่องสำคัญขององค์กร นี่คือทักษะสำคัญของผู้นำเชิงกลยุทธ์ (Strategic Leader) ซึ่งเป็นรูปแบบของผู้นำแห่งอนาคตที่ทุกองค์กรต้องมี

หัวข้อที่ผู้นำควรพูดให้พนักงานฟังมีดังนี้

เล่าจุดเริ่มต้น (The Origin Story)

กว่าจะมาถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ ผู้นำทุกคนย่อมมีจุดเริ่มต้นเหมือนพนักงานทั่วไปทั้งสิ้น ยิ่งถ้าเราสามารถเล่าเรื่องที่ส่วนตัวละเอียดลึกซึ้งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้พนักงานเห็นถึงการเปิดใจ รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันยิ่งขึ้น ตัวอย่างที่คนมักนำมาพูดถึงก็คือเรื่องของ Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้ง Facebook ที่พัฒนามาจากการทำโปรเจ็คในหอพัก จนกลายมาเป็นผู้นำด้านโซเชียลมีเดียระดับโลก กล่าวคือแนวคิดแบบ “From Zero to Hero” คือวิธีพูดแบบหนึ่งที่จะทำให้คนประทับใจ

การเล่าเรื่องส่วนตัวให้พนักงานฟัง ยังเป็นดั่งการเปิดพื้นที่ให้พวกเขาเข้ามาอยู่ในโลกของเรามากขึ้น พนักงานจะรู้สึกว่าคนที่เป็นหัวหน้าตอนนี้ก็เคยอยู่ในจุดเดียวกัน เคยผ่านสถานการณ์คล้าย ๆ กัน ซึ่งหากเรื่องที่เราเล่าตรงกับปัญหาที่กำลังเผชิญ พวกเขาก็จะกล้าเข้ามาปรึกษาเราในฐานะของผู้มีประสบการณ์ร่วม ยิ่งหากเราได้สะท้อนถึงความเสี่ยง (Risk), ความยากลำบาก (Struggles) และความน่าจะเป็นอื่น ๆ ที่พนักงานยังไม่รู้ตัว คำพูดของผู้นำแบบนี้ก็จะยิ่งมีความหมาย เป็นประโยชน์ นำไปสู่ความเชื่อใจ (Trust) และจงรักภักดี (Loyalty)

การเล่าเรื่องที่ดีจะทำให้พนักงานรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับผู้นำ (Relatability) จึงเห็น Career Path ชัดเจนขึ้น และพอพนักงานคนหนึ่งมีความคิดแบบนี้ คนอื่นก็จะเชื่อมั่นต่อยอดกันไปเรื่อย ๆ

เล่าเรื่องวิสัยทัศน์ (Vision Story)

Gallup ได้ทำวิจัยและพบว่ามีพนักงานเพียง 20% เท่านั้นที่บอกว่าผู้นำของตนสามารถอธิบายเรื่องวิสัยทัศน์ได้อย่างชัดเจน ทั้งที่ความแน่วแน่ของเป้าหมายถือเป็นตัวนำทาง (North Star) ที่สำคัญที่สุด เพราะจะทำให้พนักงานรู้ว่าต้องพยายามเพื่ออะไร เป็นผลดีต่อผู้รับอย่างไร

ตัวอย่างผู้นำที่เล่าเรื่องวิสัยทัศน์ออกมาได้ดีที่สุดก็เช่น Steve Jobs ผู้นำแห่งอาณาจักร Apple ที่การปรากฎตัวแต่ละครั้ง มักจะสร้างแรงสั่นสะเทือนอันใหญ่หลวงต่อโลกธุรกิจเสมอ ด้วยแนวคิดที่มุ่งไปสู่อนาคต (Future-Centric) ควบคู่ไปกับการนำเสนอนวัตกรรมที่ทันสมัย สามารถเปลี่ยนเรื่องที่เคยอยู่แต่ในจินตนาการให้กลายเป็นความจริง วิสัยทัศน์แบบนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกประทับใจ อยากติดตามไปเรื่อย ๆ เพราะต้องการเรียนรู้จากคนเก่ง

ซึ่งท้ายสุดแล้วจะทำให้เกิด “ความฝันร่วมกัน” (Shared Dream) อันถือเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลักดันให้พนักงานรู้สึกเป็นเจ้าของงาน (Ownership)

เล่าเรื่องอุปสรรคที่เคยเจอ (Obstacle Story)

ไม่ว่าจะธุรกิจใดก็ต้องพบเจอกับปัญหา ดังนั้นหากผู้นำสามารถนำประสบการณ์มาแชร์ได้ว่าเขาเคยเจอปัญหาเล็ก – ใหญ่อย่างไรบ้าง และสามารถผ่านมาได้อย่างไร ก็จะยิ่งทำให้มีคนอยากฟังมากขึ้น การเล่าเรื่องเหล่านี้นอกจากจะทำให้พนักงานเห็นวิธีแก้ปัญหา (Solution) ที่ดีแล้ว ยังทำให้ผู้นำได้เน้นย้ำถึงลักษณะนิสัย (Character) ที่โดดเด่นของตน ไม่ว่าจะเรื่องของความอดทนอดกลั้น (Resilience), ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) หรือแม้แต่เรื่องของการทำงานเป็นทีม (Teamwork)

ยกตัวอย่างกรณีของ Jeff Bezos ผู้นำของอาณาจักร Amazon ที่เคยเผชิญภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ดอทคอม (Dotcom Bubble) ที่เป็นภาวะเก็งกำไรเกินควรของตลาดหลักทรัพย์ภาคเทคโนโลยีในช่วงปี 1995-2000 ทำให้ Amazon ขาดทุนกว่า 720 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เขาก็สามารถออกกลยุทธ์ที่หนักแน่นหลายข้อ เช่นการปิดกิจการที่ไม่ทำกำไรทันที และพยายามนำเสนอสินค้าคุณภาพดีในราคาต่ำที่สุด

จนสุดท้ายก็ทำให้ Amazon มีเงินสดในมือมากมาย ธุรกิจเติบโตจากเดิมกว่า 100 เท่า นี่คือตัวอย่างเรื่องราวที่เราควรนำมาประยุกต์เข้ากับบริบทของบริษัท เพื่อทำให้พนักงานเห็นภาพว่าแม้จะเจอความยากลำบากแค่ไหน แต่เราก็จะผ่านไปได้ “เหมือนกับที่ผู้นำของเราเคยผ่านมาก่อน” นั่นเอง

เล่าเรื่องของลูกค้า (Customer Story)

เป้าหมายของธุรกิจเกือบทุกประเภท คือการตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุดทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค การเล่าเรื่องของลูกค้าที่แตกต่างกัน คือภาพสะท้อนว่าผู้นำของเรามีประสบการณ์ที่กว้างขวาง ไม่ใช่คนโลกแคบ นอกจากนี้เรายังสามารถนำลักษณะของลูกค้าแต่ละประเภท มาอ้างอิง เพื่อเทียบกับลักษณะของลูกค้าที่เจอในปัจจุบันได้เลย ว่าควรรับมือกับคนเหล่านั้นด้วยวิธีไหน ขณะเดียวกัน การเล่าให้พนักงานเห็นว่าลูกค้าที่ซื้อผลิตภัณฑ์ของเราไปใช้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็จะยิ่งทำให้พนักงานรู้สึกว่าความพยายามของตนไม่สูญเปล่า

ตัวอย่างที่ Forbes ยกขึ้นมาก็คือกรณีของ Bill Gates จาก Microsoft ที่เคยออกมาเล่าว่าการทำให้คนเข้าถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ได้เปลี่ยนโลกของการศึกษาให้ดีขึ้นได้อย่างไร, เทคโนโลยีได้ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นอย่างไร เป็นต้น เมื่อพนักงานได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้ ก็จะรู้สึกว่ามีแรงใจ (Motivation) ได้รับรู้อย่างแจ่มแจ้งว่าองค์กรของเราคงอยู่เพื่ออะไร

เล่าเรื่องผลกระทบต่อโลก (Impact Story)

เรื่องสุดท้ายที่สำคัญก็คือการเล่าว่าสิ่งที่องค์กรทำได้สร้างความเปลี่ยนต่อโลกใบนี้อย่างไร ซึ่งเป็นการสรุปรวมเรื่องของวิสัยทัศน์, ค่านิยม, และกระบวนการทำงาน ตัวอย่างที่โดดเด่นก็คือเรื่องของ Elon Musk ที่ไม่ว่าเราจะชอบหรือเกลียดเขา แต่สิ่งที่

เขาคิดค้นขึ้นมานั้น ได้เปลี่ยนแปลงโลกไปอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นโครงการพามนุษย์ออกไปท่องอวกาศอย่าง SpaceX หรือการให้กำเนิดรถไฟฟ้าอย่าง Tesla หากองค์กรของคุณมีเรื่องลักษณะนี้ (ไม่จำเป็นต้องใหญ่เท่า) ก็อย่าลืมแชร์ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วยล่ะ !

90% ของชีวิตเราถูกกำหนดโดย “เสียง” และ “การพูด” จริงหรือไม่? 

90% ของชีวิตเราถูกกำหนดโดย “เสียง” และ “การพูด” จริงหรือไม่? 

บทสรุป

ทักษะของการเล่าเรื่องที่ดีไม่ได้แค่ช่วยยกระดับการสื่อสารเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือสำหรับสร้างแรงบันดาลใจ, สร้างแพสชั่น รวมถึงกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมให้ลึกซึ้งแนบแน่นขึ้น

ไม่ว่าองค์กรของเราจะเติบโตแค่ไหน สิ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือเรื่องของการสื่อสารระหว่างคนในทีม ผู้นำต้องกระตุ้นให้เกิดการพูดคุยระหว่างเพื่อนร่วมงาน ทั้งในทีมของเราเอง ตลอดจนคนที่อยู่ต่างแผนก ขณะเดียวกันก็ควรมีการสื่อสารจากบนลงล่าง และล่างขึ้นบนอย่างสบายใจ นอกจากนี้ยังต้องมีวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยนความเห็น (Feedback Culture) รวมถึงรู้จักใช้ช่องทางสื่อสารที่หลากหลาย (Multi-Communication Tools)

ซึ่งเราสรุปได้ว่าผู้นำที่ดี ไม่ใช่คนที่ “พูดเก่ง” แต่ต้องเป็นคนที่รู้ว่าควร “พูดอะไร” และจะ “พูดไปทำไม” ต่างหาก

หากคุณไม่รู้ว่าจะอบรมทักษะของผู้นำให้สามารถเล่าเรื่อง (Storytelling) ดีขึ้นได้อย่างไร เราขอแนะนำให้ใช้บริการ Training & Coaching จาก HR Products & Services แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ด้านทรัพยากรบุคคลไว้มากที่สุดในเมืองไทย จะฝึกฝนหัวหน้า หรือยกระดับพนักงานแบบไหน ที่นี่มีทุกตัวช่วยให้คุณ

CTA HR Products & Services

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง