Search
Close this search box.

The New-Collar Workforce: การพลิกโฉม HR ด้วยแนวคิดทักษะสำคัญกว่าใบปริญญา

The New-Collar Workforce: การพลิกโฉม HR ด้วยแนวคิดทักษะสำคัญกว่าใบปริญญา

ลองจินตนาการถึงโลกการทำงานที่ “ใบปริญญา” ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสามารถของคุณอีกต่อไป โลกที่สิ่งสำคัญที่สุดคือ “ทักษะ” ที่คุณมีและความพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อก้าวไปข้างหน้า 

นี่คือยุคของ New-Collar Workforce ที่กำลังมาปฏิวัติวิธีการจ้างงานทั่วโลก ซึ่งอาจไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ แต่เป็นการสั่นสะเทือนที่พลิกเกมของการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้สร้างโอกาสสำหรับคนทำงานกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า New-Collar Worker ซึ่งไม่ได้ถูกจำกัดด้วยใบปริญญา แต่เป็นคนที่มีทักษะล้ำสมัยพร้อมรับมือกับโลกแห่งนวัตกรรม – โลกการทำงานที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบเดิม ๆ อีกต่อไป

และนี่คือสิ่งที่ HR ในยุคปัจจุบันต้องให้ความสำคัญ การเปลี่ยนแปลงสู่แนวคิด “Skills-First” เพื่อสร้างองค์กรที่มีความยืดหยุ่น และเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ HR จะต้องก้าวทันการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลก !

New-Collar Workforce: พนักงานกลุ่มใหม่ที่ไม่ต้องพึ่งใบปริญญา

สมัยก่อนการมีใบปริญญาคือกุญแจสำคัญที่เปิดประตูไปสู่โอกาสในชีวิตการทำงาน แต่ในยุคที่ตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเติบโต ค่าเล่าเรียนพุ่งสูงขึ้น และมีตัวเลือกใหม่ ๆ อย่างการเรียนออนไลน์หรือโปรแกรมพัฒนาทักษะเฉพาะทาง

คำถามสำคัญก็คือ ปริญญายังจำเป็นอยู่ไหม ?

มีงานวิจัยหลายงานที่แสดงให้เห็นว่า คุณค่าของปริญญาตรีกำลังลดลง เช่น ข้อมูลจาก Burning Glass Institute บอกเราว่า จำนวนงานที่ระบุว่าต้องมีปริญญาตรีลดลงจาก 51% ในปี 2017 เหลือเพียง 44% ในปี 2021 ขณะที่ผลสำรวจจาก Gallup เผยว่า คนอายุ 18-29 ปีที่มองว่าปริญญาตรีมีความสำคัญมาก ลดลงอย่างน่าตกใจจาก 74% เหลือแค่ 41% ภายในเวลาแค่ 6 ปี

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การกำหนดให้ปริญญาเป็นเกณฑ์หลักในการสรรหา เท่ากับเป็นการปิดประตูใส่หน้าผู้สมัครที่อาจจะเก่งในแบบที่องค์กรต้องการ แต่ไม่มีวุฒิการศึกษามาการันตี สุดท้ายบริษัทก็เสียโอกาสได้คนเก่งมาเสริมทีม

การเปลี่ยนวิธีคิดการสรรหาจาก “ปริญญา” มาเป็น “ทักษะ” จึงไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ใหม่ แต่กำลังกลายเป็นแนวทางที่พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพ ทั้งในแง่ของการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมและการเพิ่มศักยภาพของทีมในองค์กร

สหภาพแรงงาน (Labor Union) ศัตรูของ HR หรือพันธมิตรองค์กร

IBM กับการปฏิวัติการจ้าง New-Collar Workforce ด้วยแนวคิด Skill-First

IBM ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์และให้บริการด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศรายใหญ่ของโลก เป็นบริษัทรายแรก ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า การปรับแนวทางการจ้างงานให้เน้น “ทักษะ” แทนวุฒิการศึกษา สามารถสร้างผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ

โดย IBM ได้ริเริ่มโครงการ P-TECH (Pathways in Technology Early College High School) เพื่อเปิดทางให้นักเรียนเข้าสู่สายงานด้าน STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) โดยไม่จำเป็นต้องเรียนจบปริญญาตรี 

โครงการนี้ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นผ่านหลักสูตรที่ออกแบบร่วมกับพันธมิตรทางการศึกษา และยังให้โอกาสในการฝึกงานกับองค์กรชั้นนำ ซึ่งมีความร่วมมือในประเทศไทยด้วย

อีกหนึ่งก้าวสำคัญคือการปรับคำบรรยายตำแหน่งงาน (Job Description) IBM เลือกที่จะระบุ “ทักษะที่จำเป็น” แทนการใช้วุฒิการศึกษาเป็นตัวกรอง เช่น ตำแหน่งด้าน Cybersecurity ที่เคยกำหนดว่าผู้สมัครต้องมีปริญญาตรี ปัจจุบันกลับเน้นที่ทักษะเฉพาะ เช่น ความสามารถในการเขียนโปรแกรม การวิเคราะห์ข้อมูล หรือการพัฒนาโมเดลความปลอดภัย

ผลลัพธ์คือ IBM สามารถเพิ่มตำแหน่งงานที่ไม่ต้องการวุฒิการศึกษาได้มากกว่า 50% ซึ่งช่วยขยายกลุ่มผู้สมัครให้ครอบคลุมคนที่มีความสามารถหลากหลายมากขึ้น

สิ่งนี้ไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้กับแรงงานที่เคยถูกมองข้าม แต่ยังช่วยให้องค์กรสามารถหาบุคลากรที่ตรงกับความต้องการได้อย่างแท้จริง

สหภาพแรงงาน (Labor Union) ศัตรูของ HR หรือพันธมิตรองค์กร

ประโยชน์ของ New-Collar Workforce สำหรับองค์กร:

แนวทางการจ้างงานแบบ New-Collar Workforce ไม่เพียงตอบโจทย์โลกการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังช่วยให้องค์กรสามารถบริหารทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพ มาดูกันว่าทำไมการเปิดรับแรงงานกลุ่มนี้จึงมีประโยชน์รอบด้าน

1. สร้างความยืดหยุ่นในการจ้างงาน

จากที่การจ้างงานมักยึดติดกับข้อกำหนดวุฒิการศึกษา ทำให้การสรรหาบุคลากรที่มีศักยภาพดีอาจใช้เวลานานเกินไป แต่สำหรับแรงงาน New-Collar การมุ่งเน้นที่ทักษะเฉพาะทางแทนวุฒิการศึกษาช่วยเปิดประตูให้กับผู้สมัครที่มีความสามารถโดยตรง ซึ่งในหลายกรณี อาจไม่ได้มีใบปริญญามาการันตี

2. ลดช่องว่างด้านทักษะ (Skill Gap)

Skill Gap หรือช่องว่างด้านทักษะเป็นปัญหาใหญ่ที่องค์กรหลายแห่งกำลังเผชิญ โดยเฉพาะในสายงานเทคโนโลยีหรือดิจิทัล การเลือกแรงงาน New-Collar ช่วยเติมเต็มตำแหน่งงานสำคัญ เช่น นักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst), ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI, และนักพัฒนาโปรแกรม (Software Developer)

3. เพิ่มความหลากหลายในองค์กร (Diversity)

การจ้างงานที่ไม่ได้ยึดติดกับวุฒิการศึกษาเปิดโอกาสให้กับผู้คนจากหลากหลายพื้นเพ ซึ่งอาจไม่ได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง ความหลากหลายนี้ไม่เพียงช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีขึ้น แต่ยังส่งเสริมมุมมองใหม่ ๆ ให้กับทีม

4. ต้นทุนการจ้างงานที่คุ้มค่า

รู้ไหมว่าค่าเล่าเรียนที่สูงทำให้บัณฑิตมหาวิทยาลัยมักต้องเรียกค่าจ้างสูงกว่าแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้จบปริญญา การจ้างงาน New-Collar Workforce ที่ไม่มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา เช่น การจ่ายหนี้การศึกษา หรือการฝึกอบรมในระบบมหาวิทยาลัย ช่วยให้องค์กรสามารถจ้างพนักงานในงบประมาณที่ยืดหยุ่นมากขึ้น

ลงทุนในงาน HR กับ Thitaram Group: พันธมิตรเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืนขององค์กร 

HR ควรปรับตัวอย่างไร สู่โลกการจ้างงาน New-Collar Workforce ?

การเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไม่ได้หมายถึงแค่การปรับวิธีการจ้างงาน แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแนวคิดของ HR ในการมองหาและพัฒนาบุคลากรในองค์กร นี่คือ 3 แนวทางสำคัญที่ HR สามารถนำมาใช้เพื่อตอบรับกระแส New-Collar นี้

1. เปลี่ยนเกณฑ์การคัดเลือก:  มองหาทักษะ ไม่ใช่วุฒิการศึกษา

HR ต้องปรับมุมมองการคัดเลือกผู้สมัคร โดยให้ความสำคัญกับ ประสบการณ์และทักษะ มากกว่าวุฒิการศึกษา การพิจารณา Resume ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการแก้ปัญหา การทำงานในโครงการจริง หรือความสำเร็จเฉพาะตัว ช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงผู้สมัครที่มีศักยภาพแท้จริง

เช่น การปรับคำบรรยายงานที่เน้นระบุความสามารถที่จำเป็น เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การเขียนโปรแกรม หรือความสามารถในการทำงานร่วมกับทีม แทนการกำหนดวุฒิการศึกษาระดับปริญญา

2. สร้างโปรแกรม Re-skill และ Up-skill: สนับสนุนการเรียนรู้ไม่สิ้นสุด

ในยุคที่ทักษะเก่าอาจล้าสมัยอย่างรวดเร็ว HR ควรลงทุนในโปรแกรม Re-skill & Up-skill เพื่อพัฒนาพนักงานให้สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ และเติบโตไปพร้อมกับองค์กร

3. ใช้เครื่องมือประเมินทักษะที่ทันสมัย: เจาะลึกความสามารถเฉพาะตัว

ในกระบวนการคัดเลือกผู้สมัคร HR สามารถใช้ Assessment Tools ที่ทันสมัยเพื่อประเมินทักษะที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน เช่น การให้ผู้สมัครแก้ปัญหาจริง (Case Study) หรือทำงานในโปรเจ็กต์จำลอง วิธีนี้ช่วยให้ HR สามารถมองเห็นความสามารถของผู้สมัครได้ลึกซึ้งกว่าการสัมภาษณ์แบบเดิม

 

บทสรุป

คำถามที่ว่า ปริญญายังสำคัญอยู่ไหม ? คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับบริบทของงานและองค์กร

เพราะการพัฒนาทักษะสามารถทำได้ผ่านประสบการณ์ ชีวิต และการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ การมีใบปริญญาจึงอาจไม่ได้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จอีกต่อไป ทว่าสิ่งที่สำคัญคือ เราจะนำประสบการณ์ชีวิตมาแปลงเป็น “ทักษะ” ที่จับต้องได้ และตรงใจตลาดแรงงานในปัจจุบัน

HREX.asia จึงเชื่อว่าแนวทาง New-Collar Workforce จะไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นการลงทุนที่สำคัญต่ออนาคตขององค์กร การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงช่วยเพิ่มผลิตภาพ แต่ยังช่วยสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคใหม่

อย่างไรก็ดี ใบปริญญาไม่ได้หายไปหรอก แต่ก็ไม่ใช่ใบเบิกทางเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป “ทักษะ” และ “ประสบการณ์” คือของจริงที่โลกการทำงานยุคนี้กำลังมองหา ฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ HR จะก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ เพื่อสร้างโลกการทำงานที่ดีขึ้นสำหรับทุกคน !

Source:

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง