ฝ่าย HR จะช่วย Reskill บุคลากรอย่างไรให้สอดรับกับองค์กรยุคใหม่

HIGHLIGHT
  • เทคโนโลยีและนวักรรมใหม่ๆ กำลังเข้ามามีบทบาทในทุกธุรกิจและอุตสาหกรรม กำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์มากขึ้นเรื่อยๆ แต่แรงงานคนก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ ดังนั้นทุกคนจึงต้อง Reskill ตนเองให้สอดคล้องกับโลกยุคใหม่ด้วย
  • การพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ทักษะเดิมๆ ที่ทำอยู่จะทำให้เรามีทักษะที่หลากหลายขึ้น สามารถทำงานในสายงานที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการมักทักษะที่หลากหลายสามารถปรับตัวในตลาดแรงงานของโลกยุคใหม่ได้ดียิ่งกว่า
  • การ Reskill ที่สำคัญและจำเป็นในยุคนี้มากที่สุดก็คือการเสริมตลอดจนเพิ่มทักษะทางเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้กับงานของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • ฝ่าย HR สามารถช่วย Reskill ให้กับพนักงานในองค์กรได้ ตั้งแต่การพัฒนาวิชาชีพเดิมให้มีประสิทธิภาพกับการทำงานยุคปัจจุบัน ตลอดจนพัฒนาวิชาชีพใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อองค์กร หรือเพื่อสร้างโอกาสในตลาดแรงงานอื่นในอนาคตให้กับพนักงาน

ฝ่าย HR จะช่วย Reskill บุคลากรอย่างไรให้สอดรับกับองค์กรยุคใหม่

ต้องยอมรับว่าทันทีที่โลกก้าวสู่ศตวรรษที่ 21 ทุกสิ่งทุกอย่างก็มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายและรวดเร็ว นั่นรวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางอาชีพ และการปฎิวัติทางการทำงานที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวกันขนานใหญ่ตั้งแต่ตัวองค์กรเองไปจนถึงพนักงานทุกระดับ ปฎิเสธไม่ได้ว่าตัวแปรสำคัญก็คือการเข้ามามีบทบาทของโทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เหล่านวัตกรรมทั้งหลายต่างก็เป็นประโยชน์และมีศักยภาพอย่างมากในการทำงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนั่นเองที่ทำให้มันเริ่มเข้ามาทดแทนงานหลายอย่างของมนุษย์ ตลอดจนบุคลากรแต่ละฝ่ายในองค์กรใดก็ตามต่างก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีให้ทัน ใช้งานให้เป็น นำเทคโนโลยีมาเสริมประโยชน์ให้กับการทำงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจะสามารถอยู่ในตลาดแรงงานตลอดจนองค์กรได้ต่อไป

หนึ่งในวิธีรับมือตลอดจนแก้ไขกับปัญหา “การปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption)” ที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลกนี้ก็คือการที่ต้อง Reskill เรียนรู้ทักษะใหม่เพิ่มเติม และปฎิวัติทักษะเดิมที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถประยุกต์ทักษะเดิมของตนเองให้เข้ากับการทำงานยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับงานของตน เราจะเริ่มเห็นว่าหลายองค์กรทั่วโลกหรือแม้แต่ในไทยเองก็ตามก็เริ่มมีการนำเอาแนวคิด Reskill นี้มาใช้กันบ้างแล้ว เพื่อเตรียมปรับองค์กรตลอดจนพัฒนาบุคลากรให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในครั้งนี้ได้ทัน

Reskill คืออะไร

นิยามของ Reskill

Reskill : (transitive) to train (a worker) to acquire new or improved skills.

If you reskill, or if someone reskills you, you learn new skills, so that you can do a different job or do your old job in a different way.

+++++++++++++++++++++++++++

ความหมายจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Collins

ที่มา : https://www.collinsdictionary.com/dictionary/english/reskill

Reskill : to learn new skills so that you can do a different job:

+++++++++++++++++++++++++++

ความหมายจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Cambridge DIctionary

ที่มา : https://dictionary.cambridge.org/dictionary/english/reskill

Reskill : [intransitive, transitive] reskill (somebody) to learn new skills so that you can do a new job; to teach somebody new skills

+++++++++++++++++++++++++++

ความหมายจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษ Oxford Learners Dictionaries

ที่มา : https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/reskill

คำว่า Reskill นี้หากดูความหมายจากพจนานุกรมภาษาอังกฤษที่น่าเชื่อถือของโลกหลายๆ แหล่งจะพูดในทำนองเดียวกันว่า Reskill นี้ก็คือการปรับปรุง เรียนรู้ พัฒนาทักษะเก่าของตนเอง ตลอดจนเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถทำงานใหม่ๆ ได้เพิ่มขึ้น นั่นเป็นโจทย์สำคัญสำหรับคนยุคปัจจุบันที่เริ่มหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้สามารถทำงานร่วมกับทักษะวิชาชีพยุคใหม่ที่องค์กรต่างๆ ต้องการได้ องค์กรเองก็มีโปรแกรมในการพัฒนาบุคลากรในการเพิ่มทักษะวิชาชีพเดิมและเสริมทักษะวิชาชีพใหม่ๆ เช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมให้บุคลากรของตนเองสามารถรองรับงานได้หลากหลายประเภทมากขึ้น ตลอดจนหากบุคลากรไม่ได้ทำงานกับองค์กรแล้วออกสู่ตลาดแรงงานภายนอกก็สามารถที่จะมีทักษะหลากหลายรูปแบบเพื่อที่จะไปต่อยอดในงานสายต่างๆ ได้มากมายขึ้นด้วยนั่นเอง

ทักษะของบุคลากรยุคศตวรรษที่ 21

ฝ่าย HR จะช่วย Reskill บุคลากรอย่างไรให้สอดรับกับองค์กรยุคใหม่

ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้โลกของการทำงานเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก หลายองค์กรหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้น เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่า และประหยัดต้นทุนได้มากกว่าการจ้างคนมาทำงานได้ด้วย หลายองค์กรเริ่มลดพนักงานลง ในขณะที่มนุษย์ก็ยังมีความจำเป็นในองค์กรอยู่แต่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบไป นั่นทำให้ใครที่สามารถปรับตัวได้ก่อน มีศักยภาพที่สอดคล้องกับองค์กรยุคใหม่ได้มากกว่า ก็มีสิทธิที่จะได้งานมากกว่าเช่นกัน สำหรับทักษะในการทำงานยุคศตวรรษที่ 21 นี้จะแตกต่างไปจากยุคศตวรรษก่อนๆ ที่ผ่านมาที่องค์กรต้องการทักษะทางวิชาชีพเฉพาะตัว คนคนนึงพัฒนาทักษะวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งให้ชำนาญไปเลย เพื่อรองรับกับแต่ละงานหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ แต่ในยุคนี้คนที่มีศักยภาพมากกว่าคือคนที่มีทักษะวิชาชีพที่หลากหลายขึ้น รวมถึงมีทักษะวิชาชีพเฉพาะทางที่ลงลึกขึ้น มีความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น ตลอดจนการมีทักษะวิชาชีพที่สอดคล้องกับตลาดแรงงานในยุคปัจจุบัน เราลองมาดูกันดีกว่าว่าทักษะวิชาชีพสำหรับศตวรรษที่ 21 ควรเป็นอย่างไรบ้าง

1. Tech & Digital Skill – ทักษะทางเทคโนโลยีและดิจิตอล

ผู้ที่มีความรู้เรื่องความสามารถในด้านเทคโนโลยีและดิจิตอลนั้นจะเป็นผู้ได้เปรียบในการทำงานยุคใหม่นี้มากกว่า เพราะแทบทุกอุตสาหกรรมบนโลกยุคใหม่นี้ต่างก็มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น บุคลากรที่มีทักษะเกี่ยวกับ Programing การเขียนโปรแกรมต่างๆ, IOT-Internet of Things, Technology Innovation นวัตกรรมทางเทคโนโลยี, ตลอดจน Specialist Digital Skill ทักษะเฉพาะทางด้านดิจิตอลทั้งหลาย ต่างก็เป็นแรงงานที่มีมูลค่าการจ้างงานสูง และเป็นที่ต้องการเป็นจำนวนมาก มากกว่าทักษะวิชาชีพพื้นฐานทั่วไป

2. Mixed Skill – ทักษะผสมผสาน

ใครที่มีทักษะในการทำงานหลากหลายรูปแบบในคนเดียวกันมากกว่ากันก็ย่อมจะเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานมากกว่าคนที่มีทักษะเฉพาะอย่างเพียงด้านเดียว ซึ่งองค์กรก็จะคุ้มค่ากว่าในการจ้างงานอีกด้วย การเพิ่มทักษะให้กับตัวเองที่มีประโยชน์ต่อการทำงานมากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น และสามารถพัฒนาปรับตัวเองให้ก้าวทันตามโลกได้ อย่างเช่น การเพิ่มเติมทักษะในด้านเทคโนโลยีต่างๆ เข้าไปกับทักษะเดิมของตนเอง ก็จะทำให้เราได้เปรียบขึ้น เพราะทุกงานในยุคนี้ต่างนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์กันแทบทั้งสิ้น หรือการเพิ่มทักษะอื่นๆ ให้ตัวเองที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับสายงานเดิมๆ เพื่อรองรับตลาดแรงงานที่หลากหลายขึ้น

3. Business Skill – ทักษะทางด้านธุรกิจ

แทบจะทุกธุรกิจต่างก็ต้องการทักษะทางธุรกิจมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทั้งนั้น เพราะนี่คือจุดที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับองค์กรได้นั่นเอง การที่มีทักษะทางด้านธุรกิจตลอดจนการตลาดนั้นจะเป็นข้อได้เปรียบที่สามารถทำงานได้หลากหลายประเภทและทุกองค์กร แต่ผู้ที่มีทักษะทางด้านธุรกิจนี้ก็ควรพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติมเพราะเป็นสิ่งที่จะทำให้เรามีข้อได้เปรียบมากยิ่งขึ้น ในทางกลับกันหลายสาขาอาชีพต่างก็สามารถพัฒนาทักษะธุรกิจเพิ่มเติมให้กับทักษะพื้นฐานของตนเองได้ ตลอดจนพัฒนาเป็นอีกทักษะที่สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานได้หลากหลายขึ้นมากด้วย ซึ่งองค์กรหลายองค์กรนั้นต้องการทักษะวิชาชีพเฉพาะทางที่มีความรู้เรื่องการตลาด มากกว่าต้องการนักการตลาดที่ไม่มีความรู้เฉพาะทางในวิชาชีพมาเสริมทัพ ดังนั้นจึงเป็นทักษะที่หากมีเพิ่มเติมก็จะช่วยเสริมสร้างศักยะภาพของเราให้ดีมากขึ้นได้

4. Innovative & Creative Skill – ทักษะทางด้านนวัตกรรมและการสร้างสรรค์

ในยุคนี้เรื่องของนวัตกรรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเท่านั้น แล้วการสร้างสรรค์ก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่แวดวงศิลปะหรือการออกแบบต่างๆ เพียงอย่างเดียว แต่สองสิ่งนี้เข้าไปมีบทบาทในแทบทุกองค์กรและทุกธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะนี่คือสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ยอดเยี่ยมนั่นเอง ทุกวันนี้หลายองค์กรใช้นวัตกรรมและการสร้างสรรค์เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับตนเองทั้งสิ้น ใครที่มีทักษะในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนสิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้คนนั้นก็ย่อมจะเป็นคนที่ได้เปรียบในยุคนี้ เพราะแทบทุกองค์กรต่างก็แข่งขันกันสร้างนวัตกรรมของตนเองขึ้นมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับทั้งผู้อื่นและกับงานในองค์กรของตนเองด้วย

5. Flexible Skill – ทักษะยืดหยุ่นในการทำงาน

ทักษะนี้อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับทักษะวิชาชีพมากนัก แต่เป็นทักษะของความยืดหยุ่นในการทำงาน ระบบการจ้างงาน ตลอดจนการปรับตัวในรูปแบบต่างๆ ให้เหมาะสมลงตัวกับแต่ละธุรกิจ อย่างเช่น องค์กรก็ต้องลดภาระต้นทุน ไม่ใช่ว่าจะแบกภาระในการจ้างงานที่ต้องมีภาระตามมาอีกมากมาย บางตำแหน่งก็อาจจะไม่มีการจ้างประจำแล้ว เปลี่ยนไปเป็นการจ้างแบบสัญญาจ้างชั่วคราวหรือระบบฟรีแลนซ์แทน อีกอย่างยุคนี้คนทำงานรุ่นใหม่มักไม่ชอบทำงานประจำ หลายองค์ก็เริ่มปรับตัวในการเพิ่มระบบจ้างงานแบบฟรีแลนซ์มากขึ้น เพราะบางตำแหน่งก็ไม่จำเป็นต้องจ้างมานั่งประจำ แต่จ้างเป็นลักษณะงานไปจะดีกว่า อีกทั้งยังได้ลองทำงานหลากหลายรูปแบบกับคนหลากหลายประเภทอีกด้วย ก็เป็นประโยชน์สำหรับทุกภาคส่วน ทักษะยืดหยุ่นนี้ยังรวมไปถึงการสามารถทำงานได้หลากหลายทักษะ เปลี่ยนแผนกทำงานได้ รองรับงานได้มากกว่าทักษะของตน ตลอดจนสามารถโยกย้ายไปทำงานในตำแหน่งที่องค์กรต้องการได้ ซึ่งความยืดหยุ่นนั้นมีได้หลากหลายลักษณะ และผู้คนที่สามารถรองรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอได้ดีนั้นก็ย่อมเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าของแต่ละองค์กรเสมอ

6. Learning & Development Skill – ทักษะในการเรียนรู้และพัฒนา

ด้วยโลกที่เปลี่ยนไปไวมาก ทักษะที่จำเป็นสำหรับคนยุคนี้ก็คือคนที่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ และไม่หยุดในการที่จะพัฒนาตนเอง เพราะองค์กรต้องการที่จะเสริมความรู้ใหม่ๆ ให้กับพนักงานอยู่เสมอ ทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว และเราต้องเรียนรู้ให้ทัน นำความก้าวหน้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์กับทักษะวิชาชีพและการทำงานของตนให้ได้ ดังนั้นจึงต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ขี้เกียจ ไม่เป็นน้ำเต็มแก้ว เปิดรับการเรียนรู้ได้ไม่จำกัด ขยันในการพัฒนาตนเอง ขณะเดียวกันก็ควรที่จะมีลักษณะนิสัยในการอยากเรียนรู้ หาสิ่งที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาองค์ความรู้ตนเองด้วยตัวเองอยู่เสมอด้วย พร้อมที่จะรับองค์ความรู้ที่ไม่คุ้นเคย และเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ได้เสมอ ซึ่งทักษะนี้จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาตนเองและพัฒนาองค์กรในโลกยุคศตวรรษที่ 21 นี้

ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) จะช่วย Reskill ให้กับบุคลากรในองค์กรได้อย่างไร

ฝ่าย HR จะช่วย Reskill บุคลากรอย่างไรให้สอดรับกับองค์กรยุคใหม่

หนึ่งในฝ่ายที่ต้องปรับตัวกับการปฎิวัติทางวิชาชีพ (Career Disruption) มากที่สุดก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคลนี่ล่ะ ทั้งการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้รองรับการปรับตัวสู่ง HR 4.0 ให้ได้ การนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วนของการทำงานบริหารงานบุคคล ตลอดจนต้องเตรียมพร้อมพัฒนาบุคลากรในองค์กรให้พร้อมรับมือกับโลกยุคใหม่และธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ฝ่าย HR ควรใส่ใจกันเป็นอย่างมากก็คือการ Reskill ให้กับบุคลากรในองค์กรนั่นเอง มาลองดูกันดีกว่าว่าฝ่าย HR จะมีบทบาทในเรื่องนี้อย่างไรได้บ้าง

  • 1.พัฒนาความรู้ด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นให้กับสายงานต่างๆ : องค์ความรู้ที่ควรพัฒนาทักษะเพิ่มให้กับบุคลากรก็คือเรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และเพื่อให้พนักงานได้ปรับตัวใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์มากขึ้นได้ด้วย ตลอดจนให้พนักงานในองค์กรสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการทำงานให้มีประสิทธิภาพในหลากหลายรูปแบบ
  • 2.ฝึกอบรมทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานให้เพิ่มยิ่งขึ้น : ฝ่าย HR ควรอบรมทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน และเป็นประโยชน์ต่อตลาดแรงงานในอนาคต เพื่อพัฒนาศักภาพของบุคลากรในองค์กร ตลอดจนเสริมสร้างทักษะในการทำงานให้พนักงานสามารถไปสู่ตลาดแรงงานอื่นๆ ได้ด้วย
  • 3.เสริมการเรียนรู้ที่ไม่จำกัดรูปแบบและขอบเขตในการเรียนรู้ : ฝ่าย HR เองอาจเสริมสร้างการเรียนรู้ในมิติอื่นๆ ทั้งแบบที่เป็นประโยชน์ส่วนบุคคล แบบที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจำวัน หรือทักษะที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ทักษะวิชาชีพเสริม ทักษะงานอดริเรก เป็นต้น เพื่อให้พนักงานมีช่องทางในการหารายได้เพิ่มขึ้น เสริมสร้างองค์ความรู้อื่นๆ ที่จะต่อยอดได้มากขึ้น เสริมสร้างวิชาชีพเสริม ตลอดจนสร้างวิชาชีพใหม่ได้อีกด้วย รวมถึงส่งเสริมการเรียนรู้ให้กลายเป็นลักษณะนิสัยติดตัวบุคลากรได้ด้วยเช่นกัน
  • 4.ให้ความรู้บุคลากรในองค์กรเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นและตลาดแรงงานต้องการต่อการทำงานในยุคอนาคต : การเปลี่ยนแปลงหลายๆ ครั้งที่ส่งผลต่อการลดจำนวนบุคลากร หรือการปรับเปลี่ยนลักษณะงานใหม่ให้องค์กรอยู่รอด สิ่งที่ฝ่าย HR ควรให้ความรู้กับพนักงานก็คือแนวโน้มของตลาดแรงงานยุคใหม่ที่ต้องการวิชาชีพอะไร ทักษะสิ่งไหนที่จำเป็น หากสามารถช่วยส่งเสริมพนักงานได้ก็ควรช่วยพัฒนาทักษะนั้นให้กับบุคลากรด้วย หรือหากต้องมีการลดจำนวนพนักงานจริงๆ ก็ให้เขามีองค์ความรู้ที่จะไปต่อยอดในธุรกิจอื่นๆ หรือประกอบวิชาชีพอื่นๆ ที่จำเป็นต่อตลาดแรงงานในยุคใหม่ได้เช่นกัน
  • 5.เตรียมเส้นทางการทำงานที่เหมาะสมไว้รองรับและกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเอง : ในส่วนขององค์กรเองก็ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร ตลอดจนเส้นทางในการก้าวหน้าในวิชาชีพไว้รองรับกับงานยุคใหม่ด้วย ซึ่งหากเราพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรเพิ่มเติม หรือพัฒนาทักษะใหม่ๆ ให้แล้ว ก็ควรมีเส้นทางความก้าวหน้าไว้รองรับ หรือมีการสนับสนุนพนักงานที่มีศักยภาพให้ได้ทำงานที่เหมาะสมกับการพัฒนาตนเอง นั่นยังรวมไปถึงการเกิดขึ้นของตำแหน่งใหม่ๆ ให้เหมาะสมกับตลาดงานในโลกยุคนี้ ที่ต้องสรรหาบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่มีประสิทธิภาพ หรือพัฒนาศักยภาพพนักงานให้เหมาะสมกับทิศทางตำแหน่งใหม่ขององค์กร หรือสร้างตำแหน่งใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับการพัฒนาพนักงานในองค์กรตามวิถีที่บริษัทต้องการนั่นเอง
  • 6.พร้อมรับความคิดเห็นและการเสนอแนะ ตลอดจนปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม : แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงในทุกองค์กรย่อมมีการเสนอแนะและแสดงความคิดเห็นกลับมาด้วยกันแทบทั้งสิ้น รวมถึงบุคลากรต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนต้องปรับตัวเพื่อให้ทันยุคทันสมัยนี้ ฝ่าย HR เองก็ควรเตรียมมือในการรับการเสนอแนะ การให้คำปรึกษา ตลอดจนนำมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับทุกฝ่ายให้มากที่สุด ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นจากคนในองค์กรว่าอยากให้องค์กรส่งเสริมหรือพัฒนาทักษะด้านไหนที่เป็นประโยชน์ เพื่อที่จะได้พัฒนาศักยภาพให้ตรงตามความต้องการที่แท้จริง

บทสรุป

Management Concept

ในโลกยุคที่เทคโนโลยีกำลังเข้ามามีบทบาทในทุกภาคส่วน นวัตกรรมหลายอย่างมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงและกำลังเข้ามาแทนที่มนุษย์ ขณะที่แรงงานคนก็ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานและองค์กรทั่วโลกอยู่ เพียงแต่อาจเปลี่ยนรูปแบบของวิชาชีพที่ต้องการไป ทักษะที่เปลี่ยนแปลงจากเดิม ตลอดจนจำนวนคนที่ลดลงกว่าแต่ก่อน ปัญหาเหล่านี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญและร่วมกันแก้ไข แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนเริ่มพัฒนาตนเองก่อนได้ก็คือการ Reskill ทักษะของตนเอง ตั้งแต่การพัฒนาทักษะที่ตนเองมีอยู่แล้วให้เชี่ยวชาญมากขึ้น การนำเอาเทคโนโลยีมาผสานกับทักษะของตนเองให้เกิดประโยชน์และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ตลอดจนการหาทางพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์และตรงกับแนวโน้มที่ตลาดแรงงานกำลังต้องการ ซึ่งองค์กรที่ปรับตัวให้ก้าวหน้าทันยุค เมื่อจับมือกับพนักงานที่มีทักษะการทำงานที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการขององค์กรยุคใหม่ หากร่วมมือกันได้อย่างดีเยี่ยมนั้นแน่นอนว่าทั้งคนและองค์กรต่างก็มุ่งหน้าสู่ความสำเร็จได้อย่างมีศักยภาพที่สุดเช่นกัน

สุดท้ายแล้วองค์กรนี่แหละที่จะสามารถมอบโอกาสดีๆ ให้กับพนักงานได้ในการพัฒนาทักษะตลอดจนศักยภาพของตน เมื่อพนักงานเกิดการพัฒนาทักษะยุคใหม่ที่สอดรับกับองค์กรก็จะยิ่งทำให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้นได้ด้วยเช่นกัน เป็นผลประโยชน์ที่ได้รับกันทุกฝ่าย และเสริมสร้างศักยภาพให้กันทั้งระบบตั้งแต่แรงงาน องค์กร ยันภาคธุรกิจระดับองค์รวมเลยทีเดียว

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง