Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนเมษายน 2022

Highlight

  • HRM หลัง COVID-19 ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง การยึดติดกับสถานที่ทำงาน เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และหาแนวทางใหม่ นำเสนอให้หัวหน้าหน่วยงานเชื่อถือ และยอมรับในการบริหารจัดการแนวใหม่
  • การสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรที่หยุดไม่พร้อมกัน ควรจัดเป็นกลุ่มย่อยและสลับกันไปทำกิจกรรม 1 2 หรือ 3 กลุ่ม โดยพยายามสลับกลุ่มในปีถัดไป ไม่ให้ซ้ำเดิม,​ทำกิจกรรมภายในองค์กร หรือทำงานจิตอาสา
  • พนักงานไม่ติดต่อเกิน 3 วันทำงาน ถือว่าขาดงาน แนะนำให้ส่งหนังสือลงทะเบียบตอบรับไปยังที่อยู่ของลูกจ้าง โดยให้ระบุข้อความ “ให้ติดต่อกลับมายังบริษัทภายใน 3 วันทำการ หากพ้นกำหนดจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่ ขาดงานไม่มีเหตุผล”
  • การลาป่วยเนื่องจากโควิด หรือป่วยเนื่องจากโรคอะไรก็ตามสามารถลาป่วยได้ ส่วนระยะเวลาก็ตามที่ป่วยจริง และมักจะเข้าใจว่าลาได้ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ การลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง เพียงแต่จะได้ค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน หากลามากกว่า 30 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปจะไม่ได้รับเงิน 
  • เมื่อลาออกแล้ว วันพักร้อนเหลือ สามารถ ทำได้ 2 วิธีที่นิยมทำคือ 1. ใช้วันพักร้อนที่เหลืออยู่ให้หมด หรือ 2. รับเป็นเงินแทนวันพักร้อนที่เหลือหรือใช้ไม่หมด

 ทุกการทำงานล้วนมีข้อสงสัยหรือคำถามที่ต้องการคำตอบ การทำงานของฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ก็เช่นกัน ที่มักเต็มไปด้วยประเด็นยาก ๆ ที่ HR หลายคนต้องการปรึกษาคนอื่นเสมอ

ด้วยเหตุนี้ HR NOTE.asia จึงได้เปิดเว็บไซต์ HR Board เว็บบอร์ดถาม-ตอบ (Q&A Forum) ที่จะช่วยกระชับช่องว่างระหว่างคนทำงานสาย HR เข้าด้วยกัน และเป็นชุมชนแห่งใหม่ของ HR ที่จะเปิดพื้นที่ให้ทุกคนได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

เพราะเราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้ (Knowledge sharing) คือพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยให้ HR ทุกคนก้าวผ่านอุปสรรคในทำงานไปด้วยกัน และก่อเกิดความรู้ใหม่ ๆ ต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

Q&A of the Month: 5 คำถามเด็ด HR ประจำเดือนเมษายน 2022ผ่านพ้นเดือนสุดร้อนของปีอย่างเมษายนไปแล้ว ซึ่งบางอาทิตย์อากาศร้อนจริง แต่บางอาทิตย์อากาศกลับเย็นลงซะอย่างนั้น แต่สภาวะการทำงานของเพื่อน ๆ HR ยังคงร้อนทุกวัน เพราะใน HR Board มีคนเข้ามาถามถึงปัญหาการทำงานอยู่เรื่อย ๆ ทั้ง การคำนวณอัตราการลาออก, สัญญาจ้างลูกจ้างชั่วคราว,​ หรือ เรื่องการลาและวันหยุดประจำปี

อย่างไรก็ตาม สำหรับ Q&A of the month 5 ข้อที่เราคัดสรรในที่นี้ เราเลือกจากคำถามที่ประโยชน์ เข้าถึงทุกคน โดยมีคำถามที่สามารถใช้งานได้จริงจากผู้เชี่ยวชาญที่เป็น partner ของเรา โดยมีคำถามและคำตอบที่น่าสนใจ ดังนี้

Contents

Q1: แนวโน้มและสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในการปฏิบัติด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM) หลังยุคโควิด-19?

แนวโน้มและสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปในการปฏิบัติด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ (HRM) หลังยุคโควิด-19 จะเป็นยังไงครับ

A: โดย Poonnie HR

HR ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่อง การยึดติดกับสถานที่ทำงาน เพื่อติดตาม ตรวจสอบ และหาแนวทางใหม่ นำเสนอให้หัวหน้าหน่วยงานเชื่อถือ และยอมรับในการบริหารจัดการแนวใหม่  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ขึ้นกับลักษณะธุรกิจมากกว่าครับ  เช่นถ้ามีสายการผลิตในโรงงาน ยังไงก็ต้องมาทำงาน แต่ส่วนงานอื่นๆ จะบริหารจัดการยังไง  เพื่อให้ไม่รู้สึกเลือกปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้ผมว่า HR ควรจัดเตรียมแนวทาง ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปให้ผู้บริหารได้พิจารณาทางเลือกที่เราจัดเตรียมให้ครับ

Q2: จะสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในองค์กร สำหรับร้านอาหารที่พนักงานไม่สามารถหยุดงานพร้อมกันได้อย่างไร?

เพราะพนักงานแต่ละคน หยุดงานไม่พร้อมกัน จะสลับกันหยุด พนักงานเข้างานกันคนละรอบ และเลิกงานดึก และเป็นธุรกิจร้านอาหารที่ไม่สามารถปิดบริการเพื่อให้พนักงานไปทำกิจกรรมได้  จะพอมีกิจกรรมอะไรที่สามารถให้พนักงานทำเพื่อสร้างความสัมพันธ์กันได้บ้างมั้ยคะ

A: โดย นภัสราพร เด่นพงศ์พันธุ์

  1.  จัดเป็นกลุ่มย่อยและสลับกันไปทำกิจกรรม 1 2 หรือ 3 กลุ่ม  โดยพยายามสลับกลุ่มในปีถัดไป ไม่ให้ซ้ำเดิม
  2. กิจกรรมภายในองค์กร หรือ การทำโครงงาน  การเล่นเกม แข่งขันออกกำลังกาย  เล่นเกมใน ผ่าน  Social  Media อย่างเหมาะสม  สามารถสร้างสายสัมพันธ์ได้เช่นกัน
  3. งานจิตอาสา ทั้งแบบนอกสถานที่ และ ภายในสถานที่ก็ทำได้เช่นกัน

A: โดย Poonnie HR

ด้วยลักษณะของธุรกิจบริการ วันหยุดคือวันทำเงินของธุรกิจเลย ดังนั้น บุคลากรในร้านคือสิ่งสำคัญ ซึ่งพนักงานกลุ่มนี้จะไม่ได้หยุดในวันหยุดปกติ กิจกรรมที่ผมเคยมีส่วนร่วมของธุรกิจนี้ สามารถทำได้ใน 2 มิติคือ ทำเล็กๆ แต่ต่อเนื่อง เช่น กิจกรรมพบปะพูดคุยช่วงปิดร้านของร้านในโซนเดียวกัน หรือกลุ่มพื้นที่เดียวกัน ใช้เวลาสัก 2 ชั่วโมง ทานข้าว นั่งคุยระหว่างผู้จัดการร้านหลายๆ คน ให้บริการน้องๆ ในแต่ละร้านของโซน สามารถทำได้ Q ละครั้ง เลยครับ หรือ เดือนละครั้ง ก็ไม่บ่อยเกินไป  ส่วนถ้าทำใหญ่ๆ คือการจัด Outing ภาพใหญ่ สลับกะกันไปต่างจังหวัด ทริปละ 2 วัน 1 คืน ก็เป็นสิ่งที่พนักงานรอคอยเช่นกันครับ  

เคยทำแบบนั้นแล้ว ผลความพึงพอใจของน้องๆ ในร้านมีคะแนนค่อนข้างดี แต่สิ่งที่ตามมาคือ Budgeting ที่สูงพอสมควรครับ ลองบริหารจัดการดูครับ

Q3: พนักงานไม่ติดต่อถือว่าขาดงานได้ไหมคะ?

ขออนุญาติสอบถามคะ พนักงานรายเดือน ไม่ติดต่อหัวหน้างาน ให้ขาดงานได้ไหมคะ ใช้สิทธพักร้อนหมดเเล้วคะ ลากิจใช้สิทธิหมดเเล้วคะ  

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

พนักงานไม่ติดต่อเกิน 3 วันทำงาน ถือว่าขาดงาน แนะนำให้ส่งหนังสือลงทะเบียบตอบรับไปยังที่อยู่ของลูกจ้าง โดยให้ระบุข้อความ “ให้ติดต่อกลับมายังบริษัทภายใน 3 วันทำการ หากพ้นกำหนดจะถือว่าพนักงานละทิ้งหน้าที่ ขาดงานไม่มีเหตุผล”

ทางบริษัท ทำหนังสือเลิกจ้างได้ ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ตามมาตรา 119 (5) กฎหมายคุ้มครองแรงงาน 

กรณีในลักษณะนี้มีเกิดบ่อย ๆ ในหลาย ๆ องค์กร ควรใช้หลักการแรงงานสัมพันธ์ และการสื่อสารที่ดี ชี้แจงทำความเข้าใจ

กับพนักงานบ่อย ๆ จะไป จะมาขอให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องและไม่ขัดต่อกฎหมายคุ้มครองแรงงาน จะดีที่สุด สบายใจทั้งสองฝ่ายค่ะ

Q4: พนักงานเพิ่งทำงานได้ 1 เดือนติดโควิด ลาป่วย 15 วันได้ไหม?

พนักงานเพิ่งทำงานได้ 1 เดือนและติดโควิด ลาป่วย 15 วัน และหลังจากหายป่วยได้ทำการขอลาออก  

กฏหมายแรงงานลาป่วยได้ 30 วันต่อปี แต่พนักงานทำงานแค่ 1 เดือนลาไปแล้ว 15 วัน และขอลาออกจากงาน  แบบนี้ต้องหักเงินหรือไม่คะ 

1 ปีลาป่วยได้ 30 วัน / 6 เดือนลาป่วย 15 วัน (นับแบบนี้หรือไม่คะ)​

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

กรณีพนักงานสัญญาจ้างเป็นพนักงานประจำ ใช้สิทธิลาป่วยได้ตามที่ป่วยจริง โดยบริษัทจ่ายค่าจ้างไม่เกิน 30 วันต่อปี 

การจ่ายค่าจ้าง นับตามจำนวนวันที่มาทำงานวันสุดท้ายค่ะ กรณีนี้น่าเห็นใจนายจ้าง แนะนำให้พูดคุยกับลูกจ้างกรณีที่ต้องหักเงินค่าจ้าง

A: โดย Poonnie HR

การลาป่วยเนื่องจากโควิด หรือป่วยเนื่องจากโรคอะไรก็ตามสามารถลาป่วยได้ ส่วนระยะเวลาก็ตามที่ป่วยจริง และมักจะเข้าใจว่าลาได้ไม่เกิน 30 วัน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนะครับ การลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง เพียงแต่จะได้ค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน หากลามากกว่า 30 วัน คือตั้งแต่วันที่ 31 เป็นต้นไปจะไม่ได้รับเงิน (ลาได้แต่ไม่ได้ค่าจ้าง) และการลาจะนับวันทำงานเท่านั้น โดยหลักกฎหมาย คือ “ต้องลาเฉพาะวันทำงาน” เพราะ “วันหยุดมีสิทธิหยุดอยู่แล้วไม่ต้องลา”  ไม่ใช่ว่าวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องยื่นใบลาป่วย

สรุปง่ายๆ คือ ลาป่วยไม่สามารถคิดเป็น Prorate ได้นะครับ  

ส่วนการลากิจ กฏหมายกำหนดไว้เป็นสิทธิ์ของลูกจ้างที่สามารถลาเนื่องจากกิจธุรอันจำเป็นได้ แต่กฏหมายให้อำนาจนายจ้างในการออกระเบียบการลากิจไว้ เพราะฉะนั้นฝ่ายบุคคลสามารถเฉลี่ยตามอายุงานได้ (Prorate) ถ้าระเบียบที่นายจ้างกำหนดไว้เช่นนั้น

สำหรับการลาพักร้อนใช้หลักการเช่นเดียวกับการลากิจได้ครับ

Q5: ลูกจ้างสามารถใช้วันหยุดประจำปีก่อนลาออกได้ครบตามจำนวนวันที่ตกลงกันไว้กับนายจ้างหรือไม่?

ตอนนี้กำลังจะลาออกจากบริษัทที่ทำอยู่ปัจจุบัน (แจ้งออกวันที่ 5 เมษายน ทำงานวันสุดท้ายวันที่ 4 พฤษภาคม) และในขณะนี้ มีวันหยุดประจำปีที่มีสิทธิ์สามารถใช้ได้อยู่ 11 วัน แต่เนื่องจากเดือนนี้วันหยุดเยอะ จึงไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด เลยจะแจ้งนายจ้างว่าจะขอใช้วันลาพักร้อน 6 วัน (สิทธิ์วันลาพักร้อนที่ได้หลังจากทำงานครบปี ซึ่งตอนนี้ทำงานมาครบปีกว่าๆ แล้ว) นับตั้งแต่วันที่ 4 พฤษภาคม ย้อนกลับขึ้นมา 6 วัน แปลว่าวันที่เราจะทำงานวันสุดท้ายในออฟฟิศ คือวันที่ 22 เมษายน แต่ทางนายจ้างแจ้งว่า ไม่สามารถให้หยุดครบ 6 วันได้ เลยให้ทำงานวันสุดท้ายเป็นวันที่ 26 เมษายนแทน (ให้เหตุผลว่างานมีปริมาณมาก ทำไม่ทันกำหนด)

จึงเกิดข้อสงสัยว่า หากทางนายจ้างไม่สามารถให้เราใช้สิทธ์วันหยุดครบ 6 วัน ตามที่เราควรได้แล้ว ทางนายจ้างจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยมาแทนหรือไม่ กับ 2 วันที่เราต้องมาทำงานเพิ่ม หรือทางนายจ้างมีสิทธิ์ไม่อนุญาตให้เราใช้วันหยุดครบตามจำนวนวันตามที่แจ้งไปได้คะ

A: โดย ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร

ลูกจ้างสามารถใช้สิทธิวันหยุดพักร้อนก่อนลาออกได้ค่ะ แต่แนะนำว่าต้องไม่ให้งานเสียหายเนื่องจากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวัน

หากใช้ไม่หมด ให้คุยกับนายจ้าง นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักร้อน (วันหยุดพักผ่อนประจำปี) ที่ลูกจ้างยังใช้สิทธิไม่ครบ

A: โดย Poonnie HR

เมื่อลาออกแล้ว วันพักร้อนเหลือ สามารถ ทำได้ 2 วิธีที่นิยมทำคือ

  1. ใช้วันพักร้อนที่เหลืออยู่ให้หมด
  2. รับเป็นเงินแทนวันพักร้อนที่เหลือหรือใช้ไม่หมดครับ

ข้อพึงระวังในการคิดจำนวนวันพักร้อนที่เหลือ คือ พักร้อนที่บริษัทให้คิดเป็นจำนวนวันต่อปี ดังนั้น จำนวนวันพักร้อนที่ได้ เมื่อเราลาออกจะได้ไม่ครบจำนวนปี หรืออธิบายง่ายๆ คือ Prorate วัน เช่น พักร้อน 1 ปีได้ 10 วัน (1 มกรา – 31 ธันวา)  ถ้าเราแจ้งลาออกมีผลพ้นสภาพวันที่ 1 กรกฎา เท่ากับ เราทำงาน 6 เดือน ดังนั้น วันพักร้อนที่ได้จะได้แค่ 5 วัน ไม่ใช่ 10 วันนะครับ

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง