HR Polycrisis เมื่อโลกเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต HR ควรทำอย่างไร

HIGHLIGHT

  • Polycrisis คือวิกฤตซ้อนวิกฤต ที่เหตุการณ์ความไม่สงบจากทั่วโลกสามารถส่งผลกระทบแบบทับซ้อนมาถึงองค์กรของเราได้ ยิ่งเราเข้าใจสถานการณ์มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดีขึ้นเท่านั้น
  • The Cascade Institute กล่าวว่าเมื่อวิกฤตการณ์ในระดับโลกส่งผลกับการทำงานขององค์กรทั่วไปแล้ว เราก็ต้องพยายามเข้าใจบริบททุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เราต้องรู้ว่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่น ๆ มีวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านั้นแบบไหน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของเราให้มีประสิทธิภาพที่สุด
  • Mcgregor Boyall กล่าวว่าองค์กรในปัจจุบันต้องคิดถึงเรื่อง Risk Management และ Crisis Management อยู่ตลอดเวลา เพราะรูปแบบการทำงานของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถหาพนักงานจากมุมไหนของโลกก็ได้ (Gig Workers) นั่นแปลว่าเราไม่สามารถสนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเราอีกต่อไป แต่เราต้องรู้ว่าจะวางแผนสวัสดิการและนโยบายอย่างไรให้ดึงดูดคนที่มีฝีมือจากทั่วโลกได้ด้วย
  • Polycrisis ไม่ได้หมายถึงปัญหาทั่วไป แต่เรากำลังพูดถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าและเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เป็นวิกฤติที่อยู่ในระดับมหภาค เช่นปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจถดถอย, ปัญหาเรื่องโลกร้อน, ปัญหาเรื่องสงครามที่มีผู้คนล้มตายนับไม่ถ้วน เป็นต้น

HR Polycrisis เมื่อโลกเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต HR ควรทำอย่างไร

ในโลกปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นในเรื่องธุรกิจหรือการใช้ชีวิตของมนุษย์ทั่วไป ก็ต่างต้องยอมรับว่าเราไม่สามารถดำเนินชีวิตโดยมองเพียงเรื่องของตัวเองเป็นที่ตั้ง เพราะเราจะถูกกำหนดทิศทางด้วยบริบทอื่น ๆ อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ, สภาพแวดล้อม หรือแม้แต่ทัศนคติของผู้คนตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไป

ประเด็นนี้นำไปสู่แนวคิดว่าเราจะต้องเอาตัวรอดอย่างไรหากต้องเผชิญหน้ากับองค์ประกอบทางสังคมที่หลากหลาย หรือต้องรับผิดชอบในความผิดพลาดที่เราไม่ได้เป็นผู้สร้างตั้งแต่ต้น สิ่งนี้เรียกว่าวิกฤตซ้อนวิกฤติหรือ Polycrisis จะส่งผลต่อการทำงานของเราอย่างไร HR จะช่วยได้มากน้อยแค่ไหน หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้ที่ HREX.asia

Polycrisis หรือวิกฤตซ้อนวิกฤต คืออะไร

ปัญหาของโลกในปัจจุบันก็คือความวุ่นวายเกิดขึ้นอยู่ทุกแห่ง และต่างมีผลกระทบต่อกันไม่มากก็น้อยอยู่ตลอดเวลา HR จึงต้องรู้จักปรับตัวหากไม่ต้องการให้คู่แข่งทิ้งห่าง หรือจมอยู่กับความไม่แน่นอนจนไม่สามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีประสิทธิภาพได้เลย

อย่างไรก็ตามเมื่อพูดถึงคำว่า Polycrisis เราไม่ได้หมายถึงปัญหาทั่วไป แต่เรากำลังพูดถึงปัญหาที่ใหญ่กว่าและเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน (Emergency) เป็นวิกฤติที่อยู่ในระดับมหภาค เช่น ปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ, ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจถดถอย, ปัญหาเรื่องโลกร้อน, ปัญหาเรื่องสงครามที่มีผู้คนล้มตายไม่ถ้วน ฯลฯ ปัญหาเหล่านี้คือวิกฤตการณ์ที่ทับซ้อนอยู่กับปัญหาย่อยที่ฝ่ายบุคคลต้องเจอในแต่ละวัน และจำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนหากต้องการดูแลพนักงานให้ได้อย่างดีที่สุด

The Cascade Institute กล่าวว่าเมื่อวิกฤตการณ์ในระดับโลกส่งผลกับการทำงานขององค์กรทั่วไปแล้ว วิธีการรับมือกับปัญหาก็คือการพยายามเข้าใจบริบททุกอย่างที่เกี่ยวข้องให้มากที่สุด เราต้องรู้ว่าวิกฤตการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร และผู้ที่เกี่ยวข้องในประเทศอื่นหรือในสายงานธุรกิจอื่นมีวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านั้นแบบไหน เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับองค์กรของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ในที่นี้เมื่อสถานการณ์ในระดับมหภาคเต็มไปด้วยวิกฤต องค์กรต้องคอยบริหารจัดการตัวเองให้มีความแข็งแรงที่สุดต้องหาสวัสดิการดี ๆ ให้พนักงาน ต้องวางกลยุทธ์อย่างเหมาะสมถึงขนาดที่พอมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น เราจะได้มีฐานที่แข็งแรงเพียงพอในการรับมือ

HR Polycrisis เมื่อโลกเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต HR ควรทำอย่างไร

ทำไม HR จึงควรให้ความสำคัญกับ Polycrisis หรือวิกฤตซ้อนวิกฤต

องค์กรบางแห่งอาจคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไกลตัวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรามากนัก และหากจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้น การเอาตัวเองให้อยู่ไกลเข้าไว้ก็คือวิธีการหนีปัญหาที่มีประสิทธิภาพที่สุด

แนวคิดนี้ถือเป็นเรื่องที่ผิดมหันต์ โดย Mcgregor Boyall กล่าวว่าองค์กรในปัจจุบันต้องคิดถึงเรื่อง Risk Management และ Crisis Management อยู่ตลอดเวลา เพราะรูปแบบการทำงานของโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว เช่นในอดีตเวลาเราหาบุคลากรไม่ได้ องค์กรก็จะเคร่งเครียดและพยายามลดความต้องการลงเพื่อหาคนที่พอจะทำงานได้แทน แต่ปัจจุบันเราสามารถหาพนักงานจากมุมไหนของโลกก็ได้ เพราะโลกมีการเปิดกว้างมากขึ้น และเราสามารถทำงานได้ตลอดเวลา (Gig Workers) นั่นแปลว่าเราไม่สามารถสนใจเฉพาะสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศของเราอีกต่อไป แต่เราต้องรู้ว่าจะวางแผนสวัสดิการและนโยบายอย่างไรให้ดึงดูดคนที่มีฝีมือจากทั่วโลกได้ด้วย

จากนั้นให้เราลองพิจารณาต่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากมุมต่าง ๆ ของโลกไม่ส่งผลกับองค์กรของเราจริงหรือไม่ เช่นหากเกิดภาวะโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยมีอากาศร้อนขึ้น แล้วพนักงานส่วนใหญ่ขององค์กรต้องเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ การมาทำงานท่ามกลางอากาศร้อนทุกวันก็จะส่งผลถึงความเครียดจนไม่มีอารมณ์ทำงานอย่างเต็มที่, ภาวะสงครามก็สามารถทำให้ค่าเงินเปลี่ยนแปลง เกิดอัตราเงินเฟ้อในมุมใดมุมหนึ่งของโลกจนส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ ข้าวของแพงขึ้น พนักงานก็อยากมีเงินเดือนมากขึ้นกว่าเดิม กลายเป็นความกดดันกลับมาที่ HR ซึ่งหากเราไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ เราก็อาจเสียพนักงานคนนั้นไป หรือในอีกมุมหนึ่งคือเราก็จะไม่สามารถดึงดูดคนที่มีฝีมือจากที่อื่นได้เลย

นอกจากนี้การที่เราใส่ใจเรื่อง Polycrisis จะทำให้เรารู้ว่าองค์กรมีจุดอ่อนอย่างไรบ้าง ซึ่งฝ่ายบุคคลหรือผู้บริหารสามารถนำจุดอ่อนเหล่านั้นไปเป็นแนวทางในการจัดอบรมเพื่อยกระดับองค์กรให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการใช้ภาษา การเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนความเห็นอกเห็นใจต่อคนรอบข้าง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากในโลกที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และต้องใช้การตัดสินใจที่ละเอียดอ่อนกว่าเดิม

ทำความรู้จัก Crisis Management ในวันที่โลกนี้มีแต่ความไม่แน่นอน

HR จะมีวิธีรับมือกับ Polycrisis หรือวิกฤตซ้อนวิกฤตได้อย่างไร

การรับมือกับเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในฐานะของคนทำงานแล้ว โลกในปัจจุบันไม่ได้เปิดโอกาสให้เรามองหาสิ่งที่ง่ายตลอดไป กลับกันเราต้องหาทางเอาตัวรอดอย่างดีที่สุดไม่ว่าต้องเจอกับความยากลำบากแค่ไหน ซึ่งปัญหาเรื่องวิกฤตซ้อนวิกฤตก็เป็นสิ่งที่เราต้องเค้นพลังทุกอย่างมารับมือ เพราะสิ่งที่เราเคยเชื่อมั่นมาก่อนอาจกลายเป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ก็ได้ หรือสิ่งที่เราเคยมองว่าไร้ความหมายมาก่อนก็อาจเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เราประสบความสำเร็จ

ดังนั้นความเข้าใจเรื่อง Polycrisis จึงเป็นสิ่งที่เราต้องอบรมพนักงานอีกครั้ง เพื่อดูว่าบุคลากรของเรามีความพร้อมมากหรือน้อยเพียงใด

HR สามารถรับมือกับ Polycrisis ได้ด้วยวิธีเหล่านี้

1. สำรวจว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคืออะไร (Choose what to focus first)

วิธีนี้คือการเริ่มต้นจาก What If ? Scenario เพื่อคาดการณ์ว่าหากเกิดปัญหาอย่างหนึ่งขึ้น องค์กรจะต้องเตรียมทรัพยากรเพื่อรับมืออย่างไร และเมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านั้น สิ่งที่องค์กรต้องทำเป็นอย่างแรกคืออะไร

ความเข้าใจตรงนี้จะทำให้เราวางกลยุทธ์ได้ถูกต้อง ไม่ลงทุนกับขั้นตอนที่เปล่าประโยชน์และสิ้นเปลือง ขณะเดียวกันก็จะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่ากระบวนการทำงานขององค์กรมีความเป็นสากลมากพอหรือไม่ เพราะในปัจจุบันเราไม่ได้ทำการตลาดโดยมีคู่แข่งแค่ในประเทศอีกต่อไป แต่มีคู่แข่งปะปนอยู่ทั่วโลก การที่เราไม่เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับบริษัทอื่น ๆ จะทำให้เราก้าวช้ากว่าจนปรับตัวเข้ากับวิกฤติไม่ได้อีกต่อไป

2. หาจุดอ่อนที่เคยถูกมองข้ามให้เจอ (Finding the Blind Spot)

หลังจากที่เราเห็นจุดอ่อนขององค์กรแล้ว เราต้องลองมองลึกใหม่อีกครั้งว่ายังมีจุดไหนที่เรามองข้ามไปหรือไม่ โดยไม่ได้จำกัดอยู่แค่ส่วนขององค์กรเท่านั้น แต่ควรมองจากสายตาของลูกค้าหรือพันธมิตรทางธุรกิจด้วย ปกติแล้วองค์กรจะมองข้ามในขั้นตอนเหล่านี้เพราะต้องการให้ความสนใจในภาพรวมแบบกว้าง ๆ มากกว่าจึงมองว่าเราไม่จำเป็นต้องใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยมากจนเกินไปทั้งที่ข้อแตกต่างตรงนี้จะเป็นจุดตัดสินความอยู่รอดขององค์กรได้เลย

เราต้องคิดว่ายิ่งเราเห็นจุดอ่อนขององค์กรมากเท่าไหร่ เราก็ยิ่งวางแผนกลยุทธ์ที่ละเอียดได้มากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องมองสถานการณ์โลกให้กว้างที่สุด โดยเอาองค์ประกอบขององค์กรไปเกี่ยวข้องกับเรื่องราวต่าง ๆ และคิดตามมาว่ามันอาจส่งผลกระทบต่อเราในแง่มุมไหนได้บ้าง เมื่อเรามีความเข้าใจแล้วเราจะมีความอดทนอดกลััน (Resilience) มากกว่าเดิม

HR Polycrisis เมื่อโลกเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต HR ควรทำอย่างไร

AI จะช่วยให้เรารับมือกับ Polycrisis ได้อย่างไร

IBM กล่าวว่าธุรกิจทั่วโลกในปัจจุบันราว 42% มีการนำ AI มาใช้แก้ไขปัญหามากขึ้น โดยมีการเกิดขึ้นของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง

การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์นี้เองคือถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมืออันทรงพลังในภาคธุรกิจโดยเฉพาะเรื่องของ Generative AI ที่เราเริ่มคุ้นชื่อกันอย่าง ChatGPT ซึ่งได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันและพบเห็นได้มากขึ้นทางสื่อโซเชียล นี่คือข้อพิสูจน์ว่า AI จะมีส่วนในชีวิตประจำวันของผู้คนมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเมื่อมีวิกฤติซ้อนวิกฤต การนำ AI มาใช้อย่างมีแบบแผนจึงจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม

AI สามารถช่วยเหลือองค์กรในเรื่องของการทำงานได้มากมาย เช่นการทำงาน Routine แทนบุคลากรเดิม เพื่อให้มนุษย์สามารถเอาเวลาไปคิดค้นนวัตกรรมและวิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้มากขึ้น หรือสามารถนำข้อมูลจำนวนมากมาประมวลผลเพื่อประเมินความน่าจะเป็นในอนาคตเพื่อหาทางรับมือได้อย่างมีแบบแผนมากขึ้น นอกจากนี้ AI ในปัจจุบันสามารถช่วยคัดเลือกผู้สมัครได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้การบริหารจัดการภาพรวมเป็นไปอย่างคล่องตัว ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเหมือนกับการใช้แรงงานมนุษย์ ทำให้กระบวนการทำงานในหลายภาคส่วนสามารถเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้รวดเร็วกว่าที่เคย

อนึ่งความรวดเร็วนี้เองที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการรับมือกับ Polycrisis โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับด้านกฎหมายต่าง ๆ อย่างไรก็ตามการใช้ปัญญาประดิษฐ์ไม่ใช่หนทางเดียวที่จะช่วยรับมือกับวิกฤตซ้อนวิกฤต กลับกัน AI ที่มีประสิทธิภาพต้องมาพร้อมกับการควบคุมดูแลอย่างมีหลักการของมนุษย์ เพื่อให้การตัดสินใจยังมีความเห็นอกเห็นใจและมีความครอบคลุม โดยไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องของเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว เพราะการรับมือกับปัญหาแม้จะมีข้อมูลที่เพียบพร้อมขนาดไหน แต่เราก็ต้องอาศัยบริบทอีกมากมายซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ปัญญาประดิษฐ์ยังไม่มีความรู้ลึกซึ้งเพียงพอ

การรับมือกับ Polycrisis ที่ดี จึงเกิดเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อองค์กรทำ Digital Transformation ในเชิงโครงสร้างเรียบร้อยแล้วเท่านั้น เพราะคงไม่ดีแน่หากองค์กรของเราต้องเจอวิกฤตโดยที่พนักงานไม่มีความพร้อมอะไรเลย กรณีนี้ไม่ว่าจะมีปัญญาประดิษฐ์ที่สมบูรณ์แบบแค่ไหน ก็ไม่สามารถนำมาบูรณาการให้เกิดประโยชน์สูงสุดใดได้เลย

ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน HR Consultant จะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรที่ดีจึงต้องมีที่ปรึกษาที่ดีด้วย

องค์กรที่มีความเป็นสากลคือองค์กรที่มีองค์ความรู้มากมายจนสามารถปรับตัวและมีความยืดหยุ่น (Flexible) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งการที่เราจะหาความรู้ทั้งหมดด้วยตัวเองนั้นเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ ได้การร่วมงานกับที่ปรึกษาดี ๆ จึงเป็นแนวทางที่บริษัทชั้นนำของโลกเลือกใช้ เพราะเมื่อโลกเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลง เราอาจต้องใช้แรงงานคน (Manpower) ไปกับการคิดค้นนวัตกรรมและสร้างสรรค์กลยุทธ์ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงนั้นจนไม่มีเวลามาโฟกัสเรื่องการหาความรู้อย่างลึกซึ้งได้ด้วยตัวเอง

เหตุนี้ไม่ว่าคุณจะอยู่ในองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ การมี HR Consultant ดี ๆ คือเคล็ดลับที่จะทำให้เราเอาชนะ Polycrisis ได้อย่างแท้จริง

หา HR Consultant ที่คุณต้องการได้ทาง HR Products & Services แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย

บทสรุป

Polycrisis ไม่ใช่สิ่งที่อยู่ไกลตัวเราอีกต่อไป HR ในปัจจุบันจึงต้องหมั่นศึกษาภาพรวมของสถานการณ์โลกว่าจะมีประเด็นใดบ้างที่อาจส่งผลกระทบมาถึงองค์กรฝ่ายบุคคลในปัจจุบัน

เราต้องรู้จักตั้งคำถามถึงรากฐานขององค์กรเสมอว่าเรามีความพร้อมมากพอหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นหรือไม่ เพราะเมื่อปัญหากำลังซ้อนปัญหาและวิกฤตกำลังซ้อนวิกฤต หากเรารับมือกับวิกฤตแรกไม่ได้ ก็จะเกิดปัญหาต่อเนื่องไปถึงเรื่องอื่น ๆ แบบโดมิโน่ จนอาจทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกและองค์กรไม่สามารถเอาตัวรอดในตลาดได้อย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาที่สามารถทำให้องค์กรล่มสลายได้เลย

นอกจากนี้ Polycrisis ยังสามารถก้าวไปสู่ Polyparadox ซึ่งหมายถึงความย้อนแย้งที่ทับซ้อนกันไปเรื่อย ๆ เป็น 4 มิติคือความย้อนแย้งด้านเทคโนโลยี (Paradox of Digitalisation), ปัญหาเรื่องคนหางานไม่ได้ และงานหาคนไม่ได้เช่นกัน (Paradox of Work), ความย้อนแย้งด้านความยั่งยืน (Paradox of Sustainability) และ Paradox of Global Order เช่นสงครามจากที่อื่นแต่ส่งผลกระทบมาถึงเมืองไทย เป็นต้น

ความสามารถในการปรับตัว (Adaptation) จึงเป็นหัวข้อสำคัญอีกอย่างที่เราต้องมีหากต้องการผลักดันองค์กร (Business Driver) ให้ไปสู่เป้าหมายอย่างที่ตั้งใจ

Sources

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง