องค์กรควรเตรียมรับมืออย่างไร เมื่อกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society)

HIGHLIGHT
  • องค์การสหประชาชาติ (United Nation : UN) ถือว่า Aging Society หรือ สังคมผู้สูงอายุ ถือเป็น Global Issue ประเด็นปัญหาสำคัญของโลก ณ ปัจจุบันนี้ และยุคนี้ถือเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
  • ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้ว ด้วยอัตราส่วนประชากรผู้สูงอายุ 16.06% ของประชากรทั้งประเทศ และมีแนวโน้มที่จะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Age Society) ในไม่ช้านี้
  • องค์กรควรเตรียมรับมือกับสภาวะสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ตั้งแต่การขยายอายุการทำงาน, การรับพนักงานใหม่เข้ามาทดแทนพนักงานที่ครบอายุ, ไปจนถึงเพิ่มตำแหน่งงานใหม่เพื่อรองรับและช่วยเหลือผู้สูงอายุ

องค์กรควรเตรียมรับมืออย่างไร เมื่อกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย

โลกเรากำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มากขึ้นเรื่อยๆ หลายประเทศเริ่มประสบปัญหาในการมีจำนวนประชากรเด็กและผู้สูงอายุมากกว่าวัยแรงงาน ซึ่งคนที่เกิดในยุค Baby Boomer ราวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจำนวนมหาศาลกำลังกลายเป็นประชากรสูงวัยที่เป็นชนส่วนใหญ่ของโลกในยุคปัจจุบัน ปัญหานั้นไม่ได้เกิดขึ้นที่ตัวบุคคลแต่เป็นปัญหาภาคสังคมในหลายๆ มิติที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ การแพทย์ ตลอดจนความเป็นอยู่ต่างๆ ซึ่งก็รวมถึงปัญหาด้านแรงงานด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ดีทั้งโลกก็กำลังเตรียมรับมือกับเรื่องนี้อยู่ บางประเทศก็ขยับตัวไปกันแล้วซึ่งก็รวมถึงประเทศไทยของเราด้วยที่เริ่มก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัว สำหรับการเตรียมตัวรับมือนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็ช่วยกันเต็มที่ รวมไปถึงองค์กรต่างๆ ที่เตรียมรับมือทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่จะช่วยเหลือผู้สูงอายุ รวมถึงเตรียมหากำลังพลคนรุ่นใหม่ขึ้นมาทดแทนในงานต่างๆ ด้วย

นิยาม Aging Society ที่ควรรู้

ผู้สูงอายุ (Elderly People, Old Age, Senior Citizens) 

ความหมายของผู้สูงอายุในราชอาณาจักรไทยนั้น ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 บัญญัติไว้ว่า ผู้สูงอายุ หมายถึง บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบ (60) ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและถือสัญชาติไทย ซึ่งก็เป็นหลักการที่หลายประเทศยึดถือกัน แต่ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มขยับเกณฑ์ของผู้สูงอายุขึ้นมาเป็นที่อายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนมาตรฐานกลางที่ทุกคนยึดถือร่วมกันนั้นน่าจะเป็นการนิยามขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations : UN) ที่นิยามว่า ผู้สูงอายุ (Oder Person) หมายถึงประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปนั่นเอง โดยได้มีการแบ่งระดับของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • 1.สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) : หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 (10%) ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 (7%) ของประชากรทั้งประเทศ
  • 2.สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) : สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 (20%) ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 14 (14%) ของประชากรทั้งประเทศ
  • 3.สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-age Society) : สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 (28%) ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 20 (20%) ของประชากรทั้งประเทศ

อ้างอิงข้อมูลจาก : สถานักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)

https://www.ocsc.go.th/sites/default/files/document/ocsc-2561-y60b04.pdf

สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) โลกและในเมืองไทย

หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ประเทศที่ก้าวเข้าสู่สังคมนี้เป็นชาติแรกๆ และเป็นชาติที่มีสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุมากที่สุดในโลกก็คือญี่ปุ่นนั่นเอง โดยปัจจุบันญี่ปุ่นมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่มากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-age Society) ไปแล้ว ถึงอย่างนั้นญี่ปุ่นก็มีการเตรียมตัวรับมือมาพักใหญ่แล้ว เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศแล้วก็รวมถึงเมืองไทยด้วยที่เริ่มหันมาใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะหากพูดถึงประเทศในแถบอาเซียนแล้วตอนนี้ก็มีไทยและสิงคโปร์ที่กำลังเผชิญปัญหานี้ก่อนใครเพื่อน

อันที่จริง ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 แล้ว ซึ่งนั่นถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เมืองไทยมีประชากรเด็กน้อยกว่าประชากรผู้สูงอายุอีกด้วย สำหรับข้อมูลในปีล่าสุดจากสถิติผู้สูงอายุในเมืองไทยปี พ.ศ.2561 พบว่า ปัจจุบันเรามีประชากรทั้งหมด 66,413,979 คน เป็นผู้สูงอายุ 10,666,803 คน นับเป็นร้อยละ 16.06 (16.06%) ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเมืองไทยมีแนวโน้มกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Age Society) ในไม่ช้านี้เช่นกัน

หมายเหตุ : ข้อมูลจากสถิติการจดทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561

อ้างอิงข้อมูลจาก : ข้อมูลสถิติจำนวนผู้สูงอายุประเทศไทย ปี 2561 ด้วยระบบ POWER BI จัดทำโดย กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) (Department of Older Persons) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (Ministry of Social Development and Human Security) http://www.dop.go.th/th/know/1/153

จากข้อมูล World Population Ageing 2017 : Highlights ที่จัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า ปี ค.ศ.2017 มีประชากรโลกที่อายุ 60 ปีขึ้นไปอยู่ถึง 962 ล้านคน เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่า จากปี ค.ศ.1980 ที่มีอยู่ 382 ล้านคน และคาดการณ์ว่าใน ปี ค.ศ.2050 ที่จะถึงนี้จะมีประชากรโลกผู้สูงอายุถึงกว่า 2.1 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ.2017 ถึงกว่า 116.2% เลยทีเดียว แล้วทางองค์การสหประชาชาติ (UN) ยังคาดการณ์อีกด้วยว่าในช่วงปี ค.ศ.2001-2100 ถือเป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก : World Population Ageing 2017 : Highlights

https://www.un.org/en/development/desa/population/publications/pdf/ageing/WPA2017_Highlights.pdf

การเตรียมรับมือสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ในเมืองไทย

สังคมผู้สูงอายุไม่ใช่เพียงแค่ประเด็นไว้ถกเถียงหรือปัญหาไว้หารือกันแล้วเท่านั้น แต่ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวถูกผลักดันขึ้นมาเป็นระดับนโยบายเพื่อสู่แนวทางการปฎิบัติจริงกันแล้ว ในส่วนขององค์การสหประชาชาติ (UN) เองก็ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจังเพราะปัจจุบัน Aging Society ถือเป็น Global Issues หลักที่ต้องช่วยกันรับมือทั้งโลก ในส่วนของเมืองไทยเองเรื่องสังคมผู้สูงอายุนี้ก็ได้รับการใส่ใจในหลายมิติเช่นกันตั้งแต่ภาครัฐไปจนถึงเอกชนที่เตรียมตัวรับมือกับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ

ในส่วนของภาครัฐเองก็เริ่มตั้งแต่ระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฎิบัติการ ตั้งแต่การตั้งกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) (Department of Older Persons) ในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) (Ministry of Social Development and Human Security) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2558 เพื่อมาคอยดูแลเรื่องสังคมผู้สูงอายุโดยเฉพาะ สำหรับด้านกฏหมายนั้นความจริงมีการประกาศใช้ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาสักพักใหญ่แล้ว เพื่อปูทางเตรียมรับมือในเรื่องนี้นั่นเอง ในพระราชบัญญัติมีใจความสำคัญมากมายหลายเรื่อง แต่ส่วนที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงาน องค์กร ตลอดจนฝ่ายบุคคลต่างๆ ก็เห็นจะเป็น มาตรา 11 (3) ที่ว่าด้วยการประกอบอาชีพหรือฝึกอาชีพที่เหมาะสมให้ผู้สูงอายุนั่นเอง โดย พรบ.นี้ออกมาเพื่อช่วยเหลือและรองรับสังคมผู้สูงอายุของไทยที่จำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ให้ทันท่วงที

สูงวัยไทยยิ้มได้

 ตัวอย่างองค์กรต่างๆ ในเมืองไทยที่ให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุเรื่องการงานและอาชีพ 

  • ข้าราชการไทย : ข่าวที่กำลังคึกโครมในตอนนี้ก็คือเรื่องแนวทางการขยายอายุราชการออกไปโดทยที่อายุเกษียณราชการนั้นจะปรับเปลี่ยนจาก 60 ปี เป็น 63 ปี ซึ่งจะเป็นการค่อยๆ ศึกษาและดำเนินการไปพร้อมกัน โดยตามแผนการกำหนดเป้าหมายให้ข้าราชการ พนักงาน รัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ เกษียณอายุราชการที่ 63 ปี ในปี พ.ศ.2567 ที่จะถึงนี้ (แหล่งข้อมูลอ้างอิง : http://bit.ly/2XalTlR)
  • มูลนิธิพัฒนางานผู้สูงอายุ (Foundation For Older Persons’ Development) : มูลนิธินี้จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากหลายองค์กร ตั้งแต่ องค์กรนานาชาติอย่าง สหภาพยุโรป (European Union : EU), HelpAge International, ร่วมกับองค์กรท้องถิ่นอย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), และบริษัทเอกชน มูลนิธิ พรูเด็นเชียล (Prudence Foundation) เป็นต้น ร่วมกันให้ความรู้และช่วยเหลือผู้สูงอายุหลายรูปแบบ โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญคือการส่งเสริมความมั่นคงทางรายได้ ตลอดจนโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ เป็นต้น เข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://fopdev.or.th
  • IKEA : บริษัทเอกชนที่โดดเด่นในเรื่องนี้อย่างมากก็คือ IKEA ประเทศไทย ยักษ์ใหญ่จากสวีเดนนั่นเอง ซึ่ง IKEA มีนโยบายสากลทั่วโลกในการรับผู้สูงอายุเข้าทำงานพาร์ทไทม์ด้วยความยินดี โดยในการประกาศหางาน IKEA จะระบุชัดเจนว่า “ไม่จำกัดอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์การทำงาน” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่ไม่มีโอกาสหางานตามบริษัทปกติสามารถหางานทำตรงนี้ได้ โดยในปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมาทาง IKEA เปิดรับสมัครงานพาร์ทไทม์กว่า 250 ตำแหน่ง และมีผู้สูงอายุให้ความสนใจเป็นจำนวนมากทีเดียว (แหล่งข่าวอ้างอิง : http://bit.ly/2Kf4sua และ http://bit.ly/2Zn91WO) หลังจากที่ IKEA บางใหญ่ เคยสร้างกระแสเชิงบวกกับเรื่องพนักงานสูงอายุมาแล้ว (แหล่งข่าวอ้างอิง : https://www.dailynews.co.th/regional/636757) และการที่ผู้สูงอายุได้ทำงานที่นี่ก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี รวมถึงมีภาพลักษณ์ที่ดีในสังคมอีกด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ikea.co.th
  • McDonald’s : เช่นเดียวกันกับนโยบายทั่วโลกที่ทาง McDonald’s ในประเทศไทยก็เปิดรับสมัครพนักงานผู้สูงอายุเข้าร่วมทำงานในร้านเพื่อช่วยเหลือปัญหาแรงงานที่ขาด และปัญหาจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน (แหล่งข่าวอ้างอิง : https://www.brandbuffet.in.th/2019/05/mcdonalds-hire-older-employees/) สนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.mcdonalds.co.th
  • TESCO LOTUS : อีกหนึ่งบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจังก็คือ TESCO LOTUS ที่ออกโครงการ “60 ยังแจ๋ว” พร้อม Hashtag #อาวุโสโลตัส เปิดรับพนักงานผู้สูงอายุเข้าทำงานในโลตัสทั่วประเทศ (แหล่งข่าวอ้างอิง : http://bit.ly/2RaVf73) พร้อมสวัสดิการณ์ดูแลผู้สูงอายุที่ดีทีเดียว สนใจเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.tescolotus.com

อย่างไรก็ตามยังมีความร่วมมือในการช่วยเหลือผู้สูงอายุในเรื่องการทำงานอีกมากมาย ซึ่งปัจจุบันถือเป็นภาระกิจใหญ่อย่างหนึ่งของโลกที่จะต้องช่วยกันรับมือสังคมผู้สูงวัยที่กำลังขยายตัวเพิ่มมากขึ้นทุกที

ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรควรเตรียมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุอย่างไร

องค์กรหรือฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ต่างก็เตรียมรับมือในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ทั้งในส่วนการจัดการบุคลากรภายในองค์กรเอง การสรรหาบุคลากรใหม่เพื่อเข้ามาทดแทนพนักงานสูงอายุที่ครบอายุการทำงาน ตลอดจนการเพิ่มตำแหน่งงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานผู้สูงอายุด้วยเช่นกัน

การบริหารจัดการบุคลากรผู้สูงอายุในองค์กร

+ ขยายอายุการทำงาน / ทำสัญญาจ้างพิเศษ : ปัจจุบันผู้สูงอายุต่างก็มีศักยภาพเพิ่มขึ้นจากเมื่อก่อนมาก และยังคงมีความสามารถในการทำงานอยู่เช่นกัน หลายองค์กรรับมือปัญหานี้ภายในองค์กรของตนด้วยการขยายอายุการทำงานออกไป เพื่อให้ผู้สูงอายุที่ครบกำหนดอายุงานยังสามารถทำงานต่อได้ หรือบางองค์กรอาจจัดการเป็นรายบุคคลไปด้วยการทำสัญญาจ้างพิเศษเพื่อจัดจ้างพนักงานสูงอายุที่องค์กรอยากให้ร่วมงานกันต่อ

+ พัฒนาทักษะเพิ่มเติม : องค์กรที่มีนโยบายอยากช่วยเหลือแรงงานผู้สูงอายุอาจช่วยเหลือด้วยการพัฒนาทักษะเพิ่มเติมที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งสามารถทำให้ผู้สูงอายุมีความสามารถหลากหลายด้าน ช่วยเหลืองานบริษัทได้มากขึ้น หรือฝึกทักษะใหม่ที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ เพื่อให้ทำงานอีกส่วนขององค์กรที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับแรงงานสูงอายุ

+ เพิ่มตำแหน่งงานใหม่ : องค์กรหลายองค์กรต่างรองรับแรงงานผู้สูงอายุด้วยการเตรียมขยายงานใหม่เพื่อรองรับพนักงานสูงอายุที่ช่วยเหลือองค์กรมาโดยตลอด การเพิ่มตำแหน่งงานใหม่นี้อาจเพิ่มให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ ในกรณีนี้อาจเป็นการเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับแรงงานเดิมในองค์กร ไม่ใช่การสรรหาพนักงานใหม่เพื่อที่จะเข้ามารับผิดชอบ หากพนักงานสูงอายุไม่ต้องการทำงานในตำแหน่งใหม่ต่อก็อาจยุบตำแหน่งไปตามสถานะพนักงานที่หมดไป

การสรรหาบุคลากรใหม่มาทดแทน

+ สรรหาบุคลากรใหม่ : องค์กรต้องวางแผนการจัดการการบริหารทรัพยากรบุคคลให้ครบกระบวนการ ซึ่งเมื่อใกล้ถึงกำหนดวาระที่พนักงานสูงอายุจะครบอายุการทำงานก็ให้เตรียมสรรหาบุคลากรใหม่ขึ้นมาเพื่อทำงานดังกล่าวนั้น โดยต้องดูความเหมาะสมของตำแหน่งงานกับคุณสมบัติที่จะสรรหาให้ดี

+ ดูเรื่องอัตราจ้างและสวัสดิการให้พร้อม : ในการสรรหาพนักงานใหม่สิ่งสำคัญที่อาจต้องใส่ใจเป็นพิเศษก็คือเรื่องอัตราจ้างและสวัสดิการซึ่งมีผลต่องบประมาณองค์กร บางครั้งอาจต้องเพิ่มอัตราจ้างตามคุณสมบัติและศักยภาพของพนักงานใหม่ที่รับ หรือบางครั้งอาจต้องจัดสรรสวัสดิการเพิ่มเติม ทั้งนี้ควรวางแผนในระยะยาวอีกด้วย

การเพิ่มตำแหน่งงานเพื่อช่วยเหลือแรงงานผู้สูงอายุ

+ เพิ่มตำแหน่งงานใหม่ : ในกรณีนี้คือการเพิ่มตำแหน่งงานใหม่เพื่อสรรหาและจัดจ้างผู้สูงอายุที่สนใจจะร่วมงานกับองค์กร โดยองค์กรต้องควรใส่ใจในการสร้างลักษณะงาน (Job Description) ตลอดจนกำหนดคุณสมบัติ (Qualification) ไปจนถึงขอบข่ายการทำงาน (Scope of work) ใหม่ให้เหมาะสมกับอายุของผู้สูงอายุด้วย

+ ดูเรื่องอัตราจ้างและสวัสดิการให้พร้อม : ในการสรรหาพนักงานใหม่ในตำแหน่งใหม่เพิ่มเติมที่จะตั้งขึ้นมานั้นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษก็คือเรื่องอัตราจ้างและสวัสดิการเพราะเกี่ยวเนื่องกับงบประมาณขององค์กรด้วย ในส่วนของแรงงานผู้สูงอายุสวัสดิการเรื่องการรักษาพยาบาลตลอดจนประกันต่างๆ อาจต้องให้ความสำคัญและใส่ใจในรายละเอียดมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นสิ่งจำเป็นมากที่สุดสำหรับวัยนี้

+ สร้างความภูมิใจการทำงาน : การช่วยเหลือรับพนักงานผู้สูงอายุไม่ใช่สักเพียงแต่จะรับมาเท่านั้น แต่สิ่งที่องค์กรควรทำคือการสร้างคุณค่าตลอดจนความภูมิใจในการทำงาน ให้คุณค่ากับพนักงาน เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าถูกใช้แรงงานในราคาที่ถูก หรือเอามาทดแทนแรงงานที่ไม่มีคนต้องการทำ กรณีนี้อาจดูตัวอย่างความสำเร็จของ IKEA เป็นตัวอย่างก็ได้ ซึ่งคนทั้งองค์กรเข้าใจและร่วมมือกันสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเรื่องนี้ ไม่ใช่เฉพาะแค่ฝ่ายบุคคลเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

+ เชื่อมความสัมพันธ์ต่างวัย : แน่นอนว่าในทุกองค์กรย่อมมีคนหลากหลายวัย และการรับพนักงานผู้สูงอายุเข้ามาย่อมมีความห่างระหว่างวัย (Gap) ด้วยเช่นกัน องค์กรโดยเฉพาะฝ่ายบุคคลควรให้ความสนใจในการเชื่อมความสัมพันธ์ต่างวัยด้วย อาจเป็นการจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม การจัดกิจกรรมกลุ่ม หรือการสร้างความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อให้พนักงานต่างวัยได้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข เข้าใจซึ่งกันและกัน และสามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้

บทสรุป

หนึ่งในประโยคอมตะของโลกที่หลายคนมักหยิบยกมาพูดถึงในเรื่องนี้ก็คือคำพูดของ Jackie Joyner-Kersee นักกรีฑา (ทั้งประเภทลู่และลาน) เจ้าของเหรียญโอลิมปิกที่โด่งดัง ซึ่งนักกีฬาหญิงคนนี้ได้พูดไว้ว่า

“Age is no barrier. It’s limitation you put on your mind.”

อายุไม่ใช่อุปสรรค แต่อุปสรรคเกิดจากการที่คุณสร้างขีดจำกัดให้ตัวคุณเองในใจ

— Jackie Joyner-Kersee

ดังนั้นอายุก็ไม่ใช่อุปสรรคของการทำงานหรือการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่สำคัญผู้สูงอายุก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนรวมถึงเป็นประชากรโลกเช่นกัน และสมควรที่ทั้งองค์กรในระดับโลกตั้งแต่ภาครัฐยันเอกชนจะหันมาใส่ใจดูแลบุคลากรผู้สูงอายุนี้อย่างร่วมมือร่วมใจไม่ว่าจะด้านในก็ตาม ในส่วนของเรื่องการทำงานนั้น มนุษย์ในยุคปัจจุบันต่างมีศักยภาพเกินอายุตัวเองขึ้นมาก จากวิทยาการที่พัฒนาก้าวไกล รวมถึงวิทยาการนี้แหละที่จะทำให้มนุษย์แก่ช้าลง อายุยืนขึ้น และแข็งแรงได้นานขึ้น ซึ่งนั่นก็คือการที่ทั่วโลกต้องเตรียมตัววางแผนเพื่อรับมือและช่วยเหลือสังคมสูงอายุที่กำลังจะขยายตัวขึ้นด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง