STAGE (NOT AGE) : เราเติบโตขึ้นเพราะความรู้ ไม่ใช่ความแก่ และอายุเป็นเพียงตัวเลข

HIGHLIGHT

  • แต่เดิมมนุษย์มักใช้ชีวิตตามวัฏจักรที่คุ้นเคย คือเข้าเรียน, ทำงาน, แต่งงาน, มีลูก และตายไป โดยมุ่งพัฒนาทักษะที่จำเป็นเมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้เท่านั้น แต่ในโลกธุรกิจ การรู้ทักษะแห่งอนาคตล่วงหน้าได้กลายเป็นกลไกสำคัญที่องค์กรระดับโลกนำมาใช้ เพื่อเพิ่มศักยภาพและทำให้พนักงานมีระยะเวลาใช้งานนานขึ้น
  • การรู้จักระยะของชีวิตในมุมมองทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ จะทำให้เรารู้ว่าตนมีสิ่งที่จำเป็น (Stage Needs) สำหรับช่วงต่าง ๆ มากพอหรือยัง และเปิดโอกาสให้เติมเต็มสิ่งที่ขาดได้ง่ายขึ้น ต่างจากวิถีปกติที่ทุกคนพยายามหาคำตอบด้วยตนเอง
  • การรู้จักลำดับขั้นของการทำงาน (Career Stage) ก็เช่นกัน หากเรารู้ว่าสิ่งสำคัญของการทำงานแต่ละช่วงคืออะไร เราก็สามารถวางแผนล่วงหน้า หรือแม้แต่เร่งหาความรู้เหล่านั้นเพื่อให้ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย
  • แต่การประสบความสำเร็จนั้น ยิ่งสำเร็จเร็ว ก็ยิ่งต้องศึกษาวิธีอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้มากขึ้น ต้องรู้จักเปิดใจ, รับฟังความเห็น และให้ค่ากับมุมมองของผู้ที่อาวุโสกว่าเสมอ เพราะท้ายสุดการเก่งขึ้นด้วยตัวคนเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนธุรกิจใดได้ เราจำเป็นต้องพึ่งพาเพื่อนร่วมงานไม่มากก็น้อยอยู่ดี

เราอาจเคยใช้ชีวิตอย่างสบาย ๆ ตามครรลองของมัน และเป็นฝ่ายเฝ้ารอโอกาสเสมอ แต่ปัจจุบันรูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนไปมาก เราเห็นคนอายุน้อยประสบความสำเร็จในระดับโลก และเห็นคนรุ่นเก่าที่ล้มเหลวมานับไม่ถ้วน นั่นแปลว่าแท้จริงแล้ว “อายุ” ไม่ใช่สิ่งที่ตัดสินความสำเร็จของมนุษย์เสมอไป แต่เป็น “ทักษะ” ต่างหากที่จะบอกว่าเราพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ยากเย็นขึ้นหรือไม่ 

ดังนั้นผู้คนในแวดวงธุรกิจจึงหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องระยะของชีวิต (Stage of Life) และ ลำดับขั้นของการทำงาน (Career Stage) กันมากขึ้น เพื่อหาคำตอบว่ามีวิธีใดบ้างที่จะช่วยร่นเวลาให้ทักษะบางอย่างที่เคยแปรผันตามอายุ กลายมาเป็นทักษะที่ใคร ๆ ก็ฝึกได้เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มศักยภาพให้พนักงานกลายเป็นคนที่เก่งขึ้น

วิธีนี้ทำให้เกิดมุมมองใหม่ทางวิชาการว่า Stage (Not Age) หรือ “อายุเป็นเพียงตัวเลข” คนที่เข้าใจเรื่องนี้จะเตรียมตัวได้อย่างถูกต้อง และมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ยังไม่รู้จักปรับตัว

ระยะของชีวิตมีผลกับการทำงานอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่

ระยะของชีวิต หรือ Stage of Life คืออะไร

STAGE (NOT AGE) : เราเติบโตขึ้นเพราะความรู้ ไม่ใช่ความแก่ และอายุเป็นเพียงตัวเลข

ระยะของชีวิตคือช่วงเวลาที่ทุกคนจะต้องก้าวผ่าน โดยแต่ละช่วงจะมีจุดร่วมบางอย่างเหมือนกัน เช่นพฤติกรรม, สิ่งที่สนใจ หรือทัศนคติ เป็นต้น ทั้งนี้เราสามารถแบ่งระยะของชีวิตเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่วัยเด็ก (Childhood) วัยกลางคน (Adulthood) และวัยชรา (Old Age)

อย่างไรก็ตามเหตุผลของการเปลี่ยนระยะ (Transitional) ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของอายุเท่านั้น แต่มาจากบริบทอื่น ๆ เช่นประสบการณ์ที่พบเจอ, ความรู้ที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ จึงไม่แปลกที่เราจะรู้สึกถึงการเติบโตของคนรอบตัวเมื่อพวกเขาเรียนจบ, แต่งงาน, มีลูก เพราะมันเป็นภาพสะท้อนที่เด่นชัดว่าชีวิตหลังจากนั้นจะเปลี่ยนไปจริง ๆ 

เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น เราขอยกตัวอย่างจากแนวคิดของ อีริค อีริคสัน (Erik Erikson) นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ที่แบ่งจังหวะชีวิตออกเป็น 8 ช่วง ดังนี้

1. เด็กทารก (Infancy Stage) : เด็กในวัยนี้จะถามตัวเองเสมอว่าตนสามารถไว้ใจใครได้บ้าง เป็นช่วงวางรากฐานของชีวิต กล่าวคือถ้าพบกับความเชื่อใจ ก็จะเป็นคนที่กล้าไว้ใจคนอื่นในอนาคต แต่ถ้าพบกับความไม่เชื่อใจ ก็จะพัฒนาเป็นคนที่หวาดระแวง ขี้กลัวไปแทน

2. เด็กเล็ก (Toddlerhood Stage) : นี่คือช่วงแห่งความขี้สงสัยและความมั่นใจตัวเอง หากเขาถูกผู้อื่นต่อว่าอย่างแรงเขาก็จะกลายเป็นคนไม่มั่นใจตัวเองทันที ดังนั้นจึงควรได้รับอนุญาตให้เล่นและได้ตั้งคำถามอย่างเต็มที่โดยมีคนกำกับดูแลอย่างถูกต้อง จริงใจ และให้เกียรติ

3. วัยอนุบาล (Pre School Stage) : เป็นช่วงที่มนุษย์เริ่มตั้งคำถามและอยากพิสูจน์ด้วยตัวเอง หากได้รับการส่งเสริม ทักษะที่ค้นพบก็จะติดตัวและพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ แต่หากถูกต่อต้าน เด็กก็จะเติบโตโดยไม่กล้าลองอะไรใหม่ ๆ เพราะมีความคิดว่าตนเคยล้มเหลวอยู่ในใจเสมอ

4. วัยเรียน (Early School Stage) : เป็นช่วงที่คนพยายามทำสิ่งที่แตกต่างจากคนอื่น และอยากให้คนอื่นเห็นว่าสิ่งที่ตนทำอยู่มีความหมาย หากได้รับการสนับสนุน เขาก็จะพัฒนาเป็นคนขยันหมั่นเพียร ประสบความสำเร็จง่ายขึ้น แต่หากถูกต่อต้าน ก็จะรู้สึกว่าตนเป็นคนไม่เก่ง หมดกำลังใจ และอาจกลายเป็นคนขี้เกียจ ไม่อยากเรียนรู้ไปเลยเช่นกัน

5. วัยรุ่น (Adolescence Stage) : เป็นช่วงที่คนเริ่มเข้าใจเรื่อง “บทบาททางสังคม” ว่าตนไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว แต่ยังเป็นทั้งลูก, เพื่อน, ญาติ, พลเมือง ฯลฯ ของคนอื่น ๆ วัยรุ่นมักเรียกร้องการยอมรับจากกลุ่มคนเหล่านั้น (ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งรู้จากตามทฤษฎี) หากได้รับการยินยอมให้ไปค้นหาตัวเอง ก็จะมีโอกาสเจอสิ่งที่ชอบจริง ๆ ได้สูง ช่วยให้วางแผนสำหรับอนาคตได้ง่ายขึ้น

แต่หากถูกตีกรอบจนทำอะไรไม่ได้ เขาก็จะต้องเห็นคนอื่นก้าวผ่านไปเรื่อย ๆ ซึ่งแม้จะพัฒนาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน แต่ก็มักเป็นความสำเร็จที่ยังไม่รู้ว่าความต้องการจริง ๆ ของตนเป็นอย่างไร

6. วัยเริ่มเป็นผู้ใหญ่ (Young Adulthood Stage) : เป็นวัยที่เราเริ่มเข้าใจตัวเองมากขึ้น และจะเริ่มปฏิเสธความสัมพันธ์บางอย่างที่เคยสร้างเอาไว้เพียงเพราะอยากเป็นที่ยอมรับในสังคม การมีความรักหรือความสัมพันธ์ระยะยาวคือปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่สับสน จึงต้องหัดเรียนรู้จากความผิดพลาด ไม่ให้หนีปัญหาและจมอยู่กับความทุกข์เพียงคนเดียว

7. วัยผู้ใหญ่ตอนกลาง (Middle Adulthood Stage) : เป็นวัยที่อยากถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่คนอื่น สังเกตได้ว่าคนในวัยนี้หากไม่กลายเป็นเครียดที่นึกถึงแต่ตัวเอง ก็จะเป็นคนที่ชอบทำงานเพื่อผู้อื่นไปเลย เรียกว่าลักษณะนิสัยของคนในวัยนี้คือข้อสรุปเบื้องต้นว่าตนใช้ชีวิตในช่วงที่ผ่านมาดีหรือร้ายอย่างไร

8. วัยผู้ใหญ่ตอนท้าย (Late Adulthood Stage) : เป็นวัยที่เรียกร้องหาความสมบูรณ์ และรู้สึกถึงความสิ้นหวัง เพราะเป็นช่วงท้ายก่อนเสียชีวิต มนุษย์มักใช้เวลานี้เพื่อสะท้อนถึงเรื่องราวในอดีตของตน หากคำตอบคือดี เราก็จะรู้สึกถึงความสุข แต่หากคำตอบคือไม่ดี เราก็จะรู้สึกท้อแท้ โศกเศร้า 

เราสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปประยุกต์ใช้ โดยการสังเกตว่าตนอยู่ในระยะของชีวิตแบบไหน และมีจุดใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไขเป็นพิเศษ พัฒนาการตรงนี้จะทำให้เราเติบโตขึ้น รับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อสภาวะทางจิตวิทยาที่เป็นรากฐานสำคัญในการทำงานทุกประเภท

ลำดับขั้นของการทำงาน หรือ Career Stage มีอะไรบ้าง

เช่นเดียวกับระยะของชีวิต (Stage of Life) ลำดับขั้นของการทำงานจะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่พนักงานแต่ละคนพบเจอตลอดชีวิตการทำงาน แต่ภายใต้ความแตกต่างนั้น จะมีบางส่วนที่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นความท้าทายที่ต้องเจอ, ปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ตลอดจนแนวทางพัฒนาทักษะให้เหมาะกับความต้องการในช่วงเวลานั้น ๆ 

หัวข้อนี้จะแสดงให้เห็นลำดับขั้นของการทำงานที่อ้างอิงจากอายุ พร้อมอธิบายว่าเราจะประสบความสำเร็จในแต่ละขั้นได้อย่างไร ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่ต้องการเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะหากเข้าใจว่า Stage ต่อไปจำเป็นต้องมีความพร้อมใดบ้าง ก็จะก้าวนำคนอื่นไปทันที

STAGE (NOT AGE) : เราเติบโตขึ้นเพราะความรู้ ไม่ใช่ความแก่ และอายุเป็นเพียงตัวเลข

5 ลำดับขั้นของการทำงาน (Career Stage) มีดังนี้

1. ช่วงเวลาแห่งการค้นหา (Exploration Stage) : คือช่วงแรกของการทำงานที่คนยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป้าหมายในชีวิตคืออะไร และการทำงานประจำอย่างมืออาชีพต้องอาศัยความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง การทดลองทำหลาย ๆ อย่างจะช่วยให้เราโฟกัสในสิ่งที่สนใจที่สุด และค่อย ๆ ปัดตกไอเดียที่เราไม่ได้สนใจออกไปจนประกอบร่างเป็น “เป้าหมาย” (Career Goal) ที่ทำให้เราเติบโตในโลกการทำงานได้อย่างมั่นคง

เคล็ดลับของช่วงเวลาแห่งการค้นหา คือการหาความรู้ให้มากที่สุด ทั้งด้านการฝึกงาน (Internship), ทำงานเสริม (Part-Time Job) และการเป็นอาสาสมัครตามหน่วยงานต่าง ๆ (Volunteer) จากนั้นให้เข้าคอร์สเสริมความรู้เพื่อปิดทักษะที่เรายังขาด พร้อมคิดเสมอว่าจะนำทักษะที่มีไปต่อยอดอย่างไร ผ่านช่องทาง (Connection) แบบใด

2. ช่วงเวลาแห่งการสร้างตัวตน (Establish Stage) : หลังจากที่เราได้ข้อสรุปเบื้องต้นแล้วว่าเป้าหมายที่อยากเป็นในอนาคตคืออะไร และสิ่งที่สนใจที่สุดในขณะนั้นคืออะไร ก็ได้เวลาที่เราต้องมองหา “งานประจำ” (Full Time Job) โดยมีเป้าหมายเพื่ออยู่กับองค์กรในระยะยาว  

สิ่งที่คนต้องเรียนรู้ในขั้นนี้ก็คือ “การมองทุกอย่างตามความเป็นจริง”​ หากเราสามารถยอมรับตรงนี้ได้ ไม่มองว่างานในฝันเป็นสิ่งที่สวยหรูไร้มลทิน เราก็จะรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเป็นมืออาชีพกว่าคนที่แค่สมัครงานเข้ามาแต่ไม่มีหลักการรองรับเลย

เคล็ดลับของช่วงเวลาแห่งการสร้างตัวตน คือการเรียนรู้อย่างเต็มที่ และลงมือให้มากเพื่อสร้างการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน นี่คือช่วงเวลาที่มนุษย์จะสัมผัสกับความสมหวังและผิดหวังในโลกการทำงานเป็นครั้งแรก ดังนั้นต้องรู้จักทำงานเป็นทีม, กล้าขอคำแนะนำจากคนที่มีประสบการณ์มากกว่า, ประเมินผลงานตัวเองให้มาก และควรคว้าใบรับรอง (Certificated) หรือเครื่องยืนยันบางอย่างในสายงานว่าเรามีศักยภาพโดดเด่นกว่าคนอื่นจริง ๆ

3. ช่วงเวลาแห่งความมั่นคง (Stability Stage) : เราเรียกช่วงนี้ว่าเป็นช่วงกลางของวัยทำงาน (Mid Career) พนักงานจะเห็นชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่ตนทำมากว่าสิบปีได้ประกอบร่างออกมาเป็นอย่างไร และมองเห็นอนาคตของการทำงาน (Career Path) ล่วงหน้าได้ว่าศักยภาพที่ตนมีจะต่อยอดไปสู่ความเป็นไปได้แบบใดบ้าง ความเชื่อมั่นตรงนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ จึงไม่แปลกหากบางคนจะมองว่าช่วงนี้คือ “จุดพีค” ของชีวิตการทำงาน

แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าตนสามารถรับงานที่ใหญ่ขึ้นและก้าวไปเป็นผู้นำ (Leader) ได้จริง ๆ รวมถึงต้องเป็นแบบอย่างทั้งในแง่ของวิธีการทำงาน และการจัดสมดุลชีวิต (Work Life Balance

เคล็ดลับของช่วงเวลาแห่งความมั่นคง คือการสอบถามผู้บริหารและหาคำตอบให้ชัดเจนว่าหน้าที่การงานของเราจะโตขึ้นได้อย่างไร ไม่ควรทำงานไปวัน ๆ แบบรอโอกาสที่ไม่รู้ว่าจะมาถึงเมื่อใด ที่สำคัญคือต้องกล้าเผชิญกับงานที่ท้าทายและกล้าเปลี่ยนงานหากพบว่าองค์กรไม่มีแผนอะไรให้เราอีกแล้ว แม้จะมีความผูกพันกันมากแค่ไหนก็ตาม

4. ช่วงท้ายของการทำงาน (Late Career Stage) : หลังจากที่ทำงานหนักตามลำดับขั้นมานานกว่า 20 ปี ในที่สุดก็เข้าสู่ช่วงท้ายของการทำงาน เมื่อถึงจุดนี้อาชีพการงานของเราจะมั่นคงขึ้น โอกาสในการพัฒนาไปสู่จุดที่ใหญ่กว่าจะน้อยลง และต้องใช้เวลาเพื่อส่งต่อความรู้ให้พนักงานรุ่นใหม่มากกว่า อย่างไรก็ตามมีคนมากมายที่เพิ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในช่วงนี้เช่นกัน

เคล็ดลับในช่วงท้ายของการทำงานคือการเปลี่ยนตัวเองให้มีทักษะการถ่ายทอดความรู้ และควรให้ความสำคัญกับบริบทอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำงาน เช่นงานอดิเรก, การวางแผนการเงิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการออกจากงาน (Retirement)

5. ช่วงหลังวัยทำงาน (Declining State) : นี่คือช่วงที่เราควรใช้เวลาเพื่อตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยที่ผ่านมาด้วยการอยู่กับครอบครัว, คนรัก และทำกิจกรรมที่ตนเคยพลาดขณะทำงานหนัก โดยเราสามารถหารายได้เสริมทั้งด้วยการรับงานจ้างจิปาถะ, งานที่ปรึกษา หรือแม้แต่การหางานประจำที่รับผู้อาวุโสซึ่งไม่ใช่เรื่องยากนักในสังคมปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับทักษะมากกว่าช่วงวัย

เคล็ดลับของช่วงหลังการทำงานคือการทำตัวเองให้แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงคอยพัฒนาความรู้ให้แหลมคมอยู่เสมอ เพราะคงไม่ดีแน่หากเราเป็นคนเก่งแต่เจ็บป่วยบ่อยจนทำให้งานขาดความต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังควรรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน ทั้งในระดับส่วนตัว ไปจนถึงระบบพนักงานเก่า (Alumni Section) ขององค์กร เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าดีหรือร้ายล้วนมีความหมายและคุ้มค่ากับการใช้เป็นแรงผลักดันของชีวิต

Stage (Not Age) อายุเป็นเพียงตัวเลข เมื่อการรู้จักระยะของชีวิตคือเทรนด์ใหม่ของการทำงาน

คุณซูซาน วิลเนอร์ โกลเดน (Susan Wilner Golden) นักวิจัยด้านชีวิตอันยืนยาว (Longetivity Researcher) จาก Stanford University กล่าวว่าสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติ, องค์ความรู้ รวมถึงวิสัยทัศน์ของคนกลุ่มนี้เกิดขึ้นเร็วมาก สังคมจึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ 

โกลเดนมองว่าผู้สูงอายุนั้น (ในที่นี้คือคนอายุหลัง 60 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นวัยเกษียณ) ถูกมองด้วยสายตาที่ผิดพลาดมาเสมอ เธอย้ำกับทุกคนว่า “ห้ามคิดว่าเราเป็นเหมือนคนแก่ในอดีตเด็ดขาด” เพราะนวัตกรรมทางการแพทย์ได้ฟื้นฟูขึ้นมาก สมมติเราอยู่ได้นานถึงร้อยปี

สิ่งที่เราต้องคิดตามมาก็คือเราจะหาเงินมาดูแลตัวเองได้อย่างไรหากมาตรฐานเดิมคือการหยุดทำงานตอนอายุ 60 ดังนั้นเราควรกลับมาคิดทบทวนใหม่ว่าแท้จริงช่วงวัยดังกล่าวเหมาะกับการเลิกทำงานจริงหรือไม่ หรือมีปัจจัยอื่นที่ควรนำมาพิจารณาควบคู่ไปด้วย

เหตุผลที่คนมักมองว่าวัยหลัง 60 เป็นช่วงท้ายของชีวิตเป็นเพราะค่าเฉลี่ยการเสียชีวิตในอดีตอยู่ที่ราว 80 ปี การหยุดทำงานจึงเป็นเหมือนการให้รางวัลและปลดปลงหัวใจ แต่แท้จริงมันทำให้ชีวิตต้องสูญเสียโอกาสที่ดีอีกมาก โกลเดนอธิบายให้เห็นภาพว่าคนอายุ 50 กับคนอายุ 75 ที่มีความต่างถึง 25 ปีอาจอยู่ในระยะของชีวิตเดียวกัน สนใจในเรื่องเดียวกัน ต้องการวิธีดูแลแบบเดียวกัน เราจึงเป็นได้ทั้งคนอายุน้อยที่หมดไฟ และเป็นคนอายุมากที่ไฟแรง

ดังนั้นสิ่งสำคัญคือการหาคำตอบว่าแท้จริงเราอยู่ในระยะของชีวิตแบบไหน หรืออยู่ในลำดับขั้นของการทำงานแบบใดโดยไม่ต้องสนใจเรื่องอายุ เพราะหากเราจำกัดตัวเองด้วยความอาวุโสไปแล้ว จิตใต้สำนึกจะสั่งการทันทีว่า “เราแก่ เราหมดไฟ เราทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้”

แต่จริง ๆ เราควรเปรียบชีวิตเป็นสิ่งที่ฟื้นฟูและพัฒนาได้เสมอ (Renaissance period) แน่นอนว่าการเข้าใจเรื่องระยะต่าง ๆ ในชีวิตจะทำให้เราเตรียมตัวได้ดีขึ้น แต่หากมันทำให้เราว้าวุ่นใจ สิ่งที่เธอแนะนำคือการเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมเรียนรู้ตลอดเวลา (Continuous Learner) วิธีนี้จะทำให้เราทันสมัยและรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ดี 

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: บริษัทลืมเกษียณพนักงาน และพนักงานยังคงมาทำงานได้ สามารถดำเนินการจ้างหลังจากนี้อย่างไรได้บ้าง

ปัจจุบันมีพนักงานอายุ 65 ปีที่ทำงานอยู่ เพราะบริษัทลืมให้เกษียนตอนอายุ 60 ปี ทุกวันนี้ยังทำหน้าที่ได้ดี ดังนั้นบริษัทสามารถดำเนินการจ้างงานต่อไปได้อย่างไรบ้าง ?

A: สิ่งที่บริษัทสามารถทำได้มี 2 แนวทางให้ปฏิบัติครับ

– แนวทางแรก คือบริษัททำการเลิกจ้าง เนื่องจากเกษียณอายุและจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามอายุงาน และทำการว่าจ้างกันใหม่ในรูปแบบที่ปรึกษา โดยอาจจะระบุการจ้างเป็นรูปแบบปีต่อปี
– แนวทางที่ 2 คือทำการจ้างต่อไปตามเดิม จนถึงวันที่นายจ้างเห็นว่าลูกจ้างไม่อาจจะทำงานต่อไปได้ หากเลือกวิธีการนี้ นายจ้างก็จะต้องจ่ายค่าจ้างโดยคำนวณอายุงานตั้งแต่วันที่เริ่มต้นทำงานจนถึงวันที่เลิกจ้าง

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Stage (Not Age) ทำงานอย่างไร ? หลักการง่าย ๆ คือการรู้จักเริ่มต้นใหม่ (Restart) เธอมองว่าแนวคิดเดิมที่มองว่ามนุษย์จะเข้าสู่ช่วงท้าย (Retirement Stage) ตอนอายุ 60 เป็นเรื่องล้าสมัย

เพราะหากคนสามารถอายุยืนได้ถึงร้อยปี ทำไมเราจึงต้องให้เวลากับช่วงนี้ถึง 40 ปีซึ่งมากกว่ากระบวนการเรียนรู้ในช่วงต้นชีวิตด้วยซ้ำ เราจึงควรบริหารจัดการชีวิตกันใหม่ (Reinvent Period) เพื่อกลับไปใช้ประโยชน์จากระยะของชีวิตแต่ละช่วงกันอีกครั้ง จนกล่าวได้ว่าประโยค “อายุเป็นเพียงตัวเลข” มีความหมายชัดเจนขึ้นมากในปัจจุบัน

เธอทิ้งท้ายว่าเมื่อเรามองข้ามเรื่องอายุ และให้ความสำคัญกับระยะของชีวิตแทน เราจะกล้าเปลี่ยนมุมมอง (Mindset) มากขึ้น ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถเกิดในช่วงใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มตอนแก่เท่านั้น

ผู้นำอายุน้อยจะบริหารจัดการลูกทีมที่อาวุโสกว่าได้อย่างไร

STAGE (NOT AGE) : เราเติบโตขึ้นเพราะความรู้ ไม่ใช่ความแก่ และอายุเป็นเพียงตัวเลข

ในเชิงทฤษฏีนั้นองค์กรสามารถแต่งตั้งคนอายุเท่าใดมาเป็นผู้นำก็ได้ตราบใดที่เห็นว่ามีความสามารถมากพอ ขณะเดียวกันก็สามารถจ้างพนักงานได้ตามใจแม้จะมีอายุมากกว่าผู้นำหลายปีก็ตาม

แต่ถ้ามองในเชิงปฏิบัติแล้ว จะเห็นว่าการควบคุมคนที่อาวุโสกว่าได้กลายเป็นปัญหาหลัก (Pain Point) ของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ เพราะมักถูกนำเรื่องประสบการณ์มาอ้างอิง หรือเกิดความไม่พอใจที่เห็นคนอายุน้อยประสบความสำเร็จมากกว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศแง่ลบภายในองค์กร ส่งผลให้การทำงานไม่คล่องตัวอย่างที่ควรจะเป็น

คุณริเทช อการ์วาล (Ritesh Agarwal) ผู้บริหารโรงแรมเครือ OYO ซึ่งประสบความสำเร็จระดับโลกตั้งแต่อายุยังน้อยกล่าวว่าสิ่งที่คนรุ่นเก่ากังวลที่สุดก็คือการรู้สึกว่าตนหมดคุณค่า ไม่เป็นที่ต้องการขององค์กร ซึ่งภาพนี้จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้นเวลาที่เห็นคนรุ่นใหม่ข้ามหน้าข้ามตา

ดังนั้นเราต้องทำทุกวิถีทางให้พวกเขารู้สึกมีความหมาย หากทำได้ คนรุ่นเก่าก็จะพร้อมก้าวเดินไปกับเรา เขาย้ำเสมอว่าพนักงานทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด เล็กหรือใหญ่ ก็ล้วนต้องการความเคารพจากเพื่อนร่วมงาน และพวกเขาก็สมควรจะได้รับสิ่งเหล่านั้นด้วย 

หากผู้นำที่อายุน้อยรู้สึกว่าตนไม่ได้รับการเคารพมากเท่าที่ควร ก็ต้องเตรียมพร้อมกับการทำงานให้หนักขึ้น อย่าคิดว่าการใช้ชีวิตแบบเดิมจะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง ผู้นำต้องแสดงให้คนรุ่นเก่าเห็นว่าความคิดของคนรุ่นใหม่สามารถใช้งานได้จริง เพราะสำหรับบางคน ความคิดเห็นที่ยังไม่ถูกพิสูจน์ว่ามีประสิทธิภาพจะถือเป็นเพียงเรื่องไร้สาระเท่านั้น

เหตุนี้คุณริเทชจึงมักใช้เวลาในวันอาทิตย์ซึ่งเป็นวันหยุดเพื่อเตรียมข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการประชุมใหญ่ทุกวันจันทร์ อย่างน้อยก็เพื่อให้ตนสื่อสารได้ครอบคลุม มีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นได้ดีกว่าการเข้าประชุมตามหน้าที่โดยไม่มีความพร้อมอะไรเลย

ทักษะสำคัญอีกอย่างที่ผู้นำต้องมีก็คือทักษะการฟัง (Listening Skills) ห้ามคิดว่าตนเหนือกว่าใครเพียงเพราะประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อย แต่ต้องคิดว่ามีเรื่องราวในโลกธุรกิจอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ดังนั้นประสบการณ์ของพนักงานรุ่นเก่าจึงเป็นข้อมูลอันล้ำค่าที่ต้องให้ความสำคัญ  เป็นสมบัติขององค์กรที่นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้เสมอ

การเป็นผู้ฟังที่ดีจะทำให้ผู้พูดรู้สึกมีความหมายและมองข้ามความแตกต่างของอายุ เป็นเหมือนตัวกลางที่ทำให้เห็นว่าคนต่างไวสามารถร่วมงานกันได้จริง

บทสรุป

Stage (Not Age) เป็นคำใหม่ที่ทำให้เรากลับมาตั้งคำถามว่าแท้จริงสิ่งที่ทุกองค์กรค้นหาคือความอาวุโส หรือทักษะที่แต่เดิมเชื่อว่าจะพัฒนาไปตามช่วงวัยกันแน่ ? เพราะหากเราสนใจทักษะเป็นหลัก  พนักงานที่มีความพร้อมก็สามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องสนเรื่องอายุเลยด้วยซ้ำ

ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเราสามารถยกระดับคนในทีมให้มีทักษะแบบเดียวกับคนที่อยู่ในลำดับขั้นของการทำงาน (Career Stage) ที่สูงกว่า เพราะนอกจากจะได้พนักงานที่เก่งแล้ว ยังได้พนักงานที่มีอายุการใช้งานนานขึ้นอีกด้วย 

นี่คืออีกหนึ่งข้อพิสูจน์ที่บอกว่าโลกการทำงานเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความเชื่อบางอย่างที่เราเคยรู้ อาจกลายเป็นสิ่งที่ควรแก้ไข และการปรับตัวให้ทัน (Transformation) ทั้งด้านทัศนคติและวิสัยทัศน์องค์กรก็กลายเป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ หากไม่อยากถูกทิ้งไว้ข้างหลังและพ่ายแพ้ในการทำธุรกิจ 

ผู้เขียน

Pumi Boonyatud

Pumi Boonyatud

a professional daydreamer. pro-wrestling god.

บทความที่เกี่ยวข้อง