ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา Busuu by EdusoftX พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

HIGHLIGHT

  • ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลชนิดที่ว่า มีโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถแปลภาษาต่าง ๆ ได้รวดเร็ว แต่ทัศนะของคุณ บรรณวุฒิ พันธุเวช CEO จาก EdusoftX และ IT Edusoft ผู้ให้บริการ Busuu Thailand แพลตฟอร์มการเรียนการสอนภาษาแบบ Hybrid Learning เชื่อว่า การเรียนภาษายังเป็นสิ่งจำเป็น
  • เพราะถึงแม้ AI ปัญญาประดิษฐ์นั้นเป็นตัวช่วยให้ผู้คนสามารถสื่อสารกันได้คล่อง แต่ในการทำงานจริงและการใช้ชีวิตจริง ยังต้องพึ่งพาคนในการขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องจักรไม่สามารถทำได้
  • บรรณวุฒิ เชื่อว่าการเรียนภาษาสามารถยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะการรู้ภาษาที่ 3 และ 4 ด้วย
  • EdusoftX คือแพลตฟอร์มการเรียนภาษาแบบ Hybrid ที่จะช่วยเสริมทักษะของคนวัยทำงาน  ในแพลตฟอร์มไม่เพียงมีภาษาให้เลือกเรียน 14 ภาษา แต่ยังมีครูผู้สอนที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดี ช่วยให้แน่ใจว่าจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  • ทั้งนี้ HR สามารถใช้ EdusoftX เป็นเครื่องมือเพื่อช่วยให้พนักงานในองค์กรเสริมทักษะด้านภาษาได้

EdusoftX ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกลมีโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถแปลภาษาต่าง ๆ ให้เป็นภาษาไทยได้ในเวลาอันรวดเร็ว หลายคนจึงเกิดคำถามว่า แล้วอย่างนี้เรายังจำเป็นต้องเรียนภาษาอยู่หรือไม่ ?

แต่สำหรับคุณ บรรณวุฒิ พันธุเวช CEO จาก EdusoftX และ IT Edusoft ผู้นำทางด้านนวัตกรรมทางการศึกษา EdTech หรือ EDUCATION TECHNOLOGY และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT SOLUTION) ผู้ให้บริการ Busuu Thailand แพลตฟอร์มการเรียนการสอนภาษาแบบ Hybrid Learning ยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า การเรียนภาษายังจำเป็นแน่นอน เพราะแพลตฟอร์มของเขาก็สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนในวัยทำงาน พนักงานที่ต้องการ Upskill-Reskill ตัวเองให้ก้าวทันโลก

เพราะเหตุใดเขาถึงคิดเช่นนั้น และแพลตฟอร์มของ EdusoftX ตอบโจทย์ชีวิตและการทำงานของคนวัยทำงานแล้วอย่างไร ติดตามได้ในบทสัมภาษณ์นี้

อะไรคือจุดเริ่มต้นให้คุณสนใจเรื่องการเรียนภาษา และการพัฒนาคน

บรรณวุฒิ: ผมสนใจเรื่องภาษาเพราะการปลูกฝังจากครอบครัวครับ เมื่อ 20-30 ปีก่อน น้อยครอบครัวที่จะพูดภาษาอังกฤษกับลูก คุณพ่อคุณแม่พูดของผมเองก็พูดภาษาอังกฤษด้วยไม่ได้คล่องแคล่วมากนัก แต่ก็พยายามปลูกฝังแนวคิดและพยายามผลักดันให้ผมเรียนภาษามาโดยตลอด พยายามปูพื้นให้แน่นที่สุด เลยคิดว่าครอบครัวนี่แหละคือจุดเริ่มต้นให้ผมได้เปิดประตูสู่โลกกว้างครับ 

ส่วนการพัฒนาคน จุดเริ่มต้นก็มาจากคุณพ่อเช่นกันครับ (รองศาสตราจารย์ ดร.ช่วงโชติ พันธุเวช) ท่านเป็นอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แต่สมัยเด็ก ๆ คุณพ่อเป็นลูกชาวนา อาศัยอยู่ในบ้านหลังคาสังกะสี แต่การเติบโตของคุณพ่อทำให้รู้สึกว่า ถ้าคนเรามีการศึกษาดี จะสามารถพัฒนาจากจุด A ไปจุด Z ได้เลย

EdusoftX ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

อะไรคือปัจจัยที่ทำให้รู้สึกว่าการศึกษานั้นสำคัญ และสามารถยกระดับชีวิตผู้คนได้

บรรณวุฒิ: ในภาพรวม ผมว่าการศึกษาเป็นพื้นฐานในการต่อยอดความรู้ โดยเฉพาะเรื่องภาษา การรู้ภาษาช่วยให้เราสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ทำให้เข้าถึงข้อมูลที่เป็น Hard Skills ได้ เช่น ชุดข้อมูลในการทำงาน และการศึกษา เป็นต้น

สำหรับใครที่เรียนจบด้านมนุษย์ศาสตร์หรือด้านใดก็ตาม แต่อยากทำงานด้านการตลาด หากมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี เขาคนนั้นก็จะสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับการตลาดเพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมได้ง่ายขึ้น 

เราต้องยอมรับว่าปัจจุบัน ไม่ใช่ทุกคนที่เรียนจบแล้วจะประสบความสำเร็จในสายที่เรียนมา คนที่ผันตัวไปทำงานด้านอื่นแล้วไปได้ไกลกว่าก็มีเยอะมาก อย่างไรก็ตามการมี Analytical Skill หรือทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ที่ดี รวมถึงทักษะภาษาที่ดี จะช่วยต่อยอดองค์ความรู้และเข้าถึงข้อมูลเพิ่มเติมได้เพิ่มมากขึ้นได้

ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีคนอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มแรกไม่ได้ภาษา ถ้าเจอข่าวหรือชุดข้อมูลบางอย่าง อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำงาน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน คนกลุ่มนี้จะไม่สามารถคัดกรองข่าวปลอมขั้นพื้นฐานได้ แต่กลุ่มที่เข้าถึงภาษาซึ่งไม่เพียงแค่ภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาที่ 2 3 หรือ 4 จะสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมและคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองได้ 

นี่ยังไม่รวมถึงการ Upskill และ Reskill เครื่องมือเหล่านี้สำคัญมาก โลกยุคปัจจุบันมีเครื่องมือเยอะมาก การใช้โปรแกรม AI ก็ต้องอ่านเมนูภาษาอังกฤษออก มันคือพื้นฐานของทุกอย่าง

ที่ผ่านมา ภาษาช่วยยกระดับชีวิตของคุณอย่างไรบ้าง

บรรณวุฒิ: ขอยกตัวอย่างประสบการณ์การทำงานครับ ผมไม่เคยทำงานที่อื่นมาก่อน ผมเริ่มต้นบริษัทของตัวเองเลย ความยากก็คือผมต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตนเอง

ปกติแล้วคนทำบริษัทสตาร์ทอัพมักมีอายุประมาณ 30 ปี เคยทำงานกับองค์กรต่าง ๆ มาก่อนสัก 8 ปี ถึงมีองค์ความรู้ แต่ผมเริ่มทำงานที่นี่ตอนอายุ 22 ปีเลย แม้จะเรียนด้านการตลาดมา แต่ก็ต้องเรียนเรื่องการเงินหรือเรื่อง HR เพิ่มเติม 

ล่าสุดได้ทำงานด้านสถาปัตย์ ทำเรื่องรับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่เพื่อการขยายธุรกิจด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งแหล่งข้อมูลที่สามารถเข้าถึงได้ก็เป็นภาษาอังกฤษเสียส่วนใหญ่ 

หรือศาสตร์ด้าน HR ถ้าค้นข้อมูลด้านการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ เช่น เรื่อง Micro Management เป็นภาษาไทยจะได้ข้อมูลชุดหนึ่ง แต่ถ้าค้นด้วยภาษาอังกฤษจะเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า ทุกวันนี้รากฐานของทุกแผนก ผมได้มาจากตำราของมหาวิทยาลัยเมืองนอกทั้งหมด เช่น ซื้อ Text Book มาอ่านเรื่อง HR เลยว่า ต้องวางกำลังคนอย่างไร ทำแผนผังองค์กรอย่างไร 

แต่แน่นอนว่าไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เรื่องภาษาอย่างเดียว เพียงแต่ภาษาเป็นใบเบิกทางให้เข้าถึงกระบวนการต่าง ๆ เพื่อยกระดับทักษะของตัวเอง รวมถึงการพัฒนาบุคลากรครับ

EdusoftX ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

มีคนที่พอเจอกำแพงทางภาษาก็รู้สึกยอมแพ้แล้ว มีวิธีการแนะนำอย่างไรให้คนกล้าลุกขึ้นมาอ่าน Text Book หรือค้นหาข้อมูลความรู้ภาษาอังกฤษ

บรรณวุฒิ: จริง ๆ ไม่ผิดเลยครับที่จะกลัว เพราะประเทศไทยไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่หนึ่ง เป็นไปไม่ได้เลยที่ทุกคนจะคล่อง ไหนจะปัญหาความเหลื่อมล้ำอีก ต้นทุนชีวิตของแต่ละคนไม่เท่ากัน จึงไม่ใช่ทุกคนจะเป็นหรือเก่งภาษาอังกฤษมาก่อน ต้องดูด้วยว่าทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรเหล่านั้นได้เท่าเทียมกันหรือไม่ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือทัศนคติ (Mindset) เวลาสัมภาษณ์พนักงาน ผมมักจะสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษนิดนึงด้วย ถึงแม้ตำแหน่งนั้นจะไม่ต้องใช้ภาษาอังกฤษก็ตาม อย่างน้อยถ้าเขากล้าพูดภาษาอังกฤษแบบ Broken English ก็แสดงให้เห็นว่าเขาอยากได้งานนี้จริง ๆ

ทัศนคติสำคัญมาก ไม่เฉพาะแค่เรื่องเรียนภาษานะครับ แต่ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ถ้าคิดว่า ฉันมั่นใจ ฉันทำได้ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแล้ว ถ้ามีเวลาค่อยไปเพิ่ม Hard Skills ทีหลังได้

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้ และต้องแบ่งปันโอกาสให้ผู้ที่ด้อยกว่า ปัจจุบัน EdusoftX แบ่งปันโอกาสให้กับผู้ที่ด้อยกว่าอย่างไรบ้าง

บรรณวุฒิ: ในมุมมองของบริษัท ตอนแรกเรารู้สึกว่าการแบ่งปันคือการให้โดยไม่หวังผลกำไร หนึ่งใน Marketing Promotional Tools ซึ่งก็คือการแจกซอฟต์แวร์ให้มหาวิทยาลัยใช้ฟรี ปรากฏว่าไม่มีใครใช้ (หัวเราะ) แต่พอเปลี่ยนเป็นการซื้อขาย มีกรอบ KPI วัดผลชัดเจน ปรากฏว่าใช้งานกันจริงจังมาก ส่งผลให้ระดับภาษาอังกฤษของนักศึกษาเพิ่มขึ้น

พอทำงานมา 8 ปี เราค้นพบว่าการแบ่งปันคือการนำเอาผลิตภัณฑ์หรือบริการมาซื้อขายเพื่อให้ตัวบริษัทเองก็สามารถยืนอยู่ได้ การให้ต้องเป็นแบบ Two Way ที่แต่ละฝ่ายได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน

ยกตัวอย่าง เวลาผมสอนทีมงาน ผมชอบเปรียบเทียบธุรกิจที่เราทำอยู่กับธุรกิจอื่น ๆ บางทีฝ่ายขายอาจไม่กล้าเข้าหาลูกค้า ไม่กล้า Hard Sell เกินไป แต่ผมจะสอนเสมอว่า สิ่งที่คุณขายอยู่เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย ดังนั้นไม่ต้องรู้สึกผิดเวลาพยายามขายให้ลูกค้า หรือคุยกับลูกค้า เราขายสิ่งที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง มอบสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นกับสังคม ในขณะเดียวกันก็ทำเงินให้เรา ช่วยให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ทุกวันนี้ผมยังเชื่อแนวคิดการศึกษาสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และการแบ่งปันโอกาสให้ผู้ที่ด้อยกว่า แต่ต้องเป็นการให้แบบ Two Way นะครับ หมายความว่าบริษัทก็ยังสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และลูกค้าเองก็ได้ผลประโยชน์ในเชิงวิชาการไป ซึ่งมันยั่งยืนในระยะยาวมากกว่า จึงไม่เชื่อเรื่องของการทำ CSR ด้วยการแจกครับ

EdusoftX ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

EdusoftX เป็นแพลตฟอร์มสอนภาษา ไม่เพียงแค่ภาษาอังกฤษ แต่ยังมีถึง 14 ภาษา ทำไมคนทำงานถึงจำเป็นต้องรู้ภาษามากกว่านั้นด้วย

บรรณวุฒิ: เราต้องย้อนดูก่อนว่าทำไมต้องเรียนภาษา ประการแรกอาจเป็นเรื่องการรักษาพนักงาน (Retain) บางทีเราได้คนที่มีความสามารถเข้ามา เขาได้ภาษาที่ 2 อยู่แล้ว แต่การได้ภาษาที่ 3 หรือ 4 ด้วยจะช่วยให้มี Productivity มากขึ้น

อีกอย่างคือเพิ่มเรื่อง Constomer Service เรื่องของการขาย นอกเหนือจาก Hard Skill ที่เซลล์คนหนึ่งควรมี ก็ยังต้องมี Language Skill เพื่อทำให้สามารถสื่อสารกับลูกค้าได้ อาจจะสื่อสารในเชิง After Sales Service หรือสื่อสารในเชิงการขาย ก็จะช่วยให้ทำเงินให้องค์กรมากขึ้น

สิ่งที่องค์กรสนใจที่สุดก็คือสิ่งที่เขาให้พนักงานไป องค์กรจะต้องได้ผลลัพธ์กลับมาไม่ทางตรงที่เป็นรูปธรรมในเชิงผลงาน ก็ต้องเป็นทางอ้อม อย่างน้อยที่สุดพนักงานก็เกิดความสนใจในภาษานั้น ๆ และสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในการใช้ชีวิตได้ เป็นต้น

แสดงว่าโลกยุคปัจจุบัน การได้ภาษาที่ 2 อย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว

บรรณวุฒิ: ไม่พอครับ ประเทศไทยเป็นฮับและทางผ่านของหลาย ๆ ประเทศ เช่น อินเดียและจีน แค่ 2 ประเทศนี้ก็ส่งผลต่อ GDP โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล โรงแรม รวมถึงการโทรคมนาคม

เวลาลูกค้าที่สื่อสารภาษาอังกฤษไม่ได้ แล้วสื่อสารด้วยภาษาที่ 3 อย่างภาษาจีน โทรมาในคอลเซ็นเตอร์ ก็มักเกี่ยวข้องกับเรื่องการขายและ Sales Service เสมอ แสดงให้เห็นว่าภาษาที่ 3 สำคัญมากสำหรับการทำงานในบางตำแหน่ง

ทุกวันนี้มีเทคโนโลยี AI ช่วยแปลภาษาที่ได้รับความนิยมสูง แต่ทำไมคนเราถึงยังต้องเรียนภาษาอยู่

บรรณวุฒิ: ขออนุญาตตอบคำถามเป็นสองส่วนนะครับ ส่วนแรกผมไม่อยากเรียกว่า AI จะมาทดแทนการเรียนภาษา แต่มันจะมาเสริมมากกว่า แพลตฟอร์มของ EdusoftX เองก็ใช้ AI มา Incorporate หรือ Integrate ในผลิตภัณฑ์ของเราเช่นกัน

เวลาเริ่มเรียนบนแพลตฟอร์ม Busuu ระบบ AI จะสามารถวิเคราะห์ได้เลยว่าทักษะของผู้เรียนอยู่ในระดับใด อ่อน กลาง หรือเก่งเรื่องอะไร แล้วก็จะให้คำแนะนำถึงกิจกรรมและช่วยออกแบบแผนการเรียนให้เหมาะสมกับคนนั้นๆ ผมจึงคิดว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยเสริมให้คนสามารถเรียนได้ดีขึ้นมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เทคโนโลยีพวกนั้นถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทน เช่น เทคโนโลยีการแปล ผมคิดว่ามันยังไม่สามารถทดแทนได้ในระดับของการสื่อสาร แบบในชีวิตจริงที่เราสื่อสารกัน เราอาจใช้ช่วยแปลภาษาตอนพูดได้ในบางสถานการณ์ 

แต่สุดท้ายแล้ว ภาษามีมิติที่ลึกกว่าการใช้แอปพลิเคชั่นช่วยแปล การสื่อสารระหว่างกันทั้งในชีวิตประจำวัน รวมถึงในเชิงธุรกิจ บางเรื่องเรายังต้องการคนที่รู้จริง หรือเรียนมาเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มาช่วยให้สามารถสื่อสารกันเข้าใจได้สมบูรณ์แบบ 100%

แสดงว่าเทคโนโลยีมาเป็นตัวช่วยมากกว่าตัวแทน

บรรณวุฒิ: ใช่ครับ ผมรู้สึกว่าทุกองค์กรคิดว่าการเรียนภาษาต่างจาก Hard Skills บางที Machine หรือเครื่องมือบางอย่างอาจช่วยทดแทนได้ แต่ภาษามันคือการสื่อสารระหว่างคนกับคน ผมจึงคิดว่าต้องแก้ที่คน ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีมาทดแทน AI อาจช่วยได้ประมาณ 70% แต่สุดท้ายก็ยังต้องใช้คนที่มีทักษะภาษา มีคนร่างสัญญา ทำใบเสนอราคา มีคนสรุปการประชุม ส่งอีเมลโต้ตอบ วาง Action Plan เป็นต้น งานเหล่านี้ยังต้องใช้คนทำอยู่ดี 

หากมีคนที่อาจไม่ได้เก่งภาษาจริง ๆ แต่เขามีเครื่องมือในการช่วยให้เขาเก่งขึ้น องค์กรยอมรับคนเหล่านี้ได้ไหม

บรรณวุฒิ: ส่วนตัวรับได้ครับ เพราะเราห้ามไม่ได้ว่าใครมีต้นทุนต่างกัน แต่สิ่งที่องค์กรสามารถทำได้ก่อนคือการสกรีนก่อน ถ้าอยากได้กลุ่มแรงงานที่ตรงกับงานที่ทำก็ต้องคัดกรองเขาก่อน ด้วยระบบ Assessment Tools จาก EdusoftX เรามีข้อสอบที่อิงตามกรอบมาตรฐาน CEFR ซึ่งจะทราบได้ทันทีเลยว่าระดับภาษาอังกฤษของคน ๆ นั้นอยู่ในระดับใด ทักษะภาษาในแต่ละด้านเป็นอย่างไร 

อย่างไรก็ตาม ถ้ารับเข้ามาแล้วแต่ทำไม่เป็น หรืออยู่มานานเเล้วแล้วทำไม่เป็น เครื่องมือพวกนี้จะตอบโจทย์มาก ๆ เพราะไม่ใช่ทุกตำแหน่งจะต้องพูดภาษาอังกฤษ บางตำแหน่งแค่ต้องทำใบเสนอราคาบางส่วน ส่งอีเมล ฝ่ายจัดซื้ออาจไม่ต้องพูดอังกฤษเป็นก็ได้ ขอแค่มีความรู้พื้นฐานภาษาอังกฤษ แล้วสามารถเขียนอีเมลสื่อสาร ประสานงานกับคนในองค์กร รวมไปถึงนอกองค์กรได้รู้เรื่องก็พอ

EdusoftX มีครูผู้สอนหลากหลายภาษา คุณมีวิธีเลือกครูสอนภาษาอย่างไรให้รองรับความต้องการของผู้เรียน

บรรณวุฒิ: เราให้ความสำคัญกับครูที่สอนในแพลตฟอร์มของเรามากครับ ครูทุกคนจะต้องผ่านการ Certified ต้องมีวุฒิสำหรับการสอนภาษาอังกฤษจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็น CELTA TESOL เป็นต้น ไม่ได้เอาใครที่แค่พูดภาษาอังกฤษได้มาสอน

เพราะการสอนภาษาไม่ได้แตกต่างจากอาชีพที่เป็นวิชาชีพเลย เช่น หมอหรือพยาบาล นั่นคือคุณต้องเรียนมาหรือถูกเทรนมาเพื่อให้เกิด Skills บางอย่าง และทำสิ่งนั้น ๆ โดยเฉพาะ อย่างงานศิลปะ เราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ ผ่านความสนใจ ผ่านการฝึกฝน บางคนไม่ได้เรียนศิลปะมาแต่ก็สามารถเป็นศิลปินวาดรูปขายภาพในระดับโลกได้

แต่การเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ อย่างน้อยต้องเรียนศึกษาศาสตร์ และต้องมีประสบการณ์ มีจำนวนชั่วโมงบินเหมือนนักบิน ที่นี่ครูทุกคนจะได้รับการ Certified ต้องผ่านการเทรนมาก่อน ซึ่งมั่นใจได้เลยว่าผู้สอนได้ประสิทธิภาพและผู้เรียนจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ปัจจุบันคนสอนภาษาใน TikTok หรือในแพลตฟอร์มที่ใช้งานฟรีเยอะมาก มันเป็นความท้าทายให้ทาง EdusoftX ต้องพัฒนาขึ้นหรือไม่

บรรณวุฒิ: เป็นคำถามที่น่าสนใจมาก ก่อนอื่นต้องบอกว่าการเรียนภาษากับการเรียน Hard Skills ไม่เหมือนกัน คุณสามารถเรียนวิธีใช้ Photoshop ผ่าน TikTok หรือผ่าน YouTube แล้วใช้งานได้เลย และอาจเก่งกว่าคนที่ใช้ Photoshop มาเป็น 10 ปีก็ได้

แต่เป็นไปไม่ได้เลยครับถ้าจะเรียนภาษาผ่านคลิปวิดีโอ หรือสื่อใน TikTok แล้วใช้งานเป็นทันที ในนั้นอาจเน้นการให้เกร็ดความรู้ ช่วยเสริมองค์ความรู้เรื่องภาษามากกว่า ไม่ได้ช่วยเรื่องทักษะ เพราะทักษะมันต้องผ่านการใช้จริง เช่น สามารถโต้ตอบกับครูได้ สามารถเขียนเรียงความได้

แล้วการเขียนเรียงความก็ต้องมีคนตรวจ ถ้าเรียนผ่านระบบก็ต้องมีเฉลย อธิบายว่าทำไมถึงตอบถูกผิด แม้จะเรียนทางวีดีโอ ก็จะมีให้ถามให้คิดวิเคราะห์ พวกนี้คือตัวตัดกันระหว่าง Freeware หรือพวกแพลตฟอร์มกับที่เป็น Mooc หรือ Video Based Content อย่างเดียว

EdusoftX ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

จุดเด่นของ Busuu by EdusoftX คือการเรียนการสอนแบบ Hybrid วิธีการนี้สำคัญต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนอย่างไร

บรรณวุฒิ: โลกในปัจจุบัน ในตลาดแรงงานทั่วไปจะมี Pain Point หลายอย่าง เช่น เวลา และการเข้าถึงข้อมูล เป็นต้น Hybrid Learning จะทำให้กระบวนการเรียนรู้ครอบคลุม เป็นการเอา Tech Resource มาใช้ เช่น เอาแอปพลิเคชันมาใช้ เอาเทคโนโลยีวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์มาใช้ รวมถึงเอา AI และ Machine Learning มาใช้

Hybrid Learning คือการควบรวมการเรียนออนไลน์กับออฟไลน์เข้าด้วยกัน การเรียนออนไลน์มีหลายรูปแบบทั้งการเรียนกับคน เรียนกับโปรแกรม ถ้าแบบหลังก็จะมีให้เลือกเป็นโปรแกรมวิดีโออย่างเดียวกับโปรแกรมสำเร็จรูปที่โต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์ได้ การเรียนออฟไลน์ก็จะมีการเวิร์คช็อป การเรียนเป็นคลาสเลคเชอร์ และแบบผสมผสานกัน ซึ่งก็ต้องเอา Technology มาใช้ด้วย อาจมีการสแกนคิวอาร์โค้ด มีการอัปโหลดวีดีโอให้ดูอีกครั้งหลังเรียนเสร็จแล้ว เป็นต้น

สุดท้ายแล้ว Hybrid Learning คือการควบรวมทุกอย่าง เพราะฉะนั้นใน Busuu 14-Language Learning Platform by EdusoftX ผู้ใช้งานจะได้เจอหมดเลย ทั้งการสอบ การเรียนกับวีดีโอ การเรียนกับโปรแกรม Interactive การเรียนกับคน การเวิร์คช็อป เป็นต้น เป็นเหตุผลว่าทำไมถึงควรเลือกตัวเลือกนี้ เพราะมันครอบคลุมกว่า และตอบโจทย์ทุกกระบวนการของการเรียนภาษาอังกฤษครับ

แพลตฟอร์มการเรียนการสอนภาษา สามารถแบ่งได้ 3 ประเภทดังนี้

  1. e-Learning แพลตฟอร์มการเรียนการสอนออนไลน์ ที่ผู้เรียนสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้สอนได้โดยตรง 
  2. Mooc Course แพลตฟอร์มการเรียนการสอนผ่านคลิปวิดีโออย่างเดียว
  3. Hybrid Learning แพลตฟอร์มที่ผสมผสานการเรียนการสอนผ่านออนไลน์ คลิปวิดีโอ และการเรียนในห้องเรียน เป็นต้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้เรียนว่าสะดวกแบบใด

Hybrid Learning ครอบคลุมกว่า ตอบโจทย์กว่า เป็นผลดีต่อผู้เรียนมากกว่าอย่างไร

บรรณวุฒิ: ก็เหมือนคุณค่าทางโภชนาการ ถ้าเราเติมโปรตีน เติมคาร์โบไฮเดรด หรือเติมวิธีการให้สารอาหาร Methodology ของการเรียนภาษาก็จะช่วยเติมเต็ม คนไม่มีเวลาก็สามารถดูคลาสตอนตี 1 ได้ ถ้าเรียนกับครูต่างชาติแบบ Virtual แล้วอยากเวิร์คช็อปกับครูไทยก็สามารถทำได้ คนที่เรียนกับครูแล้วตื่นเต้น พื้นฐานทักษะยังไม่แน่นก็สามารถเรียนบน Platform ได้ก่อนเพื่อลดความกังวล

เหล่านี้คือวิธีการส่งผ่านบทเรียนหลากหลายรูปแบบครับ พอมีหลายรูปแบบคุณค่าทางโภชนาการ คุณค่าทางวิชาการก็จะหลากหลายด้วย เมื่อแต่ละคนต่างมีข้อจำกัด หรือมีปัจจัยการใช้ชีวิตไม่เหมือนกัน การเรียนแบบนี้ก็จะช่วยเติมเต็ม Pain Point ที่คนในยุคปัจจุบันเจอได้

สามารถพูดได้ไหมว่า Hybrid Learning คือการสร้างทางเลือกในการเข้าถึงองค์ความรู้

บรรณวุฒิ: ถูกต้องครับ มันคือการสร้างทางเลือกหลายทาง เพื่อให้สามารถเข้าถึงทางเลือกนั้นในแต่ละปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น เวลา สถานที่ รวมถึงวิธีการเรียนรู้ของแต่ละบุคคลที่ไม่เหมือนกัน บางคนเรียนรู้ด้วยตัวเองดีกว่า เร็วกว่า เสร็จแล้วค่อยไปเรียนเพิ่ม ให้ครูช่วยตบ มันมีองค์ประกอบที่จะเสริมกันให้แน่นเพื่ออุดรูรั่วเหมือนกัน Hybrid Learning จะตอบโจทย์ส่วนนี้ได้

Hybrid Learning เป็นสิ่งที่ควรจะเป็นในอนาคต ปัจจุบันอาจมีปัจจัยเยอะขึ้น แต่จริง ๆ ในอดีตก็มีปัจจัยเยอะไม่แพ้กัน แค่ไม่มีเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหา Pain Point เหล่านี้เกิดขึ้นมา 20-30 ปีแล้ว แต่เมื่อก่อนเรายังไม่สามารถพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ตรงนั้นได้

ณ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าปัญหา และวิธีแก้ปัญหาคืออะไร ผมจึงรู้สึกว่า Hybrid Learning ไม่ได้เป็นแค่ทางเลือกด้วยซ้ำ แต่เป็นสิ่งที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

EdusoftX ยกระดับตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์มการเรียนภาษา พาทุกฝ่ายได้ประโยชน์ไปด้วยกัน

ทำไม HR ถึงควรเลือกสวัสดิการเกี่ยวกับการเรียนภาษาจากทาง Busuu by EdusoftX

บรรณวุฒิ: เพราะองค์กรจะได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมครับ ทางอ้อมก็จะเป็นเรื่องของการ Retain พนักงาน ลด Turnover Rate ต่าง ๆ ได้

การที่คนเก่งภาษาอังกฤษมากขึ้นยังช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรอีกแบบ องค์กรส่วนใหญ่ล้วนอยากให้องค์กรมีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 แบบ แบบแรกพอคนสื่อสารดีขึ้น องค์กรก็จะมีกำไรมากขึ้น อีกแบบอาจเป็นภาพฝันคือ คนมีความชิค เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เจอลูกค้าต่างชาติแล้วไม่กลัว 

เพราะทักษะการสื่อสารจะผูกกับการขาย บริการหลังการขาย การประสานงาน การต่อรอง หากเป็นฝ่ายจัดซื้อ เวลาซื้อของล็อตใหญ่ การเรียนภาษาอังกฤษในหัวข้อเรื่องการต่อรองทางธุรกิจ (English for Business Negotiation) ก็จะรู้วิธีต่อรอง จากที่ซื้อราคา 1 ล้าน ก็ต่อให้เหลือ 8 แสนได้ บริษัทจะประหยัดได้ถึง 2 แสน แล้วเงินตรงนั้นก็อาจเป็นค่าเรียนให้พนักงานได้มาเรียนเพิ่มได้ เป็นต้น

HR บางส่วนอาจมีประสบการณ์ไม่ดีกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ ไม่ว่าจะแพลตฟอร์มใดก็ตาม บางครั้งเขาอยากได้คลาสแบบ Traditional เช่น ให้ครูเข้าไปสอน บริการนั้นเราก็มี แต่ความต่างของการเลือกเรียนกับ EdusoftX ในรูปแบบ Traditional Class ทั่วไปคือเราเสริม-เพิ่มเติมเทคโนโลยีเข้าไป มีแอปพลิเคชั่นเข้าไปผูกทำให้การเรียนการสอนในห้องจะไม่จบแค่ในห้องนั้น ๆ แต่ยังสามารถไปเรียนรู้ต่อที่บ้านได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็น Hybrid Learning แบบเต็มรูปแบบเสมอไป

HR ทุกองค์กรมีประสบการณ์และมีความต้องการชัดเจนอยู่แล้ว เราแค่จะไปช่วยตอบสนองความต้องการที่ชัดเจนของเขา ด้วยโปรแกรมการเรียนการสอนของเรา ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มการเรียนรู้ภาษา 14 ภาษา Busuu 14-Language Learning Solution โปรแกรมการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ English Discoveries – Comprehensive Learning Ecosystem คอร์สอบรมภาษาอังกฤษแบบ Hybrid Training รวมถึงระบบทดสอบภาษาตามกรอบมาตรฐาน CEFR 

EdusoftX และ IT Edusoft มีประสบการณ์ถึง 23 ปี เราล้มลุกคลุกคลานมาเยอะ เจอลูกค้ามาหลายรูปแบบ ที่สำคัญที่สุด บริษัทแม่ของเราก็อยู่ในตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกา ได้ความไว้วางใจจากพาร์ทเนอร์ในการช่วยทำตลาด และพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือว่าตัวแพลตฟอร์มให้ทันสมัย สอดรับความต้องการของคนยุคใหม่อยู่เสมอ

ดังนั้นมั่นใจได้ว่าเราจะช่วยให้ HR รวมถึงอาจารย์ในมหาวิทยาลัย พัฒนาหรือว่าทำโครงการด้านภาษาอังกฤษพวกนี้ได้อย่างบรรลุเป้าหมายแน่นอนครับ

All HR Solutions! มาค้นหา HR Products and Services กับ HREX กันเถอะ

ผู้เขียน

Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง