HRBP คืออะไร ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย

HIGHLIGHT

  • HRBP คือตำแหน่ง HR Business Partner เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริการคน พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ พูดง่าย ๆ คือเป็นตำแหน่งที่ต้องทำหน้าที่บริหารคนและบริหารธุรกิจควบคู่กันไป
  • เดฟ อุลริช (Dave Ulrich) ปรมาณจารย์ด้านทรัพยากรบุคคลกล่าวถึง HRBP คือ การทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับฝ่ายธุรกิจ ในการออกแบบและผลักดันกระบวนการบริหารคนในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ
  • เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง คนก็จำเป็นต้องเปลี่ยน HR ก็ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวอย่างจริงจัง วันนี้งาน HR คือสร้างความพร้อมในอนาคต เข้าใจทิศทางธุรกิจแล้วสร้างคน เพราะวันนี้ HR ไม่ใช่งานหลังบ้านอีกต่อไป แต่เป็นผู้จัดกลยุทธ์ต่างหาก

HRBP คืออะไร ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย

ไม่กี่ปีมานี้ HRBP หรือ HR Business Partner เป็นตำแหน่งที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้าง จนทำให้ HRBP กลายเป็นคำฮอตฮิตประจำวงการทรัพยากรมนุษย์ทีเดียว เพราะ HR ยุคใหม่ไม่ได้มีหน้าที่แค่งาน admin อย่างเดียวแล้ว แต่ต้องผันตัวกลายเป็นคู่หูทางธุรกิจขององค์กรมากขึ้น

แล้ว HRBP คืออะไร? ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย บทความนี้จะอธิบายรายละเอียดให้ฟังกัน

HRBP คืออะไร 

HRBP คือตำแหน่ง HR Business Partner เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริการคน พร้อมทั้งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจ

กล่าวคือ HRBP เป็นตำแหน่งที่จะต้องบริหารคนให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนอัตรากำลังคน การสรรหา การพัฒนา รวมไปถึงการรักษาขวัญกำลังใจพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาว โดยตำแหน่งนี้จะทำงานเคียงคู่ใกล้ชิดกับผู้บริหารโดยตรง ซึ่งบางองค์กรอาจให้นั่งเป็นคณะกรรมการบริหารหรือทำงานร่วมกับผู้บริหาร C-Level ทีเดียว

HRBP จึงเป็นตำแหน่งสำคัญที่ไม่ใช่ว่าใครจะมาเป็นก็ได้ แต่ต้องมีประสบการณ์การทำงานพอสมควร พร้อมทั้งรู้จักสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่ตัวเองอยู่เป็นอย่างดี เพราะจะต้องทำหน้าที่บริหารคนและบริหารธุรกิจควบคู่กันไป

ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย

HRBP คืออะไร ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย

เพราะโลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ COVID-19 ที่เร่งปฏิกริยาให้ทุกองค์กรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเข้าสู่การทำงานในยุคดิจิทัลมากขึ้น วงการ HR ก็เช่นกัน เพราะหลายปีก่อนมีหลาย ๆ สำนักระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า HR เองก็ต้องพร้อมสู่การเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล หรือที่เราเรียกกันว่า HR Transformation

HRBP คือผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงนั้น ซึ่งว่ากันว่า เดฟ อุลริช (Dave Ulrich) ปรมาณจารย์ด้านทรัพยากรบุคคลน่าจะเป็นคนแรก ๆ ที่ใช้คำว่า HR Business Partner ตั้งแต่ยุค 90’s โดยนิยามว่าคือ การทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับฝ่ายธุรกิจในการออกแบบและผลักดันกระบวนการบริหารคนในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายทางธุรกิจ ทำให้ HR ต้องกระจายไปทำงานร่วมกับแผนกธุรกิจในองค์กร มากกว่าแค่นั่งทำงานอยู่ในห้องแผนกเดียวเหมือนก่อน เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ HRBP ต้องทำ คือ การทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในตลาด

ทั้งนี้ จากบทสัมภาษณ์ที่ HREX ได้คุยกับคุณ เจน – ณัฏฐวัฒน์ วัฒนธเนศ Founder and Executive Consultant Jenphob – The Innocreative Business Solution and Consultation เขาตั้งข้อสังเกตว่า คำว่า HRBP (HR Business Partner) เป็นคำกลางเก่ากลางใหม่ แต่หลังจาก COVID-19 เราต้องให้คำนิยามคำว่า Business Partner ใหม่อีกครั้ง

“สมัยก่อนคำว่า HR Business Partner คือ HR ต้องทำเงินด้วยนะ สร้างมูลค่าให้กับบริษัทได้บ้าง แต่หลังจาก COVID-19 อาจไม่ใช่แค่เรื่องเม็ดเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการปรับองค์กรให้พร้อมรับมือกับทุก ๆ สถานการณ์ รวมไปถึงตัว HR เองก็ต้องคอยพิทักษ์และพัฒนาพนักงานที่มีความรู้ความสามารถ ให้เขาทำงานและสร้างมูลค่าให้กับองค์กรมากขึ้น ที่สำคัญคือการป้องกันการลาออกของ Talents ด้วย ซึ่งนั้นอาจจะเป็นการสูญเสียที่ประเมินค่าไม่ได้ ถ้าหากเราเสียพนักงานระดับเพชรยอดมงกุฎไป”

คำถามสำคัญก็คือ แล้ว HR Admin จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็น HR Business Partner ได้อย่างไร ?

“หลายครั้งคนมองว่า HR เป็นงานหลังบ้าน ถ้าองค์กรมองว่าเป็นงานหลังบ้านด้วยก็จะยิ่งเคลื่อนตัวช้า” คุณกานติมา เลอเลิศยุติธรรม หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล หรือ CHRO (Chief Human Resources Officer) แห่ง AIS เคยให้สัมภาษณ์กับเรา “HR ถ้าอยากยืนอยู่ข้างหน้า ก็ต้องอย่ามัวแต่ Enjoy กับสิ่งที่ทำประจำวัน หรือบริหารกิจกรรมเยอะจนไม่ได้บริหารคน แบบนี้จะไม่ทัน ต้องเข้าใจธุรกิจด้วย ว่าทุกๆ  อาชีพ ทุก ๆ ตำแหน่งนั้นถือเป็น your own choice อยู่ที่ว่าเราจะลุกขึ้นมาทำตัวเองเป็นคนข้างหลังหรือคนข้างหน้า ต้องปรับ Skill set ตลอดเวลา บางครั้ง HR ก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่ไม่ Popular บ้าง เพราะหลายครั้งที่ HR เลือกทำสิ่งที่ Popular เพื่อให้องค์กรพอใจ แต่ความพอใจนั้นกลับทำให้องค์กรเพลี่ยงพล้ำโดยไม่รู้ตัว”

กล่าวคือ เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง คนก็จำเป็นต้องเปลี่ยน และ HR ก็ต้องลุกขึ้นมาปรับตัวอย่างจริงจัง คุณกานติมาย้ำว่า วันนี้งาน HR คือสร้างความพร้อมในอนาคต เข้าใจทิศทางธุรกิจแล้วไปสร้างคน เพราะวันนี้ HR ไม่ใช่งานหลังบ้านแล้ว แต่เป็นผู้จัดกลยุทธ์ต่างหาก

บทบาทหน้าที่ของ HRBP คืออะไร

มีเว็บไซต์มากมายที่พูดถึงบทบาทหน้าที่ของ HRBP ว่ามีอะไรบ้าง โดยในที่นี้เราอ้างอิงจากเว็บ personio ที่ได้แบ่งไว้ 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1) กำหนดกลยุทธ์กระบวนการทำงานของ HR

เพราะพนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดขององค์กร และการขาดแคลนพนักงานผู้เชี่ยวชาญหรือมีทักษะสำคัญ ถือเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในฝ่ายทรัพยากรบุคคลเสมอมา 

HRBP จึงต้องมีวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ในการระบุปัญหาของกระบวนการทำงาน ไล่ตั้งแต่กระบวนการสรรรหา การว่าจ้าง ไปจนถึงการรักษาพนักงานไม่ให้ลาออกอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรักษาต้นทุนที่ต้องเสียไปในกระบวนการต่าง ๆ นั่นเอง

2) พัฒนาและการฝึกสอนพนักงาน

หลังจากรับพนักงานเข้ามาทำงานแล้ว HRBP ต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่า พวกเขาทำงานอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องและช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง 

ด้วยเหตุนี้ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงจำเป็นต้องเตรียมแผนพัฒนาทักษะสำหรับพนักงานรวมไปถึงผู้บริหารโดยเฉพาะ ซึ่งไม่เพียงเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดขององค์กรอีกด้วย และยังทำให้พวกเขารู้สึกดีที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กร ลดความเสี่ยงที่พวกเขาจะโบกมือลาจากบริษัทเรานั่นเอง

3) ทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง

HRBP จะมีบทบาทมากกว่าแค่ผู้จัดการระบบภายใน แต่ HRBP จะเป็นผู้เชื่อมโยงนโยบายโดยตรงจากผู้บริหารระดับสูงเกี่ยวกับการวางแผนและการปฏิบัติสู่กระบวนการทำงานของทรัพยากรบุคคล กล่าวคือจะทำงานเพื่อนสนับสนุนทีมผู้บริหารระดับสูงในการตัดสินใจที่สำคัญ เช่น จะสรรหาพนักงานใหม่กี่คน ทักษะใดที่ขาดหายไปจากทีมเพื่อรักษาความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง

ฉะนั้น HRBP ที่มีวิสัยทัศน์จะช่วยกำหนดอนาคตของบริษัทได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น

4) กำหนดกระบวนการเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัล

นับความท้าทายที่ถาโถมเข้ามาเรื่อย ๆ เมื่อบุคลากรในฝ่าย HR กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสู่การทำงานในยุคดิจิทัล ซึ่ง HRBP มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาบทบาททางวิชาชีพใหม่ เพิ่มพลวัตทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในโครงสร้างการทำงาน รวมไปถึงกระบวนการต่าง ๆ เช่น การสรรหาและการปฐมนิเทศที่ปัจจุบันเป็นช่องทางออนไลน์มากขึ้น

นี่คือจุดที่ HRBP จะเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ เป็นไปอย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ

5) สร้างแบรนด์ให้องค์กร

ในฐานะ HR Business Partner ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นจริง โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่สนับสนุนการเติบโต ขณะเดียวกันก็จะต้องสื่อสารวัฒนธรรมองค์กรดังกล่าวให้ภายนอกรับรู้เช่นกัน เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์ให้องค์กร พร้อมดึงดูดพนักงานคนเก่งจากที่อื่นให้สนใจเข้ามาสมัคร ท่ามกลางตลาดที่แข่งขันกันสูงมาก ๆ ในปัจจุบันและอนาคต

บทบาทของ HR ในปี 2025 จาก Dave Ulrich

PMAT ได้เขียนถึงมุมมองของ Dave Ulrich ต่อบทบาท HR ในปี 2025 ว่า หลักการพื้นฐาน หรือ Principle ของ HR ในปี 2025 จะยังไม่เปลี่ยนไปคือ HR ยังคงต้อง

  • สร้างมูลค่าให้กับองค์กร
  • ค้นหา พัฒนา และสร้างพนักงานและผู้นำให้องค์กร
  • วางแผนและปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนงานบางอย่าง

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ Q&A HR Board

 

Q: คิดว่าสายงาน hr จะเป็นอย่างไรใน 10-20 ปีข้างหน้า มันยังเป็นสายที่น่าดึงดูดอยู่หรือเปล่า Normally Person

เพื่อที่จะเตรียมตัวเรื่องเส้นทางอาชีพ (career path) การพัฒนาตัวเองเพื่อปรับตัว

 

A: สายงาน HR ยังมีความน่าดึงดูดแน่นอนครับ แต่อาจจะเปลี่ยนสภาพไปบ้าง จากการทำงาน HR Operation ทั่วไป ไปเน้นที่การพัฒนาองค์กรมากขึ้น 

งาน HR ยังคงมีความสำคัญและน่าดึงดูดในอนาคต แต่คุณจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้ตอบสนองกับธุรกิจและความเปลี่ยนแปลงในอนาคตให้ได้จึงจะสามารถไล่ตามความเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ได้ทัน,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

HRBP เงินเดือน เท่าไหร่

จะว่าไปแล้วมีหลาย ๆ ปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเดือนของ HRBP ทั้งประสบการณ์การทำงาน อุตสาหกรรมที่อยู่ ภาษาที่ต้องใช้ รวมไปถึงลำดับขั้นของ HRBP เอง แต่จากการสำรวจในเว็บหางานหลาย ๆ เว็บไซต์พบว่า เงินเดือน HRBP จะอยู่ตั้งแต่ 30,000, 50,000 ไปจนถึง 100,000 บาท และอาจมีบางองค์กรในระดับนานาชาติให้สูงถึง 200,000 – 250,000 บาทเลยทีเดียว

ความสำคัญของ HRBP ในองค์กร

HRBP คืออะไร ทำไม HR ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Business Partner ด้วย

อย่างที่ทราบไปกันแล้วว่า งานของ HRBP คือ การสร้างคุณค่าให้กับบุคคลากร ทั้งพนักงานไปจนถึงผู้บริหาร เพื่อให้องค์กรสามารถแข่งขันและประสบความสำเร็จในตลาดได้

ความสำคัญของ HRBP คือจะต้องช่วยขับเคลื่อนแผนธุรกิจขององค์กรในมุมของการบริหารคนเข้าด้วยกัน ยกตัวอย่าง ถ้าฝ่ายธุรกิจบอกว่า ปีนี้จะต้องเน้นไปที่การผลิตโปรดักส์จำนวนมาก ๆ HRBP ก็จะต้องวางกลยุทธ์และแผนงานในด้านต่าง ๆ ของการบริหารทรัพยากรบุคคล เช่น จ้างแรงงานมากขึ้น ฝึกทักษะการผลิตให้แม่นยำ รวมไปถึงการส่งเสริมและสื่อสารให้บุคลากรทุกระดับในองค์กรดำเนินตามกลยุทธ์นี้

ทั้งนี้ McKinsey ได้แนะนำแนวทางการยกระดับ HRBP ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจรวมถึงช่วง COVID-19 นี้ได้เช่นกัน คือ

  • Remove Operational Responsibilities: ขจัดความผิดชอบงานปฏิบัติการ เพื่อพาตัวเองไปทำงานในสายเชิงกลยุทธ์ได้อย่างเต็มที่ เพราะงานเหล่านี้จะกินเวลาและพลังงานของ HRBP มาเกินไปจนไม่ได้ทำงานกลยุทธ์
  • Empower Talent Value Leaders: เพื่อผลักดันให้สร้างมูลค่าทางธุรกิจจากคนเก่งในองค์กร เพราะหลายครั้งที่ผู้บริหารมอง HRBP เป็นเพียงผู้จัดการส่วนตัว ซึ่งนั่นเป็นสิ่งควรเปลี่ยนแปลง และควรได้รับการพัฒนาหรือส่งเสริมในการตัดสินใจมากขึ้น
  • Establish a Pipeline: จัดตั้งกระบวนการที่ HRBR ผสมผสานทั้งธุรกิจและการเงินในการจัดการพนักงาน เพื่อระบุได้ว่าพนักงานคนใดให้มูลค่าทางธุรกิจมากที่สุด และสามารถเล่นบทบาทเป็นผู้นำธุรกิจที่ปฏิเสธแนวคิดอื่นที่ไม่จำเป็นได้

เหมือนที่ คุณบี อภิชาติ ขันธวิธิ Co-founder and Managing Director at QGEN กล่าวไว้ในงาน Future Trends : Skillforce Virtual Conference 2021 หัวข้อ HR Skill set for “Next ERA” Redesign Work-Life for Culture-First decade ว่า

“HR ต้องเป็น Business Partner ซึ่งไม่ใช่คนที่อยู่ข้างหลัง Leader แต่เป็นคนที่อยู่ข้างๆ ไม่รอคำสั่งจากผู้นำ แต่ต้องมี Forward Thinking กล้าคิด กล้าตัดสินใจ ไม่กลัวที่จะทำอะไรผิดพลาด” 

ความแตกต่างระหว่าง HRBP และ HR manager คืออะไร

HRBP และ HR manager เป็นบทบาทที่แยกออกจากกัน และทั้งสองเป็นตัวแทนการทำงานด้านทรัพยากรบุคคลที่แตกต่างกัน

กล่าวคืองานของ HR manager จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนโยบายทรัพยากรบุคคล และขั้นตอนการบังคับใช้นโยบายนั้น ๆ ตำแหน่งงานนี้จะรับผิดชอบระบบต่าง ๆ เช่น การคำนวณเงินเดือน การสรรหา การจ้างาน การดูแลระบบภายใน พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ดูแลระบบการทำงานของแผนกทรัพยากรบุคคลโดยตรง

ในทางกลับกัน HR Business Partner ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลจัดการแผนกใดแผนกหนึ่ง ทว่าหน้าที่หลักของ HRBP คือการทำงานร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทหรือผู้จัดการแผนกเพื่อให้คำแนะนำและสื่อสารกลยุทธ์ทางธุรกิจของบริษัทโดยรวม โดยยังทำงานร่วมแผนกทรัพยากรบุคคลพร้อมให้คำปรึกษาทีมผู้บริหาร และมีส่วนในการพัฒนากลยุทธ์ HR ให้ขับเคลื่อนองค์กรต่อไปนั่นเอง

10 ทักษะสำคัญของ HRPB คืออะไร

เมื่อกระบวนการทำงานของ HRBP แตกต่างไปจากฝ่ายทรัพยากรบุคคลแบบเดิม แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ย่อมต้องการคนทำงานที่มีคุณสมบัติและทักษะที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเมื่อตำแหน่งนี้ต้องทำงานเคียงคู่ทีมผู้บริหารด้วย ต่อจากนี้คือ 10 ทักษะที่ HRBP ควรมีพกติดตัวเอาไว้

1) เชี่ยวชาญเครื่องมือดิจิทัล: HRBP ควรรู้จักผลิตภัณฑ์ซอร์แวร์ต่าง ๆ ในสายธุรกิจที่ตัวเองอยู่ เพื่อใช้ในการพัฒนาหรือสื่อสารกลยุทธ์ การจัดการ การบริหาร หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจ เมื่อทุก ๆ ธุรกิจกำลังทรานฟอร์มสู่ดิจิทัลกันหมดแล้ว

2) การวิเคราะห์ข้อมูล: โดยเฉพาะการทำงานควบคู่กับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เพื่อนำมาข้อมูลที่ได้มาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ข้อมูลการมาทำงาน การขาดลา มาสาย การตรวจประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งจะสามารถพยากรณ์วางแผนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างแม่นยำจากข้อมูลที่มี

3) มีความรู้ข้ามวัฒนธรรม: เพราะปัจจุบันการแข่งขันไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในพื้นที่อย่างเดียว แต่คือการสนามแข่งขันควานหาคนเก่งในระดับโลก HRBP ที่เก่งจะต้องมีความรู้กว้าง และตระหนักถึงวัฒนธรรม กระบวนการทำงาน การดำเนินธุรกิจ ไปจนถึงกฎหมายในระดับโลกด้วย

4) มีความรู้ทางธุรกิจ: แน่นอนว่าพื้นฐานการทำงานของทรัพยากรบุคคลเป็นสิ่งที่ HRBP ควรมี แต่การประสบความสำเร็จในตำแหน่งนี้จะต้องเรียนรู้กระบวนการทางธุรกิจขององค์กรด้วย สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่งเมื่อ HRBP ต้องทำงานกับทีมบริหาร โดยเฉพาะเมื่อองค์กรกำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

5) มีทักษะการบริหารโครงการและบุคคล: HRBP ควรทำงานเหล่านี้ได้อย่างสบายใจ ทั้งการพัฒนาขอบเขตโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น การจัดการทรัพยากรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการสื่อสารต่อกลุ่มขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และควรมีประสบการณ์ผู้นำทีมแบบทางไกล ยิ่งหากเป็นระดับอินเตอร์ได้จะเป็นที่ได้เปรียบมาก

6) มีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแปลงและทรานฟอร์ม: ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ทางธุรกิจให้สอดคล้องกับการตัดสินใจ ซึ่งบางครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร HRBP จะต้องระบุและพัฒนาแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงให้กระทบการทำงานขององค์กรให้น้อยที่สุด แต่เกิดประสิทธิภาพที่สุด

7) มีความสามารถในการระบุและพัฒนาผู้นำ: นอกเหนือจากการเป็นผู้นำด้วยตัวเอง HRBP จำเป็นต้องพัฒนาผู้นำภายในองค์กรด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการมองเห็นศักยภาพจากผู้สมัครภายนอกที่จะมีบทบทความเป็นผู้นำ ซึ่งทุกคนควรได้รับการประเมินและพิจารณาความเชี่ยวชาญและประสิทธิภาพที่สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรโดยรวม

8) สามารถสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์อันยอดเยี่ยม: HRBP จะต้องสามารถพูดคุยกับผู้บริหารหรือผู้จัดการในทุกภาคส่วน เข้าใจภูมิหลังที่หลากหลาย และทราบถึงความต้องการของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจตัดสินใจ ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างเครือข่าย connection กับเพื่อนร่วมงานภายนอกในด้านทรัพยากรบุคคล เพื่อรับฟังคำแนะนำจากมืออาชีพและเพิ่มมูลค่าตัวเองในฐานะพนักงานที่มีศักยภาพ

9) สามารถเก็บความลับได้: เพราะ HRBP จะทราบข้อมูลละเอียดอ่อนมากมายภายในองค์กร โดยเฉพาะข้อมูลทางธุรกิจ HRBP จะต้องทำให้ผู้บริหารที่ทำงานด้วยกันรู้สึกสบายใจที่จะแชร์ข้อมูลสำคัญเหล่านั้นให้กับเรา

10) มีทักษะสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ: เนื่องจาก HRBP จะต้องสื่อสารกับบุคลากรในองค์กรในหลากหลายสถานการณ์ ตั้งแต่การนำเสนอกลยุทธ์ต่อผู้บริหาร การเจรจาต่อรอง ไปจนถึงการเคลียร์สถานการณ์ความขัดแย้งหรือช่วงเวลาวิกฤต ยิ่งปัจจุบันประสบการณ์การสื่อสารข้ามวัฒนธรรม หรือการสื่อสารผ่านดิจิทัลจึงเป็นทักษะใหม่ที่สำคัญ รวมไปถึงความกล้าในการปฏิเสธผู้บริหารในกรณีที่จำเป็นเช่นกัน

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

Q&A HR Board

Q: หากเลือก 5 soft skills ที่สำคัญที่สุดในการทำงาน hr คิดว่ามันคืออะไรครับ

งาน  HR ถือว่าเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการทำงาน ก็เลยอยากรู้ว่าในมุมมองของท่านอื่น ๆ เรื่องของ soft skills  หรือ people skills ที่เราจะต้องมีไว้ในการทำงานมีอะไรบ้างครับ ตอนนี้ที่นึกออกก็เช่น ความเข้าใจคน ทักษะการสื่อสาร เป็นต้น

A: โดยส่วนตัวคิดว่า Top 5 Skill for Future HR คือ

1) Business Acumen

2) Partnering and Influencing skill

3) People Analytics

4) Experience Designing

5) Digital savvy ,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

บทสรุป

การสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน (Employee Experience)

จะเห็นว่า HRBP หรือ HR Business Partner คือตำแหน่งสำคัญในองค์กรที่ไม่ใช่ว่าใครจะมาทำงานได้ บุคคลที่มีความสามารถ มีประสบการณ์ และมีความรู้เข้าใจธุรกิจเป็นอย่างดีจะได้เปรียบในการเดินทางสายนี้ ยิ่งถ้ามีสายตาในระดับสากล เข้าใจบริบทแบบอินเตอร์ ก็ยิ่งได้เพิ่มมูลค่าให้ตัวเองมากกว่า HR admin ปกติ

หลังจากนี้ในโลกการทำงานหลัง COVID-19 จะผลักดันให้ HRBP มีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม และตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลยิ่งกว่าเดิม HR ในอนาคตยุคดิจิทัลจึงต้องพร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง ขยายจักรวาลความรู้ของตัวเอง เพื่อการบริหารคนและการบริหารธุรกิจได้พร้อมกัน

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง