HR ต้องเตรียมตัวอย่างไรในสังคมผู้สูงอายุ : สัมภาษณ์ ดร. เณศ เศรษฐณาค์ นักวิจัย CEPAR

HIGHLIGHT

  • เทรนด์สังคมผู้สูงอายุในเอเชียจะเติบโตอย่างรวดเร็ว มีการทำนายว่าในประเทศไทยระหว่างปี 2019-2050 ผู้สูงอายุ 65+ จะเพิ่มขึ้น 17.2% ซึ่งเป็นการเติบโตอันดับ 6 ของโลก
  • การสร้างความหลากหลายทางอายุหรือ Age Diversity ไม่มีสูตรตายตัว ก่อนอื่นต้องศึกษาองค์กรนั้น ๆ ว่ามีวิธีการทำงาน ธรรมชาติ หรือวัฒนธรรมองค์กรอย่างไร ถึงจะเข้าใจว่าแต่ละองค์กรต้องการคนแบบไหนในทีม
  • Age Inclusive HR Practices คือการฝึกอบรมสำหรับเป้าหมายแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ เป็นการปฏิบัติของ HR ที่มองเห็นความสำคัญของคนที่อายุแตกต่างกันในองค์กร และ Individualize HR Practices คือการฝึกอบรมสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ได้มองแค่อายุอย่างเดียว แต่มองว่าคนคนนี้ต้องการอะไร
  • การปรับทัศนคติที่สำคัญคือการเปิดใจ Open-minded พยายามเข้าใจความแตกต่างของกันมากกว่านี้ เพราะถ้าเราเปิดใจกับ Age Diversity ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนในอนาคต เราจะเตรียมตัวต่อสังคมผู้สูงอายุได้ดีกว่าปัจจุบันแน่นอน

เมื่อทั่วโลกกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) หลายประเทศกำลังตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้กัน เพราะสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม หรือแม้กระทั่งด้านแรงงาน ที่ทุก ๆ องค์กรต้องปรับตัวในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล นำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า ความหลากหลายทางอายุ หรือ Age Diversity นั่นเอง

เพราะองค์กรที่มีความหลากหลายทางอายุ จะมีมุมมองหลากหลายรูปแบบในการทำงาน เป็นส่วนผสมระหว่างคนรุ่นเก่าที่มีประสบการณ์ และคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะใหม่ นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรต่อไป

สัมภาษณ์ Nate Zettna สังคมผู้สูงอายุ

วันนี้ HREX.asia ได้คุยกับ ดร. เณศ เศรษฐณาค์ อาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ที่ปัจจุบันทำงานให้กับ Centre of Excellence in Population Ageing Research (CEPAR) ของรัฐบาลออสเตรเลีย ศูนย์วิจัยที่จัดตั้งเพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางช่วงอายุ (Population Ageing) โดยเฉพาะ

ส่วนตัว ดร. เณศ เรียนจบปริญญาเอกด้านการจัดการสายเฉพาะทางด้านพฤติกรรมองค์กร (Organizational behavior) ที่ใช้หลักจิตวิทยาในการวิเคราะห์พฤติกรรมของพนักงานในองค์กร ทำให้เขามีพื้นฐานด้านพฤติกรรมองค์กรและการจัดการเป็นอย่างดี

สิ่งที่เราคุยกันจึงเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม การสื่อสารในองค์กร และประเด็นความแตกต่างทางอายุในการทำงาน นับเป็นประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ แต่น้อยคนนักจะพูดถึงกันในสังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้น

ในฐานะนักวิจัยของ CEPAR มีงานวิจัยล่าสุดอะไรเกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุที่คุณได้ศึกษาแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจบ้าง

ก่อนอื่นต้องขอแนะนำ Centre of Excellence in Population Ageing Research (CEPAR) ว่าเป็นศูนย์วิจัยที่จัดตั้งโดยรัฐบาลออสเตรเลียและได้ทุนวิจัยจากรัฐบาลออสเตรเลีย และเป็นศูนย์วิจัยที่จัดตั้งเพื่อศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านทางช่วงอายุโดยเฉพาะ เพราะที่ออสเตรเลียรวมไปถึงทั่วทั้งเอเชียแปซิฟิก ปัญหาที่เจอตอนนี้ก็คือช่วงอายุของประชากรจะมีปริมาณผู้สูงอายุมากขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าเป็นการเติบโตอย่างรวดเร็วอย่าง (Rapid growth) นั่นแปลว่าจะไม่ได้มีแค่ปัญหาเรื่องการทำงานอย่างเดียว แต่จะมีปัญหาเรื่องโรคภัยของผู้สูงอายุด้วย เช่น โรคสมองเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ หรือว่าโรคซึมเศร้า แล้วก็เรื่องปัญหาทางการเงิน แต่สายที่ผมดูแลงานวิจัยจะเป็นประเด็นเรื่องการทำงานของผู้สูงอายุครับ โดยเราจะช่วยกันพัฒนานโยบาย กฎหมาย หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้ผู้สูงอายุทำงานแล้วใช้ชีวิตได้ดีขึ้น เพราะเมื่อเขามีชีวิตนานขึ้น ก็เท่ากับว่าพวกเขาต้องทำงานหนักขึ้นด้วย

อัปเดตสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในบริบทโลกและประเทศไทยให้ฟังหน่อย

ในระดับโลกมีบางประเทศที่เทรนด์สังคมผู้สูงอายุเขานำหน้าเราไปแล้ว เช่น ประเทศฝั่งตะวันตกแทบยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา ถ้าสังเกตจะเห็นว่าหลายคนชอบพูดถึงประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เขามีกฎหมายหรือระบบต่างๆ ที่ไม่ใช่แค่เอื้ออำนวยเฉพาะผู้สูงอายุ แต่รวมไปถึงความแตกต่างทางเพศด้วย

ขณะที่ประเทศแถบเอเชียยังตามเรื่องนี้อยู่ครับ เพราะเรายังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์มันเป็นยังไง ซึ่งเทรนด์ในเอเชียเป็น Rapid growth มาก อย่างประเทศไทยเองก็ติด Top10 ของประเทศที่กำลังประสบกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมผู้สูงอายุ คือเราจะมีจำนวนประชากรของผู้สูงอายุสูงมาก ซึ่งองค์กรสหประชาชาติ (UN) ทำนายไว้ว่า ระหว่างปี 2019-2050 ผู้สูงอายุ 65+ ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 17.2% ซึ่งเป็นการเติบโตอันดับ 6 ของโลกเลย เอาง่ายๆ แค่ไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ประมาณ 2030 เราก็จะเริ่มเห็นกลุ่มผู้สูงอายุเยอะขึ้น ซึ่งก็คือกลุ่ม Baby Boomer หรือ Gen X เริ่มต้น พวกเขาจะเข้าวัย 60-70 เยอะขึ้น

ทราบมาว่า สาเหตุที่มนุษย์มีอายุยืนยาวมากขึ้นก็เพราะระบบสาธารณสุขและการแพทย์ที่ดีขึ้น อยากรู้ว่านอกจากประเด็นนี้ มีสาเหตุอื่นที่ทำให้คนเรามีอายุนานขึ้นไหม

ใช่ครับ เป็นเรื่องจริง เหมื่อนว่าคนเรารู้วิธีการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้ระบบสุขภาวะต่าง ๆ พัฒนาขึ้นหมดเลยในช่วง 10-20 ปีมานี้ ฉะนั้นเรื่องสุขภาพเป็นประเด็นหลักเลยครับ ขณะที่ระบบการทำงานก็มีส่วนเกี่ยวข้องนะครับ เพราะระบบมันอำนวยให้คนทำงานได้นานขึ้น เช่น เมื่อก่อนคนเกษียณเร็วมาก แต่เดี๋ยวนี้คนเกษียณช้าลง ในที่นี้ผมอาจพูดถึงภาคเอกชนเป็นหลัก เพราะภาครัฐคนเลือกที่เกษียณก่อน 60 กันเยอะครับ

องค์กรสหประชาชาติ นิยามคำว่า ผู้สูงอายุ (Oder Person) หมายถึงประชากรที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปน โดยได้มีการแบ่งระดับของการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) : หมายถึง สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 (10%) ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 7 (7%) ของประชากรทั้งประเทศ
  • สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) : สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 (20%) ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 14 (14%) ของประชากรทั้งประเทศ
  • สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-age Society) : สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 (28%) ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปีมากกว่าร้อยละ 20 (20%) ของประชากรทั้งประเทศ

องค์กรควรเตรียมรับมืออย่างไรเมื่อไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว

สัมภาษณ์ Nate Zettna สังคมผู้สูงอายุ

กรณีเทรนด์ที่คนทำงานนานขึ้น อายุ 60-70 ก็ยังทำงานอยู่เลย คุณคิดว่าเทรนด์นี้เกิดจากอะไร

สำหรับเมืองไทยยังไม่ค่อยมีคนศึกษาเรื่องนี้นะครับ ซึ่งผมสนใจมากและกำลังวางแผนเก็บข้อมูลอยู่เร็ว ๆ นี้

ส่วนในประเทศออสเตรเลียเราสำรวจคนที่อายุ 45+ แล้วตั้งคำถามว่า “ทำไมเขายังอยากทำงานอยู่” คำตอบมีเทรนด์ออกมาสองกลุ่มครับ ซึ่งทั้งสองกลุ่มมองว่าการเงินเป็นเรื่องสำคัญ โดยกลุ่มแรกจะมองเรื่องการเงินกับผลประโยชน์เป็นหลักเลย แต่อีกกลุ่มหนึ่งจะมองการเงินกับปัจจัยอื่นประเกอบด้วย เช่น ยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นได้อยู่ซึ่งเรียกว่า Socio-Emotional คือความสัมพันธ์ทางอารมณ์และสังคม

เท่าที่สังเกตจากงานวิจัยที่ออสเตรเลียพบว่า สัดส่วนของคนที่ยังทำงานเพราะต้องการเงิน และต้องการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมมีจำนวนครึ่ง ๆ เลยครับ แต่ไม่ว่ายังไงไม่มีใครที่ไม่แคร์เรื่องเงินเลย

ทำไมคุณถึงสนใจเรื่องสังคมผู้สูงอายุหรือความแตกต่างทางช่วงวัยในการทำงาน ถึงกับลงมาศึกษาประเด็นเรื่องนี้โดยเฉพาะ

เพราะว่าตอนโตในเมืองไทย เราเห็นระบบ Seniority (อาวุโส) ครับ แต่พอไปอยู่ที่ออสเตรเลียจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเจนเลยว่า วัฒนธรรมเรื่องอายุในเมืองไทยกับเมืองนอกไม่เหมือนกัน ซึ่งมันมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันอยู่

คนไทยอาจมองว่าต่างประเทศไม่แคร์เรื่องระบบ Seniority แต่จริง ๆ แล้วก็ยังมีอยู่บ้างนะครับ ซึ่งบางครั้งคนสูงอายุก็รู้สึกว่าตัวเองได้รับการปฏิบัติที่ไม่ยุติธรรมก็มี เพราะว่าหลายองค์กรตอนนี้ต้องการคนเจนเนอเรชั่นใหม่แล้ว เขาให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุน้อยลง มันเลยต้องเชื่อมโยงไปถึง HR เช่น ระบบการฝึกอบรม (Training) ซึ่งบางครั้งไม่ได้สร้างมาเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ

ความแตกต่างระหว่างผู้สูงอายุกับเด็กยุคใหม่คือ ผู้สูงอายุมีประสบการณ์มากกว่า ผ่านอะไรมามากกว่า ในเวลาเดียวกันเขาอาจจะขาดความรู้และทักษะใหม่ ๆ ที่เรียกว่า KSA คือ Knowledge, Skills and Abilities ขณะที่เด็กยุคใหม่อาจจะมีทักษะเยอะ แต่ว่าไม่มีประสบการณ์ ซึ่งถ้าเรามองในมุมของ Age Diversity ถ้าเราสามารถทำให้ 2 กลุ่มนี้ทำงานด้วยกันได้ เขาจะเพิ่มยอดให้กันและกัน ไม่ใช่ว่าความแตกต่างจะทำให้ทะเลาะกันอย่างเดียว

ก่อนจะถามถึงวิธีการที่ทำให้สองกลุ่มนี้ทำงานด้วยกันได้ อยากรู้ว่าอะไรคือปัญหาหลักที่ตามมาเมื่อเกิดความแตกต่างทางช่วงวัยของสองกลุ่มนี้

เท่าที่สังเกตก็เหมือนอย่างที่เรารู้กันคือ คนที่อายุมากหลาย ๆ คนเขาอาจจะไม่ยอมแพ้หรือว่าไม่ยอมฟังความคิดเห็นของคนที่อายุน้อยกว่า หรือไม่ยอมให้คนที่อายุน้อยกว่าดูมีความสามารถมากกว่า นี่คือยกตัวอย่างนะครับ ผมไม่ได้อยากเหมารวม แต่มันมีจริง

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือคนที่อยู่ตรงกลางมากกว่าครับ คนอายุตรงกลางที่ไม่ใช่เด็กรุ่นใหม่ และไม่ใช่ผู้สูงอายุ คนกลุ่มนี้จะทำงานลำบากมากเลยเพราะเขาไม่รู้จะทำยังไง โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y ที่เขายังโตมาในวัฒนธรรมนับถือผู้สูงอายุ เขาจะยังมีความเกรงใจ แต่เทรนด์เด็กยุคใหม่ตอนนี้ไม่ใช่เลยครับ เขาจะหัวสมัยใหม่มาก เลยทำให้เกิดความแตกต่าง แล้วด้วยธรรมชาติของคนไม่ชอบความเปลี่ยนแปลง พอคนเจอสิ่งที่เหมือนกับสิ่งที่เขาเคยเป็น เช่น การไม่นับถือคนที่มีอายุมากกว่าหรือมีประสบการณ์มากกว่า มันก็จะสร้างความขัดแย้งในการทำงานได้

ที่ว่าคน Gen ตรงกลางลำบากที่สุด อธิบายขยายความมากขึ้นให้ฟังหน่อย

Gen ตรงกลางอย่าง Gen Y หรือ Millennials คนไม่ค่อยพูดถึงกันนะ แต่เหมือนว่าจะลำบาก ขณะเดียวกันก็มีข้อดีเหมือนกันนะ เพราะเราจะได้เห็นทั้งสองมุมมอง ทำให้มีกลยุทธ์ในการรับมือกับคนทั้งสองกลุ่ม

ถ้าสังเกตเวลามีปัญหาระหว่างช่วงวัย จะเป็นคนที่มีอายุต่างกันมากนะครับ แต่ก็ไม่ใช่ว่า Millennials จะไม่มีปัญหานะ เพราะผมก็เห็นหลายคนที่มีปัญหากับเจ้านายที่อายุห่างกันไม่เยอะแต่คนละ Gen เช่น Gen X กับ Gen Y ที่ Gen X ยังมองว่าคนที่อายุน้อยกว่ายังต้องนับถือเขาครับ

ถ้าอย่างนั้น Gen ตรงกลางก็ถือเป็นอีกหนึ่งความแตกต่างใช่ไหม

ใช่ครับ ซึ่งเป็นจุดที่ใครหลายคนยังไม่ค่อยพูดถึงด้วย เพราะคนจะมองแค่เด็กรุ่นใหม่กับผู้สูงอายุไปเลย อย่างไรก็ตาม หลักวิชาการหรือการเก็บข้อมูลแต่ละสายงาน เราก็จะมองผู้สูงอายุไม่เหมือนกัน บางคนมองที่ 45+ บางคนก็มอง 50+ 60+ เพราะฉะนั้นจึงอยากให้โฟกัสคำว่า Age Diversity มากกว่า หมายถึงการมีความหลากหลายทางช่วงอายุในทีมหรือองค์กรหนึ่ง

ท่ามกลางสถานการณ์สังคมผู้สูงอายุ เราจะสร้างความสมดุลทางช่วงอายุในที่ทำงานได้อย่างไร

เป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะแต่องค์กรก็มีธรรมชาติการทำงานที่แตกต่างกัน ถ้าเราไปบอกให้ทุกองค์กรต้องมี Age Diversity ผมเชื่อว่าแต่ละองค์กรคงมีวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน เช่น ความรู้ในการทำงาน ประสบการณ์ในการทำงานที่ต้องใช้ก็ไม่เหมือนกัน แปลว่าสัดส่วนคนที่อายุเยอะกับอายุน้อยอาจจะแตกต่างกันไปด้วยครับ ก่อนอื่นเราจะต้องศึกษาองค์กรนั้น ๆ ก่อน เข้าใจวิธีการทำงานของเขาว่าเป็นยังไง เราถึงจะเข้าใจได้ว่าองค์กรนั้นจะต้องมีคนแบบไหนในทีม ฉะนั้นมันจึงไม่มีสูตรสำเร็จ คนเลยไม่ค่อยพูดกันถึงเรื่องนี้เท่าไหร่

ฝ่ายทรัพยากรบุคคลหรือ HR ที่ต้องทำหน้าที่ในการรับสมัครพนักงานต้องปรับตัวอย่างไร

อย่างแรกเลยก็คือประเด็นการฝึกอบรม ผมเห็นว่าในเมืองไทยการฝึกอบรม เหมือนไปเก็บคะแนนหรือสังสรรค์มากกว่า มันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ แต่นี่ไม่ใช่ปัญหาแค่ในเมืองไทยนะ เมืองนอกก็มีปัญหา ฉะนั้นสิ่งที่ผมกำลังศึกษามีอยู่ 2 อย่างคือ

Age Inclusive HR Practices คือการฝึกอบรมสำหรับเป้าหมายแต่ละกลุ่มโดยเฉพาะ เป็นการปฏิบัติของ HR ที่มองเห็นความสำคัญของคนที่อายุแตกต่างกันในองค์กร และ Individualize HR Practices คือการฝึกอบรมสำหรับแต่ละบุคคล ไม่ได้มองแค่อายุอย่างเดียว แต่มองว่าคนคนนี้ต้องการอะไร เพราะถ้าเราเทรนเหมือนกันทุกคนก็จะเปลืองเงิน และไม่เหมาะสมตามอายุคน  

ผมเข้าใจว่าบางองค์กรตอนนี้เริ่มมีแล้ว เช่น ให้ผู้สูงอายุได้ Re-Train หรือเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ แต่ผมว่ายังน้อยอยู่ดี แล้วมันขึ้นอยู่กับวิธีการเทรนด้วยนะ เพราะคนที่อายุเยอะแล้วหลายคนก็จะมองว่าเขาอยู่ตรงนี้มานานแล้ว เขาเข้าใจว่าระบบการทำงานเป็นยังไง HR จึงต้องมีวิธีในการเข้าหาเพื่ออธิบายว่าการเทรนครั้งนี้จะเพิ่มหรือต่อยอดกับประสบการณ์ที่เขามีได้ยังไง

ความแตกต่างระหว่าง Age Inclusive HR Practices และ Individualize HR Practices

Age Inclusive เป็นการปฏิบัติสำหรับทั้งองค์กรที่แสดงออกมาว่า องค์กรนี้ให้ความสำคัญกับคนอายุที่หลากหลาย แต่ว่า Individualize เป็นการแสดงออกว่า องค์กรเข้าใจถึงความสำคัญของแต่ละบุคคลในองค์กร

สัมภาษณ์ Nate Zettna สังคมผู้สูงอายุ

นอกเหนือจากการฝึกอบรมแล้ว HR ต้องเตรียมรับมือกับ Age Diversity ยังไงบ้าง

อีกอย่างหนึ่งคือคอนเซ็ปต์เรื่องการรับสมัครงาน (Recruitment) ซึ่งปกติคนอายุต่างกันก็จะสมัครงานในตำแหน่งที่ต่างกันอยู่แล้ว แต่กรณีนี้ในประเทศไทยยังมีปัจจัยอื่นหลากหลายที่ทำให้คนมีอคติในการตัดสินใจในการจ้างคน เช่น เรื่องเพศ ชื่อ-นามสกุล ฯลฯ ซึ่งหลายคนไม่รู้ตัวในการตัดสินใจด้วยซ้ำ ทีนี้ถ้ามองแค่เรื่องอายุอย่างเดียว อีกหนึ่งปัญหาที่ HR ต้องเจอก็คือ การต้องการเด็กจบใหม่แต่ต้องมีประสบการณ์การทำมางานมา 5 ปี หรือเพิ่งจบมา 1-2 ปี แต่ขอประสบการณ์ 5 ปี ผมว่ามันไม่ใช่ ถ้าเข้าไปดูในกลุ่มรับสมัครงานจะเห็นว่ามีเยอะนะครับ ผมว่าเด็กจบใหม่หางานลำบากมากขึ้นจริง ๆ เพราะนายจ้างมองว่าคนทำงานเขามีพอแล้ว แถมคนยังทำงานนานขึ้น คนที่มีอายุมากก็ยังทำงานอยู่

และแต่ละช่วงอายุเขาจะมีความท้าทายไม่เหมือนกัน เจออุปสรรค์ไม่เหมือนกัน ผมว่าเด็กรุ่นใหม่จบมาตอนนี้เขาต้องทำอะไรเป็นหลายอย่างมากเลยนะ โปรแกรมต่าง ๆ ก็ต้องใช้เป็น ความรู้นี้ก็ต้องมี แต่สุดท้ายเรียนจบมาทำงานจริง ๆ ใช้เพียงไม่กี่อย่าง ขณะที่ผู้สูงอายุเขาจะเจอปัญหาในการเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ และต้องเข้ากับคนอายุน้อยให้ได้ ซึ่งตอนนี้หลายบริษัทใหม่ ๆ ก็เริ่มจ้างคนที่อายุน้อยกว่ามาเป็นผู้นำหรือเป็น CEO แล้ว ทำให้คนที่อายุมากกว่าผู้นำไม่รู้ว่า จุดยืนของตัวเองอยู่ตรงไหนในองค์กรเหมือนกัน

ถือว่าเป็นปัญหาสำหรับผู้สูงอายุไหมที่มีเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำมากขึ้น

มันไม่ควรเป็นปัญหานะครับ แต่เราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นรวมความหลากหลายทางช่วงอายุนี้อย่างไรต่างหาก ทั้งเรื่องการนับถือคนที่อายุมากกว่า แต่ก็ต้องนับถือคนที่มีความสามารถมากกว่าด้วย มันจะเป็นองค์กรที่ดีมาก

อะไรคือทัศนคติที่ HR ต้องเตรียมพร้อมสำหรับรับมือกับสังคมผู้สูงอายุ

ผมจะย้ำเรื่อง Open-minded มาก ๆ เลยครับ อยากให้คนเปิดใจกัน พยายามเข้าใจความแตกต่างของกันมากกว่านี้ มันง่ายมากที่คนเราอยู่ในโลกของตัวเองแล้วไม่จำเป็นต้องเข้าใจคนอื่น ซึ่งการมี Compassion และ Empathy จะทำให้เราเห็นอกเห็นใจกันและเข้าใจปัญหาคนอื่นมากขึ้น

จริง ๆ แล้วธรรมชาติของคนไทยชอบให้คนอื่นนะครับ มีเหตุการณ์ร้ายแรงอะไรเราจะบริจาคให้คนอื่นตลอด แต่ทำไมพอเป็นเรื่องการทำงานเราถึงยังเปิดใจเต็มที่ไม่ได้ ทุกคนควรควรเปิดใจและเข้าใจว่าแต่ละคนมีปัญหาไม่เหมือนกัน

ผมว่าการเปลี่ยนทัศนคติที่สำคัญ ไม่ใช่การลบหรือโยนระบบอาวุโส Seniority ทิ้งไป มันเป็นไปไม่ได้ การมองว่าไม่ต้องมีระบบอาวุโสเป็นการมองไกลเกินไป คุณยังไม่ได้มองก้าวแรกเลยว่าคุณจะลดมันยังไงก่อน ไม่ใช่ว่าจะโยนทิ้งอย่างเดียว ผมว่าเราต้องเข้าใจระบบอาวุโสมันดีหรือไม่ดียังไง ให้มองทั้งสองมุมด้วยกัน

มันง่ายมากเลยที่คนอายุน้อยจะคิดว่า “ไม่ต้องไปเปลี่ยนอะไรเขาหรอก เดี๋ยวเขาก็ออกแล้ว” แต่คุณเห็นเทรนด์ไหมว่าเขาจะอยู่ทำงานนานขึ้นนะ (หัวเราะ)

ถ้าให้คาดการณ์อนาคต อะไรคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าเด็กรุ่นใหม่ในวันนี้กลายเป็นผู้สูงอายุ คุณคิดว่าปัญหาเหล่านี้จะยังอยู่อีกไหม

ผมชอบคำถามนี้มากเลย เพราะถ้าเราเปิดใจกับ Age Diversity ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนในอนาคต เราจะเตรียมตัวต่อสังคมผู้สูงอายุได้ดีกว่าปัจจุบันแน่นอน 

อย่างที่บอกครับ ผมไม่ได้มองแค่ให้ความสำคัญกับคนอายุมากกว่าหรือคนอายุน้อยมากกว่า แต่ให้ความสำคัญกับความแตกต่างทางอายุ ฉะนั้นทั้งองค์กร ทั้งหน่วยงาน และทั้งพนักงานจะต้องแอคทีฟมากกว่านี้ ทุกคนจะต้องเข้าใจว่าเทรนด์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะรับมือกับมันอย่างไร เพราะว่าความเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ครั้งมันมาโดยเราไม่รู้ตัว

ผู้เขียน

Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง